ถ้ามีใครสักคนสามารถใช้ประสบการณ์อย่างสุดขั้วกับการทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน และสิ่งที่ทำประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด ถือว่าเธอหรือเขาผู้นั้นโชคดีมาก เช่นผู้หญิงคนนี้ “ชาลอต โทณวณิก”
ชาลอต เป็นผู้บริหารหญิงคนแรกๆ ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารเบอร์ต้นๆ ของสถาบันการเงินชื่อดัง ด้วยผลงานการสร้างแบรนด์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้เปลี่ยนจากแบงก์ที่มีภาพลักษณ์เก่าแก่ เคร่งขรึม ให้กลายเป็นแบงก์ที่ดูสดใส โฉบเฉี่ยว จนทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์กรุงศรีฯ ไปโดยปริยาย
แถมพ่วงด้วยบทบาทของ “โฆษก” ประจำธนาคารเพียงคนเดียว ท่ามกลางแบงก์คู่แข่ง ก็ยิ่งทำให้ชื่อของชาลอตเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนทุกแขนง
เมื่อต้องสวมหมวกในธุรกิจบันเทิง นอกจากเธอจะเรียนรู้ การทำงานร่วมกับสื่อได้อย่างลงตัว ไม่เพียงต่อยอดให้กับธนาคารในการขยายเข้าสู่ธุรกิจรีเทล แบงกิ้งเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เธอก้าวสู่โลกมายาอย่างเต็มตัว ด้วยบทบาทซีอีโอบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด มหาชน
วันนี้เธอถอดหมวกในโลกมายา กลับมาสวมหมวกใบเก่า กับภารกิจใหม่ที่กว้างกว่าเดิม ด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่กำลังต้องเผชิญรอยต่อที่ท้าทายที่สุด จากการรวมกิจการกับ “จีอี มันนี่” สถาบันการเงินข้ามชาติจากสิงคโปร์
แม้จะผ่านงานมาหลากหลายทั้งธนาคารและบันเทิง แต่ภาพวันนี้ของ “ชาลอต โทณวณิก” ที่ได้พบในเช้าวันจันทร์ บนชั้น 32 สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ของกลางเดือนมกราคม ยังไม่เปลี่ยนแปลง เธอยังคงสวมใส่สูท กางเกงสีดำ ทับเสื้อสีเหลืองสด แบบสาวออฟฟิศ และผมที่ถูกจัดแต่งอย่างดี ยังคงเป็นบุคลิกคุ้นตา
ยกเว้นตำแหน่งใหม่ที่เปลี่ยนไปใช้ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นภารกิจล่าสุดที่ชาลอตได้รับมอบหมาย
เธอเล่าว่า ตำแหน่งใหม่นี้ต้องรับผิดชอบทั้งงานเดิม คือ การเป็นโฆษก ดูแลด้านแบรนดิ้ง และประชาสัมพันธ์ของแบงก์ แต่มีงานใหม่เพิ่มขึ้น คือ การดูแลเรื่องของการกำหนด “ราคา” บริการ และการนำระบบ CRM : Customer Relation Management มาใช้ เพื่อเข้าสู่รีเทล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ
“ถ้าเราหาลูกค้าใหม่เรื่อยๆ ต้นทุนจะสูงกว่าการหาลูกค้าเก่า แต่การจะทำให้ลูกค้าเก่าอยู่นานๆ ก็ไม่ได้ทำง่ายๆ ต้องทำทั้งระบบ ต้องวิเคราะห์ความต้องการ ประมวลผลออกมาใช้ นำเสนอผลิตภัณฑ์ สำหรับตัวเอง ถือว่าได้การเรียนรู้ไปด้วย”
ในกระบวนการเรียนรู้งานครั้งใหม่ ก็ส่งผลให้ชาลอตต้องเดินทางร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ประมาณ 10 คน เข้าร่วมสัมมนาใหญ่ประจำปี ของจีอี มันนี่ จัดขึ้นที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผสมผสานวัฒนธรรมการทำงานเข้าด้วยกัน
คำว่า การเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ดูเหมือนว่าจะอยู่คู่กับชาลอตเสมอมา เพราะตลอดชีวิตการทำงานของเธอ ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การทำงานในซิตี้แบงก์ ที่ต้องเรียนรู้การทำงานแบบตะวันตก เมื่อย้ายมาทำงานกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ต้องเรียนรู้การทำงานในบริษัทไทยแบบสุดขั้ว
“ตอนเข้าแบงก์กรุงศรีฯ ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีในการเรียนรู้ หลักคิดก็คือ เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนองค์กรเข้าหาเราได้ แต่เราต้องปรับตัวเข้าหาองค์กร และต้องดึงจุดเด่นขององค์กรว่าคืออะไร จากนั้นคือการสร้างจุดยืนให้องค์กร ควรปรับปรุงไปตรงจุดไหนบ้าง”
ช่วงที่อยู่ในแวดวงการเงิน ชาลอตบอกกับ POSITIONING ว่า ถูกเทรนมาเพื่อการทำงานหลากหลาย ตั้งแต่งานบริหารความเสี่ยง Risk Management การดูแลด้านข้อมูล ดูเรื่องการตลาด
ยิ่งเมื่อต้องมาทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาด้วยแล้ว ชาลอตต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว เมื่อถูกมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาการตลาดสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ธุรกิจบันเทิงอย่างเต็มตัว ด้วยการผลิต “เนื้อหา” ในบีบีทีวีโปรดักชั่น จนมานั่งเป็นแม่ทัพคนใหญ่ใน “มีเดีย ออฟ มีเดียส์”
“บางครั้งรู้สึกว่าเป็นหน่วยทำความสะอาดเคลื่อนที่ ไม่สร้างก็ล้าง คงเป็นดวงชะตาที่กำหนดมาให้ แต่ก็สนุก เราได้ทำหลายอย่าง นำเข้าคอนเสิร์ต เรน จับมือกับคุณปัญญา นิรันดร์กุล ทำรายการใหม่ ตลอดเวลาจะพูดเสมอว่า สื่อมีบุญคุณ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม สื่อจะให้การสนับสนุน ทำให้คนทั่วไปสามารถรับรู้ในสิ่งที่เราทำ”
โทรศัพท์มือถือของชาลอตเปิดสายตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องทำหน้าที่ “โฆษก” ของธนาคาร ทำให้เธอต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวโน้มดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจ เมื่อเข้าสู่ธุรกิจบันเทิง ชาลอตทำหน้าที่ “แหล่งข่าว” ชั้นดี ให้ข้อมูลธุรกิจบันเทิงกับนักข่าวสายการตลาด และบันเทิง
ประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายเหล่านี้ ชาลอตบอกกับ POSITIONING ว่า เป็นเพราะไม่เคยมีคำว่า “ปฏิเสธ” งานที่ได้รับมอบหมายไม่ว่าจะเป็นงานใดก็ตาม
“คิดว่า ทำไปก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาว่าปัญหาคืออะไร ที่ผ่านมาถือว่าโชคดี ที่ทำแล้วยังไม่เคยเจอกับคำว่าไม่สำเร็จ มาจากกัลยาณมิตรและพันธมิตร ไม่เคยอายที่จะยกหูถามในสิ่งที่เราไม่รู้”
การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ของชาลอตมาจากการ “ถาม” ผู้มีประสบการณ์ โดยมี “โต๊ะอาหาร” เป็นห้องเรียน
“ใช้วิธีทานข้าวเย็น หรือข้าวกลางวัน เพื่อขอความรู้กับคนที่มีประสบการณ์ เราไม่ได้เอาเวลาของแบงก์ การแบ่งเวลาในการทำงานเลยไม่ได้เป็นแบบให้เวลากับแบงก์ 50 บันเทิง 50 แต่เป็นแบบเต็ม 100 ทั้งสองธุรกิจ”
การเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ตัวอักษรบนหนังสือ เป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าใครได้เห็นตะกร้าใส่หนังสือของชาลอต คงคาดเดาได้ยากว่า เจ้าของตระกร้าใบนี้สนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เพราะจะมีตั้งแต่นิตยสารไทย และต่างประเทศ ทีวีพูล ดาราเดลี คู่สร้างคู่สม หรือแม้หนังสือวิชาการ ด้านการตลาด ประเภท How to เล่มล่าสุดที่ชาลอตอ่านอยู่คือ Rethinking Marketing Toward Asian Communication 2015 ของ Philip Kotler
ช่วงวันหยุด ถ้าไม่ติดประชุม ชาลอตจะเลือกทำกิจกรรมร่วมกับลูกชายคนเดียววัย 13 ปี ซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา เช่นตีกอล์ฟ และเข้าครัวทำกับข้าว ซึ่งเป็นความชอบที่ชาลอต บอกว่าได้มาจากคุณยาย
ชาลอต บอกกับ POSITIONING ว่า เธอให้เวลากับตัวเองด้วยการนวดเพื่อผ่อนคลาย โดยมีร้านประจำที่ใช้บริการ และเป็นลูกค้าประจำของร้านทำผม เดอะเบสท์ บนตึกมณียานานหลายสิบปี ส่วนการแต่งตัวจะเน้นสุภาพเรียบร้อยเป็นหลัก เสื้อผ้าส่วนใหญ่ซื้อหามาจากร้านจักรรัตน์ และโนริโกะ ที่ขายตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ในตลาดนัด ในห้างเสรีเซ็นเตอร์
แต่เมื่อใดที่มีความเครียด ชาลอตบอกว่า เธอจะเลือกหนีออกไปอยู่กับตัวเอง ถ้าไม่ไปไหว้พระ ก็จะเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า
ห้องทำงานของเธอบนชั้น 32 เป็นสถานที่อีกแห่งที่สามารถสะท้อนประสบการณ์ และความเป็นตัวตนของ “ชาลอต” ได้เป็นอย่างดี
ชาลอต เกิดปีระกา ในห้องทำงานของเธอจึงมีรูปปั้นตุ๊กตา “ไก่” ชนิดต่างๆ สะสมอยู่มากมาย ส่วนด้านหลังโต๊ะทำงานของเธอ มีรูปปั้น “เจ้าพ่อกวนอู” ไว้บูชา โดยได้มาในช่วงที่ต้องรับผิดชอบเรื่องของการ “ทวงหนี้” โดยมีผู้แนะนำว่า ถ้าบูชาแล้วจะทำให้การทวงหนี้ราบรื่นขึ้น ถัดออกไป เป็นรูปปั้นพระพิฆเนศ ปางต่างๆ ที่ชาลอตบูชา ในช่วงที่ต้องทำงานด้านบันเทิง
ที่จริงแล้ว ชาลอตยังมีอีกชื่อหนึ่ง “สุทธิรัตน์ อัชนาม” เป็นชื่อที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2500 หลังจากวันเกิด 9 กรกฎาคม 2500 เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้เพียงแค่ 2 เดือนโดยนำมาจากชื่อพ่อ วิสุทธิ์ (น้อย) และ จินดารัตน์ ชื่อแม่ของเธอ
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวใน อดีตและปัจจุบันของ ชาลอต ส่วนเป้าหมายในอนาคต หากต้องทำธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว ธุรกิจที่ปรึกษา คือสิ่งที่ชาลอตบอกว่า เธอจะเลือกทำเป็นสิ่งแรก เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ แต่ใช้ประสบการณ์ และแบรนด์ของเธอมาใช้ในการทำงาน ซึ่งเป็นนายของตัวเอง ไม่น่าเบื่อ
ไม่ว่าเส้นทางในอนาคตของเธอจะเป็นอย่างไร แต่ชาลอตก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วในฐานะมืออาชีพหญิง ในสถาบันการเงิน ที่มีมูลค่าหกแสนล้านบาท