“สกุลไทย” พลังตัวอักษรของ ”ผู้หญิง”

มีใครบ้างไม่รู้จักนิตยสาร”สกุลไทย” รับรองไม่มีใครยกมือ เพราะกว่าครึ่งศตวรรษสำหรับอายุ ”สกุลไทย” ที่โลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือ น่าจะเพียงพอพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังของผู้หญิงทั้งในฐานะที่เป็นทั้งผู้อ่าน และผู้สร้างสรรค์นิตยสารเล่มนี้นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด

และยิ่งอายุของ ”สกุลไทย” เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันขึ้นสู่ปีที่ 53 การบริหารจัดการ และการรุกตลาดยิ่งเข้มข้น เห็นได้ชัดจากการทำตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตที่www.sakulthai.com สื่อถึงผู้อ่านทั้งการเปิดรับสมัครสมาชิกในและต่างประเทศ และการสำรวจเรตติ้งของหนังสือ เพื่อนำมาเป็นปรับปรุงเนื้อหาถึงผู้อ่านตลอดเวลา

“สกุลไทย” ที่ดูเหมือนชื่อจะเชย แต่ผลที่ได้ทั้งในแง่จำนวนผู้อ่าน และผลทางธุรกิจกลับตรงกันข้าม เพราะมียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนต้องบอกว่านอกจากเครดิตจากรุ่นก่อน คนคุณภาพในกองบรรณาธิการสกุลไทยแล้ว ต้องยกให้กับฝีมือการบริหารของเธอ “นรีภพ สวัสดิรักษ์” ที่นั่งเก้าอี้บรรณาธิการแทนมารดา (สุภัทร สวัสดิรักษ์) ตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบันมีสมาชิกสกุลไทยอยู่ในหลักหมื่นแต่กี่หมื่นนั้นไม่ขอเปิดเผย และยังถือเป็นนิตยสารที่มีรายได้จากการขายในระบบสมาชิกมากกว่ารายได้จากโฆษณา

จากนิตยสารสกุลไทยเล่มแรกวางแผงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2497 ด้วยความหนา 60 หน้า จำหน่ายเล่มละ 3 บาท จนปัจจุบันเล่มละ 40 บาท จำนวน 142 หน้า คงรักษาคอนเซ็ปต์หนังสือ เป็นนิตยสาร ”เพื่อสาระบันเทิง สำหรับครอบครัว” ด้วยเนื้อหาภายในที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา และยุคสมัย และสิ่งที่ยืนยันได้ตลอดเวลาคือ ”สกุลไทย” เข้าถึงความเป็นผู้หญิง

“นรีภพ” หรือที่ทีม POSITIONING ขออนุญาตเรียกว่า ”พี่เจี๊ยบ” กับท่าทีที่อ่อนโยน นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน ท่ามกลางกองหนังสือและเอกสารมากมาย เป็นองค์ประกอบโดยธรรมชาติของผู้ที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ ออกตัวก่อนเริ่มต้นสนทนาว่า ”พี่เป็นคนพูดไม่ค่อยเก่งนะคะ”

พี่เจี๊ยบเล่าว่า ”การทำนิตยสารให้ร่วมสมัยอย่างที่สกุลไทยดำรงอยู่ได้เพราะสกุลไทยฟังผู้อ่าน ซึ่งการเป็นบรรณาธิการ สิ่งที่ต้องระลึกเสมอคือผู้อ่าน ผู้อ่านจะเป็นผู้กำกับการทำงานของเรา เราทำงานอะไรผิดนิดผิดหน่อย ผู้อ่านจะเป็นคนบอกพวกเรา”

การทำงานทุกวันนี้ และสำหรับกองบรรณาธิการของ ”สกุลไทย” จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือชะล่าใจได้ แม้จะพูดได้ว่า ณ วันนี้ “สกุลไทย” เป็นนิตยสารที่อยู่ตัวในด้านแฟนผู้อ่านจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งพี่เจี๊ยบ บอกว่า ”ทุกวันนี้หนังสือมากขึ้น การแข่งขันก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงให้หนังสือของเราดำรงอยู่ในสังคมได้ อย่างหนึ่งคือสกุลไทยไม่ใช่สิ่งที่ล้าสมัย สกุลไทยเป็นหนังสือที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันครอบครัว ทั้งสองสถาบันจึงไมใช่สิ่งที่ล้าสมัย เพราะจริงๆ แล้วคือรากฐานของสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดว่าตลาด และสังคมก้าวไปรวดเร็วมาก เราจะทำยังไงให้เนื้อหาภายในเล่มของเราสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน ก็ต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาทีละนิดทีละหน่อย เราจะไม่ทำฮวบฮาบ ต้องรักษาจุดยืนของเราด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งท้าทายเราเหมือนกัน“

สำหรับกลุ่มคนอ่านของ ”สกุลไทย” นั้นพี่เจี๊ยบบอกว่า ”ได้ดูกลุ่มผู้อ่านกลายกลุ่ม สมมติเราจับหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เราก็ดูว่าผู้อ่านจะอ่านอะไร อย่างหนังสือวางอยู่ในบ้าน ก็จะมีผู้อ่านหลายกลุ่ม มีพ่อบ้าน แม่บ้าน ดูว่าเขาสนใจอ่านอะไร เราก็เอาปัจจัยที่ส่งเสริมความคิดของเรามา ว่า ณ ปัจจุบัน เหตุการณ์อะไรที่เขาสนใจ เราก็จะมาปรับปรุงของเราให้สอดคล้อง”

เคล็ดลับอีกประการหนึ่งจากพี่เจี๊ยบคือ ”คนทำหนังสือต้องเป็นคนที่คาดการณ์ มองแนวโน้มให้ออกว่าสังคมจะเป็นอย่างไร เป็นวิธีการหนึ่งในหลักการทำงานของพี่ ซึ่งบรรณาธิการส่วนใหญ่จะทำในสิ่งนี้ได้ ที่สำคัญคนทำหนังสือหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องทันโลก ทันเหตุการณ์ ทันสังคม มีความฉับไว”

แนวคิดแบบนี้สำหรับคนในอาชีพหนังสืออาจรู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ไม่รู้คือการปฏิบัตินั้นยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความจริงจังในการปฏิบัติ อย่างที่พี่เจี๊ยบได้ทุ่มเท

“ในการทำงาน เราจะประชุมกันทุกสัปดาห์ วางแผนล่วงหน้า 3 เดือน โดยยังไม่เจาะลึกรายละเอียด จะฟังความคิดเห็นกัน ดูสภาพของสังคมปัจจุบัน เพื่อจัดเนื้อหาให้สอดคล้องลงตัว และกลมกลืน ทำงานด้วยการมอบหมายไปตามความถนัดของแต่ละคน เราเชื่อถือกันและให้เกียรติกัน ทั้งในกองบรรณาธิการเอง และนักเขียนนอก”

นอกเหนือจากนี้คือการทุ่มเททั้งกองบรรณาธิการสกุลไทย ทำงานจันทร์-เสาร์ และในฐานะบรรณาธิการ อักษรทุกตัวที่ลงตีพิมพ์จะผ่านสายตา และการคัดกรองจากทีมงาน และสุดท้ายผ่านพี่เจี๊ยบอย่างเข้มข้น เป็นการทำงานที่พี่เจี๊ยบบอกว่า นี่คือความรับผิดชอบต่อผู้อ่าน ส่วนจะว่าเป็นงานหนักหรือไม่นั้น เธอบอกว่ามันเป็นความสุขมากกว่า มีความสุขที่ได้อ่านต้นฉบับจากนักเขียนหลายๆ ท่าน เป็นความรู้สึกที่ผูกพัน และรักตัวอักษรตั้งแต่เด็ก จากการปลูกฝังของมารดาที่ไม่เคยบังคับให้เธอต้องอ่านหนังสือ แต่มีเทคนิคให้เธอสนใจหนังสือ ด้วยการให้ช่วยจัดห้องสมุด รวมทั้งตั้งแต่จำความได้คือการได้เห็นมารดาทุ่มเทเวลาให้กับ ”สกุลไทย”

“การที่ต้องอ่านต้นฉบับทุกฉบับ เพราะเราต้องรู้ว่าในเล่มมีอะไรบ้าง ในนั้น นอกจากประชุมแล้ว คอลัมน์ไหน นักเขียนเขียนถึงอะไรบ้าง เพื่อที่จะมาคุยกับผู้อ่านได้ จะได้รู้แนวทางหนังสือ ต้องดูบาลานซ์ของหนังสือ”

สำหรับเนื้อหาในเล่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากการตอบรับทั้งทางจดหมาย และผ่านเว็บไซต์นั้น ยังคงเป็นนวนิยาย ที่สกุลไทยมีจุดเด่นที่มีนักเขียนนวนิยายชั้นครูจำนวนมาก และในช่วงหลังได้เปิดรับเรื่องสั้นจากนักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะแฟนรุ่นเก๋าอายุ 50 ขึ้นไปเป็นแฟนประจำกว่า 50% ของผู้อ่านทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังมีวัยทำงานอีกประมาณ 40% และวัยรุ่น 10% ซึ่งพี่เจี๊ยบเองก็ยังทึ่งอยู่ว่าวัยรุ่นก็สนใจนวนิยายเหมือนกัน

ส่วนคอลัมน์อื่นๆ โดยเฉพาะการได้โอกาสสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ รวมทั้งบุคคลชั้นสูงของสังคม บางครั้งพี่เจี๊ยบก็ต้องยกหูเพื่อติอต่อขอสัมภาษณ์ อาจจะเป็นเพราะตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือที่เป็นใบเบิกทาง ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ทั้งที่บางกรณีไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว หรืออาจเป็นเพราะพื้นฐานจากจังหวะหนึ่งในวัยเด็กที่พี่เจี๊ยบได้ศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาตั้งแต่ชั้นประถม 5 จนถึง มศ.5 ที่พี่เจี๊ยบบอกว่าไม่น่าจะมีส่วนเท่าไหร่นัก

“พี่จบจิตรลดารุ่น 4 เป็นรุ่นน้องของสมเด็จพระเทพฯ และรุ่นพี่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ซึ่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชทานให้โอวาทแก่นักเรียนที่เรียนจบท่านตรัสว่ารุ่นนี้เป็นรุ่นแซนด์วิช ซึ่งการเรียนจิตรลดาไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง แต่พี่ว่าถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้อยู่ตรงนั้น”

สิ่งที่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ ”สกุลไทย” นำเสนอการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญได้นั้นพี่เจี๊ยบบอกว่าเป็นเรื่องของความพยายามในการเสาะหาเนื้อเรื่องมานำเสนอผู้อ่าน ซึ่งโดยแนวทางของสกุลไทยนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการขอพระราชทานสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเสาะหาบุคคลผู้ใกล้ชิดมาบอกเล่าเรื่องราวมากกว่า

หากย้อนหลังไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ”สกุลไทย” นำเสนอเนื้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชวงศ์นั้นพี่เจี๊ยบเล่าให้ฟังว่า ”ปี 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ต่างประเทศ เราทำเรื่องขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์มาลง หลังจากปีนั้นเป็นต้นมา สกุลไทยเลยเน้นเกี่ยวกับราชวงศ์ ก็เลยทำให้ดูเป็นหนังสือที่บางคนมองว่าเป็นราชวงศ์ไปหน่อย แต่จริงๆ ไม่ใช่ แต่ท่านทรงพระกรุณาฯ เรามาโดยตลอด”

สำหรับพี่เจี๊ยบแล้ว แม้จะเติบโตมาพร้อมๆ กับ”สกุลไทย” แต่เพิ่งเข้ามาบริหารอย่างเต็มตัวเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ผู้บริหารบริษัทอักษรโสภณ เจ้าของ ”สกุลไทย” วางใจให้มาบริหารแทนมารดาของเธอผู้ล่วงลับ “พี่เจี๊ยบ” มาพร้อมกับประสบการณ์ทั้งการเขียนหนังสือ โลดแล่นอยู่ในบรรทัดตัวอักษรมาตั้งแต่วัยรุ่นที่ต้องการหาประสบการณ์การทำงานที่อื่นมากกว่าในที่คุ้นเคย เป็นนักข่าวสังคมในยุคแรกๆ ให้กับ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เจาะลึกเนื้อหาวัฒนธรรมทางเหนือนาน 3 ปี ตีพิมพ์ใน ”สกุลไทย” และมีพ็อกเกตบุ๊กของตัวเอง และแม้กระทั่งประสบการณ์การบริหารธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์

ความเป็นบรรณาธิการรุ่นลูกจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับ ”สกุลไทย” แต่กลับยิ่งดูเหมือนว่ากำลังผสานจุดขายที่มีอยู่เดิมให้โดดเด่นและกลมกลืนกับปรากฏการณ์ใหม่ของสังคม เหมือนอย่างช่วงจังหวะหนึ่ง ”สกุลไทย” ก็ร่วมขบวนกระแส ”AFฟีเวอร์“ สัมภาษณ์ วี 1 ลูกตาล โดยมีพี่เจี๊ยบที่แอบชื่นชมน้องลูกตาลตามไปฟังการสัมภาษณ์ด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ในฐานะบรรณาธิการ ”พี่เจี๊ยบ” ยังนำความกระชุ่มกระชวยให้กับตัวเอง และกองบรรณาธิการตลอดเวลา โดยเฉพาะการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในกระแสความสนใจของผู้อ่านอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีวันเบื่อ เหนื่อยและท้อ

นี่เองคือความสุขของ ”นรีภพ สวัสดิรักษ์” ที่สามารถส่งต่อมายังแฟนผู้อ่าน จนทำให้ ”สกุลไทย” เป็นนิตยสารขวัญใจผู้หญิงจำนวนมากของประเทศจนถึงปัจจุบัน

Profile

Name : นรีภพ สวัสดิรักษ์
Age : 51 ปี
Education
มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนจิตรลดา
ปริญญาตรีศึกษาศาสตร์ สาขาภาษาไทย ราชภัฏสวนสุนันทา
Career Highlight :
พ.ศ. 2521 เจ้าหน้าที่ฝ่ายวารสารสมาคมไทย-อเมริกัน
พ.ศ. 2522-2527 อาจารย์วิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์
พ.ศ. 2528-2530 เจ้าหน้าที่เขียนบทความ คอลัมน์ไลฟ์สไตล์ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
พ.ศ. 2532-2546 ธุรกิจส่วนตัว เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์
พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย
Status : สมรส บุตรสาว 1 คน บุตรชาย 1 คน
Life Styles :
-แต่งกายเน้นความสุภาพ และคล่องตัว ไม่ยึดแบรนด์เนม เน้นความพอเพียง
-ใช้เวลาวันอาทิตย์กับครอบครัว พบปะญาติพี่น้อง ทำอาหาร