เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ แม่ทัพ “มาม่า”

แม้ไม่ใช่สายเลือดโดยตรง แต่ “เพ็ญนภา ธนสารศิลป์” ได้รับความไว้วางใจ ประดุจทายาทคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับเจ้าสัว “เทียม โชควัฒนา” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสหพัฒน์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็น กรรมการบริหารหญิง คนแรก และเป็นคนเดียวของบอร์ดบริหารบริษัทฯ (ในยุคนั้น) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายล้วน

กว่า 2 ทศวรรษ ที่เพ็ญนภาได้พิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางบอร์ดบริหาร และคีย์แมนหญิงคนสำคัญที่มีส่วนผลักดันธุรกิจเครือสหพัฒน์ให้ขับเคลื่อนเติบโต เป็นอาณาจักรสหพัฒน์ยักษ์ผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ที่มีแบรนด์ประสบความสำเร็จแทบทุกเซ็กเมนต์

โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ “มาม่า” จนแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำตลาด เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ และสินค้าสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ล้วนมาจากฝีไม้ลายมือ วิสัยทัศน์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของหลานสะใภ้คนนี้

ทีมงาน POSITIONING พบเพ็ญนภาที่ออฟฟิศ ICC แทนที่จะเป็น สำนักงานใหญ่สหพัฒน์ ริมถนนเพชรบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงใหม่ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นการ Renovated ครั้งแรกที่สหพัฒน์ หลังจากย้ายออฟฟิศไปเมื่อหลายสิบปีก่อน

“ดีใจนะที่ยังเป็นประโยชน์ เพราะระยะหลังส่วนใหญ่มักทำงานเบื้องหลังหลายๆ เรื่อง” เธอบอกอย่างถ่อมตน พร้อมรอยยิ้มสดใส แม้ทุกวันนี้เธอต้องเดินสายประชุมบอร์ดไปมาทั้ง 2 ออฟฟิศตลอดสัปดาห์ รวมถึงภารกิจดูแลพนักงานหลายร้อยคนในเครือ ในฐานะ Vice President ดูแลธุรกิจ Division 5ของ ICC International และกรรมการบริหารเครือสหพัฒนพิบูลก็ตาม

ย้อนหลังไปเกือบยี่สิบปี เพ็ญนภา เริ่มงานแรก ที่ “ลินตาส” เอเยนซี่โฆษณาข้ามชาติ ประมาณ 3 ปี หลังจากเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์ ด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ต่อมาได้ลาออกมาทำงานที่สหพัฒน์ ตามคำชักชวนของเทียม โชควัฒนา ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติผู้ใหญ่ของสามี (มังกร โชควัฒนา)

ทั้งสองพูดคุยกันหลายครั้งกว่าเธอยินยอมเข้ามาทำงาน โดยเริ่มต้นทำงานที่สำนักประธาน และเรียนรู้งานการตลาด โดยดูแลสินค้าหมวดอาหาร มีแบรนด์นิสชินเป็นสินค้าตัวแรกที่ดูแล และต่อมาก็ถูกโยกย้ายมาดูแลมาม่า ซึ่งตอนนั้นกำลังเผชิญวิกฤตสินค้าล้นตลาดอย่างมาก

“ตอนนั้นมีมาม่าแล้ว แต่ท่านประธานอยากให้ไปเรียนรู้งานอื่นก่อน เพราะท่านมองว่า อาหารเป็นสินค้าสำคัญและเป็นเทรนด์ต่อไป” เธอย้อนความทรงจำแรกๆ ให้ฟัง

ประสบการณ์ที่สำคัญของเธอในครั้งนั้น ก็คือ การตัดสินใจสั่งระงับยอดสั่งซื้อ “มาม่า” จากโรงงานผลิตลงกว่าครึ่ง

“มาม่า มีสินค้าในตลาดมากและสินค้าหมดอายุก็เยอะ พี่เลยสั่งระงับยอดสั่งซื้อจากโรงงานลงไป 50-60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการเคลียร์ของในตลาดภายใน 3 เดือน ซึ่งเป็นครั้งที่เอาของคืนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์” เธอบอก

การตัดสินใจครั้งนั้น เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพการทำงานสำหรับเธอที่สหพัฒน์เลยทีเดียว เพราะหลังจากนั้นต่อมามาม่าก็ค่อยขยับสร้างยอดขาย และมีการเติบโตในตลอดอย่างต่อเนื่อง ในปีต่อๆ มา เพ็ญนภา บอก POSITIONING ว่า “หลังจากนั้น คุณเทียม อนุญาตให้มีสิทธิเด็ดขาดเกือบทุกเรื่อง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ” และตั้งแต่นั้น สำหรับเธอจึงไม่มีคำว่า “ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา”

แม้เวลาล่วงมานานนับสิบปี แต่เพ็ญนภายังคงเป็นกำลังหลักที่ดูแลแบรนด์มาม่าอย่างใกล้ชิด ไอเดียสำหรับคิดค้น วางแผนกลยุทธ์ตลาด เพื่อรักษาความเป็นที่หนึ่งของมาม่า ยังคงไม่เคยหยุดนิ่ง วิสัยทัศน์ต่อแบรนด์ตัวนี้ยังคงถูกวางจากมันสมอง และสองมือจากเธอผู้นี้

“มาม่าประสบความสำเร็จเป็น Generic Name แต่ก็ต้องยืนยงต่อไปให้ได้” เพ็ญนภาบอก และยอมรับว่า การเป็นที่หนึ่งอาจไม่ยากนัก เท่ากับการรักษาที่ 1

“เพราะการรักษาต้องเป็นที่หนึ่ง และชนะตัวเองตลอด” ดังนั้น มาม่าจึงต้องปรับปรุงตลอดเวลา และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคคนใส่ใจสุขภาพ สินค้าจึงต้องมีคุณภาพ โดยที่ผ่านมา มาม่าได้มีพัฒนาแตกไลน์สินค้าไปหลากหลายชนิด ใส่สารอาหารที่มีประโยชน์เข้าไป ทำให้สินค้ายังคงคุณค่ามากกว่าบะหมี่ธรรมดาๆ

เพ็ญนภาบอกถึงเป้าหมายและอนาคตสำหรับมาม่า อีกว่า “จะพัฒนาให้เป็นสินค้า Long life Noodle ซึ่งขณะที่อยู่ระหว่างขั้นตอนพัฒนาอีกไม่นานก็จะนำออกสู่ตลาด” พร้อมย้ำอีกว่า “สำหรับมาม่า มันหยุดนิ่งไม่ได้ ไม่งั้นถอยหลัง”

แม้ภารกิจข้างหน้า อาจไม่ง่ายนัก และค่อนข้างหนักหน่วงไม่น้อย สำหรับการนำพาแบรนด์ไปสู่เป้าหมายอีกขั้นหนึ่งต่อไปท่ามกลางการแข่งขันอันร้อนระอุของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่สำหรับเพ็ญนภา เธอยังคงมีความสุข สนุกกับการงานที่เธอบอกว่า “ยังคงท้าทายอยู่”

ประสบการณ์ทำงานที่สหพัฒน์ สำหรับเพ็ญนภาตลอดเวลานานนับสิบปี เธอบอกว่า นับมีคุณค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายจาก เทียม โชควัฒนา และบ่มเพาะเธอให้เป็นผู้บริหารที่ยึดมั่นในในคุณธรรม ซื่อสัตย์ และเด็ดขาด

“ท่านบอกว่า ถ้าเรายอมให้ใครก็ตาม หรือลูกน้องโกงแม้กระทั่ง 1 บาท ก็จะมีอีก 1 ล้านในอนาคต วันนั้นเราจะเป็นคนผิด เพราะเราไม่จัดการตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น ถ้าหากมีเรื่องโกง กระทั่งบาทเดียว พี่รับไม่ได้จะลงโทษสถานเดียว เพราะถือว่าซีเรียสมาก” เธอบอกเสียงหนักแน่น

นอกจากนี้ นายห้างเทียมยังสอนให้เธอเป็นคนใจกว้าง และมีเมตตา ประเภทใครอยากเรียนรู้อะไรเอาไป และการให้ที่เธอบอกว่า เวลาให้คนไม่ต้องจำ แต่ถ้าเป็นหนี้คนให้จำ “ทุกวันนี้หลักคำสอนนี้ พี่ก็เอาฝึกลูก ทุกๆ วันเกิดให้เอาของไปแจกเพื่อน ฝึกให้เป็นคนให้ ก็เพราะได้จากท่าน”

นอกจากสอนลูก เธอยังนำมาใช้ในทำงานใช้ชีวิตทั้งการทำงานและส่วนตัวอีกด้วย เพ็ญนภาขยายความให้ฟังว่า “การเป็นพี่ใหญ่ น้องเอาเปรียบบ้างไม่เป็นไร สำหรับคนนอก ถ้าช่วยคนต้องช่วยตอนเค้าใกล้จมน้ำ และวันนี้สิ่งที่ท่านให้แม้เวลาผ่านไป 10 ปี และท่านเสียแล้ว แต่ยังรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งติดตัวและใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน”

ไม่เพียงเท่านี้ ความเป็นนักบริหารประเภท ช่างจดจำ และดูคนเป็น ก็มาจากต้นแบบเจ้าสัวเทียม ที่ได้ทำทาง ถ่ายทอดให้เธอไว้เช่นกัน

“พี่เรียนรู้จากคุณเทียม เรื่อง ความจำแบบไม่ต้องจด คนอาจสงสัยว่าพี่ไม่มีสมุดจดอะไรเลย สมัยก่อนคุณเทียมดูแลบริษัทเป็นหลายร้อยแห่ง แต่ท่านยังจำได้ว่ามาม่าขายได้กี่หีบ จุดนี้ทำให้พี่มองกลับที่ตัวเอง เราเป็นใครแค่นี้ยังไม่ไหว ตั้งแต่วันนั้นทิ้งสมุดจด ท่านแนะว่า ทำอะไรก็ใช้วิธีจำ และนำมาเล่าจะเป็นเครื่องช่วยให้จำได้” เธอเผยเคล็ดลับให้ฟัง

การดูคน นับเป็นอีกคุณสมบัติที่โดดเด่นของเพ็ญนภา เธอเล่าว่า มาจากประสบการณ์ทำงานร่วมกับเทียม

“สมัยทำงานที่ลินตาสยังดูคนไม่ค่อยเป็น แต่พอมาทำงานที่สหพัฒน์ ก็ค่อยๆ ศึกษา ฝึกอยู่เรื่อยๆ บางครั้งคุณเทียมเรียกไปถาม เพ็ญคนนี้เป็นอย่างไร นานๆ เข้าท่านก็ให้เรารับคนเข้าทำงานเอง และทุกวันนี้คนที่รับเข้ามาก็ยังทำงานอยู่เลย”

ความเป็นผู้หญิงมีส่วนช่วยให้บริหารงาน โดยเฉพาะเรื่องจิตใจของพนักงาน

“เวลาที่เดินเข้าไปในออฟฟิศ บอกได้เลยว่าคนไหนมีปัญหา และก็จะเรียกเข้ามาคุย เพราะเราเป็นครอบครัวมีอะไรไม่สบายใจ ไม่เข้าใจให้ถามอย่าเก็บไว้ในใจ สำหรับคนที่คิดไม่ดีหวังร้ายก็จะรู้ หรือแค่มองปุ๊บก็รู้ว่าคนใดไว้ใจไม่ได้ เพราะเค้าจะไม่ค่อยกล้าสบตาเรา”

ทั้งหมดนี้ เป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของนักบริหารหญิงคนนี้ จึงไม่แปลกนักที่วันนี้เธอได้กลายมาเป็นนักการตลาดบริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จ และโดดเด่นมากสุดคนหนึ่งของวงการ จนได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับในฐานะนักธุรกิจหญิงดีเด่นประจำปี 2535 และนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยเมื่อ 2 สมัยก่อน

ปัจจุบัน เพ็ญนภายังทำงานบริหารอยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งของสินค้าหลายแบรนด์ในเครือสหพัฒน์อย่างตั้งใจและทุ่มเท ขณะเดียวกันเธอยังเต็มอกเต็มใจทำงานถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ในอาชีพ และการบริหารงานให้กับคนรุ่นหลัง ในฐานะผู้บรรยายพิเศษหลายสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งจุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ และนิด้า ที่บรรดาลูกศิษย์เรียกขานเธอว่า “ด็อกเตอร์เพ็ญนภา”… อย่างเต็มภาคภูมิ

Profile :

Name : เพ็ญนภา ธนสารศิลป์
Age : 53 ปี
Education :
– ระดับ Doctor ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย Nova South Eastern University, U SA
– MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlight :
2546-ปัจจุบัน Vice President ดูแลธุรกิจ Division 5ของ ICC International
2543 ปัจจุบัน กรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด
2533-2542 กรรมการและผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ 2 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด
2524-2532 ผู้จัดการฝ่ายการตลาด 2 บริษัท สหพัฒนพิบูลย์ จำกัด
2523 ลาออกจาก ฝ่ายบริหารงานลูกค้า เอเยนซี่ลินตาส
ตำแหน่ง/การทำงานเพื่อสังคม
2545-2549 ซีอีโอ บริษัท Allied Retail Trade
2541-2545 นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
2535 นักธุรกิจหญิงประจำปี
Life Styles : ยามว่างดูทีวี กินอาหารมังสวิรัติ 1 วันต่อสัปดาห์ ชอบฟังเพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงความหมายดี วงโปรด The impossible กีฬาชื่นชอบ เล่นเทนนิส และออกำลังกายวิ่งบนลู่