รังใหม่ “นกอินทรี”

เมื่อปูนซีเมนต์ตรานกอินทรีตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ ซึ่งเช่าที่ดินบริเวณจตุจักร ของการรถไฟแห่งประเทศ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา เนื่องจาก จันทนา สุขุมนานนท์ แม่ทัพหญิงของค่ายปูนแห่งนี้ ใช้โอกาสอันดีในครั้งนี้สร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ขึ้นภายในองค์กร

“สถานที่ทำงาน ถ้าน่าอยู่ มีคอนเซ็ปต์ดี มีสภาพแวดล้อมดีจะดึงดูดคนที่มาทำงานกับเราด้วย สภาพแวดล้อมที่ดี ส่วนคนที่อยู่เดิม รู้สึกสดชื่น กระชุมกระชวยมากขึ้น บางคนถึงกับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวใหม่ เพื่อให้เข้ากับออฟฟิศ”

นับเป็นครั้งแรกที่สำนักงานของปูนซีเมนต์ตรานกอินทรี ซึ่งแต่กระจายอยู่ตามอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ สำนักงานจตุจักร เพลินจิต อาคารชิน 3 และสระบุรี จะมารวมกันอยู่บนสำนักงานแห่งใหม่ บนอาคาร Column เพียงแห่งเดียว ซึ่งนอกจาก “ง่ายและสะดวก” ติดต่อสื่อสาร ยังส่งผลให้พนักงานคิดเป็นหนึ่งเดียว

รังใหม่ของปูนนกอินทรีแห่งนี้ ตั้งอยู่บนอาคารคอลัมน์ สุขุมวิท 26 ใช้พื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร ขนาด 5 ชั้นครึ่ง รองรับกับพนักงาน 700 คน

ด้วยความเป็นคนชอบตกแต่งบ้านเป็นชีวิตจิตใจ ไอเดียของการออกแบบครั้งนี้ จึงมาจาก จันทนา ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะความสวยงาม ทันสมัยเท่านั้น แต่จุดสำคัญอยู่ที่การแฝงไว้ด้วยความหมายของธุรกิจไว้ทุกอณูของพื้นที่

เริ่มตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ ต้องการทำให้สถานที่ทำงานมีความรู้สึกเหมือน “บ้าน” มากที่สุด เพื่อลดแข็งของตัวอาคาร ด้วยการออกแบบให้โปร่งโล่ง ใช้แสงอาทิตย์ให้มากที่สุด และการเชื่อมต่อระหว่างชั้น 7 ซึ่งเป็นส่วนต้อนรับ กับชั้น 8 ด้วย “บันได” เพื่อให้ความรู้สึกถึงความเป็น “บ้าน” ไม่เหมือนเป็น “ออฟฟิศ”

ที่ขาดไม่ได้ คือ การนำเอาสัญลักษณ์ต่างของธุรกิจ ตั้งแต่ การใช้ “ปูนเปลือย” ในการปูพื้นสำนักงาน การเลือกใช้โทนสี แดง ขาว เทา ดำ ซึ่งสีของแบรนด์องค์กรปูนตรานกอินทรีย์ รวมทั้งการนำผลิตภัณฑ์ “คอนวูด” มาใช้ตกแต่งสำนักงานแห่งนี้

แนวทางการออกแบบตกแต่ง ใช้สไตล์ “ตะวันออกพบตะวันตก” หรือ East and West ด้วยการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์เก่าแก่อายุหลายสิบปี ที่เป็น“เอเชียนสไตล์” ซึ่ง “พี่แมว” เลือกซื้อมาด้วยตัวเอง นอกจากให้ความหมายของ “บ้าน” และเพื่อความสวยงามแล้ว ยังซ่อนความหมายของการนำสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างความทันสมัยและความเก่ามารวมไว้ในที่เดียวกัน

“สำหรับพี่แล้ว ทุกอย่างจะเป็นปรัชญาหมด ข้างนอกของคนเราทันสมัยได้ แต่จิตใจเราต้องต้องคงความเป็นเอเชียไว้ เพราะเรามีความละเมียดละไม เราเป็นพุทธศาสนิกชน ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็นคนดี ไม่ได้เน้นถึงวัตถุเท่ากับจิตใจ ที่ต้องมาก่อน”

ความหมายที่มากว่านั้น ก็คือ การสะท้อนการทำงานร่วมกันระหว่าง คนไทย และบริษัท Holcim ผู้ถือหุ้นจากสวิตเซอร์แลนด์
ชื่อห้องทำงานของ CEO บนชั้น12 นำเอาชื่อ อินทนนท์ ซึ่งภูเขาที่สูงที่สุดในไทย มาใช้ตั้งเป็นชื่อห้อง เคียงคู่กับ ห้อง มอนเตโรซ่า ภูเขาที่สูงที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ มาเป็นตัวสะท้อนภาพการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารชาวสวิส และไทย

เช่นเดียวกับชื่อของห้องประชุมอื่นๆ ที่ต้องแฝงไว้ด้วยความหมาย เช่นคำว่า “ลูกค้าดี รวยดี ขายดี” เป็นชื่อที่ถูกนำไปใช้กับ 3 ห้องประชุม ของฝ่ายการตลาด โดยที่ห้องประชุมแผนกขายปูน จะใช้ชื่อ อินทรีแดง อินทรีเขียว อินทรีดำ อินทรีเพชร หรือถ้าเป็นฝ่ายขายผลิตภัณฑ์คอนกรีต คือ คีรี และภูผา

ถ้าเป็นสำนักงานอื่นๆ คงได้เห็นภาพจิตรกรรมอันงดงามบนฝาผนัง แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่ เพราะภาพที่ใช้ประดับ คือ ภาพถ่ายขนาดใหญ่ของ “ลูกค้า” ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายปูนตรานกอินทรีทั่วประเทศ

ทุกเย็นวันศุกร์ปลายเดือน ลูกค้าเหล่านี้จะถูกเชิญมาร่วมงาน ที่ใช้ชื่อว่า “Thank god is Friday” ซึ่งเป็นงานสังสรรค์ที่จัดขึ้นพื้นที่บริเวณด้านนอกจัดเป็นสวนไว้เป็นที่พักผ่อน และงานเลี้ยงโดยเฉพาะ

จันทนา เชื่อว่า นี่คือการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ที่เป็นไปตามหลักของ “Customer Centric” ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คำว่า Customer จึงถูกนำไปใช้ในทุกพื้นที่อย่างมีความหมาย แม้แต่กระจกหน้าห้องทำงานของจันทนาเอง ก็ยังติดคำว่าว่า Customer pay my salary

ไม่เฉพาะความสวยงาม และการตกแต่งที่เน้นความหมายทางธุรกิจในทุกพื้นที่เท่านั้น หากแต่ยังสร้างให้เป็นองค์กรของข้อมูล ด้วยการติดตั้งระบบ “ไอที” ด้วยเม็ดเงิน 100 ล้านบาท เพื่อให้พนักงานสามารถออนไลน์ เรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา

“ทุกองค์กรมีข้อมูลข่าวสารมาก ก็ควรจะไปแชร์ให้คนอื่นดู ผ่านเว็บท่าของเรา ใครจะเอารูปอะไร ก็ไปเอามาดาวน์โหลด ถ้าอยากดูข้อมูลการขายของพนักงานคนไหน ก็สามารถเข้าไปดูได้เลย เพื่อที่จะวางแผนการผลิตได้ทัน”

ข้อมูลอีกส่วนถูกนำมาใช้ในห้อง Kocpit แผนก Logistic เปรียบเสมือนเป็น “วอร์รูม” ที่นอกจากจะใช้มอนิเตอร์ข้อมูลสภาพตลาด ดูยอดขายได้ตลอด เพื่อประโยชน์ในการแชร์ข้อมูล ยังใช้ “มอนิเตอร์” รถขนส่งปูน ซึ่งติดตั้งระบบ “GPS” ทำให้สามารถสื่อสารกับสำนักงานใหญ่ได้ตลอดเวลา

ระบบไอที ทั้งหมดเป็นของบริษัทลูกของโฮซิม ชื่อว่า โฮซิม เซาท์อีสต์ เอเชีย ซึ่งทำระบบไอทีให้กับสำนักงานของโฮลซิมทุกประเทศนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย นำไปใช้

“ทำลักษณะนี้ เพื่อให้ทุกคนมาแชร์ข้อมูล ในฐานข้อมูลเดียวกัน ทุกคนจะได้รู้ว่า การแข่งขันในตลาดเป็นอย่างไร มีการเกาะติดทิศทางธุรกิจ ใครเขียนเกี่ยวกับเรื่องกับปูนซีเมนต์ ก็เอามาใส่ไว้ ข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้าง อุตสาหกรรม เราควรจะแชร์ให้ลูกค้าดูด้วย เพราะลูกค้าอยู่ในธุรกิจเดียวกับเรา”

สิ่งที่ได้จากย้ายสำนักงานครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การย้ายสถานที่ธรรมดาๆ แต่แฝงไว้ด้วยความหมายของธุรกิจ “ลงทุนมากหน่อย แต่ระยะยาวแล้ว จะประหยัดได้มากกว่า เพราะถ้าเราประสานงานได้ดีกว่าเก่า และสิ่งที่ตามมาคือผลประกอบการที่ดีขึ้น”