การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการสื่อสารได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันให้แตกต่างจากเดิมค่อนข้างมาก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ในด้านธุรกิจบันเทิงก็เช่นเดียวกัน ที่สื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้การรับสื่อบันเทิงเปลี่ยนรูปแบบไป มีการหลอมรวมของสื่อทั้งในด้านเครื่องมือและเนื้อหาที่ให้บริการ เช่น การรับฟังรายการวิทยุนั้นนอกจากจะฟังผ่านเครื่องรับวิทยุแล้วยังสามารถฟังได้จากทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นเดียวกับรายการโทรทัศน์ เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ทำให้รูปแบบของการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมบันเทิงได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่เฉพาะในทางทีดีขึ้นจากการมีช่องทางการการแพร่กระจายของสินค้าเท่านั้นแต่ยังมีผลกระทบในด้านลบด้วยเช่นกันโดยเฉพาะปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ในกลุ่มธุรกิจเพลง ภาพยนตร์ เมื่อมีการก็อปปี้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น หรือมีการส่งต่อในรูปแบบของไฟล์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิต การจำหน่ายและรายได้ของผู้ประกอบการค่อนข้างมาก
นอกจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีจะมีผลต่อธุรกิจบันเทิงค่อนข้างมากแล้ว ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก็มีผลกระทบต่อธุรกิจบันเทิงด้วยเช่นกัน โดยธุรกิจบันเทิงนั้นเป็นสินค้าในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพพื้นฐาน หากเศรษฐกิจมีความผันผวนเหมือนในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยทางด้านการเมือง การก่อความไม่สงบในภาคใต้ การลอบวางระเบิดในพื้นที่ชุมชน ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านบันเทิงนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ทั้งนี้การสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ ในปี 2549 พบว่า ค่าใช้จ่ายทางด้านบันเทิงและการอ่านของครัวเรือนมีจำนวนประมาณ 3,064 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.67 จากปี 2547
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจบันเทิงในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบันเทิงน่าจะยังมีการขยายตัวได้ โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 87,900 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามธุรกิจบันเทิงหลายประเภทยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น ระดับราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการยังชีพที่อาจจะมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น การขยายตัวของรายได้ที่ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา และอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะปรับตัวลดลง น่าจะมีส่วนช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางด้านการใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่ก็ยังมีปัจจัยทางด้านความไม่สงบเข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการออกมาใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลกระทบต่อธุรกิจบันเทิงในกลุ่มที่ต้องออกจากบ้านมาใช้บริการด้วยเช่นกัน หากพิจารณาแนวโน้มของธุรกิจบันเทิงจำแนกตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโทรทัศน์ ธุรกิจวิทยุ ธุรกิจโรงภาพยตร์ ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ธุรกิจร้านเช่า/จำหน่ายซีดี/วีซีดี/ดีวีดี และ ธุรกิจเพลง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ธุรกิจโทรทัศน์ : แนวโน้มดี…รายการข่าวยังมาแรง
ในปี 2549 การใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์นั้นยังมีแนวโน้มค่อนข้างดีโดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.91 คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 53,474 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 60 ของเม็ดเงินโฆษณารวมทั้งหมด การเพิ่มอัตราค่าโฆษณาในช่วงรายการที่มีเรตติ้งดี โดยเฉพาะในช่วงรายการข่าว มีการปรับอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-75 นอกจากนี้ยังมีการหาแหล่งรายได้ใหม่นอกเหนือการพึ่งพิงรายได้จากโฆษณาของธุรกิจสถานีโทรทัศน์ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยได้จากการหลอมรวมไปสู่ช่องทางการให้บริการใหม่ๆ หรือการผนวกคอนเทนท์หรือเนื้อหาของรายการไปสู่เทคโนโลยีใหม่ เช่น การออกอากาศผ่านทางอินเทอร์เน็ต การพัฒนารายการให้มีลักษณะอินเตอร์แอคทีพ ให้ผู้ชมสามารถส่งเอสเอ็มเอสผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในรายการข่าว รายการละคร การนำรายการที่ออกอากาศไปแล้วมาจำหน่ายในรูปแบบซีดี/วีดซีดี/ดีวี เป็นต้น สำหรับในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าโฆษณาที่จะใช้ผ่านสื่อโทรทัศน์นั้นน่าจะยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก ร้อยละ 6-7 โดยมีมูลค่าโฆษณาประมาณ 56,000-57,000 ล้านบาท โดยมีรายการข่าวยังเป็นรายการเด่นที่สถานีโทรทัศน์ต่างก็มีการปรับผังรายการให้มีรายการข่าวเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจวิทยุ : ยังต้องระมัดระวัง…ต้องจับกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน
ในปี 2549 นั้นเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้ผ่านสื่อวิทยุนั้นมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีมูลค่าโฆษณาประมาณ 6,588 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 3.07 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมานั้นธุรกิจสถานีวิทยุมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขการให้สัมปทานกับผู้ผลิตรายการหลายแห่ง เช่น การเรียกคืนคลื่นจากเจ้าของสัมปทานเพื่อไปดำเนินการเอง การปรับลดระยะเวลาในการให้สัปทานลงเหลือเพียง 1 ปี ทำให้การวางแผนของธุรกิจวิทยุและการหารายได้ของธุริจในรายขนาดเล็กทำได้ค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้การที่มีสถานวิทยุจำนวนมากออกอากาศนั้น ทำให้คุณภาพของการให้บริการหรือความคมชัดของสัญญาณลดน้อยลงไป ประกอบกับความนิยมในการฟังรายการวิทยุนั้นลดน้อยถอยลงเมื่อมีสื่ออื่นๆ เข้ามาให้เลือกมากขึ้น เช่น อินเทอร์เน็ต เครื่องเล่นเอ็มพี 3 ที่สามารถบรรจุเพลงได้จำนวนมาก สำหรับแนวโน้มของธุรกิจวิทยุในปี 2550 นั้น ยังคงอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ต้องให้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจหรืออาจมีการเติบโตของธุรกิจไม่สูงมากนัก อาจอยู่ในระดับการขยายตัวในอัตราร้อยละ 3-4 เท่านั้น เนื่องมาจากการขยายตัวของการใช้โฆษณาผ่านทางวิทยุยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณมูลค่าตลาดมูลค่าโฆษณาที่จะผ่านเข้าสู่ธุรกิจวิทยุว่าจะมีมูลค่าประมาณ 6,700-6,800 ล้านบาท
ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก : การแข่งขันเข้มข้น…ปรับคอนเทน์ดึงลูกค้า
ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกนั้น มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปัจจุบันมีครัวเรือนที่อยู่ในระบบสมาชิกประมาณ 2.5 ล้านครัวเรือน หรือมีผู้ชมประมาณ 8.5 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.22 ของครัวเรือนทั้งประเทศ ปัญหาของการขยายตัวของธุรกิจรายใหม่ๆ นั้นมาจากการที่ยังไม่ได้จัดตั้งองค์กรอิสระหรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เข้ามาจัดสรรใบอนุญาต ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ให้บริการขณะนี้ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยบางรายได้รับใบอนุญาตชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการไปบ้างแล้ว แต่การดำเนินธุรกิจยังมีขนาดเล็ก ทำให้อำนาจต่อรองในการจัดซื้อลิขสิทธิ์รายการมาออกอากาศนั้นดำเนินไปอย่างจำกัด และมักจะประสบกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์รายการ หรือมีการลักลอบนำเนื้อหาหรือรายการที่ไม่ได้รับอนุญาตมาให้บริการ ปัญหาการมีเนื้อหารายการให้บริการน้อย ปัญหาการพาดสายเคเบิลรับสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต และเงื่อนไขของการให้บริการจะโทรทัศน์แบบรับสมาชิกนั้นไม่สามารถหารายได้จากค่าโฆษณาได้ซึ่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ของตลาดปรับลดค่าสมาชิกรายเดือนลงเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำให้ผู้ให้บริการท้องถิ่นหลายแห่งรวมตัวกันเพื่อซื้อลิขสิทธิ์รายการที่ออกอากาศมาแข่งขันด้วย และหันมาผลิตรายการเพื่อออกอากาศเองเป็นการช่วยลดต้นทุนที่จะต้องซื้อรายการจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ภาพ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่ารวมของธุรกิจโทรศัพท์บอกรับสมาชิกในปี 2550 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท
ธุรกิจเพลง : ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์พุ่ง …สร้างรายได้ใหม่จากสื่อไฮเทค
ธุรกิจเพลงในประเทศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคภายหลังการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือสื่อดิจิตอลใหม่ๆ หรือนิวมีเดีย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น การดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต การดาวน์โหลดไฟล์เพลงเข้าเครื่องฟังแบบ MP3 แทนที่เลือกซื้อเทปหรือซีดีมาฟัง ทำให้ปริมาณการเลือกฟังเพลงจากแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ทลดลง นอกจากนี้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การก๊อปปี้เพลงลงซีดี หรือเอ็มพี 3 ออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบการขยายตัวของรายได้หลักของธุรกิจเพลงให้มีการเติบโตในอัตราที่ต่ำหรือมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ โดยในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า มูลค่าตลาดประมาณ 6,300 ล้านบาทใกล้เคียงกับปี 2549 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวนและปัญหาทางด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ยังมีความรุนแรงอยู่มาก
ธุรกิจภาพยนตร์ไทย : แนวโน้มเติบโตดี…รายได้อาจพุ่งสูงถึง 1,500 ล้านบาท
จำนวนภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นสะท้อนภาพการขยายตัวของธุรกิจในทิศทางที่ค่อนข้างดีอย่างต่อเนื่อง ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท ในประเทศและยังสามารถส่งออกภาพยนตร์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สำหรับในปี 2549 มีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 42 เรื่องเพิ่มขึ้นจาก 39 เรื่องในปี 2548 และในปี 2550 คาดว่าจะมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายประมาณ 50 เรื่อง โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยมีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่เข้าโปรแกรมฉายหลายเรื่อง อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจนั้นยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง
ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอ/วีซีดี/ดีวีดี : ปรับตัวตามกระแส…สร้างจุดขายเจาะกลุ่มสมาชิก
ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอ/วีซีดี/ดีวีดีนั้นได้พัฒนาจากเดิมให้เช่าซอฟท์แวร์เพียงอย่างเดียวมาพัฒนาไปสู่การจำหน่ายสินค้าควบคู่ไปด้วย เนื่องจากราคาจำหน่ายของซอฟท์แวร์หรือแผ่นซีดีต่างๆ นั้น มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่รุนแรงทำให้รายได้จากการเช่าซอฟท์แวร์หรือซีดีเพียงอย่างเดียวกลับมีแนวโน้มลดลง ทำให้ร้านเช่าจึงต้องขยายช่องทางรายได้ด้วยการจำหน่ายเป็นสินค้าเพื่อเสริมรายได้ให้กับธุรกิจ สำหรับแนวโน้มของธุรกิจให้เช่าวิดีโอ/วีซีดี/ดีวีดี ในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่ามูลค่าของธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากปี 2549 โดยที่ธุรกิจยังต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนและการขยายตัวของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก
กล่าวโดยสรุปแล้ว แนวโน้มในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาทางชายแดนภาคใต้และปัญหาการละเมิดของลิขสิทธิ์นั้นน่าจะยังมีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจบันเทิงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามธุรกิจบันเทิงประเภทโทรทัศน์น่าจะยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากนี้หากปัญหาความไม่สงบบรรเทาลง ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจภาพยนตร์ไทยและโรงภาพยนตร์ให้ขยายตัวได้ดีด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีภาพยนตร์ไทยฟอร์มใหญ่ที่กระตุ้นมูลค่าของตลาดหลายเรื่อง ในขณะที่ธุรกิจบันเทิงประเภทวิทยุ และ ธุรกิจเพลงอาจมีการขยายตัวในเกณฑ์ที่ค่อนข้างทรงตัว หลังจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในกลุ่มธุรกิจเพลงและปัญหาด้านสัมปทานของธุรกิจวิทยุ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มของธุรกิจบันเทิงในระยะต่อไปนั้น จะมีการปรับตัวไปสู่กระแสของสินค้าที่เข้าไปร่วมกับสินค้าประเภทเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงประเภทของสื่อจากเดิมมาสู่การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจบันเทิงนั้นน่าจะมีส่วนสำคัญที่จะสามารถใช้สื่อสมัยใหม่เหล่านี้หรือพัฒนาเข้าสู่การเป็นคอนเทนท์ให้บริการ ซึ่งเป็นช่องทางในการหารายได้ที่น่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะกลายเป็นสื่อหลักในอนาคตอันใกล้