แรงบันดาลใจจากพระเจ้าของ…วสุ วิรัชศิลป์

“จงหลงใหลและเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณทำ แล้วงานนั้นจะมีชีวิต …งานไม่ใช่แค่ภาระหน้าที่ หากแต่เป็นสิ่งที่คุณต้องใส่จิตวิญญาณของคุณเข้าไปด้วย” วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกรุ่นใหม่ผู้มีไฟกล่าวกับ POSITIONING เมื่ออธิบายความหมายของการทำงาน

สถาปนิกหนุ่มผู้นี้ มีหลายๆ มุมมองในการทำงานและการใช้ชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย…

ภาพบรรยากาศสบายๆ ในห้องสมุดของ ม.ศิลปากร ผุดขึ้นในความทรงจำ เมื่อวสุเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาก็เคยเป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้นั่งหลงใหลงานศิลป์อยู่ระหว่างชั้นเก็บหนังสือเหล่านั้น

“ด้วยความที่ชอบหนังสือ นิตยสารต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกงาน Conceptual ผมจึงตัดสินใจ Drop การเรียนที่คณะสถาปัตย์ฯ ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีก็จะจบ ผมเลือกที่จะเสี่ยง เพราะเมืองนอกเปิดกว้างทางด้านแนวความคิด และให้คุณค่ากับตัวเอง หรือ Self-identity สูง เราจึงสามารถเลือกทางเดินที่เรามีพรสวรรค์หรือมีความถนัดได้ จากเกรดเฉลี่ยสองกว่าๆ จึงกลายเป็นเกียรตินิยม”

“VasLab” คือห้องคิดค้นทดลองงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมของคุณวสุ เมื่อกลับมาจากการศึกษาปริญญาโทในสาขาการออกแบบสถาปัตยกรรมขั้นสูง ที่นิวยอร์ก วสุเริ่มจากการทำ Studio คนเดียว ประเดิมด้วยการออกแบบบ้าน กาจบดินทร์ สุดลาภา เจ้าของนิตยสาร Daybed ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย ABAC ต่อมางานเริ่มมากขึ้นจึงมีการฟอร์มทีมขึ้นมา ดึง Partner มาช่วย จากสถาปนิก 2 คนกลายเป็น 4 จนปัจจุบัน VasLab มีทีมสถาปนิกทั้งหมด 7 คน

ความท้าทายของงานสถาปนิก มิได้มีเพียงความสามารถในการจัดการกับงานเขียนแบบ หากแต่ยังต้องรู้จักการติดต่อประสานงานกับคนหลายกลุ่ม ทั้งวิศวกร ลูกค้า เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้รับเหมา รวมถึงสื่อซึ่งเป็นพันธมิตร

“ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา นิตยสารให้ความสนใจกับงานของเรามากขึ้น ด้วยงานที่ Unique และ Indy มากๆ หรือก็คือเราทำการตลาดกับกลุ่ม Niche Market และจุดเด่นของ VasLab คือ เราค่อนข้างให้คุณค่ากับกระบวนการความคิด (Conceptual)”

งานสถาปัตย์ฯ เปรียบได้กับการสร้างภาพยนตร์เรื่องยาวสักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่การครีเอต หากแต่ต้องสามารถควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคิดในกระดาษให้มากที่สุด ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญขาดไม่ได้สำหรับนักทดลองของ VasLab คือ “Passion” หรือ “ความหลงใหล” ในตัวงาน โดยวสุมีวิธีการ “จุดแรงใจและไฟฝัน” ให้น้องๆ ตลอดเวลา ด้วยการหยิบชิ้นงานมันส์ๆ ให้ทำเป็นการคั่นรายการเสมอๆ

สไตล์งานของ VasLab สามารถให้คำจำกัดความได้ใกล้เคียงกับคำว่า “Avant-Garde” หรือ “Neo-Modern” คือ การหันกลับไปมองและตีความแนวความคิดแบบ Modern ที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติทางสังคมปี 1920 ใหม่ โดยสถาปนิกที่ถือว่าเป็น Idol ของวสุ ได้แก่ อ.พรชัย บุญสม ปรมาจารย์ผู้ออกแบบบ้าน MnG House ชื่อดัง หรือ Robert G. Boughey ผู้ออกแบบหอศิลป์ กทม. เป็นต้น

โดยทั่วไปสัดส่วนระหว่าง Art และ Commercial มักจะผันแปรไปตามอิทธิพลของระบบทุนนิยม แต่สำหรับ VasLab วสุกล่าวว่า “แรงบันดาลใจต้องมาก่อนเสมอ จะ Business มากไม่ได้ เพราะจะสูญเสีย Character และ Identity ถ้าปล่อยให้ Business กลืนกินเท่ากับว่าคุณไม่ใช่สถาปนิก เป็นนายทุนมากกว่า สำหรับเราลูกค้ามาที่หนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องเป็นผู้นำให้เค้าเห็นแนวความคิดของเรา ซึ่งลูกค้า Private จะได้คาแร็กเตอร์ของ Vaslab ไปมากกว่า เพราะความต้องการของปัจเจกบุคคลมีสูงกว่า ทำให้แสดงออกความเป็นตัวตนได้เต็มที่”

“เราหวังเงียบๆ ว่าจะผลักดันความคิดที่แตกต่างไปให้ลูกค้า Absorb ลูกค้าบางคนตอนแรกบอกเอาแบบที่ Talk of the town เลย ปรากฏว่าถึงเวลาเลือกอันที่ธรรมดาที่สุดก็มี วิธีการปลอบใจตัวเองและทีมก็คือ “Next Chance” คือ ยังมีโอกาสหน้าสำหรับแนวความคิดนั้นๆ แต่สิ่งที่เราได้คือการเรียนรู้”

“ผลงานที่ภูมิใจของ VasLab คือ Home Office หลังนี้ ซึ่งปีที่แล้ว Art4d และ Wallpaper ก็ได้เอาไปลงตีพิมพ์” ผลงานของวสุเข้าตาพี่เต้ย-นิธิ แห่ง Art4d แบบจังๆ ทำให้ VasLab กลายเป็น 1 ใน 10 ทีมสถาปนิกไฟแรงแห่งปี จนได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือ “Interview with Architects” ซึ่งจะออกในงานสถาปนิกไทย 2007 “เราไม่ได้เจ๋งอะไร เพียงแต่เค้าเห็นความต่าง”

“อยากออกแบบหอศิลป์ ดีใจมากที่ตอนนี้กำลังจะมีหอศิลป์ที่แยกปทุมวัน อยากทำสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาด้วย ตอนนี้มีโปรเจกต์ที่ได้ทำแล้ว เป็น ‘Noah Ark’ หรือเรือในพระคัมภีร์สมัยน้ำท่วมโลก โดยVasLab ได้ออกแบบไว้ในเวอร์ชั่น ‘เรือคอนกรีต’”

แรงบันดาลใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวสุ “ต้องขอบคุณพระเจ้า ภรรยาผมเป็นดีไซเนอร์ เลยได้คุยเรื่องศิลปะกันเยอะ เราชอบดูหนังอาร์ต ดูแล้วได้คิด หนังที่สวย เพลงที่ต้องคิด ทำให้เรามองเห็นมุมมอง สี โทน ความเท่บางอย่างที่นำมาสร้างแรงบันดาลใจได้”

วาระของพระเจ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลแตกต่างกัน สำหรับวสุแล้ว จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเมื่อ 3 ปีก่อนทำให้เขาเห็นความจริงในโลกได้ชัดแจ้งมากขึ้น “ตอนนั้นภรรยาผมป่วย คิดฆ่าตัวตาย ทำให้รู้สึกว่าช่วยเหลือทั้งตัวเองและภรรยาไม่ได้ ผมกำลังจะสูญเสียภรรยาไป แต่ ณ จุดนั้นเองที่ผมพบว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการร้องขอต่อพระเจ้า จนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานที่สุดนั้นมาได้ ผมพบว่าพระเจ้าสอนให้ผมรู้จักความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข”

“ผมเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณจากประสบการณ์ที่ซับซ้อน ผมให้อภัยคน ผมเลิกบุหรี่ซึ่งกลายเป็นเรื่องเล็กมากเพราะมันคือการติดพืช ผมเห็นความฉาบฉวยบนโลกซึ่งไม่ใช่สันติสุขที่แท้จริง ความทุกข์ที่เราเผชิญมันยังคงอยู่ หากแต่เรารู้จักต้องปรับ Perception ในการมองความทุกข์เหล่านั้น ตอนนี้ผมไม่ได้มองชื่อเสียง เงินทอง หรือเกียรติยศเป็นเรื่องใหญ่อีกต่อไป”

Profile :

Name : วสุ วิรัชศิลป์
Age : 33 ปี
Education :
-Master of Science in Advanced Architecture of Design, Columbia University, NY
-Bechelor of Architecture, Pratt University, NY
– โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
Career Highlights :
– บริษัท VasLab จำกัด
– อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม. ABAC
Family : ภรรยา อิสสริยา วิรัชศิลป์ ดีไซเนอร์แห่ง Inspired by Inner Complexity และผู้แต่งหนังสือ “บนปากเหว”