“ตุลาชิน” ฐานกำลังไทยรักไทย

ในหลายๆ ขุมกำลังที่ทักษิณรวบรวมมาจัดตั้งไทยรักไทยในต้นทศวรรษ 2540 นับว่ากลุ่ม “คนเดือนตุลา” เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ ทั้งในบทบาทการลงท้องที่วิจัยค้นหาความต้องการของคนในระดับ “รากหญ้า” และความเป็นเครือข่ายที่โยงได้ถึงทั้งแวดวงวิชาการ เอ็นจีโอ ธุรกิจ และการเมืองในทุกรูปแบบ

“คนเดือนตุลา” เป็นชื่อฉายาที่ใช้เรียกคนรุ่น 48-60 ในปัจจุบัน ที่เคยมีบทบาททางการเมืองในยุค พ.ศ. 2516 ถึง 2519 โดยอาจแบ่งได้หลักๆ เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีบทบาทในช่วงเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น

ส่วนกลุ่มหลังเป็นคลื่นรุ่นต่อมาที่มีบทบาทสูงหลังจากนั้น คือช่วงปี 2518-2519 โดยเฉพาะในช่วงก่อนเหตุการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” 6 ตุลา 2519

กลุ่มหลังนี่เองที่หลายคนเติบใหญ่มาเป็นกำลังหลักในการช่วยทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยต่อมา เช่น พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช, ภูมิธรรม เวชยชัย, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์,จาตุรนต์ ฉายแสง, สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, สุธรรม แสงประทุม, อดิศร เพียงเกษ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น ภูมิธรรม หรือชื่อเดิม วัฒนชัย เวชยชัย ที่ช่วงปี 2517-2518 เป็นแกนนำก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน ร่วมกับ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมด้วยกัน (ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของทักษิณ ชินวัตร ตลอดมาตั้งแต่ปี 2542) และอีกหลายๆ คน

ต่อมาในปี 2518 เกรียงกมลก็ได้เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และจากนั้น สุธรรม แสงประทุม ก็รับช่วงตำแหน่งนี้ต่อจากเกรียงกมล

ส่วน “หมอมิ้ง” พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช และ “หมอเลี๊ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จากรั้วมหิดล ก็เคลื่อนไหวโดดเด่นอยู่ในยุคเดียวกัน

ยุคพลังนักศึกษา…

หลัง 14 ตุลา 2516 กิจกรรมนักศึกษาเต็มไปด้วยการต่อสู้ทางการเมือง พากรรมกรไปยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ออกภูธรไปรับรู้ปัญหาชาวนาชาวไร่ พาไปศาลากลาง พาเข้ากรุงเทพฯ มาชุมนุมเรียกร้อง ช่วยให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่และกลุ่มต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศ

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างเร่งเร้า กดดันบรรดานายทุนและกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจนเกิดความไม่พอใจทั่วไป บวกกับกระแสความสนใจของนักศึกษาเองในลัทธิคอมมิวนิสต์สายจีนแดงของเหมาเจ๋อตง ก่อความวิตกกังวลในหมู่ชนชั้นนำอย่างสูง จนต้องตั้งหน่วยงานอย่าง นวพล กระทิงแดง สถานีวิทยุยานเกราะ ขึ้นมาต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาทั้งผ่านสื่อและโดยการปะทะ

ขณะเดียวกันมีการลอบสังการและอุ้มหายสาบสูญเกิดขึ้นกับผู้นำสหภาพแรงงานและสหพันธ์ชาวนาชาวไร่นับร้อยราย และความตึงเครียดทั้งหมดก็ขมวดถึงขีดสุด แล้วระเบิดขึ้นในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519

เข้าป่า …

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ขบวนการนักศึกษาจำนวนหลายพันคนจึงเดินทางเข้าป่า กระจายกันทั้งในเขตงานทางอีสาน เหนือ และใต้ โดยใช้ชื่อจัดตั้งขึ้นต้นด้วยคำว่า “สหาย” ตามด้วยชื่อใหม่ต่างๆ กันไป

“สงครามประชาชน” ระหว่างทางการกับ พคท. ดำเนินไปถึงราวปี 2523 ด้วยยอดเสียชีวิตของคนไทยด้วยกันทั้งสองฝ่ายรวมนับหมื่น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและมุมมองที่มีต่อนักศึกษาเหล่านั้น จนกลายเป็นนโยบาย 66/2523 เปิดโอกาสให้กลับมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” โดยไม่มีการเอาผิดหรือสอบสวนใดๆ

คืนรัง…

การ “คืนรัง” ครั้งนั้น หลายคนไปทำงานเอ็นจีโอ บ้างก็เป็นนักวิชาการ อาจารย์ หรือบางคนก็ไปทำงานบริษัทเอกชน

คนกลุ่มนี้ทุกคนความเป็นนักจัดตั้ง นักประสานงาน มีเครือข่ายทั้งเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง และกลุ่มชาวนาชาวไร่ กรรมกร ที่เคย “จัดตั้ง” ร่วมกันมาทั้งสมัยที่อยู่ในเมืองเป็นนักศึกษา และสมัยอยู่ป่ากับ พคท. หลายคนจึงถูกดึงเข้าไปทำงานการเมืองกระจัดกระจายอยู่กันในหลายๆ พรรค

เช่นภูมิธรรมที่หลังออกจากป่า ก็มาประสบความสำเร็จในวงการเอ็นจีโอ ก่อตั้งโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) ทำงานด้านนี้อยู่ถึง 10 ปี แล้วไปร่วมงานกับพรรคการเมืองหลายพรรค

“ตุลาชิน”

จนกระทั่งไทยรักไทย มาเป็นพรรคการเมืองแรกที่ดึง “คนเดือนตุลา” เข้ามาทำงานการเมืองได้มากที่สุด ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งพรรค จนถึงเข้ามาช่วยงานภายหลังจำนวนมาก

ก่อนหน้าการตั้งพรรคไทยรักไทย บางคนเช่น “หมอมิ้ง” พรหมมินทร์ก็ทำงานบริษัทในกลุ่มชินอยู่แล้ว โดยเคยเป็นผู้บริหารบริษัทไอบีซี

ในขั้นก่อตั้งพรรคและร่างนโยบาย คนเดือนตุลากลุ่มนี้ได้กลับไปลงท้องที่ เข้าหาเครือข่ายซึ่งตัวเองเคย “จัดตั้ง” มา เพื่อพบปะ เสวนา หาความต้องการของชาวบ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะทางภาคอีสานและเหนือ ทำวิจัยตลาดเพื่อร่างออกมาเป็นนโยบายที่จะซื้อใจ “รากหญ้า” ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า หากไม่นับกรุงเทพมหานครแล้ว ภาคอีสานคือภาคที่มีเก้าอี้ ส.ส. มากที่สุดทิ้งห่างภาคอื่นๆ อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ “คนเดือนตุลา” ทุกคนจะเห็นด้วยกับบทบาทของฝ่ายที่เข้าไปช่วยไทยรักไทย โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมาขยายตัวและแสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงการต่อสู้ของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในช่วงปี 2548–2549 และ “คนเดือนตุลา” หลายคนก็อยู่ในฝ่ายหลังนี้

และพวกเขาตั้งชื่อคนเดือนตุลาฝ่ายที่เข้าไปช่วยงานไทยรักไทยโดยไม่ถอนตัวออกมา ว่าเป็น กลุ่ม “ตุลาชิน”