ปั้นพรรคโตแบบ Takeover

นับจากวันก่อตั้งพรรคเพียง 7 ปี พรรคก่อตั้งใหม่อย่างไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบที่จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในไทย หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จนอกจากการ “ดูด” นักเลือกตั้งมาเข้าพรรคจำนวนมากแล้ว ยังมีการ “ควบ” หรือ Takeover หรืออาจเรียกเป็น Merger & Acquisition ในภาษาอังกฤษธุรกิจตามแบบของ “ซีอีโอ” ทักษิณ ชินวัตร

ย้อนไปก่อนก่อตั้งไทยรักไทย ทักษิณเคยเข้าไปเทกโอเวอร์พรรคพลังธรรมของ จำลอง ศรีเมือง ในปี 2538 แล้ว “Rebrand” พรรคพลังธรรมจากภาพ “สมถะ” กลายเป็น “ทุนนิยม” และ “ไฮเทค” ทันที และด้วยช่องทางและสินทรัพย์ทางการเมืองของพลังธรรม ทักษิณพาตัวเองไปนั่งเก้าอี้ทั้งรัฐมนตรีฯต่างประเทศ ตามด้วยรองนายกฯ ในโควต้าของพรรคพลังธรรม

หลังจากความแตกแยกภายในและความพ่ายแพ้เลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพลังธรรม ไม่นาน ทักษิณในวัย 49 ปี จึงหันมาเริ่มด้วยการก่อตั้งพรรคของตัวเองคือไทยรักไทย ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 แล้วขยายกิจการอย่างดุเดือดด้วย “มหกรรมการดูด” บรรดานักเลือกตั้งที่เสียงดีจากพรรคต่างๆ

การ “ดูด” นี้ หลายกรณีไม่ใช่การดูดรายบุคคล แต่เป็นการเข้าเทกโอเวอร์ “มุ้ง” หรือกลุ่มนักเลือกตั้งที่อยู่ร่วมกันใต้การอุปถัมภ์ของ “ผู้ใหญ่”

เช่นการเทกโอเวอร์ ส.ส. กลุ่มวังน้ำเย็นประมาณ 40 คน ของ “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง จากพรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค กระทั่งต้องยุบพรรคความหวังใหม่ในที่สุด

ตามด้วยเทกโอเวอร์ ส.ส. มุ้งต่างๆ โดยแบ่งเป็นจากพรรคกิจสังคม 6 คน จากพรรคชาติพัฒนา 10 คน จากประชาธิปัตย์ 2 คน ยังมีการเทกโอเวอร์ทั้งพรรค คือ “เสรีธรรม” ของ ”พินิจ จารุสมบัติ”

กลยุทธ์ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ทั้งควบรวมและดูดแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ว่าในอดีตนั้น “ปลาใหญ่” อาจใช้ฐานอำนาจจากกำลังทหารหรืออิทธิพลเชิงอุปถัมภ์อื่นๆ แต่กรณีไทยรักไทยนั้นชัดเจนว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจเงินทุนมหาศาลของทักษิณและกลุ่มทุนใหญ่ๆ ในเครือเป็นหลัก

แต่ถ้าในเชิงธุรกิจการตลาดแล้ว การ Takeover ของไทยรักไทย ไม่ต่างไปจากการที่แบรนด์ใหญ่ซื้อแบรนด์เล็ก ถ้าเปรียบแล้วไม่ต่างไปจากกรณีของมันฝรั่ง “ฟิโต-เลย์” ที่ซื้อกิจการ “มัน มัน” จากนั้นฟิโต-เลย์ ก็กลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุด โดยที่แบรนด์ มัน มัน ก็หายไปจากตลาด