PTV “แยกกันเดิน รวมกันตี ?”

ในทางการตลาด บางครั้งบางแคมเปญก็ไม่อาจจะยิงออกไปในชื่อเจ้าของแบรนด์เองได้ อาจต้องตั้งหน่วยงานพิเศษ หรือยืมชื่อ “คนนอก” มารณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์แทน เพื่อมุ่งสร้าง “Word Of Mouth” หรือกระแส “ปากต่อปาก” ที่มีน้ำหนักมากกว่า

ในการสงคราม หลายครั้งกลยุทธ์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” ก็ถูกนำมาใช้ในภาวะที่กองทัพหนึ่งกำลังตกที่นั่งที่ยังไม่อาจชูธงของกองทัพตัวเองได้สะดวกนัก จำต้องแยกกองกำลังออกเป็นหลายสาย ชูธงอื่นไปก่อน แต่ก็บุกโจมตีเป้าหมายเดียวกัน

ในวันนี้พรรคไทยรักไทยก็ตกอยู่ในสภาพคล้ายกองทัพนั้นที่ต้อง “แยกกันเดิน” และเป้าหมาย “รวมกันตี” ย่อมเป็น คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์ และขั้วตรงข้ามอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ และ ASTV ด้วย

สถานีโทรทัศน์ PTV จึงเกิดขึ้นในรูปแบบสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระบบเดียวกับ ASTV ของเครือผู้จัดการซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะทีวีเครื่องไหนติดจานดู ASTV ได้ ทีวีเครื่องนั้นก็ดู PTV ได้เช่นกัน

พีทีวีเริ่มลั่นกลองเปิดศึกเมื่อ 1 มีนาคม 2550 ด้วยงานแถลงข่าวเปิดตัวเชิญสื่อมวลชนไปร่วมอย่างยิ่งใหญ่ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อนจะติดขัดถูกห้ามใช้จนต้องย้ายไปแถลงไกลถึงโรงแรมทาวน์อินทาวน์ลาดพร้าว 94 แทน

ควบคู่ไปกับการเปิดตัว PTV ก็จัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงนัดแรกเมื่อ 23 มีนาคม และนัดต่อๆ มาอีกหลายครั้ง บนเวทีมีการปราศรัยโดยมีกลุ่มผู้บริหารที่ล้วนเป็น ส.ส. ดาวสภาเก่าของไทยรักไทย อย่าง วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธ์ และกลุ่มนักจัดรายการทีวีเก่าอย่างจักรภพ เพ็ญแข นักจัดรายการโทรทัศน์และผู้ลงสมัครพรรคไทยรักไทยกับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และอุสมาน ลูกหยี

การจัดชุมนุมมีรอบละ 2-3 วัน ช่วงเย็นไปถึงดึก แต่ละรอบห่างกัน 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือนตามแต่ว่าหาสถานที่ได้หรือไม่ ซึ่งเป้าหมายหลักคือสนามหลวง รองไปคือลานคนเมืองหน้าที่ทำการ กทม. ท้าทายผู้ว่าฯ ค่ายประชาธิปัตย์ที่นั่งทำงานอยู่

สื่อหลายฉบับหลายช่องก็ไม่พลาดที่จะมาติดตามทำข่าว PTV อยู่เสมอ และประเด็นการปราศรัยที่ถ่ายทอดออกทีวี ก็ถูกยกไปสร้างกระแส “ปากต่อปาก” ในเว็บไซต์ต่างๆ อยู่ประจำ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่

แม้การไฮด์ปาร์คจะมีเนื้อหาโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่บรรยากาศกลับไม่ขาดเสียงฮาและปรบมือหัวเราะชอบใจ จากคารมของบรรดาดาวสภาและดาราหน้าจอเก่าทุกคน จึงเป็นแม่เหล็กดูดคนมาฟังและตรึงไว้ไม่ให้เบื่อหน่ายง่วงหาวหรือหนีกลับไปก่อน

ทั้งหมดสร้างกระแสโจมตี คมช. และรัฐบาลปัจจุบัน ควบไปกับสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้อย่างไม่ขาดตอน ในยุคที่ไม่มีช่องทางอื่นในสื่อหลักเหลือเลย

“เขากล่าวหาพวกเราว่าเป็นคนทักษิณ ใช่ ผมจะบอกเลยว่ายกเว้นคุณจักรภพแล้ว พวกเราเป็นคนทักษิณทุกคน ก็ทักษิณแปลว่าอะไรครับพี่น้อง แปลว่าใต้ พวกเราคนทักษิณกันทุกคนครับ” วีระ มุสิกพงศ์ ยังคงยิงมุขได้เหมือนสมัยหนุ่มๆ

และในมุกนี้เองก็มีคำถามที่สังคมตั้งไว้กับพีทีวีมากที่สุด ว่านอกจากแม่เหล็กความสนุกสนานบนเวทีแล้ว จะมี “แม่เหล็ก” อื่นหรือไม่ ที่ใช้ดึงดูดคนมาได้คับคั่งเสมอ ? พีทีวีใช้เงินจากแหล่งไหนในการสร้างและดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม จัดเวที จัดชุมนุม และป้ายโฆษณาที่ขึ้นพรึ่บริมถนนแทบจะทั่ว กทม. ?

และทุกครั้งที่ถูกตั้งคำถามนี้ แกนนำพีทีวีจะตอบตรงกันว่าเลิกอาชีพนักการเมืองแล้ว ว่าพีทีวีเป็นอยากลองทำธุรกิจ โดยใช้เงินเก็บเงินหามาได้ รวมกับเงินทุนของพรรคพวกที่ระดมหุ้นกันเอง

“พี่น้องครับ ตอนนี้ผมเป็นนักธุรกิจแล้ว ก็คิดธุรกิจใหม่ได้อย่างหนึ่ง คือจัดทัวร์พาคนไปเยี่ยมท่านทักษิณที่เมืองนอก รับรองรวยแน่ๆ หาลูกค้าได้เป็นแสนเป็นล้านคน จริงไหมครับพี่น้อง” มุกนี้โดยจตุพร พรหมพันธ์ สะท้อนว่านอกจากการโจมตีคู่แข่งแล้ว โทรทัศน์ PTV ยังอาจเป็นกลยุทธ์การโฆษณาแบบ “Remind” คือย้ำเตือนให้กลุ่มเป้าหมายไม่ลืม “Product” คืออดีตนายกฯ

บนเวที PTV ยังมีแก๊กสนุก ปลุกคนให้ฟังประเด็นหลักโจมตี คมช. ต่อไป เทปการชุมนุมทุกครั้งก็ถูก Re-run ออกอากาศแทบจะทั้งวันทางโทรทัศน์ สลับด้วยรายการเพลงลูกทุ่ง เป็นการบ่งบอกกลุ่มเป้าหมายหลักของสถานีได้ชัดเจน ซึ่งก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มเดียวกับพรรคไทยรักไทยตลอดมา