อมตะ หลูไพบูลย์ ชีวิตออกแบบได้

ที่มาของความสำเร็จในอาชีพของคนเรามีหลายอย่าง สำหรับ “อมตะ หลูไพบูลย์” สถาปนิกวัย 38 ปี เจ้าของผลงานการออกแบบ “ศิลาเอวาซอน” ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2549 สมาคมสถาปนิกสยามฯ มาจากการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ และต้องรู้จริง ซึ่งกระบวนการทางความคิดที่หล่อหลอมให้เขาก้าวขึ้นมากลายเป็นสถาปนิกชั้นนำของไทย

การรู้จริงของอมตะ คือ การชอบหาความรู้และศึกษาตลอดเวลา และการให้ความสำคัญกับการศึกษาหา “ข้อมูล” เขาเชื่อว่า นี่คือกุญแจที่ไขรหัสไปสู่การสร้างไอเดียการออกแบบที่แปลกใหม่และโดดเด่น

เขายกตัวอย่างการออกแบบโครงการ “ศาลาภูเก็ต” จังหวัดภูเก็ต เจ้าของคือ ทศ จิราธิวัฒน์ และภรรยา โดยใช้สไตล์ “ชิโนโปรตุกิซ” ก็มาจากการทำการบ้านหาข้อมูลอย่างหนัก ชนิดที่ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาวภูเก็ตว่ามีความเป็นมาอย่างไร

“ผมเป็นคนทำอะไรแล้วต้องรู้จริง โครงการนี้ก็เลยต้องศึกษารากเหง้าวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ รู้แม้กระทั่งว่า ข้าวของเครื่องใช้ของคนจีนในยุคนั้นเป็นอย่างไร งานแต่งงาน เจ้าบ่าวเจ้าสาวยุคนั้นเขาแต่งตัวกันอย่างไร ห้องสมุด ซื้อหนังสือมาอ่าน”

อีกตัวอย่างคือ การออกแบบสำนักงาน บริษัท ซัน ซิสเต็มส์ ซึ่งทำธุรกิจ Call Center มีพนักงาน 70 คน เขานำเอาความเป็นตัวตนของเจ้าของ ซึ่งเป็นคนรักสนุก ฉลาด ไลฟ์สไตล์พักผ่อนด้วยการขี่จักรยานเสือภูเขา มาแปลงเป็นไอเดียในการออกแบบสำนักงานของซัน ซิสเต็มส์ ที่มีทั้งความสนุกและทันสมัย

เมื่อต้องออกแบบ “โรงแรม” ในซอยสุขุมวิท 26 เขาก็ต้องสวมบทนักการตลาด ศึกษาตลาดอย่างถ่องแท้ คราวนี้ต้องสวมหมวกนักการตลาด ศึกษาวิจัยตั้งแต่ตัววัตถุดิบ สภาพตลาด และคู่แข่ง

ทั้งตัวเขาและทีมงานจึงต้องลงมือเก็บข้อมูลตลาดของโรงแรมในละแวกนั้น ศึกษาคู่แข่ง ซึ่งเป็นโรงแรมในละแวกนั้น 20 แห่ง ตั้งแต่ขนาดของห้อง สไตล์การออกแบบ ราคาต่อขนาดของห้อง ทำให้เขาเรียนรู้ธุรกิจโรงแรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งนำไปสู่ไอเดียการออกแบบ ที่ต้องมาจากวาง Positioning ที่ชัดเจน

กระบวนการคิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่ถูกหล่อหลอมจากประสบการณ์ในวัยเด็ก จากครอบครัว การศึกษา ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และวิธีคิดที่เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

อมตะ เล่าว่า เขามาจากครอบครัวคนชั้นกลางที่ “พอมีพอกิน” เป็นลูกคนที่สองจากพี่น้อง 4 คนของ พรศรี หลูไพบูลย์ ส่วนพ่อ เป็นวิศวกรที่ชื่นชอบการวาดรูป แต่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่อยู่มัธยมปีที่ 3 แต่ก็ปลูกฝังให้เขารักการคำนวณ และการใช้ภาษา

“พ่อจะให้การบ้านฝึกทำทุกวัน เลิกงานตอนเย็นพ่อก็จะมาตรวจ ทำอย่างนี้ทุกวันตลอด” แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเล็ก แต่ก็ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกสำหรับเขา

ครั้งหนึ่งเขาได้ “เลโก้” ตัวต่อ 200 ชิ้นจากพ่อ และความสำเร็จจากการต่อเลโก้ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จาก 200 ชิ้น เป็น 400 ชิ้น เป็นความภาคภูมิใจในวัยเด็กที่เขารู้สึกทุกครั้งเมื่อย้อนถึงอดีต

อมตะ เรียนชั้นประถมที่กรุงเทพคริสเตียน และมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเทียบมัธยมปีที่ 5 ติดวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้สักพักก็รู้ตัวว่าไม่ชอบ สอบเอนทรานซ์ใหม่ คราวนี้เขาเลือกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้เขารู้ว่าเดินมาถูกทาง ได้เกรดดีมาตลอดแล้ว เขาจึงศึกษาต่อทันทีในระดับปริญญาโทอีก 2 ใบ ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ University of Washington และการพัฒนาเมืองในประเทศกำลังพัฒนา จาก Harvard University

การศึกษาในต่างแดน เปิดโลกกว้างในการใช้ชีวิตแล้ว ยังเปิดมุมมองในเรื่องครีเอทีฟ จากการเรียนในวอชิงตัน และความหลากหลายที่เขาได้รับจากการเรียนใน Harvard ที่เขาศึกษาในทุกๆ เรื่อง ที่ไม่ใช่แค่อสังหาริมทรัพย์ แต่ยังรวมไปถึงไฟแนนซ์ บริหารงานบุคคล ด้านการตลาด และโฆษณา

จบกลับมาทำงานที่บริษัท Metric ซึ่งเป็นบริษัทของพ่อที่ร่วมหุ้นกับเพื่อน เปิดมาได้ 30 ปี ส่วนใหญ่เน้นงานออกแบบอุตสาหกรรม จุดเปลี่ยนที่สร้างชื่อเสียง เมื่อเขาได้รับเลือกให้ออกแบบ “ศิลา เอวาซอน ไฮด์เวย์” รีสอร์ตบนเกาะสมุย ให้กับ ทศ และ ศุกตา จิราธิวัฒน์ สองสามีภรรยา ซึ่งเดินทางท่องเที่ยวมาเยอะมาก ต้องการได้ไอเดียจากสถาปนิกใหม่ๆ เพื่อสร้างความต่าง

“รีสอร์ท 6 ดาวมีเยอะเลย แต่จะทำยังไงที่จะดึงฝรั่ง ซึ่งเป็นลูกค้าหลักได้อย่างไร ผมเลยมาคิดถึงไม้ไผ่ ไม้รวก จากของไม่มีค่าเอามาใส่งานลวดลาย ก็เลยดูเท่ แปลกใหม่ เตะตา กลายเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่อยู่กับธรรมชาติ อีกจุดคือ การนำเอาศิลปะมาใช้ เป็นลวดลายของผนัง จ้าง Lighting Artist มาช่วยในเรื่องแสง”

ผลงานครั้งนั้น นอกจากถูกตีพิมพ์ในนิตยสารระดับอินเตอร์อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังลงในไกด์บุ๊กชื่อดัง “ฮิป โฮเต็ลส์”และนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังในสหรัฐอเมริกา Conde Nast Travel โหวตให้เป็น 1 ในโรงแรมใหม่ 5 ดาวที่ดีที่สุดในโลก

ผลงานถัดมาการออกแบบ Zeavala รีสอร์ตบนเกาะพีพี ซึ่งก็ติด 1 ใน 130 โรงแรมที่น่าเที่ยวมากที่สุดในโลก

ทุกวันนี้ บริษัท Department of Architecture ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Metric ที่แยกออกมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มี ทวิตีย์ วัชราภัย ทีมงานสถาปนิก 7-8 คน รับงานออกแบบหลากหลาย ขนาดเล็กใหญ่ ตั้งแต่ รีสอร์ต บ้าน ร้านอาหาร โรงแรม

“ผมทำงานกันเหมือนเพื่อน ทุกคนรู้หน้าที่ ถ้าบริษัทเราจะมีตำแหน่งซีอีโอ ก็เป็นเรื่องประหลาด”

อมตะ เปรียบเทียบอาชีพนี้ไม่ต่างไปจาก “ผู้กำกับภาพยนตร์” ที่ต้องกำกับไปตามบทหนังที่หลากหลายและแตกต่างได้อย่างลงตัว เขายกตัวอย่าง “อั้งลี่” ผู้กำกับชาวจีน ที่ประสบความสำเร็จจากการกำกับหนังหลากหลาย นำเรื่องราวการ์ตูนมาเป็นภาพยนตร์ หรือแม้แต่คาวบอยตะวันตก

สิ่งที่เขาชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจ คือการดูหนัง โดยโรงหนังที่เขาแวะเวียนไปดูเป็นประจำ ลิโด้ สกาล่า สยาม รอบ 10 โมงเช้า วันเสาร์ อาทิตย์

“มันเป็นช่วงเวลาเพียงแค่ชั่วโมงครึ่งที่ทำให้เราหลุดจากโลกปัจจุบันไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เป็นการพักผ่อนที่ใช้เงินน้อยมาก และยังได้เห็นอะไรหลายอย่าง ได้ทางตรงก็คือ โปรดักชั่นของหนังที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง อย่างเรื่อง The Cruse of golden flower ทำไมต้องเป็นสีทอง ดำ แต่ฉากทำได้สวยจับใจ ถ้าเป็นทางอ้อม คือการได้ตีความเรื่องของคน ที่มีความหลากหลาย”

อมตะบอกว่า เขาเป็นคนที่ใช้เงินไม่กี่เรื่อง นอกจากดูหนัง กินอาหาร ก็คือ การท่องเที่ยวในต่างประเทศ ที่เขาต้องไปเป็นประจำทุกปี กับครอบครัว คือ แม่ และน้องๆ ซึ่งเขาจะรับหน้าที่วางแผนการเดินทาง ที่กำลังจะไปปีนี้คือ กรุงปราก มิวนิก เวียนนา และบูดาเปส
สิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวจากการท่องเที่ยว คือแรงบันดาลใจ จากการไปพบเห็นสถานที่และชีวิตของผู้คน แง่มุมด้านสถาปัตยกรรม ทุกครั้งเขาจะมีสมุดบันทึกติดตัวไว้เสมอ ที่จะเก็บรายละเอียดต่างๆ และนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ทุกครั้งเมื่อต้องออกแบบ

ความสุขจากการทำงานของเขาเกิดขึ้นทุกวัน “ผมเป็นคนที่มี Drive สูงมาก ไม่เคยรู้สึกไม่ดีกับการทำงาน ตื่นขึ้นมาทำงานก็มีความสุข ชีวิตผมให้เวลากับงานเยอะ ผมไม่เคยเครียดเรื่องงานเลย 8 ชั่วโมงของผมคือความสุขกับการทำงาน”

Profile

Name : อมตะ หลูไพบูลย์
Education :
– ปริญญาโท Master of Design Studies Harvard University สหรัฐอเมริกา
Master of Architecture University of Washington สหรัฐอเมริกา
– ปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights :
– 2547- ปัจจุบัน ก่อตั้ง บริษัท Department of Architecture
– 2535-2547 Chief Architect บริษัท Metric จำกัด
Life Styles : ดูหนัง ท่องเที่ยว