“พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต” คือภิกษุนักเทศน์คลื่นลูกใหม่ที่ทำให้ธรรมะสามารถสวนกระแสแห่งกิเลส เข้าไปในจิตสำนึกของชนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวไทยพุทธจำนวนมากได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยการใช้วัตถุดิบจากสื่อรอบตัวประกอบกับความสามารถพิเศษในการเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟัง ท่านมีความมุ่งมั่นในการ ”ส่งตรง” ธรรมะให้ถึงใจของคนมากว่า 9 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแบรนด์ ”ธรรมะดิลิเวอรี่” อันทรงอิทธิพลต่อจิตใจผู้ที่เห็นคำสอนในศาสนาเป็นเยี่ยงของแสลง
“ธรรมะไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัด ธรรมะไปได้ทุกที่ ถ้าที่นั้นต้องการธรรมะ” พระมหาสมปองผู้สร้างแรงบันดาลในการฟังธรรมให้แก่ผู้ที่ไม่เคยเปิดใจสดับรับฟัง กล่าว
พระมหาสมปองแห่ง “วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง” เล่าถึงความเป็นมาแห่งชีวิตด้วยถ้อยคำตามสไตล์เด็กที่เกิดและเติบโตในต่างจังหวัด
“จ้า…หลังจบชั้นประถม 6 ที่โรงเรียนบ้านป่าว่าน จ.ชัยภูมิ ตั้งใจว่าจะเรียนต่อ พอดีช่วงปิดเทอมมีงานบวชภาคฤดูร้อนที่วัดถ้ำประกายเพชร ต.ทุ่งลีลาย (พร้อมกับร้องเพลง ทุ่งลีลายควายเยอะของเย็นจิต) อยากเที่ยวถ้ำเลยขอคุณแม่ไป ปรากฏพอไปถึง ทางซ้าย…ถ้ำ ทางขวา…เอ…งานบวช ประจวบกับมีคนเรียกให้ไปโกนหัว ด้วยความที่เชื่อคนง่ายเลยได้บวช”
โดยปกติการบวชของเด็กชายนั้นต้องมีมารดายกจีวรให้ ยกเว้นในกรณีของสามเณรสมปอง ครบกำหนดบรรพชา 15 วัน หลวงพี่ท่านหนึ่งแนะนำว่าควรอยู่ศึกษาธรรมต่อ ท่านจึงตั้งใจว่าหนึ่งปีค่อยลาสิกขาบท ทว่าจวบจนถึงวันนี้เป็นเวลา 16 ปีแล้วที่พระมหาสมปองอาศัยอยู่ในร่มกาสาวพัตร โดยฉายาซึ่งท่านขอพระอุปัชฌาย์ตั้งเองว่า ”ตาลปุตฺโต” อันแปลได้ตรงตัวว่า “บุตรของนางตาล”
แววความสามารถในการเทศน์พระมหาสมปองปรากฏเมื่อขณะที่เป็นสามเณรอยู่วัดตาลเรียง จ.ขอนแก่น “ตอนนั้นอายุ 12 ย่าง 13 ปี มีจัดไปบรรยายธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ขอเขาขึ้นรถสองแถวไปด้วย”
อันที่จริงช่วงเวลานั้น พระมหาสมปองต้องการแค่ไปเที่ยวตามภาษาเด็ก เมื่อถึงเวลาต้องเทศน์ ไม่รู้จะเทศน์เรื่องอะไร ท่านจึงหยิบเรื่องสามัญที่สุดของสามเณรคือ การรักษาศีล 5
“ชอตเด็ด คือตอนพูดถึงศีลข้อ 3 เรื่องบุหรี่ ยืมมุกพระพยอมมาใช้ เอ้อ…คนเรานี่โง่นะ บุหรี่นี่ไปคาบไว้มันก็ติดสิ ถ้าอ้าปากมันก็หลุดลงมาแล้ว เท่านั้นแหละฮา” หลังจากงานนั้นเณรสมปองได้รับคำชมจากญาติโยมจนทำให้เกิดกำลังใจที่อยากจะเทศน์อีก ทั้งที่ไม่รู้ว่าตนเองเทศน์ดีหรือไม่
ต่อมา เมื่อย้ายมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้เปลี่ยนมาเรียนเอกปรัชญาซึ่งเป็นรากเหง้าของวิชาทุกแขนง ในขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3
เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มต้นทำงานด้านการสอน การอบรม “ไม่ได้รับเกียรติหรอก ขอเขาไป” ลงสนามครั้งแรกที่วัดแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ
“ตอนทำช่วงแรกๆ อาตมาไม่พูดอะไรเลย จดอย่างเดียว จดทุกเม็ดว่าทำยังไงคนถึงจะฮา เข้ายังไง ตบยังไง ชอตไหนเรียกน้ำตา เพราะถือว่าการทำให้คุณโยมหัวเราะหรือร้องไห้เป็นการประสบความสำเร็จ ถ้าไม่หัวเราะไม่ร้องไห้จะรู้สึกไม่มั่นใจ”
หากแต่ต่อมา พระมหาสมปองไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านั้นสำคัญไปกว่า ”ประเด็น” ที่คนฟังจะได้ ทั้งจากการหัวเราะหรือแม้กระทั่งการร้องไห้
การฟังธรรมะสไตล์พระอาจารย์ต้องมี 5 ส คือ สนุก สาระ สงบ สติ สำนึก
ก่อนที่พระมหาสมปองดำริจะทำโครงการธรรมมะดิลิเวอรี่ ท่านมีประสบการณ์การทำ ”ค่ายพุทธธรรมนำชีวิต” ร่วมกับภิกษุกว่า 500 รูปเพื่อธรรมะสำหรับเยาวชน “ตอนแรกสนุก ได้ทำให้คนหัวเราะ เด็กมองเราเป็นฮีโร่ หลังๆ เห็นประเด็นว่า ความสนุกทำให้เด็กๆ เปิดใจ เขารักธรรมะขึ้น ร้องไห้เกิด ส ที่ 3-5 กลับไปกราบคุณพ่อคุณแม่”
“การเทศน์แบบดิลิเวอรี่มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าแล้ว หลังจากพระองค์ตรัสรู้ ไม่ได้มีใครมานั่งรอฟังท่านเทศน์สักหน่อย ท่านออกตามหาปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเพื่อประกาศธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้” พระมหาสมปองกล่าวย้ำว่าธรรมะดิลิเวอรี่ ”ไม่ใช่สิ่งใหม่” หากเป็นแต่เพียงการ ”เดินตามรอย” พระพุทธเจ้าเท่านั้น
“ประเทศไทยมีศาสนาพุทธได้อย่างทุกวันนี้ก็เพราะว่ามีการดิลิเวอรี่มายังสุวรรณภูมิ (ไม่ใช่สนามบินนะ…ฮา) โดยพระเถระ 2 รูป ตามคำของพุทธองค์ที่ให้ภิกษุ 60 รูปเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งชนหมู่มาก …ไทยเราก็ไม่ได้ทำจดหมายขอท่านไปสักหน่อย”
หลังจากการเทศน์ครั้งแรกๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พระมหาสมปองจึงใช้ระบบไอทีให้เป็นประโยชน์ด้วยการหาชื่อโรงเรียน ทำจดหมายเสนอตัวเพื่อไปเทศน์ถึงที่ “ส่งไป 1,000 กว่าที่ ตอบกลับมาแค่ 50 โรงเรียน”
กลุ่มเป้าหมายแรกของพระอาจารย์คือนักเรียนระดับประถมและมัธยม “มหา’ลัยยังไม่กล้า อนุบาลกลัวไม่ get มุก” โดยครั้งแรกใช้ชื่อรายการว่า “เทศน์-ทอล์ก วาไรตี้” สอนเด็กๆ เกี่ยวกับหน้าที่ชาวพุทธ และพระคุณพ่อแม่ เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง สร้างกิจกรรมเพื่อละทิฐิ “อาตมาไม่รู้หรอกว่ามันคือ Child Center รู้สึกแต่ว่ามันคึกคัก เขามีส่วนร่วม ใช้มุกที่โดนใจเพื่อเปิดใจเขา พอใจเปิด หูก็เปิด”
หัวข้อในการเทศน์นักเรียนเรื่องแรกที่เน้นที่สุดคือ เรื่องยาเสพติด สองคือ รักในวัยเรียนซึ่งเป็นอุปสรรคในการเรียน สามเรื่องการกตัญญูพ่อแม่
สไตล์การเทศน์ของท่านไม่เน้นบาลี (เพื่อไม่ต้องแปลอีก) แนวคิดคือ “ต้องการให้คนเข้าถึงธรรมะได้ง่ายที่สุด” มิใช่อยู่สูงจนปุถุชนเอื้อมไม่ถึง อยากได้ความดี อยากมีสติหรือหิริโอตัปปะ ก็สามารถหยิบจับได้ ทำให้ชื่อเสียงของพระมหาสมปองเริ่มมีมากขึ้นในลักษณะปากต่อปาก จนเข้าหูโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์
ปัจจุบันโครงการธรรมะดิลิเวอรี่ของพระมหาสมปองได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 9 โดยชื่อ ”ธรรมะดิลิเวอรี่” นี้ ท่านคิดได้ขณะนั่งอยู่บนรถแท็กซี่ระหว่างเดินทางไปอัดรายการ ”มันแปลกดีนะ” ทางช่อง 9 ซึ่งเป็นรายการทีวีรายการแรกที่ติดต่อเข้ามา
“สนุกถึงที่ ซึ้งถึงใจ” คือสโลแกนของแบรนด์ดัง
อุปกรณ์ในการเทศน์ซึ่งจุดเด่นของทีมดิลิเวอรี่อย่างหนึ่งคือ ไฟล์ Powerpoint ที่ใช้ ”คอนเทนต์จากสื่อ”ที่หลากหลาย สื่อที่ใช้มีตั้งแต่ละคร โดยเฉพาะละครเกาหลี โฆษณาไทยและเทศ มิวสิกวิดีโอ เช่น สาวกระโปรงเหี่ยน, รายการทีวี เช่น เรื่องจริงผ่านจอ ขำกลิ้งลิงกับหมา, ภาพยนตร์, เพลง เช่น ฟังธรรมมะไม่โง่ ฟังโปเตโต้รักแท้ดูแลไม่ได้ ฟังธรรมมะไม่ติดแชต ฟังวงแคลชระวังมือที่ไร้อุ่นละคร, เทรนด์ตามสมัย เช่น กระแส AF
รวมถึงข่าวสารทั่วไป เช่น กรณีนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะเอนท์ไม่ติด การสอนสไตล์พระมหาสมปองคือ “แหมไม่ได้เท่ตอนตรีก็ค่อยเท่ตอนโทก็ได้” หรือแม้แต่เรื่องข่าวบันเทิงอย่างบอล-นาตาลีที่มีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างภาพ ก็นำมาใช้สอนว่า “แกล้งทำความดี ดีกว่าตั้งใจทำความชั่ว” ท้ายที่สุดถ้าคนฟังไม่ขำท่านก็มักจะยืมมุกหม่ำ-เท่ง-โหน่ง มาใช้ “ลองดูนะว่าขำรึเปล่า…ไม่ขำ อ้ะ…เล่นใหม่”
การหาข้อมูล มีทีมพระช่วยกันทำงาน ตั้งแต่การสืบค้นในเว็บไซต์ กระทั่งจากบัตรเติมเงินที่จะมีรายชื่อเพลงที่กำลังได้รับความนิยม “ก็รู้แต่ชื่อเพลง แต่เนื้อร้องจริงๆ เป็นอย่างไรไม่รู้หรอก”
“จริงๆ พระทำงานด้านนี้เป็นพัน แต่สื่อไม่ค่อยนำเสนอ …อยากให้ฟังธรรมะมากกว่าฟังพระ ไม่อยากให้ยึดติดกับพระ เพราะเมื่อมีทิฐิตั้งแต่แรกจะฟังธรรมะได้อย่างไร”
การออกรายการโทรทัศน์หลายรายการ เช่น เจาะใจ VIP ราตรีสโมสร วันวานยังหวานอยู่ ตีสิบ ทำให้พระมหาสมปองเริ่มมีคนรู้จักในวงกว้าง และมีโอกาสได้ไปบรรยายธรรมะให้ประชาชนเพิ่มขึ้นอีกกลุ่ม คือคนทำงานตามองค์กรต่างๆ อาทิ การบินไทย โอเรียนเต็ล ร.พ.ยันฮี สน.หนองจอก ฯลฯ แม้กระทั่ง คมช. ซึ่งท่านได้แนะนำไปว่า หลักการโน้มใจประชาชนคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชน “กินอิ่มและนอนหลับ”
สำหรับบริษัทหรือองค์กร ท่านจะบรรยายเรื่องความสุขในการทำงาน การรักองค์กรและหัวใจการบริการ โดยยกหลักของพรหมวิหาร 4 ขึ้นมาสอน อันได้แก่ 1.เมตตา-ต้องรักลูกค้า เพราะลูกค้าให้เงินเรา 2.กรุณา-“รักแล้วอย่าเป็นแบบเกิร์ลลี่เบอรี่ คือรักนะแต่ไม่แสดงออก ต้องลงมือทำด้วย” 3.มุทิตา-ยินดีเมื่อผู้อื่นทำดี ไม่สาย ไม่ขาดไม่ลา มีโบนัส 4.อุเบกขา-วางเฉย “เช่น ลูกค้าว่าเราได้ แต่เราอย่าด่าว่ากลับ”
หระมหาสมปองเผยว่า “ปลื้มใจที่คนเปิดใจฟังธรรมมะกันมาก หลายคน หลายบริษัทบอกไม่เคยฟังธรรมะบ้าง ไม่เคยฟังพระมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่วันนี้เขาได้เปิดใจให้ธรรมะแล้ว”
จากเดิม ปีหนึ่งมีงานให้ท่านออกไปส่งบุญประมาณ 100 งาน ปัจจุบัน กลายเป็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 100 งาน โดยช่วง High Season คือช่วงโรงเรียนเปิดเทอม เช่นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีถึง 130 งาน
นโยบายการรับงานเทศน์ของพระอาจารย์คือ ต้องมีผู้ประสงค์จะฟังธรรมะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ท่านกล่าวว่าคนฟังเทศน์มีอยู่ด้วย 3 กลุ่มหลัก
กลุ่มแรก เปรียบเหมือนคนฟังเพลงคลาสสิก ได้แก่ การเทศน์ของท่านพุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เทียบได้กับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
กลุ่มสอง กลุ่มผู้ฟังเพลงสากล เพลงลูกกรุง เป็นระดับมัธยม ได้แก่ สไตล์ท่าน ว.วชิรเมธี
กลุ่มสาม เป็นกลุ่ม Mass อย่างสไตล์พระมหาสมปองซึ่งสอนธรรมะระดับประถม เปรียบได้กับกลุ่มคนที่ฟังเพลงป๊อป ลูกทุ่งหมอลำ “อาตมาทำหน้าที่สร้างพื้นฐานและส่งต่อชาวพุทธให้ศึกษาธรรมะในขั้นสูงต่อไป”
รายการประจำของพระมหาสมปองทาง ททบ.5 มีรายการ ”ธรรมะดิลิเวอรี่” ซึ่งออกอากาศทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ และรายการสยามทูเดย์ ซึ่งกำลังจะเริ่มออกอากาศ โดยทุกวันพุธจะมีช่วงตอบคำถามธรรมะ 20 นาที ท่านว่าไม่อยากให้เรตติ้งสูงเพียงอย่างเดียว “อยากให้ศรัทธาในธรรมะสูงด้วย”
ล่าสุด พระมหาสมปองเซ็นสัญญากับ GMM Grammy ซึ่งเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการออกสื่อ การผลิตวีซีดี ”ธรรมะดิลิเวอรี่” ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 13 ชุด โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้วัดพระบาทน้ำพุ
“อาตมาต่างจากศิลปินคนอื่นในแกรมมี่ คือ ดังแล้วไม่แยกวง ดังแล้วต้องดึงเพื่อนๆ พระ ดึงพระอาจารย์ที่เก่งๆ มามีบทบาทด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ ซีดีชุดที่ 7 ตอนนี้กำลังผันตัวเองไปอยู่ในฐานะคนเบื้องหลัง” พระมหาสมปองพูดตามประสาศิลปิน
“ธรรมะเหมือนสินค้าเกรดเอบวก แต่คนกลับไม่ค่อยซื้อ ตอนออกแบบ อาตมาขอให้เขาทำแพ็กเกจของธรรมะให้สวยไว้ก่อน สไตล์โมเดิร์นผสมกับลวดลายแบบไทยๆ อย่างน้อยก็เพื่อให้ดูน่าซื้อ”
แบรนด์ธรรมะดิลิเวอรี่ได้ถูกใช้ในงานเขียนของพระมหาสมปองมากว่า 5 ปี “พระดีสร้างพระดี อาตมาเห็นพระพยอมเทศน์เก่งก็อยากเก่งบ้าง ท่าน ว.วชิรเมธี เป็นนักเขียนที่ดี อาตมาก็อยากจะเริ่มเขียนบ้าง” หนังสือธรรมะดิลิเวอรี่อยู่ในสังกัดสำนักพิมพ์ Busy Day มี 5 เล่มสำหรับเจาะตลาด 5 กลุ่ม ได้แก่ วัยรุ่น หนุ่มสาว วัยทำงาน ครอบครัว และผู้สูงอายุ
เมื่อพูดถึงเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่างเรื่องราวในโลกภายนอกกับภาวะวิสัยแห่งการเป็นภิกษุ พระมหาสมปองในฐานะผู้ใช้สื่อทางโลกมากเป็นอันดับต้นๆ ให้ทัศนะว่า พระมีหลายประเภท สายปฏิบัติซึ่งตัดขาดโลกภายนอก (อรัญวาสี) ก็มี อย่างท่านเป็นสายสั่งสอน รูปแบบการสอนเป็นอย่างไรไม่สำคัญ หากแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่า อายุพระศาสนาจะไม่สั้น ด้วยคนที่เข้าใจธรรมะมีมากขึ้น
“ดูทิศทางกิเลส เพื่อจะได้เทศน์ให้ถูก” พระมหาสมปองกล่าว “หนีไม่ได้หรอกสื่อทุกวันนี้ ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์เสียเลย ถ้ามัวแต่คิดว่าสื่อครอบงำมันก็ครอบงำอยู่อย่างนั้น ต้องใช้สื่อสยบสื่อ”
ความที่ท่านเป็นคนหนึ่งที่ชอบหาแง่บวกของสื่อ จึงเข้าตาท่านไพบูลย์ วัฒนศิริ จนได้รับเชิญเข้าร่วม “คณะอนุกรรมการขยายสื่อดี” แห่งกระทรวงพัฒนาความมั่นคงมนุษย์ “หลายคนว่ามันเหมือนเป็นดาบสองคม ถ้างั้นเอาคมของมันมาเป็นกระบี่ฟาดฟันกับกิเลสดีกว่า ไม่ต้องตั้งงบเป็นสิบล้านร้อยล้านหรอก สื่อดีมีเต็มไปหมด เช่น หนังสือ ง่ายๆ เพียงแค่โค้ดคำดีๆ มาสอนเท่านั้น”
ความมุ่งมั่นในการเผยแผ่ธรรมะของพระมหาสมปอง ทำให้ล่าสุดท่านเป็น 1 ใน 3 ผู้ถูกเสนอชื่อบุคคลดีเด่นด้านการเผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมและศีลธรรม นอกเหนือจากอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เพราะ“การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง”
Profile :
Name : พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
Birthdate : 3 พ.ย. 2521
Education :
-พุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
-สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์