เหตุเกิดที่บ้านทรายทอง

จารีตของโฆษณารถยนต์ค่ายฟอร์ดสัญชาติไหนๆ ก็มักจะเอาวัฒนธรรม”แรง”แบบฮาร์ดเซลส์มาใช้กันอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจก็คือ ในการนำเสนอความ “แรง” แต่ละครั้ง มักจะมีการนำเอาเรื่องราวที่กำลังเป็นที่น่าสนใจตามยุคสมัยมาจำลองใหม่ในลักษณะรีไซเคิลแบบประยุกต์ ซึ่งได้ผลเสมอ โดยเฉพาะกับรถยนต์กระบะปิกอัพ

2-3 ปีก่อน เอา “คิงคอง” มาใช้เป็นตัวชูโรงเพื่อพิสูจน์ความแกร่งของรถ ปีที่แล้ว ก็เอาเรื่องน้ำท่วมใหญ่ (แบบเมืองนิวออร์ลีนส์เจอ พายุ แคธรีน่า) มาสร้างเป็นฉากรับกระแสเอล นินโญ่

ปีนี้ เมื่อละครโทรทัศน์แบบย้อนยุคกำลังเริ่มกลับมาครองจอกันใหม่ (ดูจากโปรแกรมล่วงหน้าของหลายช่อง มีแนวโน้มให้เห็นชัด) ตามกระแสเศรษฐกิจพอเพียงและอัตลักษณ์ไทย โฆษณาค่ายนี้ก็เลยจำลองฉากละครน้ำเน่าชื่อดัง บ้านทรายทอง เอามาจุดกระแสกันอย่างเหมาะเจาะ

แม้จะยังคงเป็นฮาร์ดเซลส์ แต่ด้วยอารมณ์ขันที่เหลือเฟือ ก็ทำให้ประทับใจไม่น้อย

พูดถึงบ้านทรายทอง ใครที่เป็นแฟนละครน้ำเน่าเรื่องนี้ ต้องซึมซับกันดีถึงบุคลิกตัวละครที่โดดเด่น ซึ่ง ก. สุรางคนางค์ นักเขียนสตรียุคก่อนสงครามเวียดนามสร้างเอาไว้ อย่าง พจมาน พินิตนันท์ ชายกลาง หญิงใหญ่ ชายเล็ก และหม่อมพรรณราย

นวนิยายที่นักเขียนไทยดัดแปลงจากยุคของพี่น้องบรองเต้ หรือ ฮาร์ดี้ หรือ ดูมอริเย่ร์ ของอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มาเป็นฉากของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยหลังคณะราษฎรครองเมืองอย่างนี้ ประทับใจคนไทยที่ชอบถวิลหาความหลังครั้ง “บ้านเมืองยังดี” ได้ชะงัดนัก

พจมาน เด็กสาวผู้มีความหยิ่งในศักดิ์ศรีและชาติกำเนิดของตน แม้จะเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดาก็ตาม เธอจำเป็นต้องจากบ้านสวนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือต่อ ตามความประสงค์ของบิดาที่เขียนสั่งไว้ก่อนเสียชีวิต ให้พจมานไปอาศัยอยู่กับครอบครัวหม่อมพรรณราย ซึ่งเป็นพี่สาวแท้ๆ ของพ่อที่บ้านทรายทอง ในกรุงเทพฯ ที่นี่พจมานได้พบกับ “หม่อมป้า” และ ญาติๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ที่เธอไม่คุ้นเคยมาก่อน เธอได้รับการดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา พวกเขามิได้เห็นเธอเป็นญาติ หากปฏิบัติต่อเธออย่างผู้อาศัยที่ต่ำต้อย ไร้เกียรติ…แต่ในที่สุดความดีงามพจมานก็ชนะใจ “คุณชายกลาง” ญาติผู้พี่ และทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันในที่สุด…

ที่สำคัญ เพลงโด่งดังคู่ละครโทรทัศน์ 2 เพลง ซึ่งกลับมาปรากฏโฉมครั้งใด ก็ต้องคลอควบคู่ไปด้วย…ในฐานะเพลงอมตะ

…นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่
ฉันยังไม่รู้ เขาจะต้อนรับ ขับสู้เพียงไหน
อาจมียิ้มอาบ ฉาบบนสีหน้า ว่ามีน้ำใจ
แต่สิ่งซ่อนไว้ ในดวงจิต คือความริษยา

ส่วนเพลงที่สอง ซึ่งเดิมเคยเป็นเพลงเอก ก็ไม่เบา

…หากฉันรู้สักนิด ว่าเธอรักฉัน…

โฆษณาของฟอร์ดชิ้นนี้ จับความกันง่ายๆ ตอนที่ทนายความประจำตระกูลสว่างวงศ์ (เทียม) อ่านพินัยกรรมของเจ้าของคฤหาสน์บ้านทรายทอง (สัญญะของความมั่งคั่งและความเป็นผู้ดีเลือดสีน้ำเงิน) ท่ามกลางผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 คน แล้วก็เริ่มการล้อเลียนด้วยการแสดงกิริยาที่ไร้มารยาทแบบวีนแตกของหม่อมป้า และหญิงใหญ่ ที่ทนไม่ได้กับการที่สมบัติตกเป็นของสาวน้อยพจมานแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งชายกลาง (หน้าตี๋) ก็ปรามออกมาทันทีว่า “กรุณารักษาสมบัติผู้ดีด้วย”

จากนั้น เมื่อทนายความอ่านต่อไป ว่า รถยนต์ฟอร์ดของตระกูล ตกเป็นของพจมานด้วย ชายกลางก็ลืมอาย ออกอาการวีนแตกอย่างหมดสภาพกะทันหันเพราะเสียดายรถ

จากนั้นโฆษณาก็ตัดฉับ กลับมาที่บอกว่า ไม่ต้องออกอาการอย่างนั้น เพราะอยากได้รถ ให้ไปที่ศูนย์จำหน่ายฟอร์ดใกล้บ้านได้เลย มีบริการที่ดีเยี่ยม ไม่ต้องรอรับมรดกให้เสียความรู้สึก

การหยิบเรื่องที่แสนคุ้นเคยมาล้อเลียนกันอย่างมีศิลปะและอารมณ์ขันอย่างนี้ ต้องอาศัยการถอดรหัสทางวัฒนธรรมที่ละเมียดพอสมควร ครีเอทีฟโฆษณาชิ้นนี้ทำได้ดีไม่แพ้ใครเลยจริงๆ โดยไม่ต้องเหนื่อยยากเพื่อสร้างความคิดสร้างสรรค์

ถือเป็นกระบวนการถอดรื้อความคิด หรือ Deconstruction ซึ่งพวกโพสต์โมเดิร์น ถนัดกันเป็นพิเศษ

เข้ากระแสโพสต์โมเดิร์นที่เมืองไทยกำลังพูดถึงกันอยู่พอดี คงจะเป็นเพราะว่ากระบวนทัศน์ของคนไทยยุคหลังรัฐบาลทักษิณและประชานิยม กำลังมาถึงจุดหักเหพอดีเช่นกัน

งานครีเอทีฟที่ดีอย่างนี้ ไม่พูดถึงและบันทึกเอาไว้ ก็ดูกระไรเลย

หวังเพียงแค่ว่าจะทำให้รถยนต์ค่ายฟอร์ดขายดีขึ้นด้วย จะได้มีเงินมาลงทุนโฆษณาดีๆ ขึ้นไปอีก

Ford TVC Credit

Client: Ford Thailand
Product: TRAF
Title: มรดก (30 sec.)
Airing Date: มี.ค. – เม.ย. 2007
ACM Team: วรวรรธน์ จุลจิตต์วัชร์, วีระยุทธิ์ กุศลส่งเสริม
Creative Team: สุภัฏ สิขชาติ, วิศาล สันติทวีธนเวช
Traffic: วรรณภา ธรรมวชิราพร
Producer: จิโรจน์ มีชูจิต
Production House: ต้องตา ฟิล์ม
Director: อารยะ สุริหาร