วัดธรรมกาย Behind the scene

กลับเข้ามามีบทบาทในสังคมในวงกว้างอีกครั้งสำหรับวัดธรรมกาย ผู้ได้ชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง “ม็อบพระ” ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสงฆ์ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิก มัคทายก ฆราวาส มารวมตัวปักหลักชุมนุม เพื่อต้องเรียกร้องให้บรรจุพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นในสังคม ด้วยความแตกต่างทางความคิดและมุมมอง

การชุมนุมมีขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ประกอบด้วยพระสงฆ์ 500 รูป และประชาชน 200 คน และมีขบวนช้างอีกจำนวนหนึ่ง นัดรวมตัวกันขึ้นที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม จากนั้นก็เดินเท้าพร้อมด้วยธงธรรมจักรขนาดใหญ่ เพื่อมุ่งหน้าไปยังรัฐสภา เพื่อปักหลักชุมนุมเรียกร้อง จนกว่าข้อเรียกร้องจะเป็นผล

โดยมีเครือข่ายต่างๆ เช่น องค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย นัดประชุมกันที่ห้องบอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ พระศรีญาณโสภณ แถลงว่า จะนำตัวแทน 300 องค์กรชาวพุทธเข้าร่วมชุมนุม

เป็นภาพที่ ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทย จนเกิดมีคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นตามมามากมาย ว่า การบรรจุพุทธศาสนาลงในรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อศาสนาพุทธอย่างไร และเป็นการเหมาะสมหรือกับการที่พระสงฆ์ ผู้ทรงศีลต้องออกมาเคลื่อนไหวลักษณะนี้

แม้ว่าคำตอบที่ได้รับจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ต้องการให้มีกฎหมายคุ้มครอง เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของไทยอยู่แล้ว ไม่ให้เสื่อมสลายลงไป และเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติในการปลูกฝังศีลธรรมของชนชาติที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่หลวง ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความแตกแยกก็ตาม

แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมในครั้งนี้ ได้มีการนำภาพข่าวของพระและชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทำร้ายออกมาเผยแพร่ ซึ่งการทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาขึ้นได้

จนทำให้เกิดการวิเคราะห์ว่า การชุมนุมครั้งนี้อาจมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง โดยเฉพาะการได้รับการสนับสนุนจากวัดธรรมกาย โดยมี พล.อ.อ.วีรวุธ ลวะเปารยะ รองประธานองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย และประธานไวยาวัจกร วัดพระธรรมกาย เป็นหนึ่งในแกนนำของผู้ชุมนุม ระดมมาจากชมรมพระพุทธศาสนาทุกจังหวัดของประเทศ

ขณะเดียวกัน พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานองค์กรพระพุทธศาสนา ออกมายอมรับกับสื่อมวลชนว่า วัดพระธรรมกายและวัดในส่วนภูมิภาคมาร่วมด้วย โดยวัดพระธรรมกายส่งบุคลากร คือ พล.อ.อ.วีรวุธ เป็นผู้นำในการปรึกษาหารือต่างๆ รวมทั้งมอบเงินสนับสนุนการชุมนุม และพร้อมนำประชาชนที่สนับสนุนวัดพระธรรมกายมาร่วมเรียกร้องด้วย อาจจะมีจำนวนถึง 2 แสนคน

ด้วยเครือข่ายสรรพกำลังของวัดธรรมกายที่มีอยู่ทั่วประเทศ และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มากมายเพียงใด จึงทำให้ถูกจับตามองว่า การเคลื่อนไหวของวัดธรรมกายครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางมรสุมทางการเมือง และความอึมครึมของเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนทำให้ “คมช.” เอง ก็เริ่มมีทีท่าโอนอ่อนผ่อนตาม คำเรียกร้องในครั้งนี้จะมีก็แต่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ไม่เห็นด้วยต่อข้อเรียกร้องในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องมองผลประโยชน์โดยรวมของประเทศมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มเพียงอย่างเดียว

ถ้อยคำจาก คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในครั้งนี้ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งใน “ชนวน” ความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างที่คาดไม่ถึง

Profile

วัดพระธรรมกาย ก่อตั้งขึ้นในปี 2512 บนเนื้อที่ 196 ไร่ จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันมีสาขาในไทย 28 สาขา และต่างประเทศ 40 สาขา ทั้งในสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกาใต้ และมีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเป็นของตัวเอง เปรียบเสมือนเป็น
Outlet รูปแบบใหม่ ถ่ายทอดรายการธรรมะไปถึงผู้คน

ก่อนหน้านี้วัดพระธรรมกายเคยโด่งดังเป็นข่าวใหญ่กับกรณี “พุทธพาณิชย์” มาแล้ว แต่ก็เงียบหายไปจากสังคมไทยพักใหญ่ โดยที่วัดพระธรรมกายยังมีเครือข่ายสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนักธุรกิจชื่อดัง ข้าราชการชั้นสูง และคนทั่วไป และมีสถานที่ปฏิบัติธรรมใหญ่โต รองรับกับผู้ที่มาปฏิบัติธรรม ทั้งที่อยู่ประจำและไปกลับ เช่น มหาธรรมกายเจดีย์ และมหาวิหารคด ซึ่งบรรจุ คนได้ 300,000 คน