ติช นัท ฮันห์ ลมหายใจแห่งสันติ

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ในสังคมไทย หลายคนต้องการที่ยึดเหนี่ยว หลายคนต้องการการเยียวยา ส่งผลให้โอกาสการเยือนไทยครั้งที่สองในรอบ 30 ปีของท่าน “ติช นัท ฮันห์” มีความหมายมากกว่าการเจริญกิจนิมนต์ในต่างแดน ปาฐกถาธรรมในแนวคิด “สู่ศานติสมานฉันท์” สอดคล้องกับความเป็นไปของสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้ 10 วันแห่งการแสดงธรรมในไทย เต็มไปด้วยคลื่นพุทธศาสนิกชนคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

ติช นัท ฮันห์ ภิกษุชาวเวียดนาม ผู้ครองตนในลัทธิมหายาน (แบบเซน) ผู้นี้ ได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นบุคลที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก หนังสือของท่านเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และการแสดงธรรมของท่านแต่ละครั้งจะได้รับความสนใจจากคนทุกมุมโลก

“ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ริเริ่มนำพุทธศาสนาออกมาสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่อย่างมีพลัง” พระไพศาล วิสาโล เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงท่านติช นัท ฮันห์

ตลอด 10 วันของการมาเยือนเมืองไทยของท่าน ไม่ว่าจะเป็น สวนลุมพินี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การฝึกเจริญสติที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างแพร่หลาย ทั้งกลุ่มคนเมืองและคนรุ่นใหม่ และสื่อมวลชน ที่หลั่งไหลกันไปเรียนรู้ “ลมหายใจแห่งสันติ”

สื่อหลักอย่างแผ่นโปสเตอร์อันแสดงถึงเจตจำนงในการแสดงธรรมของท่าน แพร่หลายอยู่ในย่านที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ อาทิ สยามสแควร์ ถนนข้าวสาร ฯลฯ อานุภาพของตัวอักษรเพียงไม่กี่คำได้นำพาความคิดและจิตวิญญาณของชาวกรุงไปสู่ความศรัทธาและการฝึกปฏิบัติ จนเกิดปรากฏการณ์คนกรุงแอ่วเหนือเพื่อปฏิบัติธรรม เป็นจำนวนมาก

ท่านติช นัท ฮันห์ บวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซน อายุ 23 ปี แต่แล้วต้องถูกรัฐบาลเวียดนามขับออกจากประเทศ ในฐานที่เสนอ ”กระบวนการสันติ” เพื่อหยุดสงคราม จนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดนเมื่อราว 40 ปีก่อน ความโหดร้ายของสงครามในบ้านเกิดกลายเป็นพลังให้เกิดการแสวงหาความสงบ และสันติสุขภายในจิตใจของมนุษย์

“Engaged Buddhism” หรือแนวทางของพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับชีวิตและสังคมอย่างแนบแน่น คือแนวคิดในการสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชนของท่านติช นัท ฮันห์ ที่มีทัศนะว่า การปฏิบัติธรรมในสมัยใหม่มิได้หมายถึงการปลีกวิเวก หรือการเดินออกจากวิถีปกติของมนุษย์ หากแต่ต้องสามารถผสานอยู่ในกิจวัตรประจำวัน และกลมกลืนไปกับทุกอิริยาบถของเรา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การทำงาน

หนังสือของท่านหลายต่อหลายเล่มทำหน้าที่สื่อสารธรรมะไปยังชาวโลกเป็นภาษาต่างๆ อาทิ เมตตาภาวนา :คำสอนว่าด้วยรัก, เดิน…วิถีแห่งสติ, ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด, เธอคือศานติ, ทางกลับคือการเดินต่อ เป็นต้น

“ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” คือหนังสือเล่มแรกของท่านที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย จนได้รับความนิยมในวงกว้างและทำให้ท่านเป็นที่รู้จักในสังคมไทย

อีกหนึ่งวิธีคิดของท่านติช นัท ฮันห์ ที่แสดงถึงการปรับธรรมะให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ คือการตั้ง ”กลุ่มสังฆะ” หรือพุทธบริษัท 4 ที่สมกับยุคสมัย เนื่องจากท่านตระหนักดีว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้จำต้องมีกลุ่มสังฆะที่เข้มแข็ง ซึ่งมิได้หมายเพียงแต่ภิกษุ หากแต่ยังต้องประกอบไปด้วยภิกษุณี สามเณร และสามเณรี อีกทั้งสิ่งสำคัญอันนำพาไปสู่หนทางแห่งความสงบสุขได้นั้น ย่อมต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อจากเหล่า ”กัลยาณมิตร”

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ เราจึงเห็นภาพการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ด้วยแรงศรัทธาในคำสอนและการเผยแผ่ธรรมะที่เข้าถึงวิถีชีวิตของผู้คนชนหมู่มาก ทำให้อาศรมเล็กๆชานเมืองฝรั่งเศสที่มีไว้เพียงเพื่อการเขียนหนังสือและปลูกผักสวนครัวของท่านติช นัท ฮันห์ กลายเป็นสถานปฏิบัติธรรมในนามหมู่บ้านพลัมอันลือชื่อ

ชุมชนชาวพุทธตัวอย่าง ณ เมืองบอร์โดซ์ ที่แม้ในวันวานเป็นเพียงแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัย หากแต่ในปัจจุบันกาลได้แปรเปลี่ยนเป็น ”ที่พักและที่พึ่ง” ทางจิตใจแก่ชาวพุทธทั่วโลก ส่งผลให้ชื่อของ ติช นัท ฮันห์ กลายเป็นบุคคลที่น่ายกย่องในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกได้ ”เจริญด้วยความรักและความเมตตา” ต่อกัน

Profile

Name : Thich Nhat Hanh
Date of Birth : 11 ตุลาคม 2469