การจ้างงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 28 Feb 2024 12:29:26 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 JobsDB เปิดข้อมูลตลาดงานปี 2566 พนักงานไทยได้ “เงินเดือน” เพิ่มขึ้นชนะเงินเฟ้อ…แต่ “โบนัส” ลดลง https://positioningmag.com/1464294 Wed, 28 Feb 2024 10:51:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1464294
  • JobsDB สำรวจตลาดงานไทยปี 2566 พบผู้ประกอบการ 80% ขึ้น “เงินเดือน” ให้พนักงาน ปรับขึ้นเฉลี่ย 6.69% เอาชนะเงินเฟ้อ แต่ลดโบนัสลงเหลือเฉลี่ย 1.5 เดือน
  • ตลาดงานปี 2567 มีแนวโน้มที่ดี 51% ของผู้ประกอบการมีแผนจะรับพนักงานเพิ่มในช่วงครึ่งปีแรกนี้ และมีเพียง 1% ที่มีแผนปรับลดพนักงาน
  • JobsDB เปิดรายงานการจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการปี 2567 โดยมีการสำรวจไปในช่วงเดือนกันยายน ปี 2566 มีการสำรวจผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานในไทย 758 ราย และแบ่งการสำรวจตามขนาดบริษัทได้ดังนี้ บริษัทขนาดเล็ก (ไม่เกิน 50 คน) สัดส่วน 35% บริษัทขนาดกลาง (51-99 คน) สัดส่วน 16% และบริษัทขนาดใหญ่ (100+ คน) สัดส่วน 49%

    ภาพรวมพบว่าเมื่อปีก่อน 99% ของบริษัทที่สำรวจมีการจ้างพนักงานใหม่อย่างน้อย 1 อัตรา ที่น่าสนใจคือ  เทรนด์รูปแบบวิธีการจ้างงานพบว่า บริษัททุกขนาดมีการจ้าง “พนักงานตามสัญญาจ้าง / พนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา” เพิ่มขึ้นมากกว่ารูปแบบการจ้างงานแบบอื่นๆ ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทต้องการความยืดหยุ่น และมีโปรเจกต์พิเศษที่ต้องการตำแหน่งรับผิดชอบชั่วคราว

    JobsDB

    ฟากการลดจำนวนพนักงานนั้น ปี 2566 มีผู้ประกอบการ 19% ที่ลดจำนวนพนักงานไป เทรนด์เลิกจ้างชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2565 ที่มีบริษัท 20% ที่ลดพนักงาน

    ด้าน 5 อันดับแรกประเภทงานที่มีการจ้างงานเพิ่มมากที่สุดเมื่อปี 2566 ได้แก่ 1) ธุรการและทรัพยากรบุคคล 2) บัญชี 3) การขาย/พัฒนาธุรกิจ 4) การตลาด/การสร้างแบรนด์ และ 5) วิศวกร

     

    นายจ้างขึ้น “เงินเดือน” ให้มากกว่าเงินเฟ้อ

    สำหรับเทรนด์ด้านผลตอบแทนและสวัสดิการ JobsDB พบว่า เมื่อปี 2566 มีนายจ้าง 80% ที่ “ขึ้นเงินเดือน” ให้กับพนักงาน และในกลุ่มบริษัทที่ขึ้นเงินเดือนมีการปรับขึ้นเฉลี่ย 6.69% ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยในปี 2565 ที่ปรับขึ้นมา 6.08% ทำให้การขึ้นเงินเดือนเมื่อปีก่อนเอาชนะเงินเฟ้อที่พนักงานเคยเสียเปรียบไปได้ (*อัตราเงินเฟ้อเมื่อปี 2566 อยู่ที่ 1.2% ข้อมูลจากสภาพัฒน์)

    ทว่า การให้ “โบนัส” นั้นปรับลดลง โดยเมื่อปี 2566 บริษัทมีการให้โบนัสเฉลี่ย 1.5 เดือนเท่านั้น เทียบกับปี 2565 ที่ให้เฉลี่ย 1.8 เดือน

    ด้านการ “เลื่อนขั้น” ให้พนักงาน ปีก่อนมีบริษัท 62% ที่เลื่อนตำแหน่งให้พนักงาน และกลุ่มพนักงานที่ได้เลื่อนขั้นจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเฉลี่ย 10.6%

     

    เทรนด์ปี 2567 ส่วนใหญ่ยังรับพนักงานเพิ่ม

    มาถึงแนวโน้มของปี 2567 ผลสำรวจนี้พบว่า 51% ของบริษัทที่สำรวจมีนโยบายรับพนักงานเพิ่มในช่วงครึ่งปีแรกนี้ 48% เน้นการดูแลพนักงานที่มีอยู่หรือไม่มีแผนจะรับเพิ่ม มีแค่ 1% เท่านั้นที่วางแผนจะลดจำนวนพนักงาน

    เงินเดือน

    น่าสนใจว่าบริษัทที่มีแนวโน้มจะรับพนักงานใหม่มากที่สุดนั้นคือ “บริษัทขนาดเล็ก” มี 54% ที่จะเปิดรับเพิ่ม ในทางกลับกัน “บริษัทขนาดใหญ่” นั้นมี 4% ที่วางแผนจะปลดพนักงานซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด

    JobsDB มองว่าเทรนด์การรับพนักงานประเภทสัญญาจ้างหรือชั่วคราวจะยังมาแรง เพราะบริษัทมองเหตุผล 3 อันดับแรกที่ทำให้ต้องการพนักงานรูปแบบการจ้างแบบนี้คือ 1) เหมาะกับช่วงขยายธุรกิจ 2) การจัดการจำนวนพนักงานสามารถเพิ่มหรือลดได้ และ 3) เป็นการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน

    ]]>
    1464294
    กลุ่มประเทศร่ำรวย แห่ดึงตัว ‘พยาบาล’ จากประเทศยากจนในวิกฤตโควิด ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ https://positioningmag.com/1372265 Sun, 30 Jan 2022 07:49:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372265 กลุ่มประเทศร่ำรวย มีความพยายามจะจ้างงาน ‘พยาบาล’ จากกลุ่มประเทศยากจนมากขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เเพร่กระจายไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเเละการขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์ที่รุนเเรงมากขึ้น 

    Reuters รายงานจากคำกล่าวของ Howard Catton ซีอีโอของสภาพยาบาลนานาชาติ (ICN) ที่มีเครือข่ายกว่า 27 ล้านคนว่า

    ความเสี่ยง ความเหน็ดเหนื่อยเเละการเจ็บป่วยจากการทำงานที่หนักเกินปกติ ส่งผลให้เกิดการลาออกของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ท่ามกลางยอดผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์อยู่ในระดับสูง

    เหล่าประเทศตะวันตก อย่าง สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐฯ กำลังพยายามเเก้ไขปัญหานี้ ผ่านการเพิ่มการจ้างงานพยาบาลจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เเนวโน้มของความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสุขภาพเเละสาธารณสุขแย่ลงไปอีก

    “ผมเกรงว่าวิธีแก้ปัญหาเช่นนี้ จะคล้ายกับกรณีที่กลุ่มประเทศร่ำรวยได้อาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อซื้อและกักตุนอุปกรณ์ป้องกันโรคอย่างชุด PPE เเละวัคซีน”

    จากข้อมูลของ ICN ระบุว่า ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ก็มีปัญหาการขาดแคลนพยาบาลทั่วโลกอยู่เเล้วถึง 6 ล้านคน โดยเกือบ 90% ของการขาดแคลนมักจะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

    การจ้างงานพยาบาลจากต่างประเทศ บางส่วนมาจากภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) รวมถึงไนจีเรีย และบางส่วนของแคริบเบียน

    โดยเหล่าพยาบาลจะได้รับแรงจูงใจด้วยข้อเสนอเงินเดือนที่สูงขึ้น สวัสดิการเเละเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิด รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน

    “หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นการที่ประเทศร่ำรวย หาทางลดค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่พยาบาลใหม่และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข”

    Howard Catton เรียกร้องให้มีการวางเเผนเพื่อเสริมกำลังเเรงงานอย่างจริงจังในระยะ 10 ปี เเละขอให้มีความร่วมมือกันในระดับโลก เพื่อให้มีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเเละได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น

     

    ที่มา : Reuters

    ]]>
    1372265
    วิกฤต! “การจ้างงาน” ในสหรัฐฯ จะไม่ฟื้นกลับมาในระดับก่อน COVID-19 จนกว่าปี 2023 https://positioningmag.com/1299821 Sat, 03 Oct 2020 14:33:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299821 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางประจำนครฟิลาเดลเฟียของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังเผชิญภาวะหดตัวครั้งใหญ่ในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปีนี้ แต่การจ้างงานในสหรัฐฯ อาจจะไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่จนกว่าจะถึงปี 2023

    “แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจที่ผมพูดมานั้น ขึ้นอยู่กับอัตราผู้ป่วยใหม่ที่ลดลงอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจเป็นผลจากการสวมหน้ากากอนามัยอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะพื้นที่ในร่ม ทำให้การระบาดครั้งใหม่เกิดขึ้นเพียงประปราย” ฮาร์เกอร์กล่าวระหว่างการประชุมออนไลน์ที่จัดโดยการประชุมสถาบันการเงินและเงินตราทางการ (OMFIF)

    “เราคาดว่าวัคซีนจะเริ่มพร้อมใช้งานเป็นวงกว้างในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า แต่โรค COVID-19 นั้นยังยากจะควบคุม” ฮาร์เกอร์กล่าว พร้อมเสริมว่าทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับทิศทางการระบาดของโรค

    ฮาร์เกอร์ชี้ว่าแม้เศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และสามารถหลีกเลี่ยงการระบาดรอบใหม่ได้ แต่หลายภาคธุรกิจอย่างการท่องเที่ยวและการบริการจะยังคงซบเซาไปอีกนาน ฉุดให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการเติบโตของการจ้างงานโดยรวมลดลงตามไปด้วย

    Photo : Xinhua

    “โชคร้ายที่การจ้างงานอาจไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่จนกว่าจะถึงปี 2023” ฮาร์เกอร์กล่าว พร้อมเรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ พิจารณาการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมในเร็ววัน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรค COVID-19

    “เนื่องจากสหรัฐฯ ไร้ความสามารถควบคุมไวรัส ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตในประเทศครองสัดส่วนราว 21% ของยอดผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลก แม้ประชากรของประเทศจะครองสัดส่วนเพียง 4% ของประชากรโลกก็ตาม” ฮาร์เกอร์กล่าว

    ทั้งนี้ ฮาร์เกอร์ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตเปิดเผยมาตรการเยียวยาโรค COVID-19 มูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 69 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นความพยายามกดดันทำเนียบขาว และพรรครีพับลิกันบรรลุข้อตกลงดังกล่าวก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน

    ด้านแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และมาร์ก มีโดวส์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ต่างแสดงความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาโรค COVID-19 หลังการเจรจาที่หยุดชะงักกลับมาดำเนินการต่ออีกครั้ง

    ]]>
    1299821
    วิจัยอังกฤษพบ “วัยรุ่น” เลิกไล่ตาม “อาชีพในฝัน” เมื่อวิกฤตโรคระบาดเปลี่ยนอนาคต https://positioningmag.com/1299701 Fri, 02 Oct 2020 03:59:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299701 งานวิจัยในอังกฤษพบว่าเด็กวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานถึง 2 ใน 5 หมดหวังที่จะมีอาชีพในฝัน และเปลี่ยนมาทำอาชีพ “อะไรก็ได้” แล้ว เนื่องจากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตและเศรษฐกิจไปหมด

    Censuswide นักวิจัยการตลาดทำงานวิจัยสำหรับกองทรัสต์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส (องค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือหนุ่มสาวกลุ่มเปราะบางของอังกฤษ) งานวิจัยนี้สำรวจประชาชนชาวอังกฤษวัย 16-25 ปี จำนวน 2,000 คน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ประมาณ 2 ใน 5 มองว่าตนเอง “จะไม่ได้ทำอาชีพที่ตนเองอยากทำ” และ เป้าหมายในอนาคตของพวกเขา “ดูเป็นไปไม่ได้ที่จะทำสำเร็จ” รวมถึง “จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต”

    สัดส่วนนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งหากกลุ่มประชากรที่สำรวจมาจากชนชั้นที่รายได้ต่ำกว่า โดยมีดัชนีชี้วัดคือกลุ่มคนที่ตอบว่าเคยได้รับอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียน

    ก่อนหน้านี้ กลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งจบใหม่หรือกำลังจะเรียนจบคือหนึ่งในกลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบสูงจากโรคระบาด เพราะเกิดปัญหาบริษัทรัดเข็มขัด งดจ้างงานเพิ่ม รวมถึงปัญหาการเรียนที่ต้องหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์กรแรงงานสากลของสหประชาชาติยังมีรายงานเมื่อเดือนสิงหาคมว่า 42% ของคนวัยหนุ่มสาวทั่วโลก แม้จะยังมีงานทำในช่วงโรคระบาดแต่ก็มีรายได้ที่ลดลง

    ผลสำรวจล่าสุดดังกล่าว จึงสะท้อนให้เห็นภาพที่ค่อนข้างสิ้นหวังของคนหนุ่มสาว โดยเกือบ 3 ใน 5 ของผู้ที่ถูกสำรวจตอบว่าพวกเขา “กลัวว่าจะไม่มีงานทำ” ส่วนถ้าเจาะไปที่กลุ่มที่เรียนจบแล้วและยังไม่มีงานทำ เกือบครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้กังวลว่าจะตกงานไปอีกยาวนาน

    36% ของคนหนุ่มสาวอังกฤษยังตอบว่าตนเอง “สูญเสียความหวัง” กับอนาคตโดยรวมไปแล้ว ขณะที่ 39% หมดแรงบันดาลใจกับการใช้ชีวิตในปีต่อไป

    โจนาธาน ทาวน์เซนด์ ซีอีโอประจำประเทศอังกฤษของกองทรัสต์เจ้าฟ้าชายชาร์ลส กล่าวว่า บทสรุปจากผลสำรวจนี้ทำให้เห็นว่าโรคระบาดไม่ใช่แค่ดิสรัปต์การศึกษา แต่ยังทำลายโอกาสการงานอาชีพของคนรุ่นใหม่ด้วย

    “โรคระบาดทำลายความมั่นใจต่ออนาคตของพวกเขา ถึงขนาดที่บางคนรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในชีวิตได้” ทาวน์เซนด์กล่าว และย้ำว่าคนที่มาจากกลุ่มด้อยโอกาสจะยิ่งได้รับผลกระทบหนักกว่า

    “เราต้องสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะ ฝึกฝนใหม่ และทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสด้านการงาน มิฉะนั้นเราจะเสียความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ไปและเกิดกลุ่มคนตกงานระยะยาวขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียทั้งต่ออนาคตของพวกเขาเองและการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ”

    Source

    ]]>
    1299701
    ภาคธุรกิจบริการ “จีน” ฟื้นตัวแรงหลังวิกฤตไวรัส แต่บริษัทยังระวังตัว ไม่จ้างงานเพิ่ม https://positioningmag.com/1281880 Wed, 03 Jun 2020 09:42:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281880 ผ่านไปเกือบ 3 เดือนหลังประเทศจีนควบคุมโรคระบาด COVID-19 ได้ และอนุญาตให้บริษัทห้างร้านกลับมาเปิดทำการตามปกติ ในที่สุด เศรษฐกิจจีนบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้วเริ่มจาก “ภาคธุรกิจบริการ” อย่างไรก็ตาม ภาคผลิตและส่งออกยังซึมเนื่องจากทั้งโลกเพิ่งเริ่มควบคุมการระบาดได้ ทำให้ภาพรวมการจ้างงานของจีนยังไม่เติบโตเพราะบริษัทยังควบคุมต้นทุน

    สถาบันสำรวจเอกชน Caixin/Markit เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเน้นสำรวจการจัดซื้อของบริษัทเอกชนและธุรกิจขนาดเล็กในจีนเป็นหลัก พบว่าดัชนี PMI ในภาคธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นจาก 44.4 ในเดือนเมษายน เป็น 55.0 ในเดือนพฤษภาคม

    ดัชนีที่ขึ้นไปสูงกว่า 50.0 นั้นสะท้อนให้เห็นการเติบโตในภาคธุรกิจ นับเป็นการเติบโตครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนมกราคม และยังเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2010 ด้วย

    หากรวมดัชนี PMI ทั้งภาคบริการและภาคการผลิต จะเพิ่มขึ้นจาก 47.6 ในเดือนเมษายน เป็น 54.5 ในเดือนพฤษภาคม เป็นการเติบโตที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2011

    ภาคธุรกิจบริการของจีนเป็นเซคเตอร์ที่สำคัญมาก เพราะคิดเป็น 60% ของเศรษฐกิจประเทศและเป็นแหล่งงานสำคัญ โดยการเติบโตสูงในช่วงหลังจากผ่านวิกฤต COVID-19 เกิดจากบริษัทท้องถิ่นเปิดใหม่เป็นจำนวนมาก และเป็นการเติบโตที่มากที่สุดในรอบเกือบสิบปี

     

    การจ้างงานยังต่ำ บริษัทคุมต้นทุน

    อย่างไรก็ตาม จากดัชนี PMI จะเห็นได้ว่าภาคการผลิตยังเติบโตไม่สูงนัก เพราะการส่งออกของจีนยังคงหดตัว เนื่องจากพื้นที่อื่นของโลกยังควบคุมโรคระบาดไม่ได้หรือเพิ่งเริ่มควบคุมได้เท่านั้น ทำให้ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่ และส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงาน

    (photo: pixabay)

    แดน หวัง นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit กล่าวว่า ภาคบริการของจีนช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการล็อกดาวน์ต่างๆ ผ่อนคลายลง มีผลต่อเนื่องให้ภาคการผลิตฟื้นตัวขึ้นบ้างจากความต้องการภายในประเทศ แต่เมื่อดีมานด์ต่างประเทศยังต่ำ คาดว่าจะเกิดกำลังผลิตส่วนเกินในช่วงปลายปีนี้และมีผลกับการจ้างงาน ทำให้อัตราว่างงานของจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นไปแตะ 18% ภายในไตรมาส 2 ของปี

    หวัง เจ้อ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Caixin กล่าวเช่นกันว่า แม้ดัชนี PMI จะสูงขึ้น แต่การจ้างงานยังน่าเป็นห่วง เพราะบริษัทส่วนใหญ่ที่สำรวจแสดงออกถึงนโยบายระมัดระวังตัวในการจ้างงานเพิ่ม เพราะต้องการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพจากสิ่งที่มีอยู่

    “โดยทั่วไปแล้ว การฟื้นตัวของดีมานด์-ซัพพลายในช่วงนี้ยังไม่สามารถเทียบได้กับส่วนที่หายไปในช่วงที่เกิดโรคระบาด และเศรษฐกิจจีนยังต้องการเวลามากกว่านี้เพื่อกลับไปสู่สภาวะปกติ” หวังกล่าว

    ถึงอย่างนั้น บริษัทส่วนมากยังมองอนาคตในแง่บวก และรอคอยนโยบายของรัฐที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนได้แสดงท่าทีออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลได้พับแผนไปสู่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งเป้าไว้ แต่จะหันมาเน้นเรื่องการสร้างงานแทน

    Source

    ]]>
    1281880
    จ๊อบส์ ดีบี เผยไทยจ้างงานเพิ่มอันดับ 3 ในอาเซียน 3 อาชีพมาแรง-แข่งเดือด https://positioningmag.com/1139080 Fri, 08 Sep 2017 10:08:27 +0000 http://positioningmag.com/?p=1139080 รายงานการคาดการณ์ภาพรวมตลาดงานประจำปี 2560 จัดทำโดยบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ภาพรวมตลาดงานอีก 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย โดยพบว่า ผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มจะจ้างพนักงานเพิ่มเป็นอันดับที่สาม

    สรุปภาพรวมทุกประเทศพบว่า 50% ของผู้ประกอบการจะจ้างพนักงานใหม่มาแทนตำแหน่งงานที่ว่างเท่านั้น ในขณะที่ 22% คาดว่าจะมีการขยายกิจการและการจ้างงานเพิ่ม

    อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะเติบโตอยู่ที่ 3.5% รายงานยังระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 6.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบสี่ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวในทิศทางตรงกันข้ามกับการขยายตัวของตลาดแรงงานในไทย โดยผลสำรวจการทำงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่าคนไทยว่างงานเพิ่มขึ้นรวม 4.76 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.5 หมื่นคน

    ผลสำรวจการคาดการณ์ตลาดงานในไทย พบว่า 43% ของบริษัทที่ร่วมสำรวจคาดว่าธุรกิจจะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่ม ขณะที่ 39% คาดว่าจะมีการจ้างงานเพื่อทดแทนตำแหน่งงานเดิมที่ว่างลงหรือเฉพาะตำแหน่งงานที่จำเป็นเท่านั้น ความต้องการผู้หางานที่มีความสามารถยังมีต่อเนื่องเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริการและค้าปลีก

    ผู้ประกอบการคาดว่าธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจะเติบโตดีกว่าปีก่อน โดยได้คะแนนระดับ 7 (จากคะแนนเต็ม 7) ซึ่งเท่ากันกับธุรกิจการผลิต ด้านผู้หางานมองว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (3.86) ธุรกิจด้านโทรคมนาคม (3.83) และธุรกิจการผลิต (3.53) จะเติบโตน้อยกว่าปีก่อน

    รายงานยังระบุอีกว่า 39% ของผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าตลาดแรงงานในประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าปีก่อน (ผู้ประกอบการให้คะแนนเฉลี่ยที่ 4.30 คะแนน) ซึ่งสวนทางกับมุมมองของผู้หางานกว่า 50% ที่เชื่อว่าตลาดงานจะซบเซากว่าปีที่ผ่านมา ความย้อนแย้งของบริบทดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า แม้ความต้องการแรงงานของนายจ้างในประเทศไทยจะมีทิศทางขยายตัวขึ้น แต่ครึ่งหนึ่งของผู้หางานที่ตอบแบบสอบถามกลับไม่เชื่อมั่นว่าจะมีตำแหน่งงานรองรับอย่างเพียงพอ โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้หางานมองภาพรวมตลาดงานในเชิงลบ เป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างผู้หางานที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ประกอบกับความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ตรงใจผู้หางาน

    โดยประเภทธุรกิจที่ผู้หางานคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสได้ค้นพบตำแหน่งงานที่ตรงใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (3.63) ธุรกิจการผลิต (3.53) และธุรกิจโทรคมนาคม (3.50) นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์อีกว่าการแข่งขันในสายงานของธุรกิจพลังงาน (6.20) ธุรกิจการผลิต (5.93) และธุรกิจโทรคมนาคม (5.67) จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ตามลำดับ

    บริษัทข้ามชาติ-สตาร์ทอัพ สร้างอาชีพใหม่

    ทั้งนี้ผู้หางานยังให้ความคิดเห็นต่อการเติบโตของตลาดงานอีกว่า จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ประกอบกับสัญญาณการเติบโตในเชิงบวกของธุรกิจสตาร์ทอัพ จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่หรือรูปแบบการทำงานที่หลากหลายมากขึ้นทำให้เกิดทักษะการทำงานใหม่ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเนื้องาน ส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น

    นพวรรณ จุลกนิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด แนะว่าภายใต้สภาวะที่ตลาดงานมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการควรใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ นอกจากใช้เพื่อการสร้างแบรนด์องค์กร การทำการตลาด และติดต่อสื่อสารกับลูกค้าแล้ว ช่องทางออนไลน์ยังกลายเป็นช่องทางหลักที่ใช้ในการสรรหาว่าจ้างและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กรได้อีกด้วย”

    52% ของผู้หางาน เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้นหาตำแหน่งงาน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน โดยผู้หางานใช้เว็บไซต์งานในการติดตามและดูความเคลื่อนไหวตลาดงาน อยู่ที่ 5.53 คะแนน ในขณะที่มีการใช้เว็บไซต์งานสมัครงานใหม่อยู่ที่ 5.47 คะแนน ผู้ประกอบการจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางออนไลน์ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้หางานในการค้นหาและเข้าถึงตำแหน่งงานดีๆ ได้ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานอีกด้วย

    ข้อมูลจากการสำรวจของจ๊อบส์ดีบี พบว่าการอัปเดตโปรไฟล์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ 80% ของผู้หางานได้รับการติดต่อเสนองานและ 74% ได้งานทำภายใน 1เดือนหลังจากสมัครงาน

    แนะวิธีรักษาพนักงานรุ่นใหม่

    ผู้บริหาร จ็อบส์ ดีบี ยังได้แนะวิธีการรักษาและพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้อยู่ในองค์กรต่อไปได้

    • ควรลงทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนงานที่ช่วยเพิ่มคุณภาพ ทักษะของพนักงาน
    • เพิ่มโอกาสและรายได้
    • เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและพัฒนาความสามารถของพนักงาน
    • ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของพนักงานทุกคน
    • เตรียมพร้อมรับมือกับกลุ่มมนุษย์งานพันธุ์ใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง เห็นคุณค่าของตัวเองมากกว่าที่จะยึดติดกับบริษัท และพร้อมที่จะลาจากเมื่อไม่เป็นที่ยอมรับ 
    • การทำงานเพื่อเงินเดือนใช้ไม่ได้กับแรงงานกลุ่มใหม่นี้อีกต่อไป เพราะแรงงานกลุ่มนี้ชอบการทำงานที่วัดผลได้ หากทำงานจนได้ผลลัพธ์ในเชิงบวก
    • งานต้องสร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่เงินเดือนเพิ่ม และต้องพัฒนาให้พวกเขามีทักษะอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในฐานะทุนมนุษย์ด้วย

    ]]>
    1139080