กีฬาต่อสู้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 11 Aug 2023 10:49:21 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ONE Championship” มุ่งยกระดับมวยไทย “ปลอดโต๊ะพนัน” ฝันปั้น “นักมวย” ค่าตัวแรงหลักสิบล้านบาท https://positioningmag.com/1440766 Fri, 11 Aug 2023 09:43:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440766
  • ONE Championship มาปักหลักในไทยกับรายการแข่งขันมวยไทย “ONE ลุมพินี” ผลตอบรับ 7 เดือนแรกเรตติงพุ่ง เป็นรายการกีฬาต่อสู้ที่มีผู้ชมสูงสุด ยกระดับมวยไทยให้ “ปลอดโต๊ะพนัน” แข่งขันอย่างยุติธรรม และชมได้ทุกเพศทุกวัย
  • มองในระดับสากล มุ่งเป้าปั้น “มวยไทย” ให้เป็นที่นิยมสูงขึ้น ส่ง “นักมวย” คนไทยเพิ่มค่าตัว หวังแตะหลักสิบล้านบาทให้ได้
  • หากเป็นผู้ชมที่รักการดูกีฬาน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับโปรโมเตอร์ “ONE Championship” มาบ้าง เพราะปัจจุบัน ONE Championship เป็นรายการอันดับ 1 ในกลุ่มศิลปะการต่อสู้ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก และเป็นอันดับ 2 รองจากกีฬาบาสเกตบอล NBA ในฐานะรายการกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก

    ผู้ก่อตั้ง ONE Championship คืออดีตครูสอนมวยไทย “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อและทำงานที่สหรัฐอเมริกาในภาคธุรกิจการเงิน แต่ด้วยความฝันและใจรักกีฬาต่อสู้โดยเฉพาะมวยไทย ทำให้เริ่มก่อตั้งสื่อบันเทิงกีฬา ONE Championship จัดรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้หลากหลาย ได้แก่ MMA (Mixed Martial Arts), มวยไทย, คิกบ็อกซิ่ง, ยิวยิตสู และล่าสุดยังจัดแข่ง e-Sports ด้วย

    ชาตรี ตรีศิริพิศาล หรือฉายา “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ONE Championship

    ชาตรีเริ่มสร้างการแข่งขันและฐานผู้ชมในต่างประเทศ จนปัจจุบันมีพันธมิตรถ่ายทอดสดผ่านช่องโทรทัศน์และสตรีมมิ่งต่างๆ รวม 180 ประเทศ โดยมีดีลกับสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ต่างๆ เช่น ในสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรกับ Prime Video, ในจีนเป็นพันธมิตรกับ Tencent และ iQIYI, ในญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับ Abema

    “จิติณัฐ อัษฎามงคล” ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย มองว่ากุญแจความสำเร็จของ ONE Championship ในต่างประเทศ คือ การวางคอนเซ็ปต์หลักให้แตกต่างจากรายการกีฬาต่อสู้ที่มีอยู่เดิม ทำให้เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ชม และได้ฐานผู้ชมที่กว้างขึ้น ไม่ใช่กีฬาที่มีแต่ผู้ชายเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สนใจ

    “เราวางคอนเซ็ปต์ความบันเทิงของเราว่าจะต้องสื่อสารออกไปในเชิงบวก ให้แรงบันดาลใจ ไม่เน้นฉายภาพเลือดสาด เหยียดกัน ทะเลาะกัน ไม่มี ‘Ring Girl’ ที่เน้นขายความเซ็กซี่เข้ามา ภาพรวมจะไม่ใช้แง่มุมเชิงลบดึงคนเข้ามาดู เพื่อให้การแข่งขันนี้เป็นมิตรต่อคนทุกเพศทุกวัย ทุกชาติศาสนา ผู้ปกครองพาเด็กเข้ามาดูได้ คนแถบตะวันออกกลางเปิดดูได้” จิติณัฐกล่าว

    รวมถึงเสน่ห์อีกส่วนหนึ่งของ ONE Championship คือมุ่งมั่น “การปั้นนักสู้ให้เป็นสตาร์” นักสู้บนสังเวียนไม่ใช่แค่ขึ้นไปสู้ แต่ต้องมีการสร้างคาแรกเตอร์ ถ่ายทอดเรื่องราวส่วนตัวที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกได้ ตามคอนเซ็ปต์ว่า “นักกีฬาคือฮีโร่ของมนุษยชาติ” และค่ายจะช่วยปรับบุคลิกภาพให้นักกีฬาพร้อมเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ต่างๆ

     

    พา “มวยไทย” กลับบ้านในรูปแบบใหม่

    คอนเซ็ปต์ที่ทำสำเร็จในต่างประเทศมากว่าสิบปี ในที่สุด ONE Championship ได้โอกาสพามวยไทยกลับมาปักหลักในถิ่นกำเนิดเมื่อ 7 เดือนก่อน

    “พอกองทัพบกย้ายสนามมวยลุมพินีไปอยู่รามอินทรา เขามองว่าจะต้องเปลี่ยนใหม่ให้มวยไทยสะอาด ไม่มีการพนัน เขาก็คุยหลายโปรโมเตอร์ จนมาจบที่เราที่ได้จัดรายการ ONE ลุมพินี” อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย กล่าว

    บรรยากาศสนามแข่งขันต้องส่งเสริม ให้นักสู้ทุกคนเป็นสตาร์

    ทั้งอริยะวัฏและจิติณัฐเปิดอกคุยตรงไปตรงมาว่า กีฬามวยไทยในประเทศไทยมีอิทธิพลจากกลุ่มโต๊ะพนันมานาน เมื่อโต๊ะพนันต้องการล็อกผลการแข่งขัน ทำให้เกิดเหตุล้มมวย หรือกรรมการตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม จนกีฬามวยหมดความศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับแต่ดั้งเดิมกีฬามวยถูกมองว่าเป็นกีฬาของชนชั้นแรงงานอยู่แล้ว ยิ่งทำให้มวยไทยไม่เป็นที่นิยมในแง่การรับชมเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป

    ONE Championship ต้องการมาเปิดศักราชใหม่ พลิกโฉมให้มวยไทยเป็นกีฬาที่คนไทยนิยมดูกันทั่วประเทศ ด้วยการนำคอนเซ็ปต์ที่ทำมาในต่างประเทศมาใช้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวทีแสงสีเสียงจัดเต็ม บรรยากาศงานแบบสากล มีการเชิญดารา-อินฟลูเอนเซอร์เข้างานเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์

    เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดว่ากีฬามวยไทยไม่ได้ต่ำต้อย แต่เราเป็นกีฬาที่สร้างฮีโร่ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

    ที่สำคัญ การแข่งขันต้องยุติธรรมให้การเดินทางไปสู่แชมป์ของนักสู้แต่ละคนมีศักดิ์ศรี เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเอาใจช่วยและหันมาติดตามนักกีฬาอย่างใกล้ชิด

    “เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดว่ากีฬามวยไทยไม่ได้ต่ำต้อย แต่เราเป็นกีฬาที่สร้างฮีโร่ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” จิติณัฐกล่าว

     

    “ONE ลุมพินี” ผลตอบรับพุ่ง – อนาคตขอดึง “คนเมือง”

    ONE ลุมพินี เริ่มจัดไฟต์แรกเมื่อ 7 เดือนก่อน โดยได้เซ็นสัญญาออกอากาศทางช่อง 7HD ทุกวันศุกร์ เวลา 20:30-23:30 น. เห็นได้ว่าช่อง 7HD เลือกเสี่ยงดวงใช้เวลาไพรม์ไทม์ของละครหลังข่าวเปลี่ยนมาเป็นรายการมวย

    ผลปรากฏว่า ONE ลุมพินี เรตติงพุ่งสูงสุดในสล็อตรายการที่ฉายเวลาเดียวกันโดยอยู่ที่ 5.8 คิดเป็นยอดผู้ชมเฉลี่ย 13.6 ล้านคนต่อวัน ขึ้นเป็นเบอร์ 1 รายการศิลปะการต่อสู้ที่มีเรตติงสูงสุดในไทย พร้อมกับค่าเฉลี่ยการเปิดรับชมยาว 80 นาทีไม่เปลี่ยนช่อง

    ONE Championship

    ในแง่โปรไฟล์ผู้ชมเริ่มเป็นไปตามที่คาดหวังเพราะมีผู้ชมเป็นผู้ชาย 57% ผู้หญิง 43% เทียบกับค่าเฉลี่ยรายการกีฬาในไทยจะมีผู้หญิงชมเป็นสัดส่วน 36% เท่านั้น เห็นได้ว่า ONE ลุมพินีสามารถจัดสมดุลมีผู้ชมมาจากทั้งสองกลุ่มเพศ

    จิติณัฐกล่าวต่อว่า อนาคตคาดหวังว่าจะโปรโมตให้ “คนเมือง” หันมาดูรายการมวยไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเรตติงในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ประมาณ 1.3 ล้านครัวเรือนต่อวันเท่านั้น ยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย

    เหตุที่ต้องพยายามดึงผู้ชมฐานคนเมืองให้ได้มากขึ้น เพราะนี่คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีอิทธิพลต่อเทรนด์ในสังคมสูง หากมีโปรไฟล์ผู้ชมกลุ่มนี้ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงจะเข้าเป็นสปอนเซอร์มากขึ้น และเม็ดเงินถึงนักกีฬาจะสูงตาม

     

    โอกาส “นักมวย” คนไทยรับทรัพย์หลักสิบล้าน

    นอกจากจะกลับมาโปรโมตมวยไทยในหมู่คนไทยแล้ว ONE Championship ยังคงมุ่งมั่นจะผลักดัน “มวยไทย” ให้เป็นกีฬาต่อสู้ที่คนนิยมกันทั่วโลก และจะเป็นโอกาสให้นักมวยชาวไทยโด่งดังระดับสากลเช่นกัน

    อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย และ จิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย

    จิติณัฐประเมินว่า ปัจจุบันกีฬาต่อสู้ที่คนนิยมมากที่สุดทั่วโลก คือ “มวยสากล” รองลงมาคือ “MMA” ซึ่งนิยมในทวีปอเมริกาทั้งหมดและแถบเอเชียกลาง ตามด้วย “คิกบ็อกซิ่ง” ซึ่งนิยมในทวีปยุโรป ส่วน “มวยไทย” กับ “ยิวยิตสู” จากญี่ปุ่น นั้นนิยมกันในเอเชีย และมีความโด่งดังใกล้เคียงกัน

    จิติณัฐบอกด้วยว่า ประเทศที่มีอิทธิพลและกำลังซื้อต่อกีฬาต่อสู้มากที่สุดคือ “สหรัฐฯ” นั่นทำให้ถ้ามวยไทยจะเกิดได้มากกว่านี้ ต้องตีตลาดสหรัฐฯ ให้ได้

    ONE Championship จึงเซ็นสัญญากับ Prime Video เพื่อผลักดันการจัดแข่งกีฬามวยไทยขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเปิดแข่งไฟต์แรกไปแล้วเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้ปี 2567 จะร่วมกับ Prime Video เพื่อจัดแข่งมวยไทยอย่างน้อย 4 ไฟต์ในสหรัฐฯ

    การมีฐานคนดูเพิ่มขึ้น หมายถึงค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่สูงขึ้น สปอนเซอร์มากขึ้น และจะทำให้ “ค่าตัว” นักกีฬาสูงขึ้นด้วย

    ONE Championship
    “รถถัง จิตรเมืองนนท์” และ “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” สองนักชกมวยไทยที่โด่งดังในระดับโลก

    ปัจจุบัน ONE Championship มีนักสู้ในสังกัดมากกว่า 300 คนรวมทุกประเภทกีฬา นักสู้ที่ได้ค่าตัวสูงสุดขณะนี้คือ “เดเมเทรียส จอห์นสัน” เป็นนักกีฬา MMA ชาวอเมริกัน ซึ่งได้ค่าตัวไฟต์ละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 35 ล้านบาท)

    ส่วนคนไทยในสังกัด ONE Championship ที่ได้ค่าตัวสูงสุดคือ “รถถัง จิตรเมืองนนท์” นักชกมวยไทยที่ค่าตัวหลักล้านบาท รองลงมาเป็นนักชกหญิง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์”

    “เราอยากพัฒนาให้นักมวยไทยมีค่าตัวสูงระดับสิบล้านบาท คิดว่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้แน่ และถ้าเป็นไปได้อนาคตควรไปถึงร้อยล้านบาท พันล้านบาท เพราะนักมวยสากลมีคนที่ได้ระดับพันล้านบาทแล้วนะ เราก็ควรจะทำได้เหมือนกัน ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างความคลั่งไคล้ในกีฬามวย และสร้างแฟนด้อมให้กับนักสู้แต่ละคน” จิติณัฐกล่าว

    ]]>
    1440766
    ฝันอันยิ่งใหญ่ของ “นพพร วาทิน” แห่ง “ไทยไฟท์” ต่อยอด “มวยไทย” เป็น Soft Power ระดับโลก https://positioningmag.com/1406830 Fri, 04 Nov 2022 10:21:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1406830 ย้อนไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เวทีมวย “ไทยไฟท์” เริ่มต้นขึ้นในรูปแบบที่แปลกแหวกแนวไปจากตลาด เพราะมาพร้อมกับระบบแสงสีเสียงอลังการ แม้จะจัดแข่งเพียง 8 แมตช์ต่อปี แต่ได้รับความนิยมสูงและเรียกสปอนเซอร์ดึงเม็ดเงินได้หลักร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อทิศทางลมเปลี่ยนมาพร้อมกับโอกาส ทำให้ “นพพร วาทิน” ผู้จัดเวทีมวยไทยไฟท์ เห็นช่องทางต่อยอดมวยไทยให้เป็น Soft Power ระดับโลก

    “ถ้าเดินแค่ในไทย โอกาสน้อย เราต้องมองให้ถึงต่างประเทศ ผลักดันลิขสิทธิ์ของไทยที่ขายไปให้คนอื่นซื้อ” นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่จะปั้นไทยไฟท์ให้ถึงระดับโลก “อังกฤษมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สหรัฐฯ มีอเมริกันฟุตบอล NFL เรามองแล้วกีฬามวยไทยของเราก็เป็นไปได้”

    ก่อนจะก่อตั้งไทยไฟท์ นพพร วาทิน ไม่ใช่คนนอกวงการทั้งด้านคอนเทนต์และกีฬามวย เพราะเขาโลดแล่นเป็นเบื้องหลังการจัดละครและรายการทางโทรทัศน์มามาก ละครเรื่องที่ดังที่สุดที่เขาเป็นผู้จัดคือ “มือปืน” นำแสดงโดย หนุ่ย-อำพล ลำพูน และ นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช ออกฉายเมื่อปี 2542 รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มรายการ “ศึกจ้าวมวยไทย” ทางช่อง 3

    นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นแล้วว่าวงการสื่อไทยเริ่มซบเซา เรตติ้งละครตกลง และเมื่อละครฉายจบ การต่อยอดหารายได้ก็ทำได้ยาก นพพรจึงเบนเข็มมามอง “กีฬามวยไทย” ซึ่งคนไทยชื่นชอบเป็นทุนเดิม เพียงแต่ขณะนั้นวงการกีฬามวยยังเป็นพื้นที่ ‘สีเทาๆ’ และการจัดการไม่ได้พัฒนาไปมาก เทียบกับต่างประเทศที่กีฬาต่อสู้มีส่วนผสมของความบันเทิงมากกว่า

    ไอเดียการจัดเวทีมวย “ไทยไฟท์” จึงเริ่มขึ้น กลายเป็น “มวย+ความบันเทิง” ที่แปลกแตกต่างจากเดิม และไม่ได้ปักหลักเวทีถาวร ใช้วิธีเวียนจัดในสถานที่ใหม่ จังหวัดใหม่ รวมถึงในต่างประเทศ นับถึงปัจจุบันไทยไฟท์มีการจัดมาแล้วมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย

     

    มวยไทยที่ดึงสปอนเซอร์รายใหญ่ได้

    “เรากล้าลงทุนเวทีแสงสีเสียงอลังการ ใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทต่อแมตช์ รวมค่าถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งทำให้สปอนเซอร์กล้ามาลงกับเรา” นพพรกล่าวถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยไฟท์เกิดได้

    “อีกอย่างคือเราทำให้มวยไทยเป็นกีฬาที่ผู้หญิงดูกันมากขึ้น เราดึง ‘เสน่ห์’ ของนักมวยแต่ละคนออกมา ทุกคนขึ้นเวทีต้องดูดี พิธีกรหน้าตาดี ซึ่งการมีผู้หญิงดูมวยด้วยนั้นสำคัญมาก เพราะแปลว่าเราได้ฐานคนดูเพิ่มมากกว่าเวทีอื่น”

    ไทยไฟท์
    ความอลังการของเวทีมวยไทยไฟท์

    ทุกเวทีไทยไฟท์ไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ทำให้มีคนดูเรือนหมื่นทุกครั้ง เวทีที่เคยมีคนดูมากที่สุดเป็นประวัติการณ์คือที่ “จ.ยะลา” มีคนเข้าชมกว่า 80,000 คน

    เมื่อไม่มีการขายตั๋ว แหล่งรายได้หลักของไทยไฟท์จึงมาจาก “สปอนเซอร์” ซึ่งสามารถเรียกสปอนเซอร์มาได้ทั้ง  เครื่องดื่มตราช้าง, PTTOR, อีซูซุ, ไทยประกันชีวิต ฯลฯ แพ็กเกจราคาสปอนเซอร์เริ่มตั้งแต่ 10 ล้านบาท สูงสุด 35 ล้านบาท

    ถ้าเดินแค่ในไทย โอกาสน้อย เราต้องมองให้ถึงต่างประเทศ ผลักดันลิขสิทธิ์ของไทยที่ขายไปให้คนอื่นซื้อ…อังกฤษมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สหรัฐฯ มีอเมริกันฟุตบอล NFL เรามองแล้วกีฬามวยไทยของเราก็เป็นไปได้

    รวมถึงมาจากการขาย “สินค้าเมอร์ชานไดซ์” หน้าอีเวนต์ เคยขายได้มากที่สุดในอีเวนต์เดียวคือที่ “จ.ปัตตานี” งานเดียวกวาดไป 24 ล้านบาท

    นพพรกล่าวว่า แม้แต่ในช่วงโควิด-19 รายได้ไทยไฟท์ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากสัญญาสปอนเซอร์เป็นสัญญาระยะยาว และสปอนเซอร์ยังต้องการสนับสนุนต่อเนื่อง รอวันที่เวทีมวยจะกลับมาจัดได้ปกติ ทำให้บริษัทมีรายได้เฉลี่ย 400-500 ล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไรสุทธิถึง 60%

     

    “ไทยไฟท์” Soft Power สู่ธุรกิจอื่น

    ในโลกของคอนเทนต์มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง Soft Power ของเกาหลีใต้ ส่งออกซีรีส์ ภาพยนตร์ และดนตรี จนสามารถขายสินค้าอื่นตามมาได้อีกมาก

    นพพรมองในมุมเดียวกันว่า วัฒนธรรมไทยมีความแข็งแรงพอที่จะเป็นสินค้าเช่นกัน โดยจะใช้ “มวยไทย” เป็นตัวนำในการส่งออกสินค้าอื่น เช่น อาหาร เครื่องดื่ม แหล่งท่องเที่ยว เชื่อว่ามวยไทยเข้าถึงคนทั่วโลกได้ เพราะกีฬาต่อสู้เป็น ‘สัญชาตญาณมนุษย์’ ทุกชาติชื่นชอบการต่อสู้ และมวยไทยเป็นการสู้ที่ ‘ถึงเลือดถึงเนื้อ’ ได้ใจคนดูได้ไม่ยาก อย่างที่เห็นว่าที่ผ่านมาเวทีไทยไฟท์ต่างประเทศมีจำนวนผู้ชมไม่แพ้ในไทย

    มวยไทย ไทยไฟท์
    คนทุกชาติมีสัญชาตญาณชอบศิลปะการต่อสู้ และเสน่ห์ “มวยไทย” คือต่อยจริง เจ็บจริง

    ทำให้ตั้งแต่ปี 2566 กลยุทธ์ของไทยไฟท์จะเข้าสู่ “โลกออนไลน์” ที่ไปได้ทั่วโลก เริ่มบุกต่างประเทศชัดเจน และเริ่มเพิ่มสินค้าอื่นเพื่อใช้ประโยชน์จาก Soft Power แบ่งเป็น 4 หมวดธุรกิจ ดังนี้

    1.ธุรกิจอีเวนต์ ลิขสิทธิ์ และการก่อตั้ง “ไทยไฟท์ลีก”
    • อีเวนต์เวทีมวยของไทยไฟท์จะเริ่มปรับมามีเวทีถาวรที่ BEAT active ไบเทค บางนา (ร่วมทุนกับ กลุ่มภิรัชบุรี และพร้อมเปิดตัว 14 ธันวาคมนี้) จะจัดแข่งทุกวันเสาร์ มีแมตช์แข่งขัน 7-8 คู่ตลอดวัน
    • เมื่อมีการแข่งขันต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเตรียมจัด “ไทยไฟท์ลีก” เพื่อให้เห็นคะแนนนักมวยชั้นนำของไทยที่ชัดเจน และนักกีฬาที่เข้าตาจะได้รับสัญญาเข้าค่ายไทยไฟท์
    • นอกจากเวทีไทยที่ไบเทคแล้ว บริษัทยังมี “สัญญาลิขสิทธิ์การจัดไทยไฟท์ในต่างประเทศ” ด้วย เริ่มแห่งแรกที่ “จีน” กับบริษัท Shandong TV ในมณฑลซานตง ซึ่งจะมีเวทีมวยในเมืองจีน จัดถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ยาว 5 ปี โมเดลที่จีนจะเป็นโมเดลต้นแบบ และนพพรแย้มว่ามีประเทศอื่นๆ ที่สนใจซื้อลิขสิทธิ์อีก เช่น ตะวันออกกลาง
    • พิจารณา “ขายลิขสิทธิ์ให้กับเว็บไซต์ด้านการพนันออนไลน์” ในต่างประเทศ เพื่อรับประโยชน์รายได้แทนการสูญเสียรายได้ให้กับเว็บไซต์ที่ใช้แบรนด์โดยไม่ได้รับอนุญาต
    ภาพจำลองเวทีมวยไทยไฟท์ที่ BEAT active ไบเทค บางนา
    2.ธุรกิจสตรีมมิ่งออนไลน์

    จากการตั้งเวทีมวยถาวรและจัดแข่งประจำ ทำให้ไทยไฟท์จะเริ่มตั้งระบบสตรีมมิ่งออนไลน์ เก็บค่าสมาชิกรายเดือน แฟนคลับรับชมได้ทางอินเทอร์เน็ตแทนการจัดถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ คาดว่าจะเริ่มเปิดระบบออนไลน์ได้ในปี 2567

    เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่คนไทยจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อชมสิ่งที่เคยชมฟรี นพพรมองว่าขึ้นอยู่กับการจัดโปรโมชันประโยชน์ที่ได้ให้คุ้มค่า เช่น สมาชิกได้สิทธิชิดขอบสังเวียนเมื่อเข้าชมที่เวทีมวย, ได้รับส่วนลดซื้อสินค้าเมอร์ชานไดซ์, สิทธิจับสลากชิงโชคเพื่อบินลัดฟ้าไปชมแมตช์แข่งขันต่างประเทศ

    3.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ – โรงแรม ยิม ไลฟ์สไตล์
    • ไทยไฟท์ร่วมกับ กลุ่มศรีชวาลา เปิดโรงแรมธีมมวยไทยแห่งแรกแล้วที่ “ไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุย” ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายในตกแต่งในสไตล์รีสอร์ตร่วมสมัย มีคลาสมวยไทย นวดและสปาไทย โรงแรมนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบในการรับจ้างบริหารด้วยเชนโรงแรมไทยไฟท์ พร้อมขยายทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ชมคลิปรีวิวโรงแรมไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุยบน TikTok ที่นี่)
    ไทยไฟท์ โฮเทล
    ไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุย
    • ขยาย “ยิมมวย ไทยไฟท์” ไปทั่วประเทศด้วยโมเดลแฟรนไชส์ เชื่อว่าสามารถขยายได้ 40-50 สาขาภายในปี 2566 เนื่องจากแบรนด์ไทยไฟท์มีความแข็งแรง และกีฬามวยเองเป็นการออกกำลังกายที่คนรุ่นใหม่นิยมมากขึ้น เพราะช่วยลดน้ำหนักดี เป็นประโยชน์ด้านการป้องกันตัว
    • แหล่งไลฟ์สไตล์มวยไทย บริเวณด้านหน้าตึกแดง ตลาดนัดจตุจักร ลงทุน 40-50 ล้านบาทเพื่อสร้างยิมมวย แหล่งไลฟ์สไตล์ความเป็นไทยที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวย เป็นแม่เหล็กใหม่ในด้านการท่องเที่ยว
    4.ธุรกิจสินค้าค้าปลีก เช่น เมอร์ชานไดซ์ เครื่องดื่ม
    • เมอร์ชานไดซ์ จากการแข่งขันไทยไฟท์ จะมีการขยายให้มากกว่า 300 SKUs จากปัจจุบันที่มีจำหน่าย เช่น เสื้อโปโล กางเกงมวย นวมชกมวย กระสอบทราย
    • ลุยตลาด “เครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์” ผ่านการใช้แบรนด์ไทยไฟท์ และร่วมกับเซเลปวงการมวยในค่าย เชื่อว่าจะสามารถชิงตลาดมาได้ โดยเตรียมร่วมทุนกับผู้ผลิตเครื่องดื่มรายหนึ่ง วางกำหนดจำหน่ายกลางปี 2566
    ตัวอย่างเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีน้ำดื่มจำหน่ายในแพ็กเกจธีมมวยไทย อนาคตตู้แช่ด้านหลังจะเป็นสปอร์ตดริงก์แบรนด์ไทยไฟท์

    เตรียมเปิด IPO ปี 2567

    ดังที่เห็นตามแผนงานของไทยไฟท์ จากเวทีมวยที่จัดปีละ 8 ครั้ง จะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งการจัดแข่งขันและการทำธุรกิจต่อยอด รวมถึงแผนของนพพรยังต้องการจะดันไทยไฟท์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2567 ด้วย

    นพพรกล่าวว่า วิสัยทัศน์การเข้าตลาด SET ไม่ได้ติดปัญหาด้านเงินทุน การลงทุนในอนาคตของไทยไฟท์หลักๆ จะเป็นเรื่องระบบสตรีมมิ่ง แต่ประเด็นที่ต้องเป็นบริษัทมหาชน เพราะหากจะส่ง Soft Power ไทยไปให้ไกลระดับโลกผ่านการเจรจาลิขสิทธิ์หรือการเสนอรับจ้างบริหารโรงแรมในต่างประเทศ ความน่าเชื่อถือของบริษัทจะเป็นใบเบิกทางสำคัญ

    “การสร้างแบรนด์คือการสร้างความเชื่อ ให้เขาเชื่อว่าเรามีศักยภาพ ให้เห็นชัดว่าเราทำได้จริง” นพพรกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1406830
    “คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ” อินทรีไร้พ่ายนักสู้ 100 ล้านเหรียญฯ คนต่อไป https://positioningmag.com/1194676 Sun, 28 Oct 2018 09:00:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1194676 “คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ” คือซูเปอร์สตาร์คนใหม่แห่งโลกของกีฬาต่อสู้ ที่กำลังจะกลายเป็น “สินค้าขายดี” ของ UFC และอาจจะก้าวไปทำเงินบนสังเวียนมวยแบบที่ “คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์” เคยทำได้มาแล้ว

    “มันก็แค่ธุรกิจน่า” คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ พูดเบาๆ กับ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ ในช่วงหมดยกที่ 3 ของการต่อสู้ระหว่างทั้งคู่ หลังฝ่ายของ คาบิบ แสดงความไม่พอใจที่ แม็คเกรเกอร์ (และทีมงาน) “สาดสงครามน้ำลาย” มาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งด่าพ่อ, ลบหลู่ศาสนา และถึงขั้นกล่าวหาว่าเขากับทีมงานเกี่ยวข้องกับพวกผู้ก่อการร้าย

    ซึ่งในช่วงเวลาที่กล้องไม่ได้จับ แต่กลับมีคนหูดีได้ยินว่า แม็คเกรเกอร์ ได้พยายามที่จะอธิบายให้กับคู่ต่อสู้ได้เข้าใจว่าทุกอย่างที่เขาทำ ก็เพื่อ “ขาย” ไฟต์นี้เท่านั้น

    ประโยคสั้นๆ ของคอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ อาจจะสะท้อนภาพของกีฬาแนวต่อสู้ในยุคปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย ที่ในยุคนี้ความแค้นเคือง, สงครามน้ำลาย, การด่าทอ กลายเป็นจุดขายของการต่อสู้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ชมยอมเสียเงินซื้อ Pay-Per-View

    อินทรีย์ไร้พ่ายจากแดนหมีขาว … ยอดนักสู้มุสลิม

    เขาอาจจะมีบุคลิกที่แตกต่างจากแม็คเกรเกอร์ หรือ ฟลอยด์ เมเวทเทอร์ จูเนียร์ แห่งวงการมวยอยู่พอสมควร แต่ตอนนี้ไม่มีชื่อไหนในวงการกีฬาต่อสู้ที่จะร้อนแรงเท่ากับ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ หรือ “The Eagle” อีกแล้ว

    หนุ่มชาวรัสเซียไม่เพียงมีฝีมือระดับ “ไร้เทียมทาน” ในกีฬาของตัวเองเท่านั้น แต่บุคลิก, ความแตกต่าง และการแสดงออกที่ไม่เหมือนใคร ก็อาจจะทำให้เขาขึ้นชั้นกลายเป็นนักสู้ระดับ “100 ล้านเหรียญฯ” อีกคนในเร็วๆ นี้

    ลูกชายคนกลางในจำนวนพี่น้อง 3 คนของครอบครัวชาวมุสลิมสุหนี่ในเมืองซิลดี เขตซูมาดิสกี้ เขตปกครองพิเศษดาเกสถาน คาบิบ ฝึกฝนมวยปล้ำจากบิดาที่เป็นอดีตนักกีฬาของกองทัพมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเติบโตขึ้นก็เริ่มเรียนยูโด และแซมโบที่เป็นศิลปะป้องกันตัวของชาวรัสเซีย ว่ากันว่าเขาเคยฝึกฝนด้วยการสู้กับหมีมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ อายุแค่ 5 ขวบเท่านั้น

    แม้จะเคยก่อเรื่องชกต่อยตามประสาวัยรุ่นอยู่บ้าง สุดท้าย คาบิบ จึงได้ก้าวขึ้นสู่สังเวียนนักสู้อย่างเต็มตัว และเขาก็เลือกที่จะเข้าไปสู่ในเวทีกรง 6 เหลี่ยมของศิลปะป้องกันตัวแบบผสมผสาน (Mixed martial arts) กีฬาแนวต่อสู้ที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ คาบิบค่อยๆ กวาดชัยชนะจากทั้งในยูเครน และรัสเซีย จนได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงสังเวียนของ Ultimate Fighting Championship หรือ UFC ในที่สุด และขึ้นสู้จุดสูงสุดในอาชีพเมื่อสามารถเผด็จศึกซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของ UFC ได้อย่างง่ายดาย จนตอนนี้สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ถึง 27 ไฟต์ติดต่อกันแล้ว

     

    รวมถึงการต่อสู้ครั้งล่าสุดที่ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ ไม่เพียงจับล็อกจนแม็คเกรเกอร์ “แท็บเอาต์” ขอยอมแพ้อย่างราบคาบเท่านั้น แต่เมื่อการต่อสู้จบลงนักสู้ชาวรัสเซียถึงกับกระโดดออกนอกกรงไปซัดกับทีมงานของแม็คเกรเกอร์ต่ออีกยก

    เรื่องนี้ทำให้คาบิบถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง แต่ก็มีคนเห็นใจเขามากมาย แต่ที่แน่ๆ หาก แม็คเกรเกอร์ได้กลับมาเจอคาบิบบนเวทีอีกครั้ง เม็ดเงินที่ทั้งคู่จะได้รับนั้นจะมากมายมหาศาลยิ่งกว่าเดิมแน่นอน

    สตอรี่, บุคลิกเฉพาะตัว, สีสันนอกสังเวียน … สำคัญไม่แพ้ฝีมือ และความมันส์บนเวที

    ในวงการศิลปะป้องกันตัวมีนักชกอยู่มากมาย อย่าง แมนนี ปาเกียว จากประเทศฟิลิปปินส์ ที่ไม่ได้แค่เก่ง แต่ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักมวยที่ชกได้อย่างดุเดือดมาก ความรวดเร็ว และหมัดที่หนักสุดๆ ทำให้แฟนมวยส่วนใหญ่เทใจให้กับเขาแบบเดียวกับที่เคยเทใจให้กับไมค์ ไทสัน

    ในทางตรงกันข้าม ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เป็นนักชกเกมรับกลับมีเชื่อเสียงเรื่องความน่าเบื่อ มักจะโค่นคู่ต่อสู้ด้วยความรวดเร็วในการหลบหมัด และเทคนิคต่างๆ จนได้รับการยกมือให้ชนะคะแนนได้ในท้ายที่สุด

    แต่ถึงจะมีลีลาช่วยง่วงนอน แต่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ กลับทำเงินได้มากกว่า ปาเกียว และนักชกคนอื่นๆ หลายเท่าตัว นั่นก็เพราะเขาได้สร้าง “อิมเมจ” เฉพาะตัวขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วฝีมือก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่าการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ทำให้ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เป็นที่สนใจ แต่ภาพลักษณ์ทั้งหมดก็มีพื้นฐานมาจากสถิติ “ไม่เคยแพ้ใคร” ของเขาเองด้วย เช่นเดียวกับคอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ นักสู้ปากกรรไกรแห่ง UFC ที่อาจจะโด่งดังจากลีลา

    สำหรับ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ เขาไม่ใช่คนที่พูดเก่งเหมือนนักสู้บางคน แต่พื้นเพ, การแสดงออก และโดยเฉพาะเหตุการณ์หลังไฟต์ล่าสุดก็ทำให้คาแร็กเตอร์ของคาบิบชัดเจนมากยิ่งขึ้น … “มันพูดถึง ประเทศของผม, ศาสนาของผม, พูดถึงพ่อของผม” คาบิบให้สัมภาษณ์หลังก่อเหตุวิวาท และบอกว่าเขายอมรับไม่ได้จริงๆ กับสิ่งที่ แม็คเกรเกอร์ทำ … ถึงตอนนี้ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ บอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด และพร้อมจะออกจาก UFC ถ้าจำเป็น

    จากนักสู้ไร้พ่ายผู้เก่งอาจ ตอนนี้ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ กลายเป็นความภูมิใจของชาวรัสเซีย, เป็นตัวแทนของศาสนาอิสลาม เป็นคนจริงผู้ไม่ยอมให้ใครมาหยามหน้า คนรัสเซียจำนวนมากรอคอยการต่อสู้ครั้งต่อไปของคาบิบ ส่วนคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็อยากจะเห็นเขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูปสักครั้ง

    กีฬาไฟต์ติ้งยุค “โซเชียลมีเดีย”

    ในยุคก่อน อาลี อาจจะสร้างความแตกต่างจากการสร้างสีสันในงานแถลงข่าว จนกลายเป็น “จอมโว” แห่งวงการ แต่ในยุคนี้นักกีฬาต่างใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างกระแส โดยเฉพาะ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ คือหนึ่งในนักกีฬาที่ใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด จนชื่อของเขาไม่เคยหายไปจากไทม์ไลน์ของแฟนๆ กีฬาเลย ไม่ว่าจะมาจากโซเชียลมีเดียของเขาเอง หรือของคนอื่น

    คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ มีคนติดตาม Facebook, Twitter และ Instagram รวมเกือบ 10 ล้านคน และไม่กลัวที่จะก่อสงครามน้ำลายทางโซเชียลกับนักสู้คนอื่นๆ และไม่ยี่หระที่จะถูกมองว่าเป็นคน “ไร้น้ำใจนักกีฬา” นอกจากนั้น แม็คเกรเกอร์ยังไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับเรื่องบนฝืนผ้าใบเท่านั้น มักจะเผย “ไลฟ์สไตล์” ของตัวเองให้แฟนๆ ได้เห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วย เขามักจะขับรถยนต์หรู, เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว, สวมสูทสีสันจัดจ้านไม่เหมือนใคร และดื่มเหล้าวิสกี้ราคาแพง

    คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ เองก็ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่ได้เป็น “สิงห์” โซเชียลเหมือนคอเนอร์ แม็คเกอร์ แต่เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจของชาวเน็ตแฟน UFC ไม่แพ้ใคร แต่สถานะดังกล่าวยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อเขาคว่ำแม็คเกรเกอร์บนเวทีอย่างราบคาบ และเปิดศึกต่อกันนอกสังเวียน

    จากนักสู้ไร้พ่ายผู้เก่งกาจ ตอนนี้ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ กลายเป็นความภูมิใจของชาวรัสเซียในฐานะแชมป์ UFC ที่มาจากรัสเซียเป็นคนแรก, เขาเข้าพบประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ทันทีเมื่อคว้าเข็มขัดมาได้

    และไม่เท่านั้น คาบิบยังเป็นตัวแทนของศาสนาอิสลาม ในฐานะมุสลิมคนแรกที่คว้าแชมป์ในการแข่งขัน MMA ที่สหรัฐฯ ด้วย การต่อสู้ของคาบิบ กับ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน แต่การต่อสู้ของตัวแทนของมุสลิม และตัวแทนของคนผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วย แม้แต่ โจ โรแกน ผู้บรรยายเกมก็ยังยอมรับว่าการต่อสู้ระหว่างทั้งคู่คงจะไม่ได้จบแค่ในสังเวียน … “แต่มันจะลุกลามไปใหญ่โต ในหมู่คนมุสลิม และไอริส ในบาร์, ตามท้องถนน รวมถึงที่อื่นๆ ด้วย”

    ทำเงินก้อนใหญ่ด้วย “ซูเปอร์ไฟต์”

    ต้องยอมรับว่าความเก่งกาจ, ภาพลักษณ์นักกีฬาผู้ยอดเยี่ยม หรือความไร้เทียมทาน อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ขายดีที่สุดในวงการกีฬา โดยเฉพาะกีฬาแนวศิลปะป้องกันตัวอีกต่อไปแล้ว แต่คนที่มีความ “สุดโต่ง” บางอย่างอยู่ กลับกลายเป็นคนที่ได้รับความสนใจมากที่สุด

    ของการปั้นสตอรี และเรื่องของการสร้างอิมเมจ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ระหว่างมวยแก่วัย 40 ฟลอยด์ กับนักชกกรงเหล็กที่ไม่เคยผ่านสังเวียนมวยอาชีพอย่าง แม็คเกรเกอร์ ขาย Pay-Per-View ถึง 4.2 ล้านคน ได้อย่างเหลือเชื่อฟลอย์ สามารถทำเงินจากการต่อสู้ครั้งนั้นได้ถึง 200 ล้านเหรียญฯ (มากกว่ารายได้ต่อปี ของ เมสซี่ และ โรนัลโด ถึงเท่าตัว) จากการต่อสู้ครั้งนั้น ส่วน แม็คเกรเกอร์ ก็ทำเงินไปเหยียบ 90 ล้าน

    และทันทีที่คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ กลายเป็นแชมป์คนใหม่ เขาประกาศท้าทายว่าพร้อมแล้วที่จะขึ้นสังเวียนกับ “ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์” ทันที ส่วนทางตัวแทนของ UFC ก็เปรยว่าอาจจะมีการ “รีแมตช์” ของคาบิบ กับ คอเนอร์ ในเร็วๆ นี้ด้วยเหมือนกัน แน่นอนรวมถึงรีแมตช์ระหว่าง ฟลอยด์ และ คอเนอร์ ก็น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งด้วย

    ซูเปอร์ไฟต์เหล่านี้อาจจะไม่ได้มีความสมเหตุสมผลทางกีฬา, ไม่ได้ชิงแชมป์สำคัญใดๆ, นักกีฬาไม่จำเป็นต้องอยู่ในช่วงสุดยอดของตัวเองเองอีกแล้ว… แต่ความโด่งดัง, สตอรี และจุดขายพิเศษของเหล่านักสู้คือปัจจัยที่ทำให้ “ซูเปอร์ไฟต์” ลักษณะนี้ทำเงินอย่างมหาศาล และเป็นเกมที่ “พลาดไม่ได้” สำหรับผู้ชม

    ]]>
    1194676