ย้อนไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เวทีมวย “ไทยไฟท์” เริ่มต้นขึ้นในรูปแบบที่แปลกแหวกแนวไปจากตลาด เพราะมาพร้อมกับระบบแสงสีเสียงอลังการ แม้จะจัดแข่งเพียง 8 แมตช์ต่อปี แต่ได้รับความนิยมสูงและเรียกสปอนเซอร์ดึงเม็ดเงินได้หลักร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อทิศทางลมเปลี่ยนมาพร้อมกับโอกาส ทำให้ “นพพร วาทิน” ผู้จัดเวทีมวยไทยไฟท์ เห็นช่องทางต่อยอดมวยไทยให้เป็น Soft Power ระดับโลก
“ถ้าเดินแค่ในไทย โอกาสน้อย เราต้องมองให้ถึงต่างประเทศ ผลักดันลิขสิทธิ์ของไทยที่ขายไปให้คนอื่นซื้อ” นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่จะปั้นไทยไฟท์ให้ถึงระดับโลก “อังกฤษมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สหรัฐฯ มีอเมริกันฟุตบอล NFL เรามองแล้วกีฬามวยไทยของเราก็เป็นไปได้”
ก่อนจะก่อตั้งไทยไฟท์ นพพร วาทิน ไม่ใช่คนนอกวงการทั้งด้านคอนเทนต์และกีฬามวย เพราะเขาโลดแล่นเป็นเบื้องหลังการจัดละครและรายการทางโทรทัศน์มามาก ละครเรื่องที่ดังที่สุดที่เขาเป็นผู้จัดคือ “มือปืน” นำแสดงโดย หนุ่ย-อำพล ลำพูน และ นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช ออกฉายเมื่อปี 2542 รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มรายการ “ศึกจ้าวมวยไทย” ทางช่อง 3
อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นแล้วว่าวงการสื่อไทยเริ่มซบเซา เรตติ้งละครตกลง และเมื่อละครฉายจบ การต่อยอดหารายได้ก็ทำได้ยาก นพพรจึงเบนเข็มมามอง “กีฬามวยไทย” ซึ่งคนไทยชื่นชอบเป็นทุนเดิม เพียงแต่ขณะนั้นวงการกีฬามวยยังเป็นพื้นที่ ‘สีเทาๆ’ และการจัดการไม่ได้พัฒนาไปมาก เทียบกับต่างประเทศที่กีฬาต่อสู้มีส่วนผสมของความบันเทิงมากกว่า
ไอเดียการจัดเวทีมวย “ไทยไฟท์” จึงเริ่มขึ้น กลายเป็น “มวย+ความบันเทิง” ที่แปลกแตกต่างจากเดิม และไม่ได้ปักหลักเวทีถาวร ใช้วิธีเวียนจัดในสถานที่ใหม่ จังหวัดใหม่ รวมถึงในต่างประเทศ นับถึงปัจจุบันไทยไฟท์มีการจัดมาแล้วมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย
มวยไทยที่ดึงสปอนเซอร์รายใหญ่ได้
“เรากล้าลงทุนเวทีแสงสีเสียงอลังการ ใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทต่อแมตช์ รวมค่าถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งทำให้สปอนเซอร์กล้ามาลงกับเรา” นพพรกล่าวถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยไฟท์เกิดได้
“อีกอย่างคือเราทำให้มวยไทยเป็นกีฬาที่ผู้หญิงดูกันมากขึ้น เราดึง ‘เสน่ห์’ ของนักมวยแต่ละคนออกมา ทุกคนขึ้นเวทีต้องดูดี พิธีกรหน้าตาดี ซึ่งการมีผู้หญิงดูมวยด้วยนั้นสำคัญมาก เพราะแปลว่าเราได้ฐานคนดูเพิ่มมากกว่าเวทีอื่น”
ทุกเวทีไทยไฟท์ไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ทำให้มีคนดูเรือนหมื่นทุกครั้ง เวทีที่เคยมีคนดูมากที่สุดเป็นประวัติการณ์คือที่ “จ.ยะลา” มีคนเข้าชมกว่า 80,000 คน
เมื่อไม่มีการขายตั๋ว แหล่งรายได้หลักของไทยไฟท์จึงมาจาก “สปอนเซอร์” ซึ่งสามารถเรียกสปอนเซอร์มาได้ทั้ง เครื่องดื่มตราช้าง, PTTOR, อีซูซุ, ไทยประกันชีวิต ฯลฯ แพ็กเกจราคาสปอนเซอร์เริ่มตั้งแต่ 10 ล้านบาท สูงสุด 35 ล้านบาท
ถ้าเดินแค่ในไทย โอกาสน้อย เราต้องมองให้ถึงต่างประเทศ ผลักดันลิขสิทธิ์ของไทยที่ขายไปให้คนอื่นซื้อ…อังกฤษมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สหรัฐฯ มีอเมริกันฟุตบอล NFL เรามองแล้วกีฬามวยไทยของเราก็เป็นไปได้
รวมถึงมาจากการขาย “สินค้าเมอร์ชานไดซ์” หน้าอีเวนต์ เคยขายได้มากที่สุดในอีเวนต์เดียวคือที่ “จ.ปัตตานี” งานเดียวกวาดไป 24 ล้านบาท
นพพรกล่าวว่า แม้แต่ในช่วงโควิด-19 รายได้ไทยไฟท์ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากสัญญาสปอนเซอร์เป็นสัญญาระยะยาว และสปอนเซอร์ยังต้องการสนับสนุนต่อเนื่อง รอวันที่เวทีมวยจะกลับมาจัดได้ปกติ ทำให้บริษัทมีรายได้เฉลี่ย 400-500 ล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไรสุทธิถึง 60%
“ไทยไฟท์” Soft Power สู่ธุรกิจอื่น
ในโลกของคอนเทนต์มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง Soft Power ของเกาหลีใต้ ส่งออกซีรีส์ ภาพยนตร์ และดนตรี จนสามารถขายสินค้าอื่นตามมาได้อีกมาก
นพพรมองในมุมเดียวกันว่า วัฒนธรรมไทยมีความแข็งแรงพอที่จะเป็นสินค้าเช่นกัน โดยจะใช้ “มวยไทย” เป็นตัวนำในการส่งออกสินค้าอื่น เช่น อาหาร เครื่องดื่ม แหล่งท่องเที่ยว เชื่อว่ามวยไทยเข้าถึงคนทั่วโลกได้ เพราะกีฬาต่อสู้เป็น ‘สัญชาตญาณมนุษย์’ ทุกชาติชื่นชอบการต่อสู้ และมวยไทยเป็นการสู้ที่ ‘ถึงเลือดถึงเนื้อ’ ได้ใจคนดูได้ไม่ยาก อย่างที่เห็นว่าที่ผ่านมาเวทีไทยไฟท์ต่างประเทศมีจำนวนผู้ชมไม่แพ้ในไทย
ทำให้ตั้งแต่ปี 2566 กลยุทธ์ของไทยไฟท์จะเข้าสู่ “โลกออนไลน์” ที่ไปได้ทั่วโลก เริ่มบุกต่างประเทศชัดเจน และเริ่มเพิ่มสินค้าอื่นเพื่อใช้ประโยชน์จาก Soft Power แบ่งเป็น 4 หมวดธุรกิจ ดังนี้
1.ธุรกิจอีเวนต์ ลิขสิทธิ์ และการก่อตั้ง “ไทยไฟท์ลีก”
- อีเวนต์เวทีมวยของไทยไฟท์จะเริ่มปรับมามีเวทีถาวรที่ BEAT active ไบเทค บางนา (ร่วมทุนกับ กลุ่มภิรัชบุรี และพร้อมเปิดตัว 14 ธันวาคมนี้) จะจัดแข่งทุกวันเสาร์ มีแมตช์แข่งขัน 7-8 คู่ตลอดวัน
- เมื่อมีการแข่งขันต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเตรียมจัด “ไทยไฟท์ลีก” เพื่อให้เห็นคะแนนนักมวยชั้นนำของไทยที่ชัดเจน และนักกีฬาที่เข้าตาจะได้รับสัญญาเข้าค่ายไทยไฟท์
- นอกจากเวทีไทยที่ไบเทคแล้ว บริษัทยังมี “สัญญาลิขสิทธิ์การจัดไทยไฟท์ในต่างประเทศ” ด้วย เริ่มแห่งแรกที่ “จีน” กับบริษัท Shandong TV ในมณฑลซานตง ซึ่งจะมีเวทีมวยในเมืองจีน จัดถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ยาว 5 ปี โมเดลที่จีนจะเป็นโมเดลต้นแบบ และนพพรแย้มว่ามีประเทศอื่นๆ ที่สนใจซื้อลิขสิทธิ์อีก เช่น ตะวันออกกลาง
- พิจารณา “ขายลิขสิทธิ์ให้กับเว็บไซต์ด้านการพนันออนไลน์” ในต่างประเทศ เพื่อรับประโยชน์รายได้แทนการสูญเสียรายได้ให้กับเว็บไซต์ที่ใช้แบรนด์โดยไม่ได้รับอนุญาต
2.ธุรกิจสตรีมมิ่งออนไลน์
จากการตั้งเวทีมวยถาวรและจัดแข่งประจำ ทำให้ไทยไฟท์จะเริ่มตั้งระบบสตรีมมิ่งออนไลน์ เก็บค่าสมาชิกรายเดือน แฟนคลับรับชมได้ทางอินเทอร์เน็ตแทนการจัดถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ คาดว่าจะเริ่มเปิดระบบออนไลน์ได้ในปี 2567
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่คนไทยจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อชมสิ่งที่เคยชมฟรี นพพรมองว่าขึ้นอยู่กับการจัดโปรโมชันประโยชน์ที่ได้ให้คุ้มค่า เช่น สมาชิกได้สิทธิชิดขอบสังเวียนเมื่อเข้าชมที่เวทีมวย, ได้รับส่วนลดซื้อสินค้าเมอร์ชานไดซ์, สิทธิจับสลากชิงโชคเพื่อบินลัดฟ้าไปชมแมตช์แข่งขันต่างประเทศ
3.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ – โรงแรม ยิม ไลฟ์สไตล์
- ไทยไฟท์ร่วมกับ กลุ่มศรีชวาลา เปิดโรงแรมธีมมวยไทยแห่งแรกแล้วที่ “ไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุย” ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายในตกแต่งในสไตล์รีสอร์ตร่วมสมัย มีคลาสมวยไทย นวดและสปาไทย โรงแรมนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบในการรับจ้างบริหารด้วยเชนโรงแรมไทยไฟท์ พร้อมขยายทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ชมคลิปรีวิวโรงแรมไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุยบน TikTok ที่นี่)
- ขยาย “ยิมมวย ไทยไฟท์” ไปทั่วประเทศด้วยโมเดลแฟรนไชส์ เชื่อว่าสามารถขยายได้ 40-50 สาขาภายในปี 2566 เนื่องจากแบรนด์ไทยไฟท์มีความแข็งแรง และกีฬามวยเองเป็นการออกกำลังกายที่คนรุ่นใหม่นิยมมากขึ้น เพราะช่วยลดน้ำหนักดี เป็นประโยชน์ด้านการป้องกันตัว
- แหล่งไลฟ์สไตล์มวยไทย บริเวณด้านหน้าตึกแดง ตลาดนัดจตุจักร ลงทุน 40-50 ล้านบาทเพื่อสร้างยิมมวย แหล่งไลฟ์สไตล์ความเป็นไทยที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวย เป็นแม่เหล็กใหม่ในด้านการท่องเที่ยว
4.ธุรกิจสินค้าค้าปลีก เช่น เมอร์ชานไดซ์ เครื่องดื่ม
- เมอร์ชานไดซ์ จากการแข่งขันไทยไฟท์ จะมีการขยายให้มากกว่า 300 SKUs จากปัจจุบันที่มีจำหน่าย เช่น เสื้อโปโล กางเกงมวย นวมชกมวย กระสอบทราย
- ลุยตลาด “เครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์” ผ่านการใช้แบรนด์ไทยไฟท์ และร่วมกับเซเลปวงการมวยในค่าย เชื่อว่าจะสามารถชิงตลาดมาได้ โดยเตรียมร่วมทุนกับผู้ผลิตเครื่องดื่มรายหนึ่ง วางกำหนดจำหน่ายกลางปี 2566
เตรียมเปิด IPO ปี 2567
ดังที่เห็นตามแผนงานของไทยไฟท์ จากเวทีมวยที่จัดปีละ 8 ครั้ง จะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งการจัดแข่งขันและการทำธุรกิจต่อยอด รวมถึงแผนของนพพรยังต้องการจะดันไทยไฟท์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2567 ด้วย
นพพรกล่าวว่า วิสัยทัศน์การเข้าตลาด SET ไม่ได้ติดปัญหาด้านเงินทุน การลงทุนในอนาคตของไทยไฟท์หลักๆ จะเป็นเรื่องระบบสตรีมมิ่ง แต่ประเด็นที่ต้องเป็นบริษัทมหาชน เพราะหากจะส่ง Soft Power ไทยไปให้ไกลระดับโลกผ่านการเจรจาลิขสิทธิ์หรือการเสนอรับจ้างบริหารโรงแรมในต่างประเทศ ความน่าเชื่อถือของบริษัทจะเป็นใบเบิกทางสำคัญ
“การสร้างแบรนด์คือการสร้างความเชื่อ ให้เขาเชื่อว่าเรามีศักยภาพ ให้เห็นชัดว่าเราทำได้จริง” นพพรกล่าวปิดท้าย