ขนม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 31 Oct 2024 12:24:36 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ขนม-ของทานเล่นไทยมาแรง ส่งออก 8 เดือน กวาดรายได้กว่า 583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ https://positioningmag.com/1496825 Thu, 31 Oct 2024 08:01:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1496825 การบริโภคของทานเล่นหรือสแน็ค (Snacks) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นอาหารที่บริโภคง่าย ตอบโจทย์พฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการตัวช่วยในการสร้างความเพลิดเพลินในระหว่างทำงาน

ข้อมูลจาก Global Trade Atlas (GTA) พบว่า ในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสแน็ค(คัดเลือกและจัดกลุ่มสินค้าโดย สนค. เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพสินค้า) ประมาณ 1,954.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.8% จากปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปที่ จีน 18.1% ของมูลค่าการส่งออกสแน็คของไทย สหรัฐอเมริกา 15.3% ออสเตรเลีย 7.0%  กัมพูชา 5.3% และเวียดนาม 5.0%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2567) ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารว่างและของทานเล่นไปตลาดโลก มูลค่า 583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เบเกอรี่และขนมขบเคี้ยว สัดส่วน 69% ของการส่งออกอาหารว่างทั้งหมด ขนมที่ทำจากน้ำตาล สัดส่วน 20% และขนมปรุงแต่งจากโกโก้ สัดส่วน 11%

โดยมี อาเซียน เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอาหารว่างของไทยไปอาเซียนรวมกันถึง 36% ของการส่งออกสินค้าอาหารว่างทั้งหมด ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ตามด้วยสหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

นอกจากนั้นสินค้ากลุ่มอาหารว่างและของทานเล่นของไทย ยังได้รับความนิยมสูงในตลาดคู่ค้า FTA เช่นกัน โดยในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2567) ไทยส่งออกสินค้าอาหารว่างและของทานเล่นไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 64% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มของว่างและของทานเล่นของไทยทั้งหมด

ซึ่งตลาดคู่ค้า FTA ที่ขยายตัวดี ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว 8% จีน ขยายตัว 6% ออสเตรเลีย ขยายตัว 7% ญี่ปุ่น ขยายตัว 33% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 11%

ปัจจุบันสินค้ากลุ่มของว่างทานเล่นของไทยทุกรายการ (พิกัดศุลกากร 1704 18 และ 1905) สามารถส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA 14 ประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และชิลี

ส่วน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว แต่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ อาทิ ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าขนมปังกรอบ 0.3% บิสกิตหวาน 20.4% และแครกเกอร์และคุกกี้ 15% และ เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าขนมปังกรอบ 5% และเบเกอรี่ ระหว่าง 5-8% เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า จากงานวิจัยของ Mordor Intelligence มีการคาดการณ์ว่า ตลาดกลุ่มอาหารว่าง จะมีมูลค่าถึง 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2571 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึง 17% ต่อปีอีกด้วย

ที่มา : กรมเจจาการค้าระหว่างประเทศ

]]>
1496825
คุยกับ “สวีทชิว” เบื้องหลัง “ขนมอบแห้ง” ใน “ร้านกาแฟ” จับช่องว่างขึ้นแท่นเบอร์ 1 ของตลาด https://positioningmag.com/1387689 Fri, 03 Jun 2022 16:26:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387689 ใครจะคิดว่าตลาด “ขนมอบแห้ง” ใน “ร้านกาแฟ” จะสามารถทำเงินให้กับ SMEs รายหนึ่งได้หลายสิบล้านบาท แต่บริษัท “สวีทชิว” เล็งเห็น pain point นั้นของร้านกาแฟ และนำเสนอสินค้าได้ถูกจุดจนสามารถเป็นเบอร์ 1 ของตลาด เหลือเชนร้านกาแฟน้อยมากในไทยที่ยังไม่มีสินค้าจากสวีทชิววางขาย

เมื่อนึกถึงขนมใน “ร้านกาแฟ” ทุกคนจะนึกถึงเบเกอรี่สด เช่น เค้ก ขนมปัง ครัวซองต์ ก่อนเป็นอันดับแรก แต่จริงๆ แล้วเบเกอรี่สดเหล่านี้ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกโอกาสในการดื่มกาแฟ ลองนึกถึงวันที่คุณแค่อยากแวะซื้อกาแฟยามเช้าระหว่างไปทำงาน หรือไม่ได้อยากทานเบเกอรี่หนักๆ ขนมที่จะตอบโจทย์โอกาสเหล่านี้มากกว่าจึงกลายเป็นขนมอบแห้ง

บริษัท สวีทชิว บาย เอ็ม เอ็น จำกัด เป็นบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสในจุดนี้ และเข้าไปนำเสนอข้อดีของการขายขนมอบแห้งภายในร้านกาแฟ ภายในเวลา 3 ปีสวีทชิวกลายเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในกลุ่มตลาดที่เรียกว่า Ambient Café Bakery หรือเบเกอรี่ที่ขายเป็นส่วนเสริมในร้านกาแฟ แม้ตลาดจะเล็กโดยคาดว่าจะมีมูลค่า 110 ล้านบาทในปีนี้ แต่โอกาสเติบโตสูงตามขนาดตลาดร้านกาแฟที่โตปีละ 9.5%

“พัทนุช ซ้ายขวัญ” ผู้ก่อตั้งบริษัท และ “วิศรุต สุคนธ์พงเผ่า” กรรมการบริหารและพาร์ตเนอร์ บริษัท สวีทชิว บาย เอ็ม เอ็น จำกัด

บริษัทนี้เริ่มก่อตั้งโดย “พัทนุช ซ้ายขวัญ” เมื่อปี 2557 ก่อนที่ “วิศรุต สุคนธ์พงเผ่า” จะเข้ามาเป็นกรรมการบริหารและพาร์ตเนอร์ในปี 2560 และเป็นผู้ช่วยปั้นบริษัทให้เข้มแข็งขึ้น

วิศรุตแนะนำบริษัทว่า ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายกับเชนร้านกาแฟในไทยเกือบทุกเจ้า โดยเหลือเพียง 4 เชนใหญ่ที่ยังไม่มีสัญญาร่วมกัน

เชนร้านกาแฟใหญ่ที่สร้างรายได้ให้บริษัทมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Café Amazon, อินทนิล และ กาแฟพันธุ์ไทย นอกจากนี้ยังมีขายใน Mezzo, Chao Doi, ดอยช้าง, Southern Coffee, Coffee Today, Coffee Journey ฯลฯ เรียกว่าสวีทชิวส่งสินค้าเข้าไปอยู่ในร้านกาแฟแทบทุกปั๊มน้ำมันทั่วไทย

สวีทชิว ร้านกาแฟ ขนมอบแห้ง
ขนมของสวีทชิววางขายในเชนร้านกาแฟต่างๆ

ขนมของสวีทชิว (Sweetchew) ที่เป็นตัวชูโรงมี 3 สินค้าหลัก คือ สตรูปวาฟเฟิล (Stroopwafel) เป็นขนมวาฟเฟิลไส้คาราเมลแบบเนเธอร์แลนด์, Brownie Crisp’s บราวนี่อบกรอบ และล่าสุดคือ คาราเมล คอร์นเฟลกส์ ราคาขาย 30-40 บาทต่อชิ้น รวมถึงมีการรับจ้างผลิตสินค้า OEM ให้แบรนด์ของร้านกาแฟเชน

ปัจจุบันบริษัทจึงทำรายได้ 55% มาจากการ OEM และ 45% จากแบรนด์ตนเอง ดังนั้น แม้จะไม่เห็นแบรนด์สวีทชิว แต่นั่นอาจจะเป็นการผลิตจากบริษัทนี่เอง

 

ทำไม “ขนมอบแห้ง” จึงตอบโจทย์ร้านกาแฟ

ย้อนไปที่ pain point ของลูกค้าร้านกาแฟ วิศรุตชี้ให้เห็นว่าหลายครั้งลูกค้าเพียงต้องการขนมที่หยิบทานง่าย พกพาง่าย เพราะมาซื้อกาแฟแบบ Grab & Go แต่ขนมนั้นก็ต้องผลิตมาให้เข้ากับการดื่มกาแฟด้วยเช่นกัน ซึ่งสินค้าของบริษัทตัวแรกคือสตรูปวาฟเฟิลเป็นขนมดั้งเดิมของดัตช์ที่ผลิตมาใช้ทานคู่กับกาแฟดำโดยเฉพาะ จะมีความหวานสูงตัดรสขมของกาแฟ ขณะที่ขนมตัวต่อๆ มา เช่น บราวนี่กรอบ ก็เป็นการเลียนแบบรสชาติบราวนี่สดแต่มาในสัมผัสกรุบกรอบที่ยังเข้ากันกับกาแฟอยู่

สวีทชิว ร้านกาแฟ ขนมอบแห้ง
สตรูปวาฟเฟิล ขนมจากเนเธอร์แลนด์ สินค้าชูโรงของบริษัท

อีกส่วนหนึ่งคือ pain point ของร้านกาแฟเอง ร้านกาแฟต้องการจะเพิ่มการใช้จ่ายต่อบิลให้มากขึ้นด้วยขนมทานคู่กับกาแฟ แต่ขณะเดียวกันเบเกอรี่สดก็เป็นสิ่งที่บริหารจัดการยาก ด้วยอายุของอาหาร การจัดเก็บ การขนส่งที่ต้องระมัดระวัง การมีขนมอบแห้งเป็นทางเลือกจึงสะดวกกว่า เพราะเก็บได้นาน 1 ปี และไม่ต้องระวังการขนส่งมากนัก

นั่นเป็นสาเหตุให้เชนร้านกาแฟส่วนใหญ่ตอบรับข้อเสนอของสวีทชิว รวมถึงร้านกาแฟท้องถิ่นที่ไม่มีสาขาก็มีการสั่งออนไลน์เพื่อนำไปขายในร้านเช่นกัน

 

รายใหญ่ไม่เล่น เป็นโอกาส SMEs

วิศรุตกล่าวต่อว่า โอกาสในตลาด Ambient Café Bakery มีสูงสำหรับสวีทชิว เพราะเป็นตลาดเล็กเพียงหลักร้อยล้านบาท ทำให้รายใหญ่ไม่สนใจเข้าตลาด ขณะเดียวกัน SMEs ก็มีน้อยรายที่มีมาตรฐานการผลิตเพียงพอ โดยสวีทชิวกำลังอยู่ระหว่างขอรับการรับรองมาตรฐาน FSSC 22000 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก เป็นที่ยอมรับในยุโรป

สวีทชิว ร้านกาแฟ ขนมอบแห้ง
บราวนี่อบกรอบ

ในอีกมุมหนึ่ง ขนมอบแห้งนั้นเป็นสินค้าที่มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น คุกกี้ เวเฟอร์ บิสกิต แต่เชนร้านกาแฟยังเลือกใช้สวีทชิวเพราะบริษัทพัฒนาสูตรขนม แพ็กเกจจิ้ง ขนาดทาน ให้เหมาะกับร้านกาแฟโดยเฉพาะ และการ OEM ก็ปรับสูตรตามที่ร้านกาแฟคู่สัญญาต้องการได้ด้วย ทำให้ได้เปรียบในตลาด

มาตรฐาน FSSC 22000 ยังน่าจะทำให้สวีทชิวเปิดตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย จากปัจจุบันมีส่งขายอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ และคิดเป็นสัดส่วน 5% ของรายได้บริษัท หากได้มาตรฐานดังกล่าวมา จะทำให้บริษัทเข้าจำหน่ายในประเทศต่างๆ ที่มีความเข้มงวดได้ง่ายขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ตั้งแต่ปี 2566

 

ธุรกิจที่เกิดจากโชคชะตาและความพยายาม

การที่บริษัทเริ่มต้นด้วยขนมจากเนเธอร์แลนด์ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะต้องเข้ามาสร้างการเรียนรู้ (educate) ให้ผู้บริโภค แต่ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจาก “พัทนุช” ผู้ก่อตั้งหญิงของแบรนด์ อดีตสามีของเธอเป็นชาวดัตช์ และสามีมองเห็นโอกาสที่จะนำขนมสตรูปวาฟเฟิลมาขายในไทย

เดิมทีอดีตคู่สามีภรรยามีการนำเข้าเครื่องทำขนมสตรูปวาฟเฟิลมาเพื่อผลิตเอง แต่วัตถุดิบในไทยที่ไม่เหมือนกับยุโรปและการหาสูตรที่ลงตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้พบปัญหาตั้งแต่ครั้งยังไปออกร้านขายใน Farmer’s Market สุดท้ายพัทนุชจึงตัดสินใจว่าต้องนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์โดยตรงแต่มาแยกบรรจุที่ประเทศไทย

สวีทชิว ร้านกาแฟ ขนมอบแห้ง
สตรูปวาฟเฟิลเป็นขนมที่คนไทยไม่คุ้นชิน ต้องใช้การ educate ตลาด

การมาแยกบรรจุทำให้เธอได้พบกับ “วิศรุต” ซึ่งกำลังล้มลุกกับธุรกิจเต้าหู้กรอบแบรนด์ “โยฟุ” อยู่ เธอว่าจ้างโรงงานของวิศรุตในการบรรจุสตรูปวาฟเฟิล แต่ด้วยไม่มีประสบการณ์ทางธุรกิจ ทำให้ขนมของเธอขายได้แต่บริษัทขาดทุน และยังเผชิญมรสุมชีวิตกับการหย่าร้างอีก

ระหว่างนั้น วิศรุตที่เริ่มยอมรับว่าธุรกิจเต้าหู้กรอบไม่น่าไปรอด ขณะที่สตรูปวาฟเฟิลของพัทนุชที่จริงแล้วมีเส้นทางธุรกิจ ยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องบริหารจัดการให้ดี จึงตกลงกันที่จะร่วมกันทำธุรกิจนี้ ถึงแม้ว่าธุรกิจเต้าหู้กรอบจะไม่สำเร็จ แต่ก่อนหน้านั้นวิศรุตค้าขายมาหลายสินค้า ตั้งแต่อาหารแช่แข็งถึงชานมไข่มุก และรู้จักกันมาตั้งแต่วันแรกที่เธอเริ่มนำเข้าสินค้า ทำให้พัทนุชมองว่าวิศรุตจะสามารถช่วยกอบกู้ธุรกิจได้

แบรนด์คู่ค้าของสวีทชิวทั้งหมด

หลังจากนั้น 2 ปี บริษัทเริ่มเป็นระบบมากขึ้น และปิดดีลเข้าไปขายในเชนใหญ่แห่งแรกคือ Café Amazon ได้สำเร็จ จากนั้นมีเชนอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทำให้เมื่อปี 2564 บริษัทมีรายได้แตะ 40 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าปีนี้จะไปแตะ 60-70 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 51% ได้สำเร็จ

“ในอีก 3 ปีเราต้องการจะเป็นเลิศในด้าน Ambient Café Bakery มีมาตรฐานการผลิตสูงสุดในตลาด ได้รับการรับรองทุกมาตรฐานสินค้าอาหาร เพื่อให้เราส่งออกได้ทั่วโลก” วิศรุตกล่าว

]]>
1387689
ตำนาน ‘เจ้าสัว’ ข้าวตังพันล้านจากโคราช รีแบรนด์สลัดภาพ ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก https://positioningmag.com/1323010 Thu, 18 Mar 2021 11:14:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323010 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2501 บ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโคราช เริ่มทำหมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ส่งขายในท้องถิ่นจนเป็นที่เลื่องลือในรสชาติ ได้โอกาสขยายกิจการต่อ ด้วยการเปิดร้านขายของฝากในชื่อว่าเตียหงี่เฮียง

จากความอร่อยที่บอกเล่าปากต่อปาก ทำให้สินค้าของเตียหงี่เฮียง กลายเป็นของเด็ดที่เหล่านักท่องเที่ยวและผู้สัญจรไปมาต้องแวะซื้อ

หลายปีผ่านไป แม้กิจการร้านขายของฝากจะไปได้สวย แต่ก็เริ่มมีคู่เเข่งทำผลิตภัณฑ์เดียวกันออกมา ทำให้ทายาทรุ่นสองต้องคิดหา ‘เมนูชูโรง’ เพื่อสร้างความแตกต่าง จึงนำมาสู่การเปิดตัวข้าวตังหมูหยอง ขึ้นในปี 2531 และเริ่มขยายตลาดไปวางขายในหลายจังหวัด รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเตียหงี่เฮียงกลายเป็นชื่อจดจำได้ยากและดูไม่ทันสมัย ทางครอบครัวจึงตกลงกันเปลี่ยนชื่อใหม่ให้จำง่ายและคุ้นหูกันมากขึ้น โดยใช้ชื่อแบรนด์ใหม่นี้ว่าเจ้าสัวนับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

และวันนี้เจ้าสัวการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวครั้งสำคัญก็มาเยือนอีกครั้ง ภายใต้การนำของทายาทรุ่นสาม กับการรีแบรนด์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เปลี่ยนภาพลักษณ์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น พร้อมใช้พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรกในรอบ 63 ปี 

ก้าวออกจาก ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก

ณภัทร โมรินทร์’ หรือ กิ๊ฟ เริ่มเรียนรู้การทำงานในกิจการของครอบครัว มามากกว่า 10 ปี จากฝ่ายเซลส์ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเป็นซีอีโอ แบรนด์เจ้าสัวท่ามกลางความท้าทาย หลังธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด

เธอยอมรับว่า การที่ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงนั้นมีผลต่อการวางแผนธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ไม่น้อย แต่ก็ทำให้รู้ว่าทิศทางต่อไปของ แบรนด์เจ้าสัวจะไม่เป็นแค่ร้านขายของฝากที่รอให้คนมาซื้ออีกต่อไป แต่จะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

จากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เร่งรีบ แข่งกับเวลา และคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น แม้จะเป็นอาหารทานเล่นหรือของขบเคี้ยวก็ตาม อีกทั้งตลาดในไทยยังมีของว่างทานเล่น ประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป’ ที่อร่อยและมีประโยชน์ทางสารอาหาร สามารถทานรองท้องระหว่างมื้อได้ ‘ไม่มากนัก’ 

จึงเป็นช่องว่างตลาดที่เจ้าสัวจะปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากสินค้าของฝากสู่สินค้าอาหารที่ทานได้ทุกวัน ในรูปแบบสแน็ก และ Ready to eat และ Ready to cook meal ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาของว่างเพื่อรองท้อง รวมไปถึงอาหารที่สามารถปรุงง่าย ๆ หรือพร้อมทานได้ที่บ้าน ช่วยประหยัดเวลา และดีต่อสุขภาพ

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตีย หงี่ เฮียง จำกัด เจ้าของแบรนด์เจ้าสัว

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสของตลาดสแน็กในประเทศไทย ที่มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสแน็ก ที่เป็น Meat หรือเนื้อสัตว์นั้น กลับมีมูลค่ารวมตอนนี้เพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น และผู้ประกอบการคู่แข่งยังน้อยจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

ทั้งนี้ กลุ่มสแน็กที่เป็นเนื้อสัตว์ ตอนนี้มีแบรนด์อองเทร่ของเจ้าใหญ่อย่าง ส. ขอนแก่นครองตลาดอยู่

เบรกขยายสาขา หันมาบุกโมเดิร์นเทรด’

ในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวจะหายไปอย่างมาก แต่จากการที่แบรนด์ได้ ปรับกลยุทธ์รองรับ โดยเฉพาะการขยายช่องทางจำหน่าย จากเดิมที่เน้นเพิ่มสาขา เปลี่ยนมาเป็นบุกโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำต่างๆ ทำให้ยอดขายรวมของปีที่แล้วเติบโต 15% และมีรายได้รวมเกินหลักพันล้านบาทเป็นครั้งแรก

ปีนี้เราตั้งเป้าจะเติบโตถึง 30% จากการรุกตลาดขนมขบเคี้ยวเต็มตัว ทำตลาดทุกช่องทางเพื่อปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย พกพาง่าย ออกสินค้าเละปรับราคาใหม่ ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากที่สุด

ปัจจุบันร้านของฝากเจ้าสัว  มีจำนวนกว่า 100 สาขา แบ่งเป็นร้านค้าของตัวเอง (Stand Alone) ประมาณ 14 สาขา และแฟรนไชส์ 80 กว่าสาขา กระจายอยู่ในปั๊มนำ้มันปตท. ทั่วประเทศ พร้อมช่องทางออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลส โดยมีผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มไลน์โปรดักต์ ได้แก่ 

กลุ่มขนมทานเล่น สัดส่วนรายได้ 50% 

ของว่างรองท้อง ได้แก่ ข้าวตัง, ข้าวแต๋น ราคาตั้งแต่ 20-60 บาท

ของว่างทานเพลิน ได้แก่ หมูแผ่นกรอบ, หมูแท่งกรอบ และหมูทุบ ราคาตั้งแต่ 30-110 บาท

กลุ่มอาหาร สัดส่วนรายได้ 50%

อาหารพร้อมปรุง ได้แก่ กุนเชียง, หมูยอ, แหนม และไส้กรอกอีสาน ราคาตั้งแต่ 39-209 บาท

อาหารพร้อมรับประทาน ได้แก่ หมูหยอง, หมูแผ่นใหญ่

สำหรับสินค้าขายดีที่สุดของแบรนด์เจ้าสัวก็คือเบอร์หนึ่งอย่างข้าวตังตามมาด้วย หมูหยองและหมูแผ่น

ด้านการส่งออกไปต่างประเทศจะเน้นไปที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ ขณะที่ตลาดในยุโรปนั้น ยังติดข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าที่ทำจากเนื้อหมู จึงจะหันไปเน้นส่งสินค้ากลุ่มธัญพืชอบกรอบไปทำตลาดแทน

เมื่อถามถึงผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือ Plant-based ที่กำลังเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ที่มีผู้ผลิตอาหารหลายเจ้าลงมาเล่นในตลาดนี้ ผู้บริหารแบรนด์เจ้าสัว ตอบว่ามีแผนการจะพัฒนากลุ่มสินค้า Plant-based ในเร็วๆ นี้

ทุ่ม 100 ล้าน พลิกโฉมใหม่รอบ 63 ปี

สิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการ แบรนด์เจ้าสัว บอกว่า ตลอดทั้งปี 2564 บริษัทตั้งงบประมาณไว้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อลุยทำการตลาดและขยับขยายธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ที่สุด ไม่เคยทำขนาดนี้มาก่อน นับตั้งแต่เปิดกิจการมากว่า 63 ปี

โดยจะสื่อสารรอบด้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งโปรโมตผ่านหนังโฆษณาถึง 3 เรื่องในปีนี้

จากแผนการโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ และครอบครัวสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการเลือกครอบครัวของ ลีเดีย ศรัณย์รัชต์แมทธิว น้องดีแลนและน้องเดมี่ ดีน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่อบอุ่น เข้าถึงง่าย ทันสมัยและใส่ใจในสุขภาพ

“แบรนด์เจ้าสัวเป็นแบรนด์ที่มีลูกค้าคนไทยเป็นหลัก แต่ในอนาคต หลังการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาปกติ เราก็หวังจะเป็นแบรนด์ที่ชาวต่างชาติหิ้วกลับบ้าน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน

สำหรับกลยุทธ์หลัก ๆ ที่จะนำพาให้แบรนด์เจ้าสัวเติบโตได้แบบก้าวกระโดดในช่วง 3-5 ปีนี้ สิริณัฏฐ์ สรุปให้ฟังว่า

  1. ปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการใช้พรีเซ็นเตอร์ การไปอยู่ในสายตาของผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ ทั้ง
    โซเชียลมีเดียและสื่อนอกบ้าน
  2. ออกสินค้าให้หลากหลาย โดยตั้งเป้าจะจะมีสินค้าใหม่ 8-10 ตัวต่อปี เพิ่มปัจจุบันที่มีอยู่ราว 300 SKU พร้อมกับปรับไซส์และราคา ให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
  3. ขยายช่องทางการขายเพิ่มขึ้น เน้นเข้าไปกระจายในโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย โดยปีนี้จะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มในประเทศไทย แต่จะมีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาโอกาสขยายตลาดในอาเซียนมากขึ้น
  4. ลงทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ ในพื้นที่เดิมที่จังหวัดนครราชสีมา นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นอีก 40% รวมถึงทุ่มงบในระบบหลังบ้านเพื่อให้ทันยุคดิจิทัล

ต้องจับตาดูว่าการรีแบรนด์ของเจ้าสัว จากของฝากท้องถิ่น สู่ตลาดอาหารพร้อมทานอยู่ใกล้ๆ ในชีวิตประจำวัน จะสร้างอิมแพคในใจผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน

 

]]>
1323010
อ่าน 5 เรื่องราวของ Iced Gem Biscuits “ขนมหัวจุก” สุดฮิตในวัยเด็ก ที่มาไกลกว่า “ขนมปี๊บ” https://positioningmag.com/1298786 Fri, 25 Sep 2020 11:20:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298786 เมื่อพูด “Iced Gem Biscuits” หลายคนอาจจะงงๆ เเต่เมื่อเห็นรูปเเล้วก็ต้องร้องอ่อกันเลยทีเดียว เพราะมันคือขนมหวานในวัยเด็ก ที่เราเรียกกันติดปากว่า ขนมเม็ดพลอย หรือขนมหัวจุกนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ที่มาเเละเรื่องราวของเจ้า Iced Gem Biscuits ก็ไม่ธรรมดา เพราะเป็นขนมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาหลายทศวรรษ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากฝั่งยุโรป เเต่มาฮอตฮิตในฝั่งเอเชีย

วันนี้ เรามารู้จักขนมหัวจุกกันให้มากขึ้นกัน

1.ไม่ได้มาจากสิงคโปร์นะจ๊ะ…พี่มาจาก “อังกฤษ” 

บางทีเราอาจจะคลับคล้ายคลับคลาว่า Iced Gem Biscuits สีสันสดใสเหล่านี้ มาจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรา อย่างสิงคโปร์หรือไม่นะ เพราะเป็นที่นิยมในเเถบนั้นเหลือเกิน เเต่ที่จริงเเล้วมันมีจุดกำเนิดในประเทศอังกฤษ เเถมยังถูกผลิตขึ้นมาอย่าง “ไม่ได้ตั้งใจ” โดยโรงงานผลิตขนมปังกรอบท่ี่มีชื่อว่า Huntley and Palmer ตั้งอยู่ในเมืองเรดิง

โดยในปี 1850 ได้เริ่มทดลองทำขนมปังกรอบด้วยเทคโนโลยีใหม่ (ในขณะนั้น) ทำให้ขนมดังกล่าวมีการหดตัวเล็กลง เริ่มเเรกของ Iced Gem Biscuits ก็มีเเต่ส่วนด้านล่างที่เป็นบิสกิตเท่านั้น ส่วนน้ำตาลไอซิ่งด้านบน ถูกเพิ่มเข้าไปในปี 1910 หลังจากนั้นได้เเพร่หลายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย

2. ขายทั่วไปในหลายประเทศ

เราจะได้เห็น “ขนมหัวจุก” นี้วางขายทั่วไปในหลายประเทศ อย่างไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ เเละอังกฤษ บางประเทศยังใช้เป็นขนมรับขวัญเด็กเกิดใหม่อีกด้วย ซึ่งก็มีแบรนด์ดังๆ สร้างสรรค์ Iced Gem Biscuits ขึ้นมาในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เช่น Jacobs, McVitie’s , Rich Garden เเละ Khong Guan แต่ในประเทศไทยกลายเป็น “ขนมปี๊บในตำนาน” ไปเเล้ว

Iced Gem biscuits ในไทยเรียกว่า ขนมหัวจุก หรือขนมเม็ดพลอย

3. สีของ “ท็อปปิ้ง” จะต่างกันตามเทรนด์ของประเทศต่างๆ

ส่วนของท็อปปิ้งที่เป็นน้ำตาลไอซิ่งนั้น นอกจากจะมีการดีไซน์ที่เเตกต่างกันเเล้ว จุดเด่นก็คือเรื่อง “สี” ที่จะไม่เหมือนกันในเเต่ละประเทศด้วย โดยในสิงคโปร์เเละไทยจะเน้นสีสดๆ เข้มๆ ส่วนของอังกฤษจะเป็นสีพื้นๆ ออกพาสเทล ซึ่งของสิงคโปร์จะมีรสชาติออกเปรี้ยว ๆ ด้วย เป็นรสมะนาวเเละรสผลไม้ต่างๆ

4. สูตรดั้งเดิมของ Iced Gem Biscuits

สำหรับสูตรดั้งเดิมของ Iced Gem Biscuits นั้น ส่วนบิสกิตจะทำมาจากแป้งสาลี ผสมกับเนยจืด ไข่ น้ำตาล ไซรัปและเกลือ ส่วนตัวไอซิ่งทำจาก Meringue Powder (ผงไข่ขาวแห้งผสมกับน้ำตาลไอซิ่งเเละน้ำสะอาด

5. มีเเฟนเพจ Facebook อย่างเป็นทางการ

ความโด่งดังของ Iced Gem biscuits ในเอเชียนั้นไม่ธรรมดา เมื่อถึงขั้นมีเพจใน Facebook ที่มีคนติดตามเกือบ 7 เเสนคนเเล้ว ซึ่งเพจนี้ดูเเลโดยบริษัท Ritz Food Corporation ของฟิลิปปินส์ ที่เป็นเจ้าของเเบรนด์เบเกอรี่ดังๆ อย่าง Rich Garden เเละ Khong Guan นั่นเอง

สีสันสดใส ทำให้คิดถึงวัยเด็กเเบบนี้…คงต้องหา ขนมหัวจุก” มาชิมกันอีกครั้งบ้างเเล้ว 

Photo : facebook.com/icedgembiscuits

 

ที่มา : Straitstimes

 

]]>
1298786
พลิกกลยุทธ์หารายได้ จัด “เซตพร้อมทำ DIY” ให้ลูกค้าทำเอง ปลุกความเป็นเชฟช่วงกักตัว https://positioningmag.com/1276028 Wed, 29 Apr 2020 13:04:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276028 ในยามที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ นอกจากจะปลุกสายครีเอทในตัวคุณในเเอปฯ ยอดฮิตอย่าง TikTok เเล้ว สาย Food Lover ก็ปังไม่เเพ้กัน ออกมาปลุก “ความเป็นเชฟ” ในตัวคุณด้วยการทำอาหารกินเองที่บ้าน บางคนฝีมือดีจนถึงขั้นต่อยอดทำขายออนไลน์ หารายได้เสริมช่วงนี้เลยก็มี

เเต่การทำอาหารเองที่บ้านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ออกไปหาซื้อวัตถุดิบยามนี้ก็ยากเเสนยาก เเถมยังเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 บางเมนูต้องมีขั้นตอนการผสมที่ซับซ้อนเเละต้องมีสูตรเฉพาะถึงจะอร่อย

ปัญหาเหล่านี้ทำให้เหล่าร้านขนม “ปิ๊งไอเดีย” ออกเเพ็กเกจรวมวัตถุดิบเเบบ DIY จัดส่งเดลิเวอรี่ให้ถึงบ้าน ให้เราสามารถทำขนมเบื้อง โตเกียว เเพนเค้ก ไปจนถึงบัวลอย ได้เองเเบบง่ายๆ ใช้เวลานิดเดียวเเถมเเก้เหงาได้ด้วย

นับเป็นกลยุทธ์ “เพิ่มยอดขาย” ต่อลมหายใจธุรกิจในช่วงที่ร้านยังให้บริการหน้าร้านไม่ได้ จัด “เซตพร้อมทำ” ตอบโจทย์ Pain Point ของลูกค้าได้ดียิ่ง ในช่วงเวลาที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ใครที่ทำธุรกิจเเนวๆ นี้อยู่อาจจะลองนำไอเดียไปประยุกต์ใช้ได้

ขนมเบื้องเเยกร่าง

เริ่มต้นด้วยการมาลองทำ “ขนมเบื้อง” ด้วยตนเอง กับร้าน ขนมเบื้อง BBC ป้าจี๊ดเจ้าเก่า เป็นเจ้าดังที่มีชื่อเสียงมานาน นับเป็นร้านขนมเบื้องแยกเครื่องร้านแรกๆ ที่เดินเกมตลาดเเนวนี้ โดยจัดทำขายเป็นเซตพร้อมทำ ทั้งเครื่องเเละไส้ต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกตามใจชอบ

ขนมเบื้อง BBC ป้าจี๊ดเจ้าเก่า

อีกเจ้าน่าสนใจไม่เเพ้กันคือ ขนมเบื้อง D.I.Y byeatsii มีให้เลือกทั้งไส้หวานและเค็ม ภายใน 1 เซต มีวัตถุดิบ 3 กล่อง คือ แป้ง-ครีม-ไส้ ชูจุดเด่นประกอบกินกินเองได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้านที่ปรับตัวมาขาย “ขนมเบื้องเเยกร่าง” ทางออนไลน์ ค้นหาได้ตามเเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ขนมเบื้อง D.I.Y byeatsii

สานฝันวัยเด็ก ทำ “ขนมโตเกียว” กินเอง

ตอนเด็กๆ ใครอยากทำขนมโตเกียวเองบ้าง ช่วงนี้เเหละคือโอกาส เพราะเริ่มมีบริการเซตขนมโตเกียว DIY ส่งเดลิเวอรี่ให้ไปทำเองที่บ้านได้เเล้ว วัตถุดิบมีให้ครบเครื่องทั้งไส้ครีม ไส้กรอก หมูสับเเถมไข่นกกระทา ลองไปหาส่องดูได้ที่ร้าน Foodmania.th  

เซ็ตทำขนมโตเกียวของร้าน Foodmania.th

 

ทำบัวลอย-เเต่งหน้าเค้ก กิจกรรมครอบครัวยามกักตัว

Chef lab bkk เจาะลูกค้าสายครอบครัว ด้วยการส่ง “เซตทำขนม” ไปสร้างกิจกรรมสนุกๆ ในบ้าน คลายเครียดคลายเบื่อได้เป็นอย่างดี โดยมีให้เลือก 3 ชุดได้เเก่ เซตขนมโตเกียว DIY ตามมาด้วยเซต DIY Royal icing cookies  และเซ็ต DIY Cupcake ได้เป็นเชฟกันจริงๆ ก็คราวนี้

เซ็ตทำขนมจาก Chef lab bkk

เอาใจคนอยากลอง “เเต่งหน้าเค้ก” ด้วยตนเองกับร้าน Little Baker เพิ่มไอเดียสร้างสรรค์ พร้อมอุปกรณ์เเละวัตถุดิบให้ครบ ตอบโจทย์คนอยากหางานอดิเรกใหม่

เซ็ตเเต่งหน้าเค้ก ด้วยตนเอง จาก Little Baker

บัวลอยก็มา ช่วงนี้ใครท้อใจว่าอยากกินเเล้วทำเองยาก Cafe Cococano มองเห็นโอกาส ออกเเพ็กเกจ “บัวลอย DIY” มีให้เลือกทั้งไอติมบัวลอยฝอยทองไข่หวาน เเละบัวลอยน้ำกะทิไข่หวาน จัดส่งให้ถึงบ้าน

คนถามหา “เเป้งเเพนเค้ก” 

After You เป็นเเบรนด์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างหนัก เมื่อร้านที่เคยมีคนต่อคิวรอเกือบ 1 ชั่วโมง ตอนนี้ต้องปิดให้บริการชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้น After You จึงต้องวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการรุกขายเดลิเวอรี่เเละเเพ็กเกจ Take Home โดยเเป้งเเพนเค้กของ After You เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่คนถามหามากขึ้นในช่วงนี้ หลังเปิดตัวตั้งเเต่ช่วงกลางปี 2019 เเละกลับมาบูมอีกในช่วงกักตัว นอกจากนี้ยังมีเมนู “คากิโกริ” ที่ลูกค้าสามารถสั่งไปประกอบร่างได้เอง

Pancake Mix ของ After You

ทาสชาไข่มุก ได้ปั้น “ไข่มุก” กินเอง

สำหรับคนที่เป็นแฟนของเมนูชาไข่มุก ยามเก็บตัวอยู่อาจจะมีช่องทางการซื้อทางเดลิเวอรี่ ซึ่งแต่ละแบรนด์ต่างอัดโปรโมชั่นแถมมากมาย เพื่อกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภค

แต่ตอนนี้แม้แต่ไข่มุกก็สามารถปั้นเองแบบ DIY ได้ โดยแบรนด์ Bearhouse ได้ออกเซ็ตแป้งทำไข่มุก ให้ลูกค้าได้ปั้น และทำไข่มุกเองที่บ้าน

การตลาดเเนวใหม่นี้ทำให้สินค้าน่าสนใจขึ้นมาไม่น้อย เมื่อ COVID-19 ได้สั่นสะเทือนธุรกิจร้านอาหาร ในอีกมุมก็ทำให้ร้านเกิดช่องทางการขายใหม่ๆ เปิดประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า เเละเเม้ว่าจะผ่านพ้นโรคระบาดไปแล้ว เเต่ “เซตพร้อมทำ DIY” เเบบนี้ก็น่าจะขายต่อไปได้อีกยาว

 

]]>
1276028
ถอดสูตรสำเร็จ 30 ปี “ปักกิ่ง ปีโป้” ตำนานขนมวัยเด็ก https://positioningmag.com/1153332 Fri, 12 Jan 2018 04:15:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1153332 เปิดศักราชใหม่มา นอกจากการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขแล้ว ในเดือนมกราคม ยังมีวันสำคัญอีกวัน นั่นคือ “วันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือน และทุกปีสถานที่ราชการ ห้างค้าปลีก มักจะจัดกิจกรรม ความสนุกสนานไว้รอเด็ก

แต่ถ้าพูดถึงสินค้าที่ทุกคนโตมาด้วยกันตั้งแต่วัยเด็ก หนีไม้พ้น “ขนม” ประเภทต่างๆ หนึ่งในสินค้าที่อาจจะ “ดักแก่” ให้นึกถึงอดีตได้ มีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ปักกิ่ง และปีโป้” ที่ตอนเด็กๆผู้บริโภคคงผ่านการกำเงินไปซื้อขนมเหล่านี้มาทานอย่างแน่นอน

ตำนานปักกิ่งและปีโป้ แบรนด์นี้อยู่คู่คนไทยมากว่า 30 ปีแล้ว ทั้ง 2 แบรนด์ เป็นสินค้าที่มาจากบริษัทเดียวกันคือ “ยูโรเปี้ยนฟู้ด” ซึ่งมีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอจำนวนมากตั้งแต่เวเฟอร์, เยลลี่, บิสกิต, มาร์ชแมลโล่, ลูกอม และเค้ก เป็นต้น

ปักกิ่ง เป็นเวเฟอร์เคลือบรสชาติต่างๆ และตั้งราคาขายชิ้นละ 1 บาท ผ่านร้านค้าทั่วไป แต่ปัจจุบันตลาดเปลี่ยนแปลง อัตราเงินเฟ้อมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้า และการแบ่งขายเริ่มเห็นน้อยลง ขณะเดียวกันหากเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อจะเห็นขนมดังกล่าวขายยกซอง 10 ชิ้น ในราคา 10 กว่าบาท

เช่นเดียวกับปีโป้ วันนี้การเห็นเด็กกำเงินไปซื้อเยลลี่ราคา 1 บาทต่อถ้วย เหมือนในอดีตเป็นเรื่องยาก สินค้าจึงทำออกมาขายยกห่อขนาด 25 ถ้วย ราคาประมาณ 50 บาทบ้าง และซอยห่อใส่ปริมาณให้น้อยลง เพื่อตั้งราคาขายให้ซื้อง่ายขึ้น

ส่วนการทำตลาดเวเฟอร์ปักกิ่งและปีโป้นั่น ยูโรเปี้ยนฟู้ด ยึดเวลาเช้าเสาร์-อาทิตย์ ช่วงที่ช่อง 9 การ์ตูนออกอากาศ เพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ทำให้เด็กๆรับรู้และจดจำแบรนด์ได้อย่างดี มีประโยคติดหูอย่าง “ใครๆ ก็ชอบปักกิ่ง คึกคักคึกคักกับปักกิ่ง” ส่วนปีโป้ประโยคฮิตคือ ปีปีโป้ ปะปะปีปีโป้ นั่นเอง

ในตลาดนี้คู่แข่งสำคัญ คือสินค้าจาก “ยูไนเต็ดฟูดส์” ที่มี “เซี่ยงไฮ” เวเฟอร์  และ เยลลี่ “โยโย่” ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้ว

ปัจจุบันสินค้าเด็กเหล่านี้ ปรับตัวในการทำตลาดเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่เติบโตไปตามเวลา อย่าง ปักกิ่ง มีการแตกไลน์เป็น “ปักกิ่งครั้นซ์” ขนาดใหญ่ขึ้น ราคาขาย 5 บาท แต่การทำตลาดยังคงคอนเซ็ปต์สนุกสนาน มีการดึง โก๊ะตี๋ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

ส่วนปีโป้ นอกจากสินค้าเยลลี่แบบถ้วยเล็กเป็นออริจินัลแล้ว ยังมีถ้วยชนาดใหญ่ 135 กรัม เยลลี่เชค ในขวด PETและกัมมี่ จับกลุ่มเป้าหมายวัยเรียนและวัยทำงานด้วย ส่วนการสร้างแบรนด์ได้หันมาใช้กลยุทธ์ Sport Marketing ดึงบรรดานักกีฬาวอลเล่ย์บอลทีมชาติไทย เช่น ปลิ้มจิต, ทัดดาว มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ชูภาพลักษณ์แบรนด์ที่มีความสนุกสนาน เพื่อทำให้ขนมวัยเด็กยังคงขายได้และอยู่คู่กับผู้บริโภคผู้ใหญ่

การปรับตัวของปักกิ่ง ปีโป้ ไม่ใช่แค่สินค้า ราคา และการทำตลาด สร้างแบรนด์เท่านั้น แต่ “แบรนด์องค์กร” หรือ Corporate brand ก็พลิกโฉมไปมาก โดยยูโรเปี้ยนฟู้ด ให้น้ำหนักในการทำ Sport Marketing อย่างมาก ดันสินค้าอื่นในพอร์ตโฟลิโอ อย่าง ยูโร่เค้ก ไปเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนฟุตบอลไทยลีก 3-4 และใช้ชื่อลีกว่ายูโร่เค้กลีก มีการจัดกิจกรรมร่วมกับสโมสรฟุตบอล “แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด” ที่มีแฟนบอลกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก ทำกิจกรรมตลาดและโปรโมชั่น นับเป็นการขยายฐานจากวัยเด็ก ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขนมวัยเด็กที่อยู่ในความทรงจำของผู้ใหญ่จากบริษัทแห่งนี้ ยังมีอีกมากมาย เช่น โอโจ้ ขนมสมัยมัธยมที่ฮิตในตลาดไม่ต่างจากกูลิโกะ ป๊อกกี้

ตลาดขนมหวาน (Confessionary) ในไทยมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท โดยเวเฟอร์ บิสกิต หมากฝรั่ง ลูกอม ถูกรวมอยู่ในนี้ทั้งหมด ขณะที่ผู้เล่นในตลาดดังกล่าวนอกจากยูโรเปี้ยนฟู้ด ยังมีไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ของเครือสหพัฒน์, มอนเดลีซ ประเทศไทย, เคจีซี คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น

ยูโรเปี้ยนฟู้ด อยู่ในตลาดขนมมา 33 ปี แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตยอดขายหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความสามารถในการทำกำไรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยผลประกอบการของบริษัทเป็นดังนี้

  • ปี 2559 รายได้รวมกว่า 3,685 ล้านบาท เติบโต 4.22% กำไรสุทธิกว่า 667 ล้านบาท เติบโต 20.03%
  • ปี 2558 รายได้รวมกว่า 3,535 ล้านบาท หดตัว 3.11% กำไรสุทธิกว่า 556 ล้านบาท เติบโต 15.83%
  • ปี 2557 รายได้รวมกว่า 3,649 ล้านบาท หดตัว 4.09% กำไรสุทธิกว่า 480 ล้านบาท หดตัว 7.41%
]]>
1153332
ไม่ใช่แค่หวานเป็นลม แต่หวานก็ยังเป็นยา !! คิทแคท ออกรสชาติใหม่ รสยาอมแก้เจ็บคอ https://positioningmag.com/1137264 Wed, 23 Aug 2017 10:59:26 +0000 http://positioningmag.com/?p=1137264 ภาพจาก : PR Times

คิทแคท ถือเป็นแบรนด์ขนมที่มีรสชาติให้เลือกหลากหลายมากกว่า 200 รสชาติ ตั้งแต่ช็อกโกแลต สตรอเบอรี่ ชาเขียว เมลอน มันม่วง พริกญี่ปุ่น และล่าสุดได้ออกรสชาติใหม่ รสยาอมแก้เจ็บคอ เอาใจผู้ที่มีอาการระคายเคืองคอ

เนสท์เล่ เจ้าของแบรนด์ขนมคิทแคท ได้เปิดตัวคิทแคทรสชาติใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรสชาติเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า คิทแคท โนโด ะอาเมะ อาจิ (Kit Kat Nodo Ame Aji) หรือรสชาติยาอมแก้เจ็บคอ

โดยมีการใส่ผงยาอมบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ ในปริมาณ 2.1% ลงไปในไวท์ช็อกโกแลตที่อยู่ระหว่างชั้นเวเฟอร์ของขนม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคที่ทานได้มีความรู้สึกสดชื่นและชุ่มคอ

ทั้งนี้ คิทแคทรสชาติยาแก้เจ็บคอ จะวางจำหน่ายแบบลิมิเต็ดอิดิชั่นในวันที่ 21 สิงหาคม ถึงวันที่ 10 กันยายน นี้เท่านั้น โดยมีราคาขายอยู่ที่อันละ 140 เยน หรือ 42 บาท

ภาพจาก : PR Times

ในส่วนแพ็กเกจที่วางขาย ก็สร้างความแตกต่างจากแพ็กเกจแบบเดิมๆ ของคิทแคทที่ผ่านมา โดยการนำภาพของ ยาสุทาโระ มัทซึกิ อดีตนักฟุตบอล และอดีตผู้จัดการทีมชาติญี่ปุ่น ที่กำลังออกแรงใช้เสียง มาใช้เป็นภาพของแพ็กเกจจิ้งสินค้า เพื่อสื่อถึงสรรพคุณของรสชาติ

ซึ่งคาดว่า คิทแคทรสชาติยาอมแกเจ็บคอนี้ น่าจะผลิตมาขายในช่วงที่คนญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจกับการเชียร์ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ปี 2018 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

]]>
1137264