ความเครียด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 20 Jun 2023 04:24:38 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 3 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเสพติด “ความเครียด” พฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปมากกว่าที่ใครคิด https://positioningmag.com/1434706 Tue, 20 Jun 2023 03:50:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434706 “ความเครียด” แม้จะมีผลลบต่อชีวิตมากมาย แต่กลายเป็นว่าหลายคนสามารถ “เสพติด” ความเครียดได้จริงๆ จากการวิจัยโดยนักจิตวิทยา Harvard และการเสพติดความเครียดย่อมไม่เป็นผลดีต่อร่างกายในระยะยาว

Heidi Hanna นักประสาทวิทยา ให้ข้อมูลว่าความเครียดสามารถหลอกตัวเราเองได้ เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้น สมองไม่ได้สั่งให้ร่างกายหลั่งเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา แต่ยังหลั่งโดปามีนมาด้วย ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เป็นสารเคมีแห่ง “ความรู้สึกดี” จึงทำให้สมองเราจดจำพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความรู้สึกดีนี้ไว้เพื่อทำซ้ำ

เธอกล่าวด้วยว่า ความเครียดสามารถสร้างภาวะเหมือน ‘เคลิ้มยา’ ได้ตามธรรมชาติ เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นศูนย์กลางระบบประสาทที่เกี่ยวกับสิ่งกระตุ้นเร้าและความสนใจ หากเครียดติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะทำให้ “เสพติดเหมือนกับการติดยา” ได้ด้วย

Debbie Sorensen นักจิตวิทยา Harvard ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะหมดไฟ (burnout) เสริมประเด็นนี้ว่า คนเรามักจะทำตัวให้ยุ่ง มีอะไรทำตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยง “อารมณ์ที่ไม่สบายใจ” ทั้งหลาย เช่น ความเบื่อหน่าย ความเหงา ความเศร้า ซึ่งทำให้การเสพติดความเครียดเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปมากกว่าที่ใครๆ คิด

อย่างไรก็ตาม ทุกคนทราบดีว่าความเครียดไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อร่างกายในระยะยาว อันตรายของการมีภาวะเครียดเรื้อรังคือโรคที่ติดตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ

 

3 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลัง “เสพติด” ความเครียด

ถ้าคุณทำได้ดีเวลามีกำหนดเส้นตายส่งงานเร่งด่วน และรู้สึกผิดทุกครั้งที่พักจากการทำงาน คุณอาจกำลังเสพติดความเครียดอยู่ก็ได้

Sorensen กล่าวว่า การเสพติดความเครียดมักจะเกิดขึ้นในคนที่ชอบกดดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ทำให้คนที่ทะเยอทะยานอยากประสบความสำเร็จมักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหมดไฟและภาวะเครียดเรื้อรัง

แต่ความกดดันจากสังคมก็มีผลกับการเสพติดความเครียดได้เหมือนกัน “วัฒนธรรมคลั่งการเพิ่มพูนประสิทธิผลของงาน คือตัวการที่สร้างให้ ‘ความเครียด’ เป็นดั่งเหรียญตราเกียรติยศ” Sorensen กล่าว “วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้เรารู้สึกดีในอัตตาของตัวเองเมื่อเรายุ่งกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเราตีความว่ายิ่งงานยุ่งมากเท่าไหร่ก็คือการประสบความสำเร็จมากเท่านั้น”

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเสพติดความเครียดเข้าแล้ว? Sorensen กล่าวว่ามี 3 สัญญาณที่มักจะพบเห็นได้ในกลุ่มคนที่เสพติดความเครียด ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงที่จะนอนพักหรือพักผ่อน
  • คอยเช็กโทรศัพท์ตลอดเวลา
  • ตอบ “ได้” กับทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ที่เสพติดความเครียดมักจะเลือกผลักตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียด แม้จะมีทางเลือกในการหลีกเลี่ยง และถึงแม้ว่าทั้งร่างกายและจิตใจคุณจะ “ร้องขอให้หยุด” แล้วก็ตาม

Sorensen กล่าวเสริมว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกด้วยว่าคุณกำลังอยู่ใน ‘Toxic Workplace’ ได้ด้วย โดยเป็นสังคมที่ทำงานเป็นพิษ ต้องการให้คุณทำเกินกำลังของตัวเองและต้องตอบสนองการทำงานได้ตลอดเวลา ซึ่งแปลว่าคุณอาจจะไม่ได้เสพติดความเครียด แต่คุณทำสิ่งเหล่านี้เพราะถูกบีบบังคับจากที่ทำงานมากกว่า หากตกอยู่ในสถานการณ์นี้ เธอขอแนะนำให้คุณพยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างช่วงเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัว เพื่อทำให้ความเครียดลดลง

 

หยุดวงจรแห่งความเครียดอย่างไร

ยังไม่มีวิธีการตายตัวที่จะหยุดการเสพติดความเครียด แต่การออกกำลังกายและนั่งสมาธิถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขคือฮอร์โมนโดปามีนและเอ็นโดรฟินได้

Sorensen กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือแต่ละคนต้องสังเกตตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เกิดความเครียด สังเกตว่าเครียดแล้วทำอะไรบ้าง เช่น ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาการทานอาหาร เสียสมาธิ อารมณ์เปลี่ยนไป และปกติแล้วเราแก้เครียดอย่างไร อะไรที่ทำให้เครียดน้อยลง และอะไรทำให้เครียดหนักกว่าเดิม

สุดท้ายแล้วสิ่งเดียวที่จะทำให้หยุดวงจรนี้ได้ คือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตนเองโดยแก้ไขในจุดที่ทำให้เครียด เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับ เปลี่ยนพฤติกรรมหยุดรับผิดชอบมากเกินตัว

Source

]]>
1434706
คนไทย “สุขลดลง” จากปัญหาค่าครองชีพ เครียดข่าวอาชญากรรม-เศรษฐกิจมากขึ้น https://positioningmag.com/1381114 Fri, 08 Apr 2022 11:50:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381114
  • “โฮคูโฮโด” สำรวจคนไทยทุกๆ 2 เดือน รอบล่าสุดประจำเดือนเมษายน 2565 พบคนไทย “สุขลดลง” เทียบกับรอบก่อน เพราะกังวลเรื่องไวรัสผสมกับปัญหาค่าครองชีพ
  • คนไทยสนใจข่าวโอมิครอนน้อยลงแม้จะยังเป็นข่าวอันดับ 1 ข่าวแตงโมตกน้ำและสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาแรง ข่าวอาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในความสนใจสูงขึ้น
  • การจับจ่ายเน้นด้านอาหาร ของใช้จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดการซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว
  • สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) จัดสำรวจ “ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม” (Sei-katsu-sha) ทุกๆ 2 เดือน โดยในประเทศไทยรอบล่าสุดสำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างเป็นคนไทยวัย 20-59 ปีจาก 6 ภูมิภาค จำนวน 1,200 คน

    ผลสำรวจรอบนี้จัดทำเป็นรายงานประจำเดือนเมษายน 2565 ในด้าน “ความสุข” ของคนไทยอยู่ที่ 63 คะแนน ลดลง -2 คะแนน เทียบกับรายงานรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากโรค COVID-19 ยังระบาดอยู่ และมีปัจจัยความกังวลด้านเศรษฐกิจฝืดเคืองเข้ามาเสริม

    เมื่อสำรวจประเด็นข่าวที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุด 10 อันดับ จะเห็นได้ว่าคนไทยสนใจเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และอาชญากรรมสูง ส่วนไวรัสโอมิครอนแม้จะยังอยู่อันดับ 1 แต่ได้รับความสนใจลดลงมาก ดังนี้

    1. COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน 47% (-6%)
    2. แตงโมตกน้ำ (12%) (new)
    3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน (9%) (new)
    4. การเมือง (9%) (+2%)
    5. เศรษฐกิจ (4%) (+2%)
    6. ค้ามนุษย์ (3%) (new)
    7. หลานฆ่ายายยัดถัง (2%) (new)
    8. ราคาน้ำมัน (2%) (new)
    9. คริปโตเคอร์เรนซี/บิตคอยน์ (2%) (คงเดิม)
    10. ฟุตบอล (2%) (-1%)

    คนไทยรัดเข็มขัด ใช้แต่ที่จำเป็นก่อน

    “จริงๆ แล้วคนไทยนั้นชอบช้อป แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ตอนนี้ ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างมีราคาสูงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ทำให้คนไทยระมัดระวังเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และซื้อของที่ไม่จำเป็นลดลง” ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าว

    นั่นทำให้ผลสำรวจความต้องการซื้อสินค้าของคนไทย กลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นคือ “อาหาร” มาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 25% และเติบโต 5% “ของใช้ในชีวิตประจำวัน” อันดับ 2 สัดส่วน 15% เติบโต 2% “ตู้เย็น/เครื่องใช้ไฟฟ้า” อันดับ 5 สัดส่วน 5% เติบโต 1% และ “รถยนต์” อันดับ 9 สัดส่วน 4% เติบโต 2%

    ส่วนสินค้าที่คนไทยลดความต้องการลงคือ “เสื้อผ้า” “ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม” “การท่องเที่ยว” และ “คอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต”

    ในมุมนักการตลาด เมื่อพบว่าคนไทยมีความสุขลดลง และเคร่งเครียดจากข่าวอาชญากรรม เศรษฐกิจ คนไทยมองหาความมั่งคั่งมากกว่างานที่มั่นคง ต้องการรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วง “สงกรานต์” ที่คนไทยยังให้ความสำคัญกับครอบครัวและยังมองหาของขวัญให้ญาติผู้ใหญ่อยู่ แม้จะรัดเข็มขัดมากก็ตาม

    พรนภัส สุลัยมณี” นักวางแผนกลยุทธ์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) จึงให้คำแนะนำแบรนด์ในการทำการตลาดที่ช่วยคลายเครียดและเน้นไปที่ครอบครัวเป็นหลัก ดังนี้

    1. แบรนด์ควรชวนคลายเครียดด้วยกิจกรรมใหม่ๆ เน้นเสริมความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่ยังปลอดภัยจาก COVID-19 เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของครอบครัว ที่แบรนด์สามารถเข้าไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เปลี่ยนบรรยากาศการเฉลิมฉลองกับครอบครัว สนับสนุนการอุปโภคและบริโภคสินค้าภายในบ้านที่ดีต่อสุขภาพและจิตใจเป็นหลัก เพื่อชดเชยข้อจำกัดด้านการเดินทางท่องเที่ยว หรือ กลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงโอมิครอนนี้
    2. เสนอโปรโมชันช่วงซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ พร้อมสนับสนุนการส่งความรักความห่วงใยถึงกัน เพื่อต้อนรับช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัว อย่างการส่งมอบความรักความห่วงใยให้กับครอบครัวหรือคนที่เรารักแม้อยู่ห่างไกลกัน

     

    อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

    ]]>
    1381114
    ‘Instagram’ อัปเดต 6 ฟีเจอร์ใหม่ หวังช่วยลดปัญหา ‘สุขภาพจิต’ https://positioningmag.com/1355835 Sun, 10 Oct 2021 05:41:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355835 ประเด็นสุขภาพจิตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว ด้านความสัมพันธ์ ด้านการทำงาน และด้านการเรียนรู้ ซึ่งการใช้งานโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นดาบ 2 คม หากเราไม่ตระหนักรู้และไม่ดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม ก็จะเกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดตอนนี้ ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น

    โดยใน Instagram ได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยประเด็นด้านสุขภาพจิต ได้แก่

    • การซ่อนยอดไลก์ Instagram มอบทางเลือกให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้ผู้อื่นเห็นยอดไลก์บนโพสต์ของพวกเขาหรือไม่ และยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการเห็นยอดไลก์บน Instagram หรือไม่
    • การควบคุมด้านการส่งข้อความและการมีปฏิสัมพันธ์ การตั้งค่าที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการอนุญาตให้ทุกคน ไม่อนุญาตใครเลย หรืออนุญาตเฉพาะผู้คนที่พวกเขาติดตาม ให้สามารถส่งข้อความ แท็ก หรือกล่าวถึงพวกเขาในช่องแสดงความคิดเห็น คำบรรยายใต้ภาพ Stories หรือการส่งข้อความตรง
    • จำกัด Instagram ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้รังแก (bullies) สามารถมองเห็นหรือเข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาของผู้ใช้ได้ โดยที่ผู้รังแกจะไม่ได้รับการแจ้งเตือน
    • ลิมิต Instagram ช่วยให้ผู้คนสามารถซ่อนความคิดเห็นและคำขอในการส่งข้อความตรงโดยอัตโนมัติ จากผู้คนที่ไม่ได้ติดตามหรือผู้คนที่เพิ่งเริ่มติดตามพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา
    • การควบคุมเนื้อหาที่มีความอ่อนไหว ผู้คนสามารถเลือกเนื้อหาที่พวกเขาเห็นในหน้า Instagram Explore ได้ตามความต้องการของตัวเอง จากการมอบทางเลือกในการเห็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว (sensitive) จำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ Instagram ยังกรองเนื้อหาบางประเภทออกจากหน้า Explore ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว หรือสร้างความขุ่นเคือง (offensive) และผู้ใช้วัยรุ่นจะเลือกเห็นเนื้อหาประเภทนี้ในจำนวนน้อยลงได้อย่างเดียวเท่านั้น
    • การเตือน (Nudges) นอกจากนี้ Instagram กำลังพัฒนาฟีเจอร์ที่สนับสนุนให้ผู้คนหยุดพักและไตร่ตรองว่าเนื้อหาประเภทไหนที่พวกเขาต้องการรับชม และหวังที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจและยกระดับจิตใจของพวกเขา

    นอกจากนี้ Instagram ยังเปิดตัว Instagram Guides ฟีเจอร์เพื่อช่วยให้การค้นพบคำแนะนำ เคล็ดลับ และเนื้อหาอื่น ๆ จากครีเอเตอร์ บุคคลสาธารณะ องค์กร และผู้ผลิตเนื้อหา (publishers) บน Instagram เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น โดยการเข้าดูไกด์ต่าง ๆ คุณสามารถไปที่หน้าโปรไฟล์ของ โนอิ้งมายด์ อูก้า และ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย จากนั้นกดไปที่ปุ่มไอคอนไกด์เพื่อรับชมไกด์ของพวกเขา

    โดยในขณะเยี่ยมชมไกด์ ผู้ใช้จะเห็นโพสต์และวิดีโอต่าง ๆ ที่ครีเอเตอร์ได้เลือกสรรมาจัดแสดง ซึ่งจะถูกจับคู่กับเคล็ดลับและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ คุณยังสามารถแชร์ไกด์เหล่านี้ไปยัง Instagram Stories หรือส่งเป็นข้อความ (Direct) ด้วยการกดปุ่มแชร์ที่ด้านขวาบน

    ที่ผ่านมา ประเด็นด้านสุขภาพจิตมีการพูดถึงในมุมมองที่กว้างขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยมีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คน เป็นสมาชิกในกลุ่มบน Facebook ราว 2,000 กลุ่ม ที่มีวัตถุประสงค์ในการ ให้ความช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตยังผลักดันให้เกิดพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์บน Instagram เป็นจำนวนกว่า 2.2 ล้านครั้ง ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

    สื่อแฉ ‘Facebook’ ศึกษาผลด้านลบของ ‘Instagram’ ต่อวัยรุ่นกว่า 3 ปีแต่ไม่เปิดเผย

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คนไทยจำนวนกว่า 3.3 ล้านคน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตาย และจากผลการศึกษาขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำปี 2563 พบว่า 7 ใน 10 ของเด็กและเยาวชนชาวไทย ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ และความวิตกกังวล จากความไม่แน่นอนทางด้านการเงินและโอกาสในการถูกจ้างงานในอนาคต

    ]]>
    1355835
    หุ่นดีแล้ว “สุขภาพจิต” ก็ต้องดีด้วย! Fitbit ออกสมาร์ตวอตช์ใหม่ ติดตามระดับ “ความเครียด” ได้ https://positioningmag.com/1294350 Thu, 27 Aug 2020 10:58:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294350 Fitbit ออกจำหน่ายสมาร์ตวอชต์เชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลกที่สามารถติดตามระดับ “ความเครียด” ของผู้ใช้ได้ ผ่านเซ็นเซอร์ล้ำสมัยเรียกว่า EDA ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดความกังวลหากมีการนำมาใช้ในที่ทำงาน อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวของพนักงานสูญเสียไป

    Fitbit Sense สมาร์ตวอชต์ใหม่ล่าสุดเพิ่งจะเปิดตัวในสัปดาห์นี้ โดยเครื่องมือนี้มีการบรรจุเซ็นเซอร์ EDA (Electrodermal Activity) ติดตั้งเข้าไปด้วย ทำให้สามารถติดตามระดับความเครียดของผู้ใช้ อ่านค่าจากระดับ 1-100 แสดงบนนาฬิกาและแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อได้เลย

    หลักการทำงานของ EDA คือ ผู้ใช้วางฝ่ามือลงบนหน้าปัดของเครื่อง เครื่องจะวัดปฏิกิริยาการตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าในระดับชั้นเหงื่อของผิวหนัง เมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว หากอยู่ในระดับที่มีความเครียด Fitbit จะแนะนำการบริหารจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ นอนให้เร็วขึ้น และเป็นดัชนีชี้วัดให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าตนเองควรลุยโปรเจกต์งานใหม่ๆ หรือพักก่อน

    ในประเทศไทย Fitbit Sense จะจำหน่ายในราคา 11,990 บาท ทั้งนี้ สมาร์ตวอชต์ตัวใหม่ของบริษัทรุ่นนี้ถือเป็นการกรุยทางไปสู่อุตสาหกรรมเวลเนสที่ได้รับความนิยมสูงในยุคนี้

    Fitbit Sense สามารถแจ้งระดับความเครียด และแนะนำการจัดการความเครียดเหล่านั้นได้

     

    จะใช้ได้จริงหรือไม่?

    สมาร์ตวอชต์แต่ละแบรนด์กำลังแข่งขันกันเพิ่มความสามารถในเชิงการแพทย์ โดย อเดล เลายู ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท NeuTigers บริษัทด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง ให้ความเห็นกับ Business Insider ว่า ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และแมชชีน เลิร์นนิ่งที่ล้ำสมัยขึ้นจะทำให้สมาร์ตวอชต์สามารถตรวจหาโรคได้หลายพันโรคในอนาคต

    NeuTigers เองเป็นผู้นำในการวิจัยด้านนี้ โดยมีการพัฒนางานวิจัยเชิงคลินิกเพื่อพิสูจน์คอนเซ็ปต์ว่าแมชชีนเลิร์นนิ่งและเซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถวินิจฉัยโรคอย่างโรคเบาหวาน ซึมเศร้า จิตเภท และไบโพลาร์ได้จริง

    อย่างไรก็ตาม เลายูชี้ให้เห็นว่า NeuTigers ร่วมกับสถาบัน MIT พัฒนาเซ็นเซอร์ในระดับงานวิจัยได้สำเร็จก็จริง แต่ไม่แน่ใจว่าเซ็นเซอร์ EDA ของ Fitbit มีการผ่านการพิสูจน์วิจัยทางคลินิกหรือยัง “การนำเซ็นเซอร์ไปติดตั้งในสมาร์ตวอตช์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสาธิตให้เห็นว่าสมาร์ตวอชต์นั้นอยู่ในระดับที่ใช้ได้จริงทางการแพทย์คืออีกเรื่องหนึ่งเลย”

    Fitbit Sense

    ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของเซ็นเซอร์ EDA ก็มีสูงมาก เพราะที่ผ่านมานักวิจัยก็ใช้เซ็นเซอร์นี้วัดระดับทางอารมณ์ เช่น ความกลัว ความโกรธ ความสุข ความประหลาดใจ ได้อย่างแม่นยำ

     

    ความเป็นส่วนตัวของพนักงานอาจลดลง?

    ศักยภาพในการวินิจฉัยโรคของสมาร์ตวอชต์ ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวด้วย เพราะบริษัทใหญ่อย่าง Apple และ Fitbit (ซึ่งบริษัท Google เข้าซื้อไปด้วยเม็ดเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2562) ต่างก็ออกโปรแกรมสมาร์ตวอชต์ให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนเรื่องสุขภาพในที่ทำงาน โปรแกรมเหล่านี้พยายามจูงใจถึงผลประโยชน์แบบวิน-วินของบริษัทกับพนักงาน เพราะบริษัทจะได้บุคลากรที่สุขภาพดีขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ส่วนพนักงานก็จะมีโปรแกรมดูแลสุขภาพแบบเฉพาะรายบุคคล

    แต่โปรแกรมเหล่านี้ก็ทำให้เกิดข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ Fitbit มีโปรแกรมชื่อ Ready for Work เพื่อใช้ตรวจสอบว่าพนักงานมีแนวโน้มจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ และข้อมูลพนักงานจะถูกส่งตรงไปที่ผู้ว่าจ้าง

    เมื่อสมาร์ตวอชต์สามารถวิเคราะห์ได้ถึงขั้นสุขภาพใจของพนักงาน ผสมกับโปรแกรมของบริษัทเทคโนโลยีที่จับมือกับองค์กรโดยตรง หากไม่มีการป้องกัน ต่อไปองค์กรอาจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพนักงานทั้งร่างกายไปถึงจิตใจก็ได้

    Source

    ]]>
    1294350