เด็กเกิดน้อย ครัวเรือนเล็กลง กระทบสินค้า FMCG งัดกลยุทธ์ “ขนาดแพ็กเกจ-ราคา” ให้เหมาะสม

  • เปิดรายงานวิเคราะห์ตลาดสินค้า FMCG ในไทยปี 2564 โดย Kantar พบปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบคือ “ขนาดครัวเรือนเล็กลง” เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมีมากกว่า
  • ทำให้การเลือกกลยุทธ์ขนาดแพ็กเกจและราคาต้องคิดละเอียด เหมาะสมกับลักษณะครอบครัวเป้าหมาย
  • เชื่อว่าปี 2565 ตลาดจะยังได้ 2.1% มีแรงขับสำคัญจากกลุ่มผู้อาศัยในพื้นที่ชนบท เนื่องจากอานิสงส์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ข้อมูลจาก Kantar สรุปภาพรวมปี 2564 เป็นปีที่ตลาดสินค้า FMCG (Fast-moving Consumers Goods) เติบโตถึง 3.5% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเกิดจากหลายเหตุผล ทั้งการอุดหนุนของรัฐผ่านโครงการคนละครึ่ง การปลดล็อกดาวน์และปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.2%

ปีก่อนนี้เป็นปีที่พฤติกรรมผู้บริโภคปรับตัวไปพอสมควร เนื่องจากการอยู่บ้านมากขึ้น เลี่ยงการไปที่สาธารณะ มีการทำอาหารทานเอง เน้นทานอาหาร เครื่องดื่ม ขนมภายในบ้าน ทำให้ความถี่ในการไปช้อปปิ้งสินค้าของกินของใช้ลดลง -6.8% แต่การซื้อต่อตะกร้าเพิ่มมูลค่าถึง 10%

FMCG
ปี 2564 ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยครั้งลง แต่ซื้อครั้งละมากขึ้น

พฤติกรรมนี้ส่งให้กลุ่มสินค้าที่เติบโตดีมากคือ “อาหาร” โตถึง 9.2% รองมาคือ “เครื่องดื่ม” ที่โต 3.8% ในขณะที่กลุ่ม “ของใช้ส่วนตัว” ติดลบ -1.1% เพราะผู้บริโภคไม่ได้ออกนอกบ้านมากนัก

 

ครัวเรือนไซส์เล็ก 1-2 คนยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ในแง่ลักษณะของผู้บริโภค Kantar เก็บข้อมูลพบว่าประชากรไทยอยู่ “ในเมือง” (รวมทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด) มากกว่าอยู่ใน “ชนบท” แล้วตั้งแต่ปี 2561 และปี 2564 จำนวนที่ต่างกันของครอบครัวในเมืองกับในชนบทยิ่งถ่างออกมากขึ้น

อีกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลักษณะผู้บริโภค คือ อัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ มีเด็กเกิดใหม่เพียง 550,000 คนในปี 2564 เทียบกับปี 2555 มีเด็กเกิดใหม่มากกว่า 800,000 คน ประเทศไทยจึงเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กวัยไม่เกิน 14 ปี

ครัวเรือนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท และครัวเรือนขนาดเล็กที่มี 1-2 คนพุ่งสูง เพราะครอบครัวไทยไม่มีลูกมากขึ้น และผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวหรือสองคนก็เพิ่มขึ้นหลังลูกหลานแยกบ้านออกไป

มาถึงปี 2564 จึงเห็นภาพชัดว่าครัวเรือนขนาดเล็ก มีสมาชิกอาศัย 1-2 คน ยิ่งพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับครัวเรือนขนาดใหญ่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไปลดลงอย่างมาก ส่วนครัวเรือนขนาดกลางมีสมาชิก 3-4 คน ยังคงทรงตัวอยู่เท่าเดิม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะครัวเรือนที่คนวัยหนุ่มสาวอยู่คนเดียวหรืออยู่เป็นคู่แต่ไม่มีลูกมีเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่กัน 2 คนเพราะลูกหลานแยกบ้านออกไปแล้วก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

แต่ละกลุ่มระมัดระวังการใช้จ่ายต่างกัน

แต่ละกลุ่มผู้บริโภคทั้งวัย ขนาดครัวเรือน และที่อยู่ (ในเมือง/ชนบท) มีพฤติกรรมการใช้จ่ายกับสินค้า FMCG ต่างกัน โดย Kantar แยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มกังวลกับการใช้จ่าย – ใช้จ่ายน้อยลงตั้งแต่เกิด COVID-19 ปีแรก และยิ่งน้อยลงอีกในปีที่สอง ได้แก่ กลุ่มคนเมืองต่างจังหวัด, กลุ่มครัวเรือนขนาดใหญ่, กลุ่มวัยหนุ่มสาว (ต่ำกว่า 35 ปี) และกลุ่มคนรายได้ต่ำกับรายได้สูงที่อยู่ในเมือง
  • กลุ่มระมัดระวังใช้จ่าย – ช่วง COVID-19 ปีแรกยังใช้จ่ายปกติแต่ปีที่สองใช้จ่ายน้อยลงเพราะระวังสถานการณ์ ได้แก่ กลุ่มครัวเรือนขนาดเล็ก, ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก, ครัวเรือนที่มีเด็กวัยรุ่น และคู่รักสูงวัย
  • กลุ่มที่ยังใช้จ่ายปกติ – กลุ่มนี้ยังใช้จ่ายปกติจนถึงใช้มากขึ้นตั้งแต่เกิด COVID-19 ได้แก่ กลุ่มที่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล, กลุ่มอาศัยในชนบท, กลุ่มรายได้ปานกลางในเมือง, กลุ่มครัวเรือนขนาดกลาง และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี

 

จัดกลยุทธ์แพ็กเกจและราคาให้เหมาะสม

ความระมัดระวังที่ต่างกัน ทำให้การจัดแพ็กเกจและราคาของแต่ละสินค้าที่มีเป้าหมายลูกค้าต่างกันก็ต้องแยกละเอียด ยกตัวอย่างปีก่อน สินค้าที่ประสบความสำเร็จในการ Trade Up คือทั้งเพิ่มราคาต่อยูนิตและเพิ่มราคาต่อปริมาณ เช่น กลุ่มวัตถุดิบทาขนมปัง (เช่น แยม) ซึ่งเป็นสินค้าที่กลุ่มครัวเรือนขนาดกลาง มีเด็กวัยรุ่นในบ้าน ซื้อกันมากขึ้น และกลุ่มครัวเรือนขนาดกลางยังเป็นกลุ่มที่พร้อมจ่าย

ขณะที่กลุ่มขนมขบเคี้ยว ใช้กลยุทธ์การ Up Size คือเพิ่มราคาต่อยูนิตแต่ลดราคาต่อปริมาณ ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าขึ้น เป้าหมายหลักของสินค้านี้คือวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่กังวลกับการใช้จ่าย จึงต้องใช้ราคาจูงใจว่าซื้อไซส์ใหญ่คุ้มค่ามากขึ้น

หรืออย่างสินค้าประเภทเนย มีการใช้กลยุทธ์ Down Size คือลดขนาดลงทำให้ราคาต่อยูนิตลดลง แม้ราคาต่อปริมาณจะแพงขึ้น ซึ่งสินค้าเนยนิยมในกลุ่มคนเมืองต่างจังหวัด และกลุ่มนี้กังวลเรื่องการใช้จ่ายสูง ทำให้การจ่ายต่อครั้งที่น้อยลงก็จูงใจได้เช่นกัน

 

ปี 2565 คาดว่า FMCG จะโต 2.1%

สำหรับตลาดสินค้า FMCG ปี 2565 ทาง Kantar มองว่าตลาดจะยังโตอยู่ที่ 2.1% แม้จะไม่โตเท่าปีที่แล้วแต่ยังมองบวกได้ เพราะจีดีพีไทยที่น่าจะเป็นขาขึ้น ยังมีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ดันยอดใช้จ่ายในกลุ่มผู้อาศัยในชนบท รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขึ้น 1.9% ซึ่งทำให้ราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย

สินค้ากลุ่มของใช้ส่วนตัวน่าจะกลับมาดีดตัวในปีนี้ หลังคลายล็อกดาวน์

ด้านกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะยังเติบโตคือ อาหารแช่แข็ง/แช่เย็น คาดโต 3.1% รองมาคือเครื่องดื่ม โต 2.8% ส่วนที่น่าสนใจคือ ของใช้ส่วนตัว ที่น่าจะดีดกลับมาโต 2.5% หลังตลาดติดลบมา 2 ปีต่อเนื่อง เพราะปีนี้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น

คำแนะนำที่น่าสนใจต่อตลาดในปีนี้จาก Kantar เช่น

  • สร้างสรรค์ประโยชน์จากตลาด “ชนบท” ที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
  • ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คิดถึงลักษณะของลูกค้าของแบรนด์เป็นสำคัญ เพื่อจะจัดขนาดแพ็กเกจและราคาให้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่สินค้าทุกอย่างจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มไซส์หรือเพิ่มราคา บางสินค้าจะดีกว่าถ้าลดราคาหรือลดไซส์ลง
  • การอยู่บ้านจะยังเป็นเทรนด์ต่อไป ทำให้สินค้าสำหรับคนอยู่บ้าน เช่น เครื่องปรุงอาหาร จะยังได้อานิสงส์ที่ดี
  • มีกลุ่มประชากรที่เข้าถึงทั้งช่องทางดั้งเดิม โมเดิร์นเทรด และอีคอมเมิร์ซ มากขึ้นเป็น 31.6% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่แบรนด์จะเจาะให้ครบทุกช่องทาง โดยช่องทางออนไลน์จะช่วยเสริมให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นจากออฟไลน์

(ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มของ Kantar เกี่ยวกับตลาด FMCG ในไทยปี 2565 ได้ที่นี่)