ค่ายเพลง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 28 Mar 2023 13:22:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดเบื้องหลังประวัติศาสตร์ ‘Grammy x RS’ แม้เป็นคู่แข่งแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู https://positioningmag.com/1425197 Tue, 28 Mar 2023 11:23:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1425197 ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่วงการเพลงต้องจดจำ เพราะในที่สุดแฟนเพลงก็จะได้เห็นคอนเสิร์ตร่วมกันครั้งแรกในรอบ 40 ปี ของ 2 ค่ายใหญ่อย่าง แกรมมี่ (Grammy) และ อาร์เอส (RS) จุดเริ่มต้น เบื้องลึก เบื้องหลัง และการร่วมมือจากนี้จะเป็นอย่างไร Positioning จะมาอธิบายให้ได้อ่านกัน

จีบกันไปกันมากว่า 5 ปี

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สำหรับการร่วมมือของแกรมมี่และอาร์เอสมีการคุยกันมานานแล้วแต่หลาย ๆ อย่างยังไม่ลงตัว จนกระทั่งจังหวะเวลาได้ ทั้ง 2 ค่ายจึงจัดตั้งกิจการร่วมการค้า (JOINT VENTURE) อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส เพื่อจัดงานคอนเสิร์ตร่วมกัน โดยทุกอย่างแบ่งครึ่งเท่า ๆ กันทั้งการลงทุนและผลกำไร ขณะที่แต่ละค่ายก็จะทำในสิ่งที่ถนัด เช่น แกรมมี่ดูเรื่องการขายบัตร, งานโปรดักชั่น, งานครีเอทีฟ ส่วนอาร์เอสมองในภาพรวม ดูเรื่องงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

“ไม่มีใครจีบใครก่อน แต่จีบกันไปกันมาในช่วง 5 ปีมานี้ แต่เพราะจังหวะยังไม่เหมาะสม จนกระทั่งช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย และอาร์เอสก็ประกาศกลับมาทำเพลงอีกครั้ง การพูดคุยก็เลยลงตัว ซึ่งหัวใจสำคัญของดีลนี้ เรามองว่ามันคือ ความเท่าเทียมและความไว้ใจ”

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ทำปีเดียวไม่ได้ เพราะศิลปินเยอะ

เบื้องต้น คอนเสิร์ตที่จะจัดจะเป็น ซีรีส์คอนเสิร์ต (SERIES CONCERT) ของศิลปินยุค 90 และ 2000 เบื้องต้นจะจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 รอบ และจะจัดต่อเนื่องยาว 3 ปี ซึ่งสาเหตุที่ต้องจัดคอนเสิร์ตเป็นซีรีส์เพราะจำนวนศิลปินที่มีมากกว่าร้อยชีวิต ครอบคลุมทุกแนว ดังนั้น แต่ละคอนเสิร์ตก็จะมีธีมและศิลปินที่แตกต่างกันไป โดยจะประกาศปีต่อปี ซึ่งในปี 2023 นี้จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ตามลำดับ

การเลือกศิลปินเรายึดจากช่วงปี 90 ถึง 2000 เพราะถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด และเรามองว่าเพลงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีอายุไขแม้จะมีกระเเสใหม่ ๆ เข้ามา และจากพฤติกรรมทั่วโลกพบว่าคนฟังเพลงใหม่ ๆ 15% อีก 85% เป็นการฟังเพลงเก่า”

วางเป้า 3 ปีทำรายได้ 660 ล้านบาท

เบื้องต้น การลงทุนทำคอนเสิร์ตแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้ 220 ล้านบาท ทำกำไรประมาณ 50% โดยคาดว่าคอนเสิร์ตแต่ละครั้งจะสามารถจุดผู้ชมได้ 10,000 คน หรือประมาณ 60,000 คน/ปี ราคาบัตรอยู่ที่ 2,000-6,000 บาท

นอกจากนี้ ทุกคอนเสิร์ตยังเปิดรับสปอร์นเซอร์ ปัจจุบันมีประมาณ 10 แบรนด์ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ซึ่งยังคงเปิดรับอยู่แต่ไม่ได้อยากจะเปิดรับมากเกินไป เพื่อให้ทุกแบรนด์สามารถเป็นที่จดจำได้

“เรามองการขายบัตรเป็นรายได้หลักส่วนสปอนเซอร์เป็นรายได้เสริม ซึ่งเราอยากทำคอนเสิร์ตไปยาว ๆ ไม่อยากให้มันจบ ดังนั้น จำนวนสปอนเซอร์ก็รับตามความเหมาะสม แต่ยอมรับราคาสปอนเซอร์อาจแพงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่แบรนด์รับได้ ส่วนราคาบัตรยังอยู่ในระดับปกติภาวิต เสริม

ไม่ปิดกั้นโอกาสอื่น

วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 ค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอสสามารถสร้างเม็ดเงินให้อุตสาหกรรมเพลงไทยได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าการจัดคอนเสิร์ตร่วมกันในครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสุขให้ผู้ชม จะยังช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงไทยสามารถเติบโตได้ เพราะการมีคอนเสิร์ตที่ทำรายได้ปีละ 200 ล้านบาทก็เท่ากับตลาดโต 20%

นอกจากนี้ยังระบุว่า คอนเสิร์ตเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสอื่น ๆ ให้ได้ทำอีก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองค่ายอาจต้องมาคุยเรื่องทิศทางต่อไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าฟีดแบ็กของผู้ชมจะเป็นอย่างไร เห็นโอกาสอะไร แต่ต้องมาประเมินอีกที

“อาร์เอสมองว่า การทำธุรกิจสมัยนี้เราสามารถมีพาร์ตเนอร์ได้ในหลาย ๆ รูปแบบ การร่วมกับแกรมมี่ก็เป็นอีกพาร์ตเนอร์ชิปหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นโอกาส ซึ่งทั้งเราทั้งแกรมมี่ต่างก็ไม่ปิดกั้นโอกาส เรามองหาโอกาสที่จะมาต่อ ยอดซึ่งกันและกัน”

(ซ้าย) วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

เป็นคู่แข่งไม่ใช่ศัตรู

ภาวิต ย้ำว่า อุตสาหกรรมเพลงไทยเองยังคงเติบโตได้อย่างมหาศาลเพียงแต่มันหมดยุคเทป, ซีดีมาสู่ยุคดิจิทัล หารายได้จากสตรีมมิ่ง Artist Management และคอนเสิร์ต ขณะที่ตลาดเพลงทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 9-12% ดังนั้น การเติบโตยังทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาพการแข่งขันก็เปลี่ยนไป ต้องแข่งขันกับเพลงทั่วโลก ค่ายเพลงใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อย ๆ แต่ค่ายก็ร่วมมือกับทุกค่าย เพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้เวลากับใคร ดังนั้น การแข่งขันในปัจจุบันมันไม่ใช่ว่าใครดีกว่าใคร แต่มันคือการแย่งเวลาผู้บริโภคมากที่สุด

“เราอยากสร้างประวัติศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสอยากทำให้เกิดขึ้น เพราะโอกาสแบบนี้บางทีร้อยปีอาจไม่เกิดขึ้น การที่เราเป็นคู่แข่งกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน เราอยากทำให้เห็นว่ามันร่วมมือกันได้ ตอนนี้การแข่งขันในปัจจุบันมันไม่ใช่ว่าค่ายไหนดีกว่ากัน แต่มันคือใครแย่งเวลาผู้บริโภคมากที่สุดคนนั้นชนะ”

]]>
1425197
การอำลาของ GOT 7 อาจทำให้ JYP ค่ายเพลงใหญ่เกาหลี เสียส่วนเเบ่งตลาดในต่างประเทศ? https://positioningmag.com/1313771 Tue, 12 Jan 2021 13:39:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313771 บีบหัวใจเเฟนคลับ K-Pop กับข่าวช็อกในช่วงวันที่ผ่านมา เมื่อ JYP Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ยืนยันว่า ‘GOT7’ วงบอยเเบนด์ยอดนิยม จะไม่ต่อสัญญาที่กำลังจะหมดลงในเดือนนี้ หลังประสบความสำเร็จเเละโลดเเล่นในวงการเพลงมานาน 7 ปี

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม นี่ยังไม่ใช่จุดจบ เเต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น พวกเราทั้ง 7 คนจะยังคงเดินหน้านำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของพวกเราให้ทุกคนได้เห็นกันต่อไปอย่างแน่นอน #GOT7FOREVER” มาร์ค หนึ่งในสมาชิก GOT7 โพสต์ข้อความส่งถึงเเฟนๆ โดยทั้ง 7 คนกำลังจะแยกย้ายกันไปเริ่มต้นใหม่ตามเส้นทางของตัวเอง

  • คิมยูคยอม จะย้ายไปทำเพลงกับค่าย AOMG ซึ่งเป็นค่ายของศิลปินชื่อดังอย่าง Jay Park
  • ปาร์คจินยอง จะหันไปโฟกัสงานแสดง โดยมีข่าวว่าจะเซ็นสัญญากับ BH Entertainment ค่ายนักเเสดงใหญ่ของเกาหลีใต้
  • ชเวยองแจ ได้รับคำเชิญจาก Sublime Entertainment ค่ายที่มีศิลปินดังในสังกัดอย่าง ซงคังโฮ
    เรน ฮานิ EXID คิมฮีจอง ฯลฯ 
  • อิมแจบอม ได้รับการติดต่อจากหลายค่าย แต่ยังไม่คอนเฟิร์ม บางข่าวระบุว่าอาจได้รับการติดต่อจาก BH Entertainment
  • แจ็กสัน หวัง มีเเผนจะทำงานทั้งในเกาหลีใต้และจีน โดยมี Team Wang เป็นผู้ดูแล
  • มาร์ค ต้วน จะกลับบ้านเกิดที่สหรัฐฯ และอาจเปิดช่อง YouTube ของตัวเอง รวมไปถึงทำเพลงเองต่อไป
  • แบมแบม กันต์พิมุกต์ มีเเผนจะทำงานทั้งในไทยและเกาหลีใต้ โดยมีข่าวลือว่าอาจจะเซ็นสัญญากับค่าย Makeus Entertainment

การที่ค่ายเพลงต้องเสียศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปทั้ง 7 พร้อมๆ กันครั้งนี้ ทำให้หลายคนมองว่า JYP Entertainment ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าพ่อวงการบันเทิงเกาหลี’ อาจสูญเสียส่วนเเบ่งสำคัญในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงเม็ดเงินมหาศาลที่เคยได้จากฐานเเฟนคลับ ‘นานาชาติ’ 

JYP จะเสียส่วนเเบ่งการตลาดในต่างประเทศอย่างไร ?

ในสมัยก่อนวงการเพลงเกาหลี จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสามค่ายใหญ่อย่าง SM , JYP เเละ YG หรือที่เรียกกันติดหูว่า “Big 3” ก่อนถูกค่ายเล็กๆ ที่เติบโตเร็วอย่าง Big Hit เเซงหน้า ด้วยอานิสงส์ความสำเร็จของบอยเเบนด์ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการดนตรีโลกอย่าง BTS

JYP Entertainment ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1997 โดยปาร์คจินยองปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท มีศิลปินชื่อดังในสังกัดที่ผ่านมา อย่าง Rain, g.o.d , Wonder Girls, 2PM, TWICE เเละ GOT7 โดยในช่วงต้นปี 2020 เเม้จะประสบวิกฤตโรคระบาด เเต่ค่าย JYP ก็โกยรายได้นำมาเป็นอันดับหนึ่ง

สำหรับ GOT7 เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2014 ด้วยคาเเร็กเตอร์ที่ชัดเจนของสมาชิกที่มาจากหลายเชื้อชาติ พร้อมเเนวเพลงที่เป็นสากล การเเสดงที่มีศักยภาพเเละมีส่วนร่วมในการทำเพลง ทำให้ชื่อเสียงของวงนี้ติดตลาดได้ไม่ยากนัก

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา GOT7 มียอดขายอัลบั้มทั้งเวอร์ชั่นเกาหลีเเละญี่ปุ่น รวมกันถึง 4.3 ล้านอัลบั้ม เเละมีหลายอัลบั้มสามารถขายได้เกิน 1-2 เเสนอัลบั้มภายใน 7 วันเเรก โดยในปี 2016 GOT7 มีคอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก โดยที่มีชื่อว่า ‘GOT7 1st CONCERT FLY’ จัดเเสดงในหลายประเทศ ก่อนจะมีคอนเสิร์ตระดับโลกตามมาอีกหลายรายการ

อ่านเพิ่มเติม : GOT7 Sales Summary

GOT7 จึงถือเป็นวงข้ามชาติของ JYP Entertainment ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ตามบ้านเกิดของศิลปิน พร้อมการสื่อสารด้านภาษาที่หลากหลาย โดยมีฐานเเฟนคลับขนาดใหญ่ในจีน ไทย อาเซียนเเละอเมริกา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเหล่าเเฟนคลับต่างชาติ ก็มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นตามกระเเส K-Pop ที่ฮอตฮิตไปทั่วโลก ถือว่ามีความสำคัญไม่เเพ้ตลาดในเกาหลี

สำหรับในตลาดไทย GOT7 นับว่าเป็นวงที่ได้รับความนิยมสูงมาก มีฐานเเฟนคลับหลายช่วงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นวัยเรียน ไม่เพียงแต่ความนิยมใน ‘แบมแบมที่เป็นสมาชิกคนไทยเท่านั้น แต่สมาชิกคนอื่นก็มีโอกาสได้ร่วมงานที่ประเทศไทยบ่อย ๆ ทั้งงานถ่ายแบบโฆษณาและนิตยสาร

รวมไปถึง แฟนมีตติ้งและการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่หลายต่อหลายครั้งในไทย โดยล่าสุดเคยมีตารางขึ้นแสดงที่ราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งก็มียอดซื้อบัตรจองเต็มทุกที่นั่ง เเต่ก็ต้องประกาศเลื่อนออกไป เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19

ผลกระทบจากโรคระบาด สะเทือนทั้งอุตสาหกรรมดนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในวงการเพลงเกาหลีที่มีจุดขายคือ ‘เเฟนเซอร์วิส’ โดยการที่งานคอนเสิร์ตเเละเเฟนมีตติ้ง ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในรายได้ก้อนใหญ่จากเเฟนคลับต่างชาตินั้นได้หดหายไป ก็ส่งผลไม่น้อยกับศิลปินที่มุ่งตีตลาดในต่างประเทศ 

หลังข่าวยืนยันการไม่ต่อสัญญาของ GOT7 ทั้ง 7 คน แฟนๆ ก็ได้ร่วมกันโพสต์ข้อความ ความประทับใจที่มีต่อหนุ่มๆ จนแฮชแท็ก #GOT7FOREVER ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ในหลายประเทศ พร้อมแฮชแท็ก
#ลาแล้วเจวายพี ก็ขึ้นติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ประเทศไทยในทันที ซึ่งมีความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับประเด็น การดูเเลเเละไม่โปรโมตศิลปินอย่างเต็มที่ของค่าย JYP 
จากเเฟนคลับทั้งในเกาหลีเเละต่างประเทศ 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนเเบ่งการตลาดในจีนเเละไทยของ JYP Entertainment จะหายไปอย่างมากเมื่อขาด GOT7 โดยมีเเฟนคลับจำนวนหนึ่งยืนยืนว่า พวกเขาจะไม่ให้การสนับสนุนค่ายนี้อีกต่อไป บางคนถึงขั้นบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะสั่นสะเทือนตำเเหน่งใน “Big 3” ของ JYP ในวงการเพลงเกาหลีเลยทีเดียว 

 

ต้องดูกันว่าทิศทางของ JYP Entertainment จะเป็นอย่างไรหลังไม่มีวงบอยเเบนด์ดาวรุ่ง พร้อมติดตามผลงานบน ‘เส้นทางใหม่’ ของหนุ่มๆ ทั้ง 7 คนต่อไปด้วยเช่นกัน 

 

ที่มา : Billboard , Meaww , Soompi

 

]]>
1313771
เปิดเส้นทาง 11 ปี “นาดาวบางกอก” จากกำไร 26,000 บาท สู่โปรดักชั่นมือทองของ GDH https://positioningmag.com/1301319 Thu, 15 Oct 2020 17:15:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301319 เเม้ชื่อของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” จะเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เริ่มต้นได้สวยงาม จากหนังดังในตำนานอย่าง “แฟนฉัน” มาตั้งเเต่ปี 2546 เเต่เส้นทางการพลิกบทบาทสู่ผู้บริหาร ปลุกปั้น “นาดาวบางกอก” มากว่า 11 ปีนั้น ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก

จากผู้กำกับร่วมในเเฟนฉัน ลงสนามเป็นผู้กำกับเดี่ยวในภาพยนตร์เด็กหอ ตามมาด้วย 5 แพร่ง, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และวัยรุ่นพันล้าน โกยความสำเร็จไปด้วยดี เเต่จากนั้นเขาตัดสินใจออกจาก Safe Zone ด้วยการมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ “นาดาวบางกอก” ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นเพียงแค่บริษัทดูแลศิลปินในสังกัดของ GTH

ย้อนความหลัง : วันที่ “นาดาว” เกือบต้อง “ปิดบริษัท” 

ช่วง 3-4 ปีเเรกของนาดาว ลุ่มๆ ดอนๆ มาก ตอนนั้นจับทางไม่ได้ว่าการพัฒนาศิลปินเเล้วมาทำรายได้อย่างไร จนกระทั่งถึงตอนถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ซึ่งตอนนั้นเกือบจะปิดกิจการบริษัทไปเเล้ว เพราะปีนั้นทำกำไรเเค่ 26,000 บาท

ย้งเล่าย้อนไปในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาของนาดาว ว่า ซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” ซีซัน 1 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ช่วย “กู้วิกฤต” ให้เขาไม่ต้องทำธุรกิจ “เจ๊ง” 

ช่วงเริ่มเเรก นาดาวบางกอก มีทีมงานเพียงแค่ 7-8 คนเท่านั้น โดยระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ ซีซัน 1 นั้นถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ “คนทั้งออฟฟิศ” มาทำงานเดียว จนทำให้ไม่มีเวลาไปรับงานอื่น ไม่มีรายได้เข้ามา จึงทำให้ผลประกอบการของนาดาวในปีนั้นมีกำไรเพียงแค่ 26,000 บาท (เป็นตัวเลขที่พนักงานรุ่นเก่าจำได้ขึ้นใจ)

ตอนนั้นรู้สึกท้อ คิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่เราทำไม่เป็นจริงๆ เเหละ…ทำใจเเล้ว ตอนฮอร์โมนส์ฯ ออกฉาย เราหา
สปอนเซอร์ได้เเค่เจ้าเดียว พอฉาย 2 ตอนเเรก กระเเสเริ่มมีบ้างประปราย ก็คิดว่าเราก็จะ “จบสวยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) พอฉายไปจนจบซีซัน กระเเสตอบรับดีเกินคาด ผู้ชมเเละสปอนเซอร์ถามหาเยอะ ตอนนั้นเเหละผมถึงมีความคิดว่าต้องไปต่อ ซึ่งซีซัน 2 ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บริษัทมีทุกวันนี้

จากซีรีส์ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น นาดาวบางกอก ขยับฝ่ายโปรดักชั่นไปต่อยอดทำออริจินัลคอนเทนต์ ให้กับ LINE TV เเละทำซีรีส์ที่เจาะตลาดคนทุกวัยอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซัน 1

รายได้ของ “นาดาว” มาจากอะไรบ้าง 

ปัจจุบันงานหลักๆ ของนาดาวบางกอก มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ ฝ่ายดูแลพัฒนาศิลปินนักแสดง ฝ่ายโปรดักชั่นผลิตซีรีส์คอนเทนต์ และค่ายเพลง Nadao Music

ด้วยความที่ธุรกิจของนาดาวขึ้นอยู่กับคนอื่นเยอะทั้งลูกค้าเเละสปอนเซอร์ พรีเซ็นเตอร์เเละอีเวนต์ต่างๆ จึงทำให้คาดการณ์รายได้ยากว่าในเเต่ละปีบริษัทจะโตเท่าไหร่ โดยรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ราว 270 ล้านบาท

เเบ่งรายได้ของนาดาวง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ได้เเก่ ดูแลศิลปินและนักแสดง ราว 60% ส่วนอีก 40% มาจากการทำซีรีส์และคอนเทนต์ต่าง ๆ

ที่น่าสนใจคือกำไรที่ได้นั้นกลับสวนทางกัน โดยฝ่ายโปรดักชั่น เเม้จะมีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เเต่ทำกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายเเล้วได้ประมาณ 20-30% ขณะที่ส่วนดูเเลศิลปิน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้จากค่าตัว มักจะถูกแบ่งให้กับศิลปินในสัดส่วนที่มากกว่า เเละเมื่อหักลบอะไรต่าง ๆ แล้ว จึงเหลือเป็นกำไรกลับมายังบริษัทเพียงแค่ประมาณ 8-15% ต่องานเท่านั้น

ช่วงที่จัดอีเวนต์ไม่ได้ หายไปเลยกว่า 2 เดือนที่ล็อกดาวน์นั้น กระทบงานส่วนดูเเลศิลปินโดยตรง เพราะรายได้ศิลปินทั้งหมดมาจากงานอีเวนต์ราว 20% พรีเซ็นเตอร์ 70% เเละออนไลน์ 10%”

ยัง เล่าลึกลงไปถึงการลงทุนในโปรดักชั่นว่า ซีรีส์ส่วนใหญ่ของนาดาว มีต้นทุนต่อตอนราว 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าละครในช่วง Prime-Time ของทีวีช่องใหญ่ทั่วไป ที่มักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านบาท

การจะให้ลดต้นทุนโปรดักชั่นเพื่อเพิ่มกำไร ไม่ใช่ทางของนาดาว มันเป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพ รายละเอียดของงาน เพราะคนทำงานก็มาจากคนทำหนัง พอลงมาทำสเกลเล็กกว่าอย่างซีรีส์ ค่าตัวของทีมงานก็ยังเหมือนเดิม มีซีนเยอะขึ้นก็มีค่าตัดต่อเพิ่มอีก เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในเเต่ละปี จึงได้ชมซีรีส์จากนาดาวเพียง 1-2 เรื่อง

โดยตอนนี้รายได้ของนาดาวบางกอก มาจากในประเทศ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากจีนที่ซื้อซีรีส์ไปฉาย)

ความท้าทายของธุรกิจ “ดูเเลศิลปิน” 

ตอนนี้นาดาวบางกอก มีศิลปินอยู่ในสังกัด 36 คน การทำงานกับ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดความอ่านเเตกต่างกันตามเจเนอเรชันนั้น “ไม่ใช่งานง่ายๆ”

ทรงยศ บอกว่า นโยบายของนาดาวยังคงเหมือนเดิม คือ การพัฒนาคนขึ้นมาให้เป็นนักเเสดงเเละศิลปินที่ดีพอให้คนข้างนอกมาจ้าง อยากทำงานกับพวกเขา ไม่ใช่วนเล่นหนังให้กับ GDH หรือนาดาว

ถ้าเห็นน้องคนไหนไปทำงานข้างนอกเยอะๆ ไม่ได้ทำนาดาวเลย นั่นคือนักเเสดงที่เราภูมิใจนะ เราพยายามส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์ มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาตัวรอด ทำงานกับผู้จัดข้างนอกได้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าภูมิใจในสิ่งที่เราทำมา เเละน้องๆ ก็ได้ออกไปทำในสิ่งที่อยากทำด้วย

“เเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เเผนการตลาดเเละสื่อสารองค์กรของนาดาวบางกอก เสริมว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่ศิลปินอยู่กับเราตั้งเเต่เด็กจนโต ทำให้เห็นความเปลี่ยนเเปลง พอเป็นวัยรุ่นก็ต้องใช้เหตุผลคุยกัน มุมหนึ่งก็คุยกันง่ายขึ้น เเต่อีกมุมเขาก็เริ่มมีทัศนคติ มีเเนวคิดของตนเอง

อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินยังอยู่กับนาดาว” ?

ย้งตอบว่าผมไม่เคยถามน้องๆ นะ เเต่เดาว่า คงเป็นการที่เราอยู่เเบบพี่น้อง การทำสัญญากับนาดาวไม่มีการผูกมัด ถ้าศิลปินรู้สึกว่าวันหนึ่งไม่อยากทำเเล้ว อยากยกเลิกสัญญา ก็ทำ เมื่อไหร่ก็ได้ เเต่ต้องมาคุยกันก่อน มีเหตุผลที่เข้าใจได้เเละไม่มีอะไรค้างคา ทำงานเเบบรับผิดชอบต่อกัน เรื่องการบริหารคนก็มีปัญหาหยุมหยิมไปหมด เเต่ต้องคุยกันให้เข้าใจ ให้รู้สึกสบายใจ

ย้ง ทรงยศเเละเเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา สองผู้บริหารของนาดาวบางกอก

ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เฟ้นหาเด็กมา “ปั้นเป็นดารา” อย่างไร มองจากอะไร ?

ผมว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เวลาเเคสติ้งนักเเสดงมาเล่นหนังก็เจาะจงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องรสนิยมส่วนตัว เเต่เด็กที่ทำให้เราสนใจได้ ต้องมีคาเเร็กเตอร์บุคลิกเฉพาะตัวของเขา เช่น เดินมาเเล้วพูดอะไรบางอย่าง เเล้วเราจำเด็กคนนี้ได้ ไม่ใช่เเค่เรื่องหน้าตาเท่านั้น เเต่ชวนมอง มองได้ไม่เบื่อ

นาดาวบางกอก มีการเสริมทักษะให้ศิลปินต่างๆ เริ่มจากการให้เรียนการเเสดงก่อนจากนั้นค่อยๆ ให้เข้าสู่โปรเจกต์ที่ไม่ยากเกินตัว เวลาส่งศิลปินไปเเคสติ้งงาน ก็อยากรู้ฟีดเเบ็กจากลูกค้าว่าทำไมเลือกศิลปินเรา เเละทำไมไม่เลือก เพื่อนำมาปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป

ความเป็นเด็กนาดาว ทำให้มีภาษีกว่าที่อื่นไหม ?

ถ้าเป็นช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีบ้าง มีข้อได้เปรียบว่ารุ่นพี่สร้างภาพจำที่ดีว่าสังกัดนี้ตั้งใจ รับผิดชอบเเละมีทักษะการ
เเสดงที่โอเคระดับหนึ่ง เเต่สุดท้ายเเล้วก็ขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคลว่าตัวเขาเองทำได้ดีเเค่ไหน

Nadao Music กับความฝัน T-POP ระดับเอเชีย

ย้งเล่าว่า การทำค่ายเพลงของนาดาว เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ เเต่เกิดจากการที่มีกลุ่มศิลปินที่มีความสามารถด้านการร้องเพลง โดยสมัยก่อนจะให้ไปเซ็นสัญญากับที่อื่น เเต่พอมาคิดดูเเล้ว คงถึงเวลาเเล้วที่นาดาวจะต้องจะทำเองเพื่อซัพพอร์ตความสามารถของศิลปิน

เมื่อพอคิดจะมียูนิตนี้ อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ ด้วยความบังเอิญที่ตอนนั้นซีรีส์รักสุดใจนายฉุกเฉิน เเล้วทำเพลงประกอบ “รักติดไซเรนเกิดกระเเสฮอตฮิตขึ้นมา จึงเป็นการปูทางให้บริษัทได้เรียนรู้การทำตลาดจากเพลงจริงจัง โดยตอนนี้มีเบลสุพล นักร้องชื่อดัง มานั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่

ล่าสุดมีศิลปินในสังกัด 6 คน คือ เจเลอร์ กฤษณภูมิ , ไอซ์ พาริส , กัปตัน ชลธร , บิวกิ้น พุฒิพงศ์ , แพรวา ณิชาภัทร เเละนาน่า ศวรรยา โดยมีเเผนจะเพิ่มศิลปินในอนาคต เเต่ขอโฟกัสที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีก่อน

ถ้าถามว่านาดาว บางกอกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องขอบคุณซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ถ้าถามว่าเกิด Nadao Music ได้ยังไง ก็ต้องขอบคุณเพลงรักติดไซเรน

ความคืบหน้าของ Nadao Music นั้น ย้งบอกว่า เพิ่งเปิดตัวเป็นปีเเรก…ต้องสู้กันอีกยาวยังยากลำบากเเละผลประกอบการก็ยังน่าเป็นห่วง เเต่ไปต่อเเน่นอน

ผู้บริหารนาดาว มองว่า เเม้ธุรกิจค่ายเพลงจะอยู่ในช่วงขาลง เเต่วงการนี้ยังมี “ลู่ทาง” ที่จะไปต่อได้ เช่น การขยายฐานตลาดเเฟนเพลงออกไปยังต่างประเทศแทน เริ่มจากประเทศในอาเซียน ที่ตอนนี้นาดาวมีฐานแฟนอยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีน อยู่แล้ว ถ้าเราอยากทำเพลงดี ลงทุนสูง ตลาดในบ้านเรา อาจจะไม่พอ

โดยตั้งเป้าจะเจาะตลาดเอเชียเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่ฝันอยากจะไปให้ถึงก็คือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  เพราะทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมด้านบันเทิงที่แข็งเเกร่งมาก

ถ้าถามว่าเป้าหมายอยากทำ T-POP ให้โด่งดังในระดับเอเชียไหม คำตอบคืออยากมาก เเต่จะสำเร็จไหมก็ต้องดูกันยาวๆ”

ซีรีส์วาย ต้อง “หลากหลาย” ถ้าอยากไปต่อ

นาดาวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าเเรกๆ ที่ลงสนามมาทำ “ซีรีส์วาย” จนตอนนี้กลายเป็นกระเเสฮิตติดลมบนไปเเล้ว

“เรากำลังทำความเข้าใจเเละเรียนรู้ตลาดซีรีส์วายอยู่ตลอด เเต่ไม่ได้มองว่าพอตลาดมันฮิตเเล้วค่อยลงไปทำ เเต่เราทำเพราะทีมงานเราอยากทำ มาเสนอโปรเจกต์ที่เห็นว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาเเละพอจะขายได้ เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็เป็นการต่อยอดการเเสดงของ #พีพีบิวกิ้น จากบทหมอเต่าทิวเขาในละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”

ผู้บริหารนาดาว มองว่า ตลาดซีรีส์วาย ถือว่าเติบโตเร็วเเละใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เเม้ทุกวันนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม เเต่เป็นกลุ่มที่กว้างมาก ทำให้เราเห็นว่าโลกทุกวันนี้ สิ่งที่เป็น Niche Market จะกลายเป็นตลาดเเมส ไม่มีอะไรที่เเมสจริงๆ เเล้ว ซีรีส์วายก็จะเป็น Niche ที่เเมสไปอีกเเบบหนึ่ง

ผมว่าซีรีส์วาย ถ้าอยากจะไปต่อ เราต้องทำคอนเทนต์ให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เเละมีมาตรฐานชัดเจน

ซีรีส์วายเรื่องใหม่ของนาดาวบางกอก -แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ศิลปินคอนเทนต์กับวิกฤต COVID-19

ทรงยศ กล่าวถึงการปรับตัวของนาดาวบางกอก ในสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ฟังว่า ตอนเเรกก็ตั้งตัวไม่ทัน ต้องเเก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเเทบทุกอย่าง เพราะตอนนั้นถึงเวลาเปิดกล้องถ่ายทำละครแปลรักฉันด้วยใจเธอเเต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ออกไปถ่ายทำไม่ได้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์เเบบวีคต่อวีค

ส่วนมากต้องเจรจากับลูกค้า เพราะการเลื่อนถ่ายทำคือการเลื่อนฉาย เเต่จะเลื่อนไปได้ถึงไหน ตอนนั้นยังไม่รู้ เเต่หลังเราชนฝาได้เพียงสิ้นปี จะข้ามปีไม่ได้ ทั้งปัญหางบประมาณเเละคิวนักเเสดง จากใบเสนอราคาที่เคยเข้าบริษัทเดือนละ 30 ใบ ตอนนั้นเข้าเเค่ 6 ใบ” 

ส่วนธุรกิจดูเเลศิลปินนั้น ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะงานอีเวนต์ต่างๆ ที่บริษัทรับไว้ถูกยกเลิกเพราะสุ่มเสี่ยงเกินไป เหล่าสปอนเซอร์ที่เป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์ได้รับผลกระทบหมด เพราะขายของไม่ได้ จึงมีผลต่อการตัดสินใจในงบที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนซีรีส์สักเรื่องมีทั้งเจ้าที่ยกเลิกเเละระงับโปรเจกต์ไปก่อน

ช่วง COVID-19 ดูเหมือนนาดาวจะเงียบๆ ไม่มีงาน เเต่งานหลักของเราคือการเเก้ปัญหาความวุ่นวายหลังบ้าน เช่น ลูกค้าที่ซื้อพรีเซ็นเตอร์ศิลปินเรา ถ่ายโฆษณาไม่ได้ ออกอีเวนต์ไม่ได้ น้องเราจะช่วยอะไรกลับได้บ้าง ทำอะไรทดเเทนได้บ้าง

เเบรนด์ต่างๆ ก็ปรับตัวเร็ว อย่างการเปลี่ยนให้ศิลปินไลฟ์เองจากที่บ้าน โพสต์รูปกักตัวอยู่บ้านในอินสตาเเกรมเเละทวิตเตอร์ รวมไปถึงให้ศิลปินช่วยไลฟ์ในเเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กระตุ้นขายของ ซึ่งต่อไปการจัดอีเวนต์หรือโปรโมตสินค้า ก็คงต้องเป็นรูปแบบผสมออฟไลน์ออนไลน์

ศิลปินก็ต้องปรับตัว ทำคอนเทนต์กึ่งๆ โฆษณาจากที่บ้านเอง เเต่งหน้าเองเพราะไม่มีกองถ่ายไปดูเเล พวกเขาต้องถ่ายเอง ลองผิดลองถูก มีการทำคอนเทนต์กักตัวเดอะซีรีส์ ทุกอย่างโปรโมตผ่านออนไลน์ ทำให้ได้เข้าใจการใช้เเพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ของศิลปินในยุค New Normal”

หลังคลายล็อกดาวน์ ทีมงานสามารถกลับมาทำงานโปรดักชั่นได้เต็มรูปแบบเเล้ว เดินหน้ากองละครต่อเนื่องได้ตั้งเเต่ช่วงเดือนสิงหาคม ตอนนี้ก็ถือว่ากลับเข้าสู่โหมดปกติศิลปินเริ่มมีงานอีเวนต์เเละลูกค้าหลายๆ เจ้าก็พร้อมเตรียมลุยงานปีหน้าเเล้ว

ใจเราก็อยากโตทุกปี ไม่เคยมีเป้าตัวเลขชัดเจน ขอเเค่ไม่ต่ำกว่าเดิม ปีที่เเล้วเราจบที่ 270 ล้านบาท เเต่เมื่อเจอโรคระบาด ปีนี้ก็คงไม่โตเเน่นอน ต้องลุ้นกันว่าจะไปได้ถึงจุดไหนมากกว่า คาดว่าสินปีนาดาวคงทำรายได้ไม่เกินที่ 230 ล้าน

ผู้กำกับสู่ผู้บริหาร : มุมมองที่เปลี่ยนไป

จริงๆ ผมก็อยากกลับไปเป็นผู้กำกับนะ เเต่ก็ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้บริหารเยอะมาก เรานิ่งขึ้น ได้ใช้สกิลหลายๆ อย่างไปจัดการงานในเชิงสร้างสรรค์

ไม่ได้ชอบงานบริหาร ไม่ได้อินขนาดนั้น เเต่ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกมาก ตลอด 11 ปีที่ผ่านมามีช่วงเครียด มีปัญหารุมเร้า เเต่เพราะได้ทำงานที่เราชอบ กับคนที่เราอยากทำงานด้วย จึงกลายเป็นความท้าทายเวลาต้องลงไปเเก้ปัญหา ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับก็ทำให้เห็นภาพรวม ก็เลยช่วยให้ทำงานบริหารได้

เเม้กลุ่มผู้ชมของนาดาวส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นมัธยมมหาลัยเเต่เวลาทำงานคอนเทนต์จะต้องมองให้ครบทุกเจเนอเรชัน ผลักดันให้ไปถึงทุกกลุ่ม อย่างเช่น ตอนทำละครเลือดข้นคนจางเเรกๆ จะดันศิลปิน 9by9 เเต่เราก็ต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าถึงเยอะที่สุดเเต่ก่อนเราทำหนังทำซีรีส์มา เเม่เราไม่เคยได้ดูเลย เราก็เลยอยากทำเลือดข้นฯ ให้เเม่ดูบ้าง

โดยได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ชมในทุกช่องทาง เช่นการอ่านคอมเมนต์ใน “ทวิตเตอร์” ซึ่งเขามองว่าเป็นฟีดเเบ็กที่สดเเละจริง เพราะคนดูเเล้วรู้สึกอย่างไรก็ทวีตออกมาเลย

“ผมสนใจคำติมากกว่าคำชมด้วยซ้ำ เพราะเราจะได้รู้ทิศทางว่าควรพัฒนางานเราต่อไปยังไง” 

ในวันที่ “ย้ง-ทรงยศ” ขยับจากผู้กำกับมาเป็นผู้บริหาร เเละนาดาวประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มภารกิจ
“ส่งไม้ต่อ” ให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับละคร ฉลาดเกมส์โกง เเละ บอสนฤเบศ กูโน ผู้กำกับ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ เเละแปลรักฉันด้วยใจเธอ

“การปั้นคนทำงานยังเป็นความท้าทายของเราอยู่ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาถึงวันที่นาดาวมีพนักงาน 50 คน จากจุดเริ่มต้น 7-8 คน ตอนนี้มองว่าการที่เราจะไปต่อได้ไกลๆ ยังไงก็ต้องสร้างคนทำงาน จะสร้างเเค่ศิลปินไม่ได้ นาดาวจะพยายามเดินไปในเส้นทางที่ทำงานในปริมาณที่เราทำได้ดี อยู่มือเเละควบคุมภาพได้ต่อไป

 

 

]]>
1301319
ระดมทุนเพื่อขยายตัว! Big Hit ค่ายต้นสังกัด BTS บอยแบนด์เกาหลี พร้อมเข้า “ตลาดหุ้น” https://positioningmag.com/1292608 Fri, 14 Aug 2020 09:24:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1292608 Big Hit Entertainment คืบหน้าไปอีกขั้นในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ หลังตลาดหุ้นรับรองในเบื้องต้นให้บริษัทเปิด IPO ได้ โดย Big Hit คือค่ายต้นสังกัดที่สร้างตำนานวงบอยแบนด์เกาหลี BTS หรือ บังทันโซยอนดัน วงเคป็อปวงแรกที่เจาะตลาดสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จอย่างเต็มภาคภูมิ

หลังจาก Big Hit Entertainment หรือ BHE ยื่นไฟลิ่งรอบแรกกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ต่อมาในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม สำนักงานกำกับดูแลตลาดหุ้นเกาหลีได้ตอบกลับเบื้องต้นแล้วว่า Big Hit มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเปิด IPO เสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก

โดยหลังจากนี้บริษัทจะต้องลงรายละเอียดหุ้นที่จะเสนอขายกับคณะกรรมการบริการทางการเงินภายใน 6 เดือน ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ออกมาว่าจะเสนอขายจำนวนกี่หุ้นในราคาเท่าใด แต่บริษัทได้แต่งตั้ง JP Morgan, NH Investment & Securities และ Korea Investment & Securities ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แล้ว

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นจากการยื่นไฟลิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม Big Hit ระบุว่าในปี 2562 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 85.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโต 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีรายได้รวม 508 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตถึง 95% จากปีก่อนหน้า ด้านยอดขายอัลบัมทำได้รวมทั้งหมด 6 ล้านแผ่น

 

View this post on Instagram

 

#BTS #방탄소년단 #MAP_OF_THE_SOUL_7 Concept Photo version 1

A post shared by BTS official (@bts.bighitofficial) on

การระดมทุนของ BHE ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเสริมแกร่งการปรับโครงสร้างบริษัทไปสู่โมเดลธุรกิจแบบ “แตกไลน์หลายค่ายย่อย” ภายใต้เครือเดียวกัน เพื่อทำให้รายได้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว “BTS ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในฐานะศิลปินเกาหลีขณะที่ทั้งวง Tomorrow X Together และ Gfriend ก็กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังมีเด็กฝึกในค่ายอีกจำนวนมากที่อยู่ในไปป์ไลน์แล้ว” BHE กล่าวในแถลงการณ์เตรียมเข้าจดทะเบียน

โมเดลการมีหลายค่ายย่อยในเครือเริ่มขึ้นแล้วจากที่ Big Hit เข้าซื้อกิจการค่ายอย่าง Source Music และ Pledis โดยค่ายหลังนี้คือต้นสังกัดของวง Nu’Est และ Seventeen นอกจากนี้บริษัทยังเทกโอเวอร์บริษัทเกม Superb Corp. เข้ามาไว้ใต้อาณาจักรด้วย

บังชีฮยอก ผู้ก่อตั้ง BHE (photo : bighitcorp.com)

เพื่อเตรียมตัวเปิด IPO ตลาดหุ้น บริษัทยังปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่อีกครั้ง โดย “บังชีฮยอก” ได้รับแต่งตั้งกลับมาเป็นประธานกรรมการและซีอีโอ “เลนโซ ยุน” เป็นซีอีโอโกลบอล (ดูแลธุรกิจสากล) และ “ปาร์คจีวอน” เป็นซีอีโอประจำสำนักงานใหญ่

ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันว่าผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ BHE ก็คือ “บังชีฮยอก” ผู้ก่อตั้งบริษัท และรองลงมาคือ “บังจุนฮยอก” ลูกพี่ลูกน้องของชีฮยอก เศรษฐีเกาหลีใต้เจ้าของบริษัทเกม Netmarble

นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าจับตาของ Big Hit Entertainment ค่ายศิลปินนักร้องเกาหลีใต้ค่ายเล็กๆ แต่เติบโตเร็วเพราะ BTS ดังเป็นพลุแตก นำความสำเร็จมาให้ทั้งค่ายต้นสังกัดและประเทศเกาหลีใต้ที่พยายามผลักดันการส่งออกวัฒนธรรมมาเนิ่นนาน

Source

]]>
1292608
Warner Music เดินหน้า “ไอพีโอ” หลัง “สตรีมมิ่ง” เป็นขุมทองใหม่แห่งวงการดนตรี https://positioningmag.com/1281016 Thu, 28 May 2020 09:42:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281016 ค่ายเพลง Warner Music Group ต้นสังกัดศิลปินดังอย่าง Ed Sheeran เดินหน้าเปิดไอพีโอ ระดมทุนจากตลาดหุ้น โหนกระแสสตรีมมิ่งมาแรง ตีมูลค่าบริษัทสูงถึง 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม COVID-19 คือปัจจัยลบ ทำให้ปีนี้รายได้อาจหดตัวลงหลังคอนเสิร์ตถูกยกเลิกทั่วโลก

ค่ายเพลง Warner Music Group บริษัทต้นสังกัดของศิลปินระดับโลก เช่น Ed Sheeran, Cardi B, Led Zeppelin ฯลฯ ประกาศเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2020 ว่า บริษัทจะเดินหน้าเข้าไอพีโอในตลาดหุ้น NASDAQ โดยประเมินมูลค่าบริษัทไว้สูงถึง 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 บริษัทนี้ถูกเข้าซื้อกิจการโดย Access Industries บรรษัทขนาดใหญ่ภายใต้การนำของ Len Blavatnik มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้น อุตสาหกรรมดนตรีอยู่ในห้วงวิกฤตทั่วโลกจากการรุกรานของโลกอินเทอร์เน็ต

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Cardi B (@iamcardib) on

สำหรับแผนไอพีโอของ Warner Music Group จะเปิดขายหุ้นทั้งหมด 70 ล้านหุ้น คิดเป็น 13.7% ของจำนวนหุ้นสามัญ ในราคาระหว่าง 23-26 เหรียญต่อหุ้น สะท้อนการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ 1.17-1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

หุ้นที่จะจำหน่ายเป็นสัดส่วนหุ้นของ Access Industries ทั้งหมด และบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้รับรายได้จากการขายหุ้น รวมถึงยังคงอำนาจการออกเสียงในฐานะเจ้าของ 99% ของ Warner Music Group (บริษัทมีการถือหุ้นทางอ้อมด้วย)

 

ธุรกิจดนตรีกลับมาผงาด

การขายหุ้น Warner Music Group เพื่อทำกำไรการลงทุนของบริษัทแม่ ฉายภาพการฟื้นคืนชีพของธุรกิจดนตรีหลังจากอุตสาหกรรมนี้ค่อยๆ ทรุดตัวลงตั้งแต่ปี 2001 เมื่อแผ่นซีดีเข้ามาดิสรัปต์ ตามด้วยการมาของอินเทอร์เน็ต ทำให้ยอดขายเทปและแผ่นเพลงแบบออฟไลน์ลดลงต่อเนื่อง

แต่วงการดนตรีฟื้นตัวเมื่อบริการ “สตรีมมิ่ง” ดนตรีได้รับความนิยม ทำให้นักลงทุนกลับมาอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว Tencent Holdings จากจีนเข้าลงทุนสัดส่วนหุ้น 10% ใน Universal Music Group ในราคาที่สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทตีมูลค่า Universal Music Group ไว้สูงกว่า 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ สมาพันธ์อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงสากล (IFPI) ประเมินว่าวงการนี้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อปี 2019 อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกทำรายได้รวมกันกว่า 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2014 ที่วงการเพลงทำรายได้ไป 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และโตขึ้นจากปี 2019 ที่ 6.3%

สตรีมมิ่ง : ขุมทองใหม่ฟื้นคืนชีพให้กับค่ายเพลง

ปัจจุบัน 80% ของบริษัทเพลงอเมริกันเห็นว่าบริการสตรีมมิ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก เทียบกับเมื่อทศวรรษที่แล้ว แทบไม่มีค่ายเพลงไหนนับธุรกิจสตรีมมิ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ของตัวเองเลย (ในประเทศไทย GMM Music รายงานว่ารายได้จากดิจิทัลคิดเป็น 28% ของรายได้รวมเมื่อปีก่อน) แพลตฟอร์มนี้กลายเป็น ‘ขุมทองใหม่’ ให้กับบริษัทบันทึกเสียงและผู้จัดจำหน่ายจากการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงจากศิลปินจำนวนมากที่มองว่าส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์จากบริษัทสตรีมมิ่งตกมาถึงตนเพียงหยิบมือ

Warner Music Group ก็เช่นกัน เมื่อรอบปีบัญชีที่แล้ว (สิ้นสุดกันยายน 2019) บริษัทนี้ทำรายได้จากบริการสตรีมมิ่งไป 4.5 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากรอบปีบัญชีปี 2015 ที่มีรายได้สตรีมมิ่ง 3 พันล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม โรคระบาด COVID-19 กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงของวงการดนตรี ทำให้ Warner Music Group เลื่อนการเปิดไอพีโอมาจากเดิมที่จะเข้าเทรดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และความเสี่ยงนี้ได้ถูกระบุลงไปในรายงานการเปิดขายหุ้น

Goldman Sachs รายงานเมื่อเดือนเมษายนด้วยว่า โรคระบาดจะฉุดรายได้ของค่ายเพลงทั่วโลกลง 25% ปีนี้ เนื่องจากไม่สามารถจัดการแสดงสดได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารายได้จะฟื้นตัวกลับมาในปีหน้า

Source

]]>
1281016
ขายเพลงยุคนี้ ต้องไม่ยึดติดแพลตฟอร์ม แฟนคลับต้องแน่น โจทย์ใหม่ “แกรมมี่” ในวันที่ธุรกิจเพลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป https://positioningmag.com/1150917 Tue, 19 Dec 2017 06:43:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1150917 แกรมมี่ ถือเป็นค่ายเพลงอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ทีมีครบเครื่องทั้งผลิตเพลงเอง ขายเอง และยังเป็นเจ้าของสื่อในมือแบบครบวงจร 

แต่มาวันนี้ ในยุคของเทคโนโลยี ดิจิทัล ส่งผลให้พฤติกรรมคนฟังไม่เหมือนเดิม แกรมมี่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อรับมือกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

แกรมมี่มองว่า ยุคนี้คนฟังเพลงไม่น้อยลง ฟังมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่การฟังเปลี่ยนไป เพราะมีช่องทางการรับฟังที่หลากหลาย เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเทป แผ่นซีดี ดีวีดี ค่อย ๆ หายไป และถูกแทนที่ด้วยระบบสตรีมมิ่ง Streaming ซึ่งกลายเป็น “ช่องทาง” สำคัญต่อไป

สะท้อนถึงภาพรวมของธุรกิจเพลง ที่ได้เปลี่ยนจาก B2C ไปสู่ธุรกิจแบบ B2B ซึ่งเป็นขายคอนเทนต์ผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม อาทิ JOOX, Spotify, LINE, YouTube โดยมีรายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณาอีกที

ดังนั้น โจทย์ของแกรมมี่ จึงต้องทำให้เพลงขยายไปทุกช่องทางให้มากที่สุด เพราะคนยิ่งโหลดมาก แกรมมี่จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้น

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บอกว่า เป้าหมายต่อไปแกรมมี่ ต้องมองหาช่องทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะช่องทางดิจิทัล   เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของมิวสิกวิดีโอ หรือการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งให้ทั่วถึง

ฐานใหญ่ของ “มิวสิกวิดีโอ” คือ ยูทูป (YouTube) ส่วนสินค้า “เพลง” จะผ่านแพลตฟอร์ม JOOX รวมทั้งยังมีพันธมิตรอื่น ๆ อีกราว 7-8 ราย

ภาวิต บอกว่า จุดสำคัญจะต้องไม่อิงกับแพลตฟอร์มเดียว เน้นความหลากหลายของช่องทาง เพื่อให้ “เพลง” เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด

รายได้ของธุรกิจเพลงของแกรมมี่ ผ่านช่องทางดิจิทัลเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเชื่อได้ว่าในอนาคตรายได้จากช่องทางดิจิทัลจะกลายเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญ สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทในอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้เกือบ 50% ของธุรกิจเพลงเวลานี้ มาจากโมเดล Sponsorship การแสดงสด งานโชว์บิซต่าง ๆ การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ โดยแบ่งได้เป็น 6 ส่วน

  1. ธุรกิจ Digital ที่ใหญ่ที่สุด ทั้งแบบ B2B และ B2C
  2. ธุรกิจ Sponsorship
  3. ธุรกิจด้าน Physical จาก งานด้านพรีเมี่ยม เช่น ของสะสม, การออกอัลบั้มใหม่ของศิลปิน และผลงานรวมฮิตเพลงต่าง ๆ
  4. ธุรกิจ Right Management รายได้จากการขายลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่คอนเทนต์
  5. ธุรกิจ Merchandise
  6. ธุรกิจ Show Biz เช่น การแสดงคอนเสิร์ต

มุ่งสู่ content provider

จากสถิติบนโลกออนไลน์ ที่มาจากแชนแนลต่าง ๆ ในยูทูปในกลุ่มของมิวสิก มียอดวิว 37,000 ล้านวิว เฉพาะ GMM Grammy Official มียอดรวมมากกว่า 11,000  ล้านวิว

ทิศทางการพัฒนาคอนเทนต์เพลงของแกรมมี่ จะมุ่งเน้นการเป็น content provider เพิ่มการผลิต คอนเทนต์” เช่น มิวสิกวิดีโอ ที่จะผลิตเพิ่มขึ้นต่อปีไม่ต่ำกว่า 300-400 ชิ้น เพราะดูจากยอดวิวที่เกิน 100 ล้านวิว มาจาก 35  มิวสิกวิดีโอ

สร้างแฟนคลับอาวุธสำคัญปั้นธุรกิจเพลง

เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างของแกรมมี่ คือ การหันมาปั้น Artist Lifestyle หรือการผลิตคอนเทนต์จาก “ศิลปิน” ในสังกัดที่ได้รับความนิยม และการทำเพลงละคร เพื่อเป็นข่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งคอนเทนต์ที่เป็นเนื้อเพลงประกอบภาพ เพื่อรองรับกับการเข้าสู่ยุค Fan-based Marketing

เมื่อดูจากความสำเร็จจาก เป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร ที่กลับมาโด่งดังอีกครั้งจากสวมหน้ากากจิงโจ้ขึ้นเวที The mask singer ซีซั่นแรก  สร้างความประทับใจ จนมีเหล่า นุชชี่ เป็นแฟนคลับเหนียวแน่น ไม่ว่าจะทำเพลง ทำกิจกรรมที่ไหน ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็มีแฟนคลับจำนวนมากคอยสนับสนุน คอยเชียร์ ทั้งในออนไลน์ออฟไลน์ จนถือเป็นกรณีศึกษาการตลาดที่ต้องเอาอย่าง

น่าจะเป็นหนึ่งในเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้ แกรมมี่ ต้องหันมาให้เทน้ำหนักกับการมุ่งปั้นแฟนคลับ และกำหนดให้เป็นกลยุทธ์สำคัญในปีหน้า

แกรมมี่ บอกว่า ปีหน้าจะมุ่งสร้างกลยุทธ์การสร้าง แฟนเยียร์ (Fan Year) เพราะรู้แล้วว่า แฟนคลับ เป็นกำลังสำคัญของธุรกิจเพลง ที่จะสร้างโอกาสประสบความสำเร็จง่ายขึ้น

แฟนคลับคือผู้มีอิทธิพลในการเผยแพร่ผลงานของศิลปิน ได้มากกว่าสื่ออื่น ๆ ดังนั้นกิจกรรมที่จะจัดขึ้น  จะพยายามให้ตอบเป้าหมาย จะมีการจัดแฟนมีตติ้งมากขึ้น

เมื่อแยกเป็นแนวเพลง ในส่วนของ เพลงลูกทุ่ง จะเป็นคอนเทนต์หลักที่จะถูกต่อยอดให้หลากหลาย เพราะความนิยมสูง มิวสิกวิดีโอที่ยอดวิวสูง ๆ ก็มาจากเพลงลูกทุ่ง

กริช ทอมมัส ประธานที่ปรึกษา สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บอกว่า เพลงลูกทุ่ง มีทั้งพื้นบ้าน ร็อก ดนตรีประยุกต์ แดนซ์ เหมือนสตริง มีทุกแนวดนตรีอยู่ในนั้น ทุกวันนี้เพลงลูกทุ่งถูกพัฒนาจนเป็นที่นิยมในระดับสากลเหมือนเพลงป็อป โอกาสเพลงลูกทุ่งใหม่ ๆ จะได้ความนิยมมีสูงมาก เพราะคนไทยเปิดกว้าง สื่อเปลี่ยน โลกเล็กลง

เรามีการปรับตัวเรื่องดนตรี เนื้อเพลงก็นำเรื่องที่สนใจมาเล่าให้ฟัง ช่วยให้การเล่าเรื่องของเพลงมีความทันสมัยและถูกใจผู้ฟังมากขึ้น

โดย “ยูทูป” ยังคงเป็นช่องทางที่ถึงตัวผู้ฟังได้ง่ายที่สุด แต่เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคเพลงลูกทุ่งที่ส่วนใหญ่จะเน้นการ ฟัง จะให้น้ำหนักการทำ “เพลย์ลิสต์” จัดเรียงเพลงให้ฟังแบบราบรื่น ไม่เน้นภาพ สังคมไทยทั่วไปก้าวมาสู่คำว่าฟังมากกว่าดู ผู้ฟังก็จะได้ฟังเพลงแกรมมี่มากขึ้น

ในส่วนของมิวสิกวิดีโอ จะเพิ่มความน่าสนใจ และชวนติดตาม เช่น  มิวสิกวีดีโอของ มนต์แคน แก่นคูน ที่มียอดวิวรวม 300 – 400 ล้านวิว ก็มาจากการใช้กลยุทธ์การทำซีรี่ส์ที่เน้นเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม ที่สำคัญ และยังเป็นการโฆษณาอีกแบบหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าทำให้มิวสิกวิดีโอเป็นซีรี่ส์ที่น่าติดตาม จะทำให้คนดูอยากฟังเพลงเพิ่มขึ้น โฆษณาก็จะตามมา

สถิติล่าสุดช่อง Grammy Gold Official มียอดวิวโตต่อเนื่องจากปี 2016–2017 โดยมียอดวิวสูง 1,712  ล้านวิว คิดเป็น 88% และมียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 2 ล้านผู้ติดตาม คิดเป็น 78%   

ผลงานเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นชัดเจนในปีนี้คือ “ไมค์ ภิรมย์พร” เพลง “กลับคำสาหล่า” ที่มียอดวิวตอนนี้ 100 กว่าล้านวิว ในระยะเวลาอันสั้น

“ผมยังเชื่อว่า ถ้าเพลงดี นักร้องดี ดนตรีดี โปรดักชั่นดี เพลงนั้นจะต้องได้รับความนิยม

สำหรับปีหน้า ศิลปินดังทุกคนต้องมีเพลงออกมาครบ โดยเน้นการตลาดเชิง B2B ขยายผลศิลปินเป็นเชิงการค้ามากขึ้น โดยมีเพลงเป็นอุปกรณ์หลัก เน้นสร้าง สตาร์โปรดักต์ ทำให้ศิลปินมีตัวตนที่ชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ความนิยมคนฟังในเจนเนอเรชั่นต่อไป

สำหรับเพลงร็อกและป็อป การผลิตผลงานเต็มอัลบั้มลดลง จะไปเน้นรูปแบบซิงเกิลมากขึ้น 1 เพลง เท่ากับ1 อัลบั้ม

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการผลิตและโปรโมชั่นเพลงบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)  บอกว่า ยังมีบ้างที่โฟกัสเป็นอัลบั้ม เช่น บอดี้สแลม, บิ๊กแอส ก็ยังทำงานเป็นอัลบั้มอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะออกมาในระบบวิธีคิดทีละเพลง หรือ 3 เพลง

ธุรกิจเพลงยุคนี้ ต้องสร้าง Branding ให้กับศิลปินมากขึ้น เพราะจะมีรายได้ต่อเนื่องตามมา ทั้งงานโชว์บิซ งานคอนเสิร์ต พรีเซ็นเตอร์สินค้า  การนำงานของศิลปินมาสร้างคอนเทนต์พิเศษต่าง ๆ เช่นทำเป็นซีรี่ส์ สิ่งที่ศิลปินคิด ทำ ทุกอย่าง สามารถเอามาแปรรูปให้เกิดเป็นธุรกิจได้

วิธีการคัดเลือกศิลปิน วิเชียร บอกว่า “ไม่ใช่นักปั้นศิลปิน แต่เป็นนักเจียระไนเพชร” โดยใช้ตรรกะที่ว่า ในโลกนี้เพชรทุกเม็ดไม่เหมือน  ศิลปินที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ต้องเข้มแข็ง ใจสู้ และต้องมีเอคิว (Adversity  Quatrain) คือมีไหวพริบในการแก้ปัญหา

“ศิลปินที่นี่ทุกคนเดินทางเป็น 10 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ นี่คือเรื่องราวของการคัดตัวจริงหรือเพชร เข้ามาร่วมงานกับเรา”

กลยุทธ์ที่ทำให้เพลงติดตลาด และมียอดวิวสูง ต้องทำงานเชื่อมโยงกับผู้บริโภค หรือกลุ่มแฟนคลับ ด้วยผลงานที่เข้าไปตราตรึงกับความรู้สึกคน  เป็นเพลงที่โดนใจ โดนความรู้สึก นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เพลงประสบความสำเร็จมาก   

ต้องเข้าใจว่าหัวใจของสื่อยุคใหม่ โซเชียลมีเดีย เป็นอย่างไร วันนี้ทุกคนมีอาวุธเป็นรีโมต และสมาร์ทโฟน  ดังนั้นทุกคนเป็นผู้เลือก หมดยุคแล้วสำหรับสื่อที่เคยเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง สื่อต้องปรับตัว ทำอย่างไรให้ คอนเทนต์ถูกเลือก ถ้าไม่ถูกเลือกเขาก็จะหายไป 

เมื่อแฟนคลับมีบทบาทสำคัญ กิจกรรมที่จะจัดขึ้นจะต้องตอบเป้าหมาย  ทั้งการจัดแฟนมีตติ้งมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มศิลปินและซิงเกิลใหม่ ๆ

โดยฝั่งร็อกก็ร่วมกับ Hot wave Music Award คัดสรรศิลปิน และพัฒนาน้อง ๆ จากเวทีนี้ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยผ่านกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ หรือการจัดคอนเสิร์ต “Chang Music Connection Presents Genie Fest 19 ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้” ก็ถือเป็นการจัดแฟนมีตติ้งครั้งยิ่งใหญ่ ศิลปินหลายคนหากมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ก็จะช่วยส่งเสริมให้ศิลปินประสบความสำเร็จได้ยาวนาน

จะเห็นได้ว่า การปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของแกรมมี่ แต่ต้องหันมามองมองเป้าหมายให้ชัดเจน และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยให้น้ำหนักกับสิ่งทีจะมีผลต่อการสร้างและต่อยอดธุรกิจให้เกิดผลอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างแฟนคลับ และปั้นศิลปิน.

]]>
1150917