ชาบู – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 15 Aug 2022 10:43:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จากปิ้งย่าง สู่ ‘อากะ ชาบู’ จิ๊กซอว์ตัวใหม่เติมพอร์ตกลุ่มสุกี้ให้ ZEN Group https://positioningmag.com/1396120 Mon, 15 Aug 2022 08:37:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396120 หากพูดถึง ‘Zen Group’ จะเห็นว่าแบรนด์ร้านอาหารในมือถึง 13 แบรนด์ มีตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงพรีเมียม มีทั้งอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง อาหารไทย แต่ยังไม่มี ‘สุกี้ ชาบู’ และในที่สุด Zen Group ก็รุกตลาดชาบูด้วยแบรนด์ ‘อากะ’ แบรนด์ D.I.Y. Buffet ปิ้งย่าง ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้อันดับ 2 ให้กับกลุ่ม

เริ่มนำร่องอากะ ชาบูตั้งแต่ปี 2019

ปัจจุบันตลาด ปิ้งย่าง มีมูลค่าที่ 9,300 ล้านบาท ส่วนตลาด สุกี้ ชาบู มีมูลค่า 23,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 8% ทั้งสองตลาด โดยหากเทียบมูลค่าตลาดปิ้งย่างแล้ว จะเห็นว่าตลาดชาบูใหญ่กว่าเป็นเท่าตัว และแน่นอนว่าคู่แข่งก็เยอะกว่าเช่นกัน ที่คุ้นชื่อกันดีก็มี สุกี้ตี๋น้อย, ชาบูชิ, เพนกวิน อีท ชาบู, แพนด้า ชาบู ยังไม่รวมแบรนด์เล็ก ๆ อีกเยอะมาก อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมองในแง่ว่าสุกี้ ชาบูเป็น อาหารเพื่อสุขภาพ มากกว่าปิ้งย่าง

เนื่องจากตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสเติบโต และ Zen Group เองก็ยังไม่เคยมีแบรนด์สุกี้ ชาบูมาก่อน ทำให้กลุ่มต้องขยับเข้ามาในตลาดเพื่อแย่งลูกค้าด้วยเช่นกัน โดยในปี 2019 ก็ได้นำร่องทดลองเปิดบริการชาบูควบคู่กับปิ้งย่างที่ ร้านอากะ สาขาเซ็นทรัล พลาซา บางนา แม้จะได้ผลตอบรับค่อนข้างดี แต่ยังวัดผลได้ยากเนื่องจากเจอการระบาดของโควิดทำให้ต้องปิดหน้าร้านชั่วคราว จนมาปี 2022 นี้ ถึงได้เวลาคลอด อากะ ชาบู สู่ตลาดอย่างเป็นทางการ

ไม่ปั้นแบรนด์ใหม่ เพราะมั่นใจชื่อ อากะ

มยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สาเหตุที่อากะหันมาทำชาบูมาจากจุดตั้งต้นที่จะต่อยอดความเป็น D.I.Y. Buffet และใช้ ระบบบริหารจัดการกับวัตถุดิบ ในตอนแรกอากะมีแนวคิดที่จะทำ อากะ พรีเมียม แต่ในที่สุดก็เกิดเป็นแบรนด์ใหม่ อากะ ชาบู

ส่วนสาเหตุที่อากะ เลือกที่จะแตก Sub-Brand มากกว่าทำ Mixed Model เหมือนช่วงทดลองเป็นเพราะต้องการให้ ลูกค้าจดจำซิกเนเจอร์กับความชำนาญของอากะ หากทำแบบ Mixed Model อาจทำให้จุดแข็งเดิมและจุดแข็งใหม่ที่มาชนกัน

“การทำ Mixed Model เหมือนตอนทดสอบเมื่อปี 2019 อาจจะตอบโจทย์ลูกค้าในแง่ความหลากหลายก็จริง แต่จะกลายเป็นว่า ตกลงคุณจะเก่งปิ้งย่างหรือชาบู ดังนั้น เราจึงแบ่งออกมาเลยดีกว่า

มยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ชูความหลากหลาย สร้าง First Impression

แม้คู่แข่งจะเยอะ แต่ มยุรี มองว่าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์รายย่อยมากกว่า ขณะที่อากะ ชาบูจะเน้นจับลูกค้าที่เดินห้างเป็นหลัก ทำให้จำนวนคู่แข่งจึงจำกัดลงมาระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังวางราคาไว้ 3 ระดับ โดยเริ่มต้นที่ 399 ++ บาท, 599 ++ บาท และ 999 ++ บาท เน้นเจาะวัยรุ่น, คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว

นอกจากนี้ ยังดึงเอาจุดแข็งด้านวัตถุดิบที่หลากหลายของอากะ มาใช้กับอากะ ชาบู โดยมี มีเมนูวัตถุดิบกว่า 82 เมนู มี น้ำซุป 5 แบบ ไฮไลต์ คือ น้ำซุปยูสุ และ น้ำจิ้มซิกเนเจอร์

“ร้านชาบูเปิดง่าย มีตึกก็เปิดได้แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับระบบบริหารจัดการหลังบ้าน ถ้าทำดีก็ยิ่งทำกำไรได้ดี ซึ่งเราทำมาอากะ 15 ปี เราได้เปรียบตรงที่ชื่อแบรนด์ มีทีมซัพพลายเชน โลจิสติกส์ ทีมจัดซื้อ ทีมการตลาด ระบบหลังบ้าน ดังนั้น เรามีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการ” ปรีด์ สุวิมลธีระบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริม

ชาบูขยายในเมือง ปิ้งย่างขยายตจว.

กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตของอากะแบ่งเป็นแนวลึก ซึ่งคือการแตกแบรนด์อากะ ชาบู ส่วนกลยุทธ์ในแนวราบคือ การขยายสาขา ปัจจุบัน อากะมี 32 สาขา อากะ ชาบู 1 สาขา โดยภายในปีนี้ อากะจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 7 สาขา ส่วนอากะ ชาบูเปิดอีก 1 สาขา

โดยอากะ จะเน้นขยายใน ชานเมือง และ ต่างจังหวัด เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเปิดโมเดล แฟรนไชส์ โดยจะได้เห็นภายในปีนี้จำนวน 1 สาขา ส่วน อากะ ชาบู จะเน้นขยายในกรุงเทพฯ โดยสาขาต่อไปจะยังคงอยู่ใน เซ็นทรัล เหมือนกับสาขาแรกที่เปิดใน เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ชั้น 1

“ปีนี้เป็นปีที่เราขยายสาขาเยอะมากที่สุดหลังจากชะงักเพราะโควิด โดยเราตั้งเป้าที่จะขยายแบรนด์อากะไปทั่วประเทศภายใน 3-4 ปี ทั้งขยายเองและแฟรนไชส์ แต่อากะ ชาบูจะยังไม่ขายแฟรนไชส์ โดยเน้นเปิดในห้างเป็นหลัก เพราะทราฟฟิกในห้างกลับมากว่า 85% และการทานอาหารถือว่ากลับมาดีแล้วโดยเฉพาะกับบุฟเฟ่ต์ชาบูที่เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของผู้บริโภค”

ปรีด์ สุวิมลธีระบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ดันอากะแบรนด์พันล้าน

ปัจจุบัน แบรนด์อากะทำรายได้เป็น อันดับ 2 ของ Zen Group ตามหลังแบรนด์ Zen โดยปีที่ผ่านมา อากะทำรายได้ 700 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับช่วงปี 2019 ที่ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด และภายในปีนี้คาดว่ารายได้จะปิดที่ 900 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น และในปี 2023 แบรนด์อากะจะทำรายได้ถึง 1 พันล้านบาท แน่นอน

“อากะเป็นแบรนด์พันล้านแน่นอน เพราะเรามองว่าเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ทุกจังหวัด และอากะ ชาบูจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตในอนาคต”

ภายในปีนี้ ZEN Group คาดว่าจะมีรายได้ 3,500 ล้านบาท จากร้านอาหารในเครือทั้งหมด 13 แบรนด์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ไดแก่ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 7 แบรนด์ ได้แก่ ZEN, Musha by Zen, On the Table, AKA, Sushi Cyu, Tetsu, Din’s กลุ่มร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ ได้แก่ ตำมั่ว, เดอตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เขียง, เขียงแกงใต้

]]>
1396120
ถอดบทเรียนตลอด 2 ปีของ ‘เพนกวิน อีท ชาบู’ และ ‘พิซซ่า ฮัท’ กับการเอาตัวรอดในยุคที่ไม่มีอะไรแน่นอน https://positioningmag.com/1357859 Thu, 21 Oct 2021 11:19:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357859 หากพูดถึงหนึ่งในธุรกิจที่มีการปรับตัวมากที่สุดในยุค COIVD-19 คงหนีไม่พ้น ‘ร้านอาหาร’ ที่ต้องดิ้นสู้กับการเปลี่ยนแปลงจนหาความแน่นอนไม่ได้ตลอด 2 ปี โดย Positioning ได้สรุปถึงการถอดบทเรียนของร้านอาหารตลอด 2 ปี จาก ‘Penguin eat shabu’ และแฟรนไชส์ดังอย่าง ‘Pizza Hut’ จากงานเสวนา THE FINLAB SMART BUSINESS TRANSFORMATION PROGRAMME PRESENT “เพิ่มประสบการณ์ เสริมกลยุทธ์ ช่วยองค์กรฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในยุคดิจิทัล” ว่าที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไร เพื่อเป็นแนวทางในการอยู่รอดต่อไปในอนาคต

ขายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

แน่นอนว่าหากเป็นเจ้าของธุรกิจร้านชาบู แต่ในวันที่ผู้บริโภคไม่สามารถทานอาหารที่ร้านได้ การจะขายออนไลน์คงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องคิดหนัก เพราะไม่ใช่ร้านที่เหมาะกับออนไลน์ โดย ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Penguin eat shabu ยอมรับว่าต่อให้เป็นไปไม่ได้ก็ต้องทำ เพื่อหนีตาย

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ร้านทั้งมีโปรโมชันแถมหม้อ ทั้งแตกแบรนด์ทำอาหารจานเดียว มีทั้งการขายผลไม้ แน่นอนว่า มาทดแทนการนั่งทานที่ร้านไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด แต่ก็ต้องทำ โดยปัจจุบัน หน้าร้านของ Penguin eat shabu เหลือ 6-7 สาขา จากที่ก่อน COVID-19 มี 9-10 สาขา

ดังนั้น หลังจากนี้ร้านอาหารต้องแบ่งการขายเป็น 3 ช่องทางหลัก

  • ขายหน้าร้าน คือ การทานหน้าร้าน หรือให้ลูกค้าสามารถมารับสินค้าที่หน้าร้านได้
  • ขายใกล้ คือ การขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อในรัศมี 5 กม.
  • สินค้าขายไกล คือ จากนี้ต้องขายข้ามจังหวัดได้ เช่น รูปแบบอาหารแห้ง อาหารแช่แข็ง แม้กำไรอาจลด แต่ได้ลูกค้าวงกว้างขึ้น

“เราควรลองมองหาสินค้าหรือเมนูแบบอื่นที่กำลังเป็นที่นิยมหรือต้องการและสามารถเดลิเวอรี่ได้ไกล หรือบางครั้งเราอาจเปลี่ยนไปขายสินค้าประเภทอื่นที่ไม่ใช่อาหารเลยก็ได้ อย่ามัวแต่ขายของแบบเดิม ๆ แล้วคาดหวังยอดขายที่เพิ่มขึ้น ต้องออกจากกรอบ ไม่ได้ขายในสิ่งที่เรามี แต่ขายในสิ่งที่เขาต้องการ”

ตะโกนตลอดเวลา

Penguin eat shabu เริ่มทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว โดยพยายามสื่อสารกับลูกค้าผ่านเพจมาโดยตลอด เพื่อเก็บลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ให้อยู่กับแบรนด์ เพราะถือเป็นกลุ่มที่พร้อมจะอุดหนุนเรา และเมื่อสินค้าของแบรนด์ในอนาคตไม่ได้มีแค่ Shabu แต่มีสินค้าอื่น ๆ แปลว่าต่อไปจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่เราตะโกนตลอดเวลา การเป็นที่จดจำ จะยิ่งทำให้สินค้าอื่น ๆ นอกจากโปรดักต์หลักของเราได้รับการตอบรับ เพราะโจทย์ของการแตกไลน์สินค้า คือ จะทำยังไงให้เขามาสั่งกับเรา แม้ว่าในท้องถิ่นนั้น ๆ จะมีของขายเหมือนกัน ดังนั้น เราต้องมียูนีคเซลลิ่งพอยต์

“ทุกวันนี้ คนอยู่บนออนไลน์หมด จะทำอะไรก็ทำผ่านมือถือ ถ้าเราไม่สื่อสารกับลูกค้าตลอดเวลา สักวันเขาก็จะลืมเรา ดังนั้นการพูดคุยกับเขาทุกวันในทุกช่องทางจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ลูกค้ายังไม่ลืมเรา”

อย่าไปคนเดียว ต้องมีพันธมิตร

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Penguin eat shabu มีการทำ Collaboration ร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เพื่อสร้างจุดเด่น ทั้งแถมหม้อ แถมแพ็กเกจโรงแรม แถมแพ็กเกจโบท็อกซ์ และมองว่าจากนี้ Penguin eat shabu ไม่ได้โตไปคนเดียว แต่ใช้จุดแข็งของพันธมิตร ซึ่งจะยิ่งช่วยทำให้มียูนีคเซลลิ่งพอยต์ที่แข็งแรง และจากนี้ Penguin eat shabu อาจจะขยายเป็นแฟรนไชส์ จากเดิมที่ขยายด้วยกำไร

ปรับตัวไม่พอ ต้องไวด้วย

เมื่อก่อนการจะคิดแผนอะไรอาจจะใช้เวลา 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง แต่ปัจจุบันใช้เวลาแค่หลักสัปดาห์ ลักษณะคือ คิดปุ๊บทำปั๊บ ปังก็ปัง แป้กก็เรียนรู้กับมัน ตอนนี้ปรับตัวอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องปรับให้เร็วกว่าด้วย

“เราต้องเร็วกว่าเจ้าใหญ่ และถ้าอยากเป็นที่จดจำ ต้องอย่าทำเหมือนคนอื่น ต้องกล้าเล่นท่ายาก แต่ถ้าพลาดก็ต้องไม่เจ็บตัวมาก พยายามช่างแม่ง เอาใหม่ อย่าไปยึดติด อย่าไปจมกับมัน เราจะก้าวต่อไปไม่ได้”

เปิดหน้าร้านที่ควบคุมเองได้

หากพูดว่า ชาบู เป็นธุรกิจร้านอาหารที่ไม่เหมาะทำออนไลน์ แต่ถ้าเป็น พิซซ่า ก็ถือเป็น Top of Mind สำหรับการสั่งเดลิเวอรี่ ซึ่ง Pizza Hut ก็ยอมรับว่า COVID-19 ที่ระบาดระลอกแรกถือเป็นปัจจัยบวกด้วยซ้ำ เพราะมียอดมากกว่าช่วงปกติ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ที่หน้าร้านเปิดได้แล้ว คำสั่งซื้อก็มีลดลงบ้าง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ Pizza Hut ได้เรียนรู้ อุษณา มหากิจศิริ กรรมการ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า บทเรียนที่ได้คือ การเลือกทำเลหน้าร้าน ที่จากนี้ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่พึ่งพาพื้นที่โดยรอบ โดยจากนี้สาขาที่จะเปิดใหม่ต้องเช็กลิสต์ 4 รายการ

  • ทานในร้านได้
  • มารับเองที่ร้านได้
  • เดลิเวอรี่ได้
  • มีอิสระในการเปิด-ปิดหน้าร้าน

แม้จะฟังว่าเป็นเรื่องสามัญที่ต้องทำได้ แต่ความจริงมันมีดีเทลกว่านั้น เช่น การเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่ร้านจะอยู่ชั้นบนสุด แต่มันเป็นปัญหาของการเดลิเวอรี่ ซึ่งในช่วง 3-5 ปีก่อน ไม่ได้คิดมาก่อน ดังนั้น ร้านใหม่ที่เปิดทั้งหมดต้องมีที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ ต้องมีอิสระในการเปิดปิดร้าน เพราะ 1 ชั่วโมงที่เปิดเร็วกว่าปิดช้ากว่า นั่นหมายถึงการรับลูกค้าที่มากกว่า

สินทรัพย์ต้องโยกย้ายได้ง่าย

ในสิ้นปีนี้ มี 178 สาขา ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ตลอด 3 ปี มีปิดไป 15 สาขา เพราะในแต่ละจังหวัดก็มีปัญหาการแตกต่างกันไป ถ้าตรงไหนต้องปิด ก็ต้องตัดสินใจให้เร็วเพื่อหยุดการสูญเสีย และตรงไหนที่มีโอกาสทำกำไรก็พุ่งเป้าไปตรงนั้นแทน

และสิ่งที่เราเรียนรู้จากการปิดสาขาเลยคือ “รู้งี้ไม่น่าลงทุนขนาดนี้เลย” เพราะปิดร้านแล้วเราเอาอะไรออกมาไม่ได้เลยดังนั้น เราเรียนรู้ว่าถ้าปิดร้านเราต้องขนย้ายทุกอย่างออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อมาตั้งตัวใหม่ ดังนั้น ต้องมีสินทรัพย์ที่โยกย้ายได้ไปใช้กับสาขาอื่นหรือเปิดใหม่ได้ นอกจากนี้ ต้องการควบคุมเม็ดเงินลงทุนแต่ละสาขาเรื่อย ๆ ตอนนี้ลดมาได้ 20% มีการลดขนาดครัว โดยเรียกโมเดลนี้ว่า Small Box

“ตอนเปิดร้าน อะไรก็สวยงามไปหมด แต่พอต้องปิด เราแทบจะอยากขนของออกมาให้หมดแม้กระทั่งสายไฟ”

อุษณา มหากิจศิริ กรรมการ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด

สุดท้าย ธุรกิจต้องอย่าหยุดนิ่ง เพราะจากนี้สถานการณ์ไม่แน่นอน แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ทำให้คู่แข่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อน Pizza Hut เคยมีจุดแข็งในการส่งเดลิเวอรี่ ตอนนี้ทุกคนทำได้ มันไม่ใช่จุดแข็งของเราอีกต่อไป หรือการตลาดทุกวันนี้ ออนไลน์สำคัญมาก เพราะสามารถเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า สามารถวัดผลได้ชัดเจนทั้งอะแวร์เนส คอนเวอร์ชั่น และเงินลงทุนก็ใช้ต่ำกว่าทีวีเยอะมาก ปัจจุบัน Pizza Hut ใช้งบ 70% กับออนไลน์ อีก 30% ใช้กับออฟไลน์

“เราเองก็ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา และแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ยิ่งเอื้อกับ SME มากกว่ารายใหญ่ ส่วนรายใหญ่เองก็ยิ่งมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นี่เป็นโอกาสของ SME เครื่องมือตอนนี้ก็ถูกลง ใช้แค่ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งก็ได้ ดังนั้นอยากให้ลอง การที่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน เราจะพบว่ามีช่องทางอื่น ๆ ช่วยเก็บเกี่ยวรายรับได้”

]]>
1357859
72.5% ของคนไทยพร้อมกลับไปนั่งทานในร้าน! หมูกระทะ-ชาบู-ปิ้งย่าง มาแรงสุด https://positioningmag.com/1350240 Fri, 03 Sep 2021 10:46:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350240 LINE ประเทศไทย เปิดโพลให้ผู้ใช้แอปฯ ร่วมโหวตในหัวข้อ “ร้านอาหารร้านแรกที่คุณจะไปกินหลังคลายล็อกดาวน์ คือ!?!” ผลปรากฏ 72.5% ของผู้ตอบโพลพร้อมกลับไปนั่งทานในร้านอาหาร โดยร้านอาหารกลุ่มที่ลูกค้าคิดถึงมากคือ หมูกระทะ ชาบู ปิ้งย่าง

Positioning สำรวจข้อมูลจากโพลของ LINE ประเทศไทย ที่เผยแพร่บนแอปพลิเคชัน LINE เปิดให้ผู้ใช้ร่วมโหวตหัวข้อ “ร้านอาหารร้านแรกที่คุณจะไปกินหลังคลายล็อกดาวน์ คือ!?!” แต่ละคนสามารถโหวตได้ไม่เกิน 3 หัวข้อ โดยมีผู้ร่วมโหวตแล้ว 38,000 คน หลังจากเริ่มเปิดโหวตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 64 มีผลโหวตดังนี้

  • ยังไม่ไปดีกว่า กลัว 27.5%
  • หมูกระทะ 12.9%
  • ร้านไหนก็ได้ที่คนไม่เยอะ 12.8%
  • ชาบู 12.8%
  • ปิ้งย่าง 12.2%
  • ก๋วยเตี๋ยว 9.6%
  • คาเฟ่ 6.3%
  • ของหวาน ไอติม บิงซู 3.5%
  • โอมากาเสะ 2.4%

เห็นได้ว่าแม้จะมีผู้ใช้ 27.5% ที่ยังหวั่นเกรงการไปร้านอาหาร หลังจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ให้ร้านอาหารสามารถเปิดได้ภายใต้ข้อบังคับทางสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ 72.5% พร้อมที่จะไปนั่งทานในร้านอาหารแล้ว

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มหมูกระทะ ชาบู ปิ้งย่าง ซึ่งเป็นร้านลักษณะที่ลูกค้าจะได้ประสบการณ์การทำอาหารด้วยตนเอง กลุ่มนี้มีลูกค้าโหยหาที่จะไปถึง 37.9% เป็นไปได้ว่าเกิดจากปกติแล้วร้านลักษณะนี้ค่อนข้างลำบากที่จะสั่งเดลิเวอรี่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้า “คิดถึง” อย่างมาก

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือผู้ใช้ 12.8% ระบุว่า ต้องการไปร้านอาหารใดก็ได้ที่คนไม่เยอะ สะท้อนให้เห็นว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ใส่ใจเรื่องการเว้นระยะห่างภายในร้าน ซึ่งทำให้ร้านอาหารที่ต้องการดึงลูกค้าในช่วงนี้ อาจจะจับจุดนี้มาเป็นประเด็นโปรโมตได้

]]>
1350240
ถอดบทเรียน PAPA SHABU FARM เมื่อต้องปรับจาก “ชาบู” มาขาย “ข้าวมันไก่” https://positioningmag.com/1333307 Fri, 21 May 2021 07:49:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333307 ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ระลอกแรก มาจนถึงระลอกล่าสุด หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดคงจะเป็นบรรดาร้านอาหาร ที่ไม่สามารถเปิดร้าน หรือให้บริการได้ตามปกติ ต้องเปิดแค่ซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี่เท่านั้น ทำให้แต่ละร้านต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดกันทั้งบาง

ไม่ปรับก็ไม่รอด

ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะร้านเล็ก เชนร้านอาหารใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบเหมือนกัน ต่างกันแค่ใครเจ็บมาก เจ็บน้อย รวมถึงประเภทของอาหารก็มีส่วน ร้านกลุ่มชาบู ปิ้งย่าง บุฟเฟ่ต์ย่อมได้รับผลกระทบหนัก เพราะร้านกลุ่มนี้อาศัยการทานที่ร้านเป็นหลัก เมื่อต้องปรับมาเดลิเวอรี่ หรือซื้อกลับบ้าน ก็ติดข้อจำกัดทั้งเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ

ในระลอกแรกเราได้เห็นปรากฏการณ์ซื้อชาบู “แถมหม้อ” กันจำนวนมาก โดย “เพนกวิ้น อีท ชาบู” เป็นผู้บุกเบิก หลังจากนั้นบรรดาแบรนด์ปิ้งย่าง สุกี้ก็เริมออกแคมเปญแถมหม้อ แถมเตากันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคสั่งอาหาร แม้กำไรน้อย แต่ก็ยังดีกว่าขายไม่ได้

เมื่อโรคระบาดยังอยุ่กับเราอีกนาน และมีแต่ความไม่แน่นอน หลายร้านจึงปรับตัวในการออกเมนูใหม่เพื่อง่ายต่อการขายมากขึ้น ปีนี้เพนกวิ้นก็หันไปขายทุเรียน หรืออย่าง PAPA SHABU FARM ร้านชาบูโฮมเมดก็หันมาขาย “ข้าวมันไก่” เนื่องจากเป็นอาหารทานง่าย

ได้ยอดขาย 30% จากปกติ แต่ดีกว่าขายไม่ได้

PAPA SHABU FARM เปิดให้บริการมา 7 ปีแล้ว เป็นร้านชาบูโฮมเมดแบบอลาคาร์ทมีหุ้นส่วนทั้งหมด 8 คน ปัจจุบันมี 2 สาขา The Scene Town In Town และ Habito Mall

ทางร้านได้เริ่มปรับแผนมาขายเมนู “PAPA ข้าวมันไก่ตัวพ่อ” เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นการพรีออเดอร์ก่อน เพื่อเปลี่ยนเป็นเมนูอาหารจานเดียวทานง่ายๆ เหมาะกับการเดลิเวอรี่ จากนั้นได้เริ่มขายจริงในวันที่ 10 พ.ค. ผ่านช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่ LINE MAN และ Robinhood

PAPA ข้าวมันไก่ตัวพ่อ เป็นข้าวมันไก่สูตรสิงคโปร์ ที่จะมีน้ำจิ้ม 2 แบบ พร้อมน้ำราดตัวไก่ ราคาเริ่มต้นที่ 69-259 บาท สำหรับทาน 1 คน และเป็นเซตทาน 4 คน เหตุผลที่เลือกทำข้าวมันไก่ เพราะหนึ่งในหุ้นส่วนมีสูตรอาหาร จึงเริ่มลงมือทำ

ใช้เวลาสร้างแบรนด์ และขายราวๆ 1 สัปดาห์ ได้ผลตอบรับดี ขายหมดทุกวัน แต่พูดถึงในเรื่องของยอดขายก็ไม่สามารถกลับมาได้ทั้งหมดเหมือนตอนเปิด โดยมียอดขายราว 30% ของช่วงปกติ แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าขายไม่ได้เลย

ตอนนี้ทางร้านได้ตั้งเป้ายอดขายข้าวมันไก่ให้ได้สาขาละ 10 ตัว/วัน ในอนาคตอาจจะมีปรับแผนเพิ่ม และเพิ่มเมนูที่เกี่ยวกับ “ไก่ต้ม” เข้าไปเพิ่ม

รอบนี้หนักกว่ารอบก่อน

อย่างที่ทราบว่าธุรกิจชาบูได้รับผลกระทบอย่างหนัก ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ยอดขายลดลง การปิดหน้าร้าน หรือเปิดแค่ซื้อกลับบ้านอาจทำให้ Fixed Cost เราลดลงมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแข่งขันทางเดลิเวอรี่ก็สูงมากเช่นกัน ทั้งค่า GP ค่อนข้างสูง รวมถึงแข่งขันทำโปรโมชันให้เข้าถึงผู้บริโภค

ทางร้านบอกว่า “รอบนี้ธุรกิจได้รับผลกระทบมาก ยอดขายหายไปกว่า 90% ทางร้านพยายามออกโปรโมชันต่างๆ แต่มันก็ไม่ได้ดึงดูดคนได้เหมือนเดิม คนไม่ได้ตื่นเต้นกับเดลิเวอรี่แล้ว มันไม่ได้เซ็กซี่เหมือนเดิม เพราะความสนใจได้อยู่ในช่วงการระบาดรอบแรกไปหมดแล้ว สำหรับแผนสำรองก็เริ่มออกเมนูแบบทานเดี่ยวมาเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ไก่ตัวพ่อนี้ที่เราอยากสร้างซิกเนเจอร์ว่า MK มีเป็ดย่าง PAPA มีไก่ และมีชาบูแบบ Ready to Eat ซึ่งกำลังจะออกเร็วๆ นี้”

และเมื่อเปรียบเทียบความเสียหายระหว่างรอบนี้ กับรอบที่แล้ว มองว่าในรอบที่แล้วพอรัฐบาลประกาศปิดศูนย์การค้า ทางร้านจะได้ลดค่าเช่าไปเลย ทำให้ Fixed Cost ลดลง แต่รอบนี้ทางร้านไม่ได้รับการลดค่าเช่า

“ในเรื่องของเงินหมุนเวียน เมื่อเห็นสภาพเศรฐกิจก่อนโควิดรอบแรก ทำให้ทางเราเริ่มลดต้นทุนด้วยการลดสต๊อกสินค้า และปรับโครงสร้างพอสมควร ทำให้ในตอนนั้นเรามีเงินหมุนเวียนในมืออยู่พอสมควร

แต่พอรอบนี้ตั้งแต่ช่วงกรกฎาคม 63 – มีนาคม 64 ยอดขายกลับมาดีขึ้น เพราะทุกคนเริ่มคลายความกังวล จนยอดขายเราขึ้นสูงสุดตั้งแต่เราเปิดร้านมา แต่พอมาระลอก 3 ที่มาแบบกะทันหันไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่เราได้ลงทุนต่อเติมร้านเพิ่มเติม เพราะแนวโน้มมันดีขึ้น แต่สุดท้ายระลอก 3 มา เราต้องปิดร้าน ทำให้เราเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน”

การปรับตัวของร้าน PAPA SHABU FARM เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางรายอาจขายเมนูใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม บางรายอาจจะต่อยอดจากเมนูเดิมได้ แต่ที่น่าสนใจคือ รอบนี้เดลิเวอรี่ไม่ได้หวือหวาเท่าเดิม พร้อมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคก็เริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ เป็นยุคที่ทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันท่ามกลางวิกฤตกันจริงๆ

]]>
1333307
งานเข้า! “ชาบู ชาบูนางใน” แจ้งปรับราคาลูกค้าที่ทานเฉพาะเนื้อ เจอถล่มเพราะใจแคบ https://positioningmag.com/1296112 Wed, 09 Sep 2020 10:53:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296112 งานเข้าอย่างจังสำหรับร้าน “ชาบู ชาบูนางใน” ที่กิดดราม่าถล่มเพราะเจ้าของร้านแจ้งกับลูกค้าประจำที่มาทานแต่เฉพาะเนื้อ กับกุ้ง ขอเพิ่มราคา 200 บาท กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่เข้าใจธุรกิจบุฟเฟต์

ปรับขึ้น 200 บาท เพราะทานแค่เนื้ออย่างเดียว?

ถ้าพูดถึงชื่อแบรนด์ “ชาบู ชาบูนางใน” เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นแบรนด์ชาบูแบบโฮมเมดแบรนด์แรกๆ ที่ทำตลาดมาหลายปี ได้เปิดสาขาแรกที่โชคชัย 4 และให้สาขาพระราม 9 ซอย 41 (หลังเดอะไนน์) เป็นสาขาต้นแบบ รวมถึงเป็นสถานที่อบรมแฟรนไชส์ ก่อนที่จะขยายแฟรนไชส์ไปหลายที่

ชาบู ชาบูนางในขึ้นชื่อว่ามีราคาที่ไม่แพงมาก เป็นแบบบุฟเฟต์ในราคา 349 บาท สามารถทานได้ไม่จำกัดเวลา ด้วยความเป็นบรรยากาศบ้านๆ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และคนชื่นชอบกันเยอะ

ล่าสุดเกิดดราม่าเข้าอย่างจัง เมื่อมีลูกค้าท่านหนึ่งได้รีวิวในเพจของ ชาบู ชาบูนางใน สาขาพระรามเก้า 43 ในทำนองที่ว่าเจ้าของร้านข่มขู่ในการคิดเงินเพิ่ม เพราะอ้างว่าลูกค้าทานเยอะ ทางร้านได้ตอบกลับว่าไม่ยุติธรรมกับทางร้านเช่นกัน

จนเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 9 กันยายน 2563 ทางร้านได้ชี้แจงผ่านทางเพจเฟซบุ๊กถึงประเด็นดังกล่าว โดยมีเนือ้หาประมาณว่า ทางเจ้าของร้านได้เข้าไปชี้แจงกับทางลูกค้าเองว่า ครั้งต่อไปต้องขอเพิ่มราคาอีก 200 บาท เป็น 549 บาท เพราะลูกค้าท่านนี้มาทานแต่ “เนื้อ” และ “กุ้ง” อย่างเดียว ไม่ทานเมนูอื่นๆ ทำให้ทางร้านเสียเปรียบ

ไม่เข้าใจธุรกิจบุฟเฟต์

แน่นอนว่าหลังจากที่ทางร้านประกาศชี้แจงดังกล่าวไปแล้ว ไม่ได้เกิดผลดีขึ้นแต่ทางร้านแต่อย่างใด ยิ่งเป็นกระแสตีกลับอย่างหนัก เพราะผู้บริโภคหลายคนมองว่า ถ้าร้านคิดจะทำร้านอาหารแบบบุเฟต์ ไม่น่าจะมาคิดเรื่องแบบนี้ หรือควรจะมีแยกเซตราคาตามกลุ่มอาหาร เนื้อ ซีฟู้ด หรือผักล้วน เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกราคาตามใจชอบ

การที่ทางร้านตั้งราคา 349 บาท/หัว เท่ากับว่าทางร้านตั้งราคาสำหรับทุกคน จะมากำหนดว่าใครทานอะไรเยอะ จะต้องจ่ายเยอะขึ้นไม่ได้ แสดงว่าทางร้านไม่ได้เข้าใจธุรกิจบุฟเฟต์เลยแม้แต่น้อย เพราะบุฟเฟต์ย่อมมีคนที่ทานน้อย และทานเยอะคละๆ กันไป และขึ้นชื่อว่าบุฟเฟต์แล้ว นั่นแสดงว่าให้ลูกค้าสามารถเลือกทานได้ตามใจชอบ

ยิ่งไปกว่านั้นการที่ทางร้านแจ้งราคากับทางลูกค้าเป็นรายบุคคล โดยที่ไม่ได้กำหนดลงในเมนูอย่างชัดเจน อาจจะเป็นการผิดมาตรฐาน หรือผิดกฎหมายได้

กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของร้านอาหารในยุคนี้ สิ่งที่สำคัญคือ สิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้ แบรนด์ที่หลายคนเคยชื่นชอบ มี Brand Loyalty หนักๆ อาจจะถูกแบน หรือถูกลูกค้าเมินได้ เพราะในยุคนี้ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารก็สูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ทางร้านตัดสินใจทำอาจจะไม่ส่งผลดีต่อแบรนด์เท่าที่ควรนัก

]]>
1296112
เจาะลึกแนวคิด ‘Penguin Eat Shabu’ แบรนด์ไทยที่กลายเป็น ‘Case Study’ ที่ทั่วโลกต้องศึกษา https://positioningmag.com/1279395 Tue, 19 May 2020 10:30:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279395 ถือว่าเป็น ‘itaewon class’ ประเทศไทยเลยทีเดียว สำหรับร้าน ‘Penguin Eat Shabu’ ที่พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา เพื่อให้ร้านอยู่รอด อาจจะมีจุดเดียวที่ไม่เหมือนคือ ไม่ได้ปลุกปั้นธุรกิจเพื่อล้างแค้นใครแบบในซีรีส์เท่านั้นเอง แต่เพราะความใจสู้ของร้านและความสามารถในการปรับตัว ปัจจุบัน Penguin Eat Shabu ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่แม้แต่ Facebook ยังนำไปพูดถึงในการประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่เลยทีเดียว

ต้น ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu หรือเถ้าแก่ ‘พัคแซรอย’ เวอร์ชั่นไทยเล่าว่า ร้าน Penguin Eat Shabu ก่อตั้งมาแล้ว 6 ปี ปัจจุบันมี 9 สาขา โดย 8 สาขาอยู่ในกรุงเทพฯ อีก 1 สาขาอยู่เชียงใหม่ มีพนักงานทั้งหมด 200 คน และถึงแม้ร้านจะได้รับความนิยมมาก มีคนต่อแถวรอแน่นร้านทุกวัน เคยพีคถึงขั้นต้องจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก็มี และเพราะความยุ่งของหน้าร้าน จึงทำให้บริการ ‘Delivery’ เป็นสิ่งที่ร้านไม่สามารถทำได้ ประกอบกับเป็นร้าน ‘ชาบู’ การทำจึงยิ่งยากเข้าไปใหญ่

“ที่ผ่านมาเรามีรายได้หลายแสนบาท/วัน แต่หลังจากมี COVID-19 รายได้เราหายแทบ 100% ขณะที่ต้นทุนทั้งเงินเดือนพนักงาน และค่าเช่าที่ยังมี ผมเลยตัดสินใจไม่รับเงินเดือน 3 เดือน ส่วนพนักงานก็เข้าใจ พร้อมจะสู้โดยไม่รับเงินเดือน แต่เราก็ดูแลเขา มีที่พัก มีอาหารจนกว่าสถานการณ์จะกลับเป็นปกติ”

จากเดิมที่ ‘ขายดี’ จน ไม่มีเวลาไปคิดอย่างอื่น แต่พอเจอวิกฤติเลยทำให้มีเวลาคิดทบทวนถึงปัญหาเพื่อหาทาง ‘รอด’ อะไรที่คิดได้ก็ต้องทำทันที โดยเริ่มจากปรับโครงสร้างต้นทุนใหม่ พร้อมกับหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไป อย่าง ‘ออนไลน์’ ที่เดิมมีไว้เพียงเพื่อสร้าง awareness และประชาสัมพันธ์เท่านั้น ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เพื่อ ‘ขาย’ และเริ่มทำ ‘Delivery’ ด้วยตัวเองโดยการเปลี่ยนพนักงานที่มีมอเตอร์ไซค์มาเป็น ‘ไรเดอร์’ ส่งสินค้า

ในตอนแรกยังไม่ส่งชาบู เเต่เริ่มจากการขาย ข้าวกล่อง โดยมีรายได้เข้ามาวันแรกเพียง 500 บาท จนต่อยอดเป็นแคมเปญ ‘mystery box’ จากนั้นจึงเริ่มทำชาบู Delivery เพราะชาบูคือจุดแข็งของร้าน จนเกิดเป็นแคมเปญ ‘สั่งชาบูแถมหม้อ’ ส่งผลให้ปัจจุบันมีเข้ามา 1,000-2,000 อินบ็อกซ์ต่อวัน ขายหมด 350 ออเดอร์ภายใน 1 นาที ปัจจุบันขายได้หลายพันหม้อ จากรายได้ที่เคยเป็น 0 ก็สามารถสร้างรายได้ถึง 50% ซึ่งร้านเองกำลังหาพื้นที่ในการทำโรงงานผลิต Delivery แบบเต็มตัว

แม้ว่าปัจจุบัน รัฐจะมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ทำให้หน้าร้านกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่เพราะการรักษาระยะห่าง ทำให้สามารถรับลูกค้าได้เพียงครึ่งเดียวจากปกติ ส่งผมให้รายได้จากหน้าร้านในปัจจุบันจึงทำได้เพียงแค่พอครอบคลุมต้นทุนที่มีเท่านั้น อีกทั้งแรงงานกว่า 50% ของร้านเป็นแรงงาน ‘ต่างด้าว’ ที่ยังไม่สามารถเข้าประเทศได้ ดังนั้นจึงสามารถเปิดได้เพียง 5 สาขา เพราะเเรงงานไม่พอ

เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะกลับเป็นปกติเมื่อไหร่ ดังนั้นแค่ Delivery อาจไม่ยั่งยืนพอ ทางร้านจึงเริ่มหารายได้จากทางอื่น โดยพยายามทำตัวเองให้เป็น ‘Platform’ แตกไลน์ไปยังสินค้าประเภทอื่น ๆ เน้นการ Collaborate กับพาร์ตเนอร์เพื่อให้ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยจากนี้จะได้เห็นโปรเจกต์ใหม่ ๆ ทุกสัปดาห์ อาทิ Penguin Wear Apron Collection ผ้ากันเปื้อนและผ้าปิดปากป้องกันแบคทีเรีย 100% และล่าสุด พึ่งคิดโปรเจกต์ใหม่ที่จะกลายเป็น รายได้หลักในอนาคต แม้จะยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ แต่จะพยายามเข็นออกมาให้เร็วที่สุด

ต้น ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu ที่มาพร้อมกับผ้ากันเปื้อน Penguin Wear Apron

“COVID-19 เหมือนทำให้เราเจอโลกใหม่ มันทำให้เราเห็นว่าถ้าเราเอาจริงเราก็ทำได้แค่ต้องปรับตัว และจากนี้ให้คิดพร้อมเจ๊งอยู่ทุกเมื่อ ทำอะไรด้วยความตัวเบาและระวังมากขึ้น ให้คิดว่าวิกฤตินี้ไม่ได้หายไปในชีวิต คิดอะไรได้ทำก่อนเลย อย่ามาคิดว่าต้องรอพร้อม ธุรกิจต้องพร้อมปรับตัวอยู่เรื่อย ๆ เพราะจากนี้ไม่มีอะไรปกติอีกต่อไปแล้ว”

]]>
1279395
กลยุทธ์ “ฟรีหม้อ” ยอมเจ็บเเต่ขอมีรายได้ การตลาดสู้ COVID-19 ของธุรกิจร้านปิ้งย่าง-ชาบู https://positioningmag.com/1275499 Mon, 27 Apr 2020 10:10:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1275499 เเข่งกันดุเดือดไม่เเพ้ความร้อนระอุของน้ำซุปกันเลยทีเดียว เมื่อไวรัส COVID-19 สั่นสะเทือนวงการร้านอาหาร ต้องถูกสั่งให้หยุดบริการตามมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการเเพร่ระบาด ลูกค้าต้องสั่งกลับบ้านเท่านั้น

เเม้ฟู้ดเดลิเวอรี่จะเป็นทางออกในยามนี้ เเต่สำหรับร้านอาหารเเนว DIY ปิ้งย่าง-ชาบูทั้งหลายที่ลูกค้าต้องปรุงสุกเอง เคยมีบรรยากาศครื้นเครงภายในร้านเเละความสนุกสนานเมื่อได้สนทนากับคนสนิทที่เป็นเหมือน “เสน่ห์” ของร้านอาหารประเภทนี้ ก็ได้จางหายตามการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ไปด้วย

ในขณะที่ร้านอาหารต้องพึ่งพารายได้จากเดลิเวอรี่ ส่วนใหญ่จะปรับตัวด้วยการทำเเพ็กเกจ “อาหารจานเดียว” กินง่ายจ่ายสะดวก หรือเปลี่ยนไปขายขายวัตถุดิบ เเต่กับร้านปิ้งย่าง-ชาบู ต้อง “ทำมากกว่านั้น”

เพราะอาหารประเภทนี้เมื่อนำไปกินที่บ้านจะมีราคาเเพงกว่าอาหารจานเดียว ต้องใช้อุปกรณ์เยอะหรือเเม้กระทั่งต้องมีเพื่อนกิน…จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าทำอย่างไรให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง “ยอมจ่าย”

เป็นที่มาของกลยุทธ์การตลาดเเบบใหม่ของเหล่าร้านปิ้งย่าง-ชาบู ที่งัดหมัดเด็ดเอาใจผู้บริโภคจนเกิดกระเเส “สุกี้ฟรีหม้อ” เเก้ Pain Point คนอยากกินเเต่ไม่มีอุปกรณ์ ที่กำลังฟาดฟันเเย่งชิงลูกค้ากันอยู่ในขณะนี้

เเม้จะดูเป็นการเพิ่มต้นทุน เเต่ร้านกำลังต้องการรายได้ให้พอหมุนเงินไปได้ในช่วงนี้ นอกจากนั้นยังเป็นการ “ยิงนกหลายตัว” เพราะเมื่อลูกค้ามีหม้อที่บ้านเเล้ว ก็มีเเนวโน้มที่จะ “สั่งซ้ำ” มากินอีกบ่อยๆ เป็นการรักษาความผูกพันกับแบรนด์ไว้ต่อยอดเมื่อผ่านพ้น COVID-19 พวกเขาเหล่านั้นก็จะกลับมาทานที่ร้านอีก

เทหน้าตัก ชาบูแถมหม้อ พร้อม Tinder

อย่างที่รู้ๆ ว่า “ต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” เจ้าของ Penguin Eat Shabu เป็นนักการตลาดตัวยงที่มักจะมีโปรโมชั่นใหม่ๆ มาจุดกระเเสได้เสมอ คราวนี้ในช่วง COVID-19 เมื่อรายได้หน้าร้านลดฮวบ เขางัดกลยุทธ์เเบบเทหน้าตัก ประเดิม “ฟรีหม้อ” เป็นเจ้าเเรกๆ เเต่เรื่องหม้อยังไม่ล้ำพอต้องก้าวไปอีกสเต็ป คือ “ชุดชาบูกระชากความโสด”

Penguin Eat Shabu เริ่มเปิดตัวการขายชาบูเเนวใหม่แถมหม้อสุกี้ มีทั้งราคา 777 บาทและ 999 บาท มีทั้งหม้อสุกี้แบบใหญ่ และหม้อสุกี้แบบต้มคนเดียว ผลตอบรับดีเกินคาดลูกค้าสั่งซื้อจนของหมดเเละระบบล่ม

จากนั้นเมื่อกลับมาอีกครั้งต้องปังกว่าเดิม Penguin Eat Shabu คว้าโอกาสเพิ่มโปรโมชั่นด้วยการแถมฟรี Tinder แอปพลิเคชันหาเพื่อนหาคู่ยอดนิยม ที่ตอนนี้มีฟีเจอร์ที่สามารถปลดล็อกปักหมุดไปทั่วโลกได้ มีมูลค่า 300 บาท ให้ใช้บริการฟรี 1 เดือน…อิ่มท้องเเบบไม่เหงาในช่วงกักตัว

เเถมยังโปรโมตด้วยเเคปชั่นอ้อนลูกค้าว่า “กวิ้นยอมขาดทุน เพื่อให้คุณได้มีคู่แล้วเผื่อจะจูงมากินชาบูร้านกวิ้นบ้าง”

ได้ใจลูกค้าไปเต็มๆ เเละเมื่อคลายมาตรการล็อกดาวน์ เราคงได้เห็นคนจูงมือกันไปกิน Penguin Eat Shabu ที่ร้านเป็นเเน่ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

มาทีหลังปังมาก MK เเจม “ฟรีหม้อ” ขายหมดใน 8 ชั่วโมง 

เเม้จะมาช้ากว่าร้านสุกี้-ชาบูเจ้าอื่นๆ เเต่พอมาเเล้วก็ตู้มเลย เมื่อ MK ตัดสินใจลงมาเล่นโปรโมชั่น “ฟรีหม้อเเถมหม้อ” เหมือนกัน

ด้วยความได้เปรียบจากความเเข็งเเกร่งเเละความน่าเชื่อถือของเเบรนด์ ก็ทำให้ยอดขายของชุด “Ready to ต้ม” 1 ชุด ราคา 1,199 บาท แถมฟรีอุปกรณ์หม้อไฟฟ้า Otto ราคา 590 บาท ที่มีจำกัดเเค่ 2,000 ชุดของ MK ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาเเค่ 8 ชั่วโมง คนเเห่จองจนเว็บไซต์ล่มไปตามระเบียบ อีกทั้งยังมีกระทู้ถามถึงยี่ห้อของหม้อที่เเจกเเล้วก็มีคนตามไปซื้อในอีคอมเมิร์ซกันคึกคัก

ก่อนหน้านี้ MK เคยออกโปรโมชั่นเเรงๆ ที่สร้างกระเเสมาเเล้ว อย่าง “เป็ด 1 แถม 1” เเละการนำสินค้าประเภท “ผักสด” จากโครงการหลวงมานำเสนอขายเมื่อสาขาถูกปิด ควบคู่กับเมนูจานเดียวส่งผ่านระบบส่งเดลิเวอรี่ที่มีมานานจนติดตลาดเเล้ว

ฟรีเตาชุดใหญ่ “ปิ้งย่างที่บ้าน” เจาะลูกค้าครอบครัว 

ชาวปิ้งย่างที่หาอุปกรณ์ยากเหลือเกินต้องถูกใจกับโปรโมชั่นของ Sukishi ที่จับเอากระเเสของซีรีส์เกาหลียอดฮิตอย่าง “Itaewon Class” มาจัดเป็นเซตใหญ่ราคาเริ่มตั้งเเต่ 1,399 บาท – 1,799 บาท ให้สั่งไปกินที่บ้าน พร้อมแถมเตาปิ้งย่างไซส์ XL มูลค่า 1,390 บาท โดยมีจำนวนจำกัด 300 เซตต่อวัน โดยเน้นเจาะลูกค้าครอบครัวที่อยู่กันหลายคน เป็นปาร์ตี้ย่อมๆ คลายเครียดในช่วงกักตัวเเละทำงาน Work from Home

อีกหนึ่งร้านปิ้งย่าง YAKINIKU YUU ร่วมกับ Lucky Flame จัดโปรโมชั่นเเถมเตาย่างสไตล์ญี่ปุ่น ชูจุดขาย “ไม่ต้องเสียบปลั๊ก ย่างตรงไหนของบ้านก็ได้” มีให้เลือกทั้งหมด 6 เซต ราคาเริ่มตั้งแต่ 1,235 – 1,985
บาท (ทุกเซตแถมเตา) โดยเจาะกลุ่มลูกค้าครอบครัวเช่นเดียวกัน

ไม่เเจก เเต่ขอ “เเลกซื้อ” เเละ “ให้ยืม” 

การปรับตัวของผู้ประกอบการในวงการบุฟเฟ่ต์ “สุกี้ตี๋น้อย” ก็น่าสนใจไม่เเพ้กันเเม้จะไม่ทุ่มถึงระดับเเจกหม้อฟรีเเต่ก็มีการจัดโปรโมชั่น “แลกซื้อหม้อสุกี้” ในราคาเพียง 99 บาท (จากราคาเต็ม 179 บาท) เมื่อลูกค้าซื้ออาหารครบ 300 บาท โดยจะเป็นหม้อสุกี้สแตนเลส size 28 cm ทรง S แบ่ง 2 ช่อง (ไม่มีฝา ไม่มีเตาให้) สำหรับใช้กับเตาไฟฟ้า และ induction cooker โปรโมชั่นเริ่มมาตั้งแต่ 24 เม.ย. จนกว่าสินค้าจะหมด

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการรายย่อยที่พอจะหารายได้ประคองธุรกิจให้ก้าวผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้

นอกเหนือจากการเเข่งกันด้วยโปรโมชั่นฟรีหม้อเเล้ว ร้านปิ้งย่าง-ชาบูเจ้าอื่นๆ ก็เดินเกมการตลาดเพื่อรองรับการส่งเดลิเวอรี่ เเม้จะยังไม่ถึงขั้นใจป้ำเเจกหม้อ เเต่ก็ขอ “ให้ยืม” อุปกรณ์ต่างๆ ไปกินที่บ้านได้ตามสะดวก ทั้ง BUTCHER beef&beer , SHABU The Series Delivery , อิ่มจัง ชาบู delivery , ฮุย ชาบู เดลิเวอรี่ เเละร้านอื่นๆ อีกมากมาย

กลยุทธ์การเเถมฟรีหม้อ เตาไฟฟ้า ให้เเลกซื้อในราคาพิเศษหรือการให้ยืมอุปกรณ์ต่างๆ นับเป็นการฮึดสู้เพื่อต่อลมหายใจของร้านอาหาร โดยต้องคิดโปรโมชั่นเจ๋งๆ ออกมาดึงดูดลูกค้าหารายได้ในยามที่เศรษฐกิจทรุดหนัก คนเสี่ยงตกงานเเละคนประหยัดการใช้จ่าย

เป็นงานหินของคนทำธุรกิจในยุค COVID-19 ที่ต้องดิ้นรนหาทางอยู่รอดให้ “นานที่สุด” จนกว่าจะพ้นวิกฤตนี้ เเละต่อให้ผ่านพ้นไปได้ก็ต้องวางเเผนใหม่…เมื่อวิถีชีวิตของผู้คนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

]]>
1275499
แค่หม้อไม่พอ! Penguin Eat Shabu จัดชุดชาบูแถมหม้อ พร้อม Tinder! กักตัวแบบไม่เหงา https://positioningmag.com/1273823 Thu, 16 Apr 2020 14:31:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273823 การขายยุค COVID-19 ต้องมีจุดขายที่แปลกใหม่เพิ่มมากขึ้น Penguin Eat Shabu เลยจัดโปรโมชั่นซื้อชุดชาบู แถมหม้อต้มสุกี้ไปกินพร้อมกัน อีกทั้งล่าสุดยังเพิ่มความว้าวด้วยการแถม Tinder แบบฟรีๆ 1 เดือน ทานชาบูอยู่บ้านแบบไม่เหงา

ยุคที่ชาบูต้องแถมทั้งหม้อ ทั้ง Tinder!

หลังจากมาตรการล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิวในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ร้านอาหารต้องหยุดให้บริการรูปแบบทานในร้าน ปรับตัวเป็นแบบเดลิเวอรี่ และ Take Away ทั้งหมด เรียกว่าสร้างผลกระทบไปทุกธุรกิจ

ร้านอาหารในรูปแบบร้านชาบู ปิ้งย่าง หรือร้านที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการนั่งทานในร้านดูเหมือนจะเจ็บหนัก เพราะเมนูหลักไม่ได้เอื้อต่อการเดลิเวอรี่เท่าไหร่นัก เป็นอาหารที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ หม้อต้ม หรือกระทะสำหรับย่าง บางร้านก็มีการปรับกลยุทธ์ในการขายวัตถุดิบบ้าง หรือขายอาหารจานเดียวบ้าง

แต่ Penguin Eat Shabu ได้แหวกกฎการขายด้วยการขายชาบูแถมหม้อสุกี้ มีทั้งราคา 777 บาท และ 999 บาท มีทั้งหม้อสุกี้แบบใหญ่ และหม้อสุกี้แบบต้มคนเดียว เรียกว่าสามารถสร้างความน่าสนใจได้พอสมควร เข้ามาอุด Pain Point เรื่องอุปกรณ์การทานชาบูอยู่บ้านไปได้

หลังจากที่ได้ปล่อยเซ็ตซื้อชาบูแถมหม้อไปครั้งแรก ก็พบว่าได้รับการตอบรับดี มีคนสั่งซื้อจนของหมด ระบบล่ม ทางร้านจึงจัดโปรโมชั่นอีกรอบ แต่ครั้งนี้สร้างเสียงอือฮาอีกครั้งด้วยการแถม Tinder+ เพิ่มขึ้นไปอีก เรียกว่าเป็น “ชุดชาบูกระชากความโสด”

Tinder เป็นแอปพลิเคชันหาเพื่อน หาคู่ ตอนนี้ได้มีฟีเจอร์ที่สามารถปลดล็อกปักหมุดไปทั่วโลกได้ มีมูลค่า 300 บาท ให้ใช้บริการฟรี 1 เดือน

นอกจาก Penguin Eat Shabu จะเข้ามาอุด Pain Point เรื่องหม้อชาบู ให้สามารถทานชาบูอยู่บ้านกันได้แล้ว ยังรู้ใจชาวเน็ตคนไทยในช่วงกัดตัวยุค COVID-19 ที่มีความเหงา บางคนก็อยู่เป็นคนโสด ทานชาบูตัวคนเดียว เพราะต้องมีมาตรการ Social Distancing อยู่

ทางร้านได้ปิดท้ายว่า “กวิ้นยอมขาดทุน เพื่อให้คุณได้มีคู่ แล้วเผื่อจะจูงมากินชาบูร้านกวิ้นบ้าง” เป็นไปได้ว่าถ้าลูกค้าได้แฟนจากการทานชาบูในครั้งนี้ น่าจะเป็นสตอรี่ที่ดีไม่น้อย…

]]>
1273823
ความหิวไม่เคยรอใคร! เจาะอินไซต์ทำไม “ชาบูชิ” ถึงต้องเปิด 24 ชั่วโมง https://positioningmag.com/1251517 Tue, 29 Oct 2019 18:33:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1251517 ชาบูชิ ร้านชาบูในเครือของโออิชิ กรุ๊ป ปรับตัวรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ เปิดโมเดล 24 ชั่วโมงที่สามย่านมิตรทาวน์ เอาใจสายกินดึก รับเทรนด์ Sleepless Society การกินไม่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาทำการ

เทรนด์ใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงมาแรง สะดวกซื้อไม่พอ ต้องสะดวกกิน

ดูเหมือนว่าเทรนด์การเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงจะไม่ใช่แค่กระแส แต่กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่เห็นได้ทั่วโลกไปแล้ว ที่ประเทศไทยเองก็เริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้นจากการที่ห้างค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ต่างปรับใช้โมเดลนี้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการใช้ชีวิตที่ไม่ได้จำกัดแค่ช่วงเวลาทำการแค่ 10 โมง – 4 ทุ่ม

“ชาบูชิ” เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารที่ขอเกาะขบวน 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน ได้เปิดโมเดลใหม่ที่เรียกว่า “ไฮบริด” นำร่องสาขาแรกที่ “สามย่านมิตรทาว์น” เป็นการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ชาบูชิสาขานี้ได้เปิดให้บริการครบ 30 วันเป็นที่เรียบร้อย เปิดวันแรกพร้อมกับสามย่านมิตรทาวน์ในวันที่ 20 กันยายน 2562 ถ้าถามว่าผลตอบรับของสาขานี้เป็นอย่างไร ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แอบบอกเลยว่า “ตอนนี้สายพานอาหารทำงานตลอด 24 ชั่วโมงยังไม่มีหยุด ผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้”

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมโออิชิถึงเลือกที่จะนำแบรนด์ชาบูชิมาทำโมเดล 24 ชั่วโมงก่อนใครเพื่อน นั่นเพราะว่ามองเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่ช่วงเวลาดึกๆ ชอบทานของร้อนๆ ของต้มๆ อีกทั้งทำเลของสามย่านมิตรทาวน์ยังใกล้กับสถานศึกษา สถานที่ทำงาน อยากเปลี่ยนพฤติกรรมคนทานมาม่าในตอนกลางคืนมาทานชาบูแทน!

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การทำธุรกิจยุคนี้จะรออยู่แค่ช่วงเวลาศูนย์การค้าทำการอย่างเดียวไม่ได้ การขาย 24 ชั่วโมง ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก

“ตอนนี้เทรนด์ 24 ชม. กลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลก เพราะคนใช้ชีวิตกลางคืนมากขึ้น ร้านอาหารเองก็ต้องปรับตัว จากแต่ก่อนแค่อาหารอร่อย และบริการดีก็เพียงพอแล้ว แต่ตอนนี้ไม่พอ ต้องมีเรื่องของความสะดวกสบาย การเข้าถึงได้ง่ายทุกเวลา” 

ขยายโมเดลใหม่ เจาะไซส์เล็ก

ชาบูชิได้ทำตลาดมา 18 ปีแล้ว ได้เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2544 เป็นร้านชาบูที่มีคอนเซ็ปต์เสิร์ฟทุกอย่างบนสายพาน ราคา 199 บาท/คน จากนั้นในปี 2559 ได้มีการปรับแบรนด์ครั้งใหญ่ด้วยคอนเซ็ปต์ Shabu Shi and So Much More เป็นการแยกไลน์อาหารชาบู กับอาหารอื่นๆ เช่น ซูชิ เทมปุระ ออกจากกัน และในปี 2561 ก็ได้ปรับสาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแฟล็กชิพสโตร์

จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ชาบูชิมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด มีการปรับคอนเซ็ปต์ และรูปแบบร้าน ในปีนี้ก็มีไฮไลต์อยู่ที่โมเดล 24 ชั่วโมงนั่นเอง อีกทั้งทิศทางต่อไปยังเน้นขยายสาขาด้วยโมเดลขนาดเล็กลง เพื่อขยายเข้าเมืองรองมากขึ้น

ทำให้ตอนนี้ชาบูชิมี 3 โมเดลใหม่ด้วยกัน ได้แก่

  • Light Store หรือสาขาขนาดเล็ก มีพื้นที่เฉลี่ย 150-170 ตารางเมตร สายพานเดียว มี 48-65 ที่นั่ง จากที่สาขาปกติใช้พื้นที่มากกว่า 300 ตารางเมตร และมี 2-3 สายพาน เน้นขยายในเมืองรอง ตำบลเล็กๆ ใช้งบลงทุนต่ำกว่าเดิม 15-30% ได้ทดลองเปิดมาแล้ว 6 เดือน เริ่มเปิด 6-7 สาขา ทิศทางต่อไปก็จะขยายโมเดลนี้หมด
  • Hybrid Store สามารถรองรับการใช้บริการ 24 ชม. ไฮบริดที่ว่าก็คือสามารถเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ก็ได้ หรือแบบ A la carte ก็ได้ ปรับได้ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ตอนนี้มีสาขาเดียวที่สามย่านมิตรทาวน์ ยังไม่มีแผนขยายสาขา 24 ชั่วโมงไปที่อื่น ต้องดูความพร้อมของศูนย์การค้าแต่ละที่ก่อน
  • Tier Pricing Format เป็นสาขาที่พรีเมียมมากที่สุด รองรับลูกค้าที่ต้องการทานเมนูที่พรีเมียมมากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นด้วยที่ 429 บาท และ 599 บาท เป็นโมเดลที่เหมาะกับศูนย์การค้าหรูๆ หรือแหล่งท่องเที่ยว ตอนนี้มีสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ และกำลังจะเปิดอีกสาขาที่เซ็นทรัลลาดพร้าว

เพิ่มเวลาขาย ก็เพิ่มรายได้

นอกจากการขยายสาขาด้วยร้านไซส์เล็กแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่น่าสนใจก็คือการ “เพิ่มเวลา” ขาย หรือเป็นการเปิดร้านให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงจากเดิม 10 โมง ก็เปิด 9 โมงเช้า ได้ทดลองในสาขาที่เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซีทั้งหมด 56 สาขา แล้ว เพราะไฮเปอร์มาร์เก็ตมีการเปิดให้บิรการตั้งแต่ 9 โมงเช้าอยู่แล้ว

“หลังจากที่ดูโมเดล 24 ชั่วโมงมาแล้ว ทำให้เห็นว่าไม่มีข้อจำกัดในการทานตอนเช้า เลยทดลองขยายเวลาเปิดให้เร็วขึ้นเป็น 9 โมงเช้าในเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ผลตอบรับก็ดี เปิดขายเพิ่ม 1 ชั่วโมง มียอดขายเพิ่มขึ้นรวม 1 ล้านบาท”

สำหรับสาขา 24 ชั่วโมงที่มีการขายได้ตลอดทั้งวัน เพิ่มการขายได้อีกถึง 12 ชั่วโมงโดยที่ไม่ต้องปิดตามเวลาทำการ ยิ่งเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

ไพศาลอธิบายเพิ่มว่า มีสถิติพบว่าสัดส่วนของลูกค้าที่มาใช้บริการแบ่งเป็นช่วงเวลา 10.00-22.00 น. มีสัดส่วน 54% และเวลา 22.00-10.00 น. สัดส่วน 46% แสดงว่าร้านที่เปิดเวลาปกติมีรายได้หายไป 46% การเปิด 24 ชั่วโมงสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

ขึ้นแท่นสาขายอดขายปังสุด คนกินหลัง 4 ทุ่มเยอะสุด

ชาบูชิสาขาสามย่านมิตรทาวน์ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง จะมีอัตราการให้บริการแบ่งเป้น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเปิดปกติ 10.00-22.00 น. ราคาปกติ 419 บาท แต่ถ้าช่วงเวลา 22.00-10.00 น. ราคา 319 บาท แต่ได้ตัดอาหารกลุ่มของทอด ปลาดิบ และซูชิออก

ไพศาลบอกว่า “เพราะไม่อยากให้คนนอนดึกทานอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ของทอด และปลาดิบทำให้ย่อยยาก มีการปรับราคาลงมา ให้ทานไม่ต้องเยอะ กำลังดี”

จากที่เปิดให้บริการมา 30 วัน ได้มีอินไซต์ของลูกค้าต่างๆ ได้แก่

  • ลูกค้าใช้บริการ 23,650 คน รวม 8,990 บิล ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 700 คน
  • ช่วงเวลาใช้บริการ 10.00-22.00 น. สัดส่วน 54% และ 22.00-10.00 น. สัดส่วน 46%
  • ช่วงเวลาที่คนใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ 22.00-24.00 น. เป็นช่วงคนเลิกงาน รองลงมาคือ 24.00-02.00 น. และ 20.00-22.00 น.
  • จำนวนคนมาใช้บริการ มากัน 2 คน 53% รองลงมาคือ 3 คน และ 1 คน
  • วันที่ 22 กันยายน 2562 เป็นวันที่ลูกค้าใช้บริการใช้เยอะที่สุด มี 434 บิล รวม 1,124 คน
  • 5 อันดับเมนูที่คนทานเยอะที่สุด ได้แก่ กุ้งสด เบคอน ข้าวปั้นหน้าแซลมอน ข้าวปั้นหน้าแซลมอนย่าง และเนื้อฮารามิ (เนื้อพื้นท้อง)
  • ทำให้ตอนนี้สามย่านมิตรทาวน์เป็นสาขาที่รายได้ดีที่สุด ตามมาด้วยเมกา บางนา, เซ็นทรัลเวิลด์, เดอะมอลล์บางกะปิ และซีคอนสแควร์

สำหรับผลประกอบการอาหารของโออิชิ กรุ๊ปในช่วง 9 เดือน (1 ตุลาคม 2561 – 30 มิถุนายน 2562) มีรายได้ 5,386 ล้านบาท โต 11% กำไร 337 ล้านบาท โต 214.5%

ตอนนี้ชาบูชิมีสาขารวม 149 สาขา ในปีหน้าจะมีแผนขยายอีก 11 สาขา ปกติเปิดเฉลี่ย 10-12 สาขา/ปี

ถ้าถามว่าการเปิดร้าน 24 ชั่วโมงมีความยาก หรือความท้าทายที่ไหนบ้าง

ไพศาล บอกว่า ยากกว่าที่ประเมินไว้เยอะ จากตอนแรกคิดว่าตี 2-3 ลูกค้าก็หมดแล้ว แต่กลายเป็นว่าสายพานยังไม่ได้หยุดพักเลย จริงๆ ความยากอยู่ที่เรื่องการปฏิบัตการ อาหารเป็นเรื่องของสด แล้วต้องคาดเดาพฤติกรรมการกินของลูกค้า ต้องทำให้ของสดอยู่เสมอ

อีกทั้งยังมีเรื่องของการบริหารคน เพราะมีพนักงานที่มาทำงานกลางคืน แต่เดิมมี 2 กะ ต้องเพิ่มเป็นเป็น 4 กะ เป็นการเปลี่ยนชีวิตการทำงานของเขา ต้องให้สวัสดิการเพิ่มมากขึ้น ต้องหาที่พักให้พนักงานด้วย

]]>
1251517
ชาบูเกลื่อนเมือง สงครามราคาถล่มบุฟเฟ่ต์ชาบูระส่ำ
 คาด 5 ปีเหลือแค่ 6 ราย https://positioningmag.com/1180008 Mon, 23 Jul 2018 08:56:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1180008 สงครามราคาถล่ม “บุฟเฟ่ต์ชาบู” นับถอยหลัง 5 ปี ตายเรียบ ตามรอย “หมูกะทะ” เหลือแต่รายใหญ่ 

ตลาดบุฟเฟ่ต์ชาบู อาหารยอดฮิตมูลค่า 15,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเกิดขึ้นมากหน้าหลายตาจนเกลื่อนเมือง ทั้งรายเล็กรายใหญ่จนตกอยู่ในสภาพของทะเลเลือด (Red Ocean) เนื่องจากการแข่งขันสูงมาก

ก่อนหน้านี้ Thoth Zocial ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจในธุรกิจอาหาร ปี 2560 พบว่า 5 อันดับแรกที่คนในโซเชียลมีเดียนิยมกินนั้น มี ชาบู เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยพิซซ่า ปิ้งย่าง ซูชิ และแซลมอน

ณัฐพล กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด ผู้บริหาร้านสุกี้นีโอ ประเมินภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเภทชาบู สุกี้ มีมูลค่าประมาณ 15,000 – 20,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 10% เหตุผลหลักมาจากเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคใส่ใจมากขึ้น และราคาที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการ

ในส่วนของราคานั้น การแข่งขันเรื่องราคาสูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่เป็นบุฟเฟ่ต์ พบว่ามีการแข่งขันและตัดราคากันสูงมาก ประเมินได้ว่า หากการแข่งขันราคารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อตลาดรวมเช่นเดียวกับตลาดรวมของร้านหมูกระทะอย่างที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้วผู้ประกอบการก็จะอยู่ยากขึ้นเอง โดยคาดว่าอีกภายใน 5 ปี กลุ่มสุกี้ ชาบู จะมีอยู่ไม่เกิน 6 แบรนด์เท่านั้นที่มีกำลังพอจะสู้ในตลาดได้

“กลุ่มสุกี้ ชาบู ประเภทบุฟเฟ่ต์ การแข่งขันด้านราคาสูงมาก เชื่อว่า รายที่ตั้งราคาที่ต่ำกว่า 200 – 300 บาท ในระยะยาวมองว่าจะอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะแบรนด์โลคอล และร้านของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป คาดว่าใน 5 ปี อาจจะต้องปิดตัวลงและหายไปจากตลาด” ณัฐพล บอกเหตุผล

สำหรับระดับราคาที่จะทำให้บุฟเฟ่ต์อยู่ในตลาดได้ ควรอยู่ที่ 400 – 600 บาทขึ้นไปต่อคน หรือต้องจับตลาดบน รวมถึงแบรนด์ที่มีสายป่านยาวเป็นอีกกลุ่มที่ยังอยู่ในตลาดได้

“นีโอ” ดึงแบรนด์ยุโรป-มะกันเสริมทัพ ทุ่ม 150 ล. สู้ศึก

ณัฐพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของนีโอ หลังรีแบรนดิ้งไปเมื่อปีก่อน จากนี้จะเน้นทำธุรกิจแบบบริหารความเสี่ยง และใช้กระแสเงินสดในการลงทุนเป็นหลัก โดยในช่วง 5 ปีจากนี้ (2561-2565) จะใช้งบ 150 ล้านบาท แบ่งเป็นขยายสาขา 100 ล้านบาท และเพิ่มโรงงานผลิตอีก 50 ล้านบาท เพื่อที่ว่าในปี 2565 จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท และเข้าตลาด MAI เพื่อระดมทุนในการขยายสาขาและแตกแบรนด์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

ขณะที่ปี 2561 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 12-15% หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 370 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมประมาณ 330 ล้านบาท

โดยมีปัจจัยบวกมาจากการขยายสาขา และเทรนด์คนรักสุขภาพยังคงแรงต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่กระจายตัว ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงท่าทีทางการเมือง หากมีการเลือกตั้ง นักลงทุนจะเข้ามาไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ 3 แบรนด์ คือ

1. นีโอ สุกี้ วางจุดยืนให้เป็น สุกี้ โฮมเมด ปีนี้จะเปิดให้ครบ 21 สาขา ตามแผนที่วางไว้จะขยายเพิ่มปีละ 2 สาขา นอกจากนี้ยังขายแฟรนส์ไชส์ให้กับอินโดนีเซีย และเวียดนาม อีก 2 สาขา

2. กังฟู เป็นร้านอาหารหมูตุ๋น หม้อไฟ 1 สาขา ที่ตึกมิดทาวน์

3. ซุนวู เป็นบาร์บีคิว ปิ้งย่าง 1 สาขาที่เดอะ พาร์ค ราชพฤกษ์

โดยได้เตรียมเพิ่มแบรนด์ใหม่เข้ามาอีก 2 แบรนด์ จากแถบยุโรปและอเมริกา เน้นทานง่าย อย่างฟาสต์ฟู้ด และแกร็บแอนด์โก เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ คาดว่าภายใน 5 ปี จะมีทั้งหมด 7-8 แบรนด์

ทำเลในประเทศ จะเน้นหนักไปที่โซนบางซื่อ บางนา ลาดพร้าว ส่วนในต่างจังหวัดคาดว่าจะเป็นขอนแก่น และนครราชสีมา เน้นเข้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ทำการตลาดมาอย่างดีแล้ว

“เปปเปอร์ ลันช์” ปั้นโมเดลใหม่ไซส์เล็ก ขยายฐาน

ทางด้าน อรวรรณ โกมลพันธ์พร ผู้อำนวยการอาวุโสแบรนด์เปปเปอร์ ลันช์ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์การค้าหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ด้านพื้นที่ศูนย์ฯ โดยดึงร้านอาหารดังๆ ที่อยู่นอกห้างเข้ามาเปิดบริการมากขึ้น เพื่อดึงความสนใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้นเพราะลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ร้านอาหารในศูนย์ฯ ทั้งที่เป็นเชนและไม่ได้เป็นเชนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะต้องแข่งขันด้านลดราคามากขึ้นเพื่อแย่งลูกค้ากัน

ในส่วนของเปปเปอร์ ลันช์เอง ก็จัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกวันจันทร์ลดราคา 20% และทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไปถึงร้านปิด จัดโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว โมเดลใหม่”ไซส์เล็กลง คือ

1. เอ็กซ์เพรส พลัส พื้นที่ประมาณ 90-100 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 5-6 ล้านบาท มีประมาณ 20 เมนู ราคาถูกกว่าโมเดลร้านอาหาร 20%

2. เอ็กซ์เพรส ฟู้ดคอร์ด พื้นที่ประมาณ 20 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท มีประมาณ 15 เมนู จะมีราคาถูกกว่าร้านอาหาร 30% ขณะนี้มี 4 สาขา

จากเดิมมีโมเดลเดียวคือ ร้านอาหารหรือเรสตอรองต์สพื้นที่ประมาณ 100-120 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 8-10 ล้านบาท มีประมาณ 40 เมนู

โมเดลใหม่นี้ ทำให้สามารถทำเลไปต่างจังหวัด รวมทั้งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มระดับกลางลงมาได้มากขึ้นด้วย

ตามแผนปี 2561 นี้ใช้งบรวม 100  ล้านบาท เปิดสาขารวม 10 สาขา ครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 4 สาขา ส่วนครึ่งปีหลังจะเปิดร้านเพิ่มอีก 5 สาขา เพื่อให้สิ้นปีมีจำนวนครบ 40 สาขา และคาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้รวม 520 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีที่แล้ว

ส่วนการใช้จ่ายของลูกค้า เฉลี่ย 200 บาทต่อคนต่อครั้ง และมีลูกค้าเฉลี่ย 200,000 คนต่อเดือนทุกสาขารวมกัน.

Source

]]>
1180008