สำนักข่าว Reuters รายงานข่าว โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้สั่งให้ Citi สถาบันการเงินรายใหญ่ ปรับปรุงระบบการทำงานภายในองค์กรอีกครั้ง โดยเฉพาะวิธีวัดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของคู่ค้า
Fed ได้ส่งหนังสือแจ้ง Citi ถึง 3 ครั้งเพื่อสั่งให้ธนาคารจัดการว่าจะวัดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้โดยคู่สัญญาในธุรกรรมอนุพันธ์อย่างไรในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยก่อนหน้านี้ฝ่ายตรวจสอบภายในพบว่างานบางส่วนที่ทำเพื่อปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งธนาคารยังไม่เพียงพอ
แหล่งข่าวของ Reuters ยังกล่าววอีกว่า ฝ่ายตรวจสอบภายในยังพบว่าสถาบันการเงินรายนี้ล้มเหลวในการปฏิบัติตามขั้นตอนข้อกำหนด เพื่อให้แน่ใจว่าคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงได้รับรายงานที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความเสี่ยงทั่วทั้งบริษัท
Citi อยู่ในช่วงเวลาที่ต้องแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกาได้สั่งลงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการด้านความเสี่ยง การจัดการด้านข้อมูล ไปจนถึงการควบคุมภายในสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินรายนี้ได้รับปากที่จะแก้ปัญหา รวมถึงจ่ายค่าปรับถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมา
ในช่วงที่ผ่านมา Jane Fraser ซึ่งเป็น CEO ของ Citi ได้ปรับโครงสร้างของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงาน หรือแม้แต่การปรับโครงสร้างการบริหารภายใน รวมถึงการยกระดับการจัดการด้านความเสี่ยง
สถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ รายนี้ต้องการที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ราคาหุ้นของ Citi ตามหลังคู่แข่งรายใหญ่ เนื่องจากแรงกดดันจากการปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงปัญหาการจัดการด้านความเสี่ยงที่ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ
และคำเตือนจาก Fed ที่ส่งให้ Citi นั้นอาจทำให้แผนการปรับปรุงโครงสร้างนั้นต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่คาด
]]>Citi สถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศปลดพนักงานจำนวน 20,000 ราย หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และการปลดพนักงานครั้งนี้จะช่วยทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้มากถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะยาว
แผนการปลดพนักงานของ Citi จำนวน 20,000 ราย ตามหลังมาจากกระบวนการปรับโครงสร้างในรอบ 20 ปี โดยมีการทยอยปลดผู้บริหาร เพื่อลดความซับซ้อนขององค์กร และยังรวมถึงแผนล่าสุดในการนำธุรกิจในประเทศเม็กซิโกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้พนักงานนั้นลดลงอีก 40,000 คน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินรายนี้จะมีพนักงานเหลือ 180,000 ราย โดยแผนการดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2026
ตัวแทนของ Citi ได้กล่าวกับ CNN ว่า แผนการปลดพนักงานนั้นเกิดขึ้นกับธุรกิจของ Citi ที่มีอยู่ทั่วโลก แต่ปฏิเสธที่จะแจกแจงตัวเลขตามทวีปต่างๆ ซึ่งสถาบันการเงินรายดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากกระบวนการปลดพนักงานในช่วง 2 ปีหลังจากนี้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Citi ต้องออกมาปลดพนักงานชุดใหญ่ เนื่องจากผลประกอบการของสถาบันการเงินรายนี้ในไตรมาส 4 ของปี 2023 ขาดทุนถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการตั้งสำรองในส่วนต่างๆ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังเป็นผลประกอบการที่แย่สุดในรอบ 15 ปีของสถาบันการเงินรายนี้
Jane Fraser ซึ่งเป็น CEO ของ Citi ได้ออกมากล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 4 ถือว่า “ผิดหวังมากที่สุด”
ในช่วงที่ผ่านมา CEO หญิงของ Citi พยายามแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกาได้สั่งให้สถาบันการเงินรายนี้ต้องแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการด้านความเสี่ยง การจัดการด้านข้อมูล ไปจนถึงการควบคุมภายในสถาบันการเงิน
ไม่เพียงแค่การแก้ปัญหาภายในองค์กรเท่านั้น แต่ราคาหุ้นของ Citi เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ราคาหุ้นของ Citi ได้ปรับตัวลดลงสวนทางกับคู่แข่งรายอื่นที่มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ทำให้ CEO รายดังกล่าวต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ CEO ของ Citi ต้องปรับโครงสร้างไม่ใช่แค่การปลดพนักงานเท่านั้น แต่ยังมีการขายธุรกิจในต่างประเทศออกไปเพื่อลดความเสี่ยง หรือแม้แต่การฟื้นฟูงบการเงินซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
ที่มา – CBS News, CNN, Yahoo Finance
]]>Citi สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้เตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหม่ โดยจะมีการปลดพนักงานออกที่จะเน้นไปยังผู้บริหารเป็นหลัก อย่างไรก็ดีสำหรับจำนวนการปลดพนักงานครั้งนี้ยังมีจำนวนที่ไม่แน่นอน และจะมีการจ้างผู้บริหารจากภายนอกมาช่วยดูแลธุรกิจบางส่วนด้วย
ในการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ หัวหน้าธุรกิจทั้ง 5 ฝ่ายของธนาคาร เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มตลาดทุน กลุ่มบริหารความมั่งคั่ง ฯลฯ จะรายงานตรงต่อ CEO อย่าง Jane Fraser นอกจากนี้ธนาคารจะลดบทบาทผู้บริหารนอกสหรัฐอเมริกาลง
ไม่เพียงเท่านี้ CEO รายดังกล่าวยังเตรียมที่จะจ้างผู้บริหารจากภายนอกสถาบันการเงินมาช่วยดูแลบางฝ่ายธุรกิจของธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะมีการแต่งตั้งในช่วงหลังจากนี้
มุมมองจากอดีตพนักงานของ Citi รวมถึงพนักงานปัจจุบันมองว่า โครงสร้างองค์กรแบบดั้งเดิมของสถาบันการเงินจากสหรัฐฯ รายนี้ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร และขาดภาระความรับผิดชอบ รวมถึงยังขัดขวางความคิดริเริ่มใหม่ๆ
การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่นี้ถือเป็นอีกก้าวของ Jane Fraser ตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเธอได้พยายามแก้ปัญหาของสถาบันการเงินรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจในต่างประเทศออกไป ซึ่งรวมถึงประเทศไทย
ขณะเดียวกันเธอยังต้องแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกาสั่งให้สถาบันการเงินรายนี้ต้องแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการด้านความเสี่ยง การจัดการด้านข้อมูล ไปจนถึงการควบคุมภายในสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินรายนี้ได้รับปากที่จะแก้ปัญหา รวมถึงจ่ายค่าปรับถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ในการปรับโครงสร้างองค์กรนั้นมีสาเหตุเพื่อที่จะลดความซับซ้อน เนื่องจากจำนวนผู้บริหารที่มีมากเกินไป และยังทำให้ Citi ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงมาได้ด้วย โดย CEO รายนี้ได้กล่าวว่าการปรับโครงสร้างของสถาบันการเงินรายนี้นั้น “เป็นผลกระทบมากที่สุด” ต่อระบบการทำงานของสถาบันการเงินรายนี้ในรอบ 20 ปี
Jane Fraser ยังได้กล่าวว่าผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้บริหารบางคนลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแผนการดังกล่าว อาจทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจ และแผนการนี้จะต้องบอกลาพนักงานที่ได้ทำงานหนักหรือแม้แต่มีส่วนสำคัญต่อองค์กร แต่เธอได้กล่าวว่าเธอได้ทำสิ่งที่ถูกต้องรวมถึงเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นของ Citi มีผลตอบแทนแย่กว่าคู่แข่งสถาบันการเงินรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs หรือ Morgan Stanley ฯลฯ แม้ว่าสถาบันการเงินรายนี้กำลังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม โดยคาดว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ของปี 2024
ที่มา – CNBC, Yahoo Finance, Reuters
]]>ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2564 “ซิตี้กรุ๊ป” ประกาศขายกิจการลูกค้ารายย่อยใน 13 ประเทศทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศไทย จากแรงกดดันของนักลงทุนที่ต้องการให้ธนาคารลดต้นทุน โดยธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อเงินฝาก จะถูกขายออกทั้งหมด ซึ่งทางซิตี้จะหันไปมุ่งเน้นธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเเละธุรกิจลูกค้าสถาบันเเทน
จากนั้นมาก็มีกระเเสข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการเเข่งขันเข้าซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของไทยนั้นก็มีตัวเต็งที่มาในช่วงเเรกๆ อย่างธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงศรีฯ เเต่ในท้ายที่สุด “ธนาคารยูโอบี” ก็ชนะดีลนี้ไปได้
“การตัดสินใจเข้าซื้อครั้งนี้ หลักๆ มาจากตลาดในประเทศไทย…เเละเป็นราคาที่เหมาะสม” ผู้บริหารกลุ่มธนาคารยูโอบีกล่าว โดยขอให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะมีการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ไม่บกพร่องเเละ “ไม่มีอะไรหยุดชะงัก”
กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้ทำข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งรวมถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย (ธุรกิจลูกค้ารายย่อย) ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม (การเสนอซื้อกิจการ) และรวมไปถึงพนักงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป
การพิจารณาข้อเสนอเงินสดสำหรับการเสนอซื้อกิจการนี้ จะคำนวณจากค่าพรีเมียมรวม 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.25 หมื่นล้านบาท) บวกกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9.86 หมื่นล้านบาท) ทำให้เกิดมูลค่าในซื้อกิจการครั้งนี้ อยู่ที่เกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.2 แสนล้านบาท
คาดว่าจะลดอัตราส่วนของเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Common Equity Tier 1 หรือ CET1) ของธนาคารลง 0.7% เป็น 12.8% ตามสถานะเงินทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2021 ผลกระทบต่ออัตราส่วน CET1 คาดว่าจะมีไม่มากและจะยังอยู่ภายในข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล
นับเป็นทิศทางการขยายขอบเขตธุรกิจครั้งใหญ่ของยูโอบี เพื่อเจาะฐานลูกค้า ‘ผู้มีกำลังซื้อ’ ในอาเซียน และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การเติบโตในกลุ่มลูกค้าส่วนบุคคล เพิ่มเป็น 2 เท่าได้ภายใน 5 ปี
ปัจจุบันธุรกิจลูกค้ารายย่อยหรือ Retail Banking ของซิตี้กรุ๊ป มีสินทรัพย์สุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9.9 หมื่นล้านบาท) และฐานลูกค้าราว 2.4 ล้านราย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2021 และมีรายได้ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
ส่วนธุรกิจ Retail Banking ของ UOB ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีฐานลูกค้าจำนวน 2.89 ล้านราย ดังนั้น เมื่อเข้าทำการซื้อกิจการรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปแล้ว จะทำให้ฐานลูกค้ายูโอบีเพิ่มเป็น 5.29 ล้านราย
โดยเเบ่งเป็นในไทยราว 2.4 ล้านราย มาเลเซียราว 1.5 ล้านราย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลูกค้ารวม 1.2 ล้านราย เเละเวียดนามอีกเกือบ 2 เเสนราย ซึ่งในเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นฐานลูกค้าของซิตี้ ทำให้ยูโอบีสามารถเจาะตลาดที่กำลังเติบโตสูงได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการซื้อธุรกิจครั้งนี้
“หากไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกรรมนี้ในครั้งเดียว การเสนอซื้อกิจการนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของธนาคาร และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของธนาคารยูโอบีได้ทันที”
ยูโอบีคาดว่าส่วน ROE จะเพิ่มขึ้นเป็น 13% ในปี 2566 จากปีนี้ที่อยู่เฉลี่ยราว 10% เเละประเมินว่ารายได้จากการขยายกิจการครั้งนี้น่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.4 เท่า ซึ่งจะมีรายได้ชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2567-2569
การเข้าซื้อกิจการในแต่ละประเทศ จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างกลางปี 2565 ถึงต้นปี 2567 ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าและผลของกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคาร
ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ธนาคารจะเข้าไปดำเนินการควบรวมกิจการในส่วนของประเทศไทยและมาเลเซียก่อน จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี จะเข้าไปดำเนินการในส่วนของอินโดนีเซีย และเวียดนาม
“โดยในไทยเเละมาเลเซีย คาดว่าจะควบรวมต่างๆ ทั้งด้านระบบเเละพนักงานเเล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 อินโดนีเซียในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เเละเวียดนามในช่วงไตรมาส 1 ปี 2667”
ในระหว่างนี้ จะยังคงใช้ชื่อ Citi ไปก่อน เเละจะมีการเปลี่ยนให้ลูกค้ามาอยู่ภายใต้ยูโอบีทั้งหมดในช่วงปลายปี 2565
วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี (UOB) กล่าวว่า ลูกค้ารายย่อยในไทย เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับดีเเละจัดการได้ เเละลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมีกำลังซื้อ จึงมองว่าจะเอื้อต่อการเติบโตของยูโอบีได้
“การตัดสินใจเข้าซื้อครั้งนี้ หลักๆ มาจากตลาดในประเทศไทย”
ประเมินว่า ยูโอบีจะมีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจรายย่อยของไทย อยู่ที่อันดับ 6 ขยับขึ้นมาจากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 7 ขณะที่ธุรกิจบัตรเครดิต ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 จากอันดับ 8 และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เป็น 2.4 ล้านราย จากปัจจุบันที่ 1.3 ล้านราย
ผู้บริหารยูโอบี มองว่า การซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปใน 4 ประเทศ นับเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่มาถึงในเวลาที่เหมาะสม เเละ ”เป็นการเข้าซื้อในราคาที่เหมาะสม” เพื่อขยายฐานลูกค้าได้ถึงสองเท่า เพิ่มความเเข็งเเกร่งด้านพันธมิตร เเละการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน
“เรามุ่งหวังที่จะโอนย้ายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่มีคุณภาพของซิตี้กรุ๊ป และเตรียมต้อนรับทีมงาน สร้างคุณค่าให้กับฐานลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ของเราที่ขยายใหญ่ขึ้น”
พร้อมยืนยันว่าพนักงานกว่า 5,000 รายในธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป จากทั้ง 4 ประเทศ จะยังได้ทำงานเช่นเดิม หลังกระบวนการเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้น โดยไม่มีแผนปลดพนักงานเพราะถือเป็นทีมที่มีคุณภาพ
สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจรายย่อยของธนาคารยูโอบี จะมุ่งเน้นไปที่การเจาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง–กำลังซื้อสูง ที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นจุดเด่นของ ‘ซิตี้กรุ๊ป’ จะยังมีการสานต่อเเละขยายความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น ฟีเจอร์ไหนที่ลูกค้าสนใจ ก็จะมีการสื่อสารกับลูกค้าทันที พร้อมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย Cross sale ระหว่าง 2 ธนาคารเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป
นอกจากนี้ จะมุ่งการเข้าหา ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ ผ่าน UOB TMRW แพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร และให้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) เเละใช้ AI มาช่วยพัฒนาธุรกิจเเละบริการลูกค้าซึ่งความท้าทายของการโอนย้ายธุรกิจครั้งนี้ก็คือการรวมระบบเน็ตเวิร์กให้มาใช้เเพลตฟอร์มเดียวกัน
การเสนอซื้อกิจการนี้จะขยายเครือข่ายพันธมิตรของยูโอบี และเพิ่มขนาดธุรกิจลูกค้ารายย่อยในทั้ง 4 ประเทศขึ้นเป็นสองเท่า เร่งให้บรรลุเป้าขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคเร็วขึ้นถึง 5 ปี
ด้าน ทีบอร์ พานดิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Citi ประเทศไทย เผยว่า ธุรกรรมนี้เป็นผลดีต่อลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และองค์กรของเรา Citi มุ่งมั่นที่จะทำให้ธุรกรรมนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการให้บริการแก่ลูกค้าธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้ากลุ่มบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ของเรา
ต้องติดตามต่อไปว่า Retail Banking ซิตี้โฉมใหม่ภายใต้บ้านยูโอบีจะเป็นไปในทิศทางใด…
]]>การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการตัดสินใจยุติการทำตลาดกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) รวมทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บาห์เรน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
ให้คงเหลือการดำเนินธุรกิจผ่าน Global Wealth Management Center ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ การดำเนินการเชิงกลยุทธ์ใหม่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องของซิตี้ เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางการลงทุน และทรัพยากรในระยะยาวให้กับธุรกิจสายสถาบันธนกิจ หรือ ICG (Institutional Clients Group) ที่ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนสูงและศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง
ซิตี้ได้เน้นธุรกิจสายสถาบันธนกิจ หรือ ICG (Institutional Clients Group) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายทั่วโลกให้กับลูกค้าทั่วเอเชียแปซิฟิก และในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีศักยภาพการเติบโต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ซิตี้มีเงินทุน และเน้นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในเครือข่ายซิตี้ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาการนำเสนอบริการด้านการเงินการค้า และหลักทรัพย์ระดับโลกที่ดีที่สุด
สำหรับการให้บริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของซิตี้แก่ลูกค้าในประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ลูกค้ายังคงจะได้รับบริการเช่นเดียวกับที่เคยได้รับตลอดมา หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป
ปีเตอร์ บาเบจ ประธานกรรมการบริหาร ซิตี้ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า
“ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายทั่วโลกของซิตี้ และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตและคุณค่าของซิตี้ ซึ่งซิตี้ยังคงลงทุนในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนลูกค้าในทุกตลาด เพื่อมอบความสามารถระดับโลกที่เป็นเอกลักษณ์ของซิตี้ พร้อมยืนยันว่าตลาดเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อกลยุทธ์ขององค์กร”
ทางด้าน ทีบอร์ พานดิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า
“ซิตี้มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี ด้วยธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคลธนกิจที่น่าสนใจ และดำเนินไปด้วยดีผ่านทีมงานที่ทุ่มเท และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งซึ่งมีส่วนร่วมในความสำเร็จของซิตี้มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานของซิตี้แบงก์ ประเทศไทยในทันที และไม่มีผลกระทบต่อพนักงานอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดย ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ยังคงพร้อมให้บริการลูกค้าด้วยความเอาใจใส่และความทุ่มเทเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด”
]]>ซิตี้ แอดวานซ์ เปิดช่องทางเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าและบุคคลทั่วไปกับการจ่ายครบทุกบิลในที่เดียว โดยเพิ่มจุดให้บริการเอ็มเปย์ สเตชั่น (mPay Station) ในสาขาซิตี้ แอดวานซ์ ในห้างเดอะมอลล์ทั้ง 5 สาขา (รามคำแหง งามวงศ์วาน บางกะปิ ท่าพระ บางแค) สาขาพาราไดซ์ พาร์ค และสาขาสยามพารากอน โดยเปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่จันทร์ – อาทิตย์ เวลา 11.00 – 20.00 น.
ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเบี้ยประกัน หรือชำระค่าบัตรเครดิตและสินเชื่อของสถาบันการเงินทุกแห่ง และฟรี! ค่าธรรมเนียมสำหรับการชำระยอดใช้จ่าย บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ทุกประเภท และซิตี้แบงก์ เรดดี้ เครดิต
บริษัท คอฟฟี่ บีนเนอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟโซลิโต้ และศูนย์บริการปรึกษาการเปิดร้านกาแฟแบบครบวงจร จับมือ ซิตี้แบงค์ จัดแคมเปญพิเศษสำหรับคนรักกาแฟภายในงาน Thailand Retail, Food & Hospitality Service (TRAFS 2008) ด้วยโปรโมชั่นพิเศษ Pay Lite ผ่อน 0% นาน 6 เดือน ทั้งเครื่องทำกาแฟขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ พร้อมแนะนำเครื่องทำกาแฟเอสเปรซโซระบบอัตโนมัติรุ่นใหม่ล่าสุดจากประเทศเกาหลี พร้อมทั้งสินค้าราคาพิเศษอีกมากมายให้ท่านได้เลือกซื้อ ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2551 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าไบเทค บางนา
ทรู รักษาแชมป์ผู้ให้บริการ hi-speed Internet อันดับ 1 ของประเทศ ประเดิมแคมเปญสุดคุ้มรุกตลาดต้นปี 2551 ต่อยอดความร่วมมือกับซิตี้แบงค์ มอบความคุ้มค่านานสูงสุดกว่าที่เคยมีมา เป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าผู้สมัครออนไลน์บัตรเครดิตผ่าน www.citibank.co.th ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2551 นี้ ได้ใช้ฟรี hi-speed Internet ความเร็ว 128 Kbps. จากทรูนาน 6 เดือน มูลค่า 1,770 บาท พร้อมฟรีค่าแรกเข้ามูลค่า 2,000 บาท มั่นใจคุ้มค่า ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย เหมาะกับไลฟ์สไตล์นักท่องเน็ต
นายไพบูลย์ ต.ศิริวานิช ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป ด้านกลุ่มลูกค้าบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า เพื่อรักษาความเป็นผู้นำบริการ hi-speed Internet ของประเทศ ทรู ประเดิมแผนรุกตลาดปี 2551 ด้วยข้อเสนอคุ้มสุดกว่าที่เคยมีมา โดยต่อยอดความร่วมมือกับซิตี้แบงค์ ธนาคารระดับโลกที่นำเสนอบริการด้านการเงินอย่างหลากหลาย จัดแคมเปญพิเศษ สมัครซิตี้แบงค์ ออนไลน์ อินเทรนด์ง่ายๆ กับชีวิตทรู ไฮสปีด โดยมอบสิทธิพิเศษ ให้กับลูกค้าที่สมัครออนไลน์บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ หรือซิตี้แบงก์เรดดี้เครดิต ผ่านเว็บไซต์ www.citibank.co.th ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2551 รับฟรี บริการ hi-speed Internet Junior Package ความเร็ว 128 Kbps. จากทรูอินเทอร์เน็ต นาน 6 เดือน มูลค่ารวม 1,770 บาท พร้อมฟรีค่าแรกเข้า 2,000 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทรู มอบสิทธิพิเศษให้ใช้ hi-speed Internet นานสูงสุดถึง 6 เดือน
“การจับมือกับระหว่าง ทรู กับซิตี้แบงค์ มั่นใจว่าจะช่วยขยายฐานลูกค้า hi-speed Internet ของทรู ไปยังกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิต โดยเฉพาะผู้สมัครผ่านออนไลน์ ที่สะท้อนชัดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิถีชีวิตผูกพันกับการใช้อินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ทดลองสัมผัสประสบการณ์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนานถึง 6 เดือน ซึ่งจะได้ท่องเน็ตความเร็วสูงกว่าถึง 2 เท่า โดยไม่ต้องเสียค่าต่ออินเทอร์เน็ตครั้งละ 3 บาท อีกทั้งยังไม่ถูกจำกัดการใช้สายโทรศัพท์อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการใช้ทั้งบัตรเครดิตและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง อย่างสะดวก รวดเร็ว ก้าวทันสังคมโลกยุคดิจิทัล นับได้ว่าเป็นการมอบสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้แบบทูอินวัน ทั้งนี้ ผู้สมัครบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ หรือซิตี้แบงก์เรดดี้เครดิต จะได้รับสิทธิ์ใช้งาน hi-speed Internet Junior Package ความเร็ว 128 Kbps. จากทรูอินเทอร์เน็ต นาน 6 เดือน เดือนละ 30 ชั่วโมง ในกรณีที่ใช้
งานเกิน 30 ชั่วโมง จะคิดค่าบริการ ในอัตราชั่วโมงละ 12 บาท (ไม่รวม VAT 7%) โดยในการเรียกเก็บค่าบริการ รวมแล้วจะไม่เกิน 590 บาทต่อเดือน (ไม่รวม VAT 7%)”
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า “ตลาดของผู้ใช้ อินเทอร์เน็ตนับว่าเป็นโอกาสทางการตลาดที่มีศักยภาพสูงและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับธนาคารซิตี้แบงก์เองก็ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมใหม่ๆให้เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมต่างๆของธนาคารอยู่แล้วเราจึงได้ให้ความสำคัญกับช่องทางการสมัครใช้บริการของธนาคารผ่านทาง ระบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า และเป็นการจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่มี ไลฟ์สไตลแบบออนไลน์ ซึ่งช่องทางออนไลน์ของซิตี้แบงก์นี้ จะเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการสมัคร ใช้บริการของธนาคาร โดยจะเป็นช่องทางที่ได้รับข้อเสนอพิเศษสูงสุดเมื่อเทียบกับการสมัครผ่านทาง ช่องทางอื่นๆ เช่น โปรโมชั่น hi-speed Internet นาน 6 เดือนจากความร่วมมือกับทรู คอร์ปอเรชั่น นอกจากนั้น ยังจะได้รับความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารอีกด้วย โดยทันทีที่สมัครผ่านทางออนไลน์ ลูกค้าจะได้รับอีเมล์แจ้งผลการรับสมัครเบื้องต้นภายในเวลา 60 วินาที และจะได้รับบัตรเครดิตภายในเวลา 5 วันหลังจากวันยื่นเอกสารประกอบการสมัคร นอกจากนี้ยังสามารถ ตรวจสอบสถานะการสมัครได้ทางออนไลน์ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุกวัน”
“ธนาคารซิตี้แบงก์ นับเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีไอทีมาเสริมศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง โดยนิตยสารโกลบอลไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นนิตยสารทางการเงินระดับ โลก มอบรางวัล “ธนาคารทางอินเทอร์เน็ตยอดเยี่ยม” แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ (www.citibank.co.th) เป็นเวลาถึง 5 ปีติดต่อกัน ดังนั้น ผู้สมัครใช้บริการทางออนไลน์สามารถจะมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและความง่ายในการใช้งาน นอกจากนี้เรายังส่งเสริมการใช้บริการธนาคารออนไลน์อย่าง จริงจัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย” นายสุริพงษ์ กล่าวเสริม
“ทรู เชื่อว่าการจับมือกับพันธมิตรชั้นนำ เลือกสรรมูลค่าเพิ่มที่ตรงใจเช่นนี้ นอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าได้ตรงกลุ่มแล้ว ยังเป็นการสร้างกระแสและเชื่อมโยงให้ผู้คนในสังคม ได้รับประโยชน์และใช้งานอุปกรณ์สื่อสารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งทำงาน เรียนรู้ และพักผ่อน ได้อย่างสะดวกและสมบูรณ์แบบ ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ รวมทั้งมีส่วนช่วยให้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตซิตี้แบงค์สามารถเติมเต็มไลฟ์สไตล์ได้ครบทุกด้าน” นายไพบูลย์ กล่าวในที่สุด
ข้อมูล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรหนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle เชื่อมโยงทุกบริการ พร้อมพัฒนาโซลูชั่น ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างแท้จริง สำหรับกลุ่มลูกค้า ทั้งลูกค้าทั่วไป กลุ่มธุรกิจ SME และกลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ ในทุกรูปแบบของเสียง ข้อมูล และมัลติมีเดียต่างๆ ตรงใจลูกค้าทุกกลุ่มทุกไลฟ์สไตล์ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ประกอบการสำคัญในตลาดธุรกิจสื่อสารระบบไร้สาย และอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ทรู ยังมีบริษัทย่อยสำคัญในกลุ่ม คือ ทรู วิชั่นส์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และ ทรู มูฟ ผู้ให้บริการระบบสื่อสารไร้สาย โทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ทรู ยังนำเสนอนวัตกรรมและบริการต่างๆ เชื่อมโยง ให้อิสระในการเติมเต็มชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าถึงความรู้ ข้อมูล และสาระบันเทิง ตลอดจนการทำธุรกรรมออนไลน์ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตามต้องการ ให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ภายใต้ 5 ธุรกิจหลักครบวงจร ทรูมูฟ ทรูออนไลน์ ทรูวิชั่นส์ ทรูมันนี่ ทรูไลฟ์ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.truecorp.co.th
ข้อมูล ซิตี้
ซิตี้ เป็นสถาบันการเงินชั้นนำของโลกที่ให้บริการแก่ลูกค้าถึง 200 ล้านรายในกว่า 100 ประเทศ ทั่วโลก ครอบคลุมตั้งแต่ ลูกค้ารายย่อยทั่วไป ลูกค้าองค์กร ภาครัฐ และสถาบันต่าง ๆ โดยนำเสนอ ผลิตภัณฑ์ ทางการเงินและการบริการ หลากหลายประเภท อาทิ บุคคลธนกิจ การให้สินเชื่อและบัตรเครดิต สถาบันธนกิจ วาณิชธนกิจ นายหน้าค้าหลักทรัพย์ และการบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจหลักของซิตี้ ประกอบด้วย ซิตี้แบงก์, ซิตี้ไฟแนนเชียล, พรีมารีก้า, สมิธ -บาร์นีย์ และบานาเม็กซ์ ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่เว็บไซต์ www.citi.com
เหตุผลสำคัญในการปรับเปลี่ยนโลโก้ซิตี้ แบงก์ใหม่ นั่นคือ ความเป็นหนึ่งเดียวของธุรกิจที่หลากหลายและการจดจำง่ายขึ้น เส้นโค้งสีแดง โลโก้ใหม่ ซิตี้ แบงก์ คาดหวังลึกๆ ว่าอยากจะเป็นเส้นขีดถูกเหมือนไนกี้ที่คนทั่วโลกเห็นโลโก้ ก็ย่อมรู้ว่านี่แบรนด์ใด
ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากโลโก้เดิม citygroup มีร่มสีแดง ซึ่งถูกมองว่าเรื่องการคุ้มครองและประกันภัย มาสู่ city มีเส้นโค้งสีแดง ซึ่งบ่งบอกถึงสะพานเชื่อมใจระหว่างธนาคารกับลูกค้า ไปสู่สิ่งที่ดีในชีวิต ในความหมายใหม่ ในระดับโกลบอล งานนี้ซิตี้ได้นำคำว่า “การันตี” มาใช้กับแบรนด์ด้วย
ในการรับรู้ของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของซิตี้ แบงก์ ในระดับโลกอาจทราบกันในระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ซิตี้ แบงก์ขายบริษัทด้านประกันภัยทิ้ง และเปลี่ยนมาสู่การปรับแบรนด์ใหม่ แต่การใช้คำว่า “การันตี” ถือเป็นมูลเหตุ และประเด็นสำคัญในการสร้างความเชื่อถือให้แข็งแรงขึ้นกับกลุ่มลูกค้า
ภาพลักษณ์ของซิตี้ แบงก์ในเมืองไทยที่ผ่านมา นอกจากความเป็นโกลบอลแบรนด์ที่ดูดี มีระดับ แต่ปัญหาด้านการบริการ เช่น การทวงหนี้ กิริยาวาจาของ 1588 ย่อมอยากยกระดับ เปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้การันตีมาเป็นจุดสื่อสารให้ลูกค้าได้เข้าใจขึ้น
การันตีทั้งในเรื่องส่วนลด สิทธิประโยชน์ และการบริการ โดยเน้นระยะเวลาความเร็วรวดเป็นกุญแจสำคัญ อาจถือเป็นย่างก้าวใหม่ของซิตี้ แบงก์ที่จะแก้ปัญหาด้านการบริการให้ดีขึ้น พร้อมกันกับการจดจำโลโก้ใหม่ ไปด้วย
แม้แบรนด์คาแร็กเตอร์ในเมืองไทยยังใช้คำว่า ซิตี้ แบงก์ในการทำตลาด แต่การปฏิรูปภายในทั้งในเรื่องของการบริการ และใช้งบการตลาดแบบคิดหน้าคิดหลังกว่าเดิม ยังไงแล้วถือว่างานนี้ซิตี้ แบงก์ได้รีแบรนด์ตัวเองครั้งใหญ่ ซึ่งไม่แค่เปลี่ยนโลกโก้เท่านั้น
…สะพานเชื่อมใจจึงน่าจะสวยงามขึ้น ดีขึ้น เมื่อซิตี้ แบงก์ได้สร้างสะพานนี้ขึ้นมาใหม่
Did you know?
ซิตี้กรุ๊ปได้ปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ ใช้พร้อมกันในวันที่ 13 ก.พ. 50 ที่ผ่านมา โดยคำว่า city จะมีสองสี คือ สี เงิน หมายถึง สถาบันธนกิจ วาณิชธนกิจ และธนบดีธนกิจ ส่วนสีน้ำเงิน จะหมายถึงสายงานบุคคลธนกิจ
ฮ่องกง—(บิสิเนสไวร์)—21 ก.พ. 2550
ซิตี้กรุ๊ป พร็อพเพอร์ตี้ อินเวสเตอร์ (ซีพีไอ) แถลงข่าวการปิดกองทุนซีพีไอ แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส เอเชีย แปซิฟิก แอล พี เป็นรอบสุดท้ายวันนี้ กองทุนมูลค่า 1.29 พันล้านดอลลาร์ดังกล่าวทำการลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยมุ่งเน้นไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย ขณะนี้ ซิตี้กรุ๊ป และทีมการลงทุนมีพันธะสัญญาการลงทุนเป็นจำนวน 200 ล้านดอลลาร์ในกองทุนดังกล่าว
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร นายเดวิด สแคเฟอร์ หัวหน้าซีพีไอ เอเชีย แปซิฟิก เป็นผู้นำทีมที่มีประสบการณ์และมีฐานอยู่ในฮ่องกง โดยทีมดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนกว่า 25 คนซึ่งได้ลงทุนหรือมีส่วนร่วมในการจัดการลงทุนมาแล้วประมาณ 40% ของมูลค่าทุนในกองทุนจนถึงปัจจุบัน ส่วนคณะกรรมการการลงทุนของกองทุนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสด้านการลงทุนจากซีพีไอ และองค์กรของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งจะนำทัศนคติด้านการลงทุนระดับสากลที่หลากหลายไปใช้ประโยชน์ในการประเมินและการตัดสินใจลงทุนได้อย่างดีเยี่ยม
โจเซฟ แอซแร็ค ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิตี้กรุ๊ป พร็อพเพอร์ตี้ อินเวสเตอร์ กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีอย่างมากกับการปิดกองทุนซีพีไอ แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส เอเชีย แปซิฟิก เราได้รับความสนใจในกองทุนนี้จากนักลงทุนอย่างล้นหลาม เอเชียเป็นตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน และทีมของซีพีไอ เอเชีย แปซิฟิก ก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการค้นหาโอกาสที่เหมาะสมในภูมิภาคนี้ ทีมการลงทุนที่มีประสบการณ์ของเรา ซึ่งมุ่งเน้นด้านการลงทุนและมีความสัมพันธ์อันกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะ ต่างพร้อมใจกันที่จะทำให้การจัดตั้งกองทุนนี้ประสบความสำเร็จ”
ซิตี้กรุ๊ป พร็อพเพอร์ตี้ อินเวสเตอร์ เป็นผู้จัดการลงทุนระดับสากล มีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก ลอนดอน ลอสแองเจลิส เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง รวมถึงมีการดำเนินงานในมุมไบ ซีพีไอ ทำการลงทุนทั่วทั้งตลาดส่วนบุคคลและตลาดทั่วไปด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 9.8 พันล้านดอลลาร์ ซีพีไอ มีทีมงานเฉพาะด้านการลงทุนอยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งทำการลงทุนข้ามสำนักงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจที่หลากหลาย อุตสาหกรรมค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ของกิจการโรงแรม เป็นต้น ความแข็งแกร่งของซีพีไอถูกกำหนดโดยกลยุทธ์การลงทุนที่มีการทำวิจัย ความไวต่อตลาดทุน การค้นหาการลงทุนที่มีโอกาสดีๆ รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการ ซีพีไอเป็นศูนย์การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของ ซิตี้ อัลเทอร์เนทีฟ อินเวสเมนท์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ความชำนาญอันกว้างขวางของซิตี้กรุ๊ปเข้าด้วยกันเพื่อสร้างแพล็ตฟอร์มเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการบริหาร การพัฒนา และการจัดการด้านการตลาดสำหรับทางเลือกการลงทุนต่างๆ ให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง ซิตี้กรุ๊ป ใช้เงินทุนของตนในการสร้างผลประโยชน์และลงทุนร่วมกับนักลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของซีพีไอด้วย
เกี่ยวกับซิตี้ อัลเทอร์เนทีฟ อินเวสเมนท์
ซิตี้ อัลเทอร์เนทีฟ อินเวสเมนท์ (ซีเอไอ) เป็นหน่วยงานด้านการลงทุนทางเลือกที่บริหารผลิตภัณฑ์หลากหลายในสินทรัพย์สี่ประเภท ได้แก่ ไพรเวทอีควิตี้ เฮดจ์ฟันด์ อสังหาริมทรัพย์ และตราสารจัดโครงสร้างต่างๆ ซีเอไอบริหารเงินทุนในนามของซิตี้ รวมทั้งนักลงทุนสถาบันบุคคลที่สามและนักลงทุนที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซีเอไอมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ยังไม่ได้ทำการเพิ่มประมาณ 49.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ซีเอไอติดอันดับผู้บริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก เป้าหมายของซีเอไอคือการช่วยให้ศูนย์การลงทุนทั้ง 14 แห่งของตนสามารถรักษาคุณภาพในการบริหารโอกาสการลงทุนที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีสติปัญญาความสามารถ ตลอดจนทรัพยากรด้านการเงิน และการดำเนินงานของซิตี้
เกี่ยวกับซิตี้
ซิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก มีบัญชีลูกค้าราว 200 ล้านบัญชี และทำธุรกิจในประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก บริษัทให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานรัฐบาล และสถาบันต่างๆ ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย รวมทั้งการธนาคารและสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย การธนาคารสำหรับบริษัทและวาณิชธนกิจ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และการจัดการทรัพย์สิน ชื่อหลักทางการค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าเส้นโค้งสีแดงของซิตี้ ได้แก่ ซิตี้แบงค์, ซิตี้ไฟแนนเชียล, ไพรม์เมริกา, ซิตี้ สมิธ บาร์นีย์ และบานาเม็กซ์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถค้นหาได้ทางเว็บไซต์ www.citigroup.com หรือ www.citi.com
ติดต่อ: ซิตี้กรุ๊ป
สื่อติดต่อ:
จอน เอ็ม ไดแอท
โทรศัพท์: 212-793-5462
อีเมล: [email protected]