ซินเจียงอุยกูร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 20 May 2021 06:18:27 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ยูนิโคล่’ งานเข้าหลัง ‘สหรัฐฯ’ เบรกนำเข้าสินค้า เหตุหวั่นใช้แรงงานชาวอุยกูร์ https://positioningmag.com/1333070 Thu, 20 May 2021 05:39:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333070 ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สินค้าของ ‘UNIQLO’ (ยูนิโคล่) ของ Fast Retailing Co. Ltd. ได้ถูกกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) ที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสระงับการขนส่งเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าผลิตจาก ‘ฝ้ายซินเจียง’ ซึ่งมีข้อกังวลว่าเป็นการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียง

ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคมปี 2020 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา (DHS) ได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับ “คำสั่งระงับ” ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงโดยระบุว่าคำสั่ง “Withhold Release Order” (WRO) นี้จะกำหนดให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์ฝ้ายทั้งหมดที่ผลิตโดย XPCC (Xinjiang Production and Construction Corps) และผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันที่ XPCC ผลิตขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า XPCC คือพวกเขาเป็นกลุ่มเศรษฐกิจและกึ่งทหารที่ควบคุมธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคซินเจียงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสินค้าที่ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งระงับไว้นั้น ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องนำสินค้าออกนอกประเทศหรือไม่ก็ถูกทำลาย หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้ละเมิดกับกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและกินเวลานาน เพราะเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้วที่ยังหาข้อสรุปให้กับ Uniqlo ไม่ได้

แม้ตามเอกสารศุลกากรของ Uniqlo ระบุว่า ผ้าฝ้ายดิบที่ใช้ในเสื้อเชิ้ตผลิตในออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกาและบราซิลโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานชาวอุยกูร์ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของสหรัฐฯ กล่าวว่า Uniqlo ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้ผลิตจากแรงงานชาวอุยกูร์ โดยอ้างว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่เพียงพอ

Tadashi Yanai CEO ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับผ้าฝ้ายในภูมิภาคซินเจียงในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเดือนเมษายน แต่บริษัทได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 ว่า

“ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่รับเหมาช่วงให้กับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม ยอดขายในอเมริกาเหนือคิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของยอดรวมของ Fast Retailing ดังนั้น การจัดส่งที่ถูกบล็อกจึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่แม้ว่าผลกระทบกับ Uniqlo อาจไม่ได้มากมาย แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะเมื่อเครื่องแต่งกาย, รองเท้าและเครื่องประดับส่วนใหญ่ยังคงมาจากประเทศจีน

forbes / nikkeiasia

]]>
1333070
โดนแบนแล้วไง ‘Adidas’ โชว์ยอดขายในจีนโต 150% แม้จะโดนคว่ำบาตรเพราะกรณีฝ้ายซินเจียง https://positioningmag.com/1331080 Fri, 07 May 2021 11:11:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331080 ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 4 คน เพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ของจีน ซึ่งนั่นทำให้ชาวจีนไม่พอใจอย่างมาก จนนำไปสู่การ ‘แบน’ บรรดาแบรนด์ที่เคยออกมาแสดงความกังวลต่อการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘Adidas’ (อดิดาส)

สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Adidas จะถูกแบนก็ตาม แต่ผลประกอบการในไตรมาสแรกของประเทศจีนกลับเติบโตได้ 156% ขณะที่ยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% เป็น 5.27 พันล้านยูโร ส่วนผลกำไรอยู่ที่ 558 ล้านยูโร (673.2 ล้านดอลลาร์) จากที่ปีที่แล้วมีกำไรเพียง 31 ล้านยูโร ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากรายได้จากผู้บริโภคโดยตรงและอีคอมเมิร์ซ

บริษัทกล่าวว่า มีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับยอดขายในปีนี้ เนื่องจากมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทั่วโลกเกินคาด นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการแข่งขันกีฬาสำคัญ ๆ เช่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, ยูฟ่า ยูโรปา และโคปาอเมริกาจะช่วยสนับสนุนธุรกิจด้วย

Source : Facebook Adidas

และแม้ว่าในตลาดจีนจะถูกคว่ำบาตรก็ตาม Kasper Rorsted ซีอีโอของ Adidas กล่าวว่า เขายังคงคาดหวัง ”การเติบโตที่แข็งแกร่งมาก” จากประเทศจีนในปีนี้

“เรายังคงมั่นใจมากว่าเราจะยังคงสร้างตำแหน่งของเราในจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเรา แต่แน่นอนว่ากรณีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์นี่เป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนและเรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครอง”

ทั้งนี้ Adidas ยืนยันว่า ไม่เคยผลิตสินค้าในซินเจียงและไม่มีความสัมพันธ์ทางสัญญากับซัพพลายเออร์ในซินเจียงใด ๆ ขณะเดียวกันในปีนี้ Adidas ยังได้เข้าร่วมกับองค์กร ‘Better Cotton Initiative’ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเลือกที่จะระงับกิจกรรมในซินเจียงเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน

CNBC / marketwatch

]]>
1331080
‘Uniqlo’ ขอสวนกระแสออนไลน์ เดินหน้า ‘เปิดสาขา’ ในเอเชียเพิ่มเป็น ‘สองเท่า’ https://positioningmag.com/1327414 Fri, 09 Apr 2021 09:09:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327414 ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่อยู่กับโลกเรามากว่า 1 ปี แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้างเพราะ ‘วัคซีน’ แต่ผลกระทบจากไวรัสก็ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวหันไปเน้น ‘ออนไลน์’ มากกว่าที่จะพึ่งพาหน้าร้านที่ไม่รู้ว่าจะถูก ‘ปิด’ เมื่อไหร่ แต่ ‘Uniqlo’ แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นกลับสวนกระแสตั้งเป้าเปิดสาขาในเอเชียเพิ่มอีก 2 เท่า

ตั้งเป้าเปิด 100 สาขาต่อปี

‘Fast Retailing’ เจ้าของ ‘Uniqlo’ ต้องการเร่งการขยายตัวในเอเชีย โดยตั้งเป้า เปิดสาขา 100 แห่งต่อปี จากปกติเปิดปีละ 40-50 สาขาต่อปี เพื่อให้เติบโตในยุคหลังการระบาดของ COVID-19 จบลง

“เอเชียเป็นและจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก เราจะเร่งขยายตัวในภูมิภาคเพื่อให้เราเป็น บริษัทอันดับ 1 ในเอเชีย เพราะไม่ช้าก็เร็วการระบาดจะสิ้นสุดลง” ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยานาอิ ยอมรับว่าการค้าออนไลน์ยังเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตต่อไป และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอีคอมเมิร์ซ บริษัทกำลังสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติในทั่วโลก

ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing

ครึ่งปีแรกกำไรโต 23%

ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ (ช่วงเดือน ก.ย. 2563 ถึงเดือน ก.พ. 2564) มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 167.9 พันล้านเยน (1.5 พันล้านดอลลาร์) ปรับตัวขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า แม้ยอดขายในภูมิภาคส่วนใหญ่จะลดลง แต่ก็ได้ตลาดญี่ปุ่นและจีนช่วยบริษัทสามารถเอาชนะผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ได้

บริษัทระบุว่า รายได้จาก Uniqlo ในญี่ปุ่นทำได้เกินความคาดหมาย โดยเติบโตขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนปิดที่ 492.5 พันล้านเยน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 36.6% เป็น 97.8 พันล้านเยน ขณะที่ยอดขายออนไลน์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 40%

ส่วนรายได้จากต่างประเทศของ Uniqlo มียอดขายลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปิดที่ 521.8 พันล้านเยน แต่กำไรเพิ่มขึ้น 25.9% เป็น 67 พันล้านเยน เนื่องจากอัตรากำไรที่ดีขึ้นในเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือนส.ค. ที่ 2.55 แสนล้านเยน จากคาดการณ์เดิมที่ 2.45 แสนล้านเยน ส่วนกำไรสุทธิปรับตัวขึ้น 5.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงินปัจจุบัน แตะที่ 1.06 แสนล้านเยน ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ 1.20 ล้านล้านเยน ลดลง 0.5%

ปัญหาการเมืองส่งผลต่อการทำธุรกิจ

ทาดาชิ ยานาอิ ยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยากขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะพูดถึงเกี่ยวกับการใช้ฝ้ายที่ผลิตในซินเจียง เนื่องจากแบรนด์ต่างประเทศบางแบรนด์เลิกใช้ผ้าฝ้ายจากภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมของจีน เนื่องจากมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน

“เราต้องการที่จะเป็นกลางทางการเมือง”

ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Fast Retailing เคยออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาคนี้”

สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน

ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ฝ่ายซินเจียง แต่บริษัทเพิ่งถูกผลกระทบในเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งโรงงานซัพพลายเออร์ 2 แห่งถูกจุดไฟเผาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยานาอิมองว่าผลกระทบดังกล่าวส่งผลเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัททำธุรกิจกับเมียนมาน้อยมาก

Source

]]>
1327414
สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน https://positioningmag.com/1325797 Wed, 31 Mar 2021 13:25:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325797 นาทีนี้คงไม่มีประเด็นอะไรจะร้อนแรงไปกว่าความขัดแย้งของ ‘ตะวันตก’ กับ ‘จีน’ ในเรื่องของ การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ อีกแล้ว ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวกำลังบานปลายกลายเป็นการทำสงครามการค้า มีการแบนแบรนด์ดังต่าง ๆ กันเยอะแยะวุ่นวายไปหมด ดังนั้น Positioning จะมาสรุปถึงที่มาที่ไปถึงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามการค้ากัน

รู้จัก ซินเจียง ให้มากขึ้น

‘ซินเจียง’ หรือในชื่อเต็ม ‘เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง’ เป็นมณฑลที่อยู่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนที่ขนาดพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 16 ของผืนแผ่นดินของประเทศจีน หรือมีเนื้อที่ใหญ่เป็น 3 เท่าของประเทศไทย โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในซินเจียงนั้นมีประมาณ 19.25 ล้านคน ประกอบด้วยชนกลุ่มต่าง ๆ ผสมปนเปกันมากถึง 47 ชนชาติ โดยชนชาติที่มีจำนวนมากรองจากฮั่น ก็คือ อุยกูร์ (Uyghurs) ชนชาติที่ส่วนใหญ่พูดภาษาเตอร์กิช และนับถือศาสนาอิสลามกว่า 54%

ซินเจียง ถือเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายขนาดใหญ่สุดของจีน โดยมีอำเภอท้องถิ่นถึง 61 อำเภอที่ปลูกฝ้าย ขณะที่เกษตรกรเกือบครึ่งหนึ่งของซินเจียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตฝ้าย โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 30% ของเหล่าเกษตรกร ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ผลผลิตของฝ้ายซินเจียงอยู่ที่ 5.16 ล้านตัน คิดเป็น 87.3% ของการผลิตฝ้ายทั้งหมดในจีน โดยซินเจียงครองอันดับ 1 ในการผลิตฝ้ายถึง 25 ปีซ้อน และเป็นผู้ผลิตเบอร์ 2 ของโลก

ภาพจาก shutterstock

ค่ายกักกัน ประเด็นที่ถูกพูดมากที่สุด

ตั้งแต่อดีต ชาวอุยกูร์ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์เลือกปฏิบัติในวงกว้างมาหลายปี ทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นให้ย้ายถิ่นฐานเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดกับชาวอุยกูร์ ก่อนจะลุกลามไปสู่ความรุนแรง ส่งผลให้เกิดการปราบปรามครั้งใหญ่ และเกิดโครงการเฝ้าระวังของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกพูดถึงและตั้งคำถามจากนานาชาติเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ‘ค่ายกักกัน’ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์

โดยทางสหประชาชาติยืนยันว่ามีรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีประชาชนชาวอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคนถูกกักตัวไว้ในค่าย เพื่อปรับทัศนคติ นอกจากนี้ยังมีการ บังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในโรงงานสิ่งทอ อีกด้วย และไม่ใช่แค่นี้ แต่มีข่าวลือว่ามีการละเมิดความเป็นส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ติดตั้งแอปพลิเคชันส่งข้อความที่เข้ารหัสทางโทรศัพท์ เพื่อดูเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา การล่วงละเมิดทางเพศ และการสังหารหมู่

แน่นอนว่ารัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ โดยยืนยันว่าค่ายดังกล่าวเป็นเพียงโรงเรียนฝึกหัดอาชีพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการบรรเทาความยากจนของประเทศเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลซินเจียง กล่าวว่า “ภูมิภาคนี้ได้เอาชนะภัยคุกคามจากความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายในอดีตด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง”

Photo by Yuan Huanhuan/VCG via Getty Images)

คว่ำบาตรจีน

หลังจากที่มีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในปี 2020 รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้พิจารณาแบนสินค้าที่ใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียงเป็นการตอบโต้ รวมถึงได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตร เฉิน ฉวนกั๋ว (Chen Quanguo) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในซินเจียง และช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และ แคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 4 คน ซึ่งนี่ถือเป็นท่าทีที่ชาติตะวันตกร่วมมือกันเพื่อส่งสัญญาณต่อต้านการใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ส่วนรัฐบาลจีนออกมาตรการตอบโต้ท่าทีของชาติตะวันตก ผ่านการคว่ำบาตร 10 คน และหน่วยงาน 4 แห่งในยุโรป ซึ่งมีบทบาทจับตาสถานการณ์ในเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ โดยมีทั้งนักการเมืองเยอรมัน ซึ่งดูแลความสัมพันธ์กับจีนในสภายุโรป ไปจนถึงนักวิชาการที่ศึกษานโยบายจีนต่อเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ภาพจาก shutterstock

แบรนด์ใหญ่โดนขุด

การบอยคอตเจ้าหน้าที่จีนและการกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ทำให้ประชาชนชาวจีนไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากหลายคนมองว่าทั้งหมดนั้นเป็นแค่ข่าวลือและเกมการเมือง จนเกิดแฮชแท็ก “I support Xinjiang cotton” เพื่อสนับสนุนให้ใช้ฝ้ายซินเจียงและสนับสนุนรัฐบาลจีน

นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การ ‘ขุด’ และ ‘แบน’ แบรนด์ต่าง ๆ ที่เคยออกมาแสดงความกังวลต่อการบังคับใช้แรงงาน การละเมิดมนุษยธรรมในพื้นที่ซินเจียง รวมถึงแบรนด์ที่ระบุว่า จะไม่ใช้วัตถุดิบจากซินเจียง เพราะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งรวม ๆ แล้วมีแบรนด์ในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างน้อย 11 แบรนด์

ขณะที่เหล่าดารานักแสดงชื่อดังอย่างน้อย 30 คน ที่ประกาศยกเลิกสัญญากับแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตก เช่น หวัง อี้ป๋อ, หวง ซวน, ซ่ง เชี่ยน หรือแม้แต่ ตี๋ลี่เร่อปา นักแสดงหญิงเชื้อสายอุยกูร์ก็ออกมาแสดงจุดยืนด้วย

ตี๋ลี่เร่อปา นักแสดงหญิงเชื้อสายอุยกูร์ (Photo by Getty)

H&M โดนหนักสุด

ตัวอย่างแบรนด์ที่กระทบหนัก ๆ ดูเหมือนจะเป็น H&M แบรนด์แฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและอันดับ 4 ของจีนที่สาขาอย่างน้อย 6 แห่งในจีนถูกห้างสรรพสินค้าสั่งปิดแบบไม่มีกำหนด และร้านอีก 500 สาขาก็ค้นหาในแอปฯ นำทางไม่ได้ รวมถึงร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซทั้งใน Tmall JD.com และ Pinduodu ก็ถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มแล้ว

ส่วน Nike กับ Adidas ที่มีตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญที่สุดในยุคหลัง COVID-19 ก็ไม่รอด โดยเหล่าชาวโซเชียลจีนได้ออมาไล่ให้แบรนด์ดังกล่าวออกจากจีน และจะหันมาสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น เช่น หลี่หนิง (Li Ning) และ แอนท่า (Anta) แทน ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถืออย่าง Huawei และ Xiaomi ประกาศระงับการดาวน์โหลดแอปฯ ของ Nike กับ Adidas เรียบร้อยแล้ว

แต่ก็มีบางแบรนด์ที่ไหวตัวทัน อย่าง MUJI แบรนด์แฟชั่นค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นก็ออกมาระบุว่า MUJI สาขาจีนจะยังใช้สินค้าที่ผลิตจากฝ้ายซินเจียงต่อไป หรือล่าสุด แบรนด์ Hugo Boss และ Asics ก็สวนกระแสและยังยืนยันจะซื้อฝ้ายจากซินเจียง

H&M สาขาปักกิ่ง (Photo : Shutterstock)

บอยคอตจีน แต่เจ็บเอง?

นักวิเคราะห์มองว่าการที่ สหรัฐฯ, แคนาดา, อังกฤษ และอียูที่ออกมาตรการคว่ำบาตรนั้น เป็นแค่การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจและพฤติกรรมของจีนมากนัก เพราะจีนเป็นผู้ผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และอีกประเด็นคือ การที่บริษัทตะวันตกต้องทิ้งลูกค้า ‘คนจีน’ ที่มีทั้งจำนวนและกำลังซื้อมหาศาลนั้นคุ้มแค่ไหน

ก็ไม่รู้สถานการณ์จะจบลงอย่างไร เพราะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ถูกพูดถึง แต่ที่แน่ ๆ คนที่ได้รับผลกระทบหนักสุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น ‘แบรนด์’ ที่กำลังอ่วมเพราะรายได้ที่หดหายอยู่ตอนนี้

]]>
1325797
จีนแบน H&M! ถอดสินค้าออกจาก 3 แอปฯ ออนไลน์ ประเด็นการใช้ “ฝ้ายซินเจียง” https://positioningmag.com/1324996 Thu, 25 Mar 2021 10:17:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324996 การเมืองโลกโยงเศรษฐกิจการค้า! “ฝ้ายซินเจียง” เป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อค่ายตะวันตกโจมตีจีนจากประเด็นนี้ ทำให้ฝั่งจีนใช้พลังอำนาจซื้อของประชาชนโจมตี โหมกระแสแบนแบรนด์ตะวันตกที่เคยกล่าวโจมตีฝ้ายซินเจียง โดยมี H&M เป็นเป้าหมายแรก ถูกแบนออกจากแอปฯ ขายของออนไลน์ 3 แห่ง และตำแหน่งร้านค้าถึงกับถูกลบออกจากแอปฯ แผนที่!

ฝ้ายซินเจียงกลับมาเป็นประเด็นร้อนบนเวทีโลกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป (EU), สหราชอาณาจักร และแคนาดา ร่วมกัน “คว่ำบาตร” เจ้าหน้าที่รัฐของจีนจำนวนหนึ่ง โดยสั่งห้ามเข้าประเทศและยึดทรัพย์

สาเหตุการแบน เกิดจากประเด็นที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงทั้งนี้ ประเทศตะวันตกมีการรายงานเสมอเรื่องแคมป์กักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง และใช้แรงงานทาสคนอุยกูร์ในไร่ฝ้าย

ต่อมารัฐบาลจีนออกมาตอบโต้ประเด็นนี้ทันทีโดยปฏิเสธเช่นเคยว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ขณะที่ CGTN สื่อของรัฐบาลจีนมีการเผยแพร่วิดีโอคลิปใน Weibo โซเชียลมีเดียยอดฮิตของจีน แสดงภาพการใช้ระบบออโตเมชันเก็บฝ้ายในซินเจียง และเกษตรกรชาวอุยกูร์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า คนอุยกูร์ต้องต่อสู้ชิงตำแหน่งงานในไร่ฝ้ายเพราะว่าได้รายได้สูง

กระแสรณรงค์จึงถูกจุดขึ้นทั่วโลกออนไลน์ของจีน โดยแฮชแท็กที่แปลว่า “ฉันสนับสนุนฝ้ายซินเจียง” ถูกพูดถึงบน Weibo มากกว่า 1.8 พันล้านครั้ง

H&M สาขาปักกิ่ง (Photo : Shutterstock)

เรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับ H&M เพราะปีที่แล้ว H&M เคยออกแถลงการณ์ว่า แบรนด์มีความ “กังวล” เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ และยืนยันว่าแบรนด์ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ผลิตจากซินเจียง เมื่อชาวเน็ตพบข้อมูลดังกล่าว กระแสบอยคอต H&M จึงแพร่สะพัดทันที

กระแสที่รุนแรงนี้ทำให้ H&M เป็นแบรนด์แรกที่ถูกถอดรายการสินค้าทั้งหมดออกจากแอปฯ ขายของออนไลน์ดัง 3 แห่ง ได้แก่ JD.com, Taobao (เถาเป่า) และ Pinduoduo (พินตัวตัว) ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 64 ผู้ใช้จะค้นหาสินค้าไม่เจออีกต่อไป แม้แต่แอปฯ แผนที่ของจีน เช่น Baidu (ไป่ตู้) ก็ถึงกับลบข้อมูลร้าน H&M ออกจากแผนที่ไปเลย หรือแอปฯ เรียกรถอย่าง Didi ก็ลบร้าน H&M ออกจากสารบบ ผู้ใช้จะไม่สามารถปักหมุดเรียกรถไปกลับจาก H&M สาขาใดๆ ได้

ไม่ใช่แค่ H&M อีกหลายแบรนด์ต่างประเทศกำลังเป็นเป้าหมายถัดไป เพราะเคยออกแถลงการณ์ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง เช่น Nike, Uniqlo, Adidas และแบรนด์ที่เริ่มมีชื่อตกเป็นเป้าบ้างแล้ว เช่น New Balance, Burberry

กระแสนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในจีน เพราะแม้แต่ดาราเซเลบจีนหลายคน เช่น หวังอี้ป๋อ, หวงเซวียน, วิคตอเรีย ซ่ง ยังร่วมรณรงค์กับประชาชน โดยประกาศตัดสัมพันธ์ ยกเลิกสัญญากับแบรนด์ที่เป็นเป้าบอยคอต โดยให้เหตุผลว่า “ประโยชน์ของชาติอยู่เหนือทุกอย่าง”

ในทางกลับกัน กระแสบอยคอตแบรนด์ต่างชาติกลายเป็นอานิสงส์เชิงบวกให้กับแบรนด์จีน หลายแบรนด์พลิกกลับมาแรงตามความรู้สึก “ชาตินิยม” ที่เกิดขึ้น เช่น Li Ning (หลี่หนิง) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาชื่อดัง จนหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้น 8.31% วันนี้

Source: BBC, SCMP, Yahoo Finance

]]>
1324996
สหรัฐฯ เตรียมแบนสินค้าที่ใช้ “ฝ้าย” จากซินเจียง โจมตีจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ https://positioningmag.com/1295773 Tue, 08 Sep 2020 06:08:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295773 สหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาแบนสินค้าที่ใช้ “ฝ้าย” จากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน เป็นการตอบโต้กลับหลังมีรายงานพบว่าจีนบังคับใช้แรงงานเก็บฝ้าย และจีนมีการปราบปรามลงโทษอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง

สำนักข่าว The New York Times อ้างอิงแหล่งข่าวภายในที่เกี่ยวข้องสามราย กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาแบนสินค้าที่ผลิตโดยใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน เพื่อตอบโต้จีนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมอุยกูร์

การแบนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสินค้าเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่ใช้ฝ้ายเกือบทั้งตลาด เนื่องจากผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกส่วนใหญ่ต่างใช้ฝ้ายและเส้นใยผ้าที่ส่งมาจากซินเจียง พื้นที่ส่งออกฝ้ายหลักของโลก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าการแบนจะแบนเฉพาะสินค้าที่ส่งตรงออกมาจากซินเจียง หรือนับรวมไปถึงสินค้าที่นำไปแปรรูปที่ประเทศแห่งที่สามแล้วด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดสินใจอย่างไร

แบรนด์ดังอย่าง H&M, Muji, Uniqlo ต่างก็เคยมีชื่อเข้าไปพัวพันกับ “ฝ้ายซินเจียง” ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะมณฑลซินเจียงคือตลาดส่งออกฝ้ายหลักของโลก

การตอบโต้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังมีรายงานออกมาว่า รัฐบาลจีนกวาดต้อนชาวอุยกูร์ให้ใช้แรงงานในไร่ฝ้าย โรงงานผลิตผ้าฝ้าย รวมถึงโรงงานประเภทอื่นๆ และหากขัดขืนจะถูกส่งเข้า “ค่ายกักกัน”

ค่ายกักกันดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีชุดข้อมูลโต้กลับกันไปมาตั้งแต่ปี 2561 โดยจีนกล่าวว่าค่ายเหล่านี้คือ “โรงเรียน” ที่ให้การศึกษาใหม่แก่ชาวอุยกูร์ที่มีแนวโน้มหัวรุนแรงคลั่งศาสนา ไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นวิธีการเพื่อป้องกันกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ซินเจียง

ขณะที่รายงานจาก The Australian Strategic Policy Institute พบว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งเข้าค่ายกักกัน
มีนับล้านคน และข้อหาที่ทำให้ถูกส่งเข้าค่ายนั้นเกิดจากยังคงถือวัตรปฏิบัติตามแบบผู้นับถืออิสลาม เช่น สตรีสวมผ้าคลุมผม มีคัมภีร์อัลกุรอ่านไว้ในครอบครอง ทำละหมาด หรือถ้าหากมีญาติพี่น้อง-เพื่อนอยู่ในต่างประเทศจะถูกส่งเข้าค่ายเช่นกัน เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ก่อการร้าย

ส่วนการบังคับใช้แรงงานในโรงงาน ชาวอุยกูร์จะถูกบังคับกักตัวให้อยู่ในหอพักของโรงงานเพื่อทำงาน และหลังหมดชั่วโมงทำงานจะต้องเข้าห้องเรียนภาษาจีนแมนดารินกับการฝึกอบรมอุดมการณ์ ภายในจะมีกล้องวงจรปิดคอยจับตาตลอดเวลา และห้ามมิให้ทำกิจกรรมทางศาสนา

อีเวนต์หาเสียงของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ทัลซา โอคลาโฮมา คืนวันที่ 20 มิถุนายน 2020 (Photo : Twitter@realDonaldTrump)

ในอีกมุมหนึ่ง การตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจประเมินได้ว่าเกิดจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่กำลังงวดใกล้เข้ามาทุกที ทำให้ทรัมป์พยายามแสดงแสนยานุภาพตอบโต้จีน ตั้งแต่การโจมตีจีนอย่างหนักว่าเป็นต้นเหตุการระบาดของไวรัสโคโรนาและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อด้วยการแบนบริษัทจีนอีกหลายบริษัท และการเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะเป็นการเดินหมากล่าสุด โดยใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงเป็นฐานโจมตี

อย่างไรก็ตาม จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นมานานปี ทำให้บริษัทเสื้อผ้าหลายรายเริ่มย้ายฐานผลิตออกจากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่จะย้ายไปยังเวียดนาม บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย แต่หลายรายก็ยังพบว่าคุณภาพการผลิตในประเทศอื่นยังไม่เทียบเท่าจีน และหาพื้นที่ลงทุนโรงงานได้ยากเนื่องจากมีคู่แข่งที่ต้องการย้ายฐานผลิตจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลายๆ บริษัทที่มีชื่อเข้าไปพัวพันกับการใช้แรงงานที่ถูกบังคับ กล่าวว่าซัพพลายเชนในประเทศจีนค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้พวกเขาก็ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากว่าฝ้ายที่นำมาใช้ผลิตนั้นมาจากแหล่งไหน

Source : The New York Times, BBC

]]>
1295773