สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน

นาทีนี้คงไม่มีประเด็นอะไรจะร้อนแรงไปกว่าความขัดแย้งของ ‘ตะวันตก’ กับ ‘จีน’ ในเรื่องของ การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ อีกแล้ว ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวกำลังบานปลายกลายเป็นการทำสงครามการค้า มีการแบนแบรนด์ดังต่าง ๆ กันเยอะแยะวุ่นวายไปหมด ดังนั้น Positioning จะมาสรุปถึงที่มาที่ไปถึงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามการค้ากัน

รู้จัก ซินเจียง ให้มากขึ้น

‘ซินเจียง’ หรือในชื่อเต็ม ‘เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง’ เป็นมณฑลที่อยู่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนที่ขนาดพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 16 ของผืนแผ่นดินของประเทศจีน หรือมีเนื้อที่ใหญ่เป็น 3 เท่าของประเทศไทย โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในซินเจียงนั้นมีประมาณ 19.25 ล้านคน ประกอบด้วยชนกลุ่มต่าง ๆ ผสมปนเปกันมากถึง 47 ชนชาติ โดยชนชาติที่มีจำนวนมากรองจากฮั่น ก็คือ อุยกูร์ (Uyghurs) ชนชาติที่ส่วนใหญ่พูดภาษาเตอร์กิช และนับถือศาสนาอิสลามกว่า 54%

ซินเจียง ถือเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายขนาดใหญ่สุดของจีน โดยมีอำเภอท้องถิ่นถึง 61 อำเภอที่ปลูกฝ้าย ขณะที่เกษตรกรเกือบครึ่งหนึ่งของซินเจียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตฝ้าย โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 30% ของเหล่าเกษตรกร ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ผลผลิตของฝ้ายซินเจียงอยู่ที่ 5.16 ล้านตัน คิดเป็น 87.3% ของการผลิตฝ้ายทั้งหมดในจีน โดยซินเจียงครองอันดับ 1 ในการผลิตฝ้ายถึง 25 ปีซ้อน และเป็นผู้ผลิตเบอร์ 2 ของโลก

ภาพจาก shutterstock

ค่ายกักกัน ประเด็นที่ถูกพูดมากที่สุด

ตั้งแต่อดีต ชาวอุยกูร์ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์เลือกปฏิบัติในวงกว้างมาหลายปี ทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นให้ย้ายถิ่นฐานเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดกับชาวอุยกูร์ ก่อนจะลุกลามไปสู่ความรุนแรง ส่งผลให้เกิดการปราบปรามครั้งใหญ่ และเกิดโครงการเฝ้าระวังของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกพูดถึงและตั้งคำถามจากนานาชาติเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ‘ค่ายกักกัน’ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์

โดยทางสหประชาชาติยืนยันว่ามีรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีประชาชนชาวอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคนถูกกักตัวไว้ในค่าย เพื่อปรับทัศนคติ นอกจากนี้ยังมีการ บังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในโรงงานสิ่งทอ อีกด้วย และไม่ใช่แค่นี้ แต่มีข่าวลือว่ามีการละเมิดความเป็นส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ติดตั้งแอปพลิเคชันส่งข้อความที่เข้ารหัสทางโทรศัพท์ เพื่อดูเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา การล่วงละเมิดทางเพศ และการสังหารหมู่

แน่นอนว่ารัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ โดยยืนยันว่าค่ายดังกล่าวเป็นเพียงโรงเรียนฝึกหัดอาชีพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการบรรเทาความยากจนของประเทศเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลซินเจียง กล่าวว่า “ภูมิภาคนี้ได้เอาชนะภัยคุกคามจากความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายในอดีตด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง”

Photo by Yuan Huanhuan/VCG via Getty Images)

คว่ำบาตรจีน

หลังจากที่มีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในปี 2020 รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้พิจารณาแบนสินค้าที่ใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียงเป็นการตอบโต้ รวมถึงได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตร เฉิน ฉวนกั๋ว (Chen Quanguo) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในซินเจียง และช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และ แคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 4 คน ซึ่งนี่ถือเป็นท่าทีที่ชาติตะวันตกร่วมมือกันเพื่อส่งสัญญาณต่อต้านการใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ส่วนรัฐบาลจีนออกมาตรการตอบโต้ท่าทีของชาติตะวันตก ผ่านการคว่ำบาตร 10 คน และหน่วยงาน 4 แห่งในยุโรป ซึ่งมีบทบาทจับตาสถานการณ์ในเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ โดยมีทั้งนักการเมืองเยอรมัน ซึ่งดูแลความสัมพันธ์กับจีนในสภายุโรป ไปจนถึงนักวิชาการที่ศึกษานโยบายจีนต่อเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ภาพจาก shutterstock

แบรนด์ใหญ่โดนขุด

การบอยคอตเจ้าหน้าที่จีนและการกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ทำให้ประชาชนชาวจีนไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากหลายคนมองว่าทั้งหมดนั้นเป็นแค่ข่าวลือและเกมการเมือง จนเกิดแฮชแท็ก “I support Xinjiang cotton” เพื่อสนับสนุนให้ใช้ฝ้ายซินเจียงและสนับสนุนรัฐบาลจีน

นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การ ‘ขุด’ และ ‘แบน’ แบรนด์ต่าง ๆ ที่เคยออกมาแสดงความกังวลต่อการบังคับใช้แรงงาน การละเมิดมนุษยธรรมในพื้นที่ซินเจียง รวมถึงแบรนด์ที่ระบุว่า จะไม่ใช้วัตถุดิบจากซินเจียง เพราะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งรวม ๆ แล้วมีแบรนด์ในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างน้อย 11 แบรนด์

ขณะที่เหล่าดารานักแสดงชื่อดังอย่างน้อย 30 คน ที่ประกาศยกเลิกสัญญากับแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตก เช่น หวัง อี้ป๋อ, หวง ซวน, ซ่ง เชี่ยน หรือแม้แต่ ตี๋ลี่เร่อปา นักแสดงหญิงเชื้อสายอุยกูร์ก็ออกมาแสดงจุดยืนด้วย

ตี๋ลี่เร่อปา นักแสดงหญิงเชื้อสายอุยกูร์ (Photo by Getty)

H&M โดนหนักสุด

ตัวอย่างแบรนด์ที่กระทบหนัก ๆ ดูเหมือนจะเป็น H&M แบรนด์แฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและอันดับ 4 ของจีนที่สาขาอย่างน้อย 6 แห่งในจีนถูกห้างสรรพสินค้าสั่งปิดแบบไม่มีกำหนด และร้านอีก 500 สาขาก็ค้นหาในแอปฯ นำทางไม่ได้ รวมถึงร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซทั้งใน Tmall JD.com และ Pinduodu ก็ถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มแล้ว

ส่วน Nike กับ Adidas ที่มีตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญที่สุดในยุคหลัง COVID-19 ก็ไม่รอด โดยเหล่าชาวโซเชียลจีนได้ออมาไล่ให้แบรนด์ดังกล่าวออกจากจีน และจะหันมาสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น เช่น หลี่หนิง (Li Ning) และ แอนท่า (Anta) แทน ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถืออย่าง Huawei และ Xiaomi ประกาศระงับการดาวน์โหลดแอปฯ ของ Nike กับ Adidas เรียบร้อยแล้ว

แต่ก็มีบางแบรนด์ที่ไหวตัวทัน อย่าง MUJI แบรนด์แฟชั่นค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นก็ออกมาระบุว่า MUJI สาขาจีนจะยังใช้สินค้าที่ผลิตจากฝ้ายซินเจียงต่อไป หรือล่าสุด แบรนด์ Hugo Boss และ Asics ก็สวนกระแสและยังยืนยันจะซื้อฝ้ายจากซินเจียง

H&M สาขาปักกิ่ง (Photo : Shutterstock)

บอยคอตจีน แต่เจ็บเอง?

นักวิเคราะห์มองว่าการที่ สหรัฐฯ, แคนาดา, อังกฤษ และอียูที่ออกมาตรการคว่ำบาตรนั้น เป็นแค่การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจและพฤติกรรมของจีนมากนัก เพราะจีนเป็นผู้ผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และอีกประเด็นคือ การที่บริษัทตะวันตกต้องทิ้งลูกค้า ‘คนจีน’ ที่มีทั้งจำนวนและกำลังซื้อมหาศาลนั้นคุ้มแค่ไหน

ก็ไม่รู้สถานการณ์จะจบลงอย่างไร เพราะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ถูกพูดถึง แต่ที่แน่ ๆ คนที่ได้รับผลกระทบหนักสุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น ‘แบรนด์’ ที่กำลังอ่วมเพราะรายได้ที่หดหายอยู่ตอนนี้