ธุรกิจด้านสุขภาพ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 03 May 2023 05:50:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คาดธุรกิจแก้ปัญหา “สุขภาพการนอน” จะเติบโตปีละ 6% โอกาสมาแรงในอุตสาหกรรม “เวลเนส” https://positioningmag.com/1429369 Wed, 03 May 2023 05:30:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429369 ทุกคนรู้ว่า “สุขภาพการนอน” เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้อุตสาหกรรม “เวลเนส” ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับกำลังบูมไปทั่วโลก และนักวิทยาศาสตร์ต่างกำลังศึกษาปัจจัยความเสี่ยงต่อการนอน

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง เสนอรายงานถึงมูลค่าตลาดอุตสาหกรรม “เวลเนส” ทั่วโลกที่สูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีธุรกิจหลักที่ทำเงินในอุตสาหกรรมนี้คือ ฟิตเนส, โภชนาการ และการทำสมาธิ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเวลเนสอีกอย่างหนึ่งที่กำลังมาแรงคือ “สุขภาพการนอน” ธุรกิจนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในตลาด และลูกค้ายังแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายด้านเวลเนสมาที่การนอนหลับค่อนข้างน้อยหากเทียบกับการใช้จ่ายด้านอื่น แต่ตัวเลขกำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ โดย McKinsey คาดว่า ธุรกิจส่งเสริมสุขภาพการนอนจะโตเฉลี่ยปีละ 6% ระหว่างปี 2022-2030 ทำให้มูลค่าธุรกิจสุขภาพการนอนเติบโตขึ้นไปแตะ 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐได้ภายในปี 2030

 

นอนไม่พอ ส่งผลต่อการทำงาน

ปัญหาการนอนหลับเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า และยังกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานด้วย

เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องคนที่ประสบความสำเร็จสูงโดยนอนพักผ่อนแค่ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์พบว่าเรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการวิจัยพบว่าการนอนให้เพียงพอมีผลสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงาน แม้แต่ตัวเราเองก็น่าจะเคยรู้สึกได้ถึงผลของการนอนไม่พอ หากคืนนี้นอนดึกมาก การทำงานในวันพรุ่งนี้ก็จะลำบากชีวิตกว่าปกติ

เมื่อร่างกายของเรานอนไม่พอ การรับรู้สิ่งรอบตัวจะแย่ลงเหมือนกับการมีแอลกอฮอล์ในเลือดในระดับ 0.05% การตั้งสมาธิในการประชุม ทำงานสำคัญ เก็บรายละเอียดข้อมูล ร่วมงานกับผู้อื่น ทุกอย่างจะถดถอยลงทั้งหมด ในทางกลับกัน ถ้าเรานอนหลับได้เป็นอย่างดี เราจะกลายเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถรับความรู้ใหม่ๆ ได้ดี และคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น

Young Asian man sleeping and snoring loudly lying in the bed

องค์กรธุรกิจก็ทราบผลลบจากการนอนไม่พอเช่นกัน ทำให้บางบริษัทเริ่มมีแพ็กเกจด้านสุขภาพการนอนรวมเข้าไปในสวัสดิการด้านเวลเนส เช่น โปรแกรมฝึกการนอนหลับ สมัครสมาชิกแอปพลิเคชัน Calm and Headspace ให้ฟรี แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ธุรกิจด้านการนอนกำลังจะเติบโต

คนมีปัญหาการนอนมีมากแค่ไหน? มีผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า 29% ของผู้ใหญ่เพศหญิงมีปัญหาการนอน ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะไม่แตกต่างมากในผู้ใหญ่เพศชาย นั่นแปลว่าชาวอเมริกันวัยทำงาน 1 ใน 3 มีปัญหาการนอนหลับ

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าคนไทย 19 ล้านคนมีปัญหาการนอน หรือเท่ากับ 27.5% ของประชากรทั้งหมด ถือว่าค่อนข้างสูงเช่นกัน

 

วิจัยเพื่อแก้ปัญหาการนอน

เมื่อการนอนเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เกิดงานวิจัยตามมาอีกมากคือ ทำไมคนเราจึงมีปัญหาการนอนและจะแก้ไขอย่างไร

ปัจจุบันนี้มีบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการนอนหลับมากมาย ตั้งแต่อุปกรณ์การนอน อาหารเสริม แอปพลิเคชันฝึกการนอนให้เป็นเวลา ฯลฯ แต่วิทยาศาสตร์ยังค้นหาคำตอบใหม่ๆ เรื่องการนอน อย่างล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Sleep Research พบว่า ปัญหาการนอนอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง “บุคลิกภาพ”

การวิจัยพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงด้านการนอนหลับไม่สนิท มักจะเป็นคนมีบุคลิกภาพประเภทที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ หุนหันพลันแล่น และเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว

เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยเดิมที่พบว่า การนอนหลับที่ดีมักจะสัมพันธ์กับการมีภาวะอารมณ์เชิงบวก มีอารมณ์เชิงลบให้น้อยเมื่อเข้านอน ดังนั้น คนที่มีบุคลิกภาพดังกล่าวอาจจะต้องบริหารจัดการอารมณ์เชิงลบของตัวเองมากกว่าคนอื่น จึงนอนหลับได้ไม่ดี

การค้นพบเรื่องบุคลิกส่วนตัวเชื่อมโยงกับการนอนหลับ อาจจะทำให้ธุรกิจดูแลสุขภาพการนอนมีมิติใหม่ในการบริการเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

Source

]]>
1429369
ย้อนรอย Theranos ตำนาน “ลวงโลก” แห่งวงการสตาร์ทอัพ ขายฝันเทคโนโลยีที่ไม่มีจริง https://positioningmag.com/1369323 Tue, 04 Jan 2022 11:19:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369323 Theranos (เธรานอส) คือบริษัทที่เคยเป็นดาวจรัสแสง เป็นสตาร์ทอัพที่มาแรงที่สุดของซิลิคอน วัลเลย์ “Elizabeth Holmes” ผู้ก่อตั้งสตรีของบริษัทเคยถูกขนานนามว่าเป็น “Steve Jobs” คนต่อไป แต่ในที่สุด เทคโนโลยีที่บริษัทให้คำมั่นว่าจะมาพลิกโฉมวงการการแพทย์ กลับกลายเป็นตำนาน “ลวงโลก” ครั้งใหญ่

วันที่ 3 มกราคม 2022 อดีตผู้ประกอบการชื่อดัง “Elizabeth Holmes” ในวัย 37 ปี ถูกตัดสินให้มีความผิดใน 4 ข้อหา โดย 1 ข้อหาเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงนักลงทุน และอีก 3 ข้อหาเป็นการฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละข้อหานั้นมีโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี (ขณะนี้ศาลยังไม่ระบุโทษ และเธอได้รับอนุญาตให้ประกันตัว)

โดย Holmes ถูกตั้งข้อหาทั้งหมด 11 ข้อหา มีการตัดสินให้ไม่มีความผิดไปแล้ว 4 ข้อหา และยังเหลืออีก 3 ข้อหาที่ต้องรอฟังคำตัดสินต่อไป

คดีของ Holmes ถือเป็นหนึ่งในเรื้องอื้อฉาวที่ใหญ่ที่สุดแห่งวงการสตาร์ทอัพ เธอเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Theranos (เธรานอส) บริษัทที่ให้คำมั่นว่าได้คิดค้นเทคโนโลยี “เครื่องตรวจเลือด” ขนาดเล็กพอๆ กับเตาอบเครื่องหนึ่งได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยปฏิวัติวงการการตรวจเลือด สามารถใช้เลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้วของผู้ป่วยในการตรวจก็รู้ได้ถึงโรคเป็นร้อยๆ โรคของคนผู้นั้น

เครื่องตรวจเลือดของบริษัท Theranos ขนาดเล็กเหมือนกับเป็นเตาอบเครื่องหนึ่ง

บรรดานักลงทุนรายใหญ่ที่ได้ฟังการนำเสนอของ Holmes ต่างให้ความเชื่อมั่นจนเธอสามารถระดมทุนได้มากกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 30,000 ล้านบาท) และ ณ จุดสูงสุดของบริษัท Theranos เคยถูกประเมินมูลค่าว่ามีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) ส่งให้ Holmes เป็นเศรษฐินีที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเองที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก

ตำนานการลวงโลกของ Holmes เกิดขึ้นได้อย่างไร ไปย้อนอ่านประวัติเส้นทางของเธอและการก่อตั้งบริษัทกัน

 

Elizabeth Holmes นักฝันผู้ทะเยอทะยาน

Elizabeth Holmes เป็นลูกสาวในตระกูลคนรวยเก่าในวอชิงตันดีซี เทียดของเธอเป็นผู้ก่อตั้งยีสต์ทำขนมปังยี่ห้อ Fleischmann ซึ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมทำขนมปังในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น

ตัว Holmes เองมีความฝันที่จะสร้างชื่อให้กับตนเองมาตั้งแต่เด็ก โดยประวัติส่วนตัวของเธอระบุว่าตอนอายุ 9 ขวบ เธอเคยเขียนจดหมายถึงพ่อว่า “สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ ในชีวิตนี้คือการค้นพบสิ่งใหม่บางอย่าง เป็นอะไรที่มนุษยชาติไม่เคยรู้ว่าสามารถทำได้”

ช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของ Elizabeth Holmes เธอได้ขึ้นปกนิตยสาร Fortune และเป็นประตูบานใหญ่เข้าถึงนักลงทุนรายใหญ่อีกจำนวนมาก

Holmes มีไอดอลในใจคือ Steve Jobs และทะเยอทะยานที่จะเป็นนักประดิษฐ์ผู้พลิกโฉมบางสิ่งบางอย่าง ในปี 2002 เธอได้เข้าเรียนในภาควิชาวิศวกรรมเคมีที่ Stanford University ระหว่างที่เรียนอยู่ เธอพยายามคิดค้นแผ่นแปะที่สามารถสแกนอาการติดเชื้อของผู้ป่วยแล้วปล่อยยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้อัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Phyillis Gardner ที่ปรึกษาของเธอ มองว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เธอคิดไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ Gardner ระบุว่า Holmes มีความมั่นใจในตนเองมาก และในที่สุดเธอตัดสินใจเลิกเรียนกลางคันเพื่อไปก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้วยวัยเพียง 19 ปี

 

Theranos ระดมทุนได้มหาศาล

บริษัทที่เธอออกมาก่อตั้งคือ Theranos แต่ปรับสิ่งประดิษฐ์จากเดิมเป็นแผ่นแปะ กลายเป็นเครื่องตรวจเลือด “Edison” ขนาดเท่าเตาอบที่ใช้เพียงหยดเลือดเล็กๆ จากปลายนิ้วผู้ป่วยก็สามารถตรวจสอบโรคได้นับร้อยๆ โรค

ความสำคัญของมันที่จะปฏิวัติวงการคือ เมื่อใช้เพียงหยดเลือดปลายนิ้ว ผู้ป่วยก็จะไม่ต้องเจ็บปวดกับการหาเส้นเลือดที่ข้อพับ และทำให้การทำแล็บรวดเร็วขึ้น ใช้พื้นที่เล็กลงจนการตรวจเลือดนี้ทำได้ในร้านขายยา ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลกันอีกต่อไป

คาแรกเตอร์ของ Elizabeth Holmes คือชุดสีดำล้วน คอเต่า ท่านั่งแมนๆ และเสียงบาริโทนทุ้มต่ำที่น่าเชื่อถือ (Photo by Mike Windle/Getty Images for Vanity Fair)

ความน่าเชื่อถือของ Elizabeth Holmes ในการพิชชิ่งกับนักลงทุน มาจากคำพูดที่จูงใจ ประวัติส่วนตัว จนถึงบุคลิกภาพของนักธุรกิจหญิงทรงพลัง รวมถึงรายชื่อบอร์ดบริษัท และการลงสื่อหัวใหญ่อย่าง Fortune ทำให้หลายคนมั่นใจว่าเธอจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จได้

ไม่ว่าจะเป็น George Shultz อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ (รายนี้เข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารด้วย), Rupert Murdoch เจ้าพ่อธุรกิจสื่อระดับโลก, ครอบครัว Walton เจ้าของห้างฯ Walmart และ Larry Ellison ผู้ก่อตั้งบริษัท Oracle ต่างลงทุนกับ Theranos

ตลอดเส้นทางของ Theranos สามารถระดมทุนได้กว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 30,000 ล้านบาท) ทั้งที่นักลงทุนไม่เคยเห็นภายในสิ่งประดิษฐ์ชื่อ Edison ตัวจริงเลย และไม่เคยเห็นเอกสารทางการเงินของ Theranos

จุดสูงสุดของบริษัท Theranos เกิดขึ้นในปี 2014 บริษัทถูกประเมินมูลค่าว่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) ขณะนั้น Holmes มีอายุได้ 30 ปีพอดี เธอได้ขึ้นปกสารพัดนิตยสารธุรกิจระดับโลก ทั้ง Forbes, Fortune และ Time ต่างจับตามองเธอ ถึงกับมีคนขนานนามว่าเธอจะเป็น ‘Steve Jobs’ คนต่อไป เธอเดินสายขึ้นพูดถึงความสำเร็จของสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้หลายเวที หลายสื่อ ขายความฝันที่จะพลิกโฉมการตรวจเลือดให้ง่ายเพียงปลายนิ้ว

 

ความแตก…เทคโนโลยีใช้ไม่ได้จริง

แต่จุดพีคของบริษัทอยู่ได้เพียงปีเดียว ในปี 2015 มีคนให้ข้อมูลวงในกับสื่อ The Wall Street Journal นำมาสู่การเล่นข่าวเป็นซีรีส์เกี่ยวกับ Theranos ที่ป่วนจนทำให้บริษัทพังครืนลงมา

มหกรรมแฉ Theranos เกิดจากบริษัทมีสัญญากับเชนร้านขายยา Walgreens เพื่อทดลองการใช้งานระบบตรวจเลือดในหน้างานจริงตั้งแต่ปี 2013 และผู้ใช้บริการที่มีโอกาสได้ตรวจสอบระบบพบว่า “ผลการตรวจเลือดที่ได้ไม่ตรงกับผลจากแล็บปกติ” และยิ่งนานวันเข้า Theranos ก็เริ่มเจาะเลือดจากข้อพับแขนเป็นหลอดๆ เหมือนไปตรวจที่โรงพยาบาล ไม่ได้ตรวจจากปลายนิ้วดังที่โฆษณาไว้

ข้อมูลวงในในเวลาต่อมาปรากฏว่า Theranos ยังไม่สามารถพัฒนาจนเครื่อง Edison สำเร็จได้จริงดังกล่าวอ้าง สิ่งที่พวกเขาทำกับเลือดของผู้มาใช้บริการ คือรีบนำเลือดไปตรวจในแล็บแบบปกติของบริษัท แล้วส่งผลตรวจมาให้ที่ร้าน แต่เนื่องจากเลือดปลายนิ้วมีน้อยเกินไปจนตรวจไม่แม่นยำ ในระยะหลังจึงต้องเก็บตัวอย่างเลือดปกติผ่านข้อพับแขนแทนเพื่อลดคำครหา

การตรวจสอบของนักลงทุนหรือใครก็ตามที่มาเยี่ยมชมสำนักงานของ Theranos ก่อนหน้านี้ก็ถูกตบตาด้วยวิธีเดียวกัน ด้วยการหลอกลวงว่าใช้เครื่อง Edison ในการตรวจเลือด ทั้งที่จริงแล้วใช้แล็บปกติตรวจ แถมยังจัดตั้งแล็บปลอมไว้สำหรับการทัวร์ชมสำนักงานเหล่านี้ด้วย แม้กระทั่ง “Joe Biden” รองประธานาธิบดีในขณะนั้นก็เคยผ่านทัวร์ตบตาที่บริษัทนี้มาแล้ว

หลังจากถูกแฉครั้งใหญ่ นักลงทุนต่างถอนตัวอย่างรวดเร็ว และในปี 2016 หน่วยงานกำกับควบคุมของสหรัฐฯ ก็แบนไม่ให้บริษัทดำเนินบริการตรวจเลือด 2 ปี สินทรัพย์สุทธิของ Holmes ร่วงจาก 4,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) เหลือ “0” ในที่สุดบริษัทประกาศปิดตัวไปเมื่อปี 2018 ตามด้วยการฟ้องร้องตามมาเป็นพรวน

 

สัมพันธ์รัก…หรือการกดขี่

เรื่องราวของ Theranos ยังเข้มข้นไปกว่านั้น เพราะนอกจากตัว Elizabeth Holmes ที่อยู่ใต้แสงสปอตไลต์ของสื่อ ในเงาใกล้ๆ ข้างเธอคือ Ramesh “Sunny” Balwani ซีโอโอคีย์แมนของ Theranos และคู่รักของ Holmes ในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจคือ Balwani อายุมากกว่า Holmes ถึง 19 ปี เขาทำงานในวงการคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ปี 1998 และมาเรียนต่อปริญญาโทที่ Stanford University ทำให้ได้พบกับ Holmes วัยรุ่นวัย 18 ปีที่เพิ่งเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี

Holmes กับ Ramesh Balwani ที่สำนักงานของ Theranos เมื่อปี 2015

หลังเกิดคดีความฟ้องร้องและเริ่มไต่สวนเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 เป็นที่ฮือฮาในสังคมเพราะทนายฝั่ง Holmes ใช้แนวทางสู้คดีว่าเธอตกอยู่ในอาณัติบังคับควบคุมของ Balwani จนไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองในการบริหารบริษัท และมีอาการทางจิต

ข้อมูลในการสู้คดีนั้น Holmes ระบุว่า Balwani ควบคุมชีวิตเธอทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว บุคลิก คัดกรองคนที่จะเข้าถึงตัวและพูดคุยกับเธอได้ นอกจากนี้ยังกระทำชำเราทางเพศเธอด้วย

Ramesh Balwani จะถูกไต่สวนด้วยข้อกล่าวหาเดียวกับ Holmes เร็วๆ นี้ ส่วน Holmes นั้นหลังจากบริษัทพังทลาย เธอพบรักใหม่กับ William “Billy” Evans วัย 27 ปี ทายาทตระกูลเจ้าของเชนโรงแรม Evans Hotel Group และเพิ่งกำเนิดบุตรคนแรกไปเมื่อปีก่อน (บางกระแสโจมตีว่า Holmes จงใจตั้งครรภ์ในช่วงที่จะมีการไต่สวนเพื่อเรียกคะแนนสงสาร)

 

ตั้งใจหลอก…หรือแค่ฝันที่ทำไม่สำเร็จ

วงการสตาร์ทอัพและซิลิคอน วัลเลย์นั้นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากธุรกิจปกติ เพราะสตาร์ทอัพทุกรายต่างมาเพื่อขาย “วิมานในอากาศ” ให้กับนักลงทุน ขายความฝันว่าสิ่งที่ตนเองคิดค้นขึ้นจะสร้างความยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรม (และทำให้นักลงทุนรวยถ้วนหน้า)

ผู้ลงทุนกับสตาร์ทอัพจึงเป็นการพนันกับความไม่แน่นอน ดังคำกล่าวกันในวงการว่าสตาร์ทอัพที่สำเร็จจริงๆ อาจจะมีเพียง 1 ใน 100

แต่กรณีของ Theranos นั้นอาจจะมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “การขายฝัน” กับการสื่อสารว่า “ฝันนั้นทำได้สำเร็จแล้ว” จนทำให้สิ่งที่บริษัทกล่าวอ้างกลายเป็นความหลอกลวงไป ตามที่ศาลได้ตัดสินแล้วว่าเธอมีความผิดฐานฉ้อโกงนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม Michael Hiltzik คอลัมนิสต์ที่ Los Angeles Times ก็สรุปปรากฏการณ์ของ Theranos ไว้ว่า เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะทำให้นักลงทุน ‘เข็ด’ กับสตาร์ทอัพไปได้สักเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายวัฒนธรรมของวงการนี้ก็คือการมาฟัง ‘พิชชิ่งความฝัน’ ของผู้ประกอบการ และแห่ลงทุนตามๆ กันเพราะกลัวโอกาสทองจะหลุดมือไป และเราคงจะได้เห็นมหกรรมลวงโลกกันอีกนับครั้งไม่ถ้วน…

Source: BBC, สารคดี The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley, LA Times

]]>
1369323
“พฤกษา” เตรียมเปิด “ศูนย์สุขภาพ” หน้าหมู่บ้าน รับดูแลผู้สูงวัย-ฉุกเฉินได้อยู่ใกล้หมอ https://positioningmag.com/1320344 Mon, 22 Feb 2021 09:39:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320344 หลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพ เดือนพฤษภาคมนี้ “โรงพยาบาลวิมุต” จะเปิดให้บริการครั้งแรก และทำให้ “พฤกษา” ลุยธุรกิจสุขภาพเต็มตัว เตรียมเปิดศูนย์บริการสุขภาพด้านหน้าโครงการที่อยู่อาศัย รับดูแลผู้สูงวัย ทำกายภาพบำบัด อุ่นใจกว่าเมื่ออยู่ใกล้หมอ สร้างจุดขายใหม่ให้แบรนด์ ด้านภาพรวมบริษัทปีนี้ยังเน้น “วิชาตัวเบา” ไม่เปิดเพิ่มมากเพื่อลดสต๊อกเดิม จับตลาด 2-5 ล้านบาทที่ยังต้องการซื้อและซื้อไหว

ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ร่วมกับ นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง แถลงข่าวแผนธุรกิจของเครือพฤกษาโฮลดิ้งปี 2564

ไฮไลต์ปีนี้ของ “พฤกษา” คือการออกสตาร์ทของ “ธุรกิจใหม่” ในเครือ นั่นคือธุรกิจด้าน “สุขภาพ” ซึ่งเริ่มปักหมุดก่อสร้าง “โรงพยาบาลวิมุต” ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ BTS อารีย์ไปเมื่อปี 2560 และจะเริ่มให้บริการเดือนพฤษภาคม 2564 นี้แล้ว

โรงพยาบาลวิมุต ถ.พหลโยธิน

แต่ก่อนที่โรงพยาบาลที่พฤกษาก่อสร้างเองจะได้ฤกษ์เปิดบริการ นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าวว่า พฤกษาได้บรรลุดีลเข้าถือหุ้น 51% ในบริษัท เทพธัญญภา จำกัด เจ้าของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ บนถนนพระราม 4 มูลค่าซื้อขาย 708.80 ล้านบาท เพิ่มพอร์ตด้านสุขภาพไปก่อนแล้ว โดยรพ.เทพธารินทร์ปัจจุบันให้บริการ 80 เตียง เมื่อรวมกับโรงพยาบาลวิมุตซึ่งมี 236 เตียง จะทำให้เครือพฤกษามีจำนวนเตียงมากกว่า 300 เตียงอย่างแน่นอน

“เราเลือกรพ.เทพธารินทร์เพราะแม้เราจะมีทุนและมีบุคลากร แต่เราก็ต้องการประสบการณ์เพิ่ม เราเจรจามานาน 1 ปี พบว่าเรามีทุนที่จะกระจายคลินิกไปตามชุมชน ขณะที่ทางเทพธารินทร์มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ทำให้มาเสริมซึ่งกันและกันได้” นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าว

 

ดาวกระจายเป็น “คลินิก-ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย” หน้าหมู่บ้าน

ด้านปิยะ ซีอีโอพฤกษา กล่าวในส่วนของการนำธุรกิจสุขภาพมาเสริมแกร่งให้กับธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัย ระบุว่า ปีนี้จะมีการผนวกบริการจากรพ.วิมุตไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ เริ่มต้นที่โครงการ เดอะ ปาล์ม บางนา-วงแหวน ย่านถนนสุขาภิบาล 2 เป็นโครงการบ้านเดี่ยวหรูราคา 10-20 ล้านบาท ที่จะเปิดขายไตรมาส 3/64

ภาพเบื้องต้น Health + Commercial Zone จะมีศูนย์สุขภาพวิมุตให้บริการ

ด้านหน้าโครงการดังกล่าวจะมี Health + Commercial Zone ลักษณะเป็นศูนย์บริการสุขภาพ ขณะนี้กำลังออกแบบแพ็กเกจที่จะเปิดบริการ เช่น แพ็กเกจดูแลผู้สูงอายุทั้งแบบเข้าไปดูแลในบ้าน หรือลูกบ้านมาที่ศูนย์สุขภาพของวิมุต

นายแพทย์กฤตวิทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ศูนย์สุขภาพเหล่านี้จะเปรียบเหมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก ด้วยขนาด 30-40 เตียง ทำให้รองรับมีระยะทำการแก่ชุมชนโดยรอบบริเวณนั้นๆ ได้ ภายในจะมีศูนย์บริการดูแลผู้สูงวัยแบบไปเช้า-เย็นกลับ ศูนย์กายภาพบำบัด คลินิกตรวจเช็กสุขภาพ เป็นต้น และอนาคตพฤกษาจะขยายศูนย์สุขภาพวิมุตในลักษณะนี้ไปอีกหลายโครงการอย่างแน่นอน

 

“สุขภาพ” จุดขายใหม่ของแบรนด์ “พฤกษา”

ภาพอนาคตของการผนวกบริการสุขภาพ พฤกษามองตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานในบ้าน ปัจจุบันมีการใช้หลัก Universal Design ในการออกแบบบ้าน คือออกแบบให้เป็นมิตรต่อวีลแชร์และผู้สูงอายุ ลำดับต่อไปจะเริ่มใช้เทคโนโลยีสุขภาพเข้ามาในบ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตที่เป็น IoT ส่งข้อมูลคนไข้ให้แพทย์ได้ผ่านระบบดิจิทัล

การมีศูนย์สุขภาพในโครงการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการเสริมแบรนด์ โดยลูกบ้านพฤกษาแน่นอนว่าจะมีสิทธิรับแพ็กเกจราคาดีกว่า และการอยู่ใกล้หมอยังทำให้รู้สึกอุ่นใจ หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น รวมถึงตอบสนองเรื่องสังคมผู้สูงอายุได้ด้วย

(ซ้าย) นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง และ (ขวา) ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

ปิยะกล่าวว่า นอกจากคนไทยแล้ว จากการพูดคุยกับเอเย่นต์ประเทศจีน พบว่าลูกค้าจีนมีความสนใจโมเดลใหม่นี้เช่นกัน “พอเราบวกบริการ healthcare เข้าไป ต่างชาติค่อนข้างชอบ และเราน่าจะได้เปรียบในโลกยุค COVID-19 แบบนี้” ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด พฤกษามียอดขายลูกค้าต่างชาติประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

 

ลดภาระให้ตัวเบา ปีนี้เปิดใหม่เพียง 2.66 หมื่นล้าน

สำหรับธุรกิจที่อยู่อาศัย ย้อนกลับไปปี 2563 เป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของพฤกษา จากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทำให้พฤกษาต้องปรับการทำงานในหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือการ “ลดสินทรัพย์” ให้ตัวเบาขึ้น เปิดโครงการใหม่น้อยลง โฟกัสในจุดที่เปิดแล้วต้องขายได้จริงๆ ดังนั้น จากปี 2562 เคยเปิดโครงการมูลค่ารวมถึง 4.11 หมื่นล้านบาท เมื่อปีก่อนเปิดใหม่เพียง 1.57 หมื่นล้านบาท

“เมื่อก่อนเราเปิดเหมือนร้านสะดวกซื้อ ทำเลใกล้กันจนแย่งลูกค้ากันเอง และทำให้ ROA ลดเหลือเพียง 5% จากอดีตเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 12%” ปิยะกล่าว

จากการลดการเปิดตัวใหม่ เทสต๊อกเก่า ทำให้สินทรัพย์รวมของบริษัทลดจาก 8.7 หมื่นล้านบาทเมื่อไตรมาส 1/63 เหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ณ ขณะนี้ และปิยะมองว่า จะคงสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับ 7-8 หมื่นล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ROA ขึ้นมาที่ 10% (อ่านการปรับตัวของพฤกษา : 5 ข้อสำคัญผ่าตัดใหญ่ “พฤกษา” หลัง COVID-19 ไม่เน้นรายได้แต่ขอกำไรยั่งยืน)

ปีนี้จะยังดูแลการคงระดับสินทรัพย์ การลีนองค์กร และเน้นเปิดเฉพาะ Hero Projects คือโครงการศักยภาพเกาะกลุ่มตลาดกลางเหมือนเดิม ดังนั้นปี 2564 วางแผนเปิดตัวและเป้ายอดขาย-รายได้ ดังนี้

– เปิดตัวใหม่ 29 โครงการ มูลค่ารวม 2.66 หมื่นล้านบาท
– เป้ายอดขาย 3.2 หมื่นล้านบาท
– เป้ารายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อปีก่อนพฤกษาเปิดตัวเพียง 13 โครงการ มูลค่ารวม 1.57 หมื่นล้านบาท ทำยอดขาย 2.2 หมื่นล้านบาท (-38% YoY) และทำรายได้ 2.92 หมื่นล้านบาท (-27% YoY) อัตรากำไรสุทธิรวมทั้งเครือ 9.4%

 

ตลาดกลางยังเป็นทางรอด

ในกลุ่มสินค้าที่จะเปิดขายใหม่แบ่งเป็นโครงการทาวน์เฮาส์ 17 โครงการมูลค่า 1.47 หมื่นล้านบาท , บ้านเดี่ยว 8 โครงการมูลค่า 7.56 พันล้านบาท และคอนโดมิเนียม 4 โครงการมูลค่า 4.39 พันล้านบาท เห็นได้ว่าบริษัทยังเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก

หากแบ่งตามระดับราคา ปีนี้เปิดกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทมากที่สุดคิดเป็น 35% ของพอร์ต รองมาเป็นกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาทคิดเป็น 33% ของพอร์ต เห็นได้ว่าเป็นการเน้นตลาดระดับกลางล่างถึงระดับกลางเป็นหลัก

โดยปิยะกล่าวว่า เห็นศักยภาพกลุ่มนี้ต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ผู้ซื้อเป็นผู้มีรายได้อย่างน้อย 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน จึงค่อนข้างมั่นคงทางการเงิน ถูกปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่ากลุ่มที่อยู่ในระดับล่างกว่านี้ ขณะเดียวกันก็มีความต้องการจริง จะต่างกับกลุ่มรายได้สูงซึ่งเริ่มชะลอการซื้อไปหรือต้องการซื้อในราคาที่ดีที่สุด ยกเว้นบ้านเดี่ยวหรูซึ่งยังมีดีมานด์จริงอยู่

ปัญหา “กู้ไม่ผ่าน” ของลูกค้าระดับล่างซึ่งเคยเป็นพอร์ตหลักของพฤกษาถือเป็นประเด็นสำคัญมาก ปิยะระบุว่าปีก่อนมีลูกค้าถูกปฏิเสธให้สินเชื่อ 10% แต่ถ้านับรวมกลุ่มที่ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นตอนคัดกรองก่อนยื่นเอกสารจริง (พรีแอพพรูฟ) จะสูงถึง 50% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขอยกเลิกการจองอีก 20% เพราะไม่สามารถผ่อนดาวน์ต่อได้ไหว รวมแล้วยูนิตที่ขายได้โอนไม่ได้เหล่านี้ ทำให้ปีนี้พฤกษาขยับลดกลุ่มต่ำกว่า 2 ล้านบาทเหลือ 14% และส่วนใหญ่จะเน้นที่แคมปัสคอนโดฯ ซึ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนแทน

“COVID-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการอสังหาฯ มาก และเราเชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เข้ามาอีก สำคัญคือเราต้องทำตัวเองให้ทนทานต่อเศรษฐกิจทุกสภาพ และต้องปรับตัวเร็ว พฤกษาเราเคยตัวใหญ่มากเกินไปทำให้ช้า ซึ่งเราได้ปรับลดลงไปมากแล้วตั้งแต่ปีก่อน” ปิยะกล่าวปิดท้าย

]]>
1320344
นักลงทุนไม่ปลื้ม? เดิมพันใหม่ P&G ลงทุน 4 พันล้านดอลล์ฮุบธุรกิจวิตามิน https://positioningmag.com/1166737 Fri, 20 Apr 2018 09:29:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1166737 แม้ว่า Procter & Gamble เจ้าพ่อวงการสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่จะรายงานรายได้ประจำไตรมาสที่สวยงามกว่าที่คาดการณ์ แถมกำไรตลอดไตรมาสยังเป็นไปตามคาด แต่หุ้นของ P&G กลับลดลง ท่ามกลางการประกาศอย่างเป็นทางการ ว่า P&G ตกลงซื้อธุรกิจด้านสุขภาพสำหรับผู้บริโภคของบริษัทสัญชาติเยอรมนี Merck ทำให้ P&G มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะรุกธุรกิจวิตามินอาหารเสริมหลังจากเทเงินประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับดีลนี้

P&G ชี้ว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะแรงหนุนสำคัญจากยอดขายแข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าความงาม สินค้าที่เกี่ยวกับผ้า และสินค้าเพื่อการดูแลรักษาบ้าน อย่างไรก็ตาม รายงานรายได้สวยหรูไม่ช่วยล้างความกังวลในสายตานักลงทุน เนื่องจาก P&G กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจหลักของบริษัท

เหตุผลหลักที่ทำให้หุ้นยักษ์ใหญ่ P&G ร่วงลง 2.86% หลังประกาศผลประกอบการ คือ Gillette แบรนด์สินค้าเพื่อการโกนหนวดของ P&G ได้รับผลกระทบเต็มที่จากการแข่งขันที่ร้อนแรง ส่งให้มีการแข่งขันราคาจนทำให้กำไรหล่นฮวบ

*** ยอดขายดูดีแต่ยังน่าเป็นห่วง

ยอดขายสุทธิของ P&G ซึ่งมีดีกรีเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในโลก (คำนวณจากมูลค่าตลาด) เพิ่มขึ้น 4.3% คิดเป็น 1,628 ล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการของนักวิเคราะห์ ที่ประเมินไว้ 1,621 ล้านดอลลาร์ ตามการสำรวจของ Thomson Reuters

หากมองที่ Organic Sales หรือยอดขายที่แท้จริงซึ่งไม่ได้คำนวณผลกระทบจากส่วนต่างของสกุลเงินและการซื้อกิจการ ปรากฏว่า Organic Sales ของ P&G ลดลง 1% เนื่องจากแรงกดดันด้านราคา ประเด็นนี้เองที่เห็นชัดในธุรกิจ Gillette ซึ่งยังคงถูกกดดันอย่างหนังในตลาดสหรัฐฯ ขณะนี้

แต่โชคยังดี P&G ได้ SK-II มาช่วยชีวิต ยอดขายที่ P&G ทำได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชั้นนำระดับพรีเมียม SK-II นั้นมี Organic Sales เพิ่มขึ้นถึง 5%

บริษัทวิจัย Stifel วิเคราะห์ว่าจากภาพรวมของผลประกอบการ P&G ไตรมาสล่าสุด จะพบว่า P&G เริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดในหลายกลุ่มสินค้า ทำให้ผลประกอบการน่าผิดหวังและน่าวิตก และกลายเป็นว่าแบรนด์ความงามอย่าง SK-II เท่านั้นที่เติบโตจริงจัง

รายได้สุทธิของ P&G ร่วงลงเหลือ 2.51 พันล้านดอลลาร์ หรือ 95 เซนต์ต่อหุ้น (ไตรมาสดังกล่าวสิ้นสุด วันที่ 31 มี..) ถือว่าน้อยกว่า 2.52 พันล้านดอลลาร์ หรือ 93 เซนต์ต่อหุ้นที่ P&G ทำได้เมื่อปีที่แล้ว

*** จับตา P&G กลายเป็นบริษัทวิตามิน

การประกาศผลประกอบการเหล่านี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ P&G ประกาศตกลงซื้อธุรกิจด้านสุขภาพสำหรับผู้บริโภคของบริษัท Merck ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่เพราะดีลนี้มีมูลค่ากว่า 3.4 พันล้านยูโร หรือ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การตัดสินใจนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ P&G มีนักลงทุนที่เป็นนักเคลื่อนไหวชื่อดังอย่าง Nelson Peltz มาเข้าร่วมนั่งเก้าอี้บอร์ดบริหารบริษัทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวว่ากรรมการบริหาร P&G มีแนวคิดขัดแย้งรุนแรงเรื่องแนวทางจัดการโครงสร้างบริษัท ซึ่ง Peltz มองว่ามีความซับซ้อนเกินไป ทำให้ P&G สร้างนวัตกรรมได้ช้าเกินไป และยังมีแนวทางการเงินอนุรักษ์นิยมมากเกินไป

ข้อตกลงที่ P&G จะเข้าซื้อธุรกิจส่วน Consumer Health ของ Merck จะทำให้แบรนด์อย่าง Seven Seas ถูกบริหารใต้ปีก P&G ขยายฐานจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ เช่น Vicks, Prilosec OTC และ Pepto-Bismol ที่ P&G มีอยู่ในมือ

นอกจากนี้ ดีลยักษ์ยังทำให้ P&G มีโอกาสสดใหม่ในตลาดละตินอเมริกาและเอเชีย คาดว่า P&G จะหายใจได้คล่องคอขึ้นในวันที่ตลาดค้าปลีกอเมริกันแข่งดุสุดขีด

ซีอีโอ P&G อย่าง David Taylor กล่าวยอมรับในแถลงการณ์ว่า P&G มีธุรกิจขนาดใหญ่ในตลาดที่ยากลำบากหลายแห่ง ระบบนิเวศเศรษฐกิจที่ P&G ดำเนินธุรกิจทั่วโลกกำลังถูกทำลายและเปลี่ยนไป P&G จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เร็วขึ้น พร้อมกับบอกว่าผลประกอบการที่ยังเติบโต ถือเป็นชัยชนะของ P&G ที่สามารถบริหารค่าใช้จ่ายและเงินสดได้ดี แถมยังทำให้องค์กรและวัฒนธรรมเข้มแข็งขึ้นด้วย

P&G ทิ้งท้ายว่าปีนี้ บริษัทจะรักษาทิศทางการเติบโตของ Organic Sales ให้ได้ คาดว่า Organic Sales จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 แม้จะยอมรับว่าอาจลดลงในช่วงปลายปี.

]]>
1166737