ธุรกิจรับสร้างบ้าน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 24 Apr 2024 08:02:17 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ซีคอน” หันมารับโปรเจ็กต์ก่อสร้าง “หมู่บ้านจัดสรร” ดันยอดขายไตรมาส 1/2567 โต 15% https://positioningmag.com/1470879 Wed, 24 Apr 2024 07:44:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470879
  • บริษัทรับสร้างบ้าน “ซีคอน” เปิดไตรมาสแรกปี 2567 กวาดยอดขาย 570 ล้านบาท เติบโต 15% อานิสงส์รับโปรเจ็กต์ก่อสร้าง “หมู่บ้านจัดสรร” ให้ดีเวลอปเปอร์อสังหาฯ 2 รายคือ “สิงห์ เอสเตท” และ “เนอวานา”
  • แผนการตลาดกับลูกค้าบุคคลปีนี้ลงทุน “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” หยิบเพลง “LIVE and LEARN” มาโปรดิวซ์และขับร้องใหม่ผ่านฝีมือ “บอย โกสิยพงษ์” และ “ปั่นไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ประกอบโฆษณาครบรอบ 63 ปีซีคอน
  • “มนู ตระกูลวัฒนกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ของบริษัท กวาดยอดขายไปแล้ว 570 ล้านบาท เติบโต 15% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

    ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ดี เกิดจากการรับงานรับเหมาก่อสร้างให้กับบริษัทผู้พัฒนาจัดสรรเสริมเข้ามา จากเดิมธุรกิจหลักคือการรับสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัวรายบุคคล ซึ่งปีนี้บริษัทได้เซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว 2 โครงการ คือ “เนอวานา คอลเล็กชัน กรุงเทพกรีฑา” บ้านระดับอัลตราลักชัวรีราคา 70-150 ล้านบาทของ บมจ.เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ และ “SHAWN วงแหวน-จตุโชติ” บ้านระดับไฮเอนด์ราคา 20-30 ล้านบาทของ บมจ.สิงห์ เอสเตท

    “มนู ตระกูลวัฒนกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด

    “ตอนนี้ปัญหาของภาคอสังหาฯ คือขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำให้เราเข้าไปเป็นตัวเลือกในการจ้างงาน” มนูกล่าว โดยนอกจากซีคอนจะมีแรงงานแล้ว ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนเสา-คานกึ่งสำเร็จรูปของตนเอง 2 แห่งที่อ่อนนุชและลำลูกกา มีกำลังผลิตรวมสูงสุดเทียบเท่าการผลิตบ้านได้ 1,000 หลังต่อปี ซีคอนจึงสามารถตอบโจทย์ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบพรีคาสท์ช่วยสร้างบ้านให้กับลูกค้ากลุ่มบริษัทพัฒนาจัดสรรได้

    มูลค่าของโครงการรับเหมาก่อสร้างให้หมู่บ้านจัดสรรที่เซ็นดีลแล้วรวมกว่า 300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของเป้ายอดขายรวมปี 2567 ที่ซีคอนตั้งไว้ 2,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มนูระบุว่าบริษัทยังเจรจากับบริษัทอื่นๆ ต่อเนื่องเพราะศักยภาพยังสามารถรับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มได้

     

    ปัจจัยลบ ‘ข่าว’ เศรษฐกิจฝืดทำมู้ดผู้บริโภคหด

    หากมองในกลุ่มลูกค้าหลักคือบุคคลธรรมดาที่จ้างสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัว มนูมองว่าปีนี้ตลาดน่าจะโตแค่ 3-5% ซึ่งปัจจัยลบมาจาก ‘ข่าว’ เศรษฐกิจฝืดที่แพร่สะพัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ทำให้ลูกค้าไม่มี ‘sentiment’ หรืออารมณ์ความรู้สึกมั่นใจที่จะสั่งสร้างบ้าน

    “คนไทยเราอยู่ด้วย ‘ข่าว’ ค่อนข้างมาก เช่น ถ้ามีข่าวสงครามเกิดขึ้นที่ไหนแม้จะห่างไกลกับเรา แต่ยอดขายบริษัทผมจะตกทันที” มนูกล่าว “อย่างเรื่องเศรษฐกิจผมคิดว่ามันไม่ได้ไม่ดีไปทุกภาคธุรกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้ก็ดีมาก ธุรกิจส่งออกก็เริ่มดีขึ้น แต่เพราะภาพรวมข่าวบอกว่าเศรษฐกิจแย่ มันก็ทำให้ sentiment ในตลาดไม่ดีไปด้วย”

    ซีคอน
    ตัวอย่างบ้านจริงที่ซีคอนก่อสร้าง (แบบบ้าน Loft 372)

    เมื่อถามถึงมาตรการรัฐกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในส่วนธุรกิจรับสร้างบ้านมีมาตรการสนับสนุนคือ ลูกค้าสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 มนูมองว่าที่ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์ยังไม่เห็นผลชัดเจนต่อการตัดสินใจของลูกค้า แต่อาจจะต้องรออีกสักระยะในการประชาสัมพันธ์

     

    “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” ตอกย้ำการรับรู้แบรนด์

    ด้านการทำการตลาดของ “ซีคอน” ในปีนี้ มีการนำกลยุทธ์ มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง มาใช้งาน ด้วยความร่วมมือกับ “บอย โกสิยพงษ์” โปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง นำเพลง “LIVE and LEARN” มา rearrange ใหม่ในสไตล์ดนตรี Drum and Bass ที่ให้ความทันสมัยมากขึ้น และได้รับเกียรติจาก “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” นักร้องในตำนาน กับ “กลม เดอะวอยซ์” (อรวี พินิจสารภิรมย์) นักร้องคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันขับร้องเพลงเวอร์ชันใหม่นี้ ประกอบ MV โฆษณาถ่ายทอดชีวิตของคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

    โฆษณาและเพลงนี้ต้องการจะสื่อสารแบรนด์ซีคอน ที่เป็นธุรกิจรับสร้างบ้านอายุยาวนาน 63 ปี ก่อตั้งโดย “วิชัย ซอโสตถิกุล” และปัจจุบันส่งไม้ต่อจนมาถึงผู้บริหารรุ่นที่ 3 คือ “ไปรเทพ ซอโสตถิกุล” และ “มนู ตระกูลวัฒนกิจ” ที่สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการรับสร้างบ้านต่อเนื่องกันมานาน 6 ทศวรรษ

    ]]>
    1470879
    สุดอั้น! “สร้างบ้าน” ปี’65 ราคา “โลหะ” ทะยาน เตรียมปรับราคาก่อสร้างตามต้นทุน 5-8% https://positioningmag.com/1377450 Mon, 14 Mar 2022 10:56:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377450 ใครจะ “สร้างบ้าน” ปีนี้ต้องเร่งตัดสินใจ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) คำนวณต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้น 5-8% จากราคาน้ำมันและ “โลหะ” เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิล ขึ้นมาแล้วเฉลี่ย 50% บริษัทอั้นไม่ไหวเตรียมปรับราคาบ้านช่วงเมษายนนี้ กังวลปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้นอีก

    “วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยสถานการณ์ตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2565 คาดว่ามูลค่าตลาดเฉพาะกรุงเทพฯ-ปริมณฑล น่าจะยังเท่ากับปี 2564 ที่ 11,500 ล้านบาท เพราะแม้ว่าช่วงต้นปีตลาดจะกลับมาคึกคักขึ้น แต่หลังมีปัจจัยลบด้านค่าครองชีพเข้ามาช่วงเดือนมีนาคม ทำให้ตลาดชะลอตัว

    ปัจจัยลบของปีนี้เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ค่าน้ำมันพุ่ง และกระทบต่อเนื่องถึงราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่ม “โลหะ” เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิล ภาพรวมปรับขึ้นเฉลี่ย 50% มีผลกับต้นทุนค่าเหล็กก่อสร้าง ฝ้าเพดาน ท่อเหล็ก และสายไฟ

    วัสดุที่ราคาปรับขึ้นหนักที่สุดคือ “เหล็ก” ซึ่งราคาเมื่อต้นปี 2564 อยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันขึ้นมาถึง 27-28 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และมีแนวโน้มจะขึ้นเป็นเท่าตัว

    “เหล็ก” ปี 2565 อาจขึ้นราคาถึงเท่าตัวจากปีก่อน (Photo: Pixabay)

    จากต้นทุนวัสดุที่ขึ้นราคาดังกล่าว วรวุฒิประเมินว่าราคาบ้านปีนี้จะขึ้น 5-8% ซึ่งสมาคมฯ ได้พูดคุยกับบริษัทที่เป็นสมาชิกทั้งหมดให้ตรึงราคาไว้ก่อนในช่วงนี้ที่กำลังจะจัดงานมหกรรม “รับสร้างบ้านและวัสดุ FOCUS 2022” วันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 เพื่อช่วยกันกระตุ้นตลาด แต่คาดว่าหลังงานมหกรรม ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ราคาบ้านของแต่ละบริษัทจะทยอยปรับขึ้น

     

    กังวลต่อเนื่องเรื่อง “แรงงาน”

    วรวุฒิกล่าวต่อว่า อีกส่วนที่กังวลคือ “แรงงาน” ยังอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยคาดว่าปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาก่อสร้างโครงการมากขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งจะทำให้ภาวะขาดแคลนหนักข้อขึ้นอีกเร็วๆ นี้ จึงอยากฝากถึงภาครัฐให้เปิดให้แรงงานข้ามชาติได้กลับเข้ามาในไทยอย่างถูกกฎหมาย

    อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับแรงงาน คือการ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” จากปัจจุบัน 331 บาทต่อวัน แต่รัฐมีแนวคิดจะขึ้นเป็น 492 บาทต่อวัน แม้ว่าขณะนี้แรงงานทักษะมีฝีมือจะได้รับค่าแรงเฉลี่ย 500-700 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานไม่มีฝีมือ ก็จะทำให้ค่าแรงขึ้นยกแผงทั้งระบบ

    สมาคมฯ ประเมินว่า หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริง แต่ขึ้นประมาณ 10-15% อาจไม่ส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้างมากนัก แต่ถ้าหากปรับขึ้นถึง 30-40% จะมีผลต่อต้นทุนอย่างมาก และจะทำให้ราคาบ้านปรับขึ้นมากกว่า 10% ในปีนี้

     

    บ้านระดับบนเป็นแรงขับเคลื่อน

    ด้านธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2565 วรวุฒิกล่าวว่า บ้านระดับบน 10 ล้านบาทขึ้นไปจะยังคงมาแรง เพราะผู้มีรายได้สูงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจ แต่จะอ่อนไหวกับภาวะการระบาดของ COVID-19 มากกว่า ตลาดจะสะดุดหากมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

    ขณะที่สมาคมฯ เองพบว่า มีสมาชิกบริษัทรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดสมัครเข้าเป็นสมาชิกสูงขึ้น จากในอดีตยังไม่เคยมี โดยเมื่อปี 2564 มีสมาชิกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 9 บริษัท จากจังหวัดนครราชสีมา, สกลนคร, มหาสารคาม, อุดรธานี และจันทบุรี ส่วนปี 2565 คาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 15 บริษัท จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

    มองว่าบริษัทต่างจังหวัดเริ่มเป็นสมาชิกมากขึ้นเพราะการประชาสัมพันธ์ของสมาคมฯ ทำให้ทราบว่ามีข้อดีด้านความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลต่อเครดิตในการติดต่อสินเชื่อจากธนาคาร

    นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นจากกลุ่มลูกค้ามีกลุ่มที่ลูกหลานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และต้องการสร้างบ้านให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด หรือกลับไปสร้างงานสร้างอาชีพในต่างจังหวัดแทน หลังเกิดการระบาดของ COVID-19 จึงมีดีมานด์ต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น

     

    จัดงานแฟร์รับสร้างบ้าน โค้งท้ายราคาเดิม

    “อนันต์กร อมรวาที” อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมของสมาคมฯ เตรียมจัดงานมหกรรม “รับสร้างบ้านและวัสดุ FOCUS 2022” วันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 8 โดยจะเป็นงานแฟร์ที่ตรึงราคาสุดท้ายก่อนปรับขึ้นตามต้นทุนวัสดุ

    สร้างบ้าน

    ภายในงานมีบริษัทรับสร้างบ้านกว่า 30 บริษัทร่วมออกบูธ รวมแบบบ้านมากกว่า 1,000 แบบ ราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึงมากกว่า 100 ล้านบาท พร้อมด้วยบริษัทวัสดุ และธนาคารผู้ให้สินเชื่อในงาน คาดหวังว่างานนี้จะได้ยอดขายรวม 2,100 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งมูลค่าตลาดทั้งปีนี้

    อนันต์กรยังให้ข้อมูลแบบบ้านและฟังก์ชันบ้านที่ผู้สั่งสร้างนิยมมากขึ้นในยุคนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตามได้ทัน เช่น

    • แบบบ้านโมเดิร์นยังมาแรงต่อเนื่อง
    • ที่จอดรถขั้นต่ำเพิ่มจาก 2 คันเป็น 3 คัน
    • ติดตั้ง EV Charger
    • โซลาร์รูฟท็อปได้รับความนิยม
    • ต้องการพื้นที่ห้องเก็บของมากขึ้น

    ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ท้าทายกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยตลาดระดับบนยังเป็นกุญแจหลักในการสร้างยอดขาย ขณะที่ตลาดระดับกลางลงมา ราคาบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะมีความอ่อนไหวสูงกับค่าครองชีพและเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเลื่อนแผนการก่อสร้างบ้านออกไปก่อนได้

    ]]>
    1377450
    WFH-เรียนออนไลน์ ส่งผลธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” โตพุ่ง 65% คนต้องการบ้านใหม่ใหญ่กว่าเดิม https://positioningmag.com/1371822 Wed, 26 Jan 2022 11:25:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371822 “ซีคอน” ฉายภาพธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” ปี 2564 ทั้งตลาดโตแรง 65% มูลค่าแตะ 20,000 ล้าน จากการ “ล็อกดาวน์” ทำให้สมาชิกครอบครัวอยู่บ้านพร้อมกัน ต้องการพื้นที่มากขึ้น บ้านหลังใหญ่เป็นที่นิยม ขณะที่สไตล์บ้านมินิมอลมาแรงจากรสนิยมคนรุ่นใหม่ ด้านธุรกิจรับสร้างบ้านตามแบบส่วนตัว “ซีคอนไอดี” อนาคตสดใส คนต้องการมีบ้านที่เป็นเอกลักษณ์

    ท่ามกลางวิกฤต มีธุรกิจที่ได้โอกาส ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” แม้จะสะดุดบ้างเมื่อปี 2563 แต่กลับมาฟื้นแรงในปี 2564 เพราะคนต้องการต่อเติมบ้านหรือสร้างบ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

    “มนู ตระกูลวัฒนะกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดภาพรวมตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านเมื่อปี 2563 ปีแรกที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 มีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท ลดลงราว -5% จากปีก่อนหน้า แต่เข้าปี 2564 ตลาดกลับมาโตแรงกว่า 65% มูลค่าขึ้นไปแตะ 20,000 ล้านบาท

    “มนู ตระกูลวัฒนะกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด

    เหตุผลจากการล็อกดาวน์ทำให้สมาชิกครอบครัวอยู่บ้านพร้อมหน้ากัน พ่อแม่ทำงานจากบ้าน ลูกๆ เรียนออนไลน์ บางบ้านเป็นครอบครัวขยาย มีปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ด้วย ทำให้พื้นที่ในบ้านไม่เพียงพอในการอยู่ร่วมกันทั้งวัน นำมาสู่การตัดสินใจต่อเติมบ้าน หรือสั่งสร้างบ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเมื่อปีก่อน

    หากวัดเฉพาะบริษัทซีคอนเอง พบว่า บ้านหลังใหญ่ พื้นที่ใช้สอย 351 ตร.ม. ขึ้นไป ราคามากกว่า 7 ล้านบาท เติบโตถึง 85% ขณะที่การสั่งสร้างบ้านหลังเล็ก พื้นที่ใช้สอยน้อยกว่า 200 ตร.ม. ลดลงมาก จนทำให้สัดส่วนบ้านใหญ่กลายเป็นสัดส่วนหลัก รายละเอียด ดังนี้

    • บ้านขนาดใหญ่ พื้นที่ใช้สอย 351 ตร.ม. ขึ้นไป สัดส่วน 55%
    • บ้านขนาดกลาง พื้นที่ใช้สอย 200-350 ตร.ม. ขึ้นไป สัดส่วน 32%
    • บ้านขนาดเล็ก พื้นที่ใช้สอยน้อยกว่า 200 ตร.ม. สัดส่วน 13%

    ซีคอนยังพบอีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือ “แบบบ้าน” นิยมสั่งสร้างสไตล์ “มินิมอล” มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจ้าของบ้านปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น และคนรุ่นใหม่เติบโตเร็วในสายอาชีพ ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่อายุไม่เกิน 50 ปี รวมถึงมีกลุ่มนักลงทุน ‘รวยเร็ว’ จากตลาดคริปโตและตลาดหุ้น ซึ่งรสนิยมคนกลุ่มนี้จะเป็นแบบมินิมอล และแบบใหม่ๆ ที่ดูทันสมัย ทำให้ปีนี้ซีคอนมีการพัฒนาแบบบ้านสไตล์ “อะวองต์-การ์ด” มาให้เลือกด้วย

    เทรนด์บ้านสไตล์มินิมอลกำลังมาแรง

     

    ซีคอน ตั้งเป้าโต 30% ลุยธุรกิจสร้างตามแบบของลูกค้า

    สำหรับบริษัทซีคอน เมื่อปี 2564 ทำรายได้ไป 1,880 ล้านบาท เติบโต 26% ส่วนปี 2565 นี้ตั้งเป้ารายได้ 2,400 ล้านบาท เติบโต 30%

    เชื่อว่าน่าจะได้ตามเป้าเพราะเศรษฐกิจน่าจะเริ่มดีขึ้น และซีคอนมีกลยุทธ์การบุกหัวเมืองต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ อ.หัวหิน ซึ่งจะทำให้ได้ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงมีธุรกิจ “ซีคอนไอดี” ที่กำลังมาแรงในพอร์ต

    ซีคอนไอดี เป็นบริการใหม่ของบริษัทที่เปิดเมื่อไตรมาส 2/2564 โดยบริการสร้างบ้านให้ตามแบบบ้านที่ลูกค้ามีดีไซน์มาเอง หรือรับปรึกษาทำแบบบ้านให้จากไอเดียความต้องการของลูกค้า จะต่างจากบริการปกติที่ซีคอนมีแบบบ้านสำเร็จรูปไว้ให้เลือก ลูกค้าสามารถปรับแต่งได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะยังไม่ถูกใจมากพอ

    รับสร้างบ้าน ซีคอน

    “สุรเชษฐ์ สายนุช” ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ บริษัท ซีคอน จำกัด กล่าวว่า ซีคอนไอดีเป็นที่นิยมมาก ปีก่อนทำรายได้ไป 180 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าที่ 500 ล้านบาท โตเกินเท่าตัว

    สาเหตุความนิยมมาจากความต้องการลูกค้ายุคนี้ต้องการบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองจริงๆ จึงนิยมจ้างสถาปนิกร่างแบบบ้านที่เป็นคอนเซ็ปต์ส่วนตัวและนำมาสั่งสร้าง มากกว่าการใช้แบบบ้านทั่วไป

    แม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายเล็กที่สร้างบ้านจำนวนน้อยหลังก็สนใจสั่งสร้างกับซีคอนไอดี เห็นเทรนด์นี้แล้วใน อ.หัวหิน ซึ่งมีการสร้างโครงการบ้านพักตากอากาศมาก

    ปีนี้จะมีการโฆษณาธุรกิจซีคอนไอดีให้มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ซีคอนเข้าไปบุกตั้งแต่ปี 2562 ใช้กลยุทธ์การตลาดที่ไม่ ‘hard sale’ เช่น การเปิดรายการให้ความรู้เรื่องบ้าน “สุมหัวเรื่องบ้านๆ” ในแอปฯ Clubhouse พร้อมไลฟ์ผ่าน YouTube และ Facebook ซึ่งช่องทางออนไลน์นั้นสร้างยอดขายให้บริษัทแล้วกว่า 30%

    ]]>
    1371822
    ธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” ปี 2564 ส่งสัญญาณฟื้น 5% เศรษฐีได้จังหวะต่อราคาสร้างบ้าน https://positioningmag.com/1321483 Tue, 02 Mar 2021 09:08:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321483 ธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” ที่ชะงักไปเมื่อปีก่อน เริ่มกลับมาส่งสัญญาณเติบโตแล้วในปีนี้ คาดว่าทั้งปีมีสิทธิ์โตได้ 5% โดยเฉพาะกลุ่มระดับบนสร้างบ้านหลังละ 10 ล้านบาทขึ้นไป ดีมานด์ยิ่งมากเพราะอาศัยจังหวะนี้ต่อรองราคา สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเตรียมจัดงานแฟร์ 5 วันรองรับความต้องการลูกค้า วางเป้าขายภายในงาน 2,000 ล้านบาท

    “วรวุฒิ กาญจนกูล” นายก สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยสถานการณ์ตลาดธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” ปี 2564 เห็นสัญญาณบวกกลับมาแล้วในช่วง 2 เดือนแรกของปี ทำให้ประเมินยอดขายรวมเฉพาะของบริษัทในสมาคมฯ 50 แห่งซึ่งบริการในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล น่าจะเติบโตได้ 5% จากยอดขายรวมปีก่อนอยู่ที่ 11,500 ล้านบาท

    โดยปีที่ผ่านมา หลังเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ตลาดชะงักไปในช่วงครึ่งปีแรก และทำให้สมาคมฯ ไม่สามารถจัดงานแฟร์ประจำปีในช่วงเดือนมีนาคมได้ รวมทั้งปี 2563 ตลาดจึงติดลบประมาณ 5-10%

    “วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) และ “อนันต์กร อมรวาที” กรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษและประชาสัมพันธ์ สมาคมฯ

    สำหรับปีนี้ วรวุฒิกล่าวว่า สัญญาณบวกที่กลับมาเชื่อว่าเกิดจากความมั่นใจของผู้ซื้อ หลังจากวัคซีนป้องกัน COVID-19 มีความชัดเจนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ ลูกค้าที่ชะลอแผนการสั่งสร้างบ้านไปเมื่อปีก่อน เริ่มกลับมาดำเนินการต่อแล้ว

    โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่ลงทุนสร้างบ้านหลังละ 10 ล้านบาทขึ้นไป กลุ่มนี้ปกติจะใช้เงินสดในการสั่งสร้างบ้านเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องสินเชื่อ มักจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ หรือวิชาชีพรายได้สูง เช่น แพทย์ ทนายความ เมื่อเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในธุรกิจของตนจึงตัดสินใจได้ง่าย และอาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีเพื่อต่อรองราคา

    กระทั่งภาพรวมธุรกิจนี้ทั้งหมด ลูกค้าก็มักจะใช้สินเชื่อบ้านไม่ถึง 50% ส่วนใหญ่ใช้เงินสดในการก่อสร้าง ทำให้ไม่ถูกกระทบในแง่การขอสินเชื่อที่ธนาคารเข้มงวดมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับความมั่นใจของลูกค้าที่จะตัดสินใจเริ่มก่อสร้างมากกว่า

    วรวุฒิกล่าวต่อว่า จากความต้องการที่กลับมาของลูกค้า งานมหกรรมประจำปี “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” จึงมีการเพิ่มวันจัดงานจาก 4 วันเป็น 5 วัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 มีนาคม 2564 ที่อิมแพค ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี โดยหลังจากเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าตั้งแต่เดือนม.ค. 64 มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3,000 คน มากกว่าปกติ 30%

    สมาคมฯ คาดว่างานปีนี้จะสร้างยอดขายภายในงานแตะ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงานเดียวกันในปี 2562 โดยปีนี้มีบริษัทร่วมออกบูธกว่า 30 แห่ง แบบบ้านกว่า 1,000 แบบ ราคาหลากหลายตั้งแต่ 1-100 ล้านบาท และให้ส่วนลดไม่ต่ำกว่า 10%

    บ้านสไตล์นอร์ดิกกำลังมาแรงในช่วงนี้ (ขอบคุณภาพจาก Q CON Home)

    โดยปกติบ้านที่ได้รับความสนใจกลุ่มใหญ่ที่สุดคือบ้านราคา 2-5 ล้านบาท แต่จากผลทางเศรษฐกิจ คาดว่าบ้านที่ราคาสูงขึ้นน่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนเทรนด์แบบบ้านที่ยังคงฮิตเสมอคือบ้านทรง “ยุโรป/คลาสสิก” ขณะที่แบบบ้านใหม่ๆ มาแรงในยุคนี้คือ “นอร์ดิก” เป็นบ้านหลังคาทรงจั่วที่ดูเรียบง่าย

    วรวุฒิยังกล่าวเชิญชวนผู้ที่สนใจสร้างบ้านให้เร่งตัดสินใจ เนื่องจากช่วงนี้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านยังตรึงราคากันอยู่ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีการปรับราคาขึ้น เพราะราคาวัสดุก่อสร้างขึ้นยกแผงเฉลี่ย 5-10% โดยเฉพาะ “เหล็ก” ที่ปรับขึ้น 10-20% หลังจากผู้ผลิตใหญ่คือประเทศจีนจำกัดการเพิ่มซัพพลายจนราคาปรับสูง

    ]]>
    1321483
    “รับสร้างบ้าน” ก็ต้องไปออนไลน์ “ซีคอน” ชี้ปีนี้ผู้บริโภคเข้าหาผ่านดิจิทัลเพิ่ม 3.5 เท่า https://positioningmag.com/1290117 Thu, 30 Jul 2020 08:42:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290117
  • ครึ่งปีแรก 2563 ของ “ซีคอน” ยอดขายตกจากปีก่อน -12.5% เนื่องจาก COVID-19 ทำลูกค้าชะลอตัดสินใจ
  • COVID-19 ส่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วขึ้น ลูกค้าติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า ยอดขายที่ติดต่อครั้งแรกผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มสัดส่วนเป็น 35% ของยอดรวม
  • แต่บริการรับสร้างบ้านก็ยังเป็นสินค้าที่ต้องได้พูดคุยและดูหน้างานจริง ทำให้ซีคอนสร้างบ้านตัวอย่างหลังที่ 2 ณ สาขางามวงศ์วาน เป็นกลยุทธ์ปิดการขาย สร้างแรงส่งให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น
  • “มนู ตระกูลวัฒนะกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด บริษัทรับสร้างบ้านรายใหญ่ กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรก 2563 ยอดขายบริษัทลดลง -12.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดเหลือประมาณ 569 ล้านบาทเท่านั้น จากเป้าหมายรวมทั้งปี 1,400 ล้านบาท

    จากปัจจัยลบเดียวกับทั้งตลาดคือสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากปกติซีคอนจะได้ยอดขายส่วนใหญ่มาจากการออกบูธงานแฟร์เกี่ยวกับบ้าน แต่งานมหกรรมรับสร้างบ้านที่เดิมจะจัดในเดือนมีนาคม 2563 ถูกยกเลิกไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ยอดขายส่วนนี้หายไป และลูกค้าส่วนใหญ่ยังชะลอการตัดสินใจสั่งสร้างบ้านไปก่อน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนมียอดขายเข้ามาใหม่น้อยมาก

    “มนู ตระกูลวัฒนะกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด

    อย่างไรก็ตาม พบว่าเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ยอดขายเริ่มเป็นปกติมากขึ้น และรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ สามารถจัดอีเวนต์งานแฟร์ได้ตามปกติแม้จะจำกัดจำนวนผู้เข้าชมงานสูงสุด ทำให้งานแฟร์เกี่ยวกับบ้านอีก 3 ครั้งที่จะมีในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน น่าจะจัดได้

    เชื่อว่าจะได้ยอดขายใกล้เคียงปกติ เพราะลูกค้ารับสร้างบ้านเป็นเรียลดีมานด์ ต้องการมีบ้านเพื่อแยกครอบครัวหรือปรับปรุงบ้านใหม่ รวมถึง 70% ของลูกค้าจ่ายเงินสดจึงมีปัญหาทางการเงินน้อย ส่วนยอดขายที่อาจจะลดลงเป็นกลุ่มลูกค้ากู้สินเชื่อบ้านซึ่งมักจะสั่งสร้างบ้านราคา 2-5 ล้านบาท กลุ่มนี้อาจจะไม่มั่นใจเศรษฐกิจและพับแผนสร้างบ้านใหม่ไปก่อน

    ภาพรวมของซีคอนมองว่าสามารถดันยอดขายทั้งปีไปแตะ 1,400 ล้านบาทได้ ซึ่งเป็นยอดขายเท่ากันกับปีก่อน ส่วนตลาดรับสร้างบ้านในส่วนของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มนูกล่าวว่าสมาคมฯ ประเมินตลาดจะลดลง -10% จากมูลค่าตลาดปีก่อนอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท

     

    ลูกค้าติดต่อผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า

    ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคจากผลกระทบของ COVID-19 ซีคอนพบว่ามีลูกค้าที่เข้ามาผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นสูงมาก จากยอดขายครึ่งปีแรก 569 ล้านบาท เป็นยอดขายจากลูกค้าที่ติดต่อครั้งแรกผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 200 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 35% เปรียบเทียบกับยอดขายปี 2562 ทั้งปีทำได้ 1,480 ล้านบาท เป็นลูกค้าจากออนไลน์เพียง 160 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.8% เท่านั้น เห็นได้ว่าสัดส่วนลูกค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่าตัว

    อินสตาแกรมของซีคอน หนึ่งในช่องทางเข้าถึงลูกค้า

    “โชคดีที่เราพัฒนาช่องทางออนไลน์เสร็จหมดมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และไลน์ สามารถใช้ให้เหมาะกับพฤติกรรมคนแต่ละช่องทาง อย่างเฟซบุ๊กสามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้ทันที อินสตาแกรมไว้โชว์รูปบ้านสวยๆ เมื่อเกิดวิกฤตครั้งนี้จนเราออกงานแฟร์ไม่ได้ ทำให้เรามีออนไลน์ไว้รองรับ” มนูกล่าว

    “แน่นอนว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ ลูกค้ายังต้องได้เห็นของจริงด้วย และต้องเข้ามาพูดคุยรายละเอียดแบบกันก่อน แต่การประชาสัมพันธ์ผ่านออนไลน์จะเติบโตมากขึ้น เพราะออนไลน์ทำให้คนเห็นเราและติดต่อเราง่ายขึ้น”

     

    สร้างบ้านตัวอย่างใช้ Emotional ปิดการขาย

    การที่ยังต้องได้เห็น “ของจริง” ทำให้ซีคอนสร้างบ้านตัวอย่างหลังที่ 2 ที่ศูนย์ซีคอน สาขางามวงศ์วาน หลังจากบ้านตัวอย่างหลังที่ 1 ที่สาขาศรีนครินทร์ได้รับความนิยมมาก โดยหลังที่ 2 นี้ใช้งบลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เป็นบ้าน 3 ชั้นสไตล์โมเดิร์น ฟังก์ชัน 3 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ 2 ห้องนั่งเล่น ก่อสร้างบนที่ดินขนาด 97 ตร.ว. อยู่ริมถนนใหญ่เห็นได้ชัดเจน

    บ้านตัวอย่างซีคอน ศูนย์งามวงศ์วาน

    มนูกล่าวว่า ปกติบริษัทรับสร้างบ้านมักจะพาลูกค้าชมไซต์ก่อสร้างที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้ลูกค้าเห็นโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ แต่สุดท้ายแล้วพบว่าการมีบ้านตัวอย่างเป็นกลยุทธ์ ‘Emotional Sales’ ที่ดีกว่า เพราะลูกค้าไม่ได้เห็นแค่บ้านเปล่า แต่มีเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งครบ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจจน “ปิดการขาย” ได้ง่ายขึ้น

    เป็นวิธีการขายแบบใหม่ของบริการรับสร้างบ้าน จากปกติในตลาดจะมีเฉพาะเจ้าใหญ่และบริษัทต่างประเทศอย่างบ้านต้านแผ่นดินไหว SCG Heim หรือบริษัทเซกิซุยจากญี่ปุ่นที่จะสร้างบ้านตัวอย่างให้ชมแบบนี้

    ]]>
    1290117
    “รอแยลเฮ้าส์” ส่งแบบบ้าน “มินิมอล” เจาะคนรุ่นใหม่ ฮึดสู้เข็นเป้าโต 10% ท่ามกลาง COVID-19 https://positioningmag.com/1266763 Tue, 03 Mar 2020 10:22:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1266763 บริษัทรับสร้างบ้าน “รอแยลเฮ้าส์” กัดฟันวางเป้าปี’63 โต 10% แม้เผชิญสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ทุบความมั่นใจผู้ซื้อ โดยยังเดินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ (25-39 ปี) ต่อเนื่อง ส่งแบบบ้านไซซ์เล็ก “มินิมอล” 4 แบบใหม่ลุยตลาด ด้านยอดขายปีก่อนตกแรง 20% จากสาขาภาคอีสานตกเป้า

    “โกศล โควิสุทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด เปิดเผยเป้ายอดขายบริษัทปี 2563 วางเป้าที่ 1,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน แม้ว่าต้นปีจะมีสถานการณ์ ไวรัส COVID-19 ระบาดที่กระทบเศรษฐกิจโดยรวมและความมั่นใจผู้ซื้อ แต่บริษัทจะยังคงยืนเป้าเดิม โดยหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว

    ทั้งนี้ บริษัทเตรียมออกบูธใน งานรับสร้างบ้าน Focus 2020 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคมนี้ ซึ่งปกติถือเป็นมหกรรมการขายที่สำคัญของบริษัทรับสร้างบ้าน และรอแยลเฮ้าส์มักจะทำยอดขายในงานนี้เฉลี่ย 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีข้อสั่งการนายกฯ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (3 มีนาคม 2563) ขอความร่วมมือเอกชน “งด” จัดกิจกรรมรวมคนหมู่มากโดยไม่จำเป็น จึงยังไม่แน่ใจว่างานรับสร้างบ้านดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไปหรือไม่

    โดยโกศลกล่าวว่า หากไม่สามารถจัดงานรับสร้างบ้านได้ อาจจะโยกงบส่วนนี้มาทำการตลาดออนไลน์ทดแทน และยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายรวม

    “77% ของลูกค้ารอแยลเฮ้าส์จ่ายเป็นเงินสด ดังนั้นความสามารถทางการเงินจึงไม่เป็นปัญหามาก แต่เขาจะตัดสินใจสร้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก คือความมั่นใจต่ออนาคตของเศรษฐกิจภาพรวม” โกศลกล่าว พร้อมเสริมว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังมีไวรัสระบาด ทำให้ลูกค้าเริ่มชะลอการตัดสินใจออกไป

    “โกศล โควิสุทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด

    สำหรับกลุ่มราคาบ้านยอดนิยมของรอแยลเฮ้าส์ยังคงใกล้เคียงเดิม ได้แก่
    1)กลุ่มบ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาท สัดส่วน 20%
    2)กลุ่มบ้าน 5-10 ล้านบาท 27%
    3)กลุ่มบ้าน 10-20 ล้านบาท 39%
    4)กลุ่มบ้านราคาสูงกว่า 20 ล้านบาท 14%

    รอแยลเฮ้าส์นั้นหันมาเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ วัย 25-39 ปีต่อเนื่องมาแล้ว 2-3 ปี จากในอดีตลูกค้าสั่งสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองมักจะอยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเห็นเทรนด์ลูกค้ากลุ่มนี้มีการเติบโตสูง ด้วยต้องการบ้านที่สื่อถึงความเป็นตัวเอง ไม่เหมือนใคร เป็นวัยที่มักจะเริ่มแต่งงานมีครอบครัวและต้องการแยกบ้านจากพ่อแม่

    ทำให้บริษัทเพิ่มแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นแล้ว 8 แบบ และปีนี้จะเพิ่มเซ็ตใหม่อีก 4 แบบในธีม Minimalist โดยเป็นบ้านไซซ์เล็กสไตล์มินิมอล พื้นที่ใช้สอย 100-200 ตร.ม. มีทั้งแบบ 1 ชั้นและ 2 ชั้น ฟังก์ชันกะทัดรัด เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการบ้านใหญ่โตโอ่อ่าอย่างในอดีต และต้องการราคาจับต้องได้คืออยู่ในช่วงราคา 3-7 ล้านบาท

    แบบบ้าน Minimalist จาก รอแยลเฮ้าส์

    ด้านยอดขายรอแยลเฮ้าส์ปี 2562 อยู่ที่ 900 ล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อนหน้า โดยโกศลมองว่าเป็นปีปรับฐานตลาดหลังจากปี 2561 เติบโตดีมาก หากเจาะตามสาขาทั้ง 12 สาขาของบริษัท พบว่าปีก่อนสาขาที่ทำยอดไม่ได้ตามเป้าคือ สาขาโคราช และ สาขาอุบลราชธานี

    โกศลกล่าวว่าสาขาเหล่านี้อยู่ในภาคอีสาน ทำให้ความต้องการแบบบ้านจะแตกต่างจากคนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ รวมถึงมีความอ่อนไหวต่อราคาสูง เนื่องจากรอแยลเฮ้าส์มักจะคำนวณราคาก่อสร้างสูงกว่าผู้รับเหมาทั่วไปราว 10% จากวัสดุที่ใช้ การรับประกันโครงสร้างบ้านนาน 20 ปี และการบริการต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจถึงข้อดีเหล่านี้ต่อไปในการเจาะตลาด

    รอแยลเฮ้าส์มีสาขาทั้งหมด 12 สาขา เป็นสาขาในกรุงเทพฯ 7 แห่ง และต่างจังหวัด 5 แห่ง คือ ชลบุรี นครปฐม สระบุรี โคราช และอุบลราชธานี ปีที่ผ่านมามียอดขายจากกรุงเทพฯ 85% และจากต่างจังหวัด 15%

    ]]>
    1266763
    “แลนดี้ โฮม” ตีตลาดรับสร้างบ้านกลุ่มบ้านหรู-บ้าน 2 ล้านต้น ตั้งเป้าโต 10% สวนเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1263298 Wed, 05 Feb 2020 09:09:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263298
  • แลนดี้ โฮมโตสวนเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายอดขายปี 2563 แตะ 2,000 ล้านบาท เติบโต 10%
  • วางกลยุทธ์ขยายตลาด “บน” และ “ล่าง” จับช่องว่างรับสร้างบ้านกลุ่มลักชัวรี 15-50 ล้านบาท และปรับแบบบ้านลงมาเหลือ 2 ล้านต้นๆ ตอบโจทย์ลูกค้า
  • ปรับแบรนด์ให้ทันสมัย ใช้โปรแกรมแนะนำแบบบ้านอัตโนมัติ ทดลองระบบ VR ชมบ้านตัวอย่าง อัปเดตความคืบหน้างานก่อสร้างได้เรียลไทม์
  • เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอตัวแต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมรับสร้างบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยข้อมูลจาก สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2562 มีมูลค่าตลาดประมาณ 12,500 ล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อนหน้า

    ขณะที่แลนดี้ โฮม บริษัทรับสร้างบ้านอายุ 32 ปีในมือผู้บริหารเจน 2 ของครอบครัวมณีรัตนะพรสามารถเติบโตได้มากกว่าตลาด

    “พรรัตน์ มณีรัตนะพร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2562 บริษัททำรายได้ไป 1,800 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อนหน้า และปี 2563 นี้ยังคงตั้งเป้าโตต่อเนื่อง วางเป้ายอดขายไว้ที่ 2,000 ล้านบาท หรือโตประมาณ 10%

    ทีมผู้บริหารแลนดี้ โฮม: (จากซ้าย) “พานิช มณีรัตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างและบริหารสำนักงาน, “พรรัตน์ มณีรัตนะพร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย และ “ภัทรา มณีรัตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์

    สาเหตุที่สามารถเติบโตได้เนื่องจากธุรกิจรับสร้างบ้านมักจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มักจะมีที่ดินอยู่แล้วและใช้เงินสดมากกว่าการกู้สินเชื่อ

    อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน โดยปีนี้มีการเพิ่มแบบบ้านไซส์เล็ก กลุ่มราคาประหยัดต่ำกว่า 5 ล้านบาท เป็นบ้านชั้นเดียวพื้นที่ใช้สอย 100 ตร.ม. ปรับฟังก์ชันวัสดุเพื่อทำราคาให้อยู่ในงบ 2 ล้านต้นๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด

    อีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่เพิ่มแบบบ้านเข้ามาคือบ้านระดับลักชัวรี 15-50 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย มีความต้องการต่อเนื่อง

    บ้านไซส์เล็กราคา 2 ล้านต้นของแลนดี้ โฮม

    โดยพรรัตน์คาดว่าบ้านขนาดเล็กราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทจะมีสัดส่วนในพอร์ตมากขึ้นสำหรับปีนี้ โดยเพิ่มจาก 40% เป็น 50% ส่วนที่ลดลงไปคือบ้านขนาดกลางราคา 5-15 ล้านบาท สัดส่วนลดจาก 40% เหลือ 30% ขณะที่บ้านลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาทน่าจะคงสัดส่วนที่ 20%

     

    เจาะตลาดลูกค้าบ้านหลังใหญ่ไม่ต้องหรู

    ด้าน “ภัทรา มณีรัตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แลนดี้ โฮม กล่าวต่อว่า กลุ่มบ้านราคามากกว่า 15 ล้านบาทเป็นตลาดใหม่ที่แลนดี้ โฮมเพิ่งเริ่มทดลองตลาดเมื่อ 3 ปีก่อน จากในอดีตที่บริษัทมีแบบบ้านเฉพาะกลุ่มราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท หลังเริ่มออกแบบบ้านเสนอลูกค้า พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้ปีนี้จะลงงบการตลาดเจาะลูกค้าตลาดนี้มากขึ้น

    ภัทราฉายภาพว่า คู่แข่งในตลาดรับสร้างบ้านระดับลักชัวรีมีเพียง 3-4 ราย และเจ้าใหญ่ในตลาดจะเกาะกลุ่มบ้านระดับซูเปอร์ลักชัวรีราคา 50-200 ล้านบาท หรือราคาตก ตร.ม.ละ 40,000 บาท เนื่องจากเป็นบ้านพร้อมตกแต่งเสร็จ เน้นลูกค้าที่ต้องการความหรูหรา แต่แลนดี้ โฮมเลือกเกาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความคุ้มค่าและคุมงบประมาณได้

    บ้านแลนดี้ โฮมระดับลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาท

    “ของเราเริ่มต้นที่ตร.ม.ละ 25,000 บาท ไม่รวมตกแต่ง เพราะลูกค้าหลายรายมีบริษัทตกแต่งภายในที่เลือกมาเอง” ภัทรากล่าว “เราตีตลาดกลุ่มที่ต้องการบ้านหลังใหญ่แต่คุ้มค่า ไม่ต้องวิจิตรหรูหราแต่ดูดี”

     

    ปรับแบรนด์ให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี

    อีกกลยุทธ์ที่แลนดี้ โฮมปรับอย่างต่อเนื่องคือสร้างแบรนด์ให้ทันสมัยและเป็นที่จดจำ โดยที่ผ่านมาบริษัทลงทุนสร้างโปรแกรมแนะนำแบบบ้านอัตโนมัติ ใน iPad สำหรับให้พนักงานขายใช้แนะนำลูกค้าในทั้ง 8 สาขาของแลนดี้ โฮม

    “ลักษณะไม่ใช่แค่เปิดรูปบ้านให้ดูใน iPad แต่ลูกค้าสามารถกรอกความต้องการของตัวเองเข้าไปได้ เช่น งบประมาณ จำนวนคนอยู่อาศัย โปรแกรมจะแนะนำแบบบ้านที่เหมาะสมให้ได้ทันที” พานิช มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างและบริหารสำนักงาน แลนดี้ โฮม กล่าว

    ตัวอย่างผลงานบ้านสร้างเสร็จ (photo: Landy Home)

    นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมติดตามงานก่อสร้างในไซต์งานของลูกค้าเองได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งขณะนี้แลนดี้ โฮมบริการข้อมูลพร้อมกันอยู่ 150 ไซต์งาน

    ส่วนเทคโนโลยีใหม่ที่จะทดลองนำมาใช้ปีนี้คือ VR (Virtual Reality) พานิชกล่าวว่าบริษัทคัดเลือกแบบบ้านขายดี 10 แบบมาจัดทำเป็นภาพ VR และจะให้ลูกค้าทดลองใช้ได้ที่สาขาลาดพร้าว (สำนักงานใหญ่)

    “ปีนี้ไม่มีการเปิดสาขาใหม่แต่มาเน้นเรื่องสาขาที่มีอยู่ต้องดูแลลูกค้าได้ครบวงจร เพราะเราพบว่าลูกค้ามาติดต่อสาขาเพียง 1-2 ครั้งก่อนตัดสินใจสั่งสร้างบ้าน หลังจากนั้นลูกค้าจะอยู่ที่ไซต์งาน ดังนั้นจำนวนสาขาไม่ได้มีผลเท่าลูกค้าเข้ามาแล้วเลือกเราหรือเปล่า” พานิชกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1263298