“กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ รายงานสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากผลสำรวจของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พบว่า “ราคาอสังหาฯ” กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ดัชนีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 178 จุด ในช่วงไตรมาส 3/64 โดยคิดเป็นราคาที่ลดลง -14% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 หรือลดลง -11% YoY
อย่างไรก็ตาม หากแยกตามประเภทอสังหาฯ จะพบว่า “คอนโดมิเนียม” คือประเภทสินค้าที่ราคาลดลงมาก โดยลดลง -13% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 หรือลดลง -11% YoY
รองลงมาคือ “ทาวน์เฮาส์” ที่ราคาลดลงเล็กน้อย -2% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 หรือลดลง -1% YoY
สินค้ากลุ่มเดียวที่โตดีสวนตลาดคือ “บ้านเดี่ยว” ราคาเพิ่มขึ้นถึง +10% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 และโตขึ้น +6% YoY
ซัพพลายของตลาดโดยรวมยังเพิ่มขึ้น +19% YoY แต่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของซัพพลายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ที่มีดีมานด์ ส่วนคอนโดฯ ยังมีซัพพลายทรงตัวเท่ากับไตรมาส 2/64 เนื่องจากดีเวลอปเปอร์ชะลอการเปิดตัวใหม่ และเร่งระบายสต๊อกออกไปได้พอสมควร
กมลภัทรมองว่า ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เป็นไปได้ที่ราคาอสังหาฯ อาจยังปรับลดลงอีก เพราะเป็นช่วงระบายสต๊อกก่อนจบสิ้นปี และอาจจะยังคงราคาต่ำไปจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ส่วนไตรมาส 2/2565 อาจมีลุ้นได้เห็นการปรับขึ้นของราคาอสังหาฯ หลังผ่านจุดต่ำสุด เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น การระบายสต๊อกอสังหาฯ ทำไปมากแล้ว ทำให้ปีหน้าผู้ประกอบการจะกลับมาเปิดคอนโดฯ ใหม่และปรับราคาขึ้น
เมื่อต้นปี 2564 นี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้รายงานว่าเทรนด์ “บ้านเดี่ยว” กำลังมาแรง และช่วงท้ายปีนี้ก็ยังคงแรงต่อเนื่อง ดังที่เห็นจากราคายังคบปรับขึ้นได้
ฝั่งดีมานด์ก็เช่นกัน โดยวัดจากการค้นหาในเว็บไซต์ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พบว่าไตรมาส 3/64 มีผู้ค้นหา “ซื้อบ้านเดี่ยว” เพิ่มขึ้น 69% YoY และมีผู้ค้นหา “เช่าบ้านเดี่ยว” เพิ่มขึ้น 59% YoY
“คนเช่ากลุ่มนี้ (บ้านเดี่ยว) มักจะเป็น ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย มีศักยภาพในการจ่ายสูง เป็นระดับผู้บริหารที่อยู่อาศัยกันทั้งครอบครัว จึงต้องการบ้านเดี่ยวที่มีความสะดวก สะอาด” กมลภัทรกล่าว “อีกกลุ่มจะเป็น ผู้เช่าคนไทยที่อาจจะเคยเช่าคอนโดฯ หรูในเมือง แต่เมื่อตอนนี้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน จึงหันมาเลือกบ้านเดี่ยวที่ห่างเมืองหน่อยแต่ยังเข้าเมืองได้สะดวก ทำให้โยกค่าเช่าคอนโดฯ หรูมาเป็นการเช่าบ้านแทน”
ส่วนเทรนด์การลงทุนของนักลงทุนปล่อยเช่า เห็นว่ามีการลงทุนบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่หวือหวาอย่างที่คิด เพราะบ้านเดี่ยวนั้นต้องลงทุนสูงต่อหนึ่งยูนิต และมีค่าบำรุงรักษาสูง รวมถึงทำเลอาจจะเดินทางไปดูแลยากกว่า กลยุทธ์การหาผู้เช่าก็แตกต่าง จึงไม่ใช่นักลงทุนทุกคนจะเปลี่ยนมาลงทุนบ้านแทนคอนโดฯ
สำหรับกลุ่มราคาอสังหาฯ ที่มีดีมานด์ ในตลาดซื้อขาดพบประเด็นที่น่าสนใจคือ การค้นหาอสังหาฯ ราคามากกว่า 15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 54% YoY รองลงมาเป็นกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% YoY สะท้อนให้เห็นว่าตลาดบนมีความต้องการสูงมาก และตลาดกลางก็ยังมีดีมานด์ที่ดี
ส่วนอสังหาฯ สำหรับเช่า พบว่าค่าเช่า 20,000-30,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่เติบโตสูงสุด 54% YoY สอดคล้องกับตลาดบ้านเดี่ยวให้เช่าที่ดีมานด์สูง รองลงมาคือกลุ่มค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เติบโต 50% YoY
ประเด็นความเคลื่อนไหวในตลาดอสังหาฯ ปีนี้จนถึงปี 2565 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการประกาศ ผ่อนคลายมาตรการ LTV ทำให้อสังหาฯ ราคามากกว่า 10 ล้านบาท และผู้กู้บ้านสัญญาที่ 2-3 สามารถกู้ได้เต็ม 100% แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี
อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองหรือไม่ และจะยอมให้ครอบคลุมถึงมูลค่าอสังหาฯ 3 ล้านบาท “แรก” กรณีที่ราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทหรือไม่
ส่วนปัจจัยบวกที่ต้องจับตาปีหน้า คือการเปิดใช้ครั้งแรกของรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง สำโรง-ลาดพร้าว ที่น่าจะสร้างความคึกคักให้กับตลาดในทำเลนั้นได้มาก
]]>สต๊อกคอนโดมิเนียมที่ติดมือ LPN อยู่เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กร เพราะคอนโดฯ สร้างเสร็จแล้วขายไม่ได้หมายถึงเงินลงทุนที่จมลงไปทุกวันและค่าใช้จ่ายที่ต้องบำรุงรักษาอาคารจนกว่าจะปิดการขายได้
ต่อประเด็นนี้ “โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) แจกแจงถึงกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเร่งระบายสต๊อกออกไปให้เร็วที่สุด โดยปัจจุบัน LPN มีสต๊อกคอนโดฯ มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ บริษัทจะนำห้องชุดจำนวนรวม 2,900 ยูนิตใน 3 โครงการ มูลค่ารวม 2 พันล้านบาท มาจัดเป็นห้องเช่า หลังหาผู้เช่าได้เป็นพอร์ตใหญ่ จะนำทั้งหมดรวมขายเป็นแพ็กเกจห้องชุดพร้อมผู้เช่าให้กับนักลงทุน
3 โครงการดังกล่าว ได้แก่ ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 โครงการยักษ์ที่ติดมือมานานหลายปี จำนวนที่จะปล่อยเช่า 2,700 ยูนิต (ขณะนี้มีผู้เช่าแล้ว 1,700 ยูนิต), ลุมพินี เพลส พระราม 3-ริเวอร์ไรน์ จำนวน 100 ยูนิต และล่าสุด ลุมพินี พาร์ค พหล 32 ซึ่งเริ่มโอนปลายปีที่แล้ว แต่ยอดขายเดินไปได้แค่ 30% ทำให้จะนำมาปล่อยเช่า 100 ยูนิต
ทั้ง 3 โครงการจะให้เช่าในราคาใกล้เคียงตลาดหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ที่รังสิตปล่อยเช่า 5,000 บาทต่อเดือน ส่วนพระราม 3 และ พหล 32 ปล่อยเช่า 8,000 บาทต่อเดือน แลกกับผู้เช่าต้องเซ็นสัญญาเช่าระยะยาว 3 ปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางโครงการเช่น ลุมพินี พาร์ค พหล 32 หากให้เช่าในราคาดังกล่าว เทียบกับราคาขายเริ่มต้น 2.4 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการปล่อยเช่า (rental yield) จะอยู่ที่ 4% ต่อปีเท่านั้น ไม่จูงใจนักลงทุนมากพอ LPN จึงเตรียมอัดเงินค่าเช่าเพิ่มอีก 4,000 บาทต่อเดือนต่อห้องให้กับนักลงทุน เพื่อให้ยีลด์ขึ้นมาที่ 5-6% ต่อปี
โอภาสกล่าวว่า บริษัทหวังว่าหากปล่อยเช่าห้องได้เกือบทั้งหมดแล้วโดยมีสัญญาเช่า 3 ปีในมือ จะสามารถจัดรวมเป็นแพ็กเกจขายแบบเหมาตึกได้ โดยมีช่องทางขายลูกค้าทั้งขายนักลงทุนโดยตรง ขายเอเย่นต์อสังหาฯ และกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งของธนาคาร
ที่ต้องยุ่งยากหาผู้เช่าเข้ามาก่อนจัดแพ็กเกจขาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการจูงใจนักลงทุนว่าทำเลเหล่านี้มีผู้เช่าจริง และอีกส่วนเพื่อบรรเทาค่าบำรุงรักษาห้องที่บริษัทต้องจ่าย รวมถึงทำให้บรรยากาศชุมชนมีการอยู่อาศัยจริง ไม่รกร้าง
“อย่างรังสิตมีการเช่าจะครบทั้งตึก F แล้ว ต่อไปเราจะเริ่มตัดขายนักลงทุนได้” โอภาสกล่าว “โครงการที่เลือกมาปล่อยเช่าจะโครงการที่ห้องต้องเหลือเยอะจริงๆ ไม่ได้ทำได้ทุกที่”
ด้านแผนการดำเนินงานปี 2563 โอภาสเปิดเผยว่าบริษัทเตรียมเปิดตัว 9-10 โครงการ มูลค่ารวม 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นแนวราบ 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท และคอนโดฯ 5-6 โครงการ มูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านบาท ส่วนเป้าหมายยอดขายปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 30% จากยอดขายที่ทำได้ปีก่อน 7 พันล้านบาท เป้าหมายรับรู้รายได้จะใกล้เคียงรายได้ที่ทำได้ในปี 2562
โครงการเปิดตัวของ LPN กางแผนชัดๆ กันตั้งแต่ต้นปี ดังนี้
1.บ้าน 365 เมืองทองธานี บ้านแฝดราคาเริ่มต้น 10 กว่าล้านบาท
2.บ้านลุมพินี สุขุมวิท 113 ราคาเริ่ม 3-5 ล้านบาท
3.บ้านลุมพินี ลาดกระบัง ราคาเริ่ม 3-5 ล้านบาท
4.บ้านลุมพินี พหล 54/1 ราคาเริ่ม 3-5 ล้านบาท
5.ลุมพินี เพลส เตาปูน-อินเตอร์เชนจ์ ราคาเริ่ม 90,000 บาทต่อตร.ม.
6.คอนโดฯ ทำเลจรัญ 65 ราคาเริ่ม 70,000 บาทต่อตร.ม.
7.คอนโดฯ ทำเลถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ราคาเริ่ม 130,000 บาทต่อตร.ม.
8.คอนโดฯ ทำเลแจ้งวัฒนะ 17 เฟส 1 ราคาเริ่ม 70,000 บาทต่อตร.ม.
9.คอนโดฯ ทำเลถนนเอกชัย ราคาเริ่มไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อยูนิต
ปีนี้โอภาสแย้มด้วยว่ารายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ จะลดลงจากปีก่อน แต่จะเร่งดันรายได้ประจำ (recurring income) ที่มาจากการบริหารจัดการอาคาร ก่อสร้าง ที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนาขึ้นมาแทน โดยรวมน่าจะแตะ 900-1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ ธุรกิจรับบริหารจัดการอาคาร ปัจจุบันรับบริหารให้โครงการ LPN เองอยู่ 150 โครงการ และบริหารให้โครงการของบริษัทอื่นอยู่ 30-40 แห่ง ต้องการเพิ่มจำนวนอาคารรับบริหารให้โครงการภายนอกเป็น 150 โครงการ
สำหรับสภาพตลาดอสังหาฯ โอภาสกล่าวถึงปีที่ผ่านมาว่าตลาดเหมือนทำงานแค่ “3 แรกกับ 3 หลัง” คือคึกคักในช่วง 3 เดือนแรก เร่งขายและโอนก่อนที่มาตรการเข้มงวด LTV จะบังคับใช้ จากนั้นตลาดก็ซบเซาอย่างหนัก จนถึง 3 เดือนสุดท้ายที่กลับมาคึกคักเพราะแต่ละเจ้าต้องการดันยอดขายให้ได้ตามเป้า
“ถ้าไม่นับปี’40 ปีที่แล้วผมทำงานหนักใจมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 เพราะผ่านมา 9 เดือนแล้วรายได้เรายังไม่ถึงครึ่งของเป้าทั้งปี แต่พอจบปี’62 ก็ค่อนข้างพอใจ เพราะแม้รายได้จะไม่โต แต่เราลดต้นทุนได้ ทำให้กำไรออกมาดีกว่าที่คาด” โอภาสกล่าว
ขณะที่ปี 2563 โอภาสเชื่อว่าสภาวะตลาดจะยังคงเดิม โดยมีมาตรการรัฐบ้านดีมีดาวน์ช่วยเสริมตลาดไตรมาส 1 และน่าจะคึกคักอีกครั้งช่วงโค้งท้ายไตรมาส 4 ก่อนที่มาตรการลดค่าโอนและจดจำนองให้บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านจะหมดลง แต่ยังหวังว่าไตรมาส 2-3 รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยกระตุ้นออกมาเพิ่มเติมให้กับภาคอสังหาฯ
ด้าน “อภิชาติ เกษมกุลศิริ” กรรมการบริหารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของ LPN กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่เห็นปัจจัยบวก และอาจจะโตต่ำที่สุดในรอบสิบปีเพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งภาคท่องเที่ยวของไทยถูกกระทบจากเหตุไวรัสโคโรนาตั้งแต่ต้นปี
ดังนั้นกำลังซื้อน่าจะยังทรงตัว ทำให้สภาวะซัพพลายอสังหาฯ ล้นตลาดน่าจะยังต้องใช้เวลาดูดซับอีกอย่างน้อย 12-14 เดือน
]]>“ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง และ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมชี้แจงเกี่ยวกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย
ดังนั้นเพื่อไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนที่มีจุดประสงค์หลักในการใช้ประโยชน์บนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขอชี้แจงแนวทางการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังนี้
กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่มีที่พักอาศัยของตนเอง หรือที่เช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงเจ้าของทรัพย์สินที่ให้บุคคลอื่นเพื่อการอยู่อาศัย หรือการให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อการอยู่อาศัยด้วย
นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดภาระของประชาชนที่จะต้องไปติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท. ในการสำรวจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการแจ้งให้ อปท. ทั่วประเทศทราบและถือปฏิบัติต่อไป
สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นภาษีที่ใช้ทดแทนภาษีโรงเรือน มีการแยกการจัดเก็บออกเป็น 3 หมวด ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ 1.ที่อยู่อาศัย (แยกเป็นบ้านหลังหลักและบ้านหลังอื่นๆ) 2.เกษตรกรรม 3.อื่นๆ (แยกเป็นพาณิชยกรรมและที่ดินว่างเปล่า) จุดประสงค์หลักของกฎหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจากการถือครองที่ดินจำนวนมาก ทำให้ที่ดินว่างเปล่าเป็นหมวดที่เสียภาษีสูงที่สุด รองลงมาคือที่ดินพาณิชยกรรม
หลังกฎหมายหลักออกมาแล้วยังเหลือกฎหมายลูกอีก 8 ฉบับ ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยจะทยอยออกประกาศนับจากนี้ ซึ่งในตัวกฎหมายลูกจะเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าคำนิยามการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะตั้งกฎเกณฑ์อย่างไร เช่น ที่ดินเกษตรกรรม ต้องมีการปลูกพืชผลอะไรในสัดส่วนเท่าไหร่ต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีแบบมี ‘ป่ากล้วยกลางเมือง’ แล้วนับเป็นที่ดินเกษตรกรรมแทนที่ดินว่างเปล่า
ประเด็นการนำบ้านหรือห้องชุดปล่อยเช่าเป็นอีกรายละเอียดหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าจะนับการใช้ประโยชน์นี้ว่าเป็น “พาณิชยกรรม” หรือเป็น “บ้านหลังอื่นๆ” ซึ่งการเสียภาษีจะมีอัตราต่างกันเกิน 10 เท่าตัว เช่น หากนาย A มีบ้านให้เช่าราคา 10 ล้านบาท ถ้านับเป็นหมวดพาณิชยกรรมจะเสียภาษีที่ดินอัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท เท่ากับนาย A ต้องเสียภาษีปีละ 30,000 บาท แต่ถ้านับว่าเป็นหมวดบ้านหลังอื่นๆ จะเสียภาษีอัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท เท่ากับนาย A เสียภาษีบ้านหลังนี้เพียงปีละ 2,000 บาท
คำยืนยันจากคลังและมหาดไทยน่าจะสร้างความโล่งใจให้นักลงทุนปล่อยเช่าได้บ้าง แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากกฎหมายลูกกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะถึงเวลาแจ้งชำระภาษีที่ดินของจริงช่วงเดือนมิถุนายน 2563
]]>