ภาพยนตร์ไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 29 Feb 2024 09:36:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มองตลาด ‘หนังไทย’ ในช่วงขาขึ้น ที่ทำให้ ‘ช่อง 3’ กลับมาลงทุนอีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี https://positioningmag.com/1464441 Thu, 29 Feb 2024 05:20:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1464441 ขนาดในวงการ สตาร์ทอัพ ยังเคยล้อวงการ หนัง ว่ากู้เงินมาลงทุนยากพอ ๆ กัน เพราะความเสี่ยงสูง แต่ดูเหมือนว่าหลังช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา วงการ หนังไทย หรือ ภาพยนตร์ไทย ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2023 ที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ของหนังไทยสามารถแซงหน้าหนังฮอลลีวูดที่ 55% : 45% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในวงการ 

โรงภาพยนตร์มากขึ้น ก็ทำรายได้มากขึ้น

ในช่วง 20 ปีมานี้ จำนวนหนังไทยที่ฉายต่อปีมีอยู่ราว 50 เรื่อง ส่วนภาพยนตร์จากต่างประเทศฉายประมาณ 200-300 เรื่อง ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วหนังไทยถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก แม้จำนวนจะน้อยกว่าหลายเท่า แต่ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่สัดส่วนรายได้หนังไทยสูงกว่าหนังฮอลลีวูด ด้วยสัดส่วน 55 : 45 จากในอดีตที่สัดส่วนจะหนังฮอลลีวูดจะอยู่ที่ 80 : 20

โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รายได้ของหนังไทยเติบโตมากขึ้นก็เป็นผลมาจาก จำนวนโรงภาพยนตร์ ที่มีมากขึ้น สามารถกระจายไปถึงระดับชุมชน อย่างใน เครือเมเจอร์ฯ มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 180 สาขา รวม 838 โรงภาพยนตร์ ส่วนเครือ SF มีโรงภาพยนตร์อยู่ในเครือ 66 สาขา รวม 400 โรงภาพยนตร์ ด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มากขึ้น ก็ทำให้หนังไทยมีโอกาสทำรายได้ได้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่ามีหนังไทยหลายเรื่องทำรายได้หลัก 100 ล้านบาทในวันเดียว

“เราเริ่มเห็นเทรนด์ในหลายประเทศที่รายได้จากหนังโลคอลเริ่มมีแชร์สูงขึ้น เนื่องจากคุณภาพที่สูงขึ้น และคนโลคอลก็ยังสนับสนุนหนังของตัวเอง” สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร M Studio กล่าว

ผู้ชมเปิดใจกับภาพยนตร์โลคอล

การมาของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไม่ได้เป็นคู่แข่งกับโรงภาพยนตร์ เพราะหลังจากหมด COVID-19 โรงภาพยนตร์ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะโรงหนังเป็นการ ขายประสบการณ์ บางคนมาดูหนังกับเพื่อน กับแฟน กับครอบครัว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็มีส่วนช่วยให้คนเปิดใจรับชมโลคอลคอนเทนต์ หรือคอนเทนต์จากประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่ฮอลลีวูดมากขึ้น

“เราจะเห็นว่าคอนเทนต์อันดับ 1 ในหลายแพลตฟอร์มไม่ใช่คอนเทนต์จากฝั่งฮอลลีวูด แต่มีทั้งเกาหลีใต้, ตุรกี, อเมริกาใต้ ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มเปิดใจกับคอนเทนต์ของประเทศอื่น ๆ มากขึ้น”

ดังนั้น ทิศทางการเติบโตของหนังไทยก็มาจากการยอมรับของคนไทยที่เปิดใจมากขึ้นด้วย อาทิ ภาพยนตร์ สัปเหร่อ หรือ ของแขก ที่ดูเป็นภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มแต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้

พลังนักแสดงและมีเดียของพาร์ตเนอร์

อีกปัจจัยที่ทำให้หนังไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นก็คือ การที่บริษัทผู้ผลิตหนังได้ พาร์ตเนอร์ ที่แข็งแรง อย่างเช่น ช่อง 3 ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ M STUDIO ทำให้ภาพยนตร์ที่สร้างนั้น ๆ ได้ ศิลปิน ระดับแม่เหล็กของช่อง 3 รวมถึงได้ มีเดียของช่อง 3 ด้วย ซึ่งในส่วนนี่ก็จะช่วยดึงดูดกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน ช่วยโปรโมตให้ภาพยนตร์เข้าถึงวงกว้าง รวมถึงการดึงแบรนด์มาเป็นสปอนเซอร์ได้อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ ช่อง 3 หรือ BEC world ได้ร้างราจากการลงทุนทำหนังไปเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่บริษัทในเครืออย่าง ฟิล์มบางกอก ที่ผลิตภาพยนตร์คุณภาพ อาทิ ฟ้าทลายโจร, บางระจัน ได้ปิดตัวไปในปี 2005 จนมาปี 2022 ที่ช่อง 3 ได้ลงทุนในการทำหนังอีกครั้ง ผ่านการเป็นพาร์ตเนอร์กับ M Pictures ผลิตภาพยนตร์ บัวผันฟันยับ และในปี 2023 เรื่อง ธี่หยด

ไม่ใช่แค่ขาขึ้น แต่ทีวีต้องหาโอกาสใหม่ ๆ

การที่ผู้ผลิตหนังจะหาพาร์ตเนอร์จากทีวีถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับก็มีส่วนช่วยให้หนังประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ขณะที่สื่อทีวีเองก็ต้องพยายามหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามา เพราะ รายได้โฆษณาของทีวี ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคย้ายไปอยู่บนออนไลน์ ขณะที่คอนเทนต์ที่เคยเป็นจุดเด่นของทีวีอย่าง ละคร ก็ไม่ได้เป็นคอนเทนต์หลักที่ใช้ดึงดูดผู้ชม กลายเป็นรายการ ข่าว ที่เป็นคอนเทนต์ที่ขายได้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่อง 3 จะกลับมาลงทุนในธุรกิจภาพยนตร์อีกครั้ง เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ

สำหรับปี 2024 นี้ ช่อง 3 ได้ร่วมลงทุนกับ M STUDIO ในการผลิตภาพยนตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ ธี่หยด 2 และ มานะแมน โดย เทรซี แอนน์ มาลีนนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่ม บมจ.บีอีซี เวิลด์ เปิดเผยว่า ช่อง 3 จะร่วมทุนแบบ 50:50 กับบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ และพร้อมจะร่วมทุนกับทุกค่ายถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ น่าสนใจ และช่อง 3 ก็มองว่า รายได้จากภาพยนตร์อาจเป็นขาสำคัญในอนาคต โดยปัจจุบันรายได้ 85% ของบริษัทมาจากโฆษณา อีก 15% มาจากอื่น ๆ รวมถึงภาพยนตร์

ปั้นจักรวาลภาพยนตร์ตามรอยฮอลลีวูด

สุรเชษฐ์ มองว่า อีกเทรนด์ที่เห็นของวงการหนังไทยก็คือ เริ่มเป็น แฟรนไชส์หรือจักรวาลภาพยนตร์ เช่น จักรวาลไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ ดังนั้น การต่อยอดจากหนังที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้หนังไทยเติบโตได้ เหมือนกับหนังฮอลลีวูดที่เมื่อหนังประสบความสำเร็จก็จะทำเป็นแฟรนไชส์หรือจักรวาลภาพยนตร์ออกมา เพราะตอนนี้หนังไทยเริ่มสร้างแฟนคลับ ดังนั้น แนวคิดการทำภาพยนตร์จากนี้ต้องต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ได้ด้วย

“อย่างธี่หยดที่ประสบความสำเร็จไป เราเลยทำธี่หยด 2 ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันกับภาคแรกที่ทำรายได้แตะ 500 ล้านบาท ซึ่งเรามองว่ามันต่อยอดไปได้อีก เช่น สปินออฟของตัวละครในหนัง”

สุดท้ายกลับมาเรื่องคุณภาพ

สุรเชษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้โอกาสของภาพยนตร์เปิดกว้างไม่ใช่แค่ฉายในไทย แต่สามารถนำไปขายในต่างประเทศรวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ หนังบางเรื่องสามารถขายได้ทุนคืนตั้งแต่ยังไม่ฉาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณภาพต้องดี ซึ่งถ้าหนังไทยในยุคที่ประสบความสำเร็จแบบนี้ก็จะยิ่งดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้มาทำหนัง ดังนั้น มั่นใจว่ารายได้จากหนังไทยปีนี้จะมากกว่าหนังฮอลลีวูด อย่างในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 มีภาพยนตร์ 3 เรื่องที่มีคนดูมากกว่า 20 ล้านคน ทำรายได้รวมกันกว่าพันล้านบาท ได้แก่ สัปเหร่อ, ธี่หยด และ 4 King 2

“ตอนนี้หนังไทยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน อย่างธี่หยดก็ขึ้นอันดับ 1 ในเวียดนาม ต่างประเทศยอมรับหนังไทยเนื่องจากเนื้อหาที่สดใหม่ มีความลึกซึ้ง ดังนั้น โจทย์แรกที่จะทำให้หนังไทยประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้คือ ต้องเป็นคอนเทนต์คุณภาพ พอประสบความสำเร็จ ต่างชาติก็จะหันมาเสพผลงานของไทย”

]]>
1464441
10 อันดับคอนเทนต์ไทยบน “Netflix” ที่มีชั่วโมงการรับชมสูงสุด ครึ่งปีแรก 2023 https://positioningmag.com/1460742 Mon, 29 Jan 2024 09:02:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1460742 สำหรับคนที่อยากรู้ว่าคอนเทนต์บน “Netflix” แต่ละเรื่องมีคนดูมากแค่ไหน ความปรารถนาของคุณเป็นจริงแล้ว เพราะสตรีมมิ่งเจ้านี้จะเริ่มเปิดเผยข้อมูลยอดรับชมของคอนเทนต์ทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม!

ข้อมูลนี้ออกมาในรูปแบบรายงานชื่อ What We Watched: A Netflix Engagement Report โดยจะประกาศข้อมูลทุกๆ ครึ่งปี ครั้งแรกที่มีการประกาศคือเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2023 เป็นข้อมูลรอบวันที่ 1 มกราคม 2023 – 30 มิถุนายน 2023

รายงานนี้เปิดข้อมูลแบบละเอียดจริงๆ เพราะสามารถดาวน์โหลดตาราง Excel มาอ่านเองได้เลย ภายในแสดงข้อมูลคอนเทนต์ทั่วโลกรวมทั้งหมดกว่า 18,000 เรื่อง! ครอบคลุมคอนเทนต์ 99% ที่มีอยู่บน Netflix ไม่ว่าจะเป็นออริจินอลหรือเป็นการซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย

การรายงานนี้จะไม่นับเป็นจำนวนครั้งหรือจำนวนบัญชีที่เข้าไปดู แต่คิดเป็น ‘จำนวนชั่วโมง’

สะท้อนให้เห็นว่า Netflix ต้องการวัดคุณภาพของคอนเทนต์ คนดูต้องชื่นชอบจริงๆ ถึงจะเปิดดูจนจบเรื่อง หรือกดดู EP. ต่อไปและต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงถ้าแฟนคลับบัญชีเดิมกดดูวนไปซ้ำๆ ก็ถือว่าเป็นคอนเทนต์ที่ดีเช่นกัน

10 อันดับแรกคอนเทนต์ที่มีชั่วโมงการรับชมสูงสุดบน Netflix ทั่วโลก รอบครึ่งปีแรก 2023
  1. The Night Agent SS1
    ซีรีส์แอคชั่น ภาษาอังกฤษ
    812 ล้านชั่วโมง
  2. Ginny & Georgia SS2
    ซีรีส์คอมเมดี้ ภาษาอังกฤษ
    665 ล้านชั่วโมง
  3. The Glory SS1
    ซีรีส์ดราม่า ภาษาเกาหลี
    623 ล้านชั่วโมง
  4. Wednesday SS1
    ซีรีส์แฟนตาซีสยองขวัญ ภาษาอังกฤษ
    508 ล้านชั่วโมง
  5. Queen Charlotte: A Bridgerton Story
    ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ ภาษาอังกฤษ
    503 ล้านชั่วโมง
  6. You SS4
    ซีรีส์เขย่าขวัญ ภาษาอังกฤษ
    441 ล้านชั่วโมง
  7. La Reina del Sur SS3
    ซีรีส์ดราม่าระทึกขวัญ ภาษาสเปน
    430 ล้านชั่วโมง
  8. Outer Banks SS3
    ซีรีส์แอคชั่นผจญภัย ภาษาอังกฤษ
    403 ล้านชั่วโมง
  9. Ginny & Georgia SS1
    ซีรีส์คอมเมดี้ ภาษาอังกฤษ
    302 ล้านชั่วโมง
  10. FUBAR SS1
    ซีรีส์แอคชั่นคอมเมดี้ ภาษาอังกฤษ
    266 ล้านชั่วโมง

จากข้อมูลคอนเทนต์ยอดนิยม Netflix เล็งเห็นข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น 30% ของการรับชมคอนเทนต์บน Netflix เป็นการชมคอนเทนต์ที่ ‘ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ’ ตัวอย่างใน Top 10 มีคอนเทนต์ถึง 2 เรื่องที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ คือ The Glory (เกาหลี) และ La Reina del Sur (สเปน)

ฝั่งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยก็มีความร่วมมือกับ Netflix ในการผลิตหรือลงสตรีมคอนเทนต์ที่ใช้ภาษาไทยดำเนินเรื่องเช่นกัน โดย Positioning เจาะตาราง Excel ของ Netflix และจัดลำดับข้อมูลดังนี้

10 อันดับคอนเทนต์ไทยบน “Netflix” ที่มีชั่วโมงการรับชมสูงสุด ครึ่งปีแรก 2023
  1. Hunger คนหิวเกมกระหาย
    ภาพยนตร์ดราม่า
    92.3 ล้านชั่วโมง
  2. Royal Doctor หมอหลวง ซีซัน 1
    ซีรีส์ย้อนยุคคอมเมดี้
    24.3 ล้านชั่วโมง
  3. Girl from Nowhere เด็กใหม่ ซีซัน 1
    ซีรีส์ดราม่าระทึกขวัญ
    14.2 ล้านชั่วโมง
  4. DELETE ซีซัน 1 (*)
    ซีรีส์ดราม่าระทึกขวัญ
    8.0 ล้านชั่วโมง
  5. Nak นางนาค สะใภ้พระโขนง
    ซีรีส์ย้อนยุคโรแมนติก
    8.0 ล้านชั่วโมง
  6. Moo 2 หมู่ 2
    ภาพยนตร์ตลกเดี่ยวไมโครโฟน
    4.9 ล้านชั่วโมง
  7. To the Moon and Back มาตาลดา ซีซัน 1
    ซีรีส์โรแมนติก
    3.9 ล้านชั่วโมง
  8. Bad Romeo คือเธอ ซีซัน 1
    ซีรีส์โรแมนติก
    3.8 ล้านชั่วโมง
  9. Oh My Girl รักจังวะ..ผิดจังหวะ
    ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้
    3.6 ล้านชั่วโมง
  10. Love Destiny the Movie บุพเพสันนิวาส ๒
    ภาพยนตร์ย้อนยุคโรแมนติก
    3.4 ล้านชั่วโมง

(*) ซีรีส์เรื่อง DELETE เข้าสตรีมมิ่งวันที่ 28 มิถุนายน 2023 ทำให้มีเวลาเพียง 3 วันในการจัดอันดับรอบนี้

คอนเทนต์ภาษาไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในรอบนี้คือ “Hunger คนหิวเกมกระหาย” มีชั่วโมงรับชมที่สูงเป็นอันดับ 110 ของโลก และยิ่งน่าประทับใจหากมองว่านี่คือชั่วโมงรับชมของ “ภาพยนตร์” เรื่องหนึ่งที่มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า แปลว่าถ้ามีการรับชมคนละหนึ่งครั้ง จะเท่ากับมีผู้ชมหนังไทยเรื่องนี้ประมาณ 46 ล้านคนทั่วโลก

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นจาก 10 อันดับแรก คือดูเหมือนว่าคอนเทนต์ไทยจะได้รับความนิยมในกลุ่ม “ย้อนยุค” และ “โรแมนติก” มีถึง 3 คอนเทนต์ในการจัดอันดับที่เป็นเรื่องราวย้อนยุคในอดีต และมีถึง 5 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวความรักเป็นหลัก

น่าติดตามต่อว่าคอนเทนต์ไทยบน Netflix ในรอบครึ่งปีหลัง 2023 จะมีเรื่องใดที่ประสบความสำเร็จ เอาชนะใจคนดูบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้อีกบ้าง!

]]>
1460742
ฟ้าหลังฝน GDH วางเกม “ทำหนังสลับซีรีส์” สู่โกอินเตอร์ หวัง “บุพเพฯ 2” ดึงคนไทยหวนดูหนังโรง https://positioningmag.com/1298788 Mon, 28 Sep 2020 10:43:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298788 อุตสาหกรรมหนังไทยเหมือนโดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อต้องเจอ COVID-19 ทำให้กระเเสหนังไทยยิ่งซบเซาลงไปอีก เจออุปสรรคทั้งต้องเลื่อนฉายในโรงภาพยนตร์ ยกเลิกการถ่ายทำ รวมถึงเงินทุนที่ค่อยๆ หมดไป

เเม้หลังคลายล็อกดาวน์เเล้ว ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ เริ่มกลับมาดูหนังในโรงกันมากขึ้นหลังจากที่โหยหามานาน เเต่การฟื้นตัวของทั้งวงการในยามนี้ ก็ถือว่ายากลำบากมากทีเดียว

เมื่อพูดถึงค่ายหนังที่ครองใจชาวไทย ส่งหนังทำเงินเข้าฉายเป็นประจำ หนึ่งในนั้นต้องมี GDH รวมอยู่ด้วยอย่างเเน่นอน โดยปีที่ผ่านมาได้ส่งหนัง 3 เรื่อง ติดท็อปทำรายได้สูงสุดของปี 2019 ทิ้งห่างหนังไทยเรื่องอื่นไปหลายเท่า

ดังนั้น ทิศทาง กลยุทธ์เเละการปรับตัวของ GDH ในช่วงต่อไปนี้ จึงมีผลต่ออุตฯหนังไทย เเละมีความน่าสนใจไม่น้อย

ตลาดหนังไทย…เหนื่อยหนัก

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมหนังในไทยทำรายได้ไปแค่ 580 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีรายได้ถึงกว่า 3,000 ล้านบาท ในจำนวน 580 ล้านบาทนี้ เป็นรายได้จากหนังไทยเพียง 120 ล้านบาท ซึ่งไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่มีรายได้เเตะ 50 ล้านบาท” 

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด หรือ GDH ให้สัมภาษณ์กับ Positioning พร้อมเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงระบาดหนักว่า ตามปกติบริษัทจะทำหนังออกมาสู่ตลาดปีละ 2-3 เรื่อง โดยปีก่อนมีหนังฉาย 3 เรื่อง ส่วนปีนี้ตั้งใจทำหนัง 2 เรื่อง และละคร 1 เรื่อง แต่พอเจอสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เเผนธุรกิจเเละไทม์ไลน์ต่าง ๆ ที่วางไว้ต้องเปลี่ยนไป

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GDH

ในปี 2019 หนังของ GDH อย่างตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟคเป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุด ด้วยรายได้ 141 ล้านบาท รองลงมาคือเรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อนอยู่ที่ 134 ล้านบาท และฮาวทูทิ้งทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอมีรายได้ที่ 57 ล้านบาท

ภาพรวม “หนังไทยตลอดปี 2019 ไม่ค่อยสดใสนัก มีออกฉายราว 40 เรื่อง ทำรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 711 ล้านบาท ลดลง 14% เฉลี่ยต่อเรื่องทำรายได้เพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น จากปี 2018 อยู่ที่ 18-19 ล้านบาท เเละที่น่าตกใจคือ มีหนังไทยกว่า 17 เรื่องที่ทำรายได้น้อยกว่า 1 ล้านบาทยิ่งพอมาเจอวิกฤต COVID-19 ไปอีกในปีนี้อาการยิ่งสาหัส

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร GDH มองว่ายังมีความหวังโดยปี 2020 บริษัทจะฉายหนังเพียงเรื่องเดียวในช่วงปลายปี วันที่ 3 .. นี้ คือ  อ้ายคนหล่อลวง” นำทีมนักเเสดงชื่อดังอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก และ แบงค์ ธิติ ฯลฯ

แน่นอนว่าปีนี้คงไม่ได้เท่ากับปีที่แล้ว แต่คาดหวังกับ อ้ายคนหล่อลวงไว้สูงเหมือนกัน โดยตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 80 ล้านบาท

ขณะที่บรรยากาศของคนดูหนัง หลังวิกฤต COVID-19 นั้นยังมีความกังวลอยู่บ้าง โดยช่วงตั้งเเต่เดือนส.ค.เป็นต้นมา ก็เริ่มมีหนังต่างประเทศเข้ามา อย่าง TENET, Peninsula เเละมู่หลาน ก็เริ่มมีตัวเลขให้เห็นบ้าง เเต่ภาพรวมยังถือว่า “อาการหนัก” โดยจบปีนี้คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมหนังไทยน่าจะมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

“เราหวังว่า ปี 2021 อุตสาหกรรมหนังในไทยจะกลับมาคึกคักแน่นอน และจะมีหนังไทยไม่ต่ำกว่า 45-50 เรื่องเข้าฉาย” 

บรรยากาศของโรงหนังในไทย เมื่อช่วงที่มีมาตรการป้องกัน COVID-19

ฉลาดเกมส์โกง…ช่วยชีวิต

“โชคดีจริงๆ ที่มีละครฉลาดเกมส์โกงมาช่วย เพราะในช่วงที่ผ่านมาไม่มีหนังฉาย ถ่ายทำไม่ได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายต่าง ๆ ไม่งั้น GDH คงเครียดกว่านี้” 

จินา เล่าต่อว่า ละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รายได้จาก ช่องONE และ WeTV รวมถึงสามารถขายในต่างประเทศทั้งจีน และประเทศอื่นๆ รวมได้มาทั้งหมด ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) 

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ การฉายในโรงภาพยนตร์
และการฉายบนเเอปพลิเคชันเเละเเพลตฟอร์ม OTT ต่างๆ เช่น WeTV, Netflix, LINE TV, AIS Play, True ID ฯลฯ และช่องทางโทรทัศน์ต่างๆ

“ต้องยกเครดิตให้ WeTV ที่จุดประกายเราให้เราทำละครต่อยอดความสำเร็จจากหนังทำให้เรามีเงินล่วงหน้าได้” 

“คาดว่าปีนี้รายได้รวมของ GDH จะอยู่ที่ 345 ล้านบาท ถือว่าไม่ขาดทุน เเต่จะมีกำไรไม่เท่าปีก่อน เพราะเราได้ฉายหนังเเค่เรื่องเดียว เเละละครอีก 1 เรื่อง เทียบกับปีก่อนเรามีหนังทำเงินถึง 3 เรื่อง ดังนั้นถ้าทำได้สามร้อยกว่าล้านก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว”

ทั้งนี้ GDH ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 471.29 ล้านบาท ในปี 2019 เติบโตจากปี 2018 ประมาณ 12% โดยการทำหนังเรื่องหนึ่งของ GDH มีต้นทุนราว 45-50 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนสร้าง 20-30 ล้าน ส่วนที่เหลือคืองบสำหรับทำการตลาด

เเผนต่อไป GDH : ทำหนังสลับซีรีส์ ต่อยอด OTT โกอินเตอร์ 

เเม้ความสำเร็จของละครละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” จะช่วยอุ้มบริษัทไว้ได้ในช่วงวิกฤต เเต่ GDH ยังคงยืนหยัดที่จะทำหนัง “ยังไงหัวใจของ GDH ก็คือทำหนัง เเละเราจะทำหนังต่อไป” 

โดยทิศทางต่อไปของ GDH จะเน้นการ “ผสม” มากขึ้น อาจจะทำเป็นละครหรือซีรีส์สลับกัน เเละมีหลักเป็นการทำหนัง เพราะ “การทำหนังยังไปได้ไกลกว่า” ยกตัวอย่างหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง ที่สามารถทำ Box Office ในจีนได้ถึง 1,200 ล้านบาท หรือหนังเรื่อง Friend Zone ก็ทำรายได้ดีเช่นกัน 

“ต่อไปนี้ถ้ามีดีลกับจีนอีก เราจะไม่ขายขาดเเบบฉลาดเกมส์โกงเเล้ว เพราะเรารู้ตลาดเเล้วว่าทำเงินได้ ก็คงจะเป็นข้อตกลงที่เป็นดีลร่วมกันมากกว่า” 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการ “ต่อยอดคอนเทนต์” เพราะหากทำหนังดี หนังทำเงินได้ขึ้นมาเเล้ว ก็สามารถไปอยู่ต่อในเเพลตฟอร์ม OTT เจ้าต่างๆ ได้อีกช่องทาง เเละวนกลับมาสร้างเป็นสะครเเละซีรีส์ได้อีก “การได้ไปฉายบนเเพลตฟอร์ม OTT คือการปูทางที่หนังของ GDH จะออกสู่สายตาชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางของเราที่ต้องการโกอินเตอร์ ขยายไปทั้งเอเชีย ยุโรปเเละตลาดอเมริกา”  

ขณะที่กระเส “ซีรีส์วาย” ที่กำลังฮอตฮิตในปัจจุบันเเละมีผู้ผลิตคอนเทนต์หลายเจ้ากระโจนเข้าตลาดนี้ GDH มองว่าจะยังคงเป็นเทรนด์ไปอีกสักระยะ เเละจะไม่หายไปง่ายๆ ด้วยการมีฐานเเฟนคลับที่เหนียวเเน่น มีกลุ่มผู้ชมชัดเจนเเละกำลังขยายไปหลายช่วงวัย มีกำลังซื้อสูง ซึ่งบริษัทในเครือของ GDH อย่าง “นาดาว บางกอก” ก็มีการลุยตลาดนี้ต่อไป โดยในส่วนของ GDH นั้นยังไม่ไม่เเผนที่จะทำหนังหรือซีรีส์เเนวนี้ในช่วงนี้ เเต่เเย้มว่า “มีโอกาสที่จะทำในอนาคต” 

“บุพเพฯ 2” หวังสูง…ดึงคนไทยดูหนังโรง 

สำหรับโปรเจกต์ ปี 2021 ของ GDH จะมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เริ่มจาก…

1.“โกสต์แล็บ…ฉีกกฎทดลองผี” จากผู้กำกับกอล์ฟ ปวีณ ที่ได้ ต่อ ธนภพ, ไอซ์ พาริส มารับบทนำ ซึ่งตามเดิมต้องถ่ายทำและฉายในปีนี้ เเต่ต้องเลื่อนเพราะสถานการณ์ COVID-19

2. “ร่างทรง” หนังสยองขวัญที่ร่วมทุนกับค่ายหนังเกาหลี  Showbox Crop ฝีมือผู้กำกับ “โต้ง บรรจง” ที่ได้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง “นา ฮงจิน” มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย

3. “W” หนังที่ร่วมทุนกับ นาดาว บางกอกบริษัทในเครือของ GDH นับเป็นหนังเรื่องเเรกของนาดาวฯ โดยมีปิง เกรียงไกร เป็นผู้กำกับ และ ย้ง ทรงยศ เป็นโปรดิวเซอร์

4. “บุพเพสันนิวาส 2” โปรเจกต์ใหญ่ที่สุดของปี ที่ร่วมทุนกับบรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น ได้ปิง อดิสรณ์ ผู้กำกับเดียวกับรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มากำกับให้ พร้อมนักแสดงนำคู่ขวัญจากจอทีวีอย่าง “โป๊ป-เบลล่า” ซึ่งคาดว่าจะออกฉายในช่วงปลายปี 2021

บุพเพสันนิวาส 2 เราใช้เงินลงทุนไปกว่า 80 ล้านบาท เเละตั้งเป้ารายได้ไว้สูงถึง 200 ล้านบาท เรื่องราวจะต่างกับละครทีวี เพราะจะเล่าไปข้างหน้า อารมณ์คล้ายกับการเล่าเรื่องในหนังพี่มากพระโขนง ขึ้นอยู่กับคนทำหนังว่าจะหยิบจับมุมไหนมาต่อยอด เรื่องนี้ก็ถือว่าตั้งความหวังไว้สูง ลงทุนมาก คิดว่าคนน่าจะกลับมาดูหนังกันเเล้ว ก็คิดว่าจะตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 200 ล้านบาท” 

จากโปรเจกต์หนังใหม่ทั้ง 4 เรื่องนี้ ซีอีโอของ GDH คาดว่าบริษัทจะรายได้สูงเกิน 500 ล้านบาท เพราะมีจำนวนหนังที่มากกว่าปกติ บวกกับยังมีรายได้จากนำคอนเทนต์ไปฉายกับแพลตฟอร์ม OTT เเละค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ด้วย

Key Success : ไม่หยุดนิ่ง นำไปต่อยอดได้ 

เเม้วิกฤต COVID-19 จะหนักหนาเอาการ เเต่ไม่ใช่วิกฤตรุนเเรงที่สุดของ GDH โดยจินาเล่าย้อนไปถึงสมัย
“น้ำท่วมใหญ่ ปี 2011” ที่ครั้งนั้น ภาพยนตร์เรื่อง “ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน” เข้าฉาย หนังโปรโมตไปหมดแล้ว คนไม่ไปดูหนังในโรง เพราะคนต้องกลับไปดูเเลบ้านตัวเอง ออฟฟิศของบริษัทเองก็ยังต้องทำกระสอบทรายกั้นน้ำกัน วิกฤตครั้งนั้นจึงถือว่าเเรงที่สุด

โดยครั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีก อย่างกรณี “โรคระบาดระบาดรอบ 2” ผู้บริหาร GDH มองว่า คนทำหนังคงต้องฉายที่โรงก่อน ต้องใช้วิธี ‘รัดเข็มขัด’ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงถ่ายหนังไม่ได้อีก รายได้หายเเต่รายได้เท่าเดิม การเอาหนังที่ตั้งใจจะฉายในโรงหนัง ไปฉายออนไลน์ ก็ต้องเจออุปสรรคหลายอย่าง

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เสน่ห์ของการดูหนังในโรงคือการได้ดูจากจอใหญ่ๆ เสียงดีๆ มีบรรยากาศไปเที่ยวกับเพื่อน ไปเดต แต่ว่าเด็กสมัยนี้ดูในมือถือ ดูไปอาจจะทำสิ่งอื่นไปด้วย

“สิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ได้ คือ การไม่อยู่กับที่ ต้องก้าวไปข้างหน้า สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดี เพราะถ้าของมันดี ยังไงคนก็ดู โดยสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไปคือ การต่อยอด เพราะถ้าเราทำแบบเดิม คนก็ดูจะน้อยลง ต้องทำในวิถีทางใหม่ กล้าลอง กล้าทำ ต้องออกไปโกอินเตอร์ให้ได้…” 

อุตสาหกรรม “หนังไทย” จะกลับมาฟื้นได้หรือไม่…ปีหน้าต้องลุ้นกัน

 

]]>
1298788
MAJOR 2025 มุ่งสู่ 2 หมื่นล้านไม่หวั่นดิสรัปชั่น บุกเปิดโรงหนังครบ 77 จังหวัดทั่วไทย https://positioningmag.com/1253995 Mon, 18 Nov 2019 10:03:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253995 หลังจากบรรดาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างบุกหนักเข้าสู่ประเทศไทย ใครๆ ต่างคาดคะเนว่าโรงภาพยนตร์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อไปที่ถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยี แต่ปีนี้เมเจอร์เครือโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดยืนยันว่าไม่มีผล! พร้อมประกาศแผนยาวถึงปี 2025 บุกเปิดโรงหนังครบ 77 จังหวัด ลุยลงทุนคอนเทนต์ส่งออกต่างประเทศ

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นหนึ่งในผู้บริหารบริษัทไทยจำนวนไม่มากที่ยังยิ้มได้ในนาทีนี้ ด้วยผลประกอบการรอบ 9 เดือน/2562 ของเมเจอร์ที่ทำได้ 8,354 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 15% แม้ว่าบรรทัดสุดท้าย กำไรสุทธิ 906 ล้านบาทนั้นจะลดลง 11.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม วิชายังมั่นใจในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อีกเรื่องคือ Frozen 2 เข้าฉาย รวมถึงหนังไทยอีก 2 เรื่องที่น่าจะเรียกกระแสผู้ชมเข้าโรงได้มาก

วิชาสรุปการดำเนินงานปี 2562 เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีบริษัทจะทำรายได้เติบโต 15% หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท และมีการขยายโรงหนังเมเจอร์รวมทั้งสิ้น 169 สาขา 810 โรง 183,958 ที่นั่ง ตัวเลขเหล่านี้จะทำให้เมเจอร์ได้รับรายได้ทั้งค่าตั๋ว ค่าโฆษณา และค่าอาหารเครื่องดื่มที่จำหน่ายหน้าโรงเพิ่มขึ้นตามการลงทุน

MAJOR 2025 ไปให้ครบทุกจังหวัด

วิชายังกล่าวต่อถึงแผนบริษัท MAJOR 2025 ที่คาดว่าจะทำให้รายได้ขึ้นไปแตะ 2 หมื่นล้านบาท โดยมีกลยุทธ์หลักๆ คือ การขยายโรงภาพยนตร์สู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ, เทคโนโลยี และร่วมทุนสร้างคอนเทนต์ภาพยนตร์

สำหรับจำนวนโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ตั้งเป้าไปให้ถึง 1,200 โรง ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย เริ่มต้นจากปี 2020 จะเปิดเพิ่ม 30 โรง ไปกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น เมเจอร์ ซีนีมา โลตัส หาดใหญ่ สงขลา, เมเจอร์ ซีนีมา Mark 4 แพร่, เมเจอร์ ซีนีมา โลตัส พะเยา เป็นต้น

ปัจจุบันเมเจอร์เปิดโรงหนังไปแล้ว 60 จังหวัด บางจังหวัดลงไปถึงระดับตำบล อีก 17 จังหวัดที่บริษัทยังไม่มีการก่อตั้งสาขา ได้แก่ แม่ฮ่องสอน แพร่ กาฬสินธุ์ บึงกาฬ เลย สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท อุทัยธานี นครนายก สมุทรสงคราม ตราด ภูเก็ต ตรัง ยะลา นราธิวาส ปัตตานี

“วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

เรามี lesson learn มาแล้วว่าการทำโรงหนังต่างจังหวัดต้องต่างจากกรุงเทพฯ คือต้องทำโรงไซส์เล็ก ลงทุนโรงละ 6 ล้านบาท เป็นงบครึ่งหนึ่งของโรงลักชัวรีในกรุงเทพฯ เช่นที่ไอคอนสยามมีการลงทุนโรงละ 10-12 ล้านบาท และสาขาต่างจังหวัดลง 1-3 โรงต่อสาขาก็เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนลูกค้า วิชาแจกแจง

กลยุทธ์บุกต่างจังหวัดด้วยโรงหนังเล็กเป็นสิ่งที่เมเจอร์ดำเนินการมาพักใหญ่ ซึ่งปีนี้วิชากล่าวว่ารายได้จากโรงต่างจังหวัดจะเริ่มพลิกกลับมามากกว่ารายได้จากโรงหนังในกรุงเทพฯ ต่างจากในอดีตที่รายได้จากโรงต่างจังหวัดคิดเป็น 30% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังสนใจเปิดโรงหนังในต่างประเทศเพิ่ม จากปัจจุบันบุกสู่ สปป.ลาว และกัมพูชาไปแล้วรวม 8 สาขา 39 โรง วิชามองเป้าหมายต่อไปเป็นเมียนมาที่มีประชากรมากกว่าไทยและตลาดยังเป็นโรงหนังแบบสแตนด์อะโลน แต่ต้องรอความพร้อมของรัฐเมียนมา พาร์ทเนอร์เจ้าของที่ดินหรือศูนย์การค้า และความซับซ้อนทางกฎหมาย

MAJOR 5.0 คว้าทุกเทคโนโลยีเอาใจลูกค้า

กลยุทธ์ต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีสร้างทั้งความสะดวก คุณภาพ ความตื่นตาตื่นใจแปลกใหม่ให้ลูกค้า โดยความสะดวกที่สำคัญคือขั้นตอนซื้อตั๋ว เมเจอร์ต้องการเป็นโรงหนัง ‘Mobile First’ ให้แอพพลิเคชั่นสามารถจองตั๋ว จ่ายค่าตั๋วเชื่อมได้ทุกระบบเพย์เมนท์ และรับตั๋วในแอพฯ เดินเข้าโรงได้เลย ซึ่งเมเจอร์จัดการหลังบ้าน เชื่อมต่อข้อมูลสู่ระบบคลาวด์โดย AWS ไปแล้วเพื่อรับรองว่าระบบจะไม่ล่มแม้มีคนเข้าจองล้นหลาม

โรงหนัง e-Sports Cinema ของเมเจอร์

หลังรับตั๋วแล้วตัวโรงหนังเองก็ต้องมีนวัตกรรมทันสมัย ที่ผ่านมาเมเจอร์มีการพัฒนาโรงหนังที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดหรือเป็นโรงหนังเฉพาะกลุ่มมาตลอด เช่น โรง 4DX , จอหนังแบบ LED ให้ความละเอียด 4K, โรงสำหรับเด็ก Kids Cinema, โรง e-Sports Cinema ซึ่งเมเจอร์จะยังดำเนินการต่อเนื่อง ในปีหน้าจะมีการฉายหนังแบบ GLS (Giant Laser Screen) จอใหญ่พิเศษความชัดระดับ 4K พร้อมระบบเสียง 3 มิติรอบทิศทาง ลงทุนใน 6 สาขา คือ เอสพลานาด งามวงศ์วานแคราย, เมกา ซีนีเพล็กซ์, พรอมานาด ซีนีเพล็กซ์, เมเจอร์ฯ บางแค, เมเจอร์ฯ รังสิต และ โคราช ซีนีเพล็กซ์

เราต้องทำให้คนรู้สึกว่าการออกมาดูหนังนอกบ้านมีความสุข ถ้าลูกค้าต้องต่อคิวจะทำให้การมาดูหนังเป็นความลำบากวิชากล่าว สิ่งที่เราต้อง concern ไม่ใช่สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเพราะถ้าจะดูหนังก่อนใครยังต้องมาที่โรงหนัง เรื่องที่ต้องระวังคือไลฟ์สไตล์คนมากกว่า ที่น่ากลัวคือคนไม่ออกจากบ้าน ดังนั้น การเดินทางมาดูหนัง 3-4 ชั่วโมงของลูกค้าต้องคุ้มค่า

คอนเทนต์แหล่งรายได้สำคัญ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เมเจอร์กำลังปั้นอย่างเต็มที่คือคอนเทนต์โดยวางนโยบายจับมือพันธมิตรสร้างภาพยนตร์ปีละ 15-20 เรื่อง ที่ลงจอไปแล้วเช่น ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก, แสงกระสือ, เฟรนด์โซน, นาคี 2 จะเห็นได้ว่าบริษัทเปิดกว้างจับมือกับทุกบริษัทที่สนใจ และเริ่มเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างประเทศแล้วทั้งค่ายหนังจากจีน หรือล่าสุดจับมือค่าย CJ ของเกาหลีใต้เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง Cracked

วิสัยทัศน์ที่วิชามองเห็นคือ แม้ว่าปีนี้ภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่องที่เมเจอร์มีหุ้นส่วนอยู่ 20% รวมแล้วเพิ่งถึงจุดคุ้มทุน และมีสัดส่วน 5-10% ในรายได้รวมบริษัท แต่ในปี 2025 เชื่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15-20% ในรายได้รวม และเห็นโอกาสการขายทั้งในไทยและต่างประเทศ

คอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยที่เมเจอร์มีส่วนร่วมเป็นผู้ถือหุ้น

ปัจจุบันเมเจอร์มีรายได้จากหนังที่เข้าฉาย เป็นหนังไทย 25% เท่านั้น เราต้องการผลักดันให้ไปถึง 50% แปลว่าหนังไทยควรจะมีฉายปีละอย่างน้อย 52 เรื่องหรือเฉลี่ยเข้าโรงสัปดาห์ละครั้ง และต้องมีคุณภาพ โดยมีงบลงทุนเฉลี่ย 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเรื่อง

นอกจากตลาดไทยแล้วหนังไทยสามารถเข้าฉายโรงเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะ CLMV ที่ตอบรับวัฒนธรรมไทย แต่จะได้รับรายได้เพิ่มต้องเจรจาสัญญาใหม่ จากเดิมที่เป็นระบบ ‘Flat Fee’ คือจ่ายเงินก้อนมูลค่าต่ำเพื่อซื้อสิทธิ์ขาด เป็นระบบ ‘Revenue Share’ แบ่งเปอร์เซ็นต์จากค่าตั๋วที่ขายได้จริงซึ่งมีโอกาสทำรายได้มากกว่า รวมถึงการเปิดแหล่งรายได้ใหม่จาก การขายเข้าสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม เช่น Netflix, ช่องโทรทัศน์, ความบันเทิงบนสายการบิน ซึ่งขณะนี้หนังไทยสามารถเรียกค่าลิขสิทธิ์จาก Netflix ได้เฉลี่ยเรื่องละ 5-6 แสนเหรียญสหรัฐฯ บางเรื่องสูงถึง 1 ล้านเหรียญ

ขณะที่เป้าหมายใหญ่ของวิชาในการทำตลาดคอนเทนต์คือ ฝ่ากำแพงเมืองจีน ด้วยตลาดภาพยนตร์จีนมูลค่าสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท จากหนังที่เข้าฉายปีละ 700 เรื่อง ทำให้เมเจอร์ต้องการจะส่งคอนเทนต์เข้าไปบ้าง โดยเริ่มต้นแล้วจากการจับมือพันธมิตรค่ายหนังจีน จะทำให้หนังที่เมเจอร์มีหุ้นส่วนได้บัตรผ่านเข้าไปฉายในจีนง่ายกว่าการเข้าไปในฐานะหนังไทยตามระบบเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน

2025 ของเมเจอร์จึงจะเป็นทั้งผู้ผลิต จัดจำหน่าย และหน้าร้านวางขายของวงการภาพยนตร์!!

]]>
1253995
ต้องคุ้มค่าตั๋ว! บิสสิเนสโมเดล “หนังไทย” ดึงพันธมิตรทุกธุรกิจ “ลงขัน” สร้างหนัง ลดเสี่ยง-เงินลงทุนเพิ่ม ประเดิมด้วย “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” https://positioningmag.com/1238577 Thu, 11 Jul 2019 08:55:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1238577 โมเดลโคโปรดักชั่นลงทุนสร้างหนังมีมานานแล้วในต่างประเทศ ในไทยก็มีให้เห็นหลายโปรเจกต์เช่นกัน ด้วยราคาตั๋วหนังไม่ใช่ถูกๆ ผู้ชมก็ต้องคาดหวังเห็นหนังคุณภาพ งบลงทุนต่อเรื่องจึงต้องสูงอยู่ที่หลัก 50 ล้านบาท การลงทุนคนเดียวจึงถือว่าเสี่ยงรูปแบบการร่วมลงทุนหลายพันธมิตรจึงมีให้เห็นกันมากขึ้น

อุตสาหกรรมหนังไทยมูลค่า 10,000 ล้านบาท ครองตลาดโดยหนังต่างประเทศ 60-70% สัดส่วนหนังไทยอยู่ที่ 30-40% มานาน ไม่ได้ขยับมากไปกว่านี้สักเท่าไหร่ จำนวนหนังไทยที่สร้างต่อปีอยู่ที่ราว 40 เรื่องเท่านั้น แม้ฝั่งโรงภาพยนตร์จะสปีดขยายโรงในต่างจังหวัดตลาดหลักของหนังไทยแล้วก็ตาม

อุปสรรคของการสร้างหนังไทยอยู่ที่การลงทุน หากอยู่ในระดับคุณภาพ มีนักแสดงแม่เหล็กก็ต้องลงทุนระดับ 25-30 ล้านบาท ค่าโปรโมตอีก 10-15 ล้านบาท ต่อเรื่องจึงอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท การลงทุนรายเดียวจึงนับว่า “เสี่ยง” หากรายได้จากตั๋วหนังไม่ปัง

ชูโมเดลร่วมลงทุน “ทุกพันธมิตร”

สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับรูปแบบการลงทุนสร้างภาพยนตร์ จากการลงทุนรายเดียวเป็นการจับมือพันธมิตรธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อร่วมทุนสร้างหนังไทยเป็นรายโปรเจกต์ แนวทางหลังจากนี้จะเห็นการร่วมทุนสร้างกับพันธมิตร “หลายราย” มากขึ้น โดยใช้ Asset ของแต่ละพันธมิตร มาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสร้างหนังต่อเรื่องเพิ่มขึ้น

“ผู้ชมคาดหวังว่าราคาตั๋วหนังที่พวกเขาจ่าย จะต้องได้รับชมหนังคุณภาพ  การมีพันธมิตรมาร่วมลงทุน จะทำให้มีงบสร้างหนังมากขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านรายได้และลดความเสี่ยงการลงทุน”

โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” เป็นหนังไทยที่บริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 3 ราย คือ “บีฮีมอธ แคปปิตอล” ดูแลการวางกลยุทธ์การตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมทั้งการทำตลาดสินค้าพรีเมียมหรือเมอร์แชนไดส์ “นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ” ที่ทำงานด้าน CGI, ANIMATION และสร้างภาพยนตร์ ช่วยเรื่อง CG (Computer Graphic) ที่ผ่านมาเคยร่วมทุนสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แสงกระสือ” มาก่อนหน้านี้ และมีแผนที่จะร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ร่วมกันอีก 5-6 เรื่องในปีนี้ และ “เอ็ม พิคเจอร์ส” ดูแลการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ

“การสร้างหนังโดยไม่มีพันธมิตร จะทำให้สร้างได้ไม่กี่เรื่อง เห็นได้จากผู้สร้างอิสระที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ  แต่การร่วมทุนจะทำให้สามารถสร้างหนังได้จำนวนมากขึ้น คนดูเกิดความต่อเนื่องที่จะได้ดูผลงานของค่ายหนังนั้น ๆ”

“หนังไทย” แนวโน้มดี “โปรเม” ลุ้นรายได้ 200 ล้าน

ช่วงครึ่งปีแรกมีหนังไทยทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท 3 เรื่อง ช่วงครึ่งปีหลังยังมีหนังไทยเข้าโรงอีกราว 20 เรื่อง ปีนี้จึงมองว่าหนังไทยน่าจะมีโอกาสทำรายได้รวม 4,000 ล้านบาท สัดส่วน 30-40% ของอุตสาหกรรม เติบโตราว 10%

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ วันที่ 15 ส.ค.นี้เป็นหนังแนวสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทดูแลและฝึกฝนลูก และสร้าง “โปรเม” เป็นนักกอล์ฟระดับโลก คาดการณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำรายได้จากทุกช่องทางทั้งตั๋วหนัง ขายลิขสิทธิ์ทั้งในและต่างประเทศราว 200 ล้านบาท  

พรชัย ว่องศรีอุดมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “โปรเม” เป็นคนดังระดับโลก ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นสากล จึงมีโอกาสทำตลาดได้หลายช่องทาง ทั้งการฉายในโรงภาพยนตร์ ขายลิขสิทธิ์ ฟรีทีวี เพย์ทีวี และวิดีโอออนดีมานด์ (VOD) ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากตลาดในภูมิภาคนี้ ทั้งกลุ่ม CLMV จีน รวมทั้งจะไปทำตลาดในอเมริกาและยุโรปด้วย เชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สามารถเป็นสินค้าส่งออกที่ดีได้

]]>
1238577