รถยนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 28 Nov 2024 13:38:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “โฟล์คสวาเกน” ประกาศขายโรงงานรถยนต์ในซินเจียงเพื่อลดต้นทุน เซ่นพิษตลาดรถยนต์เดือด https://positioningmag.com/1501220 Thu, 28 Nov 2024 08:38:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1501220 โฟล์คสวาเกน (Volkswagen AG) ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีและยุโรป ได้ประกาศขายโรงงานในซินเจียงซึ่งเป็นภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ อีกทั้งแรงกดดันจากการกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

บริษัทฯระบุว่า โฟล์คสวาเกนได้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาจนถึงปี 2019 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ดําเนินการในฐานะศูนย์กระจายสินค้าที่ผลิตในโรงงานอื่น ๆ

โฆษกฯ กล่าวว่า เนื่องจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมีความต้องการที่ลดลง ทำให้บริษัทฯ เผชิญหน้ากับแรงกดดันอย่างมาก บริษัทฯ จึงจําเป็นต้องเร่งพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิตใหม่ อีกทั้งกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

ตามรายงานของสํานักงานพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ยอดขายรถ EV มีอัตราเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศจีนที่คิดเป็น 45% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปีนี้ ทำให้โฟล์คสวาเกนตัดสินใจประกาศขายโรงงานในซินเจียง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ SAIC Motor ของเซี่ยงไฮ้ 

นอกจากบริษัทฯ ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น การขายดังกล่าว ยังมีปัจจัยในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานและกระทําการล่วงละเมิดอื่นๆ เป็นเวลาหลายปี เช่น การกักขังกลุ่มชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์จํานวนมากในซินเจียง 

ซึ่งจีนก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้มาแล้วหลายครั้ง

ย้อนกลับไปในปี 2022 นักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานว่า จีนได้กระทําการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง ซึ่งอาจเท่ากับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

และในปี 2018 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนกักขังชาวอุยกูร์อย่างน้อย 800,000 คนและสมาชิกของชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ที่อาจรวมกันได้มากกว่า 2 ล้านคนในศูนย์กักกันในซินเจียง 

ทำให้จีนออกมาอธิบายว่าศูนย์ดังกล่าวเป็นเพียงศูนย์ฝึกอาชีพให้กับคนและกล่าวว่าจะปิดศูนย์ดังกล่าวในปี 2019 

ตั้งแต่นั้นมาโฟล์คสวาเกนต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในการเป็นเจ้าของโรงงานในซินเจียง ต่อมาในในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ผู้บริหารของโฟล์คสวาเกนได้ออกมาโต้ว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานในโรงงานแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม Financial Times รายงานว่าในเดือนกันยายน มีพบว่าการตรวจสอบดังกล่าว ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เมื่อถูกขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความของ Financial Times โฆษกของโฟล์คสวาเกน กล่าวว่า บริษัทฯได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดทางกฎหมายในการตรวจสอบและดำเนินกิจการมาเสมอ ไม่มีครั้งใดที่นักลงทุนหรือประชาชนถูกหลอกลวงจากคำแถลงการณ์ของบริษัทฯ

บริษัทฯ ยังต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นได้เพิ่มการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้า

ทำให้โฟล์คสวาเกนได้ประกาศการปรับแผนการดำเนินการบริษัทฯ เมื่อเดือนที่แล้วว่าจะมีการปิดโรงงานผลิตรถยนต์อย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนีและจะเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ถือเป็นการปิดกิจการในประเทศครั้งแรกในรอบ 87 ปีของบริษัท

ที่มา : CNN 

]]>
1501220
ยอดขาย ‘รถยนต์’ เดือนต.ค. ลดลง 36.08% ดิ่งหนักสุดในรอบ 54 เดือน! เนื่องจากพิษหนี้ครัวเรือน และแบงก์เข้มออกสินเชื่อ https://positioningmag.com/1500737 Tue, 26 Nov 2024 05:30:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1500737 ท่าทางจะฟื้นลำบากสำหรับตลาด รถยนต์ เพราะยอดขายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่า แย่สุดในรอบ 4 ปี เลยทีเดียว ขณะที่ภาพรวมตลอด 10 เดือนก็หดตัวกว่า 20% แม้แต่ รถอีวี ที่เคยโตแรงก็หดตัว จนถึงขั้นต้องปรับคาดการณ์การผลิตรถยนต์ทั้งปีลงถึง 2 แสนคัน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 37,691 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 36.08% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาด COVID-19 ในเดือนพฤษภาคม 2563 สำหรับในส่วนของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 6,651 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว -32.19% ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) 3,717 คัน ลดลง -49.73%

โดยปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง และการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ในไตรมาส 3 มี 6,365,571 บัญชี ลดลงจากไตรมาสสอง 75,377 บัญชี หรือ -1.2% และลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2566 จำนวน 199,655 บัญชีหรือ -3% ขณะที่จำนวนเงินหนี้รถยนต์ไตรมาส 3 อยู่ที่ 2,465,204 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ -2.8% และลดลง -5.8% จากไตรมาส 3 ปี 2566 

ทั้งนี้ ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา รถยนต์มียอดขาย 476,350 คัน ลดลง -26.24% เมื่อเทียบกับ 10 เดือนแรกของปี 2566 และเมื่อแยกเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์มีจำนวน 284,304 คัน เท่ากับ 59.84% ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 12.22%

ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 84,334 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว +5.08% แต่เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ถือว่าลดลงถึง -20.23% อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกในเดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นฐานที่สูง เพราะสามารถส่งออกได้ถึง 105,726 คัน ส่งผลให้ส่งออกลดลงทุกตลาด ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรป 

โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิก กลุ่มฯ ในปี พ.ศ. 2567 ใหม่ โดยปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 จาก 1,700,000 คันเป็น 1,500,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยปรับการผลิตขายในประเทศลดลงจาก 550,000 คันเป็น 450,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน

]]>
1500737
“โฟล์คสวาเกน” เตรียมเลิกจ้าง-ลดค่าจ้าง 10% พร้อมเล็งปิดโรงงานในเยอรมัน อย่างน้อย 3 แห่ง https://positioningmag.com/1496141 Tue, 29 Oct 2024 07:38:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1496141 สภาโรงงานของบริษัท โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เสนอแผนต่อสภาฯ ในการพิจารณาการลดค่าจ้างและการเลิกจ้างในภาพรวม 10% รวมถึงแผนการลดรายจ่ายอื่น เช่น การระงับขึ้นเงินเดือนในปี 2025-2026 เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะมีคนงานถูกลดค่าจ้างประมาณ 18% ในช่วงเวลาดังกล่าว

Daniela Cavallo ประธานสภาแรงงาน และกรรมการฝ่ายกำกับดูแลของบริษัทโฟล์คสวาเกน กล่าวว่า การปรับองค์กรในครั้งนี้หมายถึงการนําผลิตภัณฑ์ ปริมาณ กะงาน และไลน์ผลิตในส่วนงานการประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดออกไปมากกว่าที่เคยปรับโครงสร้างองค์กรมา 

เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ส่วนต่างของกำไรถึง 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 3 เดือน เนื่องจากผลการ ดําเนินงานที่ลดลงเกินกว่าที่คาดไว้จากแผนกรถยนต์ส่วนบุคคล และในเดือนกันยายน บริษัทฯ ได้แจ้งเตือนพนักงานเกี่ยวกับการปิดโรงงาน และการยกเลิกข้อตกลงแรงงานจํานวนมาก รวมถึงข้อตกลงกับพนักงานที่มีตําแหน่งผู้เชี่ยวชาญหรือตําแหน่งหัวหน้างาน คนงานชั่วคราว และพนักงานฝึกงาน 

ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ให้การคุ้มครองแรงงานชาวเยอรมันมาตั้งแต่ปี 1994 ส่งผลให้พนักงานนับหมื่นคนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงาน โดยมาตรการลดรายจ่ายครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่การเจรจากับสหภาพแรงงานก่อนหน้านี้ไม่มีความคืบหน้า ทำให้ต้องมีการปรับองค์กรเพื่อให้บริษัทอยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากสภาโรงงานและสหภาพแรงงานชั้นนําของเยอรมัน

ด้าน Thomas Schäfer ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Volkswagen Passenger Cars ระบุเพิ่มเติมว่า โฟล์คสวาเกนมีแผนที่จะปิดโรงงาน 3 แห่งและลดขนาดโรงงานอื่นๆ ในเยอรมนี เนื่องจากธุรกิจไม่ได้รับรายได้เพียงพอจากการขายรถยนต์ ในขณะที่ต้นทุนพลังงาน วัสดุ และแรงงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงงานของเยอรมันมี        ประสิทธิผลไม่เพียงพอและมีราคาแพงกว่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายของโฟล์คสวาเกนและต้นทุนค่าใช้จ่ายของคู่แข่งที่ลดน้อยลง 

นอกจากนั้นสภาโรงงานยังเผยว่า ฝ่ายบริหารของโฟล์คสวาเกนได้นําเสนอแผนหารืออย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับข้อตกลงแรงงานแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งวาระการประชุม โดยการเจรจารอบต่อไปจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 30 ต.ค. พร้อมกับกําหนดจะเผยแพร่ผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุดของบริษัทฯ หลังจากที่เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา หุ้นของบริษัทปิดตลาดลดลง 0.46% 

ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันและยุโรปรายอื่น ๆ ก็กำลังเร่งปรับตัวเช่นเดียวกับ โฟล์คสวาเกน ที่กําลังดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวลง 

ที่มา : CNBC 

]]>
1496141
ปิดฉาก 87 ปี? ‘โฟล์คสวาเกน’ เล็งปิดโรงงานใน ‘เยอรมนี’ ประเทศบ้านเกิดเพื่อลดต้นทุน หลังถูกแบรนด์จีนตีตลาด https://positioningmag.com/1488662 Tue, 03 Sep 2024 15:52:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488662 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันตลาดรถยนต์กำลังถูก แบรนด์จีน ตีตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งของ รถอีวี หรือ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้การมีอยู่ของแบรนด์รถยนต์สันดาปกำลังสั่นคลอนอย่างหนัก ทั้งในฝั่งของญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งรวมไปถึง โฟล์คสวาเกน ที่อาจถึงขั้นต้องปิดโรงงานในประเทศบ้านเกิด

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปี ของ โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ผู้ผลิตรถยนต์ชาวเยอรมันที่กำลังเตรียม ปิดโรงงานในประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ ลดต้นทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุโรปกำลังอยู่ในสถานะวิกฤต เนื่องจากคู่แข่งใหม่ ๆ ที่กำลังตบเท้าเข้าสู่ตลาดยุโรป

“สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยิ่งยากขึ้น และคู่แข่งรายใหม่กําลังเข้าสู่ตลาดยุโรป ในขณะที่ฐานการผลิตในเยอรมนีมีความล้าหลังในแง่ของความสามารถในการแข่งขัน เราเลยต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดในตอนนี้” โอลิเวอร์ บลูม ซีอีโอของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป กล่าว

ปัจจุบัน โฟล์คสวาเกนไม่ใช่แค่ต้องเผชิญกับการแข่งขันในยุโรป แต่บริษัทได้ สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ ทำกำไรได้มากที่สุด และแม้ว่าบริษัทได้เริ่มโครงการการ ลดต้นทุน มูลค่าหลายพันล้านยูโรตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน

อย่างไรก็ตาม บริษัทจําเป็นต้อง ยุติข้อตกลงการคุ้มครองการจ้างงาน ซึ่งเป็นโครงการความมั่นคงในการทํางานที่มีมาตั้งแต่ปี 1994 เพื่อให้แน่ใจว่า การปรับโครงสร้างที่จําเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นในระยะสั้น

ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหภาพแรงงาน โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานประมาณ 3 แสนคนในเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนพนักงานทั้งหมดทั่วโลก

แน่นอนว่าการปิดโรงงานของโฟล์คสวาเกน จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนี เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียงาน รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งนั่นทำให้บริษัททำได้แค่ให้พนักงานเกษียณก่อนกำหนดและลาออกโดยสมัครใจเท่านั้น

“สถานการณ์ตึงเครียดอย่างยิ่งและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการลดต้นทุนง่าย ๆ นี่คือเหตุผลที่เราต้องการเริ่มการสนทนากับตัวแทนพนักงานโดยเร็วที่สุดเพื่อสํารวจความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน” โอลิเวอร์ ทิ้งท้าย

bloomberg

]]>
1488662
‘มาเลเซีย’ แซง ‘ไทย’ ขึ้นแท่นตลาดรถยนต์เบอร์ 2 ของภูมิภาค หลังแบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ https://positioningmag.com/1473902 Thu, 16 May 2024 03:12:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1473902 หลังสัญญาณหนี้เสีย-หนี้ค้างชำระพุ่งไม่หยุด ทั้ง บ้าน-รถยนต์ ส่งผลให้ ธนาคาร คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ ทำให้ตลาดรถยนต์ไทยช่วงไตรมาสแรกหดตัวถึง 25% ส่งผลให้ไทย ไม่ใช่ประเทศที่มีขนาดตลาดรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอีกต่อไป

จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ มาเลเซีย ได้แซงหน้าไทยขึ้นเป็น ตลาดรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย โดยมาเลเซียสามารถทำยอดขายได้ดีกว่าไทยต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาสติดต่อกัน จนถึงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ของไทยปรับตัว ลดลง 25% ในไตรมาสแรก

จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย รายงานว่า ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น +5% ในไตรมาสแรกจากปีก่อนหน้าเป็น 202,245 คัน หลังจากที่ปี 2566 เติบโตขึ้น +11% เป็นจำนวน 799,731 คัน หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดรถยนต์ของมาเลเซียเติบโตก็คือ การยกเว้นภาษีการขายสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้แบรนด์รถยนต์ของชาติอย่าง Perodua และ Proton ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60%

สำหรับมาตรการยกเว้นภาษีนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสิ้นสุดลงในช่วงกลางปี ​​2565 แต่ยอดขายรถยนต์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามคำสั่งซื้อก่อนหน้านั้นส่งผลดีต่อตัวเลขในปี 2567 อีกทั้งยังมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการแข่งขันกันสูง ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นยอดขาย

อย่างไรก็ตาม สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซียคาดว่ายอดขายรถยนต์รวมจะ ลดลง 7.5% ในปีนี้ แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดและรถอีวีคาดว่าจะเติบโตก็ตาม เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลง เพราะความกังวลเกี่ยวกับ ค่าครองชีพที่สูง และอัตราภาษีบริการที่สูงขึ้นสำหรับบริการบางอย่าง เช่น การซ่อมแซมและบำรุงรักษายานยนต์

ส่วนไทยที่ครองตำแหน่งเบอร์ 2 มานานกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหา หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อทั้งบ้านและรถยนต์ เพราะกังวลถึงปัญหาหนี้เสีย โดยจากข้อมูลเครดิตบูโรรายงานว่า ในช่วงปี 2566 ไทยมีปัญหาหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น +28% จากปี 2565

ด้าน อินโดนีเซีย ช่วงไตรมาสแรกตลาดหดตัว 24% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ โดยในปี 2566 ตลาดหดตัว 4% มียอดสะสมกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ที่ 3 หมื่นคัน

ส่วนยอดขายรถยนต์ใน เวียดนาม ลดลง 16% ในไตรมาสแรก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศซบเซาตั้งแต่ปีที่แล้ว และแม้ว่าความต้องการจะพุ่งสูงขึ้นในเดือนธันวาคมก่อนที่การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะหมดอายุ แต่ตัวเลขยอดขายกลับลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

ในขณะเดียวกัน ตัวเลขใน ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น +13% ในไตรมาสแรก ซึ่งสูงที่สุดใน 5 ประเทศ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือประมาณ 4% ในช่วงปลายปี 2566

Source

]]>
1473902
Nissan และ Honda พิจารณาลดกำลังการผลิตรถยนต์ในจีน หลังผู้ผลิตในแดนมังกรแข่งขันดุเดือดมากขึ้น https://positioningmag.com/1466084 Tue, 12 Mar 2024 17:29:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1466084 ‘นิสสัน’ และ ‘ฮอนด้า’ ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ได้พิจารณาลดกำลังการผลิตรถยนต์ในจีน หลังเจอแรงกดดันจากผู้ผลิตในประเทศหลายรายจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามรถยนต์ไฟฟ้าจากหลายแบรนด์

Nikkei Asia รายงานข่าวว่า นิสสัน (Nissan) และ ฮอนด้า (Honda) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ได้พิจารณาเตรียมลดกำลังการผลิตในประเทศจีน โดยสาเหตุสำคัญคือผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นต้องดิ้นรนเพื่อไล่ตามการแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้ากับผู้ผลิตแดนมังกร

โดย Nissan จะเริ่มพูดคุยกับบริษัทร่วมทุนในท้องถิ่นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อลดกำลังการผลิตในจีนสูงสุดถึง 30% ขณะที่ Honda นั้นจะลดกำลังการผลิตราวๆ 20% กำลังการผลิตที่ลดลงจะทำให้ Nissan เหลือจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในจีนเหลือแค่ 1.6 ล้านคันต่อปี ซึ่งผลิตในโรงงาน 8 แห่งทั่วประเทศจีน ขณะที่ Honda จะเหลือแค่ 1.2 ล้านคันต่อปีเท่านั้น

ในปี 2023 ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์ของ Nissan ในประเทศจีนลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เหลือ แค่ 793,000 คันเท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดครั้งแรกในรอบ 14 ปีของบริษัทอีกด้วย

ในช่วงทศวรรษ 2000 ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นหลายรายได้เริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตและการขายรถยนต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านการร่วมทุนกับบริษัทในแดนมังกร เพื่อตอบสนองต่อคำขอของรัฐบาลจีนที่ขอให้ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

รถยนต์ญี่ปุ่นได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนเนื่องจากมีคุณภาพสูง ในช่วงปี 2020 ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นได้ครองตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 20% แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทในประเทศจีนหลายรายได้หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นซึ่งเราจะเห็นได้จากหลากหลายแบรนด์

ขณะที่ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเองนั้นไม่สามารถที่จะไล่ตามเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตในประเทศจีนได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการแข่งขันทางด้านราคา หรือแม้แต่การเพิ่มลูกเล่นต่างๆ เข้ามา เพื่อดึงดูดลูกค้า

จีนยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น Nio หรือ Xpeng หรือแม้แต่ผู้ผลิตสินค้าไอทีอย่าง Xiaomi ที่ลงมาลุยตลาดดังกล่าว รวมถึง Huawei เองก็ได้ร่วมทุนกับผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศจีนก็มีแผนที่จะออกรถยนต์ไฟฟ้ามาสู่ท้องถนนให้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยอดขายรถไฟฟ้าในประเทศจีนชะลอตัวลง แบรนด์จีนหลายแห่งยิ่งต้องแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ท้ายที่สุดต้องมีการปรับลดการผลิต

]]>
1466084
Toyota ยังเป็นเบอร์ 1 ยอดขายรถยนต์มากสุด แซงแชมป์เก่า Volkswagen เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน https://positioningmag.com/1437023 Tue, 30 Jan 2024 07:45:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437023 ‘โตโยต้า’ ได้แจ้งจำนวนยอดขายรถยนต์ของบริษัทนั้นมากถึง 11.2 ล้านคันทั่วโลก ทำให้บริษัทยังเป็นเบอร์ 1 ของผู้ผลิตรถยนต์ และยังแซงแชมป์เก่าจากเยอรมันอย่าง Volkswagen เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน แต่ในปีนี้บริษัทอาจประสบปัญหายอดขายลดลงหลังบริษัทลูกเผชิญเรื่องอื้อฉาวด้านความปลอดภัย

Toyota ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ได้แจ้งยอดขายรถยนต์ของบริษัทและบริษัทลูกในปี 2023 ที่ผ่านมาทั่วโลกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยอดขายรถยนต์ยังแซงหน้าคู่แข่งจากเยอรมันอย่าง Volkswagen เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ยอดขายรถยนต์ของบริษัทและบริษัทลูกในปี 2023 ที่ผ่านมาของ Toyota เติบโต 7.2% อยู่ที่ 11.2 ล้านคัน และมีรถที่ผลิตได้ทั้งหมด 11.5 ล้านคัน ซึ่งจำนวนดังกล่าวมากกว่าคู่แข่งจากเยอรมันอย่าง Volkswagen ซึ่งมียอดขายทั้งหมด 9.2 ล้านคัน

ถ้าหากนับแค่ Toyota อย่างเดียว ในปี 2023 ที่ผ่านมาบริษัทผลิตรถยนต์ได้ 10.3 ล้านคัน

โดยผู้ผลิตรถยนต์รายดังกล่าวนั้นผลิตรถยนต์ไฮบริดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งหมด ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 104,018 คันคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1% เท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้ผ่านสถานการณ์ Supply Chain หยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ชิปขาดแคลน จนทำให้ Toyota ต้องปรับลดการผลิตมาแล้วในปี 2021 และยังรวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ยุโรป

อย่างไรก็ดีภายในปี 2024 นี้บริษัทลูกอย่าง Daihatsu อาจผลิตรถยนต์ได้ลดลง หลังจากบริษัทเผชิญเรื่องอื้อฉาวด้านความปลอดภัยในรถยนต์ 64 รุ่น จนทำให้บริษัทต้องลดการผลิตลง 25%

]]>
1437023
‘โตโยต้า’ ฟาดกำไร Q1 กว่า 1.1 ล้านล้านเยน โต 94% พร้อมเร่งหาทาง “ลดต้นทุนรถอีวี” แข่งจีน! https://positioningmag.com/1439557 Wed, 02 Aug 2023 06:25:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439557 ขึ้นแท่นเป็นค่ายรถยนต์ที่มี ยอดขายอันดับ 1 ยืนยาว 4 ปีซ้อน โดยล่าสุด โตโยต้า (Toyota) ได้รายงานผลประกอบการ ไตรมาส 1 ตามปีงบการเงิน 2023 (เมษายน-มิถุนายน) โดยผลกำไรเติบโตเกือบ 2 เท่า และที่น่าสนใจคือ รถยนต์ไฮบริด ที่มีการเติบโตจากหลักพันไปเป็นหลักหมื่น

ผลประกอบการของ โตโยต้า ในช่วงไตรมาส 1 ตามปีงบการเงิน 2023 อยู่ที่ 10.5 ล้านล้านเยน เติบโต +24.2% โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) 1.12 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น +94% และกำไรสุทธิ (net profit) อยู่ที่ 1.31 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น +78%

โดยโตโยต้า สามารถขายรถยนต์ได้ 2.53 ล้านคัน โดย 34% ของยอดขายเป็น รถยนต์หรู ทั้งแบรนด์โตโยต้าและเล็กซัสที่น่าสนใจคือ รถไฮบริดและรถพลังงานไฟฟ้าอื่น ๆ มียอดขายถึง 29,000 คัน เพิ่มขึ้นจาก 4,000 คั ที่จำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

โตโยต้า ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการและยอดขายของบริษัทเติบโตนั้นเป็นเพราะปัญหาขาดแคลนชิปที่ลดลง ขณะที่ยอดขายของบริษัทก็เติบโตในทุกภูมิภาคทั่วโลก นอกจากนี้ ราคาของรถยนต์ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปก็มีราคาดีขึ้น รวมถึงปัจจัยหนุนจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงทำให้รายได้ในหน่วยเงินเยนสูงขึ้น

โดยหากแยกเป็นแต่ละภูมิภาคพบว่า ผลประกอบการใน ญี่ปุ่น นั้นยังแข็งแกร่ง โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้าเป็น 7 แสนล้านเยน คิดเป็นกว่า 60% ของกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมด ส่วนในตลาด อเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นตลาดหลักอีกแห่งก็มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค เนื่องจากผลกระทบของการขาดแคลนชิปหลังการระบาดใหญ่ลดลง

Koji Sato ที่เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อจาก Akio Toyoda เมื่อต้นปีนี้ เคยยอมรับว่า โตโยต้าล้าหลังในด้านรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น บริษัทจะต้อง ตามให้ทัน โดยบริษัทจะต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งล่าสุด โตโยต้าได้ประกาศว่าจะ เสริมสร้างการพัฒนาเทคโนโลยี EV ในประเทศจีน โดยตั้งเป้าที่จะ ลดต้นทุนการผลิตรถอีวีลงอย่างมาก รวมถึงการพัฒนาฐานซัพพลายเออร์ในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

โดยตลาดรถอีวีในจีนมีการแข่งขันสูงมาก จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นโอกาสของผู้เล่นต่างประเทศ แต่ปัจจุบันกลับมีค่ายรถยนต์ในประเทศเกิดใหม่จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการดัมพ์ราคาจาก เทสลา (Tesla) ที่กำลังทำให้เกิดการแข่งราคาอย่างหนักในตลาด

สำหรับผลประกอบการในปีงบประมาณนี้ โตโยต้าคาดว่าจะมีรายได้รวม 38 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น +2.3% ส่วนกำไรสุทธิ (net profit) อยู่ที่ 2.58 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น +5.2% ส่วนรายได้จากการดำเนินงาน (operating income) อยู่ที่ 3 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น +10.1%

ทั้งนี้ หุ้นของโตโยต้า ที่เคยเพิ่มขึ้น 1.15% ก่อนการประกาศผลประกอบการ และหลังจากที่รายงานผลกำไรทำให้หุ้นปิดเพิ่ม 2.5% ที่ 2,445.5 เยน

reuters / japantoday

]]>
1439557
จีนเตรียมกระตุ้นให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อฟื้นเศรษฐกิจกลับมาโตอีกรอบ https://positioningmag.com/1438663 Sun, 23 Jul 2023 06:41:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438663 รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอีกครั้ง โดยล่าสุดมีมาตรการให้ประชาชนซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากตัวเลขค้าปลีกในประเทศจีนเติบโตลดลงเหลือเพียงแค่ 3.1% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

รัฐบาลจีนเตรียมออกมาตรการให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจาก 2 ภาคอุตสาหกรรมนั้นมีบริษัทจีนที่ผลิตสินค้าดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยมาตรการดังกล่าวนี้รัฐบาลจีนได้เข็นออกมานั้นเพื่อที่จะกระตุ้นภาคเศรษฐกิจหลังจากที่ตัวเลขการเติบโตนั้นแย่กว่าที่คาดไว้

มาตรการดังกล่าวตามเมืองต่างๆ ของประเทศจีนนั้น รัฐบาลท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 13 มณฑลได้สนับสนุนให้มีการซื้อรถยนต์คันที่สอง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการขายรถยนต์มือสอง นอกจากนี้ยังสนับสนุนมาตรการซื้อรถยนต์ที่ไม่ใช้เครื่องยนต์สันดาป เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ยาวไปจนถึงปี 2027

ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวนี้ออกมาเพื่อป้องกันการตัดราคา หลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนต้องออกมาตรการปกป้องแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ หลังหลายเดือนที่ผ่านมามีสงครามตัดราคารถยนต์ไฟฟ้า หลายแบรนด์ในจีนรวมถึงแบรนด์ยุโรปได้ลดราคาตาม Tesla ลงมาเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้า จนท้ายที่สุดต้องมีการเซ็นสัญญาสงบศึก

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ที่แยกออกมาอีกชิ้นนั้น รัฐบาลจีนได้สนับสนุนการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น โดยสนับสนุนให้ประชาชนซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่เน้นการใช้นวัตกรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนให้บริษัทในประเทศผลิตสินค้าประเภทนี้มากขึ้น

แม้ว่าในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา GDP ของจีนจะเติบโตมากถึง 6.3% แต่ถ้าหากเทียบต่อไตรมาสแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโตแค่ 0.8% เท่านั้น ทำให้นักวิเคราะห์ของหลากหลายสถาบันการเงินมองว่าเศรษฐกิจจีนอาจหมดแรงขับเคลื่อนแล้วด้วยซ้ำ

มาตรการดังกล่าวของจีนต้องการที่จะให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสินค้าทั้ง 2 ประเภทข้างต้นถือว่าอยู่ในหมวดสินค้ามีนวัตกรรม หลังจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศจีนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้รับผลิตสินค้าให้กับผู้ผลิตรายอื่นจนได้ฉายาว่าโรงงานผลิตของโลกนั่นเอง และรัฐบาลพยายามผลักดันสินค้าที่มี Value Added เพิ่มมากขึ้น

ที่มา – China Daily, Reuters

]]>
1438663
ไม่แผ่ว! ยอดขายทั่วโลกของ ‘โตโยต้า’ ในเดือนก.พ. พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 7 แสนคัน https://positioningmag.com/1425756 Fri, 31 Mar 2023 00:58:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1425756 ถือว่าเริ่มต้นปีได้อย่างแข็งแรง สำหรับ โตโยต้า (Toyota) แบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลก 3 ปีซ้อน โดยปี 2022 ทำมียอดจำหน่ายทั้งหมด 10.5 ล้านคัน และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอดขายของโตโยต้าก็เติบโตได้กว่า 10% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 10.3% จากปีที่แล้ว เป็น 773,271 คัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ โดยมีปัจจัยหนุนจากยอดขายในประเทศดีดตัวขึ้น นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็เริ่มดีขึ้น

โดย ยอดขายในญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 53.2% เป็น 155,840 คัน หลังจากที่ลดลงอย่างหนักในปีที่แล้วเนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วนและผลกระทบจากข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของ COVID-19 ส่วน ยอดขายรถยนต์ในต่างประเทศปรับตัวขึ้น 3.0% แตะที่ 617,431 คัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ยอดขายในจีนเพิ่มขึ้น 0.9% โดยได้แรงหนุนจากการเปิดตัวรถยนต์โตโยต้ารุ่นใหม่ ๆ

ในส่วนของภาคการผลิตรถยนต์ภายในประเทศปรับตัวขึ้น 11.2% แตะ 281,521 คัน ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกของโตโยต้าพุ่งขึ้น 2% แตะที่ 755,839 คัน แม้วว่าการผลิตในต่างประเทศของโตโยต้าลดลง 2.7% เหลือ 474,318 คัน เนื่องจากการผลิตในจีนลดลง 14.1% ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ แต่โตโยต้ายังเจอกับปัญหาการส่งมอบรถยนต์ที่ล่าช้า เนื่องจากข้อจำกัดในการผลิตซึ่งเกิดจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะการส่งมอบในญี่ปุ่นมีความล่าช้าเป็นพิเศษ เนื่องจากผลิตโมเดลระดับไฮเอนด์ที่มีฟังก์ชันขั้นสูงซึ่งต้องอาศัยชิปจำนวนมาก

ทั้งนี้ โตโยต้าได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั่วโลกสำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2023 ลงสู่ระดับ 9.1 ล้านคัน จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 9.2 ล้านคัน เนื่องจากผลกระทบของปัญหาขาดแคลนชิป ขณะที่เป้าหมายการผลิตในเดือนมีนาคม โตโยต้าวางเป้าที่จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 900,000 คัน

Source

]]>
1425756