ราคาหุ้น – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 Nov 2023 06:31:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ราคาหุ้น “Inditex” บริษัทแม่ของ “Zara” ทะยาน 48% ส่งให้มูลค่าบริษัทสูงระดับ Top 100 ของโลก https://positioningmag.com/1453046 Thu, 23 Nov 2023 04:44:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1453046 ธุรกิจ “ฟาสต์แฟชั่น” ฟื้นแรงในปีนี้ ล่าสุดราคาหุ้นบริษัท “Inditex” บริษัทแม่ของ “Zara” ดีดตัวขึ้นไปแล้ว 48% จากต้นปี 2023 ส่งให้มาร์เก็ตแคปขึ้นไปแตะ 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เข้าทำเนียบ Top 100 บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ราคาหุ้นบริษัท “Inditex” ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสเปนเจ้าของร้านฟาสต์แฟชั่นชื่อดัง “Zara” ดีดตัวขึ้นสู่ราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 37 ยูโรต่อหุ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2023 ถือเป็นราคาสูงสุดที่เคยทำได้นับตั้งแต่บริษัทนี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2001

เฉพาะปี 2023 นี้ ราคาหุ้น Inditex หรือชื่อเต็มคือ Industria de Diseño Textile S.A. ปรับขึ้นมาแล้ว 48% จากช่วงต้นปี ทำให้มาร์เก็ตแคปของบริษัททะยานขึ้นแตะ 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเข้าไปอยู่ในทำเนียบ Top 100 บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

Photo : Shutterstock

หุ้นที่พุ่งขึ้นรอบล่าสุดของ Inditex เกิดจากรายงานของนักวิเคราะห์ที่คาดกันว่า ผลการดำเนินงานรอบไตรมาส 3/2023 ที่บริษัทกำลังจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนหน้านี้ จะทำกำไรสุทธิได้ถึง 1,600 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าสูงกว่าปกติ 20% ถ้าเทียบกับไตรมาสอื่นๆ

อานิสงส์จากราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นนี้ทำให้ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Inditex อย่าง “Amancio Ortega” วัย 87 ปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทันทีอีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มูลค่าความมั่งคั่งของเขาเพิ่มเป็น 9.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามการรายงานของ Forbes ปัจจุบัน Ortega เป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของยุโรป

“Zara” ถือเป็นแบรนด์ที่ทำยอดขายสัดส่วนสูงถึง 73% ในบริษัท Inditex ส่วนแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้บริษัทนี้ เช่น Pull&Bear, Massimo Dutti, Bershka, Stradivarius, Oysho เป็นต้น

ขณะที่แหล่งรายได้หลักหากแบ่งตามทวีป 60% ของรายได้ Inditex มาจากทวีปยุโรป ขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ส่งรายได้ให้บริษัททวีปละ 20% เท่าๆ กัน

H&M สาขาปักกิ่ง (Photo : Shutterstock)

ในปีนี้ไม่ได้มีแค่ Inditex ที่ฟื้นตัวแรง เพราะฟาสต์แฟชั่นเจ้าใหญ่อื่นๆ ก็ฟื้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งหลักอย่าง “H&M” ที่ราคาหุ้นพุ่ง 46% ในรอบปี 2023 หรือ “Fast Retailing” บริษัทญี่ปุ่นเจ้าของ Uniqlo ราคาหุ้นก็พุ่ง 22% ในปีนี้

หากวัดจากยอดขายปี 2022 บริษัท Inditex ยังถือว่าใหญ่ที่สุด ด้วยยอดขายรวม 3.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ Fast Retailing ยอดขาย 1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และที่ตามมาแบบสูสีคือ H&M ยอดขาย 1.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในสนามแข่งขันด้านฟาสต์แฟชั่น ไม่ได้มีแค่ 3 เจ้าใหญ่นี้อีกแล้ว เพราะฟาสต์แฟชั่นออนไลน์จากจีนอย่าง “Shein” กำลังไล่ฟาดฟัน และกำลังจะพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เร็วๆ นี้ โดย Bloomberg รายงานข่าวคาดการณ์ว่า Shein จะมีมูลค่าบริษัทสูงสุด 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หลังเข้าจดทะเบียนสำเร็จ

Source

]]>
1453046
ราคาหุ้น BYD เด้ง 40 เท่า รถจีนที่ “อีลอน มัสก์” เคยปรามาสแต่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เลือกลงทุน https://positioningmag.com/1392227 Mon, 11 Jul 2022 15:30:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392227 รถยนต์ไฟฟ้าจีน “BYD” เคยถูก “อีลอน มัสก์” ปรามาสไว้เมื่อปี 2011 ว่าคุณภาพและงานดีไซน์ไม่ได้เรื่อง แต่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เลือกลงทุนกับบริษัทนี้ผ่าน Berkshire Hathaway และเมื่อกระแสรถยนต์ไฟฟ้าติดลมบน ส่งให้ราคาหุ้นบริษัทรถจีนรายนี้เด้งขึ้นไปแล้ว 40 เท่า นับจากวันที่ปู่บัฟเฟตต์ตัดสินใจซื้อหุ้นในปี 2008

“อีลอน มัสก์” เคยหัวเราะเยาะบริษัท BYD เมื่อปี 2011 เป็นช่วงเวลาสามปีหลังจาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” แห่ง Berkshire Hathaway ตัดสินใจลงทุนกับบริษัทรถจีนรายนี้ เมื่อกาลเวลาเดินทางมาถึงปี 2022 ดูท่าน่าจะเป็นบัฟเฟตต์มากกว่าที่ได้หัวเราะ เพราะราคาหุ้น BYD พุ่งขึ้นไป 40 เท่านับจากปีที่เขาเข้าลงทุน

“คุณได้เห็นรถพวกเขาหรือยังล่ะ?” มัสก์ถามแบบเยาะๆ ระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เมื่อกว่าสิบปีก่อน “ผมไม่คิดว่าพวกเขามีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม ผมไม่คิดว่ารถเขาดูมีเสน่ห์เท่าไหร่ เทคโนโลยีก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง” เขากล่าวต่อด้วยว่า บริษัทนี้กำลังมีปัญหาอย่างหนักในจีน และกำลังมุ่งมั่นที่จะอยู่ในตลาดต่อให้ได้

BYD ท้าทายคำปรามาสของซีอีโอ Tesla อย่างเห็นได้ชัด เพราะระหว่างปี 2008-2021 รายได้ของบริษัทผลิบานดั่งดอกเห็ด โดยเติบโตขึ้นมา 10 เท่าจนมาแตะ 2.11 แสนล้านหยวนเมื่อปีก่อน (ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท) และยังทำให้กำไรสุทธิบริษัทขึ้นไปถึง 3,000 ล้านหยวนด้วย (ประมาณ 16,200 ล้านบาท)

ปี 2022 นี้ บริษัทยังทำสถิติใหม่ สร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด 114,000 คันภายในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียว เติบโตขึ้น 250% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และทำให้บริษัทมียอดขายรถยนต์สะสม 2 ล้านคัน

Photo : Shutterstock

เพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ปีก่อนนี้ Tesla ทำรายได้ไป 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.956 ล้านล้านบาท) และทำกำไรสุทธิ 5,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.99 แสนล้านบาท) ด้านปริมาณขายรถ เมื่อไตรมาสก่อน บริษัทสามารถผลิตและส่งมอบรถไปได้ 300,000 คัน

ตัดกลับมาที่การลงทุนของ Berkshire เมื่อปี 2008 บริษัทนี้ใช้เม็ดเงิน 232 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,400 ล้านบาท) เพื่อซื้อหุ้นของ BYD ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง และทำให้ได้ถือครองหุ้นจำนวน 225 ล้านหุ้นของบริษัท คิดเป็นสัดส่วน 7.7%

วันนั้นราคาหุ้นของ BYD เท่ากับประมาณ 1 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น แต่วันนี้ราคาหุ้นพุ่งไปถึงราคา 40 เหรียญต่อหุ้น นั่นหมายความว่า หุ้นทั้งหมดของ Berkshire มีมูลค่าขึ้นไปมากกว่า 9,000 ล้านเหรียญแล้ว! (ประมาณ 3.26 แสนล้านบาท)

บริษัท BYD เองก็ได้อานิสงส์จากกระแสนิยมรถอีวี เหมือนๆ กับ Tesla และ Rivian ที่บูมขึ้นมามากในช่วงเกิดโรคระบาด ช่วงที่ราคาหุ้น BYD ขึ้นแรงคือช่วงเริ่มต้นปี 2020 ราคาหุ้นบวกไป 7 เท่า รวมถึงในปี 2022 นี้ ราคาหุ้น YTD ขึ้นมาแล้ว 18% ปัจจุบันมาร์เก็ตแคปของบริษัทอยู่ที่ 1.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท)

บัฟเฟตต์นั้นเป็นนักลงทุนที่นิยมลงทุนกับบริษัทอเมริกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น Apple หรือ Coca-Cola การเข้าลงทุนกับ BYD นั้นจริงๆ แล้วเป็นไอเดียและการผลักดันของ “ชาร์ลี มังเกอร์” พาร์ทเนอร์ธุรกิจ และรองประธานของ Berkshire มังเกอร์แนะนำให้บัฟเฟตต์ลงทุน โดยการนำเสนอว่า “หวังชวนฟู” ซีอีโอของ BYD นั้น เป็นดั่งบุคคลที่รวมเอา โธมัส เอดิสัน, เฮนรี่ ฟอร์ด และบิล เกตส์ มาอยู่ในคนเดียวกัน (ข้อมูลอ้างอิงจากเพื่อนสนิทของมังเกอร์)

ด้านอีลอน มัสก์นั้นจริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนความคิดที่มีต่อ BYD ไปแล้วเหมือนกัน เพราะล่าสุด ผู้บริหารอาวุโสรายหนึ่งของ BYD บอกกับสื่อของรัฐบาลจีนว่า บริษัทกำลังเตรียมผลิตซัพพลายแบตเตอรีรถส่งให้กับ Tesla เร็วๆ นี้ และยังบอกด้วยว่าซีอีโอหวังกับทีมงานของเขาเป็น “มิตรที่ดี” ต่อมัสก์ ตามการรายงานโดย Reuters เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2022

Source

]]>
1392227
ราคาหุ้นบริษัท “แบรนด์เนม” พุ่งทะยาน นักลงทุนมองเทียบชั้นหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1316107 Mon, 25 Jan 2021 05:20:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1316107 LVMH, Hermes, Kering ราคาหุ้นบริษัทเหล่านี้ต่างพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เทียบได้กับหุ้นกลุ่มยักษ์เทคโนโลยีสหรัฐฯ สาเหตุจากรายได้ที่ดีขึ้นช่วงปิดประเทศ ทำให้เศรษฐีลงทุนกับเสื้อผ้า-กระเป๋าแบรนด์เนมแทนการท่องเที่ยว นักวิเคราะห์มองระมัดระวังช่วงเปิดประเทศ แรงซื้ออาจจะตกลง

แรงส่งหลักจากการประกาศผลประกอบการที่ดีร่วมกับการเติบโตของกำลังซื้อในจีน ทำให้หุ้นบริษัท “แบรนด์เนม” หลักๆ อย่าง LVMH, Hermes International และ Kering SA ต่างทำสถิติราคาหุ้นพุ่งเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จนทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มมองหุ้นกลุ่มแฟชั่นเหล่านี้เทียบกับหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ

“เรามองบริษัทลักชัวรีจากยุโรปเหล่านี้เทียบกับหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในแง่ที่ว่าธุรกิจกลุ่มนี้ต่างไม่มีคู่แข่งในเชิงอิทธิพลต่อการค้าระดับโลกจิลส์ รอธบาร์ธ ผู้จัดการบริษัทจัดการกองทุน Blackrock European Dynamic Fund กล่าว โดยเขาเห็นว่าบริษัทกลุ่มธุรกิจนี้บางแห่งยังมีอนาคตที่สดใสและน่าดึงดูดใจรออยู่ แม้ว่าราคาจะปรับขึ้นไปแล้วก็ตาม

 

เศรษฐีช้อปแทนท่องเที่ยว-ลูกค้าจีนคือขุมทอง

Richemont เจ้าของแบรนด์ Cartier คือบริษัทลักชัวรียักษ์ใหญ่รายแรกที่รายงานผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 โดยรายได้ของเจ้าของแบรนด์เครื่องเพชรเจ้านี้สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาก ระบุเติบโต 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เจาะลึกในรายได้ของ Richemont พบว่าตลาดที่เติบโตสูงนั้นมาจากเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะ “จีน” ซึ่งเติบโตถึง 80% และตลาดตะวันออกกลางที่เริ่มฟื้น ขณะที่ยุโรปยังติดลบ -20%

Louis Vuitton เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ภาพเมื่อเดือนมี.ค. 2019 (Photo : Shutterstock)

สำหรับยักษ์ใหญ่ของตลาดหุ้นยุโรปอย่าง LVMH จะรายงานผลประกอบการพรุ่งนี้ (26 ม.ค. 2021) โดยบริษัทจัดการกองทุน GAM’s Luxury Brands Equity Fund ประเมินว่า LVMH จะทำรายได้ได้ดีมาก เนื่องจากโมเมนตัมการขายของแบรนด์หลักคือ Louis Vuitton และ Dior เป็นไปด้วยดี

สาเหตุที่ขายดีเพราะนักช้อปกระเป๋าหนักต่างไม่สามารถใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวและร้านอาหารหรูได้ ผลจากการล็อกดาวน์ ทั้งปิดประเทศและบางประเทศมีการปิดร้านอาหารด้วย ดังนั้น เศรษฐีเหล่านี้จะใช้เงินกับสินค้าลักชัวรีทดแทน และผู้ที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดก็คือแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด

“แบรนด์ดังดูเหมือนจะหยุดไม่อยู่แล้ว” ลูก้า โซลก้า นักวิเคราะห์ที่ Sanford C.Bernstein & Co. กล่าว ที่ผ่านมา การเติบโตหลักของกลุ่มแบรนด์เนมมาจากลูกค้าจีนที่ยอมช้อปภายในประเทศแม้ราคาจะสูงกว่าไปซื้อต่างประเทศ “ของแบรนด์เนมกลายเป็นสิ่งที่ ‘ขาดไม่ได้’ มากกว่าสิ่งที่ ‘ถ้ามีก็ดี’ ไปแล้ว” เขากล่าว

ลูกค้าจีนคือตลาดที่ทุกคนหมายปอง และไม่ใช่แค่กลุ่มเศรษฐียอดพีระมิดเท่านั้น LVMH ที่เพิ่งจบดีลควบรวม Tiffany & Co. สะท้อนให้เห็นเห็นว่าบริษัทกำลังปรับพอร์ต เก็บแบรนด์ที่แข็งแรงที่สุดในกลุ่มลูกค้าระดับกลางไว้กับตัวด้วย เนื่องจากเทรนด์การยกระดับฐานะของชาวจีนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ชาวจีนที่ปรับฐานะขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางจะทำให้แบรนด์ได้ประโยชน์ส่วนนี้

 

ราคาสูงเกินจริง-จับตาเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงทำให้นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่าควรระวัง เช่น RBC Capital Markets ชี้ว่าราคาหุ้นลักชัวรีขึ้นไปสูงกว่า 40 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่คาดการณ์ปีนี้ และเทียบกับ P/E เฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 23 เท่า เห็นได้ว่าสูงเกินไปมาก

แม้แต่การเปรียบเทียบกับหุ้นยักษ์เทคโนโลยี ราคาหุ้นลักชัวรีก็ยังแพงกว่ามาก เช่น Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google P/E อยู่ที่ 27 เท่า Apple Inc. P/E 33 เท่า หรือ Facebook Inc. P/E 24 เท่า

ขณะที่นักวิเคราะห์ Deutsch Bank AG ก็ระมัดระวังกับหุ้นลักชัวรีเหมือนกัน จากหุ้นกลุ่มนี้ 13 ตัวที่ติดตามในพอร์ต มีแนะนำซื้อเพียงตัวเดียวคือ Richemont เนื่องจากเห็นว่าการปรับราคาขึ้นสูงมาจาก “การซื้อตามความพึงพอใจโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงร่วมด้วย”

นักวิเคราะห์บางรายมีมุมมองว่า ปีนี้บางประเทศอาจจะเริ่มเปิดการท่องเที่ยว หรือสามารถนั่งทานอาหารในร้านได้ตามปกติแล้ว ดังนั้น ผู้บริโภคจะใช้เงินกับการท่องเที่ยวและทานอาหารนอกบ้านมากกว่าการซื้อกระเป๋ารุ่นล่าสุด

ลูกค้าจีนคือแรงผลักสำคัญต่อรายได้-กำไรกลุ่มธุรกิจ “แบรนด์เนม” อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ราคาหุ้นสูงเกินไปหรือไม่และจะขึ้นได้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์พิจารณา

Source

]]>
1316107
เตรียมใจ! สรุปวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจ 2020 ส่งออก-ค่าเงิน-ตลาดหุ้นไทย จาก KBank https://positioningmag.com/1255301 Thu, 28 Nov 2019 12:10:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255301 ดูท่าจะต้องเหนื่อยกันยาว กสิกรไทยมองปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง คาด GDP โตแค่ 2.7% ส่งออกติดลบ-เสียมาร์เก็ตเเชร์ เเถมเเนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2020 จะแข็งค่ามากขึ้นอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์  ส่วนตลาดหุ้นไม่โตเเต่พอลงทุนได้ ยังมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเช่น ท่องเที่ยว เฮลท์เเคร์  เเนะนำให้ลงทุนต่างประเทศไว้บ้าง

Positioning สรุปประเด็นสำคัญที่คุณต้องรู้จากสัมมนา “ส่องทิศทางเศรษฐกิจปีชวด” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย กับมุมมองสภาพเศรษฐกิจในปีหน้าที่โลกกำลังเผชิญความท้าทาย เเละเศรษฐกิจไทยต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เหมือนกัน

ประเมินปีหน้าโตเเค่ 2.7% ห่วงไทยโดนเเย่งมาร์เก็ตเเชร์ส่งออก

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะเติบโตที่ระดับ 2.7% ซึ่งใกล้เคียงกับปีนี้

โดยได้รับเเรงกดดัยจากปัจจัยอย่าง ภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องที่ระดับ -2% เเละการบริโภคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ 2.5% จากปีนี้ที่คาดการณ์เติบโต 3.2% นอกจากนี้ไทยยังมีภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง

“ในช่วงที่ค่าเงินบาทเเข็งทำให้เราเสียมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก และการที่สินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯ ลำบากขึ้นก็ทำให้จีนหันตลาดมายังอาเซียน ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกของไทย”

โดยเศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังคงเป้าหมายเติบโตในกรอบ 2.6-2.8% มีแนวโน้มอยู่ในกรอบล่าง และการส่งออกคาดการณ์ -1%

“เราให้การส่งออกปีหน้าติดลบ ด้วยปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าที่ยืดเยื้อเเละปัจจัยภายในอย่างปัญหาในเชิงโครงสร้างที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจยังเปราะบาง”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2020 จะเป็นการลงทุนของภาครัฐที่จะได้รับการอนุมัติในช่วงต้นปีหน้า

“มองว่าเเม้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า”

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2020 คาดว่าจะแข็งค่ามากขึ้น โดยกรอบเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์ ในครึ่งปีแรก และ 29.20-29.25 บาทในสิ้นปี จากสิ้นปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 30.50 บาท บนที่ตั้งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25 บาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีเเรกเเละเดือน ก.ย. พร้อมคาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 1.25%

ขณะที่ความเห็นเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนว่าจะสิ้นสุดหรือบรรเทาลงหรือไม่นั้น ผู้บริหารกสิกรไทยตอบว่า คาดว่าจีนจะยังคงดูสถานการณ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2020 เเละยังคงต้องรอดูว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะถูกถอดถอนก่อนหรือไม่ จีนคงยังร่วมข้อตกลงในช่วงนี้ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้นำก็จะเจรจาใหม่ลำบาก เเละคิดว่าหากพรรคคู่เเข่งอย่างเดโมเเครตจะเดินเกมก็คงจะเป็นช่วงเดือน ก.ค. เหมาะที่สุด และการที่จีนอยากขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลก โดยสั่นสะเทือนสหรัฐฯ ด้วยเทคโนโลยี 5G นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

มองเป้า SET Index ปี 2020 ที่ 1,725 จุด 

กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่าได้มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2020 ไว้ที่ 1,725 จุด โดยทิศทางตลาดหุ้นไทยในปีหน้าน่าจะแกว่งตัวในกรอบ เเละคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปีหน้าไม่น่าจะดีเท่ากับปีนี้

เเละอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกังวลคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มี New High เเต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทั้งเรื่องอัตราการว่างงานเเละการบริโภคภายในประเทศ สวนทางกับบริษัทในสหรัฐฯ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ มีการเติบโตสูงเเละมีรายได้จากทั่วโลก

สำหรับการเติบโตของตลาดหุ้นไทยนั้น เขามองว่า ตลาดหุ้นไทยยังโตได้เเคบเนื่องจากเราไม่มีบริษัทเทคโนโลยีในประเทศที่สร้างมูลค่าระดับโลก หากถามว่าโตไหม ก็คงโตได้ เเต่จะไม่โตไปไกลกว่านี้ ถ้าไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสของบริษัทภาคการท่องเที่ยว การบริการ และเฮลท์แคร์ที่เป็นจุดเด่นของไทยจะโตขึ้นมาได้มากเเละเเนะนำให้ซื้อหุ้นต่างประเทศไว้ด้วย

เลือกหุ้นอุตฯ ที่ไม่ใช่อุตฯ

เมื่อถามว่า “ปีหน้ายังคงลงทุนได้ไหม” กวีตอบว่า “ยังลงทุนได้เเต่ต้องเลือกให้ดี”

โดยแนะนำเทคนิคเลือกหุ้นในตลาดไทย ตามทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า 3 ข้อ ได้แก่ 1) ลงทุนในบริษัทไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในอาเซียน 2) ลงทุนในบริษัทที่สามารถเติบโตในประเทศได้ ไม่พึ่งพาการส่งออก และ 3) ลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก แต่เป็นภาคบริการ โรงแรม ท่องเที่ยวและเฮลท์แคร์

แนะหุ้นเด่นน่าลงทุน  

สำหรับ หุ้นกลุ่มที่น่าลงทุน มองเป็นหุ้นที่มีกำไรคงที่ และมีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น กลุ่ม ICT ที่มีการแข่งขันน้อยและการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยแนะหุ้น ADVANC และ DTAC, กลุ่มค้าปลีก สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง CPALL รวมถึงพลังงานต้นน้ำ อย่าง PTTEP และกลุ่มท่องเที่ยว อย่าง MINT จากการขยายโรงแรมไปในยุโรป และกลุ่มหุ้นปันผล จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น TISCO ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 7%, RATCH ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 4% และกองทุน TFFIF

ส่วน หุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง การลงทุนในปีหน้า คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและมีความไม่แน่นอนของกำไร อย่าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหนี้ NPL รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี ที่อยู่ในช่วงขาลงและกลุ่มค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมองกลุ่มท่องเที่ยวที่คาดว่าจะทำกำไรได้ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบในเรื่องเงินบาทแข็งค่าและการส่งออกที่หดตัว

ภาคท่องเที่ยวยังพอช่วยได้ 

ด้าน ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.7% และคาดว่าปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% แม้การส่งออกจะเป็นขาลง แต่ก็จะได้ภาคการท่องเที่ยวและบริการมาช่วยเสริม ซึ่งมองว่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว ขณะที่ช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปนั้น ก็ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อย่าง “อินเดีย” มาช่วย

และสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือ การลงทุนจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง เกษตร แร่ เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและเคมีภัณฑ์ โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด คือญี่ปุ่น จีน และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ การส่งออกไทยใน 9 เดือนแรกของ ปี 2019 หดตัวลง 2.1% ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ดี ไทยยังมีสินค้าที่ทดแทนจีนได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เช่น ปลานิลแช่แข็ง กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แผงวงจรรวม และน้ำมันเครื่อง เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ทดแทนสหรัฐฯ ได้ดีในตลาดจีน ได้แก่ น้ำแอปเปิล น้ำผึ้ง เฟอร์นิเจอร์ ฝาพลาสติก เป็นต้น

เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง

สรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2020 ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เงินในระบบหมุนเวียนในระบบของไทยลดลงอย่างมากจากในปี 1999 อยู่ที่ 12 รอบ ตอนนี้เหลือไม่ถึง 6 รอบ เเละการเจรจายุติสงครามการค้ายังไม่เเน่นอน รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจาก 2.3% เหลือ 1.8% ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอลงด้วย ขณะที่ประเทศในเอเชียที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ อย่างอินเดียเเละฟิลิปปินส์ยังเติบโตได้ดี

ส่วนไทยและสิงคโปร์ ที่พึ่งพาการส่งออก มีโอกาสโตเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2562 รวมถึงการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในเอเชียและไทย

ด้าน พีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ธปท.ออกมาเพื่อบรรเทาการเเข็งค่าของเงินบาทนั้นใช้ไม่ได้ผลนัก เนื่องจากผู้ส่งออกมีต้นทุนการเงิน ไม่สามารถพักเงินดอลลาร์ได้อย่างที่ผ่อนคลายให้

สรุปทิศทางเศรษฐกิจปีชวด

  • เศรษฐกิจโลก

ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการบังคับใช้ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ-จีนแม้การเจรจามีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังนำโดยการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การผลิตที่อ่อนแอลงอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทำให้ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปี 2020

  • เศรษฐกิจไทย

มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจในประเทศแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ผ่านการเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ตกต่ำลง ทำให้การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมอ่อนแอลง ส่งผลถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง

ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐอาจมีผลจำกัดและเป็นการวางเป้าหมายเพียงระยะสั้น โดยมีข้อจำกัดสำคัญจากหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

  • เงินบาท

ยังมีแนวโน้มแข็งค่า โดยประเมินว่าความเสี่ยงของโลกยังสูง โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ค่าเงินบาท เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลสูงและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าไทยและกดดันเงินบาทให้แข็งค่า

ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทแต่อาจยังไม่สามารถลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงได้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.25 ณ สิ้นปี 2020

อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าอย่างรวดเร็วหากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกสูงขึ้น ความกังวลดังกล่าวอาจสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนแอลง เป็นผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า

ความสามารถในการผลิตของแรงงานในแต่ละประเทศ

 

]]>
1255301
วิกฤติ เวิร์คพอยท์ เรตติ้งหล่นกระทบหุ้นร่วง https://positioningmag.com/1161504 Wed, 14 Mar 2018 00:59:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1161504 ไม่มีอะไรแน่นอน สำหรับสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลที่พลิกผันได้ตลอด เมื่อเวิร์คพอยท์เคยแจ้งเกิดจากรายการ วาไรตี้ เกมโชว์ได้อย่างงดงาม จนขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 3 ของทีวีดิจิทัลที่ถูกจับตามองมากที่สุด แต่เวลานี้กลับต้องเผชิญหน้ากับความพลิกผันอย่างหนัก จากเรตติ้งที่กำลังหล่น จนส่งผลถึงราคาหุ้น

ราคาหุ้นของเวิร์คพอยท์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ลดลงในวันเดียวถึง 8.75 บาท จากราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 77.75 บาท มาปิดที่ 69 บาท เป็นการลงแรงถึง 11.25% ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน หลังจากที่เคยมีราคาสูงสุดในวันที่ 7 พ.ย. 2560 ในราคาที่ 104 บาท

ส่วนหนึ่งเป็นผลสะท้อนจากเรตติ้งทั้งช่อง และรายการหลักระดับ “แม่เหล็ก” ของเวิร์คพอยท์อย่าง “The Mask Singer” หรือ “หน้ากากนักร้อง” กำลังดิ่งลงอย่างหนัก

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้จับตามองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านผลตอบรับความนิยมของทั้งช่องและรายการสำคัญมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้เรตติ้งเริ่มลดลงแพ้ช่องโมโน ที่นำเสนอภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศ แต่โดยรวมทั้งปีก็ยังประคองตัวรักษาอันดับเรตติ้งเป็นช่องอันดับ 3 ได้

ส่งสัญญาณไตรมาส 4 ปี 60 ขาดทุน

ปีที่แล้ว 2560 ถือว่าเป็นช่วงทองของ “เวิร์คพอยท์” แจ้งผลประกอบการปี 2560 ว่าบริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,852.50 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 2,667.05 ล้านบาท คิดเป็น 44% โดยมีกำไรสูงถึง 904.09 ล้านบาท สูงกว่าปี 2559 ถึง 355% ซึ่งปี 2559 มีกำไรอยู่ที่ 198.63 ล้านบาท

รายได้หลักมาจากกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีรายได้รวม 3,478.35 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนนี้มาจากรายได้ของช่องเวิร์คพอยท์จำนวน 3,208.76 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 979.72 ล้านบาท หรือ 44% เมื่อเทียบกับปี 2559

ความสำเร็จของเวิร์คพอยท์ในปีที่แล้ว มาจากรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ที่เปิดตัวซีซั่นแรก ก็กระชากเรตติ้งถล่มทลายได้เรตติ้งสูงสุดถึง 13.371 โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 6.55 แซงหน้าละครหลังข่าวช่วงเวลาไพรม์ไทม์ทั้งของช่อง 7 และช่อง 3 เป็น Talk of the town ไม่มีใครไม่รู้จัก ทุกคนต้องดู

ในขณะที่ซีซั่น 2 ออกอากาศช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมปีที่แล้ว แม้เรตติ้งจะลดลงไปบ้างแต่ก็ได้เฉลี่ยทั้งซีซั่นอยู่ที่ 7.311 และเคยได้สูงสุดอยู่ที่ 9.383 ส่วนซีซั่น 3 ที่ออกอากาศต่อเนื่องกันมาและจบไปเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2561 ได้เรตติ้งเฉลี่ย 3.579

แม้ว่าภาพรวมทั้งปีกำไรพุ่งสูงสุด แต่ว่าผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2560 มีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 22 ล้านบาท

ตัวเลขเรตติ้งช่วงไตรมาส 4 เริ่มถดถอยลงต่อเนื่อง เมื่อรายการใหม่ๆ ที่คาดหวังไว้ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะรายการ The X Factor จบลงไปด้วยเรตติ้งเฉลี่ยเพียง 1.309

เปิดปีใหม่ รายการใหม่ ยังไม่ปัง

เมื่อเปิดศักราชใหม่เวิร์คพอยท์ ยังคงให้น้ำหนักกับรายการ วาไรตี้ “เกมโชว์” ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของช่อง รายการที่เวิร์คพอยท์หวังจะเป็นหมัดเด็ดดึงเรตติ้งก็ไม่เป็นไปตามคาดหมาย

The Show : ศึกชิงเวที ที่เป็นการ battle กันระหว่างนักร้องทีมชายและทีมหญิง จัดลงผังทุกวันอังคาร หลังข่าวในช่วงไพรม์ไทม์ แต่เปิดตัวออกอากาศครั้งแรกได้เรตติ้งไปเพียง 1.73 และค่อยๆ ลดลง จนสัปดาห์ที่แล้วได้เรตติ้งไปเพียง 1.32 เท่านั้น

ในขณะที่ซีรีส์อินเดียศึกสองราชันย์ โปรุส VS อเล็กซานเดอร์” ซีรีส์ประวัติศาสตร์อินเดีย สงครามครั้งสุดท้ายของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช เวิรค์พอยท์จัดลงทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ หลังรายการวาไรตี้ช่วงไพรม์ไทม์ ที่หวังว่าจะเปรี้ยง แต่เรตติ้งก็ไม่มาตามคาด สัปดาห์ที่ผ่านมา เรตติ้งอยู่ในระดับ 0.4 – 0.6 เท่านั้น

รายการใหม่อย่าง My Mom Cook หรือเชพไม่ทิ้งแถว ในวันเสาร์ ได้เรตติ้งในเสาร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาเพียง 0.799

นอกจากนี้ช่วงละครไทย “สาวน้อยร้อยหม้อ” ที่ลงผังไพรม์ไทม์วันหยุด ตอนจบในวันอาทิตย์ที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เรตติ้งอยู่ที่ 1.51 โดยจะมีละครใหม่ “คู่ซี้ผีมือปราบ” ได้สองนักแสดงใหญ่ “ติ๊ก เจษฎาภรณ์ และ ชาคริต แย้มนาม ออนแอร์ต่อ

ส่งผลให้เรตติ้งของเวิร์คพอยท์ที่เคยอยู่อันดับ 3 ในปี 2560 ต้องหล่นมาอยู่อันดับ 4 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 โดยช่องโมโนเบียดขึ้นมาเป็นอันดับ 3

“บุพเพสันนิวาส” เอฟเฟกต์ กระทบ 2 รายการหลัก

ที่ผ่านมา รายการ I can see your voice หรือ นักร้องซ่อนแอบ และ The Mask Singer แม้ว่าจะมีเรตติ้งลดลงไป แต่ทั้งสองรายการยังคงเป็น “รายการหลัก” ให้กับช่องเวิร์คพอยท๋ สร้างเรตติ้งสม่ำเสมอในผังวันพุธ และพฤหัส ทุกสัปดาห์ สามารถสู้กับละครช่องของช่อง 3 และช่องวัน ซึ่งเป็นช่องที่มีฐานผู้ชมเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันอย่างคนกรุงเทพฯ และคนหัวเมืองหลักได้อย่างสูสีบ้าง

แต่เมื่อละครไทยเริ่มมาแรง ตั้งแต่ ”เรือนเบญจพิษ” ของช่องวัน ทำให้เรตติ้งทั้งสองรายการเริ่มได้รับผลกระทบ

อีกทั้งยังมาเจอ “บุพเพสันนิวาส” ฟีเวอร์ ที่ช่อง 3 จัดลงผังวันพุธและพฤหัส ทั้งสองรายการหลักของเวิร์คพอยท์ก็ต้องรับผลกระทบเข้าอย่างจังๆ

“บุพเพสันนิวาส” ออกอากาศตอนแรก ก็ชนะทั้งสองรายการ แต่เรตติ้งยังไม่ทิ้งห่างมากนัก ได้เรตติ้ง 3.417 และ 4.769 โดยที่ I can see your voice ได้เรตติ้ง 2.791 ในขณะที่ The Mask Singer 4 อยู่ที่ 3.186

พอมาสัปดาห์ต่อมาตอนที่ 3 และ 4 ของบุพเพสันนิวาส เริ่มกวาดเรตติ้งไปที่ 7.311 และ 8.197 ทำให้ทั้งสองราย การเรตติ้งลงลงอีก โดย I can see your voice ได้เรตติ้งอยู่ที่ 2.136 และ The Mask Singer 4 ได้ 1.888 เท่านั้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อ “บุพเพสันนิวาส” เรตติ้งถล่มทลาย 11.354 และ 12.645 I can see your voice เหลือเพียง 1.992 ในขณะที่ The Mask Singer 4 รูดลงหนักมาอยู่ที่ 1.609 เท่านั้น

สถานการณ์ในทุกวันพุธ และพฤหัสทุกสัปดาห์ ก็คงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกระยะของกระแส “บุพเพสันนิวาส” จนกว่าจะจบลง และหวังว่าจะไม่มีละครชุดใหม่มาปังต่อเนื่องอีก จึงส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างหนักในช่วงนี้

น่าจับตามองว่าในวิกฤติเช่นนี้ เวิร์คพอยท์ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นบริษัทที่มีครีเอทีฟสูง สร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนจัดรายการใหม่ลงผังได้อย่างรวดเร็ว จะใช้กลยุทธ์อะไรในการสร้างรายการใหม่ ฟื้นความนิยมกลับคืนมา เพื่อพร้อมที่จะสู้ชิงทั้งเรตติ้ง และสร้างกระแสขึ้นมาได้อีกครั้ง

เพราะบทเรียนการต่อสู้ในสังเวียนทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ไม่มีใครชนะได้ตลอดกาล อยู่ที่ว่าใครมีคอนเทนต์ที่โดนใจผู้ชมได้มากที่สุด กระแสก็พร้อมเหวี่ยงกลับไปมาได้ตลอดเวลา.

]]>
1161504