เป็นเวลานับ 3 เดือนที่ดีลซื้อ ทวิตเตอร์ (Twitter) มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ของเฮีย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลกและซีอีโอของเทสลาได้ลากยาวมาและจบลงโดยการ ล้มดีล หลังจากที่มัสก์ ได้ระงับการการซื้อจนกว่าจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์
หลังจากที่ช่วงต้นเดือนเมษายน อีลอน มัสก์ ได้เข้าซื้อหุ้นทวิตเตอร์จำนวน 73,486,938 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 9.2% ทำให้มัสก์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของบริษัท และมาในช่วงกลางเดือนเมษายน มัสก์ก็ประกาศว่าต้องการจะเข้าซื้อทวิตเตอร์ โดยดีลดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ดีลดังกล่าวไม่ได้จบง่าย ๆ แถมลากยาวมาถึงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากมัสก์มีความกังวลเรื่อง แอคหลุม หรือ บัญชีปลอม บนแพลตฟอร์มที่มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ได้ออกมาระบุว่า บัญชีสแปมต่าง ๆ มีปริมาณเพียง 5% เท่านั้น แต่มัสก์เชื่อว่ามีมากกว่า 20%
หลังจากนั้น มัสก์ ได้ให้ทนายยื่นจดหมายไปยัง วิจายา แกดเด (Vijaya Gadde) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของทวิตเตอร์ ใจความว่า “มัสก์จะขอสงวนสิทธิ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงสิทธิ์ของเขาที่จะไม่บรรลุข้อตกลงในการทำธุรกรรมและสิทธิ์ในการยุติข้อตกลงการควบรวมกิจการ เนื่องจากทวิตเตอร์ได้ละเมิดข้อตกลงการควบรวมอย่างชัดเจนเพราะไม่ให้ข้อมูลที่ร้องขอ”
ล่าสุด มัสก์ก็ได้ ล้มดีล ทวิตเตอร์เรียบร้อย โดยอ้างว่า ทวิตเตอร์ไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันตามสัญญา โดยไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมและบอทบนแพลตฟอร์มอย่างเพียงพอ รวมไปถึงข้อมูลที่ให้กับทีมของเขาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ด้วยตนเองที่ให้มาไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน
“เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้วที่มัสก์ได้ค้นหาข้อมูลที่จำเป็นเพื่อทำการประเมินจำนวนของบัญชีปลอมหรือสแปมบนแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ นี่เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับธุรกิจและตรวงสอบประสิทธิภาพทางการเงินของแพลตฟอร์ม และจำเป็นต่อการทำธุรกรรมที่พิจารณาโดยข้อตกลงการควบรวมกิจการ”
อย่างไรก็ตาม ฝั่งทวิตเตอร์ก็ไม่ยอมง่าย ๆ โดย Bret Taylor ประธานคณะกรรมการทวิตเตอร์ ระบุว่า จะฟ้องกลับอีลอน มัสก์ที่ล้มดีลดังกล่าว และหากาทวิตเตอร์ชนะ มัสก์อาจต้องจ่ายเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นฝ่ายที่ยกเลิกข้อตกลงก่อน
“คณะกรรมการทวิตเตอร์มุ่งมั่นที่จะปิดธุรกรรมเกี่ยวกับราคาและเงื่อนไขที่ตกลงกับอีลอน มัสก์ และวางแผนที่จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้ข้อตกลงการควบรวมกิจการ บริษัทที่มีแผนจะปฏิบัติตามข้อตกลง ดังนั้น เรามั่นใจว่าเราจะมีชัยในศาล”
ทั้งนี้ หุ้นของทวิตเตอร์ร่วงลงเกือบ –6% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการในวันศุกร์ทันทีหลังข่าวดังกล่าว โดย ปัจจุบัน หุ้นของทวิตเตอร์ได้ซื้อขายกันอยู่ที่ 36 ดอลลาร์ ลดลงเกือบ -30% นับตั้งแต่ราคาที่มัสก์และทวิตเตอร์ประกาศถึงดีลซื้อขาย และต่ำกว่า 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้นที่มัสก์เสนอซื้อ ซึ่งแสดงถึงความสงสัยอย่างลึกซึ้งในหมู่นักลงทุนเกี่ยวกับข้อตกลงที่เกิดขึ้นในราคาที่ตกลงกันไว้ โดยนักวิเคราะห์มองว่า มูลค่าที่ลดลงอาจเป็นสาเหตุที่มัสก์ไม่สนใจข้อตกลงอีกต่อไป