สิทธิแรงงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 12 Feb 2021 12:35:32 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เลิกซื้อ ‘เสื้อผ้า’ ขูดรีดแรงงาน-ทำลายสิ่งแวดล้อม” ทัศนคติของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่แบรนด์ต้องฟัง https://positioningmag.com/1319145 Fri, 12 Feb 2021 11:37:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319145 “แฟชั่น” หรือ “เสื้อผ้า” ดูเผินๆ เหมือนไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อมมาก หากเทียบกับพลาสติก และดูจะไม่ใช่สินค้าหนักที่ต้องขูดรีดแรงงาน แต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม เสื้อผ้าแฟชั่นคือหนึ่งในผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และขูดรีดแรงงานในหลายขั้นตอนการผลิต ความจริงเหล่านี้เมื่อออกสู่สายตาผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อเริ่มรับผิดชอบสังคมด้วยตนเอง นั่นคือเลิกซื้อแบรนด์ที่ไม่สนับสนุนการดูแลแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปเมื่อเช้าวันที่ 24 เมษายน 2013 ตึกรานา พลาซา ใกล้กรุงดากา ประเทศบังกลาเทศ เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,134 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,500 คน ตึก 8 ชั้นแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานเย็บผ้าหลายบริษัท และคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือคนงานเย็บผ้า

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ โครงสร้างตึกเริ่มมีอาการร้าวตั้งแต่วันก่อนหน้า ทำให้บริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงงานเย็บผ้าประกาศปิดชั่วคราว แต่คนงานเย็บผ้ากลับถูกสั่งให้กลับมาทำงานอีกในวันรุ่งขึ้น และกลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวง

โศกนาฏกรรมตึกรานา พลาซา บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2013 (Photo : Shutterstock)

โศกนาฏกรรมนี้ทำให้ความจริงเบื้องหลังอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกเปิดโปง เพราะในบรรดากองเสื้อผ้าภายใต้ซากตึกถล่มคือเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Prada, Gucci, Versace, Mango ฯลฯ โดยที่เจ้าของแบรนด์ส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเสื้อผ้าของตนถูกผลิตขึ้นที่นั่น จนต้องใช้เวลาสืบสาวกันหลายสัปดาห์กว่าจะรู้ว่าสัญญากับซัพพลายเออร์รายใดที่ไปผูกโยงกับโรงงานในตึกรานา พลาซา

 

“แฟชั่น” ขูดรีดแรงงาน-ทำลายสิ่งแวดล้อม

จุดปริแตกที่รานา พลาซา ทำให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงการขูดรีดแรงงาน เพราะแหล่งผลิตเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงประเทศไทยด้วย และคนงานเหล่านี้มักจะได้รับรายได้ต่ำแต่ทำงานหนัก เพื่อแข่งขันทำต้นทุนให้ถูกที่สุด มิต้องพูดถึงความปลอดภัยในชีวิตและที่ทำงานซึ่งอยู่ในระดับต่ำจนเกิดเหตุตึกถล่มขึ้น

ไม่เฉพาะโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ย้อนกลับไปถึงวัตถุดิบทำเส้นใยผ้าอย่าง “ไร่ฝ้าย” ชาวไร่ฝ้ายในอินเดียก็ได้รับรายได้ต่ำเช่นกัน รวมถึงไร่ฝ้ายในเขตซินเจียง ประเทศจีน มีรายงานว่าจีนมีการใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์ในไร่ฝ้ายและโรงงานผลิตเส้นใยฝ้าย แต่ทางการจีนปฏิเสธเรื่องนี้เสมอมา (อ่านเพิ่มเติม : สหรัฐฯ เตรียมแบนสินค้าที่ใช้ “ฝ้าย” จากซินเจียง โจมตีจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์)

ไร่ฝ้ายในมณฑลซินเจียง กำลังไถพรวนดินเพื่อรอหว่านเมล็ด ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 (Photo by VCG via Getty Images)

ในด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตผ้าคืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำล้างสีย้อมผ้าปริมาณมหาศาล และน้ำที่ชะล้างสีทำให้มีสารเคมีปนเปื้อน อุตสาหกรรมผ้าจึงเป็นตัวการสร้าง “น้ำเสีย” ถึง 20% ของโลก และถ้าย้อนกลับไปถึงไร่ฝ้าย ฝ้ายเป็นพืชที่มักจะใช้สารกำจัดศัตรูพืชสูง โดยคิดเป็น 10-20% ของสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ทั้งโลก (ข้อมูลจากธนาคารโลก)

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนตระหนักถึงความรับผิดชอบของแบรนด์แฟชั่น แม้ว่าแบรนด์หนึ่งๆ จะมีซัพพลายเออร์ที่ทำงานด้วยนับร้อยๆ ราย หรือบางบริษัทอาจมีนับพันๆ ราย แต่ผู้บริโภคก็ต้องการให้แบรนด์ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกรายว่ามีการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆ ด้าน รวมถึงเริ่มมองเห็นความรับผิดชอบของตัวเอง และอำนาจของผู้ซื้อที่จะบีบให้แบรนด์ต้องสร้างความยั่งยืนขึ้น

 

ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ

กระแสการตระหนักถึงปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้ผู้บริโภคมองการแก้ปัญหาเป็นสองทาง ทั้งตัวแบรนด์ที่ควรจะดูแลซัพพลายเชนดังกล่าว และตัวผู้บริโภคเองที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าด้วย

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ตลาดแฟชั่นกำลังฮิตแบรนด์สินค้าแบบ “ฟาสต์แฟชั่น” นั่นคือเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก คุณภาพต่ำ เปลี่ยนเทรนด์เร็ว เติมสินค้าแบบใหม่กันแทบจะสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ด้วยราคาที่ถูกและการสร้างค่านิยมเปลี่ยนเสื้อผ้าตามแฟชั่นให้ทัน ทำให้ผู้บริโภคสบายใจที่จะใส่เสื้อผ้าแค่ 1-2 ครั้งแล้วโยนทิ้ง ซื้อใหม่ กลายเป็นการสร้างขยะเสื้อผ้ากองโต และกระตุ้นให้แบรนด์ผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก คุณภาพต่ำ เปลี่ยนเทรนด์เร็ว ด้วยราคาที่ถูกและการสร้างค่านิยมเปลี่ยนเสื้อผ้าตามแฟชั่นให้ทัน ทำให้ผู้บริโภคสบายใจที่จะใส่เสื้อผ้าแค่ 1-2 ครั้งแล้วโยนทิ้ง ซื้อใหม่ กลายเป็นการสร้างขยะเสื้อผ้ากองโต

มีการสำรวจของ Greenpeace เมื่อปี 2015 ที่ประเทศเยอรมนี สอบถามคนเยอรมันวัย 18-69 ปี ให้จัดแบ่งเสื้อผ้าในตู้ของตนเองว่าได้ใส่บ่อยแค่ไหน ค่าเฉลี่ยสัดส่วนเสื้อผ้ามีดังนี้ 36% ถูกสวมใส่เป็นประจำ 25% ถูกสวมใส่อยู่เรื่อยๆ 20% นานๆ หยิบใส่สักครั้ง และน่าตกใจที่มี 19% ของเสื้อผ้าในตู้ที่เจ้าของไม่เคยสวมใส่เลย ทั้งนี้ รายงานนี้ยังระบุด้วยว่าประเภทเสื้อผ้าที่ถูกใส่น้อยที่สุดคือ “ชุดงานปาร์ตี้” มีการใส่เฉลี่ยแค่ 1.7 ครั้ง

เมื่อเป็นดังนี้ ผู้บริโภคเริ่มเข้าใจแล้วว่า “ฟาสต์แฟชั่น” และวิธีบริโภคของตนเองคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดการผลิตในราคาถูก ต้นตอการกดขี่แรงงาน ดังนั้น จึงเกิดกระแสลด ละ เลิกการใส่เสื้อผ้าแบบใช้ไม่กี่ครั้งก็โยนทิ้ง สนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายความยั่งยืน รวมถึงนิยมเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น

 

กระแสจุดติด รณรงค์เลิก “ฟาสต์แฟชั่น”

เทรนด์เลิกซื้อเสื้อผ้าบ่อยๆ และการมองหาแบรนด์ที่สร้างความโปร่งใสด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อม เริ่มเห็นได้ชัดช่วง 3-4 ปีก่อนนี้เอง ยิ่งเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้น ยิ่งทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกคำนึงถึงผลการกระทำของตนเองที่มีต่อโลก จากการสำรวจของ McKinsey สอบถามผู้บริโภค 2,000 คนในสหราชอาณาจักรและเยอรมนี เมื่อเดือนเมษายน 2020 คำถามบางส่วนเจาะลึกไปที่ธุรกิจแฟชั่นและเศรษฐกิจหมุนเวียน

McKinsey พบว่า ผู้บริโภคมีปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกเมื่อเลือกซื้อเสื้อผ้า คือ สไตล์ที่ชอบ สวมใส่สบาย และคุณภาพวัสดุ

McKinsey พบว่า ผู้บริโภคมี ปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกเมื่อเลือกซื้อเสื้อผ้า คือ สไตล์ที่ชอบ สวมใส่สบาย และ คุณภาพวัสดุ

ส่วนเรื่อง “ความใหม่ เทรนด์ออกใหม่” กลายเป็นปัจจัยสุดท้ายที่คนให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่อง “แบรนด์ที่มั่นใจ” ก็เป็นปัจจัยท้ายๆ เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคพร้อมจะซื้อแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ตัวเองตั้งใจจะเก็บเสื้อผ้าไว้ใช้งานให้นานกว่าเดิม และ 57% ตอบว่าตัวเองตั้งใจจะซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อให้เสื้อผ้าชิ้นนั้นใช้ได้นานขึ้น

แบบสอบถามยังพบว่า 48% ของคนเจนวาย (อายุ 24-39 ปี) และคนเจนซี (อายุ 18-23 ปี) มีแนวโน้มที่จะซื้อเสื้อผ้ามือสอง หลังจากเกิด COVID-19 ส่วนเจนที่อายุมากกว่านี้จะมีแนวโน้มซื้อเสื้อผ้ามือสองน้อยกว่า

 

แบรนด์ยักษ์ขยับตามผู้บริโภค

เห็นได้ชัดว่ากระแสการตระหนักถึงความรับผิดชอบในการบริโภคแฟชั่นจุดติดแล้วในสังคมตะวันตก ส่วนผู้บริโภคไทยอาจจะยังเป็นนิชมาร์เก็ต แต่ก็มีการพูดถึงบนอินเทอร์เน็ต และมีบางแบรนด์ที่หยิบขึ้นมาเป็นจุดขาย เช่น Pomelo ที่ทำคอลเลกชัน Purpose ซึ่งผลิตเสื้อผ้าจากสีย้อมผ้าธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารเคมี

ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเครื่องจักรรีไซเคิลผ้าของ H&M

ความตระหนักรู้ได้กดดันให้แบรนด์ระดับโลกต้องยอมขยับทำอะไรสักอย่าง ยกตัวอย่างเช่น H&M เริ่มมีจุดรับคืนเสื้อผ้าเพื่อนำไปรีไซเคิลและนำเส้นใยนั้นมาผลิตใหม่ในคอลเลกชัน H&M CONSCIOUS หรือ Uniqlo เริ่มมีการรับเสื้อผ้าไปรีไซเคิลเช่นกัน รวมถึงมีเทคโนโลยีลดการใช้น้ำระหว่างผลิตผ้ายีนส์ด้วย (อ่านเพิ่มเติม : Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อ “ความยั่งยืน” และอะไรที่ยังเป็นประเด็นอนาคต)

จากข้อมูลของ Fashion Revolution กลุ่มรณรงค์ให้แบรนด์แฟชั่นมีนโยบายที่โปร่งใสด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อมมีการจัดอันดับ Fashion Transparency Index 2020 โดยตรวจสอบนโยบายความยั่งยืนของแบรนด์ด้วยดัชนีชี้วัด 250 รายการ ตรวจสอบไปกว่า 250 แบรนด์ทั่วโลก รวมทั้งฟาสต์แฟชั่น ลักชัวรี และแบรนด์ที่ขายออนไลน์เท่านั้น โดยต้องเป็นแบรนด์ที่มียอดขายมากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

แบรนด์ที่ได้คะแนนมากกว่า 50% จากการจัดอันดับความโปร่งใสของ Fashion Revolution Index 2020

องค์กรนี้พบว่า ค่าเฉลี่ยความโปร่งใสด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมของโลกแฟชั่นอยู่ที่ 23% เท่านั้น แต่ดีขึ้นจากปี 2019 ที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 21% โดยมุมบวกของปีที่ผ่านมาคือมีแบรนด์ที่ใส่ใจการจัดทำนโยบายมากขึ้น ส่วนมุมลบคือในแง่ความโปร่งใสด้านแรงงาน มีแบรนด์ไม่มากที่กล้าเปิดรายชื่อผู้ผลิตทั้งหมดในซัพพลายเชน และมีแค่ 5 แบรนด์เท่านั้นที่ประกาศไทม์ไลน์ชัดเจนในการส่งเสริมให้แรงงานในสายการผลิตทั้งหมดได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม

สำหรับแบรนด์ที่ทำคะแนนมากกว่า 60% มีเพียง 6 แบรนด์ ได้แก่ H&M (72.8%), C&A (69.8%), Adidas (69.4%), Reebok (69.4%), Esprit (64.2%) และ Patagonia (60.4%)

ส่วนแบรนด์กลุ่มฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ได้คะแนนความโปร่งใสในระดับรองลงมา เช่น ASOS (54.8%), Gap (50%), Zara (44.2%), Uniqlo (39.6%), Topshop (38.2%) และ Mango (21.6%)

กระเป๋า Gucci Dionysus (Photo : Christian Vierig/Getty Images)

แบรนด์ลักชัวรีเองก็เข้าร่วมในเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้วยเช่นกัน โดยในรายงานนี้ แบรนด์ลักชัวรีที่ได้คะแนนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ Gucci (48.4%), Balenciaga (46.8%), Saint Laurent (46.8%), Bottega Veneta (46.4%) และ Burberry (36%)

กระแสผู้บริโภคมีพลังมากเมื่อร่วมมือกัน ทำให้แบรนด์ใหญ่ก็ต้องฟังความต้องการและปรับตัวตาม แต่จุดที่ต้องระวังจากนี้คือ นโยบายของแบรนด์เป็นสิ่งที่ ‘ทำจริง’ หรือเป็นเพียงแค่ข้อความการตลาด (greenwashing) เท่านั้น

Source: Fashion Revolution, McKinsey, EcoWatch

]]>
1319145
Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อ “ความยั่งยืน” และอะไรที่ยังเป็นประเด็นอนาคต https://positioningmag.com/1317807 Wed, 03 Feb 2021 11:23:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317807 Uniqlo ออกรายงานความยั่งยืนประจำปี 2021 สรุปไทม์ไลน์การพัฒนาด้าน “ความยั่งยืน” ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทำมาตลอด 20 ปี พร้อมเป้าหมายในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอีกมากที่ผู้บริโภคจับตามองให้แบรนด์แฟชั่นรายนี้มีส่วนร่วม

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นคือหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองอย่างมากเกี่ยวกับการพัฒนา “ความยั่งยืน” โดยมี Uniqlo แบรนด์ภายใต้บริษัท Fast Retailing จากญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในยักษ์แฟชั่นที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำ ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,000 สาขาทั่วโลก การขยับของ Uniqlo จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

ปีนี้บริษัท Fast Retailing มีการจัดทำ “รายงานความยั่งยืนประจำปี 2021” โดยไฮไลต์สำคัญคือการครบรอบ 20 ปีของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเริ่มนับตั้งแต่ตั้ง “สำนักงานอุทิศเพื่อสังคม” (Social Contribution Office) ขึ้นในปี 2001 ทำให้รายงานฉบับนี้จะมีการย้อนไทม์ไลน์ว่า Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้าง

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท Fast Retailing

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท Fast Retailing ยังกล่าวถึงการทำเพื่อความยั่งยืนด้วยว่าในมุมมองของเขา ความยั่งยืนคือการสร้างสถานการณ์ “วิน-วิน” ให้กับทุกฝ่าย และโลกใบนี้มีข้อจำกัด ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ยิ่งเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้นอีก ยิ่งทำให้ทุกคนต้องร่วมมือกัน จึงจะเกิดผลกระทบเชิงบวกได้จริง

สำหรับหัวข้อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของ Uniqlo ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

“ผู้ลี้ภัย”

Uniqlo เลือกทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัย โครงการที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2001 เป็นครั้งแรกคือการบริจาคเสื้อผ้าให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัย จนถึงปัจจุบันมีการบริจาคสะสม 41.1 ล้านชิ้น กระจายใน 75 ประเทศ/ดินแดน มีผู้รับการสนับสนุนมากกว่า 9.4 แสนคน

Uniqlo ได้เป็นพาร์ตเนอร์ระดับโลกกับ UNHCR เมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้การทำงานขยายจากเรื่องเสื้อผ้า สู่การว่าจ้างงาน และความช่วยเหลือฉุกเฉิน ขณะนี้มีการจ้างงานผู้ลี้ภัยในร้านของแบรนด์ 121 คน และแบรนด์มีการทำแคมเปญคอลเลกชันเพื่อระดมทุนช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น เดือนมิถุนายน 2020 นำรายได้ 10 ล้านเยนจากการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับทารก บริจาคให้กับครอบครัวและเด็กๆ ผู้ลี้ภัยเพื่อต่อสู้กับ COVID-19

Uniqlo บริจาคเสื้อผ้าให้ผู้ลี้ภัยสะสม 41.1 ล้านชิ้นในรอบ 20 ปี
“ผู้ประสบภัยธรรมชาติ”

หัวข้อนี้ค่อนข้างผูกโยงกับต้นกำเนิดของแบรนด์คือ “ญี่ปุ่น” ดินแดนที่มีภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ญี่ปุ่นเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2011 บริเวณภูมิภาคโทโฮขุ ดังนั้น Uniqlo จึงตั้งหน่วยสนับสนุนการฟื้นตัว Great East Japan Earthquake ขึ้นในปีเดียวกัน และได้ทำงานบริจาคให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม ดินถล่ม โดยไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นแต่ยังไปสู่ประเทศอื่นด้วย เช่น ฟิลิปปินส์

หน่วยสนับสนุนเกี่ยวกับภัยธรรมชาติยังขยายวงมาทำงานในช่วงโรคระบาด COVID-19 ด้วย โดยถือเป็นภัยจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง รวมแล้ว Uniqlo มีการบริจาคเสื้อผ้าให้ผู้ประสบภัยไปแล้ว 3 ล้านชิ้น และปีที่ผ่านมาบริจาคมาสก์ AIRism ไป 16 ล้านชิ้น รวมถึงชุด PPE อีก 1.4 ล้านชิ้น

Uniqlo บริจาคมาส์กผ้า AIRism ไป 16 ล้านชิ้น ต่อสู้ COVID-19
“ผู้พิการและผู้ที่เผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต”

Uniqlo ต้องการสนับสนุนหัวข้อนี้ โดยมีการว่าจ้างงานผู้พิการกว่า 1,000 คนทั่วโลก ในแง่ของการผลิตสินค้า มีชุดแบบ Front-Open เปิดด้านหน้าได้เพื่อตอบโจทย์คนที่มีร่างกายไม่เหมาะกับการสวมเสื้อผ้าทางศีรษะ เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วย คนชรา

หัวข้อนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึง “ผู้หญิง” ในบางแง่มุมด้วย โดยมีการบริจาคเสื้อผ้า 14,000 ชิ้นให้กับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวของญี่ปุ่น บริจาคเงิน 10 ล้านเยนให้กลุ่มสตรีในแซมเบียเพื่อให้พวกเธอเป็นอิสระทางการเงิน

และมีโครงการ Grameen Uniqlo Business ที่บังกลาเทศ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผลิตเสื้อผ้าและจำหน่ายกันเองในท้องถิ่น เมื่อได้กำไรนำมาลงทุนกลับคืนในร้าน มีหน้าร้านขาย 16 แห่งในกรุงดากา และเน้นการว่าจ้างผู้หญิงทำงาน เพื่อให้พวกเธอมีทางออกในการพึ่งพิงตนเองทางการเงินและเป็นอิสระในชีวิต

Grameen Uniqlo สาขาแรกในบังคลาเทศ
“แรงงาน”

มาถึงหัวข้อภายในองค์กรเองบ้าง เรื่องแรงงานผลิตเสื้อผ้าคือหัวข้อที่ทุกคนจับตามอง ด้วยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดยเฉพาะกลุ่มฟาสต์แฟชั่นมักจะแข่งขันกันด้านราคา จนมีการขูดรีดแรงงาน

ต่อประเด็นนี้ Uniqlo จัดตั้ง Code of Conduct ขึ้นเมื่อปี 2004 ซึ่งนำไปใช้กับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่ซัพพลายสินค้าให้แบรนด์ โดยจะต้องรับการมอนิเตอร์โดยตรงที่โรงงาน จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานพาร์ตเนอร์ที่ต้องใช้กฎการทำงานเหล่านี้ 489 แห่งใน 22 ประเทศ และมี Hotline ให้พนักงานของบริษัทและของพาร์ตเนอร์แจ้งเรื่องต่อ Fast Retailing ได้โดยตรงหากไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

จากนั้นแบรนด์เข้าร่วม Fair Labour Association (FLA) ในปี 2015 ตามด้วยการแสดงความโปร่งใส เปิดรายชื่อโรงงานเย็บผ้าที่ส่งสินค้าให้ Uniqlo ทั้งหมดเมื่อปี 2017 และเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ International
Labour Organization (ILO) ในปี 2019

ประเด็นแรงงานยังเกี่ยวพันกับ “โอกาสของผู้หญิง” ด้วย โดยเปิดให้พนักงานหญิงจัดสมดุลชีวิตระหว่างงานบริษัทกับการดูแลลูกหรือดูแลผู้สูงอายุได้ และยังมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ลดอคติที่มีต่อผู้หญิงออกไป ปัจจุบันมีผู้หญิงสัดส่วน 39.2% ในตำแหน่งบริหารทั้งหมดของกลุ่ม Fast Retailing

“สิ่งแวดล้อม”

ส่วนนี้เป็นหัวข้อที่กว้างมาก เพราะครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ร้านขายสินค้า และยังรวมถึงการรีไซเคิลเสื้อผ้ากลับมาผลิตใหม่ด้วย โดย Uniqlo มีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • เข้าร่วม Better Contton Initiative (BCI) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเรื่องการให้ความรู้เกษตรกรไร่ฝ้ายเรื่องการใช้น้ำและเคมีในไร่
  • มีนโยบายปล่อยสารเคมีอันตรายจากโรงงานเป็น ‘ศูนย์’
  • พัฒนาเทคโนโลยีลดการใช้น้ำล้างผ้ายีนส์ 99% เท่ากับใช้น้ำเพียง 1 ถ้วยกาแฟต่อกางเกงยีนส์ 1 ตัว
  • นำเส้นใยจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์บางอย่าง
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากในร้านค้า โดยทยอยเปลี่ยนมาใช้หลอด LED และติดแผงโซลาร์รูฟ
  • งดใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษ และสนับสนุนให้ผู้ซื้อนำถุงมาเอง
  • โครงการ RE.UNIQLO รับคืนเสื้อผ้า แบ่งกลุ่มไปบริจาคและกลุ่มที่นำมารีไซเคิล กลุ่มรีไซเคิลจะถูกนำไปแยกเส้นใยมาผลิตใหม่เป็น Recycled Down Jacket สินค้าทั้งตัวถูกผลิตจากวัสดุรีไซเคิล โดยมีการรีไซเคิลเสื้อไปแล้วกว่า 6.2 แสนตัวจากโครงการนี้
ดาวน์แจ็กเก็ตจากการรีไซเคิลเสื้อผ้า

แล้วเป้าหมายต่อจากนี้ของ Uniqlo คืออะไร? “ยูกิฮิโระ นิตตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน Fast Retailing ระบุว่า อีก 20 ปีต่อจากนี้ บริษัทจะพัฒนาต่อเนื่องในหัวข้อต่อไปนี้

1) รับมือโลกร้อน โดย Uniqlo ยึดถือ “ความตกลงปารีส” ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาภายในปี 2050 โดยบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวตลอดทั้งซัพพลายเชนภายในสิ้นปี 2021 นี้ ปัจจุบันเริ่มไปแล้วที่ส่วนของร้านค้า Uniqlo 60 สาขาในยุโรปติดตั้งระบบพลังงานสะอาดแล้ว 3 สาขาในไต้หวันติดตั้งโซลาร์รูฟแล้ว และกำลังจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในบางสาขาของญี่ปุ่นปีนี้

2) สำนักงานอุทิศเพื่อสังคมจะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยเฉพาะการเตรียมช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ

3) โครงการ RE.UNIQLO จะยกระดับ หาทางนำวัสดุอื่นมารีไซเคิลผลิตใหม่ได้ (ปัจจุบันทำได้เฉพาะดาวน์แจ็กเก็ต)

 

ประเด็นที่ยังถูกจับตามอง

จากนโยบายต่างๆ ที่ Uniqlo ริเริ่มและดำเนินการ Good On You องค์กรจัดเรตติ้งระดับความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเฉพาะ มองว่า แบรนด์ Uniqlo ยังอยู่ในระดับ “เพิ่งเริ่มต้น” โดยเป็นระดับ 3 จาก 5 ระดับที่มีให้ ทำให้ถูกจัดเป็นแบรนด์ระดับกลางๆ ในแง่นี้

เจาะลึกลงไปในแง่สิ่งแวดล้อม Uniqlo ถูกมองว่ามีนโยบายที่ดีแต่ไม่อัปเดตผลการดำเนินงานมากพอ (ซึ่งอาจจะดีขึ้นบ้างในปีนี้ เมื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง)

ในด้านแรงงานยิ่งทำได้ไม่ดีพอโดย Fashion Transparency Index (FTI) 2020 จัดให้ Uniqlo มีความโปร่งใสด้านแรงงานเพียง 31-40% เนื่องจากแบรนด์ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อซัพพลายเออร์ตลอดสายการผลิตจนถึงต้นน้ำ และไม่ได้ระบุค่าแรงที่คนงานได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการปกป้องสุขอนามัยคนงานในซัพพลายเชนท่ามกลาง COVID-19

แต่ถ้ามองในแง่ดี ค่าเฉลี่ยของแบรนด์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่ที่ 21-30% เท่านั้น เพราะฉะนั้นนับว่า Uniqlo ก็ยังดีกว่าแบรนด์ส่วนใหญ่

ประเด็นร้อนอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบทั้ง Uniqlo และอีกหลายแบรนด์ทั่ววงการคือ “ฝ้าย” ต้นทางการผลิตเสื้อผ้าที่มาจากซินเจียง ประเทศจีน ถูกมองว่ามีความน่าเคลือบแคลงเรื่องการใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้ายและโรงงานฝ้าย

ปัจจุบัน Uniqlo ยังไม่ได้ระบุที่มาของฝ้ายในซัพพลายเชน (มีระบุลึกถึงแค่ซัพพลายเออร์โรงงานเย็บผ้า) แต่สำนักข่าว NBC News เคยทำข่าวเจาะจนเจอผู้ผลิตผ้าฝ้ายรายใหญ่ Lu Thai Textile ซึ่งใช้ฝ้ายจากไร่ในซินเจียง และบริษัทนี้ส่งผ้าฝ้ายให้กับหลายแบรนด์ เช่น Hugo Boss, L.L. Bean, Brooks Brothers, Esprit และ Uniqlo

หลายแบรนด์กำลังพยายามตรวจสอบย้อนกลับสินค้าของตนไปให้ถึงต้นทาง เพื่อควบคุมให้ตรงกับนโยบายไม่ขูดรีดแรงงาน ส่วนการพิจารณาเลือกใช้ฝ้ายจากแหล่งอื่นอาจจะยากสักหน่อย เพราะ 22% ของฝ้ายทั่วโลกส่งออกจากประเทศจีน และฝ้ายถึง 85% ของจีนก็มาจากซินเจียงนี่เอง

Source: Uniqlo, Good On You, NBC News

]]>
1317807
ศาลแคลิฟอร์เนียสั่ง Uber ให้เปลี่ยนสถานะคนขับจาก “ผู้รับจ้างอิสระ” เป็น “พนักงาน” https://positioningmag.com/1292275 Thu, 13 Aug 2020 04:38:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1292275 ศาลแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินให้ Uber และ Lyft สองผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร่วมขับขี่ (ride-sharing) รายใหญ่ ปรับสถานะคนขับที่ทำงานให้แพลตฟอร์มเป็น “พนักงาน” ในบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและสวัสดิการสุขภาพตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังมีเวลาอีก 10 วันในการยื่นอุทธรณ์ก่อนที่คำตัดสินนี้จะถูกบังคับใช้

อีธาน ชูลแมน ผู้พิพากษาศาลสูงแห่งซานฟรานซิสโก ได้ให้คำตัดสินเบื้องต้นต่อคดีที่ ฮาเวียร์ บีเซอร์รา อัยการรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้อง Uber และ Lyft โดยมีคำสั่ง “ไม่ให้” ทั้งสองบริษัทจัดสถานะคนขับรถในแพลตฟอร์มเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” ในระหว่างที่ศาลจะมีการพิจารณาเพิ่มเติม คำสั่งนี้จะมีผลภายใน 10 วัน แต่ระหว่างช่วงเวลานี้ทั้งสองบริษัทสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ และทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์แล้วว่าจะยื่นอุทธรณ์ในทันที

ข้อกล่าวหาที่มีต่อ Uber และ Lyft นั้นฟ้องร้องตามข้อกฎหมายที่ชื่อว่า Assembly Bill 5 เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 มีชื่อเล่นว่า “กฎหมายฟรีแลนซ์” เพราะจุดประสงค์หลักของกฎหมายต้องการขีดเส้นแบ่งแยกผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทว่าเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” หรือ “พนักงาน”

กฎหมายนี้ได้กำหนดว่า ถ้าหากบุคคลผู้นั้นทำงานให้บริษัทในสิ่งที่ไม่ใช่แกนหลักของธุรกิจ เป็นอิสระจากการควบคุมและทิศทางนโยบายของบริษัท รวมถึงมีการรับจ้างทำงานลักษณะเดียวกันแก่องค์กรอื่นด้วย จึงจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้รับจ้างอิสระหรือฟรีแลนซ์

Lyft อีกหนึ่งบริษัท ride-sharing สำคัญของสหรัฐฯ (Photo : Shutterstock)

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากบริษัทใดๆ รวมถึง Uber และ Lyft ถูกตัดสินให้เปลี่ยนสถานะผู้รับจ้างงานเป็นพนักงานในบริษัท บริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าล่วงเวลา สวัสดิการสุขภาพ และสวัสดิการอื่นๆ ที่จำเป็นให้พนักงานตามกฎหมาย

ในกรณีของบริษัท ride-sharing ปัจจุบัน “ผู้รับจ้างอิสระ” หรือที่มักเรียกกันว่าพาร์ตเนอร์คนขับ ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงและบำรุงรักษารถยนต์ด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะต้องกลายเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทแทนในอนาคต เป็นเหตุให้แพลตฟอร์ม ride-sharing เหล่านี้คัดค้านกฎหมายฟรีแลนซ์มาโดยตลอด เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นทั้งที่ยังไม่เริ่มทำกำไรเลย

 

บริษัทค้าน : “คนขับ” ก็ไม่อยากเป็น “พนักงาน”

มาฟังมุมมองของฝั่งแพลตฟอร์มกันบ้าง ทั้ง Uber และ Lyft ต่างออกแถลงการณ์ว่าจริงๆ แล้วคนขับรถเองก็ต้องการจะเป็นฟรีแลนซ์มากกว่าเป็นพนักงานในเครือ เพราะคนขับจำนวนมากไม่สะดวกเข้าเป็นพนักงานเต็มเวลา

แถลงการณ์ของ Uber ยังโจมตีกลับฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่า “เมื่อคนแคลิฟอร์เนียมากกว่า 3 ล้านคนไม่มีงานทำ ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งของเราควรจะมุ่งเน้นกับการสร้างงานสร้างอาชีพ ไม่ใช่พยายามทำลายอุตสาหกรรมท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้”

“ดารา โคสโรว์ชาฮี” ซีอีโอ Uber

“ดารา โคสโรว์ชาฮี” ซีอีโอ Uber ยังพยายามหาทางออกให้กับประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้นปี โดยเขามองว่าเรื่องนี้ควรจะมี “ทางเลือกที่สาม” ให้กับคนขับ ทำให้ผู้รับจ้างอิสระยังคงมีอิสระและยืดหยุ่นในอาชีพการงาน พร้อมๆ กับได้รับสวัสดิการและการปกป้องทางกฎหมายที่มากขึ้น

ทางเลือกที่สามที่เขาเสนอคือ บริษัทจะตั้งกองทุนสวัสดิการที่จ่ายให้ในสัดส่วนสอดคล้องกับจำนวนชั่วโมงที่ผู้รับจ้างอิสระทำงานให้กับบริษัท เขายังระบุว่าถ้าหากมีโมเดลนี้เกิดขึ้นจริงใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา Uber จะจ่ายเข้ากองทุนนี้ไปแล้ว 655 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเฉพาะปี 2019 เท่านั้น

สำหรับความเห็นของผู้พิพากษาชูลแมนมองว่า ในยามนี้ที่ไวรัสโคโรนาระบาดหนัก ทำให้ความต้องการใช้บริการของ Uber และ Lyft ลดลงอย่างรุนแรง ในภาวะที่จำนวนการใช้บริการลดลงต่ำที่สุด อาจจะเป็น ‘เวลาที่ดีที่สุด’ ที่จำเลยจะต้องเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงเป็นวงกว้างแก่คนขับของตนเอง

Source: Forbes, CNBC

]]>
1292275