Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อ “ความยั่งยืน” และอะไรที่ยังเป็นประเด็นอนาคต

Uniqlo ออกรายงานความยั่งยืนประจำปี 2021 สรุปไทม์ไลน์การพัฒนาด้าน “ความยั่งยืน” ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทำมาตลอด 20 ปี พร้อมเป้าหมายในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอีกมากที่ผู้บริโภคจับตามองให้แบรนด์แฟชั่นรายนี้มีส่วนร่วม

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นคือหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองอย่างมากเกี่ยวกับการพัฒนา “ความยั่งยืน” โดยมี Uniqlo แบรนด์ภายใต้บริษัท Fast Retailing จากญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในยักษ์แฟชั่นที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำ ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,000 สาขาทั่วโลก การขยับของ Uniqlo จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

ปีนี้บริษัท Fast Retailing มีการจัดทำ “รายงานความยั่งยืนประจำปี 2021” โดยไฮไลต์สำคัญคือการครบรอบ 20 ปีของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเริ่มนับตั้งแต่ตั้ง “สำนักงานอุทิศเพื่อสังคม” (Social Contribution Office) ขึ้นในปี 2001 ทำให้รายงานฉบับนี้จะมีการย้อนไทม์ไลน์ว่า Uniqlo ทำอะไรไปแล้วบ้าง

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท Fast Retailing

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท Fast Retailing ยังกล่าวถึงการทำเพื่อความยั่งยืนด้วยว่าในมุมมองของเขา ความยั่งยืนคือการสร้างสถานการณ์ “วิน-วิน” ให้กับทุกฝ่าย และโลกใบนี้มีข้อจำกัด ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ยิ่งเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้นอีก ยิ่งทำให้ทุกคนต้องร่วมมือกัน จึงจะเกิดผลกระทบเชิงบวกได้จริง

สำหรับหัวข้อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของ Uniqlo ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

“ผู้ลี้ภัย”

Uniqlo เลือกทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัย โครงการที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2001 เป็นครั้งแรกคือการบริจาคเสื้อผ้าให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัย จนถึงปัจจุบันมีการบริจาคสะสม 41.1 ล้านชิ้น กระจายใน 75 ประเทศ/ดินแดน มีผู้รับการสนับสนุนมากกว่า 9.4 แสนคน

Uniqlo ได้เป็นพาร์ตเนอร์ระดับโลกกับ UNHCR เมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้การทำงานขยายจากเรื่องเสื้อผ้า สู่การว่าจ้างงาน และความช่วยเหลือฉุกเฉิน ขณะนี้มีการจ้างงานผู้ลี้ภัยในร้านของแบรนด์ 121 คน และแบรนด์มีการทำแคมเปญคอลเลกชันเพื่อระดมทุนช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น เดือนมิถุนายน 2020 นำรายได้ 10 ล้านเยนจากการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับทารก บริจาคให้กับครอบครัวและเด็กๆ ผู้ลี้ภัยเพื่อต่อสู้กับ COVID-19

Uniqlo บริจาคเสื้อผ้าให้ผู้ลี้ภัยสะสม 41.1 ล้านชิ้นในรอบ 20 ปี
“ผู้ประสบภัยธรรมชาติ”

หัวข้อนี้ค่อนข้างผูกโยงกับต้นกำเนิดของแบรนด์คือ “ญี่ปุ่น” ดินแดนที่มีภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ญี่ปุ่นเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2011 บริเวณภูมิภาคโทโฮขุ ดังนั้น Uniqlo จึงตั้งหน่วยสนับสนุนการฟื้นตัว Great East Japan Earthquake ขึ้นในปีเดียวกัน และได้ทำงานบริจาคให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม ดินถล่ม โดยไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นแต่ยังไปสู่ประเทศอื่นด้วย เช่น ฟิลิปปินส์

หน่วยสนับสนุนเกี่ยวกับภัยธรรมชาติยังขยายวงมาทำงานในช่วงโรคระบาด COVID-19 ด้วย โดยถือเป็นภัยจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง รวมแล้ว Uniqlo มีการบริจาคเสื้อผ้าให้ผู้ประสบภัยไปแล้ว 3 ล้านชิ้น และปีที่ผ่านมาบริจาคมาสก์ AIRism ไป 16 ล้านชิ้น รวมถึงชุด PPE อีก 1.4 ล้านชิ้น

Uniqlo บริจาคมาส์กผ้า AIRism ไป 16 ล้านชิ้น ต่อสู้ COVID-19
“ผู้พิการและผู้ที่เผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต”

Uniqlo ต้องการสนับสนุนหัวข้อนี้ โดยมีการว่าจ้างงานผู้พิการกว่า 1,000 คนทั่วโลก ในแง่ของการผลิตสินค้า มีชุดแบบ Front-Open เปิดด้านหน้าได้เพื่อตอบโจทย์คนที่มีร่างกายไม่เหมาะกับการสวมเสื้อผ้าทางศีรษะ เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วย คนชรา

หัวข้อนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึง “ผู้หญิง” ในบางแง่มุมด้วย โดยมีการบริจาคเสื้อผ้า 14,000 ชิ้นให้กับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวของญี่ปุ่น บริจาคเงิน 10 ล้านเยนให้กลุ่มสตรีในแซมเบียเพื่อให้พวกเธอเป็นอิสระทางการเงิน

และมีโครงการ Grameen Uniqlo Business ที่บังกลาเทศ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผลิตเสื้อผ้าและจำหน่ายกันเองในท้องถิ่น เมื่อได้กำไรนำมาลงทุนกลับคืนในร้าน มีหน้าร้านขาย 16 แห่งในกรุงดากา และเน้นการว่าจ้างผู้หญิงทำงาน เพื่อให้พวกเธอมีทางออกในการพึ่งพิงตนเองทางการเงินและเป็นอิสระในชีวิต

Grameen Uniqlo สาขาแรกในบังคลาเทศ
“แรงงาน”

มาถึงหัวข้อภายในองค์กรเองบ้าง เรื่องแรงงานผลิตเสื้อผ้าคือหัวข้อที่ทุกคนจับตามอง ด้วยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดยเฉพาะกลุ่มฟาสต์แฟชั่นมักจะแข่งขันกันด้านราคา จนมีการขูดรีดแรงงาน

ต่อประเด็นนี้ Uniqlo จัดตั้ง Code of Conduct ขึ้นเมื่อปี 2004 ซึ่งนำไปใช้กับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่ซัพพลายสินค้าให้แบรนด์ โดยจะต้องรับการมอนิเตอร์โดยตรงที่โรงงาน จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานพาร์ตเนอร์ที่ต้องใช้กฎการทำงานเหล่านี้ 489 แห่งใน 22 ประเทศ และมี Hotline ให้พนักงานของบริษัทและของพาร์ตเนอร์แจ้งเรื่องต่อ Fast Retailing ได้โดยตรงหากไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

จากนั้นแบรนด์เข้าร่วม Fair Labour Association (FLA) ในปี 2015 ตามด้วยการแสดงความโปร่งใส เปิดรายชื่อโรงงานเย็บผ้าที่ส่งสินค้าให้ Uniqlo ทั้งหมดเมื่อปี 2017 และเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ International
Labour Organization (ILO) ในปี 2019

ประเด็นแรงงานยังเกี่ยวพันกับ “โอกาสของผู้หญิง” ด้วย โดยเปิดให้พนักงานหญิงจัดสมดุลชีวิตระหว่างงานบริษัทกับการดูแลลูกหรือดูแลผู้สูงอายุได้ และยังมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ลดอคติที่มีต่อผู้หญิงออกไป ปัจจุบันมีผู้หญิงสัดส่วน 39.2% ในตำแหน่งบริหารทั้งหมดของกลุ่ม Fast Retailing

“สิ่งแวดล้อม”

ส่วนนี้เป็นหัวข้อที่กว้างมาก เพราะครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ร้านขายสินค้า และยังรวมถึงการรีไซเคิลเสื้อผ้ากลับมาผลิตใหม่ด้วย โดย Uniqlo มีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • เข้าร่วม Better Contton Initiative (BCI) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเรื่องการให้ความรู้เกษตรกรไร่ฝ้ายเรื่องการใช้น้ำและเคมีในไร่
  • มีนโยบายปล่อยสารเคมีอันตรายจากโรงงานเป็น ‘ศูนย์’
  • พัฒนาเทคโนโลยีลดการใช้น้ำล้างผ้ายีนส์ 99% เท่ากับใช้น้ำเพียง 1 ถ้วยกาแฟต่อกางเกงยีนส์ 1 ตัว
  • นำเส้นใยจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์บางอย่าง
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากในร้านค้า โดยทยอยเปลี่ยนมาใช้หลอด LED และติดแผงโซลาร์รูฟ
  • งดใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษ และสนับสนุนให้ผู้ซื้อนำถุงมาเอง
  • โครงการ RE.UNIQLO รับคืนเสื้อผ้า แบ่งกลุ่มไปบริจาคและกลุ่มที่นำมารีไซเคิล กลุ่มรีไซเคิลจะถูกนำไปแยกเส้นใยมาผลิตใหม่เป็น Recycled Down Jacket สินค้าทั้งตัวถูกผลิตจากวัสดุรีไซเคิล โดยมีการรีไซเคิลเสื้อไปแล้วกว่า 6.2 แสนตัวจากโครงการนี้
ดาวน์แจ็กเก็ตจากการรีไซเคิลเสื้อผ้า

แล้วเป้าหมายต่อจากนี้ของ Uniqlo คืออะไร? “ยูกิฮิโระ นิตตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน Fast Retailing ระบุว่า อีก 20 ปีต่อจากนี้ บริษัทจะพัฒนาต่อเนื่องในหัวข้อต่อไปนี้

1) รับมือโลกร้อน โดย Uniqlo ยึดถือ “ความตกลงปารีส” ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาภายในปี 2050 โดยบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวตลอดทั้งซัพพลายเชนภายในสิ้นปี 2021 นี้ ปัจจุบันเริ่มไปแล้วที่ส่วนของร้านค้า Uniqlo 60 สาขาในยุโรปติดตั้งระบบพลังงานสะอาดแล้ว 3 สาขาในไต้หวันติดตั้งโซลาร์รูฟแล้ว และกำลังจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในบางสาขาของญี่ปุ่นปีนี้

2) สำนักงานอุทิศเพื่อสังคมจะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยเฉพาะการเตรียมช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ

3) โครงการ RE.UNIQLO จะยกระดับ หาทางนำวัสดุอื่นมารีไซเคิลผลิตใหม่ได้ (ปัจจุบันทำได้เฉพาะดาวน์แจ็กเก็ต)

 

ประเด็นที่ยังถูกจับตามอง

จากนโยบายต่างๆ ที่ Uniqlo ริเริ่มและดำเนินการ Good On You องค์กรจัดเรตติ้งระดับความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเฉพาะ มองว่า แบรนด์ Uniqlo ยังอยู่ในระดับ “เพิ่งเริ่มต้น” โดยเป็นระดับ 3 จาก 5 ระดับที่มีให้ ทำให้ถูกจัดเป็นแบรนด์ระดับกลางๆ ในแง่นี้

เจาะลึกลงไปในแง่สิ่งแวดล้อม Uniqlo ถูกมองว่ามีนโยบายที่ดีแต่ไม่อัปเดตผลการดำเนินงานมากพอ (ซึ่งอาจจะดีขึ้นบ้างในปีนี้ เมื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง)

ในด้านแรงงานยิ่งทำได้ไม่ดีพอโดย Fashion Transparency Index (FTI) 2020 จัดให้ Uniqlo มีความโปร่งใสด้านแรงงานเพียง 31-40% เนื่องจากแบรนด์ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อซัพพลายเออร์ตลอดสายการผลิตจนถึงต้นน้ำ และไม่ได้ระบุค่าแรงที่คนงานได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการปกป้องสุขอนามัยคนงานในซัพพลายเชนท่ามกลาง COVID-19

แต่ถ้ามองในแง่ดี ค่าเฉลี่ยของแบรนด์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่ที่ 21-30% เท่านั้น เพราะฉะนั้นนับว่า Uniqlo ก็ยังดีกว่าแบรนด์ส่วนใหญ่

ประเด็นร้อนอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบทั้ง Uniqlo และอีกหลายแบรนด์ทั่ววงการคือ “ฝ้าย” ต้นทางการผลิตเสื้อผ้าที่มาจากซินเจียง ประเทศจีน ถูกมองว่ามีความน่าเคลือบแคลงเรื่องการใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้ายและโรงงานฝ้าย

ปัจจุบัน Uniqlo ยังไม่ได้ระบุที่มาของฝ้ายในซัพพลายเชน (มีระบุลึกถึงแค่ซัพพลายเออร์โรงงานเย็บผ้า) แต่สำนักข่าว NBC News เคยทำข่าวเจาะจนเจอผู้ผลิตผ้าฝ้ายรายใหญ่ Lu Thai Textile ซึ่งใช้ฝ้ายจากไร่ในซินเจียง และบริษัทนี้ส่งผ้าฝ้ายให้กับหลายแบรนด์ เช่น Hugo Boss, L.L. Bean, Brooks Brothers, Esprit และ Uniqlo

หลายแบรนด์กำลังพยายามตรวจสอบย้อนกลับสินค้าของตนไปให้ถึงต้นทาง เพื่อควบคุมให้ตรงกับนโยบายไม่ขูดรีดแรงงาน ส่วนการพิจารณาเลือกใช้ฝ้ายจากแหล่งอื่นอาจจะยากสักหน่อย เพราะ 22% ของฝ้ายทั่วโลกส่งออกจากประเทศจีน และฝ้ายถึง 85% ของจีนก็มาจากซินเจียงนี่เอง

Source: Uniqlo, Good On You, NBC News