“อีลอน มัสก์” เจ้าของบริษัทรถอีวี “Tesla” ยกเลิกทริปไปเยือนประเทศอินเดียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอย่างกะทันหัน ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg รายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า หลังจากนั้นมา มัสก์ไม่มีการติดต่อรัฐบาลอินเดียเพื่อดำเนินเรื่องการไปเยือนหรือลงทุนต่อแต่อย่างใด
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ทางรัฐบาลอินเดียเข้าใจว่าการถอยจากดีลการลงทุนเกิดจาก Tesla เองมีปัญหาด้านแหล่งเงินทุน จึงไม่มีแผนที่จะลงทุนฐานผลิตแห่งใหม่ในอินเดียเร็วๆ นี้
ข่าวการล่าถอยจากแผนลงทุนอินเดียเกิดขึ้นต่อเนื่องหลัง Tesla ประกาศการส่งมอบรถทั่วโลกที่หดตัวลงต่อเนื่องสองไตรมาส หลังต้องเผชิญการแข่งขันสูงจากรถอีวีแบรนด์จีน โดยไตรมาสที่ 2 ของปีนี้บริษัทส่งมอบรถไป 4.43 แสนคันทั่วโลก หดตัวลง 4.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
การส่งมอบรถที่หดตัวของบริษัทมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากรถกระบะอีวี “Cybertruck” รถรุ่นใหม่ในรอบหลายปีของ Tesla ที่ออกวางจำหน่ายแล้วและได้รับความสนใจล้นหลาม แต่ไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ตามกำหนดเดิมที่จะต้องส่งมอบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยบริษัทเองก็ไม่ได้แจ้งเหตุผลที่แน่ชัดกับลูกค้า
สัญญาณความสนใจของอีลอน มัสก์ต่อการลงทุนในอินเดียก่อนหน้านี้ เกิดจากนโยบายของอินเดียที่จะลดภาษีให้บริษัทผู้ผลิตรถอีวีต่างชาติหากเข้ามาลงทุนในประเทศเป็นมูลค่าอย่างน้อย 4.15 หมื่นล้านรูปี (ประมาณ 1.82 หมื่นล้านบาท) และดำเนินการผลิตได้ภายใน 3 ปีหลังเริ่มลงทุน
อย่างไรก็ดี แม้ Tesla จะถอยทัพไปแล้ว แต่ทางอินเดียไม่ได้สูญเสียมากนักเพราะรัฐบาลต้องการจะเน้นสนับสนุนผู้ผลิตรถอีวีภายในประเทศมากกว่าอยู่แล้ว นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ “Tata Motors” และ “Mahindra & Mahindra”
ตลาดรถอีวีในอินเดียถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ เพราะรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของตลาดรถอินเดียเมื่อปี 2023 ตามข้อมูลของ BloombergNEF เนื่องจากผู้บริโภคส่วนมากยังลังเลที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า จากค่าใช้จ่ายการซื้อรถที่สูงกว่ารถสันดาปและในอินเดียยังหาสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ยาก
ที่มา: The Economics Times, CNBC, Robb Report
]]>Ashwini Vaishnaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ รถไฟ และการสื่อสาร ของอินเดีย ประกาศว่า อินเดียต้องการเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจากการรายงานของ เทรนด์ฟอร์ซ ระบุว่า ปัจจุบัน 5 ประเทศที่ผลิตชิปได้มากที่สุดของโลก ได้แก่
หลังจากที่ความตึงเครียดของสหรัฐฯ – จีนไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน ทำให้หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทไอทีต้องการลดการพึ่งพาจีน ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ โดยล่าสุด ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดศูนย์ออกแบบใหม่ในเมืองเจนไน โดยโรงงานจะเน้นการออกแบบเทคโนโลยีไร้สายและสร้างงาน 1600 ตำแหน่งในประเทศ
“อุตสาหกรรมชิปเป็นตลาดที่ซับซ้อนมาก และเราคิดว่าในอีกห้าปีข้างหน้า เราจะเป็น Top 5 ประเทศเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก เนื่องจากมั่นใจว่าอินเดียเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้” Ashwini Vaishnaw กล่าว
นอกจากการลงทุนของควอลคอมม์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียพึ่งเปิดตัวโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่ง หนึ่งในโรงงานเหล่านั้นเป็นการร่วมทุนระหว่าง Tata Electronics และบริษัท PowerChip Semiconductor Manufacturing Corp. ของไต้หวัน โดยมีเป้าหมายคือการสร้างชิปเซมิคอนดักเตอร์ตัวแรกของอินเดียภายในปี 2026
ทั้งนี้ Ashwini Vaishnaw คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 7 ปีข้างหน้า และบริษัททั่วโลกกำลังมองว่าอินเดียเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการตัดสินใจลงทุนครั้งต่อไป และตอนนี้รัฐบาลกำลังตรวจสอบข้อเสนอการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศรวมมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์
]]>อินเดีย ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ล่าสุด ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีหรือการยกเลิกภาษีส่วนใหญ่กับประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟตา (EFTA) ซึ่งจะประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์
Piyush Goyal รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย คาดว่า การค้าเสรีนี้จะกระตุ้นการส่งออกที่สำคัญในด้านบริการไอที บริการทางธุรกิจ บริการภาพและเสียง โดยประเทศสมาชิกเอฟตาจะลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.6 ล้านล้านบาท) ในอินเดียตลอดระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะช่วยสร้างงานได้ 1 พันล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังประกอบด้วยข้อกำหนดสำหรับการยอมรับร่วมกันในการให้บริการทางวิชาชีพ เช่น การพยาบาล นักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาต และสถาปนิก
ทั้งนี้ ดีลระหว่างอินเดียและเอฟตานั้นมีการ เจรจากันมานานถึง 16 ปี ก่อนจะบรรลุข้อตกลง และถือเป็น ครั้งแรกที่มาพร้อมข้อผูกมัดการลงทุนจากภาคเอกชน โดยอินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายของกลุ่มเอฟตาที่ต้องการกระจายการลงทุนกับประชากร 1,400 ล้านคน อีกทั้งยังช่วยให้เอฟตาเข้าถึงตลาดอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และเครื่องจักรได้ง่ายขึ้นด้วย
]]>สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดียประกาศให้เครื่องมือ AI ทุกประเภทที่จะนำมาใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตอินเดีย จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอินเดียก่อนเท่านั้น เครื่องมือดังกล่าวนั้นรวมทั้งโมเดล AI, โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs), ซอฟต์แวร์ที่ใช้ Generetive AI หรือระบบอัลกอริธึมใดๆ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนทดลอง
หลายประเทศบนโลกนี้กำลังเร่งร่างกฎหมายเพื่อกำกับควบคุมการใช้ “AI” หรือปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเป็นนวัตกรรมใหม่มาแรง โดยเฉพาะอินเดียที่ถือเป็นตลาดเติบโตสูงของบริษัทไอที
น่าสนใจว่ากฎใหม่ของอินเดียเกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ หลังจากหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของอินเดียเข้าไปทดลองใช้งานเครื่องมือ “Gemini” ของ Google ซึ่งเป็นเครื่องมือแชตบอต AI เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 เมื่อป้อนคำถามถึงประวัติของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย หนึ่งในข้อมูลคำตอบของ Gemini ที่ส่งมาให้ระบุว่านายกฯ โมดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคนมีบุคลิกแบบ “ฟาสซิสต์”
วันต่อมา Google รีบออกมาจัดการปัญหาและระบุว่า เครื่องมือ Gemini ‘อาจจะเชื่อไม่ได้เสมอไป’ โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันและการเมือง
หลังจากนั้น “ราจีฟ จันทรเสกขาร์” รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดีย รีบออกมาโต้ผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย X ส่วนตัวทันทีว่า “ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มนั้นมีข้อบังคับทางกฎหมาย ‘ขอโทษที ข้อมูลเชื่อถือไม่ได้’ ไม่ใช่ข้อยกเว้นทางกฎหมาย”
“ดาต้า AI วิ่งตรงจากแล็บเข้าสู่อินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่มีการกลั่นกรองหรือการทดสอบอะไรเลย แล้วพอถูกจับได้คาหนังคาเขา พวกเขาก็แค่บอกว่าขอโทษที พอดีข้อมูลเชื่อถือไม่ได้” จันทรเสกขาร์กล่าว
เขายังวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า อินเดียไม่ควรจะเป็นสถานที่ทดลองให้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเครื่องมือ AI ถูกตั้งข้อสงสัยไปทั่วโลกว่ากำลังให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เต็มไปด้วยอคติ และให้ข้อมูลที่ไม่มีที่มาที่ไปแก่ผู้ใช้งาน
ในการออกกฎใหม่ให้บริษัทไอทีต้องนำเครื่องมือ AI มาขออนุญาตรัฐก่อนออกใช้งานกับสาธารณะ รัฐบาลอินเดียยังร้องขอให้แพลตฟอร์มต่างๆ ดูแลให้แน่ใจว่าเครื่องมือ AI ของพวกเขา “ต้องไม่เป็นภัยต่อความโปร่งใสของกระบวนการเลือกตั้ง” เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งพรรคชาตินิยมฮินดู ภารติยะ ชนะตะ หรือบีเจพี คาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะอีกครั้ง
ที่มา: Reuters, Economic Times
]]>Walt Disney ประกาศรวมกิจการสื่อในประเทศอินเดียกับ Reliance อาณาจักรธุรกิจของ Mukesh Ambani มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ชาวอินเดีย ซึ่งจะทำให้ขนาดบริษัทใหม่หลังควบรวมกิจการกันแล้วนั้นจะใหญ่มากถึง 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 300,000 ล้านบาท และขึ้นเป็นผู้เล่นรายใหญ่ด้านความบันเทิงในอินเดียทันที
หลังจากการควบรวมกิจการแล้วนั้น Reliance จะถือหุ้นราวๆ 63.16% ขณะที่ทางฝั่ง Disney จะถือหุ้นอีก 36.84%
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Disney เลือกที่จะควบรวมกิจการกับธุรกิจสื่อของ Reliance เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจสื่อเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณจาก Sony ที่ประกาศควบรวมกิจการกับ Zee ซึ่งเป็นผู้เล่นสื่อรายใหญ่ของอินเดียอีกราย แม้ว่าดีลดังกล่าวในท้ายที่สุดจะล่มลงไป แต่ก็ทำให้เกิดแรงกดดันต่อผู้เล่นไม่น้อย
การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจใหม่นั้นเป็นผู้นำด้านความบันเทิงในอินเดีย เนื่องจากคอนเทนต์ในมือไม่ว่าจะเป็นละคร กีฬา และมีช่องโทรทัศน์รวมกันมากถึง 120 ช่อง ถือว่าหลากหลายกว่าคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Sony หรือแม้แต่ Zee
ไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อในประเทศอินเดียเท่านั้น แต่การรุกเข้ามาของแพลตฟอร์มอย่าง Netflix เองก็ถือเป็นแรงกดดันที่เร่งทำให้ Disney ต้องนำธุรกิจไปควบรวมกับธุรกิจสื่อของ Reliance
ก่อนหน้านี้ Disney ได้เสียลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด Cricket รายการสำคัญให้กับ Reliance มาแล้ว จนส่งผลทำให้ปริมาณผู้ชม Hotstar ในประเทศอินเดียลดลงทันที
นอกจากนี้มูลค่ากิจการธุรกิจสื่อในประเทศอินเดีย จากเดิมที่ Disney เคยซื้อกิจการ Fox ซึ่งรวมถึงธุรกิจในอินเดียเคยมีมูลค่าสูงสุดมากถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงการซื้อกิจการ ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ราวๆ 3,000 ล้านเหรียญเท่านั้น
Bob Iger ซึ่งเป็น CEO ของ Disney กล่าวถึงดีลดังกล่าวว่า อินเดียถือเป็นตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และเรารู้สึกตื่นเต้นสำหรับโอกาสในการร่วมทุนระหว่างกันนี้จะมอบผลตอบแทนระยะยาวให้กับบริษัท
การที่ Disney ควบรวมกิจการยังลดความเสี่ยงที่บริษัทใช้เงินมหาศาลเพื่อแย่งชิงตลาดผู้ชมในอินเดีย ซึ่งมีความเสี่ยงว่าบริษัทอาจสูญเสียความสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
ที่มา – Disney, Reuters, Al Jazeera
]]>Google วางแผนที่จะเริ่มผลิตสมาร์ทโฟน Pixel ในอินเดียภายในไตรมาส 2 นี้ โดยจะเริ่มผลิต Pixel 8 Pro ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ตามด้วยการผลิต Pixel 8 ประมาณกลางปี 2024 ซึ่งแผนการขยายฐานการผลิตในอินเดียนั้นไม่ได้มีแค่เหตุผลด้านปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น แต่ตลาดสมาร์ทโฟนอินเดียก็ยังน่าสนใจอีกด้วย หาก Google ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายที่จะมียอดขายกว่า 10 ล้านเครื่องในปีนี้
ในปีที่ผ่านมา ตลาดสมาร์ทโฟนของอินเดียรักษาเสถียรภาพด้วยยอดจัดส่งโดยรวม 148.6 ล้านเครื่อง ลดลงเล็กน้อย -2% ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย Canalys โดย Samsung ยังรักษาตำแหน่งผู้นำในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 20% มียอดจัดส่ง 7.6 ล้านเครื่อง ส่วน Xiaomi เป็นเบอร์ 2 ด้วยยอดจัดส่ง 7.2 ล้านเครื่อง ตามมาด้วย Vivo ครองตำแหน่งที่ 3 ด้วยยอดจัดส่ง 7 ล้านเครื่อง
นอกจากนี้ ตามรายงานของ Counterpoint Research ระบุว่า ในปี 2023 อินเดียกลายเป็น ตลาดสมาร์ทโฟนอันดับ 5 ของโลก ที่มียอดขาย iPhone เกิน 10 ล้านเครื่องในปีเดียว ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับ Apple โดย Tim Cook CEO ของ Apple เคยกล่าวไว้ว่า “อินเดียเป็นตัวแทนของโอกาสอันยิ่งใหญ่”
ที่ผ่านมา อินเดียได้เสนอสิ่งจูงใจแก่บริษัทต่าง ๆ ในการจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศ โดยมีบริษัทไอทีดัง ๆ อย่าง Dell, HP และ Lenovo เป็นหนึ่งใน 27 บริษัทที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนพฤศจิกายนให้ผลิตฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีในอินเดียภายใต้โครงการจูงใจที่เชื่อมโยงกับการผลิต
]]>สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวโดยอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้องว่าเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตสินค้าไอทีจากประเทศจีน ที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักในอินเดียชี้ว่าการที่รัฐบาลได้ตรวจสอบบริษัทจีนอย่างหนัก ส่งผลทำให้ซัพพลายเออร์ของบริษัทรู้สึกไม่สบายใจ และไม่กล้าที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศ
Muralikrishnan B. ซึ่งเป็นประธานของ Xiaomi อินเดีย ได้ตอบจดหมายของรัฐมนตรีกระทรวงไอทีของอินเดียว่าจะทำอย่างไรที่ผู้ผลิตสินค้าไอทีรายนี้จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งเขาชี้ว่าบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์นั้นไม่กล้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ เนื่องจากไม่สบายใจกับมาตรการของรัฐบาลอินเดีย
ประธานของ Xiaomi อินเดียยังกล่าวเสริมว่า “รัฐบาลอินเดียจำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการสร้างความมั่นใจ เพื่อสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนของโทรศัพท์นั้นสร้างโรงงานในประเทศ”
นอกจากนี้ Xiaomi เองยังดิ้นรนด้วยการยื่นฟ้องรัฐบาลอินเดียเพื่อที่จะลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับประกอบโทรศัพท์มือถือ โดยชี้ว่าเพื่อที่จะเพิ่มสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
บริษัทจีนประสบปัญหาในการตีตลาดประเทศอินเดีย เนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศบริเวณพรมแดน ส่งผลทำให้รัฐบาลอินเดียประกาศข้อระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลทำให้บริษัทจากจีนดำเนินธุรกิจได้ยากมากขึ้น ซึ่ง Xiaomi เองเป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
สำหรับผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศอินเดียนั้นเป็น Samsung ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอินเดียเป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งมากถึง 20% รองลงมาคือ Xiaomi ที่ 16% จึงทำให้บริษัทต้องหาทางในการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมา โดยในเดือนกรกฎาคมของปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทได้เตรียมเจาะตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น แม้ว่า 2 ประเทศนี้จะมีความขัดแย้งก็ตาม
ไม่ใช่แค่ Xiaomi ที่พบปัญหาความยากลำบาก แม้แต่บริษัทคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Vivo ก็ประสบปัญหาที่ว่าเช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียกล่าวหาว่าบริษัทละเมิดกฎระเบียบด้านวีซ่าเข้าประเทศ และยังรวมถึงการยักยอกเงินมากถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐออกนอกประเทศ
]]>กระทรวงการคลังอินเดีย คาดว่าภายในปี 2570 อินเดียอาจกลายเป็น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทางกระทรวงการคลังคาดว่าปีงบประมาณ 2567 (เริ่มในวันที่ 1 เมษายนและสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม) เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตที่หรือสูงกว่า 7% และถ้าสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย GDP อินเดียจะเติบโต 7% ติดต่อกัน 3 ปี โดยปัจจุบัน GDP ของประเทศอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ วี อนันทา นาเกสวารัน หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอินเดีย กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัลช่วยเพิ่มด้านอุปทานและการผลิต ด้วยเหตุนี้การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงน่าจะเข้าใกล้ 7% ในปีงบประมาณ 2568 และเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลคือ การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2590
“ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของอินเดียคือความแข็งแกร่งที่เห็นในอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มีต้นกำเนิดมาจากการปฏิรูปและมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Goldman Sachs รายงานว่า อินเดียมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกภายในปี 2618 โดยจะ ก้าวข้ามสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน อินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตามหลังสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ตามลำดับ
ปัจจุบัน ดัชนี Nifty 50 ของอินเดียเติบโตมากกว่า 20% โดยในเดือนนี้ดัชนีทะลุ 22,000 เป็นครั้งแรก พร้อมแซงหน้าฮ่องกงเป็นตลาดหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของโลก จากปัจจัยเม็ดเงินไหลเข้าประเทศ และเศรษฐกิจเติบโตสูง นอกจากนี้ นักลงทุนกำลังลุ้นว่าธนาคารกลางอินเดียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งน่าจะช่วยยกระดับตลาดหุ้นและกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
]]>ตลาดหุ้นอินเดีย ล่าสุดมีขนาดของตลาดแซงหน้าตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อย และทำให้ตลาดหุ้นอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกทันที
ข้อมูลล่าสุดจาก Bloomberg เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 มกราคม) ขนาดของตลาดหุ้นอินเดียนั้นอยู่ที่ 4.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าขนาดตลาดหุ้นฮ่องกงที่มีขนาดตลาด 4.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และการแซงหน้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกด้วย
ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียมีขนาดแตะ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นเป็นต้นมา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นคือ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันอินเดียยังมีจำนวนประชากรที่มากกว่าจีน ส่งผลทำให้มีแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าประเทศ
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ข้อมูลจาก BMI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Fitch Solutions ได้คาดการณ์ว่า การเติบโตของการใช้จ่ายครัวเรือนต่อหัวของอินเดียจะแซงหน้าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียได้ภายในปี 2027 และจะทำให้อินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่อันดับ 3 ยิ่งดึงดูดเม็ดเงินเพิ่มเติม
ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียถ้าหากดูตัวเลขกำไรการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นอีกตลาดหุ้นที่ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติสนใจมากขึ้นด้วย
ตรงข้ามกับตลาดหุ้นของฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด และอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
ขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้สร้างผลกระทบต่อบริษัทในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หลายรายจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง และยังรวมถึงปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้เม็ดเงินนักลงทุนโยกย้ายออกไปลงทุนในตลาดหุ้นอื่น ซึ่งรวมถึงอินเดียนั่นเอง
]]>มูลค่าตลาดหุ้นของ อินเดีย แซงหน้า ฮ่องกง จนกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็น อันดับ 7 ของโลก โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติของอินเดียอยู่ที่ 3.989 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับฮ่องกงอยู่ที่ 3.984 ล้านล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจากสหพันธ์การแลกเปลี่ยนโลก
โดยดัชนี Nifty 50 ของอินเดียพุ่งสู่ถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยรวมทั้งปี ดัชนี Nifty 50 พุ่งขึ้นเกือบ +16% ในปีนี้และกําลังมุ่งหน้าเติบโตติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ในทางตรงกันข้ามดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงร่วงลง -17% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทําให้เป็นตลาดหลักในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีผลการดําเนินงานแย่ที่สุด
อินเดียถือเป็นตลาดที่โดดเด่นในปีนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยขนาดจำนวนประชากรถึง 1.4 พันล้านคน สูงสุดในโลก อีกทั้งยังมีขนาดการเติบโตเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนได้จากการใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าไฮเอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สามารถดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียก็มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ในปีนี้ตลาดหุ้นอินเดียมีผลงานโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สวนทางกับทางดัชนีหุ้นฮ่องกงที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนสูง ทำให้วิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์จากจีนส่งผลต่อตลาดหุ้นฮ่องกง อีกทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นผลทำให้ดัชนี Hang Seng มีผลดำเนินการแย่ที่สุดในเอเขียแปซิฟิก
จากการประเมินของ HSBC มองว่า ภาคการธนาคาร, การดูแลสุขภาพ, และพลังงาน จะเป็นภาคส่วนที่ดีที่สุดของอินเดียในปีหน้า ขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น รถยนต์, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคมก็อยู่ในตําแหน่งที่ค่อนข้างดีในปีหน้าเช่นกัน
]]>