“อินเดีย” – “อินโดนีเซีย” มาแรงในหมู่นักลงทุน หลังปัจจัย “โครงสร้างประชากร” มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจ

ภาพโดย Luca จาก Pixabay
สองประเทศในเอเชียอย่าง “อินเดีย” และ “อินโดนีเซีย” กำลังเนื้อหอม! หลังจากนักลงทุนหันมามองปัจจัยด้าน “โครงสร้างประชากร” เป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจลงทุน

ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง “อินเดีย” และ “อินโดนีเซีย” ที่มีจำนวนประชากรเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จากการตัดสินใจของนักลงทุน เนื่องจากปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจ ตามข้อมูลจาก Fidelity International และ BlackRock Investment Institute

นักลงทุนกำลังมุ่งลงทุนไปที่สองประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคาดว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งอินเดียและอินโดนีเซียบังเอิญมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในปีนี้ และรัฐบาลใหม่ของทั้งสองประเทศแสดงจุดยืนว่ามีความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” โดยมีโครงสร้างประชากรคนหนุ่มสาวเป็นจุดแข็งหลัก

ภาพจาก Unsplash

สองประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่โดดเด่นขึ้นมาในห้วงเวลาที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันมีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศ “จีน” ด้วย

อินเดีย กลายเป็นประเทศที่เอาชนะจีนได้ในเรื่องจำนวนประชากรมาตั้งแต่กลางปี 2023 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์

ขณะที่การวิเคราะห์ของ BlackRock ฉายภาพให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกันในทางบวกระหว่างจำนวนประชากรวัยทำงานที่เติบโตขึ้นของประเทศหนึ่งกับการเติบโตของราคาหุ้นในตลาดหุ้น ส่วน Fidelity มองว่าภาคธุรกิจการเงินจะเป็นธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของประชากร เพราะทุกคนต้องการผลิตภัณฑ์การเงินไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือผู้บริโภคทั่วไปก็ตาม

Photo : Shutterstock

“แรงงานของอินเดียกับอินโดนีเซียยังเป็นหนุ่มสาว โครงสร้างประชากรของทั้งสองประเทศนี้โดดเด่นกว่าเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด” เอียน แซมสัน ผู้จัดการกองทุนของ Fidelity ในสิงคโปร์กล่าว “ทุกบริษัทไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องการบริการทางการเงิน นี่คือเหตุว่าทำไมราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารถึงมักจะโตสอดคล้องไปกับจีดีพีประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”

จำนวนประชากรในอินเดียและอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 10% นับจากปีนี้ไปจนถึงปี 2040 ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) แตกต่างจากจีนที่คาดว่าจำนวนประชากรจะลดลงเกือบ 4%

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวน คือการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรในกลุ่มวัยทำงานซึ่งหมายถึงคนวัย 15-64 ปี ในกรณีนี้จีนมีโครงสร้างประชากรวัยทำงานลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีคนหนุ่มสาวมากที่สุดในหมู่ประเทศที่เป็นประเทศหลักทางเศรษฐกิจ

ฌอน บัววีน ผู้นำกลุ่มนักวางกลยุทธ์จาก BlackRock Investment Institute วิเคราะห์ว่า การเพิ่มสัดส่วนกลุ่มคนวัยทำงานที่เร็วขึ้นมักจะสอดคล้องกับการเติบโตของผลกำไรบริษัทในอนาคต และเสริมด้วยว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผล ได้แก่ การย้ายถิ่นของแรงงาน การมีส่วนร่วมของแรงงานมากขึ้น และระบบออโตเมชัน

ภาพจาก Unsplash

ปัจจุบันดัชนี Nifty 50 (ดัชนีรวมหุ้น 50 บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอินเดีย) มีการซื้อขายกันในเป็นสถิติใหม่ และเตรียมจะเข้าสู่ช่วงการเติบโตต่อเนื่อง 9 ปีหากเทรนด์การซื้อขายยังรักษาระดับไว้ได้แบบนี้ ส่วนดัชนี Jakarta Composite Index (JCI) ของอินโดนีเซียก็เพิ่งจะทำราคาแตะสถิติสูงสุดไปเมื่อเดือนมีนาคม 2024

นักวิเคราะห์ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีงานที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ โดยการลดความยุ่งยากในการกำกับควบคุมโดยรัฐ กระตุ้นให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดงาน และอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงจะทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับแรงส่งจากโครงสร้างประชากรที่ดีของตนเอง

นักวิเคราะห์มองว่า มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นบ้างแล้วในการสร้างเสริมเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีอะไรต้องทำอีกมาก

ปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอินโดนีเซีย และจะเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ ประกาศว่า ตนตั้งเป้าจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตปีละ 8% แม้ว่าสถิติที่ผ่านมาของประเทศจะต่ำกว่านั้นมากก็ตาม

ส่วนในอินเดียนั้นยังอยู่ระหว่างเลือกตั้งที่จะไปสิ้นสุดวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งต้องจับตาดูว่า นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะชนะเลือกตั้งสมัยที่ 3 หรือไม่และชนะด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะหากชนะด้วยสัดส่วนที่เฉียดฉิวอาจจะทำให้แผนปฏิรูปประเทศของเขาเผชิญกับความยุ่งยากและไม่เป็นผลดีต่อตลาดเงินตลาดทุน

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศหนึ่งๆ จะมีผลต่อต้นทุนการอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลและเกษียณอายุ โดยในประเทศพัฒนาแล้วมักจะมีต้นทุนเรื่องสวัสดิการสังคมเหล่านี้สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา” ซานเจย์ ชาห์ ผู้อำนวยการแผนกตราสารหนี้ที่ HSBC Global Asset Management กล่าว “ในประเทศกำลังพัฒนา ภาระการจ่ายเงินเกษียณอายุให้ประชาชนมักจะต่ำกว่าและมีสิทธิประโยชน์ให้น้อยกว่า ซึ่งแปลว่าภาระต่อการใช้งบประมาณประเทศในส่วนนี้ก็จะน้อยกว่าเช่นกัน” ชาห์กล่าว

Source