เกษตรกรรม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 08 Apr 2022 06:57:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สงครามรัสเซีย-ยูเครน: กลุ่มประเทศ “เอเชียแปซิฟิก” ใครได้-ใครเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1381001 Fri, 08 Apr 2022 06:46:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381001 แม้กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ไกลห่างจาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ไม่ได้รับผลทางตรงจากการสู้รบ แต่ในเชิงเศรษฐกิจ ราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น การเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธของรัสเซีย และนักท่องเที่ยวรัสเซีย ปัจจัยเหล่านี้ย่อมมีผลทั้งทางบวกและลบต่อกลุ่มประเทศ “เอเชียแปซิฟิก”

Economic Intelligence Unit (EIU) เปิดเผยรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อประเทศใน “เอเชียแปซิฟิก” จากการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการรบและการคว่ำบาตร

โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งอออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะ “ปุ๋ย” “ธัญพืช/ข้าวสาลี” “น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ/ถ่านหิน” และ “แร่ธาตุ เช่น นิกเกิล”

ขณะที่เฉพาะประเทศรัสเซีย เป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลก และด้วยจำนวนประชากรทำให้ปกติแล้วจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางไปยังเอเชียแปซิฟิกจำนวนมาก

ข้าวสาลี
ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชรายใหญ่

ผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังสงครามปะทุคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้บางประเทศในเอเชียที่นำเข้าสินค้าเหล่านั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมต้องรับภาระต้นทุน โดยกลุ่มประเทศที่รับภาระราคาปุ๋ย ได้แก่ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ส่วนประเทศเอเชียตะวันออกที่เป็นแหล่งผลิตชิป ก็จะต้องรับภาระต้นทุนแร่ธาตุที่ใช้ผลิต

ขณะที่บางประเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกับรัสเซีย-ยูเครนจะได้อานิสงส์จากราคาที่ดีขึ้น และยอดส่งออกที่ดีจากการหาซัพพลายทดแทนจากประเทศอื่น เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซีย

ด้านประเทศที่พึ่งพิงอาวุธจากรัสเซียอาจจะขาดแคลนซัพพลาย หากเลือกร่วมคว่ำบาตรรัสเซียด้วย และประเทศที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวรัสเซียก็จะได้รับผลกระทบเพราะค่าเงินรูเบิลตกต่ำทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางลำบากขึ้น

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง ใครได้-ใครเสีย

อัปเดตราคาล่าสุดของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ราคาข้าวสาลี (ตลาดฟิวเจอร์ส) พุ่งขึ้น 65% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ตลาดฟิวเจอร์ส) พุ่งขึ้น 40% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงราคานิกเกิลที่ทะยานอย่างรุนแรงเพราะรัสเซียคือผู้ผลิตนิกเกิลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

“ประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูง”
  • ผู้ส่งออกถ่านหิน: ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มองโกเลีย
  • ผู้ส่งออกน้ำมันดิบ: มาเลเซีย, บรูไน
  • ผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ: ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, ปาปัวนิวกินี
  • ผู้ส่งออกนิกเกิล: อินโดนีเซีย, นิวคาลิโดเนีย
  • ผู้ส่งออกข้าวสาลี: ออสเตรเลีย, อินเดีย
บางประเทศในเอเชียแปซิฟิกกลับได้รับประโยชน์จากสงคราม เพราะเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเดียวกับรัสเซีย-ยูเครน เช่น น้ำมันดิบ (Photo : Shutterstock)
“ประเทศที่เสียประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูง” (*เปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏคือสัดส่วนการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศรัสเซียหรือยูเครน)
  • ปุ๋ย: อินโดนีเซีย (มากกว่า 15%), เวียดนาม (มากกว่า 10%), ไทย (มากกว่า 10%), มาเลเซีย (ประมาณ 10%), อินเดีย (มากกว่า 6%), บังกลาเทศ (ประมาณ 5%), เมียนมา (ประมาณ 3%), ศรีลังกา (ประมาณ 2%)
  • ธัญพืชจากรัสเซีย: ปากีสถาน (ประมาณ 40%), ศรีลังกา (มากกว่า 30%), บังกลาเทศ (มากกว่า 20%), เวียดนาม (เกือบ 10%), ไทย (ประมาณ 5%), ฟิลิปปินส์ (ประมาณ 5%), อินโดนีเซีย (น้อยกว่า 5%), เมียนมา (น้อยกว่า 5%), มาเลเซีย (น้อยกว่า 5%)
  • ธัญพืชจากยูเครน: ปากีสถาน (ประมาณ 40%), อินโดนีเซีย (มากกว่า 20%), บังกลาเทศ (เกือบ 20%), ไทย (มากกว่า 10%), เมียนมา (มากกว่า 10%), ศรีลังกา (เกือบ 10%), เวียดนาม (น้อยกว่า 5%), ฟิลิปปินส์ (ประมาณ 5%), มาเลเซีย (ประมาณ 5%)
ราคา “ปุ๋ย” ที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก มีผลต่อเนื่องต่อราคาพืชผลการเกษตร

 

หากคว่ำบาตรอาวุธรัสเซีย กระทบใคร?

EIU ระบุว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกหลักให้กับจีน อินเดีย และเวียดนามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

“การคว่ำบาตรทั่วโลกต่อบริษัทขายอาวุธของรัสเซีย จะทำให้ประเทศเอเชียไม่สามารถเข้าถึงอาวุธเหล่านี้ได้” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตอาวุธอื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ รวมถึงผู้ผลิตภายในประเทศนั้นๆ เองด้วย

“ประเทศที่พึ่งพิงอาวุธรัสเซียมากที่สุด” (ช่วงปี 2000-2020 เปอร์เซ็นต์แสดงสัดส่วนที่นำเข้าจากรัสเซีย)

มองโกเลีย (ประมาณ 100%), เวียดนาม (มากกว่า 80%), จีน (เกือบ 80%), อินเดีย (มากกว่า 60%), ลาว (มากกว่า 40%), เมียนมา (ประมาณ 40%), มาเลเซีย (มากกว่า 20%), อินโดนีเซีย (มากกว่า 10%), บังกลาเทศ (มากกว่า 10%), เนปาล (มากกว่า 10%), ปากีสถาน (น้อยกว่า 10%)

 

เมื่อนักท่องเที่ยวรัสเซียขาดแคลน

แม้ว่าน่านฟ้าเอเชียยังเปิดให้สายการบินรัสเซียบินผ่านได้ตามปกติ แต่นักท่องเที่ยวรัสเซียอาจจะบินออกนอกประเทศน้อยลง

“ความต้องการของคนรัสเซียที่จะเดินทางน่าจะได้รับผลกระทบจากการดิสรัปต์เศรษฐกิจ ค่าเงินรูเบิลตกต่ำ และการถอนตัวของระบบชำระเงินสากลจากรัสเซีย” EIU ระบุ

รัสเซีย เศรษฐกิจ เอเชีย
(Photo: Shutterstock)

รัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ระบบการเงินที่เชื่อมโยง 200 ประเทศทั่วโลกไปแล้ว ขณะที่ค่าเงินรูเบิลต่ำลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น แม้ว่าเงินรูเบิลจะดีดกลับขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาเมื่อต้นปีนี้ถึง 10%

ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนนักท่องเที่ยวรัสเซียมากที่สุดคือ “ไทย” เมื่อปี 2019 ประเทศไทยต้อนรับคนรัสเซียถึง 1.4 ล้านคน แต่นั่นก็คิดเป็นเพียง 4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาเยือนไทยในปี 2019

สำหรับอันดับ 2 ในเอเชียที่คนรัสเซียไปเยือนมากที่สุดคือ เวียดนาม รองมาอันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย อันดับ 4 ศรีลังกา และอันดับ 5 มัลดีฟส์

ในภาพรวม การขาดแคลนนักท่องเที่ยวรัสเซียอาจจะส่งผลไม่มากต่อเอเชียแปซิฟิก แต่ก็เป็นโอกาสที่น่าเสียดายของภูมิภาคนี้ เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังออกนอกประเทศได้ยากตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ภาคท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เข้ามาแทน และคงคาดหวังกับชาวรัสเซียได้ยากยิ่งขึ้น

Source

]]>
1381001
เปิดตำนาน 3 ทศวรรษ “ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” จากครูสู่นักธุรกิจพันล้าน ปั้นสินเชื่อภูธร ครองใจชาวบ้าน https://positioningmag.com/1306305 Tue, 08 Dec 2020 10:15:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306305 ศักดิ์สยามลิสซิ่งเจ้าของสมญานาม “สินเชื่อภูธรประเดิมเป็นบริษัทมหาชนที่เข้าระดมทุนหุ้น IPO เเห่งเเรกของจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังคลุกคลีในวงการ “หนี้ชาวบ้าน” มานานกว่า 3 ทศวรรษ

ท่ามกลางการเเข่งขันในสมรภูมิ “ลิสซิ่ง” ที่ดุเดือด ทั้งคู่เเข่งจากกลุ่มเเบงก์เเละนอนเเบงก์ ศักดิ์สยามฯ ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยการวางเป้าเติบโต “เท่าตัว” ทั้งพอร์ตสินเชื่อเเละสาขาให้ได้ภายใน 3 ปี ชูจุดเด่นฐานลูกค้าเกษตรกรต่างจังหวัดที่มีความสัมพันธ์เเน่นเเฟ้น

Positioning เปิดตำนาน “ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” เเบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ “ผศ.ดร.พูนศักดิ์ บุญสาลี” ผู้ปั้นสินเชื่อขวัญใจชาวบ้าน นำพาธุรกิจจากศูนย์สู่ระดับพันล้าน

จุดพลิกผัน : จากครูสู่นักธุรกิจ 

พูนศักดิ์ เล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนนครนายก มีฐานะค่อนข้างยากจน ร่ำเรียนในโรงเรียนรัฐทั่วไป จากนั้นได้ศึกษาต่อในวิทยาลัยครู เมื่อจบการศึกษาเเล้ว สามารถสอบบรรจุได้ที่วิทยาลัยครูจังหวัดอุตรดิตถ์” ในปี 2514

โดยในช่วงเวลานั้นเขาได้พบรักกับ “อ.จินตนา” ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่รู้จักกันในหมู่เพื่อนฝูง เมื่อดูใจกันมานานหลังเรียนจบได้ประมาณ 3 ปี จึงตัดสินใจเเต่งงานกัน เเละตกลงกันว่าจะตั้งรกรากเเละอยู่อาศัยในอุตรดิตถ์จากนั้นเรื่อยมา

ชีวิตเริ่มต้นด้วยการเป็น “ครู” ที่ไม่มีมรดกเเละทรัพย์สมบัติจากครอบครัว เหล่านี้ทำให้ “พูนศักดิ์เข้าใจถึงความยากจนเเละชีวิตของคนในชนบท ประกอบกับตอนทำงานก็ได้ออกไปลงพื้นที่ตามชุมชน เยี่ยมเยือนนักศึกษา จึงได้เห็นว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก เเละ “หาเเหล่งเงินทุนยาก”

พูนศักดิ์ ยังคงทำงานเป็นอาจารย์ต่อไป พร้อมกันนั้นได้ทำหน้าที่เเนะเเนวให้นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือต่างๆ จนกระทั่งมาปี 2529 ช่วงนั้นธุรกิจขายตรงในไทย เริ่มเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ผ่านการรุกตลาดโดยการขายสินค้าถึงหน้าบ้าน

มีพนักงานขาย (เซลส์) ของบริษัทหนึ่ง ขยายตลาดมาถึงอุตรดิตถ์ เป็นโอกาสที่ได้พูดคุยกัน เซลส์คนนั้นเกิดไอเดียขึ้นว่า “เป็นไปได้หรือไม่…ที่ผมจะขายเเล้วไม่ต้องอยู่รอเก็บเงิน”

ตอนนั้นพูนศักดิ์คิดขึ้นมาได้ว่าอยากหารายได้พิเศษให้นักศึกษา จึงเสนอว่าจะตั้งทีมจัดเก็บหนี้ให้ตามบิลที่ให้ไว้โดยมีเเบ่งค่าเเรงเเละหักค่าใช้จ่ายต่างๆ

ตอนนั้นผมคิดเเค่ว่าวินวิน ทั้งสองฝ่าย เราหางานให้เด็กทำได้ ส่วนเขาก็ทำยอดขายตามจังหวัดต่างๆ ได้เรื่อยๆ ไม่ต้องพะวงเรื่องบริหารหนี้….ไม่เคยคิดว่าจุดเริ่มต้นนั้น จะทำให้เรามีศักดิ์สยามในวันนี้ได้

ตั้งเเต่วันนั้น กลุ่มลูกศิษย์ก็ไปชักชวนคนในหมู่บ้านมาทำงานติดตามหนี้ด้วย ช่วยกันกระจายรายได้ ขยายไปได้หลายจังหวัดทั้งในอุตรดิตถ์ เเพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ เเละลงมายังภาคกลางเเละภาคอีสาน

สำนักงานเครดิตเเห่งเเรก เมื่อปี 2530

กำเนิด “ศักดิ์สยาม” 

ในปี 2536 บริษัทเริ่มมีการเติบโตเเละมี “เงินทุน” ในระดับหนึ่ง เเต่ธุรกิจขายตรงตอนนั้นกลับเริ่มซบเซา เพราะห้างจากกรุงเทพฯ เริ่มขยายสาขามาที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นมีทีมงานในสังกัดราว 80 คน ก็รู้สึกว่าต้องหาอาชีพใหม่ให้พวกเขา

“ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “สินเชื่อเพื่อสังคม” ที่ปล่อยเงินทุนให้คนที่ทำอาชีพต่างๆ จึงเกิดไอเดียนี้ขึ้นมา เเม้ตอนนั้นจะทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น เเต่ก็ควรจะเริ่มทำ สมัยนั้นเห็นชาวบ้านมีรถเป็นทรัพย์สินของบ้าน จึงคิดว่าจะทำการจำนำทะเบียนรถ เอาเเค่ทะเบียนมาเป็นหลักประกัน ช่วงเเรกๆ ที่ทำชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เบี้ยวหนี้เลย”

นี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” โดยชื่อดังกล่าวมาจากคำว่า “ศักดิ์จากชื่อเต็มของพูนศักดิ์ เเละคำว่าสยามมาจากการความต้องการที่จะเติบโตไปทั่วประเทศ

จากสาขาเเรก เริ่มต้นด้วยเงินทุนราว 2 ล้านบาท มีพนักงานในบริษัทเพียง 3 คน เปิดตัวด้วยบริการสินเชื่อทะเบียนรถ ต่อมาเมื่อปี 2548 ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ออกสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ต่อมาด้วยนานาไฟเเนนซ์

สาขาแห่งแรกในอุตรดิตถ์ ปี 2538

ปัจจุบันศักดิ์สยามฯ มีสาขาหลักๆ กระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เเละภาคตะวันตก รวมทั้งสิ้นกว่า 519 สาขาในพื้นที่ 38 จังหวัด มีพนักงาน 1,600 คน เน้นตั้งในทำเลใกล้หมู่บ้าน ห่างกันราวๆ สาขาละ 3 ตำบล

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2562) บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและบริการ เฉลี่ย 31.6% ต่อปี จาก 924 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท ขณะที่งวดครึ่งเดือนแรกของปีนี้รายได้สินเชื่ออยู่ที่ 816 ล้านบาท เติบโต 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตอนนี้มีขนาดพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 6,067 ล้านบาท มีลูกหนี้ราว 2.3 เเสนสัญญา เเบ่งเป็นลูกหนี้มีหลักประกัน 88% และลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน 12% ของพอร์ตสินเชื่อรวมผ่านผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้เเก่

  • สินเชื่อทะเบียนรถ (Vehicle Title Loan)
  • สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan)
  • สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance)
  • สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน (Hire-Purchase and Car for Cash)

ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,000-35,000 บาทต่อราย ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาคือ พ่อค้าเเม่ค้าในท้องถิ่นเเละพนักงานประจำ โดยช่วงที่มีลูกค้ามาขอสินเชื่อมากที่สุด คือไตรมาส 2-3 เพราะเป็นช่วงเปิดภาคเรียน มีอายุเฉลี่ยของพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ 18-24 เดือน และสินเชื่อเกษตรกรที่ 4 เดือน

ลูกค้าเราต้องการความจริงใจมาก ไม่อยากเบี้ยวหนี้ ต้องจำเป็นจริงๆ ค่อยมาขอความช่วยเหลือ เราจึงต้องเข้าถึงพวกเขาด้วยการเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ชุมชน ให้เกียรติชาวบ้าน สร้างความคุ้นเคย ทำให้พวกเขาสบายใจที่จะมาหาเรา เเละนำไปบอกต่อเพื่อนบ้าน

ตอนนี้เงินกู้นอกระบบยังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก สิ่งที่เราทำได้คือการมุ่งขยายเข้าไปในชุมชนให้ได้มากที่สุด เจาะตามตำบลหมู่บ้าน สร้างการรับรู้ว่าเราเป็นเงินกู้ในระบบที่ ธปท. ควบคุมได้ มีดอกเบี้ยที่เป็นธรรม”

บรรยากาศภายในสาขาของศักดิ์สยามลิสซิ่ง

ยุคใหม่ในมือทายาทรุ่น 2 หวังโต “สองเท่า” 

บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ SET วันนี้ (8 ธ.ค. 2563) เป็นวันแรก โดยราคาหุ้นปรับขึ้น 90.54% มาอยู่ที่ 7.05 บาท จากราคาจองซื้อ IPO ที่ 3.70 บาท

หลังระดมทุน IPO บริษัทมีเป้าหมายขยายธุรกิจเติบโตให้ได้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2566) ทั้งจำนวนสาขาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,119 สาขา ในทำเลพื้นที่ภูมิภาคเดิม รวมถึงขยายพอร์ตสินเชื่อจาก 6,067 ล้านบาท เพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาท

เมื่อถามว่า ทำไมศักดิ์สยามลิสซิ่ง ยังไม่มีเเผนจะลงไป “ภาคใต้” นั้น พูนศักดิ์ ตอบว่า ต้องสร้างความเเข็งแกร่งในจุดที่เราชำนาญก่อน โดยภาคเหนือ ภาคกลางเเละภาคอีสาน ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึง ถือเป็นโอกาสอีกมาก ซึ่งอนาคตก็ต้องดูกันต่อไป

เราไม่ได้มุ่งเเข่งขันกับเจ้าใหญ่ มองว่า คำว่าตลาดเต็ม” จริงๆ นั้นไม่มี เพราะตลาดสินเชื่อยังใหญ่มาก ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้าไปเเล้วจะได้ลูกค้ามาอย่างไร

ปัจจุบันบริษัทมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 2.2-2.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจ ส่งผลต่อภาวะหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นนั้น บริษัทได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากมีลูกค้าเป็นกลุ่มเกษตรกร และพ่อค้าแม่ค้าที่ยังมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการชำระค่างวดของ
บริษัทจะเป็นลักษณะ 4 เดือน/ครั้ง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าดังกล่าว รวมถึงยังคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับปานกลาง

สำนักงานใหญ่ในปัจจุบันของศักดิ์สยามลิสซิ่ง ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จะก้าวสู่ยุคใหม่หลังระดมทุน IPO ภายใต้การนำของ “ทายาทรุ่น 2” อย่าง “ศิวพงศ์ บุญสาลี” ลูกชายคนโตที่มีดีกรีจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่จะสานต่อกิจการด้วยทิศทางดิจิทัล

“เราตั้งเป้าสินเชื่อต่อจากนี้เติบโตอย่างน้อย 25% ต่อปี โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายสาขาในพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่ๆ รวมถึงลงทุนด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ความเสี่ยง ทำแอปพลิเคชัน การตลาดออนไลน์เเละวางระบบดิจิทัลอื่นๆ” ศิวพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของสินเชื่อทะเบียนรถในไทยอยู่ที่ราว 2 เเสนล้าน โดยศักดิ์สยามลิสซิ่งครองส่วนเเบ่งตลาดราว 2.5-3% ท่ามกลางการเเข่งขันที่ดุเดือด ทั้งในเครือแบงก์และนอนแบงก์ กว่า 20-30 ราย เเละยังมีอีกหลายบริษัทที่มีเเผนจะระดมทุน IPO ในเร็วๆ นี้ด้วย 

สร้างพนักงานด้วยหลัก “เก้าอี้ 4 ขา” 

ย้อนกลับไปถึงการเทรนนิ่งพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจสินเชื่อ ผู้บริหารศักดิ์สยามลิสซิ่ง เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นอาจารย์มาก่อน จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการทำหลักสูตร โดยมีหลักการสอนพนักงานในการปล่อยสินเชื่อเเบบ เก้าอี้ 4 ขาได้เเก่ 

  • ต้องรู้จักการตลาด
  • วิเคราะห์สินเชื่อเป็น
  • รู้เรื่องระบบการเงินการบัญชี
  • บริหารจัดการหนี้ให้เป็น

พนักงานของเรา ขายหนี้เเล้ว ต้องจัดเก็บหนี้ได้ด้วย ต้องปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง

เมื่อถามว่า หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายมรสุมเศรษฐกิจ มองว่าช่วงไหนสถานการณ์ วิกฤตที่สุด” ?

ผมว่าหนักที่สุดคือวิกฤต COVID-19 เพราะช่วงต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 นั้น บริษัทเเทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ตอนนั้นเป็นเรื่องในตัวเมือง เเต่ชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังทำมาหากินได้ เเต่ครั้งนี้ที่เป็นโรคระบาดทั่วโลก ประเทศต้องล็อกดาวน์ ประชาชนรายได้ลดลง ยอดตกงานพุ่งสูงก็มีผลต่อการบริหารหนี้สิน

โดยสิ่งสำคัญในการพยุงธุรกิจในช่วงวิกฤต คือต้องรักษาเงินสดในมือไว้ให้ได้ อีกทั้งยังต้องหาวิธีทำงานรูปแบบใหม่เเละต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น เพื่อสกัดปัญหาหนี้เสีย

ชีวิตต้องมีความมุ่งมั่นเเละอดทน ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล พัฒนาการศึกษา ต้องมีหลักการที่ยึดมั่น มีเป้าหมาย ทำงานเเบบเคารพกันเเละกัน

ลูกหนี้เมื่อ 30 ปีก่อนกับปัจจุบัน เเตกต่างกันอย่างไร 

ผมว่าสมัยก่อนเก็บหนี้ได้ง่ายกว่าสมัยนี้มาก เบี้ยวหนี้มีน้อยมาก เพราะทำการเกษตรได้ผลดี คนที่ลำบากมากๆ ก็จะมาบอกตรงๆ ว่าขอผ่อนผันหน่อย พอหาเงินมาได้หรือส่งลูกเรียนจบก็จ่ายหมดเลย คนไม่อยากเป็นหนี้ โจทย์ใหญ่ของเราคือการสร้างความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ ให้รู้สึกเป็นกันเอง เมื่อเดือดร้อนจะได้คิดถึงเราเป็นที่เเรก เเละบอกต่อกัน

พูนศักดิ์ ขยายความว่า ประเด็นที่ว่าสมัยนี้เก็บหนี้ยากกว่าเเต่ก่อน หลักๆ มาจากเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนเเปลงไปซึ่งมีผลต่อชีวิตคนมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่พึ่งพาฟ้าฝน เมื่อผลผลิตไม่ได้ตามปกติเเละไม่ตรงเวลา ก็ทำให้มีรายได้ที่ลดลง จึงเกิดหนี้สินพอกพูนขึ้นจากการหมุนเงินไม่ทัน 

หลังอยู่ในวงการสินเชื่อมากว่า 3 ทศวรรษ มองว่าควรทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยหลุดจาก วังวนเเห่งการเป็นหนี้ ?

สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาให้ชาวบ้านเข้าถึงเเหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมาย รัฐบาลต้องส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างเรื่องน้ำก็จะพัฒนาไปได้อีกไกล เพราะชาวไร่ชาวนาเป็นคนขยัน ไม่ได้ขี้เกียจ เเต่พวกเขาไม่รู้จะยกระดับอาชีพเเละเกษตรกรรมได้อย่างไร เหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่ฉุดรั้งชีวิตเเละรายได้ของชาวบ้านมายาวนานมาก เเละยิ่งทรุดลงไปอีกเมื่อเจอเศรษฐกิจย่ำเเย่

]]> 1306305 รู้จักเทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ปิด แก้ปัญหาเผาป่าทำเกษตร https://positioningmag.com/1306038 Sat, 14 Nov 2020 08:25:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306038 ทุกวันนี้ฟาร์มปศุสัตว์โดยเฉพาะฟาร์มโคเนื้อ-โคนม กลายเป็นผู้ร้ายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัวต้องการอาหาร นำไปสู่การถางป่า-เผาป่าเพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ต้นตอปัญหาโลกร้อน ทำให้ Grov สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ดัดแปลงเทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” มาใช้ในระดับอุตสาหกรรม ปลูกข้าวบาร์เลย์-ข้าวสาลีเลี้ยงวัว ลดการใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรม

เทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” หรือสวนที่ปลูกในที่ร่มไม่ใช่เรื่องใหม่ มีสตาร์ทอัพและบริษัทจำนวนมากคิดค้นสูตรเพื่อปลูกพืชแนวตั้ง แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ “ผักสลัด” สำหรับมนุษย์บริโภค แต่สตาร์ทอัพ Grov Technologies ไม่คิดเช่นนั้น พวกเขานำเทคโนโลยีสวนแนวตั้งมาใช้สำหรับปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีไว้เลี้ยงวัว

ในพื้นที่ฟาร์มวัวแห่งหนึ่งของรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา มีตึกลักษณะคล้ายเต็นท์ยักษ์แห่งหนึ่งที่ด้านในบรรจุหอสูง 10 แท่ง สูงแท่งละ 25 ฟุต (ประมาณ 7.5 เมตร) เพื่อปลูกธัญพืชไว้เลี้ยงวัวที่เดินอยู่ด้านนอก บริษัท Grov รายงานว่า หอแต่ละแท่งใช้พื้นที่ 850 ตารางฟุตเท่านั้น (ประมาณ 79 ตารางเมตร) แต่สามารถปลูกข้าวบาร์เลย์ได้เทียบเท่ากับที่ปลูกบนพื้นราบเนื้อที่ 35-50 เอเคอร์ (ประมาณ 88-126 ไร่) แถมยังใช้น้ำเพียง 5% ของที่เคยใช้เมื่อปลูกพืชตามวิธีปกติ

หอสำหรับปลูกพืชในร่ม (Photo : Grov Technologies)

กระบวนการทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์จะเทเมล็ดพันธุ์ 4 ปอนด์ลงในแต่ละถาด และส่งถาดนั้นเข้าสู่ระบบ เซ็นเซอร์จะคอยมอนิเตอร์สภาวะของพืชในถาดและให้แสงกับน้ำที่เพียงพอ จนกระทั่งเติบโตถึงจุดที่เหมาะสมก็จะเก็บเกี่ยวอัตโนมัติเช่นกัน ทำให้ฟาร์มไม่จำเป็นต้องหาคนงานเพิ่มเติมมาดูแลระบบ บริษัทระบุว่า โดยเฉลี่ยระบบนี้จะใช้เวลา 6 วันครึ่งในการปลูกพืชแต่ละรอบ

นอกจากนี้ Grov ยังพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุดที่ทำได้ เช่น แสงไฟฟ้าสำหรับปลูกพืชจะไม่ส่งความร้อนออกมาด้วยเพื่อเลี่ยงปัญหาค่าไฟพุ่งทะยานจากการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ และบริษัทยังทำระบบให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ด้วย

 

ประหยัดพื้นที่ ลดการถาง-เผาป่าปลูกพืช

“สตีฟ ลินด์สลีย์” ประธานบริษัท Grov Technologies กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ที่ดินของสหรัฐฯ ราว 41% ของประเทศใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และดีมานด์เพื่อใช้ที่ดินไปในทิศทางนั้นยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะสำหรับพืชเลี้ยงสัตว์กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ

(Photo : Twitter@GrovTech

ดังนั้น ในบางพื้นที่ของประเทศ จะมีการถางป่าหรือเผาป่าเพื่อนำมาใช้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ประเภทโคหรือไก่ “เทคโนโลยีนี้เห็นได้ชัดว่าจะมีประโยชน์ยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม เราคิดว่ามันจะมีความหมายอย่างลึกซึ้งในการพัฒนา เมื่อคุณคิดถึงการทำลายป่าเพื่อเหตุนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก” ลินด์สลีย์กล่าว

เมื่อใช้ที่ดินน้อยลง น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาจากการทำปศุสัตว์และเกษตรกรรมในขณะนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีน เป็นกลุ่มทุนที่เข้าซื้อที่ดินเกษตรกรรมทั่วโลกเพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ส่งกลับประเทศตัวเอง รวมถึงที่สหรัฐฯ ด้วย
ดังนั้น “จีน” จะเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่บริษัทนี้บุกเข้าตลาด เพื่อแนะนำระบบการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์โดยตรงเข้าสู่ฟาร์ม ไม่ต้องเสียทั้งที่ดินและเชื้อเพลิงเพื่อขนส่งข้ามโลก

 

โต้กลับกลุ่มอาหาร Plant-based

จากการทดลองเบื้องต้นในการเลี้ยงวัวหลักร้อยตัวเมื่อปี 2019 ฟาร์มที่ทดลองใช้พบว่าพืชจากการปลูกในร่มกลับมีโภชนาการดีกว่าที่ปลูกบนพื้นที่ปกติ ทำให้วัวกินอาหารน้อยลง และลดค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก โดยที่วัวยังให้ปริมาณนมเท่าเดิม

Grov ประเมินว่าฟาร์มที่ลงทุนเทคโนโลยีนี้จะเข้าสู่จุดคุ้มทุนภายใน 3 ปี และยังลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เริ่มถี่มากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีนี้จะมาแทนที่ฟาร์มปกติได้ทั้งหมด แต่มองว่าจะเป็นสัดส่วนอาหารที่เข้าไปผสมกับอาหารสัตว์จากแหล่งปกติ ยกตัวอย่างเช่นฟาร์มในรัฐยูทาห์ที่กล่าวข้างต้น พืชจากสวนแนวตั้งคิดเป็นสัดส่วน 15% ของอาหารทั้งหมดเพื่อเลี้ยงวัวจำนวน 2,000 ตัว ถึงแม้จะผสมเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่ก็มีศักยภาพพอที่จะช่วยโลกจากการถางป่า สาเหตุของโลกร้อน

ลินด์สลีย์ยังมองประโยชน์ในเชิงการค้าด้วย เพราะทุกวันนี้มีกระแสการทานอาหาร Plant-based หรือเนื้อทำจากพืชซึ่งผลิตขึ้นในห้องแล็บ โดยผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทานอาหารประเภทนี้ ส่วนหนึ่งเพราะตระหนักถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมในแวดวงปศุสัตว์ ดังนั้น การเปลี่ยนวิธีปลูกพืชจะเป็นการโต้กลับของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เพื่อนำผู้บริโภคกลับคืนมา

Source

]]>
1306038