โรงแรมฟื้นตัว! “เซ็นทารา” วางแผนเปิด 100 แห่งใน 5 ปี สงคราม “รัสเซีย” อาจกระทบระยะยาว

เซ็นทารา
  • ธุรกิจโรงแรมปีนี้เป็นไปในเชิงบวก “เซ็นทารา” วางเป้ารายได้ 5,900 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2562 (ก่อนเกิด COVID-19) เตรียมกลับมาให้บริการครบทุกโรงแรม และเปิดบริการเพิ่ม 8 แห่ง
  • เดินหน้าต่อตามแผนระยะยาว 5 ปี มีโรงแรมในพอร์ตเพิ่ม 100 แห่ง (รวมทั้งสัญญาจ้างบริหารและลงทุนเอง) หรือเฉลี่ยเพิ่มปีละ 20 แห่ง วางทำเลหลัก ไทย เวียดนาม ดูไบ จีน และมัลดีฟส์
  • ปัจจัยลบใหม่ที่เข้ามาคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ระยะสั้นยังไม่กระทบ ลูกค้ายังเดินทางเข้าพักปกติ แต่ระยะยาวอาจเกิดปัญหาจากค่าเงินรูเบิลตกต่ำ และอาจมีผลให้การฟื้นตัวเต็มที่ของธุรกิจโรงแรมเลื่อนจากปี 2567 เป็น 2568
  • คาดหวังภาครัฐสนับสนุนท่องเที่ยว เปิดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟสใหม่ และยกเลิกระบบ Test & Go นักท่องเที่ยวต่างชาติตรวจครั้งเดียวจากต้นทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายจูงใจการเดินทาง

หนึ่งในเครือโรงแรมรายใหญ่ของไทยเปิดแผนและวิสัยทัศน์ธุรกิจหลัง COVID-19 มีทิศทางดีขึ้น “ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และ “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงินและรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงแผนปี 2565 และแผนระยะยาว 5 ปี (2565-2569)

สำหรับปี 2565 เซ็นทาราวางเป้ารายได้ 5,900 ล้านบาท (รวมรายได้ทั้งหมดของโรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ต ดูไบ ซึ่งเครือถือหุ้นอยู่ 40%) และเป้าอัตราเข้าพัก 40-50% เป้าหมายรายได้จากห้องที่ขายได้ (ADR) เฉลี่ย 4,100-4,200 บาท และเป้าหมายรายได้เฉลี่ยจากห้องที่มีทั้งหมด (RevPar) วางไว้ที่ 1,700-1,900 บาท

เซ็นทารา
เซ็นทารา โฮเทล โคราช เตรียมเปิดบริการปี 2565

ถือเป็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นมากเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีอัตราเข้าพักเพียง 19% และถ้าเทียบกับปี 2562 ซึ่งยังไม่เกิดโรคระบาด ถือว่ารายได้ฟื้นขึ้นมาคิดเป็น 70% ของปี 2562

ด้านการให้บริการโรงแรม เซ็นทารากำลังจะกลับมาเปิดบริการครบทุกแห่งเดือนเมษายนนี้ โดย 2 แห่งสุดท้ายที่จะกลับมาเปิดอยู่ในภูเก็ต

ขณะที่การเปิดบริการโรงแรมแห่งใหม่ปี 2565 คาดว่าจะมี 8-10 แห่ง รวมห้องพักราว 1,000 ห้อง ทำเลทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น อุบลราชธานี, นครราชสีมา, กาตาร์, โอมาน, สปป.ลาว

 

ปีนี้หวังพึ่งโรงแรมต่างประเทศ ในไทยลุ้นชาวจีนกลับมา

หากเจาะลึกในประมาณการของปีนี้ กันย์ระบุว่ารายได้จะมาจากโรงแรมในมัลดีฟส์ 22% โรงแรมในดูไบ 20% และโรงแรมในไทยส่วนที่เหลือ 58%

เมื่อเทียบกับปี 2562 ปีนั้นรายได้จากโรงแรมในไทยจะมีสัดส่วน 70% และจากต่างประเทศ 30% เห็นได้ว่าปีนี้โรงแรมในต่างประเทศฟื้นตัวได้มากกว่า

เซ็นทารา แกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา มัลดีฟส์

“ดาวรุ่งของเราปีนี้จะเป็นโรงแรมต่างประเทศทั้งในมัลดีฟส์และดูไบ โดยเฉพาะมัลดีฟส์ที่ล่าสุดมีอัตราเข้าพัก 100% ในช่วงสุดสัปดาห์แล้ว เฉลี่ยแล้วดีกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปี 2562” ธีระยุทธกล่าว

ตลาดประเทศไทยนั้นมองว่าช่วงครึ่งปีแรก 2565 จะยังต้องเน้นนักท่องเที่ยวในประเทศก่อน คิดเป็นอัตรา 80-90% ของทั้งหมด ส่วนครึ่งปีหลังนั้นคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น จากนักท่องเที่ยวยุโรปที่มักจะเข้ามาช่วงไตรมาส 4 และนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเริ่มเดินทางได้ไตรมาส 3

“พาร์ตเนอร์ธุรกิจในจีนแจ้งว่านโยบายรัฐขณะนี้น่าจะผ่อนคลายการเดินทางช่วงไตรมาส 3 ที่จริงแล้วการเดินทางออกไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือขากลับเข้าประเทศจีนซึ่งยังต้องกักตัว 14-21 วัน ทำให้ชาวจีนไม่สะดวก ถ้าหากจีนปลดล็อกจุดนี้หรือลดเหลือไม่เกิน 7 วัน น่าจะได้เห็นชาวจีนกลับมาประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ที่คนจีนชื่นชอบอยู่แล้ว” ธีระยุทธกล่าว

 

แผนลงทุน-เซ็นดีลบริหาร รวม 100 แห่งภายใน 5 ปี

ณ สิ้นปี 2564 เซ็นทารามีโรงแรมภายใต้การบริหาร 85 โรงแรม (17,448 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 46 โรงแรม (9,410 ห้อง) และโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 39 โรงแรม (8,038 ห้อง)

ธีระยุทธกล่าวว่า “เซ็นทารา” ตั้งเป้าที่จะมีโรงแรมภายใต้การบริหารเพิ่มอีก “100 โรงแรม ภายใน 5 ปี” หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20 โรงแรม ซึ่งรวมทั้งการลงทุนพัฒนาโรงแรมเอง (own property) และสัญญารับบริหาร (managed property)

ภาพร่างโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น Taisei Corporation และ Kaden Realty & Development

ในรอบ 5 ปีนี้ เซ็นทารามีแผนที่จะลงทุนพัฒนาโรงแรมเองอยู่แล้วอย่างน้อย 5 แห่ง (รวมที่มีการจอยต์เวนเจอร์กับทุนท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ด้วย) ได้แก่ ทำเลเกาะลันตา จ.กระบี่, ทำเลเขาเต่า หัวหิน, โรงแรมในมัลดีฟส์เพิ่มอีก 2-3 แห่ง และโรงแรมในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อสร้างไปแล้ว 38% จะพร้อมเปิดบริการปี 2566

ส่วนที่เหลือที่จะมองหาดีลเซ็นสัญญารับจ้างบริหาร เซ็นทารามีโลเคชันหลัก คือ “เวียดนาม” ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดเพิ่ม 20 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 1 แห่งที่เซ็นทารา มิราจ รีสอร์ท มุยเน่ โดยปีนี้มีดีลระหว่างเจรจาแล้ว 7-8 แห่ง

เซ็นทารา มิราจ รีสอร์ท มุยเน่ โรงแรมแรกของเครือในเวียดนาม

อีกประเทศหนึ่งคือ “จีน” ซึ่งมีดีลเจรจาอยู่ 3 แห่ง และในประเทศ “ไทย” เองก็มีเจรจาดีลกับเจ้าของโรงแรม 3 แห่ง ส่วนทำเลที่คาดหวังอื่นๆ จะเกาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเป็นหลัก

ด้านความมั่นใจในการลงทุนของเจ้าของโปรเจกต์ ผู้บริหารเซ็นทารามองว่าธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มองระยะยาว และนักลงทุนยังคงมั่นใจการกลับมาของการท่องเที่ยว จึงยังลงทุนต่อเนื่อง

 

“รัสเซีย” ระยะสั้นยังปกติ แต่อาจส่งผลระยะยาว

ขณะที่ประเด็นร้อนในช่วงนี้อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ธีระยุทธกล่าวว่า ระยะสั้นยังไม่เห็นผลกระทบ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันของนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะออกต่างประเทศอยู่แล้ว ส่วนที่ยังเดินทางมาก็ไม่มีการยกเลิก และยังไม่มีข้อติดขัดด้านการชำระเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่เซ็นทาราจะรับจองแบบชำระเงินล่วงหน้า (pre-paid)

สัดส่วนของนักท่องเที่ยวรัสเซียในเครือเซ็นทาราเฉพาะช่วงไฮซีซัน (ช่วงปลายปีจนถึงต้นปี) ในภูเก็ตจะอยู่ที่ 20% ดูไบ 11% และมัลดีฟส์ 6-7%

โรงแรมในภูเก็ตเป็นพอร์ตที่มีสัดส่วนแขกชาวรัสเซียมากที่สุดในเครือ (ภาพจากโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต)

ธีระยุทธมองว่า ชาวรัสเซียอาจจะไม่ใช่สัดส่วนพอร์ตใหญ่แต่ก็ต้องจับตามองระยะยาวว่าสงครามจะยาวนานแค่ไหน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียหลังค่าเงินรูเบิลร่วงลงไปแล้ว 40% จะทำให้ชาวรัสเซียมีกำลังซื้อน้อยลงแน่นอน ซึ่งเซ็นทารากำลังหานักท่องเที่ยวทดแทน

กลุ่มที่เป็นเป้าหมายคือ “อินเดีย” ซึ่งนิยมเดินทางเข้าทั้งมัลดีฟส์และไทย “ออสเตรเลีย” ซึ่งเริ่มเปิดประเทศเดินทางได้สะดวกแล้ว และ “ยุโรป” ซึ่งจะต้องจัดโปรโมชันมากขึ้นสำหรับกลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาปิดน่านฟ้าอาจทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น

ธีระยุทธยังกล่าวถึงโอกาสใน “ซาอุดีอาระเบีย” จากการฟื้นความสัมพันธ์ เซ็นทาราจะเริ่มเจาะตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวซาอุฯ เข้าไทยและดูไบ และอนาคตอาจหาโอกาสการลงทุนในซาอุฯ เนื่องจากเป็นประเทศขนาดใหญ่ของตะวันออกกลางที่มีการเดินทางเข้าออกมาก และประชาชนมีกำลังซื้อสูง

 

อ้อนภาครัฐจัด “เราเที่ยวด้วยกัน” ยกเลิก Test & Go

จากการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ธีระยุทธมองว่าน่าจะทำให้การฟื้นตัวเต็มที่เท่ากับปี 2562 ของธุรกิจโรงแรม เลื่อนจากที่คาดไว้ปี 2567 เป็นปี 2568

“ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และ “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงินและรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)

หากจะกระตุ้นให้โรงแรมฟื้นตัวได้ดีขึ้น มองว่านโยบายภาครัฐจะช่วยสนับสนุนได้ดี ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก รายได้ถึง 20% ของเซ็นทาราเมื่อปี 2564 เกิดจากโครงการนี้ และหากมีเฟสใหม่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การท่องเที่ยวในประเทศคึกคัก

อีกส่วนหนึ่งคือการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองว่าควรจะยกเลิกระบบ Test & Go เหลือเพียงการตรวจจากประเทศต้นทางครั้งเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลงมากและมีไทยเป็นตัวเลือกการเดินทางมากขึ้น