แกรมมี่ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 18 Apr 2023 02:28:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ล้วงเคล็ดวิชาการทำงานจาก “พี่เบิร์ด-ธงไชย” ศิลปินดาวค้างฟ้าผู้ “อยู่มาทุกยุค” ตัวจริง! https://positioningmag.com/1427555 Mon, 17 Apr 2023 12:57:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1427555 การเป็นศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์มาได้นานถึง 37 ปีไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย แต่มาจากทัศนคติและวินัยที่เข้มแข็ง Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับ “พี่เบิร์ดธงไชย แมคอินไตย์” ตำนานศิลปินที่อยู่มาทุกยุค ขอเคล็ดวิชา “การทำงาน” ที่ทำให้พี่เบิร์ดยังมีไฟในการผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง

“ธงไชย แมคอินไตย์” หรือ “พี่เบิร์ด” ของทุกคนปล่อยอัลบัมแรก “หาดทราย สายลม สองเรา” ออกมาตั้งแต่ปี 2529 นับถึงวันนี้ผ่านมา 37 ปีโดยที่พี่เบิร์ดไม่เคยหยุดสร้างผลงานเพลงใหม่ๆ ยังคงมีงานแสดงคอนเสิร์ตสม่ำเสมอ และยังคงถูกยกย่องเป็นซูเปอร์สตาร์นักร้องเบอร์ 1 ของประเทศไทยอย่างไร้ข้อกังขา

ว่าที่จริงแล้วสรรพสิ่งย่อมมีขึ้นแล้วมีลง แต่พี่เบิร์ดดูจะยังไม่ยอมถึงขาลงง่ายๆ แม้โลกจะหมุนไปเร็วขึ้น พร้อมด้วยแนวเพลงแนวดนตรีใหม่ๆ แต่พี่เบิร์ดยังคงอยู่พร้อมพิสูจน์ตัวว่า “อยู่มาทุกยุค” และจะยุคไหนพี่ก็จะอยู่ ด้วยงานเพลงที่สามารถปรับตามสมัยนิยม เปิดกว้าง มีผลงานคอลแลปกับศิลปินคลื่นลูกใหม่ ไม่เคยมีคำว่า ‘เอาต์’ สำหรับชายคนนี้

พี่เบิร์ด-ธงไชย
อัลบัม “22” ของพี่เบิร์ด อัลบัมล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อปี 2565

สิ่งเหล่านี้ทำให้พี่เบิร์ดยังคงเป็นศิลปินร่วมสมัยแม้จะอยู่ในวัยย่าง 65 ปี และเป็น “การทำงาน” ที่เราอยากขอเคล็ดวิชาเพื่อนำมาสร้างความเป็นซูเปอร์สตาร์ในตัวเองเช่นกัน

 

Q: คำถามแรกที่ทุกคนอยากรู้คือพี่เบิร์ดเคยมีอาการหมดไฟ (burn out) แบบที่คนรุ่นใหม่ชอบพูดกันบ้างไหม

พี่เบิร์ด: เออ ทำไมพี่ไม่หมดเลยวะ พี่มีอยู่ตลอดเวลาเลย พี่คิดว่าเราต้องอยู่กับเขาให้ดี (เขา = งานที่ตัวเองทำ) แล้วก็สอบถามซักถามตัวเองให้ดีว่าชอบเขาหรือรักเขาตรงไหน

แล้วก็พี่เบิร์ดโตมาตั้งแต่อัลบัมแรกจนถึงอัลบัมนี้ ไม่มีนักร้องคนไหนทำอย่างที่พี่เบิร์ดทำ คือ พี่เบิร์ดสั่งทำ backing track ตั้งแต่วันแรกที่พี่เบิร์ดเข้ามาจนถึงวันนี้ มีทุกเพลงเลย แล้วพี่เบิร์ดเปิดร้องทุกวัน วันละหนึ่งหรือสองคอนเสิร์ต แล้วพี่เบิร์ดจะทำอย่างไรให้ร้องให้ได้เหมือนในเทปที่พี่เต๋อ (เต๋อ-เรวัติ พุทธินันทน์) เป็นคนดูแล แล้วทำไมเสียงพี่เบิร์ดเปลี่ยน แล้วถ้าร้องไม่เหมือนเดิมล่ะ อย่างนี้มันจะได้ประเมินตัวเองด้วย เราไม่สามารถที่จะโกหกตัวเองได้หรอก

 

Q: อาการหมดไฟมักจะชอบตามมาด้วยความไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง พี่เบิร์ดทำอย่างไรให้มั่นใจว่าเราเก่งจริง

พี่เบิร์ด: คือพี่ว่าเราต้องรู้ให้จริงก่อนว่าเราทำอะไร ต้องรู้ให้จริงก่อน เช่น หน้าที่ของเราเป็นนักข่าว ต้องรู้ให้จริงว่านักข่าวขายอะไร ทำไมต้องเป็นนักข่าว นักข่าวที่ดีคืออะไร ไม่ควรทำคืออะไร ไม่ควรพูดคืออะไร ควรทำคืออะไร ควรทำการบ้านแค่ไหน อย่างนี้ครับ

จริงๆ ความนานมันดีนะ มันดีกว่าความเร็ว เพราะความนานทำให้เรามั่นใจ แค่มั่นใจก็พอแล้ว

Q: ทำอย่างไรพี่เบิร์ดถึงยังทันสมัยไม่ตกเทรนด์เลย

พี่เบิร์ด: ก็อย่าขี้เกียจไง (หัวเราะ) ดูไปสิ TikTok เอยอะไรเอย พี่เบิร์ดเล่นโซเชียลมีเดียทุกอย่างเลยนะ

ล่าสุด Netflix เขายังเอา(คอนเสิร์ต)ของพี่เบิร์ดไปออกเต็มไปหมดเลย พี่จึงได้ learning by doing คือพี่เบิร์ดแข่งกับอะไรรู้ไหมตอนนี้ พี่เบิร์ดแข่งกับตัวพี่เองใน Netflix ย้อนกลับไปดูแล้วพี่เบิร์ดต้องแข็งแรงขนาดนี้ ต้องหล่ออย่างนี้ ต้องแดนซ์ขนาดนี้ อันนี้ไม่ดีตัดทิ้ง อันนี้ต้องไม่มีนะเบิร์ด มันดีมากนะ

 

Q: พี่เบิร์ดคิดอย่างไรกับคำว่า รุ่นใหม่รุ่นเก่า

พี่เบิร์ด: พี่เบิร์ดเป็นคนนะ เป็นเหมือนทุกๆ คน เป็นเหมือนคนรุ่นใหม่ เป็นคนรุ่นเก่า เป็นคนทุกรุ่นเลย พี่เบิร์ดไม่เคยคิดว่าใครจะรุ่นใหม่ใครจะรุ่นเก่า That’s people ทั้งนั้น คนทั้งนั้นเลย

การ name it คิดว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ คิดว่าตัวเองเป็นคนรุ่นเก่า นั่นแหละคืออันตรายที่สุด วันๆ ไม่ทำอะไร คิดถึงแต่เรื่องที่เราจะ name it ว่าอันนี้แก่ อันนี้อ่อน อันนี้เด็ก อันนี้เกย์ อันนี้แต๋ว อันนี้ตุ๊ด มันเหนื่อยนะ สู้เอาเวลาเหล่านั้นมาพัฒนาตัวเองดีกว่า

คอนเสิร์ตพี่เบิร์ดลงสตรีมมิ่งใน Netflix (Photo by Facebook@NetflixTH)
Q: เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากเป็นซูเปอร์สตาร์ มีเคล็ดลับอะไรจะบอกไหมคะ

พี่เบิร์ด: อยากให้ลองมาเป็นพี่เบิร์ดสัก 3 วัน แล้วจะลาออกทันทีเลย (หัวเราะ)

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเป็นคนดังคือถึงแม้ว่าไม่มีคนดู ไม่มีคนเห็นพี่เบิร์ด แต่ต้องทำให้เหมือนคนดูพี่เบิร์ดตลอด ต้องออกกำลังกาย ต้องกินให้น้อย ต้องนอนให้เยอะ ต้องไม่ไปในสถานที่อโคจร พี่เบิร์ดไม่เคยไปเลย ไม่มีเลยนะ

 

Q: แล้วตัวพี่เองเคยอยากลาออกจากการเป็นซูเปอร์สตาร์บ้างหรือเปล่า

พี่เบิร์ด: ไม่เคยเลยแม้แต่วินาทีเดียว ไม่เคยเลย เพราะพี่เลือกแล้ว และพี่ born to be ด้วย พี่ทำงานแบบนี้มานานๆ เนี่ย ยิ่งทำให้เรารู้ว่าเรามาได้ถูกทางแล้ว เราจึงไม่มีอาการเบื่อ ท้อน่ะมี คนเรามันต้องมีแน่ ‘อะไรวะเนี่ย กูจะทำได้หรอ’ มันมีอยู่แล้ว การที่ต้อง ‘ฮึบ (กัดฟัน) ต้องทำได้’ มันก็มีครับ

ปีนี้พี่เบิร์ดกลับมารับตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) อีกครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศ

 

Q: เรื่องอะไรที่พี่เบิร์ดท้อ และพี่ผ่านมาได้อย่างไร

พี่เบิร์ด: เรื่องเกี่ยวกับงานทั้งนั้นเลยครับ เรื่องเต้น เรื่องร้อง แต่พี่เบิร์ดจะไม่ยอมพูดคำว่า ‘ไม่เอา ไม่ไหว’ ไม่เคยได้ยินจากปากพี่เบิร์ดเลย มีแต่คำว่า ‘ไม่พอ พอแล้วเหรอ’ แล้วพี่เบิร์ดค่อยไปเหนื่อยที่บ้าน อะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ต้องอยู่คนเดียว ไม่สามารถจะบอกให้ทุกคนรู้ว่าเหนื่อย เพราะพี่เบิร์ดไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ทำงานกับทั้งหมู่คณะเลยครับ

…แต่พี่เบิร์ดจะไม่ยอมพูดคำว่า ‘ไม่เอา ไม่ไหว’ ไม่เคยได้ยินจากปากพี่เบิร์ดเลย มีแต่คำว่า ‘ไม่พอ พอแล้วเหรอ’

 

Q: ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว มีอะไรที่พี่เบิร์ดอยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกไหม

พี่เบิร์ด: (นิ่งคิด) พี่เหมือนพี่ยังไม่ได้ร้องเพลงเลย เหมือนพี่ยังไม่ได้โชว์เลยนะ พี่อยากทำทุกวัน อยากทำตลอดเลย (หัวเราะ)

เอาอย่างนี้ดีกว่าน้อง เชื่อไหมว่า คนที่ต้องมาบอกพี่เบิร์ดว่าถึงเวลาหยุดเต้นไปพักทานข้าวได้เนี่ย ไม่มีเลยนะ เดินหนีกันหมดเลย แต่ถ้าพี่เบิร์ดกินข้าวอยู่แล้วต้องถึงเวลาไปเต้นแล้วเนี่ย มันมากันเป็นโขยงเลยนะ มาเรียกพี่เบิร์ดเต้น อย่างล่าสุดทั้งซ้อมร้องทั้งซ้อมเต้นสนุกสนานมากเลย

พี่ยังคิดว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดอายุ 90 แล้ว แล้วจะทำอย่างไรกับพี่เบิร์ดดีวะ พี่ถามพี่น้อย (นกน้อย-พรพิชิต พัฒนถาบุตร ผู้จัดการส่วนตัว) ตลอดเลยนะว่า ‘พี่น้อย  พี่น้อยก็อายุ 67 แล้วนะ พี่เบิร์ดก็ 65 แล้ว เราเลิกทำงานกันไหม เลิกกันเหอะ’ พี่น้อยพูดอย่างไรรู้ไหม พี่น้อยบอกว่า ‘พูดหมาๆ’ ‘อ๊าว ทำไมล่ะพี่น้อย’ ‘เอ้า! ก็ถ้าเบิร์ดเลิกเบิร์ดจะไปทำอะไร’ คำนี้แหละ เบิร์ดจะไปทำอะไร เบิร์ดจะออกกำลังกายเพื่ออะไร เบิร์ดจะดูแลตัวเองเพื่อใคร จึงทำต่อไปเอย

ส่วนเรื่องส่วนตัว ยังมีสถานที่ที่ไม่เคยไปและอยากไปคือ วัดพระธาตุพนม เพราะเป็นพระธาตุประจำตัวของพี่น้อยเขา

 

Q: ชีวิตพี่ช่วงนี้ถ้าให้เลือกเพลงธีมจากอัลบัมของพี่เบิร์ด จะเลือกเพลงไหน

พี่เบิร์ด: พี่เบิร์ดไม่เคยพ้นเพลง “สบาย สบาย” เลยครับ (หัวเราะ) พี่เบิร์ดเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ สบาย สบาย จริงๆ ครับ ยังไงก็คิดให้ได้ คิดให้ออก คิดให้ตก แก้ปัญหากัน วันนี้แก้ไม่ได้ จันทร์ถึงอาทิตย์มันก็ต้องมีสักวันวะที่เราแก้ได้ ขีดเส้นใต้ข้ามไปก่อน That’s it!

 

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1427555
เปิดเบื้องหลังประวัติศาสตร์ ‘Grammy x RS’ แม้เป็นคู่แข่งแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู https://positioningmag.com/1425197 Tue, 28 Mar 2023 11:23:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1425197 ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่วงการเพลงต้องจดจำ เพราะในที่สุดแฟนเพลงก็จะได้เห็นคอนเสิร์ตร่วมกันครั้งแรกในรอบ 40 ปี ของ 2 ค่ายใหญ่อย่าง แกรมมี่ (Grammy) และ อาร์เอส (RS) จุดเริ่มต้น เบื้องลึก เบื้องหลัง และการร่วมมือจากนี้จะเป็นอย่างไร Positioning จะมาอธิบายให้ได้อ่านกัน

จีบกันไปกันมากว่า 5 ปี

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สำหรับการร่วมมือของแกรมมี่และอาร์เอสมีการคุยกันมานานแล้วแต่หลาย ๆ อย่างยังไม่ลงตัว จนกระทั่งจังหวะเวลาได้ ทั้ง 2 ค่ายจึงจัดตั้งกิจการร่วมการค้า (JOINT VENTURE) อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส เพื่อจัดงานคอนเสิร์ตร่วมกัน โดยทุกอย่างแบ่งครึ่งเท่า ๆ กันทั้งการลงทุนและผลกำไร ขณะที่แต่ละค่ายก็จะทำในสิ่งที่ถนัด เช่น แกรมมี่ดูเรื่องการขายบัตร, งานโปรดักชั่น, งานครีเอทีฟ ส่วนอาร์เอสมองในภาพรวม ดูเรื่องงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

“ไม่มีใครจีบใครก่อน แต่จีบกันไปกันมาในช่วง 5 ปีมานี้ แต่เพราะจังหวะยังไม่เหมาะสม จนกระทั่งช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย และอาร์เอสก็ประกาศกลับมาทำเพลงอีกครั้ง การพูดคุยก็เลยลงตัว ซึ่งหัวใจสำคัญของดีลนี้ เรามองว่ามันคือ ความเท่าเทียมและความไว้ใจ”

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ทำปีเดียวไม่ได้ เพราะศิลปินเยอะ

เบื้องต้น คอนเสิร์ตที่จะจัดจะเป็น ซีรีส์คอนเสิร์ต (SERIES CONCERT) ของศิลปินยุค 90 และ 2000 เบื้องต้นจะจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 รอบ และจะจัดต่อเนื่องยาว 3 ปี ซึ่งสาเหตุที่ต้องจัดคอนเสิร์ตเป็นซีรีส์เพราะจำนวนศิลปินที่มีมากกว่าร้อยชีวิต ครอบคลุมทุกแนว ดังนั้น แต่ละคอนเสิร์ตก็จะมีธีมและศิลปินที่แตกต่างกันไป โดยจะประกาศปีต่อปี ซึ่งในปี 2023 นี้จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ตามลำดับ

การเลือกศิลปินเรายึดจากช่วงปี 90 ถึง 2000 เพราะถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด และเรามองว่าเพลงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีอายุไขแม้จะมีกระเเสใหม่ ๆ เข้ามา และจากพฤติกรรมทั่วโลกพบว่าคนฟังเพลงใหม่ ๆ 15% อีก 85% เป็นการฟังเพลงเก่า”

วางเป้า 3 ปีทำรายได้ 660 ล้านบาท

เบื้องต้น การลงทุนทำคอนเสิร์ตแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้ 220 ล้านบาท ทำกำไรประมาณ 50% โดยคาดว่าคอนเสิร์ตแต่ละครั้งจะสามารถจุดผู้ชมได้ 10,000 คน หรือประมาณ 60,000 คน/ปี ราคาบัตรอยู่ที่ 2,000-6,000 บาท

นอกจากนี้ ทุกคอนเสิร์ตยังเปิดรับสปอร์นเซอร์ ปัจจุบันมีประมาณ 10 แบรนด์ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ซึ่งยังคงเปิดรับอยู่แต่ไม่ได้อยากจะเปิดรับมากเกินไป เพื่อให้ทุกแบรนด์สามารถเป็นที่จดจำได้

“เรามองการขายบัตรเป็นรายได้หลักส่วนสปอนเซอร์เป็นรายได้เสริม ซึ่งเราอยากทำคอนเสิร์ตไปยาว ๆ ไม่อยากให้มันจบ ดังนั้น จำนวนสปอนเซอร์ก็รับตามความเหมาะสม แต่ยอมรับราคาสปอนเซอร์อาจแพงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่แบรนด์รับได้ ส่วนราคาบัตรยังอยู่ในระดับปกติภาวิต เสริม

ไม่ปิดกั้นโอกาสอื่น

วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 ค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอสสามารถสร้างเม็ดเงินให้อุตสาหกรรมเพลงไทยได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าการจัดคอนเสิร์ตร่วมกันในครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสุขให้ผู้ชม จะยังช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงไทยสามารถเติบโตได้ เพราะการมีคอนเสิร์ตที่ทำรายได้ปีละ 200 ล้านบาทก็เท่ากับตลาดโต 20%

นอกจากนี้ยังระบุว่า คอนเสิร์ตเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสอื่น ๆ ให้ได้ทำอีก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองค่ายอาจต้องมาคุยเรื่องทิศทางต่อไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าฟีดแบ็กของผู้ชมจะเป็นอย่างไร เห็นโอกาสอะไร แต่ต้องมาประเมินอีกที

“อาร์เอสมองว่า การทำธุรกิจสมัยนี้เราสามารถมีพาร์ตเนอร์ได้ในหลาย ๆ รูปแบบ การร่วมกับแกรมมี่ก็เป็นอีกพาร์ตเนอร์ชิปหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นโอกาส ซึ่งทั้งเราทั้งแกรมมี่ต่างก็ไม่ปิดกั้นโอกาส เรามองหาโอกาสที่จะมาต่อ ยอดซึ่งกันและกัน”

(ซ้าย) วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

เป็นคู่แข่งไม่ใช่ศัตรู

ภาวิต ย้ำว่า อุตสาหกรรมเพลงไทยเองยังคงเติบโตได้อย่างมหาศาลเพียงแต่มันหมดยุคเทป, ซีดีมาสู่ยุคดิจิทัล หารายได้จากสตรีมมิ่ง Artist Management และคอนเสิร์ต ขณะที่ตลาดเพลงทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 9-12% ดังนั้น การเติบโตยังทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาพการแข่งขันก็เปลี่ยนไป ต้องแข่งขันกับเพลงทั่วโลก ค่ายเพลงใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อย ๆ แต่ค่ายก็ร่วมมือกับทุกค่าย เพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้เวลากับใคร ดังนั้น การแข่งขันในปัจจุบันมันไม่ใช่ว่าใครดีกว่าใคร แต่มันคือการแย่งเวลาผู้บริโภคมากที่สุด

“เราอยากสร้างประวัติศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสอยากทำให้เกิดขึ้น เพราะโอกาสแบบนี้บางทีร้อยปีอาจไม่เกิดขึ้น การที่เราเป็นคู่แข่งกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน เราอยากทำให้เห็นว่ามันร่วมมือกันได้ ตอนนี้การแข่งขันในปัจจุบันมันไม่ใช่ว่าค่ายไหนดีกว่ากัน แต่มันคือใครแย่งเวลาผู้บริโภคมากที่สุดคนนั้นชนะ”

]]>
1425197
ทายาท “แกรมมี่” ก้าวสู่วงการ “อสังหาฯ” ประเดิมด้วยบ้านที่เข้าใจชีวิต “ลักชัวรี” กลางย่านอารีย์ https://positioningmag.com/1408013 Sat, 12 Nov 2022 06:39:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1408013 จุดเริ่มต้นของการลงทุนครั้งนี้ คือการตามหาเรือนหอที่ใช่ของคนสองคน แต่เมื่อพบว่าในตลาดไม่มีบ้านแบบที่ต้องการ ทางออกของปัญหานี้จึงเป็นการลงทุนซื้อที่ดินสร้างบ้านในฝัน พร้อมเปิดขายให้เพื่อนบ้านมาอยู่ด้วยกันเสียเลย! “ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม” ทายาท “แกรมมี่” และ “นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้บริหาร “สยามพิวรรธน์” ได้ฤกษ์เปิดตัวโครงการ SANSA บ้านหรูกลางย่านอารีย์ที่พัฒนาจากอินไซต์จริงของไลฟ์สไตล์ “ลักชัวรี” เพื่อการอยู่อาศัยที่ส่งต่อได้ถึงรุ่นลูกหลาน

“เราพยายามหาบ้านที่จะมาเป็นเรือนหอ แต่ก็ไม่เจอที่เหมาะกับเราเลย” ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม ลูกสาวคนสุดท้องวัย 28 ปีของ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ SANSA (สรรษา) บ้านเดี่ยวราคาเริ่มต้น 49 ล้านบาทในย่านอารีย์-พระราม 6

ความลงตัวที่เธอและแฟนหนุ่ม “นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้บริหารวัย 34 ปีจาก “สยามพิวรรธน์” ตามหา คือ บ้านเดี่ยวทำเลในเมืองแต่ยังอยู่ในจุดที่เงียบสงบ เป็นส่วนตัวแต่ไม่ปิดทึบจนเกินไป และยังต้องมีฟังก์ชันบ้านที่เข้าใจชีวิตในระดับราคานี้จริงๆ

“พอตัดสินใจว่าจะหาที่ดินเพื่อปลูกบ้านเอง แต่แปลงที่ได้มามีขนาดถึง 280 ตารางวา ใหญ่เกินไปสำหรับครอบครัวเดียว เราเลยตัดสินใจว่าจะพัฒนาโครงการ เพราะส่วนตัวก็สนใจทำอสังหาฯ อยู่แล้ว” นภนิศกล่าว

ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม
“นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา” และ “ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม”

หลังจากตระเวนชมโครงการไปหลายแห่งระหว่างหาบ้าน ก็เหมือนได้วิจัยตลาดไปโดยบังเอิญ ประกอบกับนภนิศนั้นจบทั้งปริญญาตรีและโทด้านสถาปัตยกรรมจาก University of Melbourne ที่ผ่านมายังเป็นผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ รับผิดชอบโครงการ “ไอคอนสยาม” “สยามดิสคัฟเวอรี” และ “พาร์ค สีลม” ทำให้มีความพร้อมในการพัฒนาโครงการ

ขณะที่ฟ้าฉายที่ปัจจุบันเป็น Director of Media Channels บริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด จะใช้ความถนัดด้านการตลาดมาดูแลการขายและแบรนดิ้งให้ SANSA Exclusive Residences

 

Timeless Design บ้านที่พร้อมปรับเปลี่ยนกับทุกช่วงชีวิต

SANSA
SANSA Exclusive Residences

ข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ SANSA Exclusive Residences ทำเลตั้งอยู่ในซอยพระราม 6 ซอย 41 เป็นโครงการบ้านเดี่ยวจำนวน 4 ยูนิต บ้าน 3 ชั้นครึ่ง พร้อมลิฟต์ในตัว ขนาดที่ดิน 56-60 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอย 580 ตร.ม. ฟังก์ชันมาตรฐานมี 4 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ 3 ที่จอดรถ พร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัวขนาด 7.5 x 3 เมตร พร้อมเข้าอยู่ไตรมาส 1/2567

คอนเซ็ปต์ของบ้านต้องการจะเป็น ‘Timeless Design’  คือทั้งรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นแบบสไตล์มินิมอล-อบอุ่นซึ่งจะไม่ดูล้าสมัยในอนาคต และยัง ‘คิดเผื่อ’ หากต้องการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันบ้าน

“เราวางแบบบ้านให้ปรับเปลี่ยนได้ตามอนาคตของชีวิตครอบครัว เพราะต้องการให้ที่นี่เป็นบ้านที่อยู่ได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องย้ายไปที่ไหนอีก” นภนิศกล่าว “ผู้ซื้อวันนี้อาจจะเริ่มจากอยู่กันสองคน แต่ต่อไปอาจจะมีลูก มีพ่อแม่ย้ายมาอยู่ด้วย จนถึงวันที่ลูกๆ โตและย้ายออกไป บ้านจะปรับตามความเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตได้”

นภนิศอธิบายต่อว่า บ้านหลังนี้พร้อมจะปรับได้เสมอเพราะการเตรียม ‘ท่อเดรนห้องน้ำ’ ไว้แล้ว ท่อระบายน้ำเป็นจุดที่ยากที่สุดหากต้องการจะปรับปรุงบ้าน เมื่อมีท่อรอไว้เผื่อการเพิ่มห้องนอน-ห้องน้ำในอนาคต ส่วนอื่นๆ เช่น การก่อกำแพง เพิ่มปลั๊กไฟ ไม่ใช่เรื่องยาก

 

“ความเป็นส่วนตัว” ที่พอดี

เรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่งของการมีบ้านกลางเมืองคือหาที่ที่เป็นส่วนตัว หลบสายตาผู้คน แต่ไม่ปิดทึบจนรู้สึกอึดอัด จุดนี้นภนิศอธิบายก่อนว่า โครงการส่วนใหญ่มักเลือกซอยที่พลุกพล่าน แต่ SANSA เลือกซอยตันที่ปลอดคน ไม่ใช่ทางผ่านของคนทั่วไป ซึ่งให้ความเป็นส่วนตัวกว่า

และโครงการยังวางผังให้บ้านทั้ง 4 หลังหันหน้าออกทางเดียวกัน ทำให้ไม่มีเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม ตัวบ้านจึงออกแบบให้มีลักษณะโปร่งโล่งได้มากกว่า ทำให้รับแสงและวิวได้ในจุดที่เหมาะสม จากปกติถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวจะต้องแลกมาด้วยกำแพงที่ปิดทึบยิ่งขึ้น

รวมถึงการวางแบบบ้าน ชั้น 1 จะเป็นพื้นที่สำหรับเซอร์วิสทั้งหมด คือเป็นที่จอดรถ ห้องแม่บ้าน ครัวไทย ตู้รองเท้า ห้องซ่อมบำรุงระบบ ส่วนพื้นที่ของการอยู่อาศัยของครอบครัวจะยกขึ้นไปด้านบนทั้งหมด เพื่อความเป็นส่วนตัว แยกโซนกันชัดเจน

จุดนี้ฟ้าฉายเสริมด้วยว่า บางโครงการอาจไม่ได้คำนึงถึงการอยู่อาศัยจริงของผู้ซื้อบ้านหลักหลายสิบล้านบาทที่มักจะมี ‘แม่บ้าน’ อาศัยประจำ ทำให้ขาดฟังก์ชันห้องแม่บ้าน หรือมีให้แต่วางแบบไว้โดยที่แม่บ้านไม่สามารถอยู่อาศัยได้จริง ซึ่งโครงการ SANSA มีการแก้จุดอ่อนเหล่านี้เพื่อให้บ้านเป็นที่สำหรับทุกคน

 

ธุรกิจส่วนตัวจาก “แพสชั่น”

การพัฒนาโครงการ SANSA เป็นโครงการแรกแต่น่าจะไม่ใช่โครงการสุดท้าย เพราะทั้งคู่ต่างชื่นชอบธุรกิจอสังหาฯ และปัจจุบันก็เริ่มเล็งทำเลต่อไปในย่านอารีย์แล้ว

“ที่นี่เป็นโครงการแรกที่ได้ทำ แต่จริงๆ เราชอบเรื่องพวกนี้มาตลอด อย่างไปเที่ยวต่างประเทศจะเลือกพักบูทีคโฮเทลมากกว่าเชนใหญ่ๆ หรือเลือกพักคฤหาสน์ที่นำมาปล่อยเช่า เพื่อที่จะซึมซับการออกแบบสถาปัตยกรรมของเขา” ฟ้าฉายกล่าว

“รวมถึงคุณพ่อเองก็ชอบสถาปัตยกรรมมาก ทำให้บ้านทุกหลังของครอบครัวจะมีดีไซน์ที่ดี อย่างบ้านที่กรุงเทพฯ เป็นฝีมือการออกแบบของ อ.องอาจ สาตรพันธุ์ หรือบ้านตากอากาศของครอบครัวเป็นผลงานของคุณชินอิจิ โอกาวะ”

ส่วนนภนิศเองมีแพสชันทางนี้อยู่แล้วเห็นได้จากการเรียนและการทำงาน แม้จะเป็นโครงการประเภทที่พักอาศัยแห่งแรกที่ได้พัฒนา แต่ประสบการณ์แน่นจากการพัฒนาโครงการรีเทลก็ช่วยให้ต่อยอดได้ไม่ยาก

“โดยเฉพาะไอคอนสยามนี่ทำให้เราได้รู้จักชนิดวัสดุเยอะมาก ผมว่าไอคอนสยามทำให้ผมได้คุยกับซัพพลายเออร์วัสดุน่าจะทั่วประเทศแล้ว และการดูแลโครงการต่อก็ทำให้เรารู้ว่าวัสดุประเภทไหนที่ทนทาน ซ่อมบำรุงง่าย ความรู้นี้ก็มาใช้กับโครงการ SANSA ด้วย”

ขณะนี้ทั้งคู่ยังไม่ได้ฝันไกลถึงการทำกำไรและเติบโตให้เร็ว หรือการเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจของทั้งสองบริษัทใหญ่ แต่ต้องการให้อสังหาฯ เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวมากกว่า

“ตอนนี้เราไม่ได้เน้นการทำเงินมากมาย เน้นทำตามแพสชั่นมากกว่าค่ะ” ฟ้าฉายกล่าวปิดท้าย

]]>
1408013
“แกรมมี่” ลงทุนเปิด GMM Academy แหล่งบ่มเพาะปั้นศิลปิน  https://positioningmag.com/1393932 Tue, 26 Jul 2022 08:03:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1393932 แกรมมี่ซุ่มเปิด “จีเอ็มเอ็ม อะคาเดมี่” (GMM Academy) โรงเรียนปั้นศิลปิน ไอดอลเข้าสังกัด ขอเทียบเท่า YG ค่ายดังจากเกาหลีใต้ หวังยกระดับอุตสาหกรรมเพลงไทยให้อินเตอร์

หลังจากที่แกรมมี่ได้เคยร่วมทุนกับ บริษัท YG Entertainment Inc. จากประเทศเกาหลีใต้ เปิด YGMM เมื่อเดือนตุลาคม 2564 เป็นบริษัทพัฒนาศิลปินระดับโลกแบบครบวงจร หวังปั้นให้ไทยเป็นอีกหนึ่งฐานของการพัฒนาศิลปินไอดอลที่ครบวงจรที่สุดตั้งแต่การคัดเลือก, ฝึกซ้อม, สร้างสรรค์และโปรโมตผลงาน 

ล่าสุดแกรมมี่ได้ลงทุนเปิดโรงเรียนปั้นศิลปินเอง ในชื่อ GMM Academy เพื่อปั้นศิลปิน ไอดอลไทยเข้าสังกัดของตนเอง โดยเน้นที่ 3 ส่วน ได้แก่ ไอดอล, ป็อปสตาร์ และไทดอล (ศิลปินลุกทุ่ง)                         

ในปัจจุบันวงการดนตรีมีศิลปินเกิดใหม่ได้ตลอดเวลาบนโลกออนไลน์ เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถ มีอิสระ และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวมากขึ้น เราจะเห็นได้จากบางคนสามารถเปิดช่องใน YouTube เพื่อแสดงความสามารถของตัวเองได้แล้ว แต่การจะเป็นศิลปินมืออาชีพ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพรอบด้าน

แกรมมี่จึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาศิลปินให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน การเปิดสถาบันนี้เพื่อสอนวิชาชีพศิลปินด้วยมาตรฐานระดับโลก และขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงให้มีความหลากหลาย สามารถก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ได้

นรมน ชูชีพชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“แนวคิดของจีเอ็มเอ็ม อะคาเดมี่ เราเชื่อว่า อาชีพศิลปิน เป็นอาชีพที่สามารถเติบโตได้ และปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ มีความสามารถจำนวนมาก ถ้าได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะ จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้ไปไกลกว่าเดิมมาก จีเอ็มเอ็ม อะคาเดมี่ จึงสร้างหลักสูตรเฉพาะทางที่พร้อมพัฒนา ขัดเกลาศิลปินไปในแบบที่เหมาะกับตนเองทั้งสไตล์เพลง คาแรกเตอร์ จนพร้อมที่จะออกสู่ตลาด เมื่อออกไปแล้วเรายังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นมืออาชีพ เป็นซูเปอร์สตาร์ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนและมีฐานแฟนคลับ”  

ในสถาบันนี้เปิดรับออดิชั่นคนที่สนใจเป็นศิลปิน ถ้าใครที่ผ่านการคัดเลือกก็จะได้เข้าเรียนครบหลักสูตรตั้งแต่ร้องเพลง เต้น และพัฒนาบุคลิกภาพ โดยรวมแล้วอาจจะใช้เวลา 1-2 ปี ในการเรียน ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน

GMM Academy ประกอบด้วย 3 บุคลากรสำคัญ ธนบูลย์ คูรอย ผู้อำนวยการฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์ในวงการมากกว่า 20 ปี เป็นโปรดิวเซอร์คอนเสิร์ตใหญ่ และโค-เอ็กเซ็กคิวทีฟโปรดิวเซอร์ รายการเรียลลิตี้ค้นหาสุดยอดนางแบบและนายแบบชื่อดังของเมืองไทย, ผู้จัดการศิลปิน และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย 

รวมไปถึง วิทวัส วีระญาโณ หรือครูเจ VOCAL MASTER จบการศึกษาจากหลักสูตรด้านการสอนร้องเพลงจาก 5 สถาบันในต่างประเทศ เป็นคนแรกของเอเชียที่ได้อันดับ 1 จากการสอบ PANEL TEST ของสถาบัน INSTITUTE FOR VOCAL ADVANCEMENT จากอเมริกา

และ อภิสราฐ์ เพชรเรืองรอง หรือครูเจด้า PERFORMANCE MASTER ได้รับรางวัล BEST CHOREOGRAPHER OF THE YEAR จาก MNET ASIA MUSIC AWARDS 2016 และเป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะกรรมการการแข่งขันระดับโลก THE WORLD HIP HOP DANCE CHAMPIONSHIP HIPHOP INTERNATIONAL

]]>
1393932
“แกรมมี่” กางแผน “ไทดอลมิวสิค” ปั้นศิลปินลูกทุ่งอีสานเจนใหม่ สไตล์ไทบ้าน+ไอดอล https://positioningmag.com/1390762 Thu, 30 Jun 2022 07:17:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1390762 เทรนด์ของอินดี้อีสาน หรืออีสานไทบ้านมาแรง แจ้งเกิดศิลปินลูกทุ่งอีสานเกิดใหม่กันมากมาย “แกรมมี่” จึงสบโอกาสทอง ผุดค่ายเพลง “ไทดอลมิวสิค” ส่งสายเลือดใหม่หัวใจลูกทุ่งแนวไทบ้านนับสิบรายบูมตลาดเพลงลูกทุ่งให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ปักธงท็อป 3 สร้างรายได้หลักให้แกรมมี่

ต้องบอกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทรนด์ของวงการเพลงมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ผู้บริโภคสามารถรับฟังได้จากหลายช่องทาง แต่หนึ่งในคีย์สำคัญของคนไทยยังไงก็ต้อง “เพลงลูกทุ่ง” ถึงขนาดที่ว่า “มนต์แคน แก่นคูน” ขึ้นแท่นแชมป์ของยูทิวบ์ ประเทศไทย สำหรับเพลงที่มียอดวิวสูงที่สุด เบียดแซงเพลง K-Pop ไปอย่างนิ่มๆ

วงการลูกทุ่งเองก็มีนักร้องตัวท็อปๆ มากมาย ทั้งสายดีวา สายตัวแม่ ตัวพ่อ หรือสายจี๊ดจ๊าด แต่เมื่อปี 2559 ก็เริ่มมีแนวเพลง “อินดี้อีสาน” เกิดขึ้น เพลงของสไตล์นี้ของจะบ้านๆ เรื่องราวใกล้ตัวของคนอีสาน MV ก็ถ่ายจากสถานที่จริง นักแสดงก็ธรรมดา จนหลายคนให้คำนิยามว่า “ไทบ้าน” ศิลปินส่วนใหญ่จะเป้นศิลปินอิสระ ไม่มีสังกัด สร้างผลงานเอง แล้วขึ้นงาน YouTube หรือเฟซบุ๊ก

ด้วยเหตุนี้เจ้าพ่อแห่งวงการเพลงอย่าง GMM Grammy (จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) จึงไม่ยอมปล่อยโอกาสนี้ไปแน่ๆ ขอลุยวงการไทบ้านกับเขาบ้าง เมื่อปี 2561 ได้เลยชิมลางสนามนี้ด้วยการส่ง “ลำเพลิน วงศกร” ภายใต้การดูแลของ “โจ เหมือนเพชร อำมะระ”

จากนั้นในปี 2562 แกรมมี่ได้ส่งศิลปินอีกคน “เบลล์ นิภาดา” กับเพลงฮิต “ให้เคอรี่มาส่งได้บ่” เป็นการเปิดสนามไทบ้านอย่างเต็มตัว และค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพลงนี้กวาดยอดวิวไปแล้วกว่า 230 ล้านวิว

ทำให้ในปี 2564 แกรมมี่ได้เปิดตัวค่ายเพลง “ไทดอลมิวสิค” เป็นการจับแนวเพลงไทบ้านโดยเฉพาะ ที่มาของชื่อค่ายก็มาจากคำว่า “ไทบ้าน+ไอดอล” นั่นเอง งานเพลงไทบ้าน แต่ใส่ความเป็นไอดอลเข้าไป

นรมน ชูชีพชัย Head of Music Marketing บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“ปี 2565 นี้แกรมมี่พร้อมเปิดค่ายเพลง ไทดอลมิวสิค ในกลุ่มลูกทุ่งไทบ้านอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทดอลมิวสิคเป็นค่ายเพลงใหม่ของแกรมมี่ เริ่มทำมา 1 ปี โดยแผน 1-2 ปีแรกเป็นช่วงของการสร้างและทดลอง หรือใน 1 ปีวางเป้ามีเด็กฝึกหรือเทรนนี 50-100 คนต่อปี หรือมีศิลปินเข้ามาอยู่ในค่าย 40-50 คน”

การพัฒนาศิลปินออกมาใช้งบไม่แตกต่างจากเซกเมนต์เพลงอื่นๆ หรือต่ออัลบั้มใช้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งทางไทดอลมิวสิคมีแผนการตลาดเพิ่มเซกเมนต์เพลงไทบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ลูกทุ่งร็อก, ร็อกไทบ้าน, เกิร์ลกรุ๊ป, บอยแบนด์ รวมถึง ไอดอลอีสาน เป็นต้น

ค่ายเพลง ไทดอลมิวสิค อยู่ภายใต้การดูแลของ โจ เหมือนเพชร อำมะระ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มศิลปิน 100 ล้านวิว นำโดย ลำเพลิน วงศกร, เบลล์ นิภาดา, ออยเลอร์, เบนซ์ เมืองเลย, กิมกลอย, รุ่ง นครพนม, แทนไท, จา สิงห์ชัย, หนิง ไอลีน, สไปร์ทซี่
  2. กลุ่ม Boyband “ผู้บ่าวซูเปอร์ซ่า” ประกอบด้วย เม่น จีรพงษ์, แบงค์ รณพร, เป็นต่อ ทรงพล, อาร์ม วรชัย
  3. กลุ่ม Girl Group “4 สาวซูเปอร์แซ่บ” ได้แก่ โบว์ จันทร์ทิพย์, อายจิงจิง, เอมมี่ ผกามาส, โอปอล์
  4. กลุ่ม Thaidol New Gen ประกอบด้วย ทิวเทน, มิมิ ทอยส์, พิมมี่

นรมนกล่าวต่อว่า ปัจจุบันตลาดเพลงลูกทุ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีศักยภาพและการเติบโตได้อีกมาก ที่สำคัญมีกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นที่แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีอย่างต่อเนื่อง บวกกับกระแสลูกทุ่งอีสานสายเลือดใหม่กำลังมาแรง

โดยพบ 3 ปัจจัยที่เชื่อว่าตลาดนี้มีโอกาสเติบโตสูง คือ

  1. ศักยภาพของตัวศิลปิน ซึ่งปัจจุบันวัยรุ่นอีสานมีศักยภาพ มีพรสวรรค์ สามารถพัฒนาต่อยอดเติบโตได้
  2. ตลาดไทบ้านไปได้ไกล มีเป้าหมายชัดเจน เพราะกลุ่มคนอีสานมีความสนุกและชื่นชอบในการฟังเพลง
  3. แกรมมี่มีทีมงานต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น แกรมมี่โกลด์ ที่มีความพร้อมในการดูแล และพัฒนาศิลปินในกลุ่มไทบ้าน

“ค่ายเพลง ไทดอลมิวสิค เปิดมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ เจาะตลาดออนไลน์และกลุ่มสินค้าแมสเป็นหลัก รายได้หลักจึงมาจาก งานจ้าง/งานแสดง, โซเชียล ยอดฟังเพลง, งานพรีเซ็นเตอร์ รีวิวสินค้า เป็นต้น ซึ่งอนาคตมองว่า ไทดอลมิวสิคมีศักยภาพที่จะเติบโตทั้งในแง่จำนวนศิลปินที่จะมีออกมาปีละไม่ต่ำกว่า 40-50 คน ขยายฐานเจาะกลุ่มแฟนคลับคนรุ่นใหม่ และรายได้ที่จะมาจากออนไลน์ โดยเชื่อมั่นว่า ไทดอลมิวสิค จะเป็นหน่วยธุรกิจเพลงที่สามารถสร้างรายได้อยู่ในกลุ่มท็อป 3 ได้”

]]>
1390762
ไปอีกราย! ช่อง GMM 25 หยุดดำเนินกิจการสิ้นปี ยุบฝ่ายข่าว มีให้ในเครือเช่าเวลา https://positioningmag.com/1307753 Wed, 25 Nov 2020 17:15:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307753 สะเทือนตึกแกรมมี่ ทีวีดิจิทัล “GMM 25” ประสบปัญหาขาดทุน หยุดดำเนินกิจการสิ้นปีนี้ พนักงาน 190 ชีวิตพ้นสภาพ บางส่วนได้ไปต่อ ส่วนช่องมึไว้ให้บริษัทในเครือแกรมมี่เช่าเวลา ให้ทีมข่าวช่องวันผลิตรายการแทน สะพัดก่อนหน้านี้กลุ่มเบียร์ช้างถอนตัว ให้แกรมมี่ซื้อหุ้นคืน เหลือไว้เฉพาะช่องอมรินทร์

รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็ม 25 ระบุว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด เตรียมที่จะหยุดดำเนินกิจการในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน ส่งผลทำให้พนักงานประมาณ 190 คน โดยเฉพาะฝ่ายข่าว GMM 25 ต้องพ้นสภาพ โดยมีพนักงานประมาณ 50 คน ที่จะย้ายไปทำงานต่อกับบริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ส่วนพนักงานประจำที่เหลือ จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกประการ

สำหรับสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็ม 25 นับจากนี้จะมีไว้สำหรับให้บริษัทในเครือเช่าเวลาของสถานี เพื่อผลิตรายการต่างๆ ส่วนรายการข่าวจะมีทีมข่าวช่องวันมาผลิตแทน โดยรายการข่าวของจีเอ็มเอ็ม 25 จะออกอากาศวันสุดท้ายถึง 31 ธ.ค. 2563

ด้านเฟซบุ๊กที่ใช้นามว่า Preeya luck ระบุว่า ยอมรับว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบทางจิตใจพอสมควร เพราะทีมงานทุกคนก็ชวนกันมาจากที่ทำงานเก่าบ้าง หรือชวนกันมาเพิ่มเป็นทอดๆ แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างระหว่างการทำงาน แต่ตั้งใจ ทุ่มเท และสร้างสรรค์ผลงาน เรตติ้งเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อท้ายที่สุดจะต้องแยกย้ายกันไปก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมจริงๆ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 มีรายงานจากเว็บไซต์ tvdogitalwatch.com ระบุว่า มีการซื้อขายหุ้นคืนระหว่างเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กับครอบครัวสิริวัฒนภักดี (ผู้ผลิตเครื่องดื่มตราช้าง) หลังเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็ม 25 เมื่อปี 2560 โดย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โฮลดิ้ง จำกัด แทนตระกูลสิริวัฒนภักดี ถึงกระนั้นตระกูลสิริวัฒนภักดี ยังคงถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ช่อง 34

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด

  • ในปี 2562 มีรายได้รวม 823.13 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 350.30 ล้านบาท
  • เทียบกับปี 2561 มีรายได้รวม 858.02 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 413.22 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของช่องจีเอ็มเอ็ม 25

  • ในปี 2562 มีรายได้รวม 220.74 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44.74 ล้านบาท
  • เทียบกับปี 2561 มีรายได้รวม 328.22 ล้านบาท กำไรสุทธิ 194.22 ล้านบาท

Source

]]>
1307753
เปิดใจ “อากู๋” ในวันที่แกรมมี่กลับมา “กำไร” เตรียมดัน 2 ช่องทีวีดิจิทัล ONE-GMM 25 เข้าตลาดปี 63 https://positioningmag.com/1232585 Sat, 01 Jun 2019 12:54:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1232585 ก่อนเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลในปี 2557 “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ธุรกิจคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเพลงมากว่า 36 ปี ต้องฝ่าฟันกับพายุ Disruption ในอุตสาหกรรมเพลง ต่อด้วยการแข่งขันฟาดฟันในธุรกิจเพย์ทีวีมาก่อน 

การเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เป็นการเดินตามเส้นทางฝันของ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ที่ต้องการเป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวี เพื่อต่อจิ๊กซอว์อาณาจักร “คอนเทนต์และแพลตฟอร์ม” ให้สมบูรณ์แบบ

แต่จังหวะการเกิดทีวีดิจิทัลในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคครั้งใหญ่ และจำนวนทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่วันนี้อุตสาหกรรมต่างยอมรับแล้วว่า “มากเกินไป”

ในที่สุดต้องมี คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่ปี 2560 สนับสนุนค่าโครงข่ายมัสต์แคร์รี่ ปี 2561 พักชำระจ่ายค่าใบอนุญาต 3 ปี และช่วยค่าเช่าโครงข่าย MUX 50% และยาแรง ปี 2562 เปิดทาง “คืนช่อง” พร้อมรับเงินชดเชย ส่วนรายที่อยู่ต่อ “ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6” รวมทั้งค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ถึงปี 2572 อันเป็นผลจากการนำคลื่นความถี่ 700 MHz ของฝั่งทีวี ไปประมูลเพื่อให้บริการ 5G ในฝั่งโทรคมนาคม

“แกรมมี่” กลับมากำไรรอบ 7 ปี

ก่อนใช้ยาแรงเปิดทางให้ “ทีวีดิจิทัล” คืนใบอนุญาต 5 ปี ของทีวีดิจิทัลของผู้ประกอบการ “หลายราย” ต่างอยู่ในอาการ “เลือดไหล” เมื่อเส้นทางทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามคาด รายได้ 5 ปีแรกส่วนใหญ่ “ขาดทุน”

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง ONE 31 และ GMM 25 ที่เผชิญกับสถานการณ์เทคโนโลยีดิสรัปชั่น การแข่งขันลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและเพย์ทีวีมาก่อน แสดงผล “ขาดทุน” มาตั้งแต่ปี 2555

ในช่วงการลงทุนทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ตั้งแต่ปี 2557 ตัวเลขขาดทุนจึงอยู่ในหลักพันล้าน ปี 2558 แกรมมี่เริ่มตัดทิ้งธุรกิจที่ไม่ใช่ Core Business ตั้งแต่เพย์ทีวี ขายหุ้นซีเอ็ด ขายธุรกิจนิตยสาร ขายหุ้นอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ

พร้อมดึงกลุ่มทุนระดับ “บิ๊ก” เข้ามาร่วมลงทุนทีวีดิจิทัล เดือน ธ.ค. 2559 ดึงบริษัท ประนันท์ภรณ์ จํากัด ของตระกูล “ปราสาททองโอสถ” เข้ามาร่วมลงทุนช่อง ONE 31 ด้วยเม็ดเงิน 1,905 ล้านบาท ถือหุ้น 50% และเดือน ส.ค. 2560 ดึงบริษัท อเดลฟอส จำกัด ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ เข้ามาเพิ่มทุนในช่อง GMM 25 ด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท ถือหุ้น 50%

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ถือหุ้นในบริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด (ช่อง ONE 31) 31.27% และถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM 25) 50%

การแก้ไขปัญหาธุรกิจทีวีดิจิทัลตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาถึงวันนี้ เริ่มเห็นสัญญาณบวก รายได้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับมา “กำไร” ในปี 2561 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และไตรมาสแรกปี 2562 ยังโชว์ตัวเลข “บวก” ต่อเนื่อง

ย้อนดูผลประกอบการ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่”

  • ปี 2555 รายได้ 11,756 ล้านบาท ขาดทุน 248 ล้านบาท
  • ปี 2556 รายได้ 11,003 ล้านบาท ขาดทุน 1,221 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้ 9,264 ล้านบาท ขาดทุน 2,345 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 9,708 ล้านบาท ขาดทุน 1,145 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 7,446 ล้านบาท ขาดทุน 520 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 8,869 ล้านบาท ขาดทุน 384 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 6,984 ล้านบาท กำไร 15.43 ล้านบาท
  • ปี 2562 ไตรมาสแรก รายได้ 1,814 ล้านบาท กำไร 59 ล้านบาท

“อากู๋” เปิดใจ 5 ปีทีวีดิจิทัล

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

การผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของทีวีดิจิทัล 5 ปีแรก กระทั่งมาถึงจุดที่มีมาตรา 44 เปิดทางให้ทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” และการกลับมาทำกำไรอีกครั้งของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อัพเดตเรื่องราวเหล่านี้กับ Positioning  

โดยบอกว่าได้เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมขับเคลื่อนหารือกับ กสทช. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแทบจะทุกครั้ง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ซึ่งก็ต้องย้อนถึงสาเหตุ เริ่มต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคแอนะล็อกไปยุคทีวีดิจิทัล มีปัญหามากมายในด้านการปฏิบัติงานช่วงเปลี่ยนผ่าน

นับตั้งแต่ การเรียงช่อง การประชาสัมพันธ์ การแจกกล่องรับสัญญาณระบบดิจิทัล ที่ถือเป็น “หัวใจของการสร้างแพลตฟอร์ม” เดิมกำหนดราคากล่องไว้ที่ 1,200 บาท สามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียมได้ แต่ในที่สุดได้ปรับราคาเหลือกล่องละ 690 บาท รับชมได้เฉพาะช่องทีวีดิจทัล จากคุณภาพกล่องที่รับชมได้ไม่ชัดและต้องติดตั้งเสาสัญญาณในบางพื้นที่ และบางครัวเรือนไม่นำคูปองไปแลกกล่องมาติดตั้ง เพราะมีกล่องทีวีดาวเทียมอยู่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถสร้าง “แพลตฟอร์มรับชมช่องทีวีดิจิทัล” ได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประมูลให้ต้องล้มหาย เกิดผลเสียมากมายเท่าที่คนทำงานมาตลอดชีวิตในอุตสาหกรรมสื่อจะสูญเสียได้ในช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัล มี 2 ช่อง (ไทยทีวีและโลก้า) ต้องปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรก ส่วนที่เหลืออยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้หารือกับ กสทช. เพื่อแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องบอกว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล มาในจังหวะที่เกิด Technology Disruption ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อไทยและพฤติกรรมผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการเสนอขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะกระบวนการฟ้องร้องต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ปัญหา

“รัฐบาลเองก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและชะตากรรมที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเจอ แต่ก็มีกฎหมายและรายละเอียดจำนวนมาก การแก้ปัญหาจึงต้องออกมาเป็นคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ทันเหตุการณ์ เพราะหากยังล่าช้าออกไป อาจมีผู้ประกอบการที่ล้มหายตายจากไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อและประชาชน รัฐบาลจึงตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือ”

ONE 31 – GMM 25 ค่าใช้จ่ายลด 3,000 ล้าน

ปัจจุบันทีวีดิจิทัลจ่ายเงินค่าใบอนุญาตไปแล้ว 70% คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 และค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่อีก 10 ปี ให้กับทีวีดิจิทัล “ทุกราย” รวมมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่ทีวีดิจิทัล “พอใจ” และ กสทช. สามารถทำได้ในด้านกฎหมาย เพราะเป็นการคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ของทีวี เพื่อนำกลับไปประมูล 5G ที่จะได้มูลค่าสูงกว่า การแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หากยิ่งยืดเยื้อ “เลือดคงไหลหมดตัว”  

หลังใช้ยาแรงด้วยการเปิดทาง “คืนใบอนุญาต” มี 7 ช่องที่ขอพอแค่นี้ ส่วนอีก 15 ช่อง ขอไปต่อ รวมทั้ง 2 ช่องของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อากู๋ มองว่าผู้ประกอบการที่ไปต่อ “ทุกราย” มีภาระลดลงทั้งค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 รวมทั้งค่าโครงข่าย MUX ทีวีดิจิทัลช่อง ONE 31 และ GMM 25 ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 3,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาที่เหลืออยู่อีก 10 ปี

เมื่อช่องวันและจีเอ็มเอ็ม 25 ไม่มีภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย MUX ที่ต้องจ่าย ก็ถือว่าเราตัวเบา สามารถลงทุนแข่งขันคอนเทนต์ได้เต็มที่

 

มั่นใจ “แกรมมี่” กำไรต่อเนื่อง

หลังจากมีมาตรา 44 มาช่วยลดภาระต้นทุน “ทีวีดิจิทัล” ก็ต้องบอกว่าเป็นทิศทางที่สดใสของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” หลังจากนี้ เพราะธุรกิจส่งสัญญาณ “บวก” มาตั้งแต่ปี 2561 ที่ผลประกอบการเริ่มกลับมากำไรอีกครั้งในรอบ 7 ปี แม้ยังมีภาวะ “ขาดทุน” ของทีวีดิจิทัลอยู่ก็ตาม และปีนี้ก็จะเห็นกำไรต่อเนื่อง

“ปีก่อนยังไม่มีมาตรา 44 ยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่เหลือ แกรมมี่ก็พาบริษัทกลับมากำไรได้แล้ว ปีนี้ มีมาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ที่ส่งผลดีต่อทีวีดิจิทัลทุกราย และ 2 ช่องของแกรมมี่ด้วย ปีนี้มั่นใจทำกำไรได้ต่อเนื่อง”

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่ต้องดึงกลุ่มทุนเข้ามาร่วมถือหุ้น ถือเป็นการหาพาร์ตเนอร์ที่ดีมาเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เพราะการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ “ไม่จำเป็นต้องเดินคนเดียว” หลังจากนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จะมีพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ต้องบอกว่า 5 ปีของทีวีดิจิทัล รวมทั้งทีวีดาวเทียมและเพย์ทีวี เป็นบทเรียนที่ได้สั่งสอนพวกเราและกลุ่มเจน 2 ทั้งลูกๆ (ฟ้าใหม่ ระฟ้า อิงฟ้า และฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม) รวมทั้งผู้บริหารรุ่นใหม่ ภาวิต จิตรกร, บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ, สถาพร พานิชรักษาพงศ์ และท่านอื่นๆ ได้เรียนรู้การทำธุรกิจและการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

เราได้บทเรียนอย่างครบถ้วนและโชคดีที่เราผ่านมาได้ หลังจากนี้การทำงานจะระมัดระวังและไม่กลับไปสู่ปัญหาแบบเดิม เวลาเราเจอกับวิกฤติและปัญหาแล้วสามารถผ่านพ้นมาได้ ก็ทำให้เราแข็งแรงและมั่นคงขึ้น

ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เข้าตลาด ปี 63

ตั้งแต่ปี 2561 ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กลับมา “ทำกำไร” ทีวีดิจิทัล “ช่องวัน” ก็มีผลประกอบการ “เป็นบวก” ช่องวันกำไรแล้ว ตั้งแต่ปี 2561 และปีนี้ก็ทำกำไร และปีหน้าก็ยังทำกำไรแน่นอน เพราะมาตรา 44 ช่วยลดต้นทุนได้ 200 ล้านต่อปี ส่วนช่อง GMM 25 ก็ขาดทุนไม่มากแล้ว และไปต่อได้ ไม่มีปัญหาอะไร ต้นทุนลดไปได้ 100 ล้านบาทต่อปีเช่นกัน

ส่วนช่อง GMM 25 กำลังเตรียมโครงสร้างใหม่ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทั้งค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 และค่าเช่าโครงข่ายแล้ว คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือน มิ.ย. นี้

“ธุรกิจทีวีดิจิทัล หลังมีมาตรา 44 เราก็สบายเลย หลังจากนี้ไม่ต้องห่วงกำไรแน่นอน ทั้งช่องวัน 31 และ GMM 25 วางเป้าหมายปี 2563 จะนำ 2 ช่องเข้า IPO”

“ทีวี” ยังเป็นโอกาส

แม้การเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง แต่ “อากู๋” ยังมองทีวีเป็น “โอกาส” เพราะพื้นฐานของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คือ Content Provider โดยทีวีเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีดิจิทัล แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Viu, Facebook, YouTube คอนเทนต์ของแกรมมี่ไปได้ทุก Window จึงไม่ได้มองแค่ธุรกิจทีวีเท่านั้น แต่เป็น Content Provider ที่ไปได้ทุกช่องทาง

“แกรมมี่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวี และทีวียังคงเป็นสื่อหลักไปอีกหลายปี และเรามองทุกแพลตฟอร์มที่นำพาคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปสู่ผู้คนได้ ก็จะส่งออกไปเผยแพร่ทุกช่องทาง”

ดังนั้น Content Provider ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวีด้วย ในเชิงธุรกิจน่าจะสดใส ยิ่งแพลตฟอร์มเยอะขึ้น ยิ่งทำให้คอนเทนต์ไปได้หลาย Window โดยเฉพาะในต่างประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Netflix และยังทำงานร่วมกับ Netflix ในการผลิต Netflix Original เห็นได้ว่าแกรมมี่ไม่ได้ทำคอนเทนต์เพื่อทีวีอย่างเดียว

ธุรกิจเพลง “ไม่เคยขาดทุน”

ในยุคที่เทคโนโลยีถาโถมธุรกิจเพลงให้ต้องล้มหาย แผ่นซีดีเพลงกลายเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จัก แต่ “อากู๋” บอกว่า ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ ที่ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าเพลง (Physical Product) ดิจิทัล มิวสิก, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, โชว์บิซ, การบริหารศิลปิน และธุรกิจอื่นๆ ยังเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่

และธุรกิจเพลง “ไม่เคยขาดทุน” ตลอด 36 ปีของแกรมมี่ ธุรกิจเพลงทำกำไรมาตลอด และกำไรจากธุรกิจเพลง ยังมาสนับสนุนธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่อยู่ในภาวะเลือดไหลในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันได้จากผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2562 ธุรกิจเพลง คิดเป็นสัดส่วน 54% เติบโต 16.9% จากปีก่อน

การบริหารธุรกิจเพลงให้เติบโตได้ มาจากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพลงทั้งหมด และมีแพลตฟอร์มสำหรับเพลงครบถ้วนที่สุด และสามารถบริหารจัดการหารายได้ในทุกแพลตฟอร์มกับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ธุรกิจเพลงจึงไปต่อไปทั้ง Physical และ Digital Platform

ในธุรกิจเพลง แกรมมี่เป็นเจ้าของ Infrastructure ของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทย จึงบริหารได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเปิดให้บริการดูแลลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกรายที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มของแกรมมี่ ทั้ง Physical, Digital Platform, โชว์บิซ อีเวนต์

นับจากยุคก่อตั้งแกรมมี่ ที่เริ่มจากธุรกิจเพลง ต่อมาเป็นยุคที่มีแนวร่วมจากพาร์ตเนอร์ หลังจากนี้ก็จะเห็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มเติม และอาจมีการร่วมทุนอีก เพราะธุรกิจวันนี้ใหญ่กว่ายุคก่อตั้งมากมาย นอกจากเพลง ทีวีดิจิทัล ยังมี โฮมช้อปปิ้ง ภาพยนตร์ วิทยุ โชว์บิซ  

“เราเป็น Entertainment Business ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลิตและจัดจำหน่ายเอง มีแฟลตฟอร์มเอง และทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่จะนำคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปอยู่ในทุกช่องทาง”   

]]>
1232585
เปิดใจผู้บริหารแกรมมี่ “ตูน” บุคลากรที่มีคุณค่า ไม่ใช่สินค้า! ยอมทิ้งรายได้ 30 ล้าน เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ได้รับกลับมา https://positioningmag.com/1147463 Tue, 21 Nov 2017 08:10:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1147463 ผู้บริหารแกรมมี่ยกตูน บอดี้สแลมเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า ไม่ใช่สินค้า เป็นมืออาชีพมากกว่าคำว่าศิลปิน ถึงจะสูญเสียมูลค่าเรื่องตัวเลข แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามีค่ามหาศาล ไม่จัดคอนเสิร์ตเพราะคุณค่าทางจิตใจต่างกัน

ยอมเสียรายได้ครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว สำหรับต้นสังกัด ตูน บอดี้สแลมอาทิวราห์ คงมาลัย กรณีที่นักร้องดังเบรกงานเพื่อโครงการก้าวคนละก้าว ทิ้งเงินกว่า 30 ล้านเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล

นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการผลิตและโปรโมชั่นเพลงบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด มหาชน ยอมรับต้นสังกัดสนับสนุน และสิ่งที่ได้กลับมามีมูลค่ามากกว่าเรื่องตัวเลข

“โดยปกติ วงบอดี้สแลมจะรับงานประมาณ 15-20 งาน ไม่เกิน 20 งานต่อเดือน การที่ตูนไปทำกิจกรรมก้าวคนละก้าว ไม่รับงาน 3 เดือน ก็ถือว่าเยอะอยู่ แต่ตูนเขามองว่าโครงการนี้มันเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจ เขาอยากที่จะทำ และเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งตรงนี้เพื่อนๆ และทีมงานในวงก็เห็นด้วย  

ส่วนของค่ายจีนี่ฯ ที่ทำงานปกติก็ทำไป เราจัดสรรคนเข้าช่วยสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ให้กับตูน ส่วน รายได้เสียไปเยอะ แต่มองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันเป็นรายได้ที่หาได้ต่อไปในอนาคต ผมไม่แน่ใจว่าค่าตัวของวงเขาเท่าไหร่ เรียกว่าหลายแสนต่อครั้ง (เห็นว่าประมาณ 450,000-500,000บาท?) อันนี้ก็ต้องไปประเมินเอาเอง

ย้ำเสียมูลค่าเรื่องตัวเลข แต่สิ่งที่ได้กลับมามหาศาล

เรามองว่าสิ่งที่ตูนทำมันได้คุณค่ามาก เราอาจจะสูญเสียมูลค่าเรื่องของตัวเลขไป แต่คุณค่าที่ได้กลับมา ลองคิดนะว่าเราต้องใช้มูลค่าแค่ไหนที่ได้คุณค่าแบบนี้กลับมา มันเป็นมูลค่าที่มหาศาลเลยนะ ที่จะสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมแบบนี้ การที่ตูนทำแบบนี้ ในทางกลับกันเขาได้สร้างประโยชน์ให้กับชื่อของวง และตัวค่ายเองก็ได้อานิสงส์ไปด้วย ทางบริษัทแกรมมี่ฯ เองก็ได้ส่วนร่วมไปโดยปริยาย 

ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ดีที่เราควรสนับสนุน ถามว่าการที่เราส่งคนภายใต้บริษัทไป ไม่ได้เป็นการหนีงาน แต่เป็นการไปรับภาระงานที่หนักขึ้น นี่คือการสร้างชื่อเสียงอย่างหนึ่ง ถ้าคิดในเชิงธุรกิจ แต่ขอบอกตรงนี้เลยว่าทั้งตูนและทางค่ายไม่เคยคิดถึงตรงจุดนี้เลย ความตั้งใจของตูนในการทำโครงการนี้ มาด้วยความบริสุทธิ์ใจของเขา ที่เขาเอาตัวเองมาทำเพื่อสังคม ซึ่งถ้าถามว่าเราสูญเสียอะไร เราไม่มีคำว่าสูญเสีย เรามีแต่ได้กับได้

แจงเหตุไม่จัดคอนเสิร์ตเพราะคุณค่าทางใจที่ได้รับกลับมาน้อยกว่า

ถ้าทำแบบนั้นคุณค่าจากความตั้งใจทำของเขามันจะเปลี่ยนไป ตอนนี้ทุกหย่อมหญ้ารู้จัก พี่ตูน เวลาตูนไปไหนต่อจากนี้เขาจะได้รับการต้อนรับมากขึ้นจากวงกว้าง แต่อย่างที่บอกสิ่งที่ตูนทำเขาทำมาจากใจของเขา เขาไม่ได้คิดว่าจะได้ผลประโยชน์อะไรกลับมา มันอาจจะง่ายกว่ากับการที่จัดคอนเสิร์ต แต่คุณค่าทางใจที่ได้กลับมา มันน้อยกว่า สิ่งที่เขาทำไม่ได้เป็นการโปรโมตให้ตัวเองดัง แต่เป็นการที่เขาเอาชีวิตของเขาเข้าไปแลก ผลที่กลับมาคือ ยิ่งให้ยิ่งได้

กเป็นบุคลากรที่มีมูลค่า ไม่เคยมองว่าเป็นสินค้า ในฐานะต้นสังกัด ไม่คิดว่าบริษัทจะต้องเสียมูลค่า

เรื่องนี้เป็นความชอบส่วนตัวของเขาเป็นสิ่งที่เราสั่งเขาไม่ได้มันเป็นความต้องการของเขาเองสิ่งที่เขาทำมันเป็นสิ่งที่ดีน่าสนับสนุนสิ่งที่เราทำคือสนับสนุนเขาถามว่ามีการทำประกันชีวิตเขามั้ยเขาคงมีอยู่แล้วไม่ต้องไปห่วงเขา

ส่วนเรื่องที่ว่าเขาคือบุคลากรที่มีมูลค่าของเรา อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าใช่ เขาคือบุคลากรที่มูลค่า แต่เราไม่เคยมองว่าเขาคือสินค้า เราไม่ได้คิดแบบฝรั่งที่แบบว่า ศิลปิน นักฟุตบอล หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง มูลค่าของเขาทางธุรกิจจะเป็นเท่าไหร่ ยังไง แต่เรามองเขาคือคนไทยคนหนึ่งที่เสียสละตัวเอง  เราในฐานะที่เป็นต้นสังกัดเราควรยินดี ไม่ใช่มาคิดว่าเราจะเสียมูลค่าเท่าไหร่ จากเขาในเชิงธุรกิจ สิ่งที่เราคิดคือ เขาไปทำงานหนักขนาดนี้ เขาควรจะได้รับการดูแลอย่างดี และการสนับสนุนอย่างดี เราเชื่อว่าตูนเขารู้ตัวเองดี และเขาก็มองว่านี่คือโครงการส่วนตัวของเขา เขาก็ไปดิ้นรนทำของเขาส่วนหนึ่ง ไม่ได้เป็นภาระของค่ายทั้งหมด ค่ายแค่อยู่ในส่วนของการช่วยสนับสนุนเท่านั้น

เลื่อนปล่อยซิงเกิลใหม่ไปเป็นปีหน้า ยกเป็นมืออาชีพที่เหนือกว่าศิลปิน

จริงๆ จะมีเพลงปล่อยในช่วงนี้ แต่ไม่เป็นไรก็เลื่อนออกไปประมาณมกราคมปีหน้า เอ็มวีอะไรก็ถ่ายเสร็จไปแล้ว ไม่ต้องห่วงเขาเลย ผมจะบอกเลยว่าเหนือกว่าศิลปินก็คือมืออาชีพ ตูนคือคนหนึ่งที่เป็นมืออาชีพ เขามีโรดแมปของเขา ตูนและวงบอดี้สแลมเขามีแนวทางของเขา ค่ายแทบไม่ต้องวางอะไรให้เลย ค่ายมีหน้าที่แค่สนับสนุนเขา.

ที่มา : mgronline.com/entertainment/detail/9600000117469

]]>
1147463
“แกรมมี่” ยอมจ่าย 330 ล้าน เคลียร์คดี “ฟ็อกซ์” ฟ้องค่ารายการ https://positioningmag.com/1139221 Mon, 11 Sep 2017 06:47:28 +0000 http://positioningmag.com/?p=1139221 แกรมมี่ฯ ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุจ่ายเงิน 330 ล้านบาท ยุติข้อพิพาทกับคู่สัญญารายหนึ่งแล้ว แจงถ้าศาลพิพากษาอาจจะต้องเสียมากกว่านี้ เผยก่อนหน้าบริษัทพร้อมธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ค้ำประกันถูก ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย ฟ้องร้องเหตุผิดชำระค่าธรรมเนียม

มีรายงานว่าที่ผ่านมาบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ระบุว่า จากกรณีที่บริษัทได้มีข้อพิพาทภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในการทำการตลาดและจัดจำหน่ายช่องรายการกับคู่สัญญารายหนึ่งโดยถูกบริษัทคู่สัญญารายดังกล่าวฟ้องร้องให้บริษัทชำระค่าสิทธิค้างชำระบางส่วนต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแกรมมี่ฯ ได้ขอทำการต่อสู้คดีและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น

ขณะนี้บริษัทแกรมมี่ฯ ได้เข้าทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับคู่สัญญารายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยตกลงชำระเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 330 ล้านบาท) ให้แก่คู่สัญญารายดังกล่าวเพื่อเป็นการยุติคดีที่มีการฟ้องร้องในศาล 

โดยที่ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือที่มีการแจ้งไปยัง ตลท.นั้นทางแกรมมี่เองได้ระบุไว้ว่า… “หากมีการฟ้องร้องเป็นคดีและศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทต้องชำระเงิน ก็จะเป็นเงินจำนวนที่สูงกว่าจำนวนที่บริษัทตกลงระงับข้อพิพาทนี้เป็นอย่างมาก”

นอกจากนี้ในหนังสือดังกล่าวทางแกรมมี่เองยังระบุด้วยว่าถึงตอนนี้ทางคู่สัญญารายได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขณะที่ศาลเองก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องไปเป็นี่เรียบร้อยแล้ว (ที่มา “แกรมมี่” จ่าย330ล้าน ระงับข้อพิพาทลิขสิทธิ์…. อ่านต่อได้ที่ : //www.posttoday.com/biz/news/513954)

อนึ่งในก่อนหน้านี้ บริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (FOX) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ทป.37/2559 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ในฐานความผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และค้ำประกัน โดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้อง 220,053,519.24 บาท

โดยในรายละเอียดของการฟ้องร้องนั้นระบุว่าที่ผ่านมาทาง FOX ได้เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด เพื่อให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้สิทธิในการทำการตลาดและจัดจำหน่ายช่องรายการที่ได้รับอนุญาต และมีสิทธิในการให้อนุญาตช่วงสิทธิแก่บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด

แต่ต่อมาทางแกรมมี่ได้ผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมให้แก่ FOX ทางบริษัทจึงได้ทวงถามธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระเงินค่าสิทธิค้างชำระ แต่ธนาคารกรุงเทพเพิกเฉย ขณะที่แกรมมี่ฯ เองก็ได้โต้กลับไปว่าเป็นทาง FOX เองที่ปฏิบัติผิดสัญญาก่อนจนนำมาซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าว


ที่มา : mgronline.com/entertainment/detail/9600000093050

]]>
1139221
แกรมมี่ ติดใจ ออกมิวสิก สติกเกอร์เอาใจ “คนโสด” หวังปั้นรายได้จากออนไลน์ https://positioningmag.com/1132705 Thu, 13 Jul 2017 07:53:51 +0000 http://positioningmag.com/?p=1132705 โมเดลธุรกิจของค่ายเพลงยุคนี้ ต้องต่อยอดสู่ออนไลน์ การออก “มิวสิก สติกเกอร์” เป็นอีกหนึ่งในช่องทางหารายได้ของค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ใช้ลิขสิทธิ์เพลงในมือมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

หลังจากประเดิมออก ”มิวสิก สติกเกอร์” ร้องเพลงได้ ความยาว 8 วินาที ใช้ท่อนฮุคเพลงฮิตของคนทำงานมาแล้ว จนทำยอดขายติดชาร์ตดาวน์โหลดมาแล้ว มาคราวนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต่อยอด ส่ง ‘สติกเกอร์เพลงฮิตคนโสด’ โดยเลือกเพลงฮิตยอดนิยมที่โดนใจ คนโสด ขาแชทมาให้โหลด 24 แบบ

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ของ “สติกเกอร์เพลงฮิตคนโสด” มาจาก Insight ที่โดนใจคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  ภายใต้คอนเซ็ปต์ “บอกโลกว่า  โสดโปรดจีบ”

สติกเกอร์จะบอกเล่าสถานะความโสด อาทิ คนโสดจริง โสดหลอก เกือบโสด ใกล้โสด อยากโสด ไม่ว่าจะเป็นโสดสถานะไหนก็สามารถโหลดใช้ได้ โดยมาพร้อมกับท่อนฮุคเพลงฮิต จากศิลปินดัง ไม่ว่าจะเป็นป๊อป ร็อก และลูกทุ่ง เช่น อยากโดนเป็นเจ้าของ (เพลง คนไม่มีแฟน ของ เบิร์ด-ธงไชย), คนที่ไม่เข้าตา (เพลง คนที่ไม่เข้าตา ของ ป๊อป-ปองกูล), I need somebody (เพลง I need somebody ของ บี้-สุกฤษฏิ์), โปรดส่งใครมารักฉันที (เพลง โปรดส่งใครมารักฉันที ของ Instinct เป็นต้น โดยเป็นเพลงฮิตติดหูที่คุ้นเคย และสามารถสื่อถึงความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

]]>
1132705