แอปเรียกรถ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 31 Jul 2024 14:21:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “Uber” เซ็นดีล “BYD” นำรถอีวี “100,000 คัน” ปล่อยราคาพิเศษให้คนขับในยุโรป-ละตินอเมริกา https://positioningmag.com/1484612 Wed, 31 Jul 2024 13:09:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1484612 ไม่แคร์กำแพงภาษี! บริการเรียกรถ “Uber” เซ็นดีลกับ “BYD” นำรถอีวี “100,000 คัน” ปล่อยเช่าซื้อราคาพิเศษให้กับคนขับบนแพลตฟอร์มใน “ยุโรป” และ “ละตินอเมริกา” พร้อมจับมือร่วมกันพัฒนา “ยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ” เพื่อแพลตฟอร์มนี้โดยเฉพาะ

“Uber” กับ “BYD” ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระยะยาว ทางบริษัท Uber สัญญาสนับสนุนรถอีวีของ BYD จำนวนรวม 100,000 คันให้กับคนขับบนแพลตฟอร์ม โดยจะมีการจัดแพ็กเกจสินเชื่อเช่าซื้อราคาพิเศษ, สนับสนุนทางการเงิน, ประกันรถยนต์, ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และค่าชาร์จไฟฟ้า ให้กับคนขับ Uber ที่ต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า BYD มาใช้ร่วมขับขี่

โดยตลาดหลักของ Uber ที่จะเริ่มสนับสนุนรถยนต์ BYD ก่อน ได้แก่ ยุโรป และ ละตินอเมริกา ขณะที่ในอนาคตจะมีการขยายไปในตลาดอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ทั้งสองบริษัทถือว่าเป็นผู้นำเรื่องรถอีวีในวงการของตนเอง เพราะ Uber ถือเป็นแพลตฟอร์มเรียกรถที่มีรถอีวีในเครือข่ายมากที่สุดในโลก ส่วน BYD เป็นผู้นำด้านการผลิตรถอีวี จากการร่วมมือกันครั้งนี้ ทั้งสองบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้ต้นทุนการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าของคนขับ Uber ต่ำลง

แม้ว่าคนขับ Uber จะเปลี่ยนไปใช้รถอีวีเร็วกว่าคนขับบนแพลตฟอร์มอื่นถึง 5 เท่า แต่จากการสำรวจของ Uber ก็พบว่า คนขับมองว่า “ราคา” ของรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนจากรถสันดาปมาเป็นอีวี ทำให้บริษัทต้องการจะหาดีลพิเศษเพื่อให้คนขับบนแพลตฟอร์มเปลี่ยนมาใช้รถอีวีได้ง่ายขึ้น

นอกจากดีลรถยนต์ราคาพิเศษแล้ว ต่อไปในอนาคตทั้งสองบริษัทจะร่วมกันพัฒนา “ยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ” เพื่อนำมาใช้บนแพลตฟอร์ม Uber โดยเฉพาะด้วย

BYD Atto 3

“Uber กับ BYD มีสัญญาร่วมกันที่จะสร้างนวัตกรรมไปสู่โลกที่สะอาดขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทำงานร่วมกันไปสู่อนาคตดังกล่าว” Chuanfu Wang ประธานกรรมการและประธานบริษัท BYD กล่าว

“เมื่อคนขับ Uber เปลี่ยนมาใช้รถอีวี พวกเขาจะสร้างประโยชน์ลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมได้มากกว่า 4 เท่าเทียบกับผู้ใช้รถปกติ เพราะคนขับ Uber นั้นใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนานกว่า นอกจากนี้ ผู้โดยสารหลายคนบอกกับเราว่าได้สัมผัสประสบการณ์บนรถอีวีครั้งแรกเมื่อเรียกรถ Uber นั่นทำให้เราตื่นเต้นที่จะช่วยสาธิตประโยชน์ของรถอีวีให้กับผู้คนทั่วโลกให้มากขึ้น” Dara Khosrowshahi ซีอีโอ Uber กล่าว

สำหรับบริษัท BYD นั้นเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่สามารถเอาชนะ Tesla ได้ 2 ปีติดต่อกันในแง่จำนวนการผลิตและส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก เมื่อปี 2023 บริษัท BYD มีการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าถึง 240,000 คันไปสู่ 70 ประเทศ และบริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี 2024 จะเพิ่มจำนวนส่งออกเป็นเท่าตัว!

การแถลงข่าวในครั้งนี้ ทั้งสองบริษัทยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่ารถอีวีที่อยู่ในดีลจะเป็นรถรุ่นไหนบ้าง แต่รูปภาพสำหรับประชาสัมพันธ์ในงานพบว่ามีรถ BYD ทั้งหมด 3 รุ่นปรากฏอยู่ ได้แก่ รถซีดานรุ่น Seal, รถเอสยูวีรุ่น Seal U และ รถเอสยูวีรุ่น Atto 3

ที่มา: Yahoo Finance, CNBC

]]>
1484612
“TADA” แอปเรียกรถสิงคโปร์บุกไทย! ดึงคนขับด้วยโมเดล “ไม่เก็บค่าคอมฯ” เคลม “ถูกกว่า” เจ้าตลาดเบอร์ 1 https://positioningmag.com/1464274 Wed, 28 Feb 2024 08:17:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1464274 สมรภูมิ “แอปเรียกรถ” เมืองไทยเดือดได้อีก! ล่าสุดถึงคิว “TADA” แอปพลิเคชันจากสิงคโปร์เข้ามาเปิดตลาดไทย ชูโมเดลหมัดเด็ด “ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน” เพื่อดึงดูดคนขับเข้าระบบ และทำราคาค่าโดยสารได้ถูกกว่าเจ้าตลาดเบอร์ 1 ขณะนี้

 

TADA แอปใหม่จากสิงคโปร์

“ฌอน คิม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TADA เล่าประวัติของแอปฯ ก่อนว่า แอปฯ นี้ก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบันบริษัทขยายไปแล้ว 3 ประเทศคือ สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่เข้ามาทำตลาด

บริษัทนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสตาร์ทอัปชื่อ “MVLLABS Group” ก่อตั้งโดย “เค วู” ร่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ทอัปมีการทำธุรกิจขาอื่นด้วย ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการขับเคลื่อน (Mobility) และการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า-รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ “ONiON” ซึ่งธุรกิจนี้มีความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยในการนำมาทดลองใช้งานด้วย

แอปเรียกรถ TADA
หน้าตาแอปฯ เรียกรถ TADA ในไทย

 

อยู่รอดได้แม้ “ไม่เก็บค่าคอมฯ”

คิมอธิบายต่อว่า ความแตกต่างของ TADA ที่จะเข้ามาชิงตลาดไทยคือการใช้โมเดล “ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน”

TADA จะเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมเรียกรถ (ครั้งละ 20 บาท) ซึ่งเก็บกับฝั่งผู้โดยสาร ทำให้คนขับรถจะได้ค่าวิ่งรถเต็มจำนวน ไม่ถูกหักค่าคอมฯ และค่าธรรมเนียมใดๆ

ส่วนค่าโดยสารจะคิดตามกรอบของกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ทำให้ภาพรวมผู้โดยสารจะ “จ่ายน้อยกว่า” เมื่อเทียบกับแอปฯ เรียกรถเจ้าตลาดที่มีในไทยขณะนี้

แอปเรียกรถ TADA
การคำนวณค่าโดยสารของ TADA จะตัดค่าคอมมิชชันออกไป

ถ้าถามว่าแล้วแพลตฟอร์ม TADA จะได้อะไร? คำตอบคือ ได้เฉพาะค่าธรรมเนียมเรียกรถเท่านั้น ซึ่งคิมยืนยันว่าบริษัทสามารถ “อยู่รอดได้” เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ สร้างฐานผู้ใช้งาน ไม่ทุ่มตลาด และบริหารองค์กรให้พอเหมาะ

ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ ปัจจุบัน TADA เป็นแอปฯ เรียกรถอันดับ 2 ของตลาดเมื่อคิดตามจำนวนครั้งในการเรียก มีมาร์เก็ตแชร์คิดเป็น 20-25% ของตลาด และเป็นปริมาณที่ทำให้แอปฯ สามารถทำกำไรได้ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องใช้เวลา 5 ปี เพราะฉะนั้นในตลาดไทยก็เช่นกัน TADA จะเข้ามาเพื่อ “เล่นเกมยาว” แน่นอน

สรุปแล้ว TADA ต้องการจะสร้างโมเดลธุรกิจที่ วิน-วิน-วิน ทั้ง 3 ฝ่าย คือ

  • “คนขับรถ” ได้ค่าวิ่งรถที่เหมาะสม สามารถยึดเป็นอาชีพได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  • “ผู้โดยสาร” ได้ค่าโดยสารที่สมเหตุสมผล ไม่แพงเกินจริงจากการเพิ่มค่าคอมมิชชัน
  • “แพลตฟอร์ม” อยู่ได้จากค่าธรรมเนียมเรียกรถ
TADA แอปเรียกรถ
Positioning ทดลองเรียกรถเพื่อเทียบราคาในแอปพลิเคชัน 3 เจ้า พบว่า TADA ถูกกว่า Grab แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่า LINE MAN

 

เริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายไปต่างจังหวัด

สำหรับการขยายตัวของ TADA เริ่มแรกจะมีบริการเฉพาะในเขต “กรุงเทพฯ” ก่อน ก่อนจะขยายไปยังปริมณฑล จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ และ จ.ปทุมธานี เร็วๆ นี้

ส่วนการขยายไปต่างจังหวัด คิมระบุว่าจะมีแน่นอนภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นจังหวัดใด รวมถึงในอนาคต TADA จะเปิดระบบเรียกรถ “มอเตอร์ไซค์” เพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบันแอปฯ มีรถให้เลือกทั้งหมด 4 ประเภท คือ แท็กซี่ 4 ที่นั่ง, รถส่วนบุคคล 4 ที่นั่ง, รถส่วนบุคคลพรีเมียม และรถเอสยูวี

 

ไม่ขอเป็นที่ 1 ขอโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในตลาดแอปฯ เรียกรถที่เป็น “เรดโอเชียน” นี้ คิมมองว่า TADA “ไม่ได้ตั้งเป้าจะเข้ามาเป็นที่ 1” เพราะตลาดนี้ถือว่ามีเจ้าตลาดใหญ่ครองอยู่ โดยคาดว่าเบอร์ 1 น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ส่วนเบอร์ 2 มีส่วนแบ่งประมาณ 30% เหลือพื้นที่ให้เจ้าอื่นๆ น้อยมาก

ทำให้เป้าหมายของ TADA ไม่ต้องการจะเร่งตัวเองให้ขึ้นไปเป็นที่ 1 ซึ่งจะห่างไกลเกินไป ต้องการจะโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

“ฌอน คิม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TADA และ “โจนาธาน ชัว” ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค TADA

แม้ว่า TADA จะไม่เปิดเผยชื่อของเบอร์ 1 และเบอร์ 2 แต่จากชื่อเสียงในตลาด เราสามารถอนุมานได้ว่า “เจ้าใหญ่” ของไทยปัจจุบันนี้ก็คือ “Grab” และ “LINE MAN” นั่นเอง

โดยช่วงปีที่ผ่านมาตลาดแอปฯ เรียกรถนับว่าคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะมีเจ้าใหม่จากกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง “Robinhood” เปิดตัวเข้าตลาดเรียกรถกับเขาด้วย หรือเจ้าเก่าที่ให้บริการมาพักใหญ่แล้ว เช่น “Bolt” และ “InDrive” ก็ขอเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสียที

รวมถึงเจ้าใหญ่ก็มีการขยับ เช่น “LINE MAN” หลังจากมีเฉพาะแท็กซี่ในระบบมานาน ล่าสุดเริ่มรับรถบ้านเข้าสู่ระบบ เร่งโปรโมตเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์เพิ่ม

ตลาดดูจะแข่งขันดุเดือด แต่ซีอีโอคิมแห่ง TADA มองบวกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจซึมเซาแบบนี้น่าจะเป็นผลดีกับแอปฯ ของเขามากขึ้น เพราะผู้โดยสารจะเริ่มมองหาทางเลือกที่จ่ายน้อยลงเพื่อรัดเข็มขัด มากกว่าจะติดกับแอปฯ เดิมที่ใช้ประจำ ทำให้ TADA มีโอกาสที่จะแทรกตัวเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้

]]>
1464274
3 ปีที่รอคอยกับ “กม. แอปเรียกรถ” ถูกกฎหมาย จับตาโค้งสุดท้ายก่อนใช้จริง https://positioningmag.com/1333971 Thu, 27 May 2021 06:44:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333971 เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้พยายามผลักดันให้รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถนำมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย

จนกระทั่งถึง “โค้งสุดท้าย” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เผยว่า ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ .. …. ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยหลังจากนี้จะจัดทำประกาศตามกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

คาดว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

รู้จักบริการ และร่างกฎหมายแอปเรียกรถ

ในยุคสมัยที่ชีวิตของผู้คนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตที่ง่ายและสะดวกสบาย ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัลที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของสังคมเมือง รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงบริการ เรียกรถผ่านแอป (Ride-hailing) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลาง เพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการให้สามารถเจอกับผู้ขับขี่ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้กฎหมายไทยยังไม่ได้เปิดกว้างหรือรองรับให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการสาธารณะได้ โดยเน้นให้ความสำคัญไปกับรถรับจ้างอย่างแท็กซี่เท่านั้น

กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็น “รถยนต์รับจ้าง” กับกรมการขนส่งทางบกเพื่อนำไปให้บริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (หรือแอปพลิเคชัน) ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถหลายราย ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ (Grab), โบลท์ (Bolt), ไลน์แมน แท็กซี่ (LINE MAN Taxi), โกเจ็ก (Gojek), ทรูไรด์ (True Ryde) และบอนกุ (Bonku)

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวยังครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดขนาด กำลังขับเคลื่อน (กิโลวัตต์) หรือประเภทของรถที่จะสามารถนำมาให้บริการ การต้องติดเครื่องหมายบนตัวรถว่าเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอป การกำหนดอายุการใช้งานของรถที่ต้องไม่เกิน 9 ปี และต้องตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายสะอาดและสุภาพ

ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต้องมีระบบการลงทะเบียนคนขับ การกำหนดให้ต้องมีการแสดงตัวตนของคนขับ เลขทะเบียนรถ ระยะทาง ระบบติดตาม-ตรวจสอบเวลา สถานที่รับส่ง ระบบคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ตลอดจนระบบแจ้งข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ เป็นต้น

เมื่อถูกกฎหมาย ใครบ้างที่ได้ประโยชน์

  • ผู้โดยสาร

หรือประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะได้รับความสะดวกสบายในการสัญจรเดินทาง ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้สามารถใช้บริการได้ทั้งการโบกรถแท็กซี่แบบเดิม หรือเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้มารับได้ถึงที่โดยไม่ต้องรอนาน สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางได้ ทั้งยังมีการแสดงราคาที่โปร่งใสให้ทราบก่อนการเดินทางทุกครั้ง

และยังสามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะด้วยเงินสดหรือตัดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันได้เลย  ที่สำคัญคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัย เพราะมีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ มีฐานข้อมูลของคนขับที่สามารถตรวจสอบได้หากมีเหตุฉุกเฉิน และมีระบบร้องเรียนหรือระบบให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา

  • ผู้ขับขี่

สามารถหารายได้เสริม และสร้างประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างรถยนต์ที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องโดนดำเนินคดีทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหลายรายยังมอบสิทธิประโยชน์ให้กับคนขับเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุในขณะให้บริการ ระบบหรือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้คนขับ รวมไปถึงบางรายอาจมีผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอย่างสินเชื่อ หรือการผ่อนชำระสินค้าเพื่อสนับสนุนหรือแบ่งเบาภาระให้กับคนขับด้วย

  • แพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน

ถือเป็นโอกาสในการพัฒนา และขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อเปิดให้มีการแข่งอย่างเสรี ย่อมส่งผลให้เกิดการยกระดับของทั้งอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น ทั้งในด้านมาตรฐานการบริการที่ดียิ่งขึ้น ราคาในการให้บริการที่สมเหตุสมผล  ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

  • คนขับรถแท็กซี่

ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าบริการเหล่านี้จะมาแย่งอาชีพหรือแย่งผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาครัฐพยายามสร้างความสมดุลเพื่อให้อุตสาหกรรมบริการเดินทางขนส่งสาธารณะ เกิดการพัฒนาและเดินหน้าได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ในหลายมิติ เช่น การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 เป็น 12 ปี การลดภาระต้นทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่วนตัว โดยสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันเข้ามาแทนที่

ปัจจุบัน คนขับแท็กซี่หลายหมื่นรายหันมาหารายได้จากการรับงานผ่านแอปเรียกรถเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสในการหารายได้ได้สองช่องทาง ทั้งจากการรับงานแบบดั้งเดิมที่ผู้โดยสารโบกเรียกตามท้องถนน และการรับผู้โดยสารจากแอปเรียกรถที่จะช่วยประหยัดเวลาในการวนหาลูกค้า

  • ผลประโยชน์ที่เกิดกับประเทศ

การที่แอปเรียกรถถูกกฎหมายถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนของรายได้ในระบบเศรษฐกิจมหภาค ยกระดับมาตรฐานในด้านการเดินทางและขนส่ง

รวมไปถึงช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คุ้นชินกับการเรียกรถผ่านแอป รวมทั้งการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะในเมืองรอง ซึ่งไม่มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับ ที่สำคัญ การทำให้แอปเรียกรถถูกกฎหมาย ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันและเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดัน และพัฒนากฎหมายรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับบริบทของธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบันต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นับหลายหมื่นคัน ยังไม่นับรวมคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่หันมารับงานจากแอปเรียกรถเหล่านี้ ฝันของประชาชนคนไทยที่จะสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป แม้จะตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเวียดนาม แต่ก็ยังไม่สายเกินไป… อดใจอีกนิด ไม่นานเกินรอ

]]>
1333971
คู่แข่งมาแล้ว! Bolt แอปเรียกรถน้องใหม่จากยุโรปบุกไทย คิดค่าโดยสารถูกกว่า 20% https://positioningmag.com/1290010 Wed, 29 Jul 2020 15:04:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290010 งานนี้ Grab มีสะเทือน ตอนนี้ Bolt แอปพลิเคชันเรียกรถน้องใหม่เข้ามาบุกตลาดในไทย เปิดให้บริการแล้วในกรุงเทพฯ ในช่วงแรกไม่เก็บค่าธรรมเนียมกับคนขับ และตั้งราคาถูกกว่าคู่แข่ง 20%

รู้จัก Bolt กันหน่อย

หลังจากที่ Uber ได้ม้วนเสื่อ ถอยทัพจากตลาดไทยไปหลายปี ทำให้ประเทศไทยดูเหมือนจะผูกขาดกับแอปพลิเคชันเรียกรถอยู่รายเดียวก้คือ “แกร็บ (Grab)” ทำให้กลไกตลาดขาดเรื่องของการแข่งขัน ราคาไปโดยปริยาย

แต่ล่าสุดได้มีน้องเข้ามาบุกตลาด เพื่อเป็นคู่แข่งรายใหม่ของแกร็บเป็นที่เรียบร้อย นั่นคือ Bolt เป็นแพลตฟอร์มให้บริการขนส่งจากประเทศเอสโทเนีย เริ่มก่อตั้งในปี 2013 ตอนนี้มีอายุได้ 6 ปีแล้ว

ภาพรวมธุรกิจเมื่อสิ้นปี 2019 Bolt ได้ทำตลาดใน 150 เมือง จาก 35 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป, แอฟริกา, แอฟริกาเหนือ, เอเชียตะวันตก และอเมริกาเหนือ มีฐานลูกค้ารวม 30 ล้านคน และมีพาร์ตเนอร์คนขับรวม 1 ล้านคน

บริการของ Bolt ไม่ได้แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นเท่าไหร่นัก มีตั้งแต่บริการขนส่ง รถยนต์, มอเตอร์ไซค์, สกู๊ตเตอร์ และเพิ่งเปิดบริการส่งอาหารหรือ Bolt Food เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 นี้เอง

ขอถูกกว่าคู่แข่ง 20%

ตอนนี้ Bolt ประกาศทดลองเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีคนขับพร้อมให้บริการแล้วกว่า 2,000 คน

Bolt เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี รวมถึงคนขับรถที่สนใจเข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้สามารถหารายได้ได้ง่ายๆ เพียงกดรับงานภายในแอปพลิเคชัน หากสนใจร่วมเป็นคนขับของ Bolt เพียงมีรถยนต์เป็นของตัวเองพร้อมใบอนุญาตต่างๆ ที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ

ในการทำตลาดในไทยใน 6 เดือนแรก Bolt ประเทศไทย จะยกเว้นการเก็บค่าคอมมิชชั่นจากคนขับ และมอบส่วนลดค่าโดยสารที่ต่ำกว่าคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ในตลาด 20%

แอปฯ

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Bolt ได้แล้วผ่าน App Store หรือ Google Play หลังลงทะเบียนเพื่อเริ่มใช้งานผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการเรียกรถโดยสารได้ง่ายๆ เพียงเปิดแอปฯ ใส่พิกัดที่จะให้ไปรับพร้อมจุดหมายปลายทาง แอปฯ ก็จะประเมินค่าเดินทางให้เรียบร้อย หลังจากผู้โดยสารกดยืนยันผู้โดยสาร ตัวแอปฯ จะทำการแจ้งคนขับที่อยู่บริเวณรอบๆ เพื่อกดรับงาน

หลังจากคนขับกดรับงานจากผู้โดยสารแล้ว ผู้โดยสารจะสามารถเห็นข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นของคนขับ ทั้งยังสามารถรู้พิกัดของรถที่จะมารับได้อย่างเรียลไทม์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้โดยสารจะขึ้นรถได้ถูกต้อง และเมื่อถึงที่หมายปลายทางผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารได้ด้วยเงินสดในระยะแรกของการเปิดตัว

]]>
1290010
จับตา! GET ควง “Go-Jek” ลุยสังเวียนแอปฯ เรียกรถไทย ประเดิม 3 บริการ วินมอเตอร์ไซค์-ส่งพัสดุ-ส่งอาหาร คาด 1 ปีลูกค้า 1 ล้านราย https://positioningmag.com/1216797 Thu, 28 Feb 2019 00:57:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1216797 เมื่อ 2 เดือนก่อนสังเวียนแอปพลิเคชั่นเรียกรถ หรือ Ride-Hailing Application กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อน้องใหม่ “GET!” (เก็ท) ประกาศทดลองให้บริการฟรีรัศมี 6 กิโลเมตรใน 3 เขตลาดพร้าว วังทองหลาง และจตุจักร

จากนั้น Get ทยอยขยายพื้นที่ให้บริการมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ GET มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 80% ของกรุงเทพฯ พร้อมกับอ้างสถิติมีการใช้งานกว่า 2 ล้านครั้ง คิดเป็นระยะทางกว่า 3 ล้านกิโลเมตร หรือไปกลับดวงจันทร์ 7 รอบ

บริเวณที่ใช้บริการจำนวนมากอยู่ในย่าน CBD เช่น สาทรและบางรัก ยอดดาวน์โหลดแอป 2 แสนครั้ง และมีพี่วินมอเตอร์ไซค์ลงทะเบียนในระบบ 10,000 คน จากจำนวนที่ลงทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกทั้งสิ้น 80,000 คน

การที่ Get ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะมี Backup ที่ไม่ธรรมมา อย่าง Go-Jek (โกเจ็ก) หนึ่งในเทคยูนิคอร์นที่น่าจับตามองในแถบเอเชีย จากอินโดนีเซีย แถมมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมากมาย ทั้งกูเกิล เทนเซ็นต์ และเหม่ยถวนเตี้ยนผิง ร่วมลงทุนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและ Know-how ในด้านเทคโนโลยี

Get นั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมทุน ของ Go-Jek แต่อยู่ในลักษณะพาร์ตเนอร์ชิพโดยมีอำนาจในการบริการและตัดสินใจเอง ผู้บริหารและพนักงาน 100 กว่าคนเป็นคนไทยทั้งหมด และมีบางส่วน เช่น วิศวกรรมดูแลระบบที่ Go-Jek ส่งมาช่วยดูเท่านั้น

Go-Jek ได้เปิดตัวด้วยบริการรับส่งคนและพัสดุด้วยรถจักรยานยนต์เมื่อปี 2010 จนถึงตอนนี้มี 19 บริการ ตั้งแต่บริการขนส่ง รับส่งอาหาร ร้านค้าบริการนวด บริการทำความสะอาดบ้านโลจิสติกส์ รวมถึงบริการอีมันนี่ และโรยัลตี้โปรแกรม มียอดดาวน์มากกว่า 130 ล้านครั้ง และมีผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านคนต่อวัน

ในอินโดนีเซียให้บริการ 200 เมือง/เขต และได้ประกาศการขยายสู่นานาชาติไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (ให้บริการเฉพาะเรียกมอเตอร์ไซค์) ใช้ชื่อ โกเหวียด” (Go-Viet) สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ (ให้บริการเฉพาะอีมันนี่เพราะเข้าไปซื้อบริษัทท้องถิ่นมา) ใช้ชื่อบริการ Go-Jek แต่ให้บริการทีหลังไทย

โดยไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ Go-Jek เข้ามาทำตลาด แต่ใช้ชื่อ GET! จะให้บริการ 3 บริการ คือ 1.บริการ เรียกมอเตอร์ไซค์ หรือ GET Win โดยจะมีแต่รถป้ายเหลืองที่ถูกกฎหมายเท่านั้น 2. GET Delivery บริการส่งพัสดุต่างๆ และ GET Food บริการซื้ออาหารที่มีร้านในระบบ 2 หมื่นร้าน ตั้งแต่ร้านสตรีทฟู้ดจนถึงร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ จะให้ป้ายขาววิ่งรับส่งได้

นาดีม มาคาริม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ โกเจ็ก Go-Jek ให้เหตุผลที่สนใจตลาดเมืองไทยเพราะภาพรวมมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการคุ้นชินกับการนั่งมอเตอร์ไซค์ ชื่นชอบอาหาร และนิยมใช้แอปพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงได้สนใจเข้ามาก่อนจะเจอกับทีมงานของ GET ที่เข้าใจตลาดเมืองไทยเป็นอย่างดี

ทีมงานที่ว่านี้คือ ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการ O2O (Online-to-Offline) เมืองไทย เพราะเคยเป็นผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งไลน์แมน (LINE Man) จนเป็นที่รู้จักในเมืองไทย ในด้านผู้ให้บริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) รวมถึงสร้างไลน์แท็กซี่ (LINE Taxi) ขึ้นมาเป็นในฐานะอีกบริการหนึ่งของไลน์แมน

ช่วงบุกเบิก ไลน์แมน เขาได้ดึงพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ เข้ามาเสริมทัพได้มากมายไม่ว่าจะเป็นวงใน (Wongnai) หรือลาล่ามูฟ (Lalamove) และก่อนหน้านั้นภิญญาได้เคยทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำอย่าง PCUBED ในฮ่องกง และแอคเซนเจอร์ (Accenture) ในไทยพร้อมประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยี

ภิญญาบอกว่าสังเวียน Ride-Hailing Application ยังถือว่าเป็น “Blue Ocean” เพราะถึงจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่ แต่สัดส่วนของคนที่ใช้บริการยังเป็นตัวเลขหลักเดียว แสดงว่ายังมีโอกาสในตลาดอีกมาก ซึ่งการจะเจาะเข้าไปได้จะต้องเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค

จากผลรองรับในช่วงทดลองชี้ให้เห็นว่า GET สอบผ่านได้ดีด้วย 3 เหตุผล เรื่องแรกการเป็นแบรนด์ของไทยเอง เพราะชื่อ “GET!” (เก็ท) เป็นชื่อที่สั้นและสามารถเข้าใจความหมายได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ต่อมาการใช้งานที่ง่าย และส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจริงๆ

ความท้าทายที่สุดของ GET ในตอนนี้คือเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้คุ้นชินการเรียกพี่วินมอเตอร์ไซค์ให้เร็วที่สุด

GET ย้ำตัวเองเป็นบริการที่ถูกกฎหมาย เพราะตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปหารือกับทางภาครัฐตลอด เพื่อให้บริการถูกต้องตามกฎหมาย

เบื้องต้นใน GET Win จะคิดค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนด ช่วงนี้ยังมีโปรโมชั่นส่วนลดอยู่ มีอัตราระยะเวลาเรียกรถ 10 วินาที ส่วน GET Food และ GET Delivery คิดค่าบริการตามจริง ไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม โดยต่อไปได้วางแผนเพิ่มบริการอีมันนี่เข้ามา แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเปิดให้บริการในช่วงไหน ส่วนพื้นที่ให้บริการคาดครอบคลุมภายกรุงเทพฯภายในไตรมาสแรกนี้

เป้าหมายภายในปีนี้ของ GET ก็ไม่มากไม่มายแค่อยากให้มีคนไทยที่ใช้บริการ “1 ล้านคนเท่านั้นเอง.

]]>
1216797
‘Grab’ ปรับสู่บริการครบวงจร ดูข่าว รีวิวร้าน ดูหนังสั้น เล่นเกม ประเดิมส่งของสดจากซูเปอร์มาร์เก็ต https://positioningmag.com/1178193 Tue, 10 Jul 2018 10:21:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1178193 แกร็บ (Grab) ได้พลิกโฉมบริการให้เป็นมากกว่าแอปเรียกรถ ประกาศเปิดตัว “แกร็บแพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์โอเพ่นแพลตฟอร์ม เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ซูเปอร์แอป” สำหรับทุกวัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยแอปพลิเคชั่นโฉมใหม่นี้ แกร็บจะเพิ่มบริการรองรับการใช้งานในทุกวัน ช้อปปิ้ง อ่านข่าว ดูรีวิวร้านอาหาร เพื่อนส่วนหนึ่งของการก้าวสู่การเป็นซูเปอร์แอปสำหรับทุกวัน ซึ่งแกร็บจะทำงานร่วมกับพันธมิตรชั้นนำซึ่งสามารถเชื่อมต่อบริการของพวกเขากับแกร็บแพลตฟอร์มได้

ขณะเดียวกัน พันธมิตร จะสามารถขยายบริการไปยังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาศัยฐานข้อมูลผู้ใช้ของแกร็บและเครือข่ายช่องทางการขนส่งของ “แกร็บแพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในรูปแบบ APIs (Application Programming Interface) ที่ช่วยให้พันธมิตรสามารถเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีของแกร็บ อาทิ จัดส่งสินค้า ชำระเงินออนไลน์ ระบุตัวตนผู้ใช้ และแผนที่ระบุพิกัด

แกร็บแพลตฟอร์มขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ใช้ทุกคนในระดับที่มากกว่าที่เราจะสามารถขยายได้ด้วยตัวเอง

แอนโทนี่ ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ กล่าว

นอกจากนี้ แกร็บ ยังเปิดตัวบริการสำหรับทุกวัน บริการล่าสุด แกร็บเฟรช ซึ่งเป็นบริการส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแบบออนดีมานด์บนแอปพลิเคชั่นแกร็บ โดยแกร็บแพลตฟอร์มได้ร่วมมือกับแฮปปี้เฟรช ผู้ให้บริการส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

ผลจากความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้แกร็บขยายบริการสู่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของสินค้าที่มีการจับจ่ายมากที่สุดของครัวเรือน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของแกร็บในการก้าวเป็นซูเปอร์แอปสำหรับทุกวันของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กิลเลม ซาการ์ร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แฮปปี้เฟรช กล่าวว่า “ธุรกิจส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคภายในบ้านยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลสำรวจของเราพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ซื้อสินค้าของใช้ในบ้านผ่านแอปพลิเคชั่นมักจะซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งและมักจะซื้อจากร้านที่มีความคุ้นเคย สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการคือสินค้าพร้อมส่งในเวลาที่ต้องการ แกร็บเฟรชนั้นมีสินค้าที่หลากหลายที่สุดหากเทียบกับผู้ให้บริการส่งสินค้ารายอื่น”

“แกร็บคือพันธมิตรที่ดีที่สุดสำหรับเรา ด้วยจำนวนผู้ขับขี่และส่งสินค้าจำนวนมากทำให้เราจัดตารางส่งสินค้าได้มากขึ้น และปรับปรุงเวลาการส่งสินค้าของเราได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถขยายขอบเขตการให้บริการในประเทศและต่างประเทศได้ดีขึ้น”

แกร็บเฟรช จะทดลองให้บริการในรูปแบบเบต้าในเมืองจาการ์ตาในเดือนนี้ จากนั้นจะเปิดตัวในประเทศไทยและมาเลเซียภายในสิ้นปีนี้ สำหรับประเทศอื่นๆ จะเปิดให้บริการในอนาคต

รวมถึงการมีฟีเจอร์การให้ข่าวสาร (News Feed) เมื่อลูกค้าเดินทาง จะได้รับข้อมูลข่าว รีวิวร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าก่อนเดินทางไปถึง ดูหนังสั้นจากโปรดิวเซอร์ท้องถิ่นและเล่นเกม ทั้งนี้เนื้อหาจะปรับให้เหมาะกับช่วงเวลา ในแต่ละท้องถิ่น เช่น มัสยิดที่ใกล้ที่สุดระหว่างช่วงรอมฎอน หรือผลคะแนนล่าสุดของการแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นต้น รวมถึงเข้าถึงการจ่ายเงินในหน้าหลักของแอปพลิเคชั่นแกร็บ

นอกจากนี้ แกร็บยังจับมือเป็นพันธมิตรด้านเนื้อหากับ Yahoo เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ลูกค้าแกร็บในสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะได้รับข่าวสารและข้อมูลล่าสุด ในขณะที่พันธมิตรด้านข่าวในประเทศอื่นๆ จะได้รับการประกาศในอนาคต

  • แกร็บ ให้บริการครบ 2 พันล้านเที่ยวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 จากเดิมแกร็บเคยใช้เวลาถึง 5 ปี 4 เดือนในการให้บริการครบ 1 พันล้านแรก แต่หลังจากนั้นใช้เวลาน้อยกว่า 9 เดือนในการให้บริการครบรอบอีกพันล้านถัดมา
  • ปี 2561 แกร็บรายได้รวมสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2561
  • บริการการเดินทางยังมีการเติบโต มียอยอดการใช้บริการรวม (GMV – Gross merchandise volume) สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • แกร็บฟู้ดได้ขยายการให้บริการจาก 2 ประเทศ ไปยัง 6 ประเทศ และยอดขายรวมโตถึง 9 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • ยอดการใช้จ่ายแกร็บไฟแนนเชียลระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2561 เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ปัจจุบัน แกร็บไฟแนนเชียลเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แอนโทนี่ ระบุว่า ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงเทคโนโลยีและขยายการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ให้เติบโตจากแพลตฟอร์มการจองรถแท็กซี่ มาสู่ผู้ให้บริการขนส่งสำหรับบริษัทในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อนำไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน แอปพลิชั่นถูกติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ 100 ล้านเครื่อง ครอบคลุมเครือข่ายผู้ขับขี่ พันธมิตรขนส่ง ผู้ค้าและตัวแทนรวมกว่า 7.1 ล้านคน รวมถึงระบบการจ่ายเงินทำให้แกร็บสามารถให้การสนับสนุนการสร้างการเติบโตทางธุรกิจของสตาร์ทอัพอื่น ๆ

แกร็บเฟรช ส่งสินค้าภายใน 1 ชั่วโมง

นอกจากบริการเรียกรถ รับประทานอาหารกลางวัน ส่งพัสดุ รวมถึงช้อปปิ้งอยู่แล้ว เวลานี้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าต่างๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่ต้องเสียเวลารอคิวด้วยแกร็บเฟรช

การร่วมมือกับแฮปปี้เฟรช จะทำให้ลูกค้า Grab ได้รับความสะดวกจากการซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตได้จากบ้าน ซึ่งผู้บริโภคมักต้องการซื้อสินค้าสดและสินค้าแช่งแข็งอยู่เป็นประจำ โดยแกร็บเอ็กซ์เพรสสามารถส่งสินค้าเหล่านั้นถึงประตูบ้านได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรือตามเวลาที่นัดไว้

บริการนี้ของ Grab ครอบคลุมมผลิตภัณฑ์กว่า 100,000 ชนิด จากเครือซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายสินค้าเฉพาะทางกว่า 50 แห่ง

โดยมีผู้ช่วยซื้อสินค้าส่วนตัวที่ได้รับการอบรมและมีความรู้ในการเลือกซื้อสินค้าทั่วไปและสินค้าเฉพาะ ซึ่งสามารถให้บริการตามความต้องการพิเศษด้วย ลูกค้าสามารถปฏิเสธการรับสินค้าในกรณีไม่พอใจได้

แกร็บจะทำงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจ เพื่อนำไปสู่บริการให้ลูกค้าทุกวัน รวมถึงยังสร้างการเข้าถึงแหล่งรายได้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก

แกร็บแพลตฟอร์มคือเทคโนโลยีอันหลากหลายในรูปแบบ APIs (Application Programming Interface) ที่ช่วยให้พันธมิตรสามารถเชื่อมต่อการทำงานกับเทคโนโลยีของแกร็บได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การจัดส่งสินค้า การชำระเงิน การระบุตัวตนผู้ใช้ การส่งข้อความ การให้ข้อมูลข่าวสาร และแผนที่ระบุพิกัด

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีขนาดทางธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรจำนวนมากจะมีฐานะดีขึ้นในสังคมระดับกลาง บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง ผ่านการร่วมมือกับแกร็บ” แอนโทนี่ ตัน กล่าวเพิ่มเติม

แกร็บ จะให้บริการแอปโฉมใหม่บนระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียในวันนี้ ส่วนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Andriod) จะเริ่มให้บริการในวันที่ 18 กรกฎาคม สำหรับประเทศอื่นๆ คือ ไทย จะเริ่มภายในไตรมาส 3ของปีนี้

ปัจจุบัน แกร็บมีเครือข่ายผู้ขับขี่ พาร์ตเนอร์ผู้ขนส่ง ตัวแทนและผู้ค้ารวมกว่า 7.1 ล้านคน ใน 225 เมือง ใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

]]>
1178193