โบรกเกอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 08 Sep 2022 03:32:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เว็บค้นหาอสังหาฯ เปิดใหม่ “Property Mall” ใช้ AI เสนอขาย เก็บค่าคอมฯ แทนค่าโฆษณา https://positioningmag.com/1399337 Thu, 08 Sep 2022 02:45:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399337 โบรกเกอร์ “วีบียอนด์” เปิดตัวธุรกิจใหม่ แพลตฟอร์มค้นหาอสังหาฯ “Property Mall” สร้างความต่างด้วยการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและเสนอสินค้าที่น่าจะโดนใจ วางโครงสร้างธุรกิจเก็บ “ค่าคอมมิชชั่น” เมื่อขายได้ แทนการเก็บค่าโฆษณาเหมือนเว็บอื่นๆ คาดหวังธุรกิจใหม่ช่วยดันกำไรบริษัทขึ้นแตะ 600 ล้านบาทภายในปีหน้า

“วรเดช รุกขพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีบียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด เปิดตัวธุรกิจใหม่ในเครือ แพลตฟอร์ม “Property Mall” แหล่งค้นหาเพื่อซื้อขาย เช่า ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย ขณะนี้สามารถค้นหาได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ แต่จะพัฒนาแอปพลิเคชันต่อเนื่อง คาดใช้งานแอปฯ ได้ไม่เกินมกราคม 2566

ความแตกต่างของ Property Mall จากเว็บไซต์ค้นหาอสังหาฯ อื่นๆ วรเดชกล่าวว่ามาจากการใช้ AI เข้ามาช่วยประเมินความต้องการลูกค้า และเสนอสินค้าที่น่าจะเหมาะสมให้ จากปกติเว็บไซต์อื่นจะเป็นการเข้าไปค้นหาเอง โดยอาจมีให้เลือกเฉพาะทำเล ประเภทอสังหาฯ และราคา จากนั้นลูกค้าต้องเลื่อนหาเองไปทีละรายการ

“ในขั้นตอนสมัครสมาชิก ลูกค้าสามารถกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับตนเองลงไปได้อย่างละเอียด จากนั้นเมื่อค้นหาอสังหาฯ AI จะหาสินค้าที่ดีกับเรามากที่สุดมาเสนอ เช่น ใกล้ทั้งออฟฟิศ ใกล้โรงเรียนลูก และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราที่ชอบช้อปปิ้งด้วย” วรเดชกล่าว

“วรเดช รุกขพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีบียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด

รวมถึงการลงทุนในอสังหาฯ ก็สามารถปรึกษาเบื้องต้นกับแพลตฟอร์มได้เช่นกัน โดยระบบสามารถแนะนำแพ็กเกจการลงทุนที่เหมาะกับลูกค้าว่าควรลงทุนที่ไหน จากการประเมินผลตอบแทน (yield) ที่ลูกค้าเลือกและความเสี่ยงที่รับได้

ปัจจุบัน Property Mall มีดีเวลอปเปอร์ร่วมเป็นพันธมิตรแล้วกว่า 50 ราย มีทรัพย์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มแล้วกว่า 100 โครงการ ดีเวลอปเปอร์เจ้าใหญ่ที่ลงขายกับแพลตฟอร์มนี้ เช่น แสนสิริ, เสนาฯ, เอสซี แอสเสท, ณุศาศิริ, CMC เป็นต้น

“เราวางเป้าว่าภายใน 5 ปีจะดึงดีเวลอปเปอร์ครึ่งหนึ่งของตลาดมาขายกับเรา” วรเดชกล่าว ทั้งนี้ ประเมินว่าขณะนี้มีดีเวลอปเปอร์รวมกว่า 700 รายในตลาด รวมทั้งรายใหญ่ไปจนถึงรายเล็กที่ทำโครงการระดับท้องถิ่น

Property Mall
หน้าเว็บไซต์ Property Mall

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ Property Mall ต่างออกไปคือ ธุรกิจหลักของบริษัทแม่มาจากการเป็นเอเย่นต์/โบรกเกอร์ขายอสังหาฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ฟีเจอร์ในเว็บไซต์จะเพิ่มเรื่อง “โปรโมชัน” ที่ลูกค้าต้องการ เนื่องจากทรัพย์ที่นำมาขายในแพลตฟอร์มนั้นเอเย่นต์วีบียอนด์เป็นผู้ดูแลการขายอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อเอเย่นต์เพื่อต่อรองโปรโมชันกลับไปที่ผู้ประกอบการได้

รวมถึงโครงสร้างธุรกิจจะต่างจากเว็บไซต์ค้นหาอสังหาฯ อื่นซึ่งมีรายได้หลักจากค่าโฆษณา (ผู้ประกอบการหรือเอเย่นต์จ่ายค่าโฆษณาเพื่อให้ทรัพย์ของตนเองอยู่ในลำดับแรกๆ เมื่อลูกค้าค้นหา) เมื่อ Property Mall เป็นโบรกเกอร์เองด้วย ทำให้จะได้รายได้จาก “ค่าคอมมิชชั่น” เมื่อขายทรัพย์รายการนั้นสำเร็จ โดยคิดค่าคอมฯ ตั้งแต่ 3% จนถึงสูงสุด 20%

วรเดชกล่าวต่อว่า สำหรับวีบียอนด์ เมื่อปี 2564 ทำกำไรสุทธิ 40 ล้านบาท เป้าปี 2565 จะทำกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท คาดหวังปี 2566 จากการเปิด Property Mall น่าจะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นไปถึง 600 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายระยะกลางของแพลตฟอร์มนี้ ภายใน 3 ปีหวังว่าจะทำยอดขายได้ 50,000 ล้านบาทต่อปีสำหรับทรัพย์มือหนึ่ง และยอดขาย 10,000 ล้านบาทต่อปีสำหรับทรัพย์มือสองที่จะนำมาขายในแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน

]]>
1399337
ก้าวต่อไป ‘Rabbit Care’ หลังรีเเบรนด์ครั้งใหญ่ กับเป้าหมายเบี้ยประกันโต 3 พันล้านในปีนี้ https://positioningmag.com/1373037 Mon, 07 Feb 2022 11:13:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373037 ก้าวต่อไปของ ‘Rabbit Care’ โบรกเกอร์ประกันออนไลน์ หลังรีเเบรนด์ครั้งใหญ่จาก ‘Rabbit Finance’ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ายุคดิจิทัลให้หลากหลายมากขึ้น พร้อมรุกประกันสุขภาพ ตั้งเป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตเเชร์เป็น 5-10% ให้ได้ภายใน 5-10 ปี เล็งบุกเวียดนาม-อินโดฯ 

เเม้จะเจอความท้าทายจากวิกฤตโควิด เเต่ดูเหมือนว่าธุรกิจแพลตฟอร์มนายหน้าประกันภัย จะได้รับอานิสงส์ที่ดีจากการที่ลูกค้าเริ่มเห็นความสำคัญในการซื้อประกันมากขึ้น

ในปี 2564 ที่ผ่านมา Rabbit Care มีเบี้ยประกันภัยเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 700 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 1.9 พันล้านบาทในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 166% เป็นแพลตฟอร์มนายหน้าประกันภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย ขยายทีมงาน 300 คนสู่ 700 คนในปัจจุบัน

โดยประกันภัยรถยนต์ของบริษัท มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 212% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าซื้อกิจการของโบรกเกอร์ ‘Asia Direct’ ขณะที่กลุ่มประกันสุขภาพ เติบโตขึ้น 261% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงด้านประกันภัยองค์กรที่เติบโต 63%

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ผ่านรอบการลงทุน Series B ได้แก่ Samsung Ventures และ Korea Investment Partners

รีเเบรนด์ให้เข้าถึงง่าย 

Rabbit Finance (แรบบิท ไฟแนนซ์) เริ่มรีแบรนด์ดิ้งปรับภาพลักษณ์ใหม่เป็น Rabbit Care (แรบบิท แคร์) ตั้งเเต่ช่วงเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา

ไมเคิล มันเฟรด สไตลเบิล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิท แคร์ จำกัด เล่าว่า นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ผู้คนได้รู้จักเเบรนด์มากขึ้น ให้มากกว่าการเป็นมาร์เก็ตเพลสของผลิตภัณฑ์ประกัน ซึ่งได้ร่วมมือกับเอเยนซี่เจ้าใหญ่อย่างโอกิลวี่เพื่อสื่อสารเเบรนด์ในรูปแบบใหม่

โดยจะมุ่งเน้นไปยังการให้คำปรึกษาเเละนำเสนอโซลูชันการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันและการเงินอย่างโปร่งใส ในขณะเดียวกันยังแสดงออกถึงความใส่ใจทุกความต้องการของลูกค้า

ในส่วนของการออกเเบบโลโก้ใหม่นั้นที่เป็นรูปหัวใจนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากหูของมาสคอตกระต่าย รวมถึงการเปลี่ยนสีประจำองค์กรให้เป็น “Caring Blue” ที่สื่อถึงความสงบ และดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนสโลแกนของแบรนด์เป็นใช้ใจแคร์ ดูแลครบหรือ “Complete Care” ควบคู่ไปกับการนำเสนอมาสคอตน้องแคร์ในฐานะผู้จัดการความแคร์ สื่อให้เห็นถึงการดูแลและสนับสนุนลูกค้า

เราอยากจะเป็นทางเลือกเเรกที่ให้คอยคำปรึกษา เมื่อผู้คนคิดจะซื้อประกันหรือผลิตภัณฑ์การเงินใดๆ สร้างความรู้เเละความเข้าใจ ให้สามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ในราคาที่ดีที่สุด

เป้าปี 65 เบี้ยประกันภัย 3 พันล้าน เล็งขยายอาเซียน 

สำหรับภาพรวมของตลาดประกันภัยทั่วโลก และในประเทศไทย ปี 2565 คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากโควิด-19

โดยตลาดประกันภัยในไทย อยู่ในระดับที่ยังสามารถดำเนินการได้ดีเเละมีโอกาสขยายตัวได้สูง เนื่องจากสัดส่วนเบี้ยประกันรวมยังอยู่ที่ 5.3% ของ GDP ถือว่าต่ำกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่าง ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ เเละสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 20.8%, 17.4% , 11.6% เเละ 9.5% ของ GDP ตามลำดับ

แนวโน้มของตลาดในเชิงบวกนี้ สอดคล้องไปกับแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Rabbit Care คาดว่าการเติบโตของบริษัทในปีนี้ จะเเตะตัวเลข 2 หลัก ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยเติบโตเเตะ 3 พันล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เบี้ยประกันวินาศภัยในระดับ 5-10% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันครองมาร์เก็ตแชร์เพียง 1% เพราะยังเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีโอกาสเติบโตต่อไป

นอกจากนี้ ภายใน 18 เดือนข้างหน้า Rabbit Care มีเเผนจะขยายธุรกิจออกไปยังอาเซียนอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียด้วย

โดยในช่วงนี้จะมุ่งโฟกัสไปที่การสร้างเเพลตฟอร์มประกันเเละการเงินที่ครบวงจรให้เเข็งเกร่งก่อน ยังไม่ได้มองข้ามสเต็ปว่าจะขยายไปยังธุรกิจอื่น

พัฒนาระบบ ‘CareOS’ ช่วยลูกค้า ‘เปรียบเทียบ’ ได้ง่าย 

กลุ่มลูกค้าหลัก Rabbit Care ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน อายุ 30-50 ปีมีกำลังซื้ออาศัยในเมืองเเละเเถบชานเมืองซึ่งมักจะเป็นคนดูเเลการซื้อประกันให้คนในครอบครัว โดยบริษัทมีเเผนจะขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้นทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่เเละคนต่างจังหวัด

โจฮันเนส ฟริดริค วอน โรห์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แรบบิท แคร์ จำกัด เปิดเผยถึงกลยุทธ์ธุรกิจในปีนี้ ว่าจะเน้นตลาดออนไลน์ โดยได้พัฒนาระบบ ‘CareOS’ ด้วยงบประมาณหลายสิบล้านบาท เพื่อเสนอดีลประกันภัยในราคาที่ดีที่สุดภายในเวลาไม่ภายใน 30 วินาที เชื่อมต่ออัตโนมัติกับระบบของพันธมิตรกว่า 70 รายเเละพร้อมมองหาพันธมิตรใหม่ๆ

ช่วยให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและซื้อประกันภัยและผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้สะดวกสบาย ตรงกับความต้องการแบบเฉพาะบุคคลและประหยัดเวลา

นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่กว่า 300 คนให้คำปรึกษาผ่านการโทรและแชท ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Care Emergency บริการช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้ซื้อประกันรถยนต์ เเละ Health Caresultant บริการรับคำปรึกษาจากแพทย์สำหรับลูกค้าประกันสุขภาพ

Rabbit Care เตรียมจะขยายข้อเสนอผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการประกันภัยรถยนต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพในราคาที่เข้าถึงได้ เเละวางแผนที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองทันทีภายในปีนี้

พอร์ตการเติบโตหลักของเราในปีนี้ จะมาจากธุรกิจประกัยรถยนต์ ตามมาด้วยประกันสุขภาพและประกันชีวิต

สำหรับการความท้าทายเเละการเเข่งขันในตลาด ผู้บริหาร Rabbit Care ยอมรับว่ามีการเเข่งขันสูงมากจึงต้องสร้างความเเตกต่างให้ได้เเละทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจนโปร่งใส ง่ายต่อการเปรียบเทียบ นำมาสู่การเเข่งขันด้านราคา บริการเเละคุณค่าที่ให้กับลูกค้า โดยเร็วๆ นี้จะเปิดตัวโปรดักต์ใหม่มาลองตลาดด้วย

เร่งโปรโมตเเบบ 360 องศา 

ขณะที่ ชยพัทธ์ สกุลร่มโพธิ์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเชิงพาณิชย์ บริษัท แรบบิท แคร์ จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดของ Rabbit Care ว่า จะมีการสื่อสารเเบบแบบครบวงจรบนแพลตฟอร์มออมนิแชแนลทั้งก่อนซื้อเเละดูเเลหลังการขายนำเสนอโปรโมชันต่างๆ ที่ดึงดูดใจ

อย่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการเงินเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงได้จัดโปรโมชันด้วยข้อเสนอสุดคุ้ม ให้ลูกค้าได้ประหยัดสูงสุด 70% และซื้อเลยจ่ายทีหลังกับโปรโมชัน ผ่อน 0% นาน 10 เดือนเป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาครั้งแรก ซึ่งจะโปรโมตผ่านทางทีวี สื่อนอกบ้าน ทางวิทยุ และออนไลน์ โดยเนื้อเรื่องจะเป็นการยกตำแหน่งให้บุคคลที่คอยทำหน้าที่จัดการเรื่องการประกันภัยและการเงินให้คนในครอบครัว เป็นเหมือน Chief Family Officer หรือ CFO

สำหรับเเนวโน้มการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันในไทย เขามองว่า จากนี้จะมีการเปลี่ยนเเปลงพอสมควร หลังเจอกรณีเจอ จ่าย จบโดยเทรนด์ของธุรกิจประกันจะเน้นไปที่การรุกตลาดเรื่องรักษาพยาบาลมากขึ้น เเละประกันสุขภาพจะเป็นตัวชูโรงในตลาดไทย

 

 

]]>
1373037
KTBST ฝ่ามรสุม กำไรหดจากปีก่อนกว่าครึ่ง ปี’63 ลุยตั้งบริษัท “คลินิกแก้หนี้-ดิจิทัล เพย์เมนต์” https://positioningmag.com/1258640 Thu, 26 Dec 2019 10:29:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1258640
  • KTBST กางผลประกอบการปี 2562 รายได้ลด 7.5% กำไรฮวบ 52.5% หลังผ่านมรสุมวงการโบรกเกอร์หุ้นในช่วงปีนี้
  • อย่างไรก็ตาม หากวัดเฉพาะไลน์ธุรกิจโบรกเกอร์ กำไรจะลด 36.4% ซึ่งบริษัทมองว่าดีกว่าสถานการณ์ตลาดรวมที่ติดลบเฉลี่ย 50%
  • ตั้งโฮลดิ้งลุยต่อปีหน้า เปิดกองรีท 2 กองแรก และเพิ่ม 2 บริษัทใหม่พัฒนาด้าน “คลินิกแก้หนี้” และ “ดิจิทัล เพย์เมนต์”
  • ปี 2563 KTBST วางเป้ารายได้ 1,400 ล้านบาท กำไรสุทธิ 101.55 ล้านบาท
  • “ดร.วิน อุดมรัชตวานิชย์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST SEC บริษัทร่วมทุนระหว่างเกาหลีใต้กับไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงปี 2562 ของบริษัท โดยปีนี้บริษัทมีการจัดโครงสร้างองค์กร รวมเป็น “กลุ่มบริษัท KTBST” ขึ้น มีบริษัทภายใต้กลุ่มประกอบด้วย KTBST SEC, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (We Asset) และ บริษัท เคทีบีเอสที รีท แมเนจเมนท์ (KTBST REIT)

    กลุ่มบริษัท KTBST ทำรายได้ปี 2562 (ข้อมูลสิ้นสุดวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562) รวมทั้งสิ้น 1,104 ล้านบาท เทียบกับรายได้ตลอดปี 2561 ลดลง 7.5% และทำกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 29.61 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิตลอดปีก่อน ลดลงถึง 52.5%

    ดร.วินกล่าวว่า สถานการณ์วงการสถาบันการเงินนายหน้าซื้อขายหุ้นปีนี้ขาดทุนหลายแห่ง ภาพรวมตลาดทำกำไรลดลง 50% เป็นส่วนใหญ่ ส่วนของ KTBST หากดูเฉพาะธุรกิจบริการซื้อขายหลักทรัพย์ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 รายได้อยู่ที่ 1,092 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 44.29 ล้านบาทซึ่งลดลง 36.4% เทียบกับกำไรตลอดปี 2561

    “เรายังพอใจที่กำไรไม่ลดเท่ากับทั้งอุตสาหกรรม และยังคงมีความสามารถในการทำกำไรได้สม่ำเสมอตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง” ดร.วินกล่าว

    ในแง่จำนวนบัญชีและสินทรัพย์การบริหารนั้นมีทั้งที่ถึงเป้าและตกเป้า โดยธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling Agent) มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) ที่ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% ตามเป้าหมาย จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายประจำเป็นไปตามเป้าที่ 8,000 บัญชี เพิ่มขึ้นมา 2,000 บัญชีจากปีก่อน

    ส่วนที่ตกเป้าไปคือธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth Management) และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Advisory) ซึ่งมี AUA รวม 80,000 ล้านบาท ลดลงจาก AUA ของปีก่อน 20% ขณะที่ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ที่ 2,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 9% จากปีก่อน ยังอยู่ในเทรนด์เติบโตแต่ไม่มากเท่าที่ KTBST เคยตั้งเป้าหมายไว้ปีก่อน

    สำหรับภาพรวมกลุ่มบริษัท KTBST ปีนี้กำไรหดตัวแรง นอกจากเรื่องมรสุมวงการโบรกเกอร์หุ้นแล้ว ยังเนื่องมาจากมีการตั้งบริษัทใหม่ 2 แห่ง และทั้งสองบริษัทเพิ่งเริ่มดำเนินการปีนี้ ได้แก่ KTBST REIT ที่เริ่มดำเนินการมกราคม 2562 และ We Asset เริ่มดำเนินการมีนาคม 2562 ทำให้ยังไม่เข้าสู่ช่วงการทำกำไร

    หลังจัดตั้งบริษัทจนถึงขณะนี้ We Asset ซึ่งมุ่งเน้นเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้กับตลาดจัดตั้งกองทุนรวมไปแล้ว 12 กองทุน รวมมูลค่า AUM ที่ 5,000 ล้านบาท ส่วน KTBST REIT อยู่ระหว่างจัดตั้งกองรีท ซึ่ง ดร.วินคาดว่าจะจัดตั้งได้ 2 กองทุน รวมมูลค่า AUM 5,000 ล้านบาท ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563

     

    ปี’63 กระจายเสี่ยงต่อ เปิดบริษัทลูกเพิ่ม 2 แห่ง

    ดร.วินมองว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้กระจายความเสี่ยง เพิ่มเครื่องยนต์สร้างรายได้ไปยังธุรกิจอื่นนอกเหนือจากหุ้นแล้ว แต่แผนปี 2563 ของ KTBST จะยังกระจายความเสี่ยงต่อ โดยเตรียมจัดตั้งบริษัทลูกอีก 2 แห่ง คือ KTBST LEND และ We Digital

    KTBST LEND นั้นคาดว่าจะจัดตั้งก่อนในเดือนมกราคมนี้ ดร.วินกล่าวถึงคอนเซ็ปต์ของบริษัทนี้ว่าจะเป็นธุรกิจกึ่งโครงการตอบแทนสังคมในลักษณะ “คลินิกแก้หนี้” เป็นตัวกลางประสานให้ลูกหนี้สามารถปิดหนี้ได้สำเร็จ และให้คำปรึกษาเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้เงินและออมเงิน ด้านบริษัท We Digital จะเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทเกาหลีใต้แห่งหนึ่งเพื่อจัดทำบริการดิจิทัล เพย์เมนต์

    “เป้าหมายคือเราจะเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดภายในปี 2565” ดร.วินกล่าว

    ด้านเป้าหมายระยะใกล้คือปี 2563 นั้น กลุ่มบริษัท KTBST วางเป้าหมายรายได้ที่ 1,400 ล้านบาท เติบโต 26% จากปีนี้ และเป้าหมายกำไรสุทธิ 101.55 ล้านบาท นั่นคือจะเติบโตก้าวกระโดด 243% มาจากกำไรธุรกิจนายหน้าซื้อขายหุ้นที่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัว และธุรกิจ We Asset กับ KTBST REIT จะเริ่มเห็นผลกำไรในปีหน้า

    ]]>
    1258640
    โบรกเกอร์ถูกดิสรัปต์! พฤติกรรมนักลงทุนยุคใหม่เปลี่ยน เน้นธีม-ใช้เทคโนโลยีดูหุ้น-เดินตามเซียนที่ชอบ https://positioningmag.com/1240563 Fri, 26 Jul 2019 05:45:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1240563 โบรกเกอร์ยุคเก่าส่อแววช้ำ สตาร์ทอัพดาวรุ่งวงการฟินเทคไทย “FINNOMENA” เผยเทรนด์แรงพฤติกรรมนักลงทุนยุคใหม่เปลี่ยนชัด วันนี้หลายคนเน้นลงทุนตามธีมความชอบส่วนตัวเช่นธีมบริษัทสีเขียวรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือธีมบริษัทเทคโนโลยีซีเคียวริตี้ ขณะที่นักลงทุนในตลาดโลกเน้นใช้ระบบแนะนำหุ้นด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ท่ามกลางอีกหลายคนที่เดินสายลงทุนตามเซียนที่ประทับใจ ทุกพฤติกรรมถูกนำมาตอบโจทย์ในแพลตฟอร์มการลงทุนใหม่ “GURUPORT” ซึ่ง FINNOMENA มั่นใจว่าจะจุดติดในตลาดแมส คาดว่าจะดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ได้มากกว่า 200 ล้านบาทภายในปีนี้

    FINNOMENA มีดีกรีเป็นบริษัทสตาร์ทอัพอายุ 3 ปีที่ก่อตั้งโดยคนไทย วางตัวเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นเผยแพร่ความรู้เรื่องการลงทุนแบบเข้าใจง่าย เมื่อผู้อ่านสนใจวางแผนการเงินก็สามารถใช้บริการแพลตฟอร์มการลงทุนของ FINNOMENA ได้แบบครบวงจร ทำให้ FINNOMENA มีรายได้จากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับธนาคารและ บลจ.

    ภาพ : facebook.com/pg/finnomena

    วันนี้ FINNOMENA ได้รับการยอมรับในวงกว้างบนสังคมการเงินการลงทุนของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 80,000 คน คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 6,700 ล้านบาท ตัวสตาร์ทอัพได้รับการลงทุนจาก บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต, กลุ่มเบญจจินดา, ดีแทค แอคเซอเลอเรท Batch 4, และ 500 TukTuks คาดว่าการเพิ่มทุนรอบ Series B จะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ หลังจากที่ Series A สามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในช่วงปีที่แล้ว

    Thematic Portfolio แรงดี

    เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA วิเคราะห์พฤติกรรมนักลงทุนยุคใหม่ว่าวันนี้เด็กรุ่นใหม่นิยมลงทุนตามสไตล์ที่ชอบ เช่น เด็กไม่ใช้หลอด พกแก้วไปซื้อเครื่องดื่ม หรือชื่นชอบเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็จะเลือกซื้อหุ้นตามบริษัทที่ชื่นชอบ ขณะที่ผู้ชื่นชอบในธีมซีเคียวริตี้ ก็สามารถคลิกซื้อหุ้นลงทุนได้ทุกบริษัททั้งธีมที่จัดมา แนวทางการลงทุนตามธีมของบริษัทนี้มีชื่อเรียกว่า Thematic Portfolio ซึ่งพบว่ามาแรงในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ยุคใหม่ระดับโลก

    เทรนด์แรงถัดมาที่เห็นชัดคือการใช้เทคโนโลยี หากไม่นับกระบวนการ e-KYC ที่ทำให้แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นยืนยันตัวบุคคลได้แบบไม่ต้องใช้กระดาษใน 1 ชั่วโมงจนลดเวลาดำเนินการจากหลายวันเหลือวันเดียว อีกเทคโนโลยีที่มีบทบาทในกลุ่มนักลงทุนยุคใหม่คือ Robo-advisor ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาแนะนำการลงทุนโดยอิงฐานข้อมูลของตัวบริษัทล้วนๆ สถิติล่าสุดพบว่าที่ปรึกษาการลงทุนในต่างประเทศมีการพัฒนาระบบ Robo-advisor มากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโบรกเกอร์ยุคใหม่ค่าธรรมเนียมต่ำ

    แต่ใน Robo-advisor ก็มีเซ็กเมนต์ที่ย่อยลงไปเป็น Hybrid Robo-advisor เพราะนักลงทุนที่มีเงินทุนหลักล้านยังไม่เชื่อมั่นหากไม่มีบุคลากรคนเข้ามาร่วมแนะนำ แนวโน้มนี้ทำให้หลายบริษัทที่ต้องการเจาะกลุ่มนักลงทุนเงินล้าน ต้องจัดพนักงานที่เป็นคนเข้ามาประกบเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น

    แทนที่จะเป็นพนักงานหรือใครก็ได้ นักลงทุนยุคใหม่ยังเลือกลงทุนตามเซียนที่ประทับใจ เรื่องนี้ต่างจากอดีตที่การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนมักมาจากข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้ขายโดยตรง แต่ปัจจุบัน กูรูหรือใครที่มีความสนใจเรื่องการลงทุนด้านเดียวกันสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กันได้บนโลกออนไลน์, Social Media หรือแพลตฟอร์มการลงทุนอื่น จนทำให้โลกแจ้งเกิดกูรูการลงทุนขึ้นมากมายหลายร้อยพันคน ลักษณะการลงทุนนี้เรียกว่า Crowdsourcing

    เทรนด์ทั้งหมดนี้ถูก FINNOMENA จับมารวมกันจนทำให้เกิดเป็นบริการใหม่ชื่อ GURUPORT ตัวบริการถูกต้องตามตำราเทรนด์โลกจน FINNOMENA มั่นใจมากว่านักลงทุนไทยจะตอบรับ FINNOMENA ดีเหมือนในต่างประเทศที่การลงทุนส่วนใหญ่ทำผ่านที่ปรึกษาการเงินหรือ financial advisor เป็นหลัก (ไม่ใช่การซื้อเองโดยตรง) FINNOMENA จึงคัดเลือก 6 กูรูชั้นนำด้านการเงินของประเทศไทยมาจัดพอร์ตโชว์ เพื่อให้ลูกค้าฟินโนมีนาสามารถลงทุนตามกูรูได้ระหว่างที่กำลังศึกษาเรื่องการลงทุนแบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

    ชู Influencer เป็นแม่เหล็ก

    บทสรุปของภาวะโบรกเกอร์ถูกดิสรัปนั้นไม่ได้อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยจัดพอร์ตลงทุน แต่อยู่ที่การตอบพฤติกรรมของนักลงทุนด้วย สำหรับก้าวใหม่ใน GURUPORT ตัว FINNOMENA ประเดิมก่อนที่ 6 ธีม ได้แก่ ธีมหุ้นระดับโลก ธีมหุ้นไทย ธีมหุ้นอาเซียน ธีมเน้นกลยุทธ์คลาสสิก ธีมสินทรัพย์ยอดนิยม และธีมเสี่ยงต่ำเหมาะเก็บระยะยาว ทั้งหมดนี้ร่างพอร์ตโดยนักวิเคราะห์ เซียนตลาดหลักทรัพย์ อาจารย์ เจ้าของเพจ และผู้เขียนหนังสือ ที่จะเป็นแม่เหล็กดูดให้คนไทยหันมาลงทุนมากขึ้น

    เมื่อมีธีมและมีกูรู Influencer สำหรับ Thematic Portfolio FINNOMENA ก็ถึงเอาแกนเทคโนโลยี Robo-advisor มาใส่ใน GURUPORT เพราะการที่กูรูแต่ละคนจะไล่คุยกับนักลงทุนแต่ละคนนั้นเป็นไปได้ยาก กลายเป็นระบบแพลตฟอร์ม Crowdsourcing Robo-advisor ที่ผู้บริหารตั้งเป้าว่าจะจุดประกายให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายที่อยากเห็นคือสิ้นปีนี้มีนักลงทุนสร้างพอร์ตบนแพลตฟอร์มใหม่ราว 1 หมื่นราย

    เมื่อคำนวณเม็ดเงินของนักลงทุน 1 หมื่นรายที่จะใช้งานแพลตฟอร์ม GURUPORT ในปีนี้ พบว่าอาจสูงถึง 200 ล้านบาทเพราะ FINNOMENA กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ 20,000-50,000 บาท ซึ่งผู้ใช้จะต้องเป็นผู้คลิกซื้อด้วยตัวเองในขั้นตอนสุดท้าย เรียกว่าต้องตัดสินใจเองแม้จะมีกูรูหรือเทคโนโลยีคอยเตือนและกรองหุ้นน้ำดีไว้ให้แล้ว.

    ]]>
    1240563