ปัจจัยเร่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาด ทำให้ครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูง เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนรับมืออย่าง ‘เป็นระบบ’ เเละให้ ‘ทายาทรุ่นถัดไป’ เข้ามาจัดการธุรกิจเร็วขึ้น
เหล่านี้ ทำให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service) ได้รับความสนใจจากลูกค้ามั่งคั่ง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กว่า 3 ใน 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’
“จากสถิติพบว่า 75% เป็นธุรกิจครอบครัวไทย ที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 2 และมีเพียง 4% เท่านั้น ที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ยังจัดตั้งมาไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการเริ่มวางแผนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ”
จากผลสำรวจของ Lombard Odier พบว่า 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัว ‘มีความสนใจ’ ที่จะเริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินครอบครัวในอนาคต
ขณะเดียวกัน PWC Family Business Survey 2019 พบว่า 64% ของธุรกิจครอบครัวยังไม่ได้เตรียมการรับมือกับการวางแผนการส่งต่อธุรกิจ รวมทั้งเรื่อง Technology Disruption
หลายธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งปรับตัวเข้ากับ ‘New Economy’ ที่จะเปลี่ยนเเปลงไปหลังผ่านวิกฤต เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่จะต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เเละผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ เข้ามา โดยไม่ต้องรอให้ถึงการส่งต่อสู่รุ่นที่ 3-4
พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Chief – Wealth Planning, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ยังคงเน้นไปที่การขยายธุรกิจมากกว่าการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ
โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการล่มสลายของธุรกิจครอบครัว มาจากหลายสาเหตุ เช่น ความขัดเเย้งของสมาชิก การบริหารที่ไม่เป็นระบบ การไม่มีเเผนส่งต่อธุรกิจให้ทายาท
ธุรกิจครอบครัวไทย จึงมีความท้าทายและมีความต้องการที่คล้ายคลึงกัน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1) มองหาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความเสี่ยง จากการดำเนินธุรกิจและการถือครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะการวางแผนด้านภาษีเเละต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ
ปัจจัยเร่งสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น อย่างกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ของสหรัฐอเมริกา หรือระบบ Common Reporting Standard
2) บริหารจัดการระบบกงสีแบบดั้งเดิมมีความท้าทายมากขึ้นในบริบทปัจจุบัน
ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมในการตัดสินใจเป็นหลัก หลายครอบครัวจึงเร่งปรับ ‘กติกาของกงสี’ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว เช่น การจัดตั้งโครงสร้างที่เป็นระบบโดยใช้กลุ่มบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว หรือการใช้ทรัสต์ที่จัดตั้งในต่างประเทศ เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการกงสีอย่างยั่งยืน
พร้อมทั้งวางแผนการด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น ในกรณีที่สมาชิกคนใดประสบปัญหาด้านการเงินส่วนตัว ยังมีทรัพย์ที่ได้รับจากกองทรัสต์ เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป รวมถึงระบบสวัสดิการสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้อีก
3) ทัศนคติและเป้าหมายที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ แนวความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้
“สิ่งที่สำคัญที่แนะนำแก่ลูกค้าคือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญ ส่วนการวางกติกาครอบครัวที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่น ก็มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ”
ปัจจุบัน KBank Private Banking ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวแก่ลูกค้ามาเเล้วทั้งสิ้น 3,600 ราย คิดเป็น 720 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว มีธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาท ชี้ให้เห็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก
“เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะให้บริการแก่ลูกค้าอย่างน้อย 6,000 ครอบครัว หรือประมาณ 50% ของพอร์ตจากตอนนี้ที่ให้บริการลูกค้า Family Wealth Planning ไปแล้วประมาณ 32%”
ปัจจุบัน KBank Private Banking มีจำนวนลูกค้ารวมประมาณ 12,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 8 แสนล้านบาท
KBank Private Banking วางกลยุทธ์ใหม่เพื่อยกระดับบริการทั้งในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบติดตามผล ช่วยให้ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง
“ต้องมีเตรียมเสริมบริการในด้านการทำสาธารณกุศลของครอบครัว และการอำนวยความสะดวกในเรื่องบริการสำนักงานครอบครัวด้วย”
โดยปัจจุบันมีบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่
โดยความยากง่ายของบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของครอบครัวนั้นๆ รวมไปถึงโครงสร้างของธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นอยู่ด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา ครอบครัวระดับมหาเศรษฐีที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 อย่างกลุ่มโรงแรม–ท่องเที่ยว ยังมี ‘สายป่านยาว’ พอจะประคับประคองธุรกิจไปได้ ในบางธุรกิจก็ใช้ช่วงนี้กลับมาปรับปรุง เปลี่ยนเเปลงเเละหันมาดูแลระบบโครงสร้างภายในของธุรกิจตนเองมากขึ้น
“บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคน เห็นพ้องต้องกัน”
]]>
SCB เป็นอีกหนึ่งเจ้าใหญ่ในไทยที่ประกาศจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาด Private Banking โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาทให้ได้
สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธุรกิจ Wealth Management ดูเเลพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าผู้มั่งคั่ง ‘เติบโตขึ้นมาก’ ในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางโรคระบาด
ด้วยสภาพคล่องที่ ‘ล้นตลาด’ ทำให้ ‘อัตราดอกเบี้ย’ อยู่ในระดับต่ำทั่วโลก การออมเงินฝากหรือพันธบัตร ไม่ได้ให้ผลตอบเเทนที่ดีมากนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องหาทางลงทุนอื่นๆ ที่ได้ผลตอบเเทนมากขึ้น เเม้จะความผันผวนในตลาดสูง
โดยกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ HNWIs (มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป) มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้คำเเนะนำการดูเเลพอร์ตมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ Private Banking ขยายตัวตามไปด้วย
SCB ประเมินว่า ภาพรวม Wealth ทั่วโลกในปี 2024 จะเติบโต 7% เมื่อเทียบกับปี 2018 โดยจะขยายตัวมากที่สุดในจีน เเละเอเชียแปซิฟิก
สำหรับตลาด Wealth ในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโต 5% สูงกว่า GDP ไทยถึง 2 เท่า โดยจำนวนลูกค้า Wealth ทั้งหมดในไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 8.86 แสนคน เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2018 ที่อยู่ราว 7.1 แสนคน
“ประชากร 1% ของคนไทย ถือครองทรัพย์สิน 80% ของทั้งประเทศ”
ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-10 ‘เศรษฐี’ หลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ เพราะการเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงิน ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น Credit Suisse ที่เปิดตัวในปี 2016 ต่อมาในปี 2018 กลุ่มธุรกิจบริการ Private Banking รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Julius Baer ได้เปิดตัวธุรกิจกับพันธมิตรอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ถือหุ้นใหญ่ 60% ส่วน Julius Baer ถือหุ้น 40%) เเละในปี 2019 สถาบันการเงินจากลิกเตนสไตน์อย่าง LGT ก็ได้มาเปิดสำนักงานในไทย เเละล่าสุด HSBC จากอังกฤษ ก็เตรียมตั้งธุรกิจ Private Banking ในไทย
ข้อมูลจาก HSBC ระบุว่า สินทรัพย์ที่นักลงทุนกลุ่ม High Net Worth (HNW) ในเอเชียถือครอง จะเพิ่มขึ้นไปสู่ 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2025 ถือว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2017
นี่จึงเป็นโอกาสทอง เเละการเเข่งขันที่สูงมากเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจ Private Banking ต้องงัดหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาเพื่อครองใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ปัจจุบันธุรกิจ Wealth ของไทยพาณิชย์ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 8.5 แสนล้านบาท เเละในปี 2024 ตั้งเป้าจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แนวคิด BEAT THE BENCHMARK
โดยมีฐานลูกค้า Wealth จำนวนกว่า 3 เเสนราย (จากราว 7 เเสนรายทั้งประเทศ) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
ธนาคารได้เริ่มแผน Wealth Transformation มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปีนั้นสร้างรายได้ให้ธนาคารคิดเป็น 7% ของรายได้รวม และ 31% ของรายได้ค่าธรรมเนียม จากนั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2020 สามารถทำรายได้ถึง 15% ของรายได้รวม และ 56% ของรายได้ค่าธรรมเนียม
“ธุรกิจ Wealth Management จึงกลายมาเป็น New S Curve ของไทยพาณิชย์”
โดยคาดว่า AUM ลูกค้ากลุ่ม Wealth ของไทยพาณิชย์จะโตเฉลี่ยปีละ 10-12% และปี 2566 คาดว่าจะมี AUM 1 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมคาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราสองหลัก
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของธนาคาร เติบโตกว่า 25% แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต COVID-19
ณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อน ธนาคารได้เฟ้นหาพนักงาน ‘หัวกะทิ’ ที่โดดเด่นที่สุดของสาขา 1,100 คน มาร่วมทีม Wealth Management โดยมีการจัดเทรนนิ่งอย่างเข้มข้น จนตอนนี้ธนาคารมี RM (Relationship Manager) ที่มีใบรับรองมากที่สุดในไทย
หลักๆ จะเน้นการสร้างขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา (Advisory Capability) ควบคู่ไปกับการปรับ ‘Operating Model’ พัฒนาโซลูชันด้านการลงทุนเเบบ Open Architecture คือการมีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเลือกลงทุนจากบริษัทพันธมิตรเเละประกัน (ตอนนี้มีอยู่ 35 แห่ง) ไม่ได้มีเเค่ผลิตภัณฑ์ของ SCB เท่านั้น รวมทั้งมีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพอร์ต สร้างเเพลตฟอร์มเฉพาะมาบริการเพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นการลงทุนของตัวเองชัดเจนขึ้น
โดยทิศทางของกลุ่มธุรกิจ SCB Wealth ในปี 2021 จะโฟกัสและมุ่งเน้นการเติบโตของเซ็กเมนต์ Private Banking เพื่อจับลูกค้าใหม่ที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป
เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้า Wealth ของไทยพาณิชย์ เมื่อดู Investment AUM (ไม่รวมเงินฝาก) จะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท จาก AUM ทั้งหมดที่ 8.5 แสนบาท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้ 14.9% ในระยะเวลา 1 ปี (1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2020)
โดยในปี 2021 นี้ SCB Private Banking จะดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
สำหรับข้อเเนะนำในการลงทุนในปีนี้ ผู้บริหาร SCB บอกว่า ควรจะกระจายความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเน้นธุรกิจที่เติบโตในยุค New Normal อย่าง อีคอมเมิร์ซ การขนส่งเเละธุรกิจคลาวด์
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลงุทนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความยั่งยืน’ เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม พลังงานหมุนเวียน ตามที่จะเห็นรัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ต่างออกนโนบายเพื่อขับเคลื่อนสิ่งนี้
ขณะเดียวกัน ‘ภาวะดอกเบี้ยต่ำ’ ที่จะดำเนินต่อเนื่องผู้ลงทุนก็ต้องมองหาผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น ตราสารหนี้ , หุ้น เป็นต้น
โดยในปีนี้เเนะนำแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 60% ลงทุนในหุ้น และ 40% ลงทุนในตราสารหนี้ เเละช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ให้ปรับตราสารหนี้เป็น 50-60% เเละเมื่อการกระจายวัคซีนได้ผลดีจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้เเล้ว เเนะให้ถือตราสารหนี้ลดลงเหลือ 30% พร้อมกับการติดตามข่าวสารเเละนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด
]]>
Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ร่วมกับ KBank Private Banking สำรวจมุมมองและข้อกังวลของผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) ในประเด็น ‘สานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม : การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ในยุค New Normal’
โดยรวบรวมความคิดเห็นของศรษฐี 150 ราย ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน
วินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier กล่าวว่า ผลกระทบจากโรคระบาดครั้งใหญ่ในศตวรรษ ทำให้เหล่านักธุรกิจชั้นนำ ‘เปลี่ยนมุมมอง’ ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมไปถึงหันมา ‘เน้นลงทุนไม่หวือหวา แต่ถือได้ยาวนานขึ้น’
ผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ ในช่วงที่การเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงิน ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น
เเม้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ เเต่ธุรกิจ Private Banking ที่ดูเเลลูกค้ามั่งคั่ง กลับมีผลประกอบการดีที่สุดในรอบหลายปี เพราะพิษเศรษฐกิจสะเทือน ‘รากหญ้า’ มากกว่า ‘คนรวย’
Lombard Odier เเละ KBank Private Banking คาดว่า แนวโน้มการเติบโตของบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ Ultra High Net Worth Individuals : UHNWIs ในเอเชียจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ราว 10-15% ภายหลังวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เเละสงครามการค้าคลี่คลายลง
“จำนวนของเศรษฐีใหม่ในเอเชียจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามเทรนด์การลงทุนในธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ที่เเจ้งเกิดเเละเติบโตในช่วง COVID-19”
สำหรับในประเทศไทย มองว่า ธุรกิจที่จะสามารถ ‘ฟื้นตัวได้เร็ว’ จากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจด้านพลังงาน , ธุรกิจด้านวัสดุหรือวัตถุดิบ (Material) และธนาคาร
ผลสำรวจนี้ ชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในการ ‘เปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล‘
กว่า 81% ของคนรวยในเอเชีย เห็นว่า ‘การติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง more digital, less physical จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่‘
โดยผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยที่คิดเห็นเช่นนี้ มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่า ‘ไม่ใช่ทุกอย่าง‘ ที่สามารถขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและ Private Bank
“เพราะการลงทุนครั้งละกว่าร้อยล้านพันล้าน การได้พูดคุยกันต่อหน้ายังมีความจำเป็น“
โดย 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ มากกว่าการติดต่อผ่านทางอีเมล จดหมาย วิดีโอคอล หรือโทรศัพท์
เมื่อสถานการณ์ COVID-19 จบลง ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การพบปะกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ และไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทดแทนได้ผ่านการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์
ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย เห็นความผันผวนของตลาดมากขึ้น เเต่กลุ่มนักลงทุนที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมากเเล้ว ‘ไม่ได้ตื่นตระหนกต่อวิกฤตครั้งนี้มากนัก”
ผลสำรวจ ระบุว่า70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย เเละ 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน
สำหรับด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วน เลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (Conservative) โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เงินฟรังก์สวิส เงินเยน และพันธบัตรรัฐบาล
“แต่ก็ยังมีผู้มีความมั่งคั่งสูงอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงเวลานี้ โดยให้ความสนใจกับหุ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่”
ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยกว่า 87% กล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร โดยบริการ 3 อันดับแรกที่มีความสำคัญสูงสุด ได้เเก่
ความผันผวนของตลาด ทำให้ผู้มั่งคั่งในเอเชีย เริ่มกลับมา ‘ทบทวน’ ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพย์สินครอบครัวและการดําเนินธุรกิจในระยะยาว และทําให้เรื่องนี้เร่งด่วนขึ้น
สำหรับประเทศไทย 35% ของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงได้มีการจัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวแล้ว และวิกฤตในครั้งนี้ก็ได้ส่งผลให้อีก 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนในอนาคต
นอกจากนี้ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่เติบโตสูงที่สุด และเข้ามาตอบโจทย์การบริหารจัดการที่ดินของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย
สำหรับในปี 2020 ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้ทำการศึกษาและดูแลพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวน 121 ราย โดยครอบคลุมที่ดินทั้งหมด 940 แปลง
เหล่ามหาเศรษฐี เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งเทรนด์ ‘ความยั่งยืน’ เป็นที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจเลือก Private Bank
69% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ได้จัดอันดับให้เทรนด์ด้านความยั่งยืนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด โดยไทยคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นที่สอง รองจากญี่ปุ่น
แม้ว่า 89% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า เทรนด์ความยั่งยืนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะยาว แต่กลับมีเพียง 61% ที่วางแผนการลงทุนโดยคำนึงถึงมิติด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้มีความมั่งคั่งสูงบางส่วน ยังไม่เชื่อมั่นว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนจะสร้างผลตอบแทนท่ีดีได้ โดย 1 ใน 3 ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย (ส่วนใหญ่จาก ฮ่องกง ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) ไม่มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนที่คํานึงถึงมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไพรเวทแบงก์ในการให้คำแนะนำ เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเห็นถึงศักยภาพและแนวทางการสร้างผลกำไรของการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“กลุ่มเศรษฐีรุ่นใหม่ ให้ความสําคัญกับความยั่งยืนเป็นลําดับต้นๆ และต้องการใช้บริการของธนาคารที่มีการลงมือด้านนี้อย่างจริงจัง”
KBank Private Banking ให้บริการการบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วน Lombard Odier เป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งที่มีประสบการณ์กว่า 220 ปี ดูแลสินทรัพย์รวมของลูกค้าทั่วโลกกว่า 290 พันล้านฟรังก์สวิส (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563)
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
KBank Private Banking เเละพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Lombard Odier มองว่ามี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า ได้แก่
อ่านรายงานฉบับเต็ม (ที่นี่)
อีกหนึ่งปีเวียนมา “จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย ฉายภาพรีรันกันอีกครั้งว่าปี 2562 เกิดอะไรขึ้นบ้าง เริ่มต้นที่คาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้น่าจะปิดที่ +3% โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งโลก คือ สงครามการค้า Brexit และ การเปลี่ยนตัวประธานเฟดเป็น Jerome Powell นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ย
จิรวัฒน์กล่าวว่า สองประการแรกคือปัจจัยลบที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับลดเฉลี่ย 15% ในช่วง 3 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้ปีนี้ตลาดหุ้นเปิดมาแบบไม่ค่อยสดใส แต่หลังจากเฟดเริ่มปรับลดดอกเบี้ยทำให้หลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยตาม ตลาดหุ้นจึงฟื้นตัว
ผลตอบแทน YTD ของตลาดหุ้นโลกปี 2562 จึงขึ้นมา +23% มีกลุ่มตลาดเด่นคือ ตลาดหุ้นจีน +33% ตลาดหุ้นสหรัฐฯ +28% ตลาดหุ้นยุโรป +25% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปีนี้ +2% เท่านั้น ดังนั้นหากใครจัดพอร์ตลงทุนในไทยเป็นหลักในช่วงปีนี้อาจเห็นพอร์ตอยู่ในแดนลบได้ แต่โดยรวมการลงทุนของปี 2562 เป็นปีที่ดีเมื่อเทียบกับ 2561
ไปต่อกันที่ปีหน้า Kbank คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก “ถึงจุดต่ำสุดแล้ว” ดังนั้นปี 2563 จีดีพีน่าจะโต 3.3% เติบโตมากกว่าปีนี้ และถ้าหากปัจจัยลบอื่นๆ ไม่เกิดขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น เกิด No-Deal Brexit หรือจีนกับสหรัฐฯ กลับมาตั้งกำแพงภาษี) โอกาสเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะยังเป็นศูนย์
สาเหตุที่ Kbank มองบวก มาจากเห็นสัญญาณดีของสงครามการค้าซึ่งขณะนี้จีนกับสหรัฐฯ อยู่ในช่วงสงบศึก โดยหยุดการขึ้นกำแพงภาษีรอบวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้ว่ากำแพงภาษีที่เคยจัดเก็บจะลดลงเพียงบางส่วน แต่ไม่มีการขึ้นภาษีรอบใหม่ ซึ่งผลของการผ่อนคลายน่าจะมาจาก Donald Trump กำลังเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2563 ทำให้ต้องมีผลงานที่ดีในช่วงหาเสียง รวมถึงเศรษฐกิจฝั่งจีนเองแม้จะยังโตแต่ชะลอลงทำให้จีนต้องดูแลเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น
ดังนั้น จิรวัฒน์สรุป ปัจจัยหลักที่ต้องจับตาปีหน้า คือ สงครามการค้า และ เลือกตั้งสหรัฐฯ โดยมองว่าแนวโน้มที่ Trump จะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองมีสูง เนื่องจากมีผลงานเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากพรรคเดโมแครตซึ่งนำโดย Michael Bloomberg ชนะเลือกตั้งก็เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปเพียงแต่อาจเปลี่ยนวิธีการเท่านั้น
ด้านตลาดหุ้น นั้น จิรวัฒน์กล่าวว่าน่าจะเติบโตได้ Single Digit หรือสูงสุดไม่เกิน 9% เนื่องจากปีนี้ปิดปีด้วยฐานสูง แนะให้ระมัดระวังช่วงต้นปีซึ่งอาจมีปัจจัยลบกระทบจากสงครามการค้าหรือ Brexit ซึ่งตลาดอยู่ในช่วงพร้อมเทขายหุ้น
ดังนั้น สำหรับปีหน้า กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ มีคำแนะนำ 5 กลยุทธ์ให้กับนักลงทุนในการจัดพอร์ต คือ
สำหรับผลดำเนินงานของ กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ เองนั้น จิรวัฒน์เปิดเผยตัวเลขฐานลูกค้าทั้งหมด 11,611 ราย เติบโต 4% จากปีก่อน โดยลูกค้ามีเงินฝากเฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อราย มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 7.5 แสนล้านบาท ลดลง 0.2% อย่างไรก็ตาม จิรวัฒน์ชี้ว่า ใน AUM ทั้งหมด มีส่วนที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนอยู่ 4.55 แสนล้านบาท เติบโต 7% หากนับเฉพาะที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนซับซ้อน มีอยู่ 1.06 แสนล้านบาท เติบโตถึง 23%
หากคิดเป็นสัดส่วนคร่าวๆ คือ ลูกค้ากลุ่มไพรเวทแบงก์มีเงินฝากทั่วไปกับกสิกรไทย 30% แต่อีก 70% เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ไม่ใช่เงินฝาก เช่น กองทุนทดแทนเงินฝาก ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการดำเนินงานที่ดีเพราะสะท้อนว่าลูกค้ามีความไว้วางใจให้บริหารสินทรัพย์ และหากเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนขึ้น ค่าธรรมเนียมการดำเนินการจะสูงขึ้น ทั้งนี้ ปีนี้ค่าธรรมเนียมของกสิกรไทย ไพรเวทแบงก์เติบโตเพียง 3% เทียบกับปีก่อนซึ่งโต 5.7% เพราะสถานการณ์มีความเสี่ยงทำให้ธนาคารเลือกแนะนำให้ลูกค้าลงทุนในรูปแบบเสี่ยงน้อยมากกว่า
ในแง่ผลการลงทุน ปีนี้กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์แนะนำลูกค้าปรับพอร์ตการลงทุน (K-Alpha) แบบกระจายเสี่ยงและลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ทำให้มีการเติบโตของพอร์ต K-Alpha ที่ 12.5% โดยความเสี่ยงพอร์ตอยู่ที่ 4.5% เท่านั้น ทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยง 2.8 เท่า
นอกจากนี้ ยังออกกองทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น กองทุน K-CHANGE เพื่อลงทุนในบริษัทที่ประกอบการเพื่อสังคม กองทุน Private Equity Fund ลงทุนในบริษัทนอกตลาดที่น่าสนใจ กองทุน Fixed Maturity ลงทุนในตราสารหนี้เอเชียและให้ผลตอบแทนชัดเจน กองทุน K-GLAM กองทุนผสมที่ดูเรื่องความเสี่ยงเป็นฐาน
ส่วนเป้าหมายปี 2563 จิรวัฒน์มองเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าอีก 4% ส่วน AUM น่าจะยังคงเดิม แต่ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้ลูกค้าเลือกลงทุนอื่นที่ไม่ใช่เงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมด
]]>โจทย์ใหญ่ปีหน้าสำหรับเศรษฐีไทยคือ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว แต่สำหรับปี 2563 รัฐจะเลื่อนรอบเก็บภาษีจากเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม เนื่องจากกฎหมายลูกอีกหลายฉบับยังไม่เสร็จสิ้น แต่แม้จะเลื่อนออกไปสุดท้ายก็ต้องจ่ายแน่ๆ และเป็นการเก็บภาษีรายปีที่ใครมีที่ดิน บ้าน อาคารในกรรมสิทธิ์มากก็จะต้องจ่ายมากตามไปด้วย
กฎหมายภาษีที่ดินนี้จะแบ่งการเก็บภาษีแยกเป็น 1.กลุ่มเกษตรกรรม 2.กลุ่มที่อยู่อาศัย 3.กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และ 4.กลุ่มที่ดินว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์
กลุ่มที่ดินเปล่านี่เองที่จะส่งผลกระทบกับแลนด์ลอร์ดเจ้าของที่ดินมากที่สุด เพราะมีการเก็บภาษีตามมูลค่า ต่ำสุดมูลค่าอสังหาฯ 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3% หรือจ่าย 3,000 บาทต่อที่ดินราคา 1 ล้านบาท และสูงสุดคือมูลค่าอสังหาฯ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.7% หรือจ่าย 7,000 บาทต่อที่ดินราคา 1 ล้านบาท สมมติว่าแลนด์ลอร์ดรายหนึ่งมีที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทก็จะต้องจ่ายภาษีปีละ 35 ล้านบาท เท่านั้นยังไม่พอ ที่ดินว่างเปล่าทุกราคาถ้ายังไม่ใช้ประโยชน์จะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี
ภาษีที่เก็บจากที่ดินเปล่านี้ไม่เคยมีมาก่อน และกลายเป็นข้อกังวลของลูกค้า กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ ทำให้ทีมบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว (Wealth Planning) จัดทำโครงการพิเศษ Land Loan Investment ขึ้นมารองรับ
“จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย แจกแจงถึงบริการ Land Loan เงื่อนไขคือลูกค้าของไพรเวทแบงก์มีสิทธิเสนอแปลงที่ดินที่ต้องการเข้าโครงการ หากได้รับอนุมัติจำนองที่ดินเพื่อรับสินเชื่อเงินกู้ (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย MOR-4.5% ปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%) ลูกค้าจะต้องนำเงินกู้นั้นลงทุนผ่านกองทุนของกสิกรไทย ไพรเวทแบงก์เท่านั้น โดยธนาคารมีกองทุนหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซึ่งจะได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจากการจำนองที่ดิน
“บริการนี้ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี ลูกค้ายังต้องจ่ายภาษีที่ดินตามปกติ เพียงแต่มีรายได้จากการลงทุนเพื่อนำไปจ่ายภาษีที่ดิน ดังนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของกองทุนกับดอกเบี้ยสินเชื่ออย่างน้อย 1%” จิรวัฒน์ยืนยัน
แม่ทัพไพรเวทแบงก์กสิกรไทยอธิบายว่า ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้ของธนาคารมีที่ดินรวมกันราว 400 แปลง มูลค่ารวม 8 หมื่นล้านบาท มีผู้ที่สนใจร่วมโครงการคิดเป็นมูลค่าที่ดินรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อ Land Loan ไปแล้ว 6 พันล้านบาท
ในขั้นตอนให้คำปรึกษาของธนาคาร จิรวัฒน์บอกว่าลูกค้าบางส่วนสนใจการให้เช่าที่ดินหรือขายที่ดิน แต่ดีลเช่าหรือขายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องหา “เนื้อคู่” การทำธุรกิจที่ใช่ ดังนั้น ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิดเข้ามา การเลือกช่องทาง Land Loan จึงเกิดขึ้นมากกว่า
“ภาษีที่ดินทำให้ตลาดตื่นตัวมากตั้งแต่ปีนี้ ยิ่งปีหน้าซึ่งจะเริ่มเก็บภาษีจริง เชื่อว่าจะตื่นตัวกันมากขึ้นอีก” เขาเสริมด้วยว่า กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ กลุ่มที่มีที่ดินมูลค่าสูงมาก อยู่ในมือ และ กลุ่มที่ได้รับมรดก เป็นที่ดินจำนวนมากจากบรรพบุรุษแต่สภาพคล่องขณะนี้ไม่พร้อมที่จะจ่ายภาษี
สำหรับเป้าหมายปี 2563 จิรวัฒน์กล่าวว่าน่าจะสามารถปล่อยกู้สินเชื่อผ่านโครงการ Land Loan ได้อีก 1 หมื่นล้านบาท วัดจากความตื่นตัวในปัจจุบัน
“ขณะนี้ลูกค้ามีแปลงที่ดินเสนอให้เราช่วยบริหารวันละเฉลี่ย 10 แปลง” จิรวัฒน์กล่าว “ที่ดินมาจากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่คือกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และภาคตะวันออก”
]]>
ราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตน์ในยุโรปเก่าแก่กว่า 900 ปี มีธุรกิจครอบครัวคือ LGT Bank ก่อตั้งในปี 1920 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรมและป่าไม้ ประเทศลิกเตนสไตน์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป มีเศรษฐกิจที่เติบโตเข้มแข็ง ไม่มีภาระหนี้สาธารณะ มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ระดับ AAA มีกฎหมายการเงินมากว่า 150 ปี และเป็นศูนย์กลางการเงินในอันดับต้นๆ ของโลก
เมื่อวานนี้ 6 มีนาคม 2562 LGT เปิดสำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อบริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย) จำกัด โดยเจ้าชายฟิลลิพ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสไตน์ (H.S.H. Prince Philipp von und zu Liechtenstein) ประธานบริษัท LGT เจ้าชายฮูเบอร์ตัส อลอยซ์ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสไตน์ (H.S.H. Prince Hubertus Alois von und zu Liechtenstein) กรรมการบริหาร LGT ได้ทรงร่วมในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.เฮนรี ไลเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LGT Private Banking Asia และคณะผู้บริหารของสำนักงานแห่งใหม่ในประเทศไทย
LGT ในไทยจะขับเคลื่อนและขยายตัวทางการตลาดภายใต้การดูแลโดย “กานต์ คฤหเดช” ซึ่งมีประสบการณ์ด้านไพรเวทแบก์มากว่า 20 ปี และมี “เอกภพ เมฆกัลป์จาย” ที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนและการบริหารความมั่งคั่งมากว่า 16 ปี ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในเอเชีย เนื่องจากประเทศไทยเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่น่าสนใจมากมาย โดยมีฐานลูกค้า นักลงทุนไทยมีการออมในระดับสูง ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลของไทยเปิดให้นักลงทุนขยายการลงทุนไปทั่วโลก ดังนั้น การเปิดสำนักงานประจำในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแห่งที่ 3 ในเอเชีย เพื่อบริการด้านการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งระดับโลกแก่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ (high net worth individuals) และลูกค้าระดับองค์กร จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถให้คำปรึกษาและสนับสนุนลูกค้าชาวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานด้านไพรเวทแบงก์ของ LGT ในฮ่องกงและสิงคโปร์อีกด้วยซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาภูมิภาคนี้เติบโตได้อย่างน่าพอใจ
สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลกที่มีความมั่นคงสูง โดยทั่วไปจะลงทุนในธุรกิจของตัวเองเป็นหลักในอันดับแรก แล้วจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นจะลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนซึ่งมีมากขึ้น และที่สำคัญยังขยายการลงทุนไปต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสให้ LGT นำเสนอความเชี่ยวชาญในการบริหารความมั่งคั่งแบบไร้พรมแดน นอกจากนี้ LGT ยังบริหารทรัพย์สินให้กับราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ดังนั้น บริการที่นำเสนอต่อราชวงศ์จึงนำมาให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไปด้วย ขณะที่การมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มั่นคง เครือข่ายระหว่างประเทศที่ครอบคลุม แนวทางการดำเนินงานที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษาด้านการดูแลสินทรัพย์ รวมทั้งการโฟกัสหรือมุ่งให้บริการเฉพาะไพรเวทแบงก์อย่างเดียว เป็นจุดเด่นดึงดูดลูกค้า
เว็บไซต์ maruey.com ให้ข้อมูลรายงาน The Wealth Report 2018 ของ Knight Frank ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ทำให้รู้ว่า เมื่อปี 2560 ประเทศไทยมี “มหาเศรษฐี” ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท อยู่ทั้งหมด 770 คน จากจำนวนทั้งหมด 129,730 คนทั่วโลก มากเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และได้รับการคาดหมายว่าในปี 2565 จำนวนมหาเศรษฐีไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 210 คนเป็น 980 คน
สำหรับ “พอร์ตโฟลิโอ” ของมหาเศรษฐีทั่วโลกพบว่า มหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มการลงทุนใน “หุ้น” มากที่สุด อยู่ที่ 52% โดยมหาเศรษฐีชาวเอเชียลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น อยู่ที่ 78% รองลงมาเป็นทวีปอเมริกาเหนือ อยู่ที่ 65% ละตินอเมริกา 62% และถ้าประเมินจากผลตอบแทนจากตลาดหุ้นในปี 2560 แล้ว “คนรวยแล้วจะรวยขึ้น”
ขณะที่ “อสังหาริมทรัพย์” ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่อยู่อาศัยและที่พักเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ได้รับความนิยมมากขึ้นโดยมีการลงทุนเพิ่มถึง 40% ส่วน “ตราสารหนี้” กำลังลำบากเพราะอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การถือครองตราสารหนี้อายุยาวมีโอกาสขาดทุนจากราคาซื้อขาย จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้มหาเศรษฐีลงทุนเพิ่มพียง 6% เช่นเดียวกับ “ทองคำ” ซึ่งมีมหาเศรษฐีลงทุนเพิ่มเพียง 15% เท่านั้น และหันไปถือ “เงินสด” มากขึ้น เฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 29%
ในส่วนของ “ของสะสม” ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นงานศิลปะ รถ ไวน์ และอื่นๆ ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม ซึ่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มหาเศรษฐีในทวีปออสเตรเลียมีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 53% และเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 29% แต่เกือบครึ่งหนึ่งของมหาเศรษฐีในปัจจุบัน นอกจากจะสะสมด้วยความชื่นชอบส่วนตัวแล้ว ยังนับให้ของสะสมเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า นอกจากจะสุขใจที่ได้เป็นเจ้าของแล้ว กำไรที่ได้ยังน่าชื่นใจอีกด้วย โดยเฉพาะชิ้นงานศิลปะ ไวน์ และนาฬิกาที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในปี 2560 เมื่อเทียบกับการสะสมประเภทอื่นๆ
นอกจากนี้ สินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ไม่มีการพูดถึงในรายงานของปีก่อนหน้า นั่นคือ Cryptocurrency ซึ่งในปีที่ผ่านมาราคา Cryptocurrency บวกขึ้นหลายเท่าตัว พบว่ามหาเศรษฐีทั่วโลกมีสัดส่วนการลงทุนใน “Cryptocurrency“ เพิ่มขึ้นถึง 16% ทวีปที่มีการลงทุนเพิ่มมากที่สุดคือ ละตินอเมริกา 33% รองมาเป็นรัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีการลงทุนเพิ่ม 27% และแอฟริกา 24%
]]>