ขนส่งสาธารณะ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 24 Oct 2022 08:48:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 XPeng ทดสอบ “รถยนต์บินได้” ในที่สาธารณะสำเร็จ บริษัทคาดอีก 5 ปีคนทั่วไปได้ใช้จริง https://positioningmag.com/1405297 Mon, 24 Oct 2022 06:26:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1405297 ภาพจากภาพยนตร์ไซ-ไฟที่เราเคยเห็นกำลังจะเกิดขึ้นจริง ล่าสุดบริษัทจีน XPeng ทดสอบ “รถยนต์บินได้” รุ่น X2 ในที่สาธารณะสำเร็จแล้ว โดยบินโชว์ตัวเป็นเวลา 90 วินาทีในงาน GITEX เอ็กซ์โปด้านเทคโนโลยีที่เมืองดูไบ

XPeng X2 สามารถบินขึ้นจากพื้นดินได้โดยตรง ไม่ต้องใช้รันเวย์ทางวิ่ง ซึ่งเป็นการออกแบบที่เหมาะกับการใช้งานภายในเมือง ตัวรถสามารถจุผู้โดยสารได้ 2 ที่นั่ง และใช้พลังงานไฟฟ้า 100%

กำลังของรถบินได้คันนี้สามารถยกตัวขึ้นสู่อากาศได้ 2 เมตรต่อวินาที และทำความเร็วได้สูงสุด 80 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 128.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

แม้ว่าการทดสอบ “รถยนต์บินได้” จะทำการทดสอบเพียง 90 วินาที แต่ Liu Xinyin หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจาก XPeng Aeroht กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ใกล้จะพร้อมใช้ในที่สาธารณะจริงๆ แล้ว แต่สิ่งที่ยังต้องรออีกสักพักคือกฎหมายการกำกับควบคุมรถยนต์บินได้

XPeng วางแผนที่จะทำงานกับรัฐบาลต่างๆ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการกำกับควบคุมรถบินได้ในเขตเมือง และ Liu เชื่อว่าคนทั่วไปจะได้เริ่มใช้รถบินได้ในพื้นที่ที่มีกฎหมายควบคุมภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนมุ่งสู่อนาคตของรัฐบาลจีนที่ต้องการจะเปิดทำการ “แท็กซี่บินได้” ภายในปี 2025

XPeng รถยนต์บินได้
(Photo: GITEX 2022)

สเปกของรถ XPeng X2 ยังมีระบบ AI ออโต้ด้วย ทำให้รถสามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องใช้คนขับ “มันเรียนรู้ที่จะหลบเลี่ยงการจราจร หลบอาคารและผู้คนได้” Liu กล่าว

การมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์บินได้ น่าจะยิ่งทำให้การกำกับควบคุมยุ่งยากขึ้นไปอีก เพราะขณะนี้แค่เพียงรถยนต์บนพื้นดินที่ไม่ต้องใช้คนขับ ก็ก่อให้เกิดคำถามจากสาธารณชนแล้วว่ามีความปลอดภัยจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม XPeng ระบุว่า รถยนต์บินได้ที่ใช้ระบบอัตโนมัตินั้นจะปลอดภัยกว่าให้มนุษย์เป็นผู้บังคับเครื่องเอง

รถยนต์บินได้จากค่ายอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา (Photo : SkyDrive Inc.)

ขณะนี้มีมากกว่า 10 บริษัททั่วโลกที่กำลังพัฒนา “รถยนต์บินได้” และหลายคันบินได้แล้วจริงๆ เช่น BlackFly รถของบริษัท Opener จากแคนาดา, รถรุ่น SD-03 จากบริษัท SkyDrive Inc, รถรุ่น AirCar จาก Klein Vision ซึ่งรุ่นหลังสุดนี้สามารถทดสอบการบินสำเร็จไปแล้วเมื่อปีก่อน โดยบินเป็นเวลาถึง 35 นาทีระหว่างเมืองสองเมืองในประเทศสโลวาเกีย

หากว่ารถยนต์บินได้สามารถนำมาใช้ได้จริงในที่สาธารณะ ประโยชน์ของมันไม่ใช่แค่ความหวือหวาแฟนตาซี แต่มันจะปฏิวัติการขนส่งภายในเขตเมือง ทำให้การจราจรบนท้องถนนติดขัดน้อยลง คนเดินถนนและจักรยานก็จะปลอดภัยขึ้นด้วย

Source

]]>
1405297
UK ออกกฎใหม่ ตรวจประวัติคนขับแท็กซี่ทุก 6 เดือน-ติดกล้องวงจรปิด เพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร https://positioningmag.com/1289364 Thu, 23 Jul 2020 13:50:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289364 สหราชอาณาจักร เตรียมออกกฎหมายใหม่ บังคับให้ผู้ขับรถเเท็กซี่และผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมทุก 6 เดือน พร้อมต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถยนต์ที่ให้บริการทุกคันด้วย

กระทรวงคมนาคมของอังกฤษ ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ ระบุว่า รัฐบาลได้รับคำเเนะนำให้ออกกฎหมายอนุญาตใบขับขี่ที่จะต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถยนต์โดยสารสาธารณะ ซึ่งมองว่าเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร หลังมีคดีล่วงละเมิดเกิดขึ้นจำนวนมาก ในหลายเมืองของสหราชอาณาจักร 

เราทราบดีว่า ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญด้านบริการที่ปลอดภัยในชุมชน แต่หลังเกิดเหตุการณ์ที่น่าตกใจที่เกิดขึ้นในหลายเมืองอย่าง Rochdale, Oxford, Newcastle และ Rotherham จึงจำเป็นต้องมีออกมาตรการเพื่อปกป้องผู้โดยสาร นี่เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายอนุญาตใบขับขี่ที่บังคับใช้ใหม่อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ขับขี่มีความพร้อมให้บริการผู้โดยสารในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และป้องกันผู้ขับขี่ที่ไม่มีความพร้อมได้ด้วย

โดยคาดว่า ทางการท้องถิ่นจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ด้วย ซึ่งจะช่วยปรับปรุงระบบอนุญาตใบขับขี่ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมทั้งลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและผู้โดยสารกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ผู้ขับรถยนต์โดยสาธารณะและผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล จะต้องได้รับการอบรมให้ช่วยค้นหาและช่วยเหลือผู้โดยสารที่อาจถูกทำร้ายด้วย

ก่อนหน้านี้ Uber ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถเเบบ Ride Hailing รายใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้บริการขนส่งผู้โดยสารในกรุงลอนดอนเป็นครั้งที่หลังมีความผิดพลาดด้านความปลอดภัย โดย Uber มีเครือข่ายคนขับราว 45,000 คนในลอนดอน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของบริษัท เเละตอนนี้ Uber ก็กำลังหาทางเพื่อให้กลับมาได้รับใบอนุญาตให้บริการอีกครั้ง

 

ที่มา : Reuters

]]> 1289364 มองอนาคตธุรกิจ Ride- hailing “เเอปเรียกรถ” ในไทย ณ วันที่ยังไม่ถูกกฎหมาย 100% https://positioningmag.com/1265054 Thu, 20 Feb 2020 11:51:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265054 ปัญหาการขนส่งในไทยเป็นหนึ่งใน Pain Point หลักของชีวิตประจำวันของทุกคนก็ว่าได้ หลายคนต้องเคยเจอการโบกเเท็กซี่เเล้วโดนปฏิเสธด้วยคำว่า “ไปส่งรถ” บ่อย ๆ ส่วนรถเมล์สาธารณะก็มา “ไม่เป็นเวลา” จัดการเวลาเดินทางไม่ได้ หรือในต่างจังหวัดก็เดินทางลำบาก หากคุณไม่มีรถส่วนตัว

การมาถึงของเทคโนโลยีเเละอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดนวัตกรรม Ride- hailing หรือบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตและการเดินทางของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

“ปัจจุบันคนไทยกว่า 34.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของคนไทยทั้งประเทศเคยใช้บริการ Ride-hailing และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73 ในอีก 30 ปีข้างหน้า”

ถึงตัวเลขผู้ใช้จะพุ่งสูงมาก เเต่ก็ดูจะสวนทางกับกฎหมาย เมื่อ “ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียน ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการ Ride-hailing”

ชี้ให้เห็นว่า เเม้อุตสาหกรรม Ride-hailing จะได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนและเป็นทางเลือกการเดินทางของคนไทย ควบคู่ไปกับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม แต่ธุรกิจนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า 95% ของผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Uber ถูกกฎหมาย และ 77.24% ของคนไทยเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ปัจจุบันอุตสาหกรรม Ride-hailing ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย

จากความนิยมของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตสูงขึ้นจนมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทในปี 2568 คิดเป็นร้อยละ 20 – 25 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทยในอีก 6 ปีข้างหน้า

โดยผู้โดยสารใช้บริการ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี 2561 ประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี 2568

ในขณะที่มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing ในปี 2561 ประมาณ 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี 2568

Photo : Shutterstock

Positioning คุยกับ “ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว” หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ CONC Thammasat ถึงโอกาสเเละอุปสรรคของ Ride-hailing ในไทยเเละอาเซียน การเเข่งขันของธุรกิจ เทรนด์ผู้ใช้ เเละปมความ
ขัดเเย้งกับระหว่างเจ้าถิ่น รวมถึงคาดการณ์ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2565

“เรามองว่าการทำให้ Ride-hailing ถูกกฎหมายในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเป็นสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร และเป็นการชูนวัตกรรมเทคโนโลยีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสำหรับบริการ Ride-hailing ในประเทศไทยยังเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ CONC Thammasat

ด้วยเหตุนี้ CONC Thammasat จึงทำการศึกษาวิจัย ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อนำเสนอให้เห็นผลกระทบต่างๆ จากการมี Ride-hailing ทั้งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นแนวทางไปยังภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน

ดร.สุทธิกร มองว่า Ride-hailing เป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้กับคนไทย แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้มหาศาลมาสู่ประเทศ ส่วนข้อมูลดิจิทัลที่ถูกบันทึกจากแอปพลิเคชันยังสามารถนำมาช่วยในการต่อยอดและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจรหรือการวางผังเมืองในอนาคต 

“ผลสำรวจจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าหากภาครัฐไม่อนุมัติให้การบริการ Ride-hailing ถูกกฎหมาย จะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบต่อดุลยภาพที่เกิดจากเศรษฐกิจตลาดเสรีและกลุ่มคนทั่วไปที่เห็นประโยชน์ของ Ride-hailing” 

เเนะรัฐกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ

ขณะที่เมื่อมองเรื่องการแข่งขันของธุรกิจ Ride-hailing ในไทย ก็นับแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมระบบคมนาคมในประเทศ ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลาย

“เเต่สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมขั้นต่ำ (Minimum Requirement) เพื่อควบคุมผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในตลาดให้มีคุณภาพ เนื่องจาก Ride-hailing เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องรองรับผู้โดยสารจำนวนมากในแต่ละวัน มีผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมจำนวนมาก หากไม่มีการกำหนดคุณสมบัติและมาตรฐานขั้นต่ำไว้ เมื่อเกิดปัญหาจะเสียหายและส่งผลกระทบในวงกว้างอีกทั้งเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” 

ถ้า Ride-hailing ถูกกฎหมาย จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับส่วนใดและอย่างไรบ้าง?

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat พบว่าการพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรม Ride-hailing สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมายนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วน และส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้โดยสาร

Ride-hailing ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • 92% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing มีความปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ
  • 95% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
  • 77% ของผู้โดยสารระบุว่า การใช้บริการ Ride-hailing มีความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ
  • 86% ของผู้โดยสารระบุว่า บริการ Ride-hailing มีส่วนช่วยให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ: Ride-hailing เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน
  • 60% ของคนที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ Ride-hailing เป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นว่างงาน หรือบุคคลที่เกษียณอายุแล้วซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับพวกเขา
  • 99% ของผู้ขับที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อให้บริการ Ride-hailing ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
  • 94% ของผู้ขับระบุว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันช่วยลดภาระหนี้สินได้

ภาคสังคม 

Ride-hailing ได้เข้ามาช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ภาคเศรษฐกิจ

สร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการและรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้เหล่านี้ได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

ภาคการท่องเที่ยว

Ride-hailing มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ช่วยรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือมีการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Individual Traveler) มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาผ่านแอปพลิเคชันและปัญหาด้านค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแจ้งราคาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

เเละในขณะที่ “ระบบขนส่งสาธารณะ” ในหลายประเทศยังเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ด้วยรูปแบบบริการของ Ride-hailing จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นการสร้างความเท่าเทียมทำให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่เพียงแต่การเป็นผู้โดยสาร แต่รวมถึงบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการ (ผู้ขับขี่) ด้วยเช่นกัน

ดร.สุทธิกร อธิบายต่อว่า Ride-hailing จะสร้างทางเลือกในการเดินทางและเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงพัฒนาสังคมเมืองให้เข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มากยิ่งขึ้นซึ่งช่วยลดภาระของความเป็นเจ้าของยานพาหนะ (Ownership) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย (ค่าผ่อนรถ ค่าประกัน) ความกังวล (รถหาย รถเสีย) และความไม่สะดวก (หาที่จอดรถไม่ได้) มาสู่ความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการ (Usership) อีกทั้งเปลี่ยนบทบาทของผู้บริโภคไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการได้ คือขยับจากที่เป็นเพียง Consumer ไปมีบทบาท Prosumer (การผลิตโดยผู้บริโภค)ได้

เป็นธรรมดาของธุรกิจที่เมื่อมีข้อดีเเล้วก็ต้องมีข้อเสีย หัวหน้าวิจัยของ CONC บอกว่า ข้อเสียของ Ride-hailing คือ สถานการณ์เมื่อธุรกิจบริการ Ride-hailing เกิดขึ้นในประเทศ แม้ว่าจะไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนกำหนดไว้หรือกฎระเบียบที่ไม่สมดุลก็ตาม สิ่งสำคัญคือการระวังไม่ให้ตกอยู่ในกับดักของนโยบายคุ้มครองเพราะอาจไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

“เชื่อว่าถึงแม้ประเทศไทยยังไม่มีการออกกฏหมายที่ชัดเจนและมั่นคงเพียงพอ แต่ประเทศไทยถือว่าอยู่ในจุดที่ดี เนื่องจากเราได้เรียนรู้จากผลการศึกษาและวิจัยจากประเทศอื่นๆ และมีโมเดลของบริกา Ride-hailing ที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะในขณะที่เสริมสร้างธุรกิจและสภาพแวดล้อมนวัตกรรม”

ระบบเเท็กซี่ไม่ถูกเเทนที่…เเต่ต้องปรับเข้า Ride-hailing

ขณะเดียวกันหลายคนสงสัยว่า สิ่งที่น่ากังวลจากธุรกิจ Ride-hailing นี้ จะเข้ามา Disrupt อะไรบ้าง แล้วการขัดแย้งระหว่างเจ้าถิ่นยังคงมีต่อไปหรือไม่

“ผมไม่คิดว่าการที่ธุรกิจ Ride-hailing เข้ามา disrupt จะส่งผลเสียอะไร ระบบคมนาคมขนส่งของไทยยังมีความล้าหลังทำให้ธุรกิจ Ride-hailing กลายเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภค ผู้ขับขี่รถแท็กซี่กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งการโบกรถโดยสารตามถนนยังคงเป็นทางเลือกจำเป็นสำหรับผู้บริโภคอยู่ ดังนั้นระบบแท็กซี่จึงไม่ถูกแทนที่ได้ง่ายๆ” 

โดยผู้ขับขี่บนระบบแท็กซี่แบบดั้งเดิมสามารถเข้าร่วมกับระบบ Ride-hailing เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ได้

“แท็กซี่ระบบดั้งเดิมอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องปรับตัวเองให้ก้าวทันตามโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

เสนอ 5 เเนวทางกำกับ Ride-hailing

CONC Thammasat ได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing ในไทยซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรใช้ในการพิจารณา โดยการรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้โดยสารผู้ขับขี่ที่ให้บริการ Ride-hailing ผู้ขับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็นหลักอันได้แก่

1) มาตรฐานด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ

o   มีเทคโนโลยีที่รองรับด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและสถานะของการเดินทางแบบเรียลไทม์ หรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

o   มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับ เช่น ระบบ Biometrics

o   มีศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง

o   มีประกันคุ้มครองให้กับทั้งผู้ขับและผู้โดยสารในทุกเที่ยวการเดินทาง

2) มาตรฐานผู้ขับขี่และรถยนต์

o   ผู้ขับต้องผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการ

o   ผู้ขับต้องได้รับการอบรมในด้านความปลอดภัย

o   การกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ควรอิงด้านความปลอดภัยของตัวรถและเปิดโอกาสให้ประชาชนนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้

3) มาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยี

o   มีศักยภาพในการให้บริการอย่างครอบคลุมและฐานผู้ขับที่เพียงพอกับความต้องการ

o   เทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องมีเสถียรภาพและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

o   มีระบบแปลภาษาที่ช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

o   สามารถชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งเงินสดและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

4) มาตรฐานด้านราคา

o   ควรให้มีการคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด หรือ Dynamic Pricing ที่สะท้อนปริมาณความต้องการและจำนวนรถที่ให้บริการ (Demand-Supply) ณ เวลานั้นๆ

o   ต้องมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

o   ควรกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความต้องการของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ โดยเป็นราคาที่ผู้ขับสามารถสร้างรายได้ในขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องยอมรับได้

5) มาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน

o   ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย

o   ควรมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย

o   มีการเสียภาษีให้กับประเทศ

o   มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

ทางเลือกการเดินทาง “ที่ต้องมี” 

ดร.สุทธิกร ปิดท้ายด้วย การคาดการณ์ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2565 ไว้ว่า จากการศึกษาของ BCG พบว่าถึงแม้ระบบขนส่งสาธารณะจะสามารถพัฒนาไปได้ตามแผนที่วางไว้และแล้วเสร็จตามกำหนดนั้น ในปี 2565 ระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้จะยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนได้

ดังนั้นการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยอำนวยความสะดวกและลดความหนาแน่นของการโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะลงได้ ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้ทุกที่ และไม่มีทางเลือกอื่นๆ เนื่องจากยังไม่มีบริการอื่นมาแทนที่จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“การให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันจึงสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของคนเหล่านี้ได้ โดยการให้บริการผ่านทางแอปพลิเคชันนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้บริการการขนส่งสาธารณะ แต่เพียงเข้ามาเพื่อปิดช่องว่างที่ไม่มีประสิทธิภาพเหล่านั้น และเป็นเส้นเลือดฝอยที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงเส้นเลือดใหญ่มากขึ้น”

อีกทั้งยังพยายามที่จะสนับสนุนให้คนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเห็นได้ว่ามีผู้ให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันบางรายให้บริการลดราคาหรือราคาพิเศษสำหรับการเดินทางไปยังป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟ

นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน ในช่วงเวลากลางดึกมีสัดส่วนการใช้งานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบจากทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าในเวลากลางดึก ซึ่งเป็นเวลาที่การบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ งดให้บริการแล้ว สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางหรือมีตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน และเวลาการทำงานแตกต่างจากปกติ เช่น พนักงานสายการบิน พนักงานโรงแรม เป็นต้น การใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันจึงเป็นตัวเลือกที่เข้ามาทดแทนได้

ยุคนี้ Ride-hailing มาเเน่…เเต่รัฐจะกำกับดูเเลอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ใช้อย่างเราๆ ต้องคอยดูต่อไป 

]]>
1265054
หมดเวลาเผาเงินทุน GET วางเป้าปี 2563 ดูดผู้ใช้ให้ติดแอปฯ ปั้นกำไรอย่างยั่งยืน https://positioningmag.com/1257415 Tue, 17 Dec 2019 11:13:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257415
  • GET ประเมินปีหน้าสงครามราคาของแอปฯ บริการร่วมขับขี่ (Ride-hailing) น่าจะผ่อนคลายลง บริษัทต่างมุ่งหน้าหารายได้และกำไรที่ยั่งยืน
  • GET เองก็เช่นกัน โจทย์ใหญ่ของการไปสู่กำไร คือการเพิ่มผู้ใช้และจำนวนครั้งการใช้ รวมถึงหารายได้เสริมอื่นๆ เช่น เปิดพื้นที่ทำการตลาดของร้านอาหาร เป็นตัวกลางด้านดาต้าสำหรับปล่อยสินเชื่อธนาคาร
  • ครึ่งปีแรก 2563 เตรียมเปิด GET Pay สำหรับร้านอาหาร, GET Runner คนเดินส่งอาหาร, แอปฯ สำหรับให้ร้านอาหาร (merchants) ใช้งาน และปรับหน้าตาแอปฯ คนขับ (driver) โฉมใหม่
  • GET ยังไม่สนใจบริการแท็กซี่/รถยนต์ 4 ล้อ แต่หากกฎหมายมีการแก้ไขอาจพิจารณา
  • ธุรกิจบริการร่วมขับขี่ (Ride-hailing) ขนส่งคน ของ อาหาร ยิ่งดุเดือดขึ้นในปีนี้เมื่อมีหน้าใหม่อย่าง GET เข้ามาลุยตลาดช่วงต้นปี โดยเฉพาะบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่กลายเป็นกระแสยอดฮิตในหมู่ผู้ใช้ชาวไทย เราจึงได้เห็นสงครามราคาลดค่าขนส่งเหลือเริ่มต้น 10 บาททั้ง GET และ Grab Food ก่อนจะค่อยๆ หาทางปรับราคาขึ้นบ้างทั้งสองเจ้าในช่วงปลายปี

    “ภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET เปิดเผยว่ามูลค่าตลาดบริการร่วมขับขี่ในปีนี้เติบโตขึ้นถึง 6 เท่าจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ GET เริ่มเข้าสู่ตลาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีส่วนร่วมทำให้ตลาดโตขึ้น ส่วนในปี 2563 คาดว่าตลาดจะโตขึ้น 2 เท่า แม้อัตราการเติบโตจะน้อยลงแต่เกิดจากฐานตลาดปีนี้ใหญ่ขึ้นมากแล้ว

    ทีมผู้บริหาร GET: (จากซ้าย) “ภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, “วงศ์ทิพพา วิเศษเกษม” ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชั่น และ ก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด

    อย่างไรก็ตาม ภิญญามองว่าปีหน้าเรื่องสงครามราคาอาจจะผ่อนคลายลง เพราะแหล่งเงินที่บริษัทสตาร์ทอัพมาใช้อัดโปรโมชันต่างก็มาจากผู้ลงทุนและย่อมมีวันหมด

    “จากเหตุการณ์ของ WeWork ทำให้ VC ทุกแห่งคำนึงถึงความยั่งยืนในธุรกิจของบริษัทที่เขาลงทุนด้วย” ภิญญากล่าว “เราต้องแสดงให้เห็นความสามารถในการทำกำไร ไม่ใช่เผาเงินทุนของเขาไปเรื่อยๆ”

     

    โจทย์ 2563: ทำให้คนใช้ GET เป็นแอปฯ หลักมากขึ้น

    จากประเด็นดังกล่าว โจทย์ปี 2563 ของ GET ก็เช่นเดียวกับทุกเจ้าคือ “การหากำไร” โดย GET จะใช้ 2 แนวทางเพื่อทำกำไรคือ

    1.สเกลตัวให้ใหญ่ขึ้น – แปลว่า GET ต้องมีผู้ใช้มากขึ้นและใช้แอปฯ ถี่ขึ้น โดยภิญญากล่าวว่า GET มีผู้ใช้งานเฉลี่ย 6 แสนคนต่อเดือน (ข้อมูลเดือนกันยายน 2562) และมากกว่าครึ่งหนึ่งของฐานลูกค้าใช้แอปฯ GET เป็นหลัก วัดจากพฤติกรรมการใช้เฉลี่ย 6-7 ครั้งต่อคนต่อเดือน ส่วนที่เหลือนั้น เป็นลูกค้าที่อ่อนไหวต่อโปรโมชั่น จะสลับการใช้แอปฯ ต่างๆ ตามโปรโมชั่นที่ได้ ปีหน้าบริษัทจะมุ่งเพิ่มจำนวนลูกค้าและทำให้ลูกค้าใช้แอปฯ GET เป็นหลักมากยิ่งขึ้น

    2.หาช่องทางทำรายได้เพิ่ม – จากดาต้าลูกค้าที่ GET ได้มาสามารถนำไปต่อยอด เช่น ปัจจุบันแอปฯ ร่วมเป็นพันธมิตรกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารใช้ดาต้าของ GET สำหรับปล่อยกู้ระดับไมโครไฟแนนซ์ โดยวัดเครดิตของลูกค้าจากดาต้าพ้อยต์ของคนขับหรือร้านอาหารที่ GET มีให้ หรือยกตัวอย่างการจัดแพ็กเกจโฆษณาการตลาดให้กับร้านอาหารแบบเจาะกลุ่ม เพื่อให้การโฆษณากลายเป็นยอดสั่งซื้อจริงให้มากที่สุด

     

    สร้างคุณภาพคนขับ-ร้านอาหาร ลดการทุ่มโปรฯ

    มีเป้าแล้วจะทำอย่างไร? ภิญญาตอบว่าการทำให้ลูกค้า “ติดแอปฯ” คือต้องทำให้บริการ “มีคุณภาพ” และ “ราคาพื้นฐาน” แข่งขันได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องใช้โปรโมชันช่วย

    ทั้งนี้ 80% ของทริปขนส่งในแอปฯ GET เป็นกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพบริการจึงขึ้นอยู่กับสองส่วน นั่นคือ “คนขับ” ที่ GET จะพัฒนาอบรมให้บริการดียิ่งขึ้นและให้แรงจูงใจ (incentive) เป็นสวัสดิการสำหรับคนขับที่ทำได้ตามเกณฑ์ อีกส่วนคือ “ร้านอาหาร” จะเน้นความหลากหลายของประเภทร้านในพื้นที่หนึ่งๆ ให้ลูกค้าเปิดแอปฯ มาเจอร้านทุกประเภทที่อยากทาน และเน้นร้านท้องถิ่นที่ไม่ใช่เชนหลายสาขาเพราะราคาอาหารในร้านจะตรงกลุ่มลูกค้ามากกว่า

    “ปีนี้คือการสร้างการรับรู้ (raise awareness) แต่จากนี้ไปคือการเติบโตอย่างยั่งยืน” ก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด GET กล่าวเสริม “ตอนนี้เรายังขาดทุน แต่เราเห็นโอกาสการทำกำไร”

    “จริงๆ เรามีกำไรต่อเที่ยวการขนส่งแล้วนะครับ แต่จะคุ้มทุนทั้งหมดที่ลงไปเมื่อไหร่คงยังบอกไม่ได้ ต้องใช้เวลา” ภิญญากล่าว

     

    ฟีเจอร์ 2563 จะมีอะไรใหม่?

    ส่วนฟีเจอร์ใหม่ๆ ปี 2563 นั้น ภิญญาแจกแจงมาทั้งหมด 4 อย่างที่จะปล่อยในช่วงครึ่งปีแรก คือ

    1.GET Pay – จะเพิ่มฟังก์ชันให้ใช้กับร้านอาหารได้ แก้โจทย์คนขับไม่มีเงินทอน หรือลูกค้าให้ฝากอาหารไว้ที่ล็อบบี้อาคาร

    2.GET Runner – คนเดินส่งอาหาร ปัจจุบันทดลองตลาดแล้วพบว่าไปส่งได้ด้วยความเร็วเฉลี่ย 19 นาที

    3.Merchants App – แอปฯ ฝั่งร้านอาหารเปิดใช้งาน เมื่อมีคนสั่งอาหาร ออร์เดอร์จะยิงตรงไปที่ร้านเพื่อเริ่มเตรียมอาหารได้เลย ไม่ต้องรอคนขับไปสั่ง และมีระบบ PIN 4 หลัก ให้คนขับกรอกยืนยัน ลูกค้าจะมั่นใจได้ว่ารับออร์เดอร์ถูกร้านแน่นอน ไม่มั่ว

    4.Drivers App – แอปฯ ฝั่งคนขับจะปรับ UX/UI ใหม่ ใช้งานง่ายกว่าเดิม เติม Heat Maps ดูจุดที่ลูกค้าอยู่เยอะ มีตารางรวมผลรายได้ประจำวันและคาดการณ์รายเดือน

     

    รอฟังผลกฎหมายใหม่ “เปิดเสรี” รถร่วมขับขี่

    นอกจากนี้ภิญญายังตอบคำถามคาใจหลายๆ คนว่า “ทำไม GET ยังไม่มีบริการรถสี่ล้อเสียที” โดยเขาชี้แจงว่าบริษัทเห็นว่ารถยนต์หรือแท็กซี่ทั้งตลาดมีจำนวนเที่ยวเรียกต่อวันน้อยเกินไป อยู่ที่ 6.5 แสนเที่ยวต่อวัน เทียบกับกลุ่มสองล้อที่มีการเรียก 1.5-2 ล้านเที่ยวต่อวันเพราะสามารถใช้ขนส่งของและอาหารได้ รวมถึงรถยนต์ธรรมดายังไม่ถูกกฎหมายถ้าจะนำมาให้บริการด้วย

    แต่เมื่อภาครัฐมีแนวคิดที่จะให้ไฟเขียวกลุ่มรถยนต์ทั่วไปเข้ามาให้บริการได้ถูกต้อง GET ก็อาจพิจารณาตลาดนี้ใหม่อีกครั้ง (ภาครัฐอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาออกกฎหมาย โดยตั้งธงให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2563)

    ส่วนเรื่องการเปิดเสรีวินมอเตอร์ไซค์ GET เป็นแอปฯ ที่อนุญาตเฉพาะวินมอเตอร์ไซค์ถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาร่วมรับส่ง “คน” อยู่แล้ว

    ดังนั้นภิญญาจึงมองว่ากฎหมายเปิดเสรีวินมอเตอร์ไซค์ที่อาจจะพิจารณาเป็นฉบับต่อไป ขอแค่เพียงแก้ไขให้พี่วินเสื้อส้มไปรับคนตรงไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีสังกัดประจำก็เพียงพอ

     

    ]]>
    1257415
    บัตรเเรบบิท จ่าย “สมาร์ทบัส” ได้เเล้ว ตั้งเป้าปีหน้า 2,000 คัน-เติมเงินผ่านโมบายเเบงกิ้ง https://positioningmag.com/1254884 Tue, 26 Nov 2019 13:18:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254884 บัตรเเรบบิท รุกตลาดรถโดยสารประจำทาง “สมาร์ทบัส” เปิดให้บริการชำระค่าโดยสาร “ไร้เงินสด” ระบบเดียวกันกับบีทีเอส นำร่องสาย 104, 150 ต้นปีหน้าขยายอีก 5 สาย ตั้งเป้าสิ้นปี 2563 ได้ 22 สาย 2,000 คัน พร้อมเปิดระบบเติมเงินผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคาร ไตรมาสเเรกปีหน้า

    รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บีเอสเอส) ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit Card) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา บัตรแรบบิท ได้ร่วมมือกับบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ผู้ประกอบการให้บริการรถร่วมบริการ ขสมก. เปิดตัวระบบการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทโดยใช้มาตรฐานเดียวกับระบบที่ใช้ในรถไฟฟ้าบีทีเอส

    โดยเริ่มทดลองใช้กับ รถสมาร์ทบัสสาย 104 ปากเกร็ด–หมอชิต 2 และสาย 150 ปากเกร็ด–บางกะปิ พร้อมส่วนลด 2 บาท/เที่ยว ตั้งแต่ 19 พ.ย. 62–31 มี.ค. 63 ซึ่งถือว่าเป็นการนำระบบการชำระเงินตามมาตรฐานสากลมาใช้ในรถโดยสารประจำทางสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เเละสามารถใช้กับบัตรเเรบบิทได้ทุกประเภท ได้รับเสียงตอบรับที่ดี เนื่องจากสายที่ทดลองผู้ใช้เป็นนักศึกษาเเละคนทำงานที่ต้องเดินทางมาต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่เเล้ว เเต่ก็ยังต้องการผู้ใช้ใหม่อีกมาก

    นอกจากนี้ยังมีของขวัญปีใหม่มอบให้เเก่ผู้ใช้บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพแรบบิท (Bangkok Bank Rabbit Credit Card) ที่ชำระค่าบริการรถสมาร์ทบัสสายดังกล่าว ด้วยส่วนลด 1 บาทตลอดสาย ในช่วง 1 ธ.ค. 2562- 31 ม.ค.2563 นี้เท่านั้น 

    “ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีการติดตั้งเพิ่มในรถสมาร์ทบัสอีก 5 สาย ได้เเก่ สาย 51, 52, 147 , 167 เเละอีกหนึ่งสายที่กำลังจะเปิดบริการเร็วๆ นี้ เเละคาดว่าสิ้นปี 2563 จะสามารถติดตั้งระบบการชำระเงินด้วยบัตรแรบบิทนี้ได้อย่างสมบูรณ์ในรถสมาร์ทบัสสายอื่นๆ อีกราว 22 สาย รวมกว่า 2,000 คัน พร้อมขยายบริการให้สามารถเติมเงินเรียลไทม์เเละขายบัตรเเรบบิทบนรถสมาร์ทบัสได้ด้วย “

    สำหรับวิธีการแตะจ่ายบัตรแรบบิท ให้แตะบัตรแรบบิทที่ประตูทางขึ้น (ด้านหน้ารถ) ทุกครั้ง โดยที่บัตรต้องมีเงินคงเหลือไม่น้อยกว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด (25 บาท) เมื่อถึงป้ายรถเมล์ที่ต้องการให้แตะบัตรแรบบิทที่ประตูทางลง ระบบจะคำนวณค่าโดยสารตามระยะทางที่กำหนด คือ 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท หากลืมแตะบัตร ระบบจะหักค่าโดยสารในอัตราสูงสุด

    จากการขยายเครือข่ายการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทในระบบขนส่งสาธารณะนี้ คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้ใช้บัตรแรบบิทจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 แสนถึง 1 ล้านคนต่อวัน

    พร้อมทั้งอานิสงส์จากการเพิ่มเส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส ในระหว่างปี 2563-2564 ระยะทางจะเพิ่มขึ้นจาก 50 กม. เป็น 170 กม. ซึ่งเส้นทางที่เพิ่มขึ้น คือ สายสีเขียวเหนือ (หมอชิต–คูคต) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว–สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้งานบัตรแรบบิทเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อวัน

    “ช่วงต้นปีหน้า บัตรแรบบิทจะเพิ่มความสะดวกสบายในการเติมเงินให้ผู้ใช้ โดยจะพัฒนาให้บัตรแรบบิทสามารถเติมเงินผ่าน โมบายแอปพลิเคชั่นของแรบบิท และผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่างๆ ได้ โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับ SCB , BBL เเละ Kbank เเล้ว”

    ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการออกบัตรแรบบิทไปแล้วกว่า 13 ล้านใบ โดยเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยปีละกว่า 2 ล้านใบ โดยใช้เดินทางขนส่งสาธารณะได้มากถึง 10 การเดินทาง ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ รถบัส และเรือ ในพื้นที่รวม 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม เชียงใหม่ และภูเก็ต รวมถึงการมีร้านค้าพันธมิตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ร้านค้า และจุดบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 12,000 จุด

    สำหรับผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน ช่วงอายุ 20-35 ปี โดยในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้โดยสารส่วนใหญ่เดินทางด้วยบัตรแรบบิทมากถึง 70% ของจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 900,000 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานบัตรโดยสารเที่ยวเดียวประมาณ 29% และบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวันประมาณ 1% เเละมีผู้ใช้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 5%

     

     

    ]]>
    1254884