ปฏิเสธไม่ได้ว่า Food Delivery เป็นเทรนด์แรงที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้เติบโตกว่า 6 เท่า อันเป็นผลมาจากความสะดวกสบายที่ผู้บริโภคได้รับไม่ต้องไปผจญรถติดต่อคิวนานๆ ก็ได้กินอาหารร้านดังมาส่งให้ถึงที่
GET FOOD บริการเรือธงของ “GET” ออนดีมานด์แอปพลิเคชั่นที่ได้รับเงินลงทุนจาก “GO-JEK” ยักษ์ออนดีมานด์จากอินโดนีเซีย ได้เข้ามาเป็นน้องใหม่รายล่าสุดของศึก Food Delivery ได้ราว 6 เดือนแล้ว โดยช่วงไตรมาส 2 เติบโตจากไตรมาส 1 คิดเป็นตัวเลข 168%
GET ระบุว่าตัวเองนั้นมีจุดเด่นใน 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง “Street Food” ซึ่งยอดจากสั่งซื้อ 45% และจำนวนร้านอาหารกว่า 70% จากจำนวนร้านทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบตอนนี้ 20,000 ร้านค้าก็เป็น Street Food แม้ตัวเลขนี้จะยืนพื้นมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ แต่ GET ยืนยันว่าร้านทั้งหมดเพียงพอสำหรับเป็นตัวเลือกให้แก่ลูกค้ายังไม่ต้องรีบเพิ่มตอนนี้
อีกทั้งยังเชื่อว่าตัวเองนั้นมีจำนวนร้านอาหารที่ Active หรือมียอดสั่งอาหารอย่าน้อย 1 ครั้งต่อเดือน มากที่สุดในบรรดา Food Delivery โดยร้านที่ขายดีจะมียอดสั่งซื้อไม่น้อยกว่า “1 แสน” ครั้งต่อเดือน
สอง “ค่าส่ง 10 บาท” บางช่วงลงไปเหลือ 5 บาท ซึ่งแม้ตัวเลขนี้จะไม่ได้สะท้อนตัวเลข “ต้นทุน” ที่แท้จริง ด้วยอยู่ในช่วงทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งจากการสำรวจพฤตติกรรมพบว่า “ราคา” มักจะเป็นตัวเลือกแรกที่ลูกค้าจะนึกถึงเวลาจะสั่ง Food Delivery สักราย รองลงมาคือความวาไรตี้ของร้านอาหาร แต่ GET ยังยืนยันจะใช้ราคานี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน GET ก็ยอมรับว่า แม้ Food Delivery จะเติบโตหวือหวาก็จริง แต่ปัญหาใหญ่มากที่สุดคือ “ราคาค่าส่ง” ที่ค่อนข้าง “แพง” เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนามหรืออินโดนีเซียซึ่งพบว่า คนขับของไทยมีรายได้มากกว่า 3 เท่าตัว
สาม “เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์” GET ใช้ “Data” มาเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจ ทั้งใส่ส่วนของ “ลูกค้า” ที่มีฟีเจอร์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาทั้งระะบบฟิวเตอร์ที่จะช่วยให้สามารถเสิร์ชหาร้านหรือเมนูที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ฟีเจอร์ OMAKASE ที่จะแนะนำเมนูอาหารที่ Personalized ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย ฟีเจอร์การแสดงส่วนลดแบบใหม่
“คนขับ” ซึ่งระบบจำคำนวณว่า ชอบรับงานประเภทไหน ส่งคน ส่งอาหาร หรือ ส่งของ ชอบรับช่วงเวลาไหน ส่งใกล้หรือไกล โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลเวลาที่ลูกค้ามีคำสั่งเข้ามา จะได้มอบงานที่เหมาะกับคน
ขณะนี้กำลังเตรียมเพิ่มทางเลือกให้กับการส่งสินค้าซึ่งจะไม่ได้มีแค่รถมอเตอร์ไซค์อีกต่อไป GET ไม่ปฏิเสธว่า ตัวเลือกการส่งที่เพิ่มขึ้นอาจเป็น “รถจักรยาน” หรือ “สกูตเตอร์ไฟฟ้า”
แต่ที่แน่ๆ “การเดินส่ง” ในระยะ 1 กิโลเมตรอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะอากาศและถนนในเมืองไทยยังไม่เอื้ออำนวย สุดท้าย “ร้านค้า” เตรียมทำแอปแยกที่จะแจ้งร้านค่ามีคำสั่งซื้อเข้ามา
ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET กล่าวว่า ในช่วงแรกของการให้บริการความท้าทายของ GET คือทำให้บริการนิ่ง การส่งต้องอยู่ภายในครึ่งชั่วโมง และมีเมนูอาหารที่ไม่ด้อยไปกว่ารายอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ทำได้แล้ว
“ความท้าทายต่อจากนี้ของ GET ไม่ใช่สู้กับ Food Delivery แต่เป็นการดึงให้ผู้บริโภคหันมาสั่งมากขึ้นแทนที่จะไปซื้อที่ร้านเอง ซึ่งแม้ว่าตัวเลขตลาดจะเติบโต 6 เท่าก็จริง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ยังเติบโตได้อีกมาก ปัญหาที่พบคือ ถึงจะมีความต้องการกินก็จริง แต่ไม่ได้สั่งผ่าน Food Delivery ทั้งหมด”
เป้าหมายต่อจากนี้ของ GET คือการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่ม “แมส” อายุ 18-45 ปี จากเดิมอยู่ในช่วงอายุ 25-34 ปี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานต่อเนื่อง (Active User) อยู่ที่ 5 แสนคนต่อเดือน และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- Explorers 58% รู้ว่าอยากกินอะไรร้านไหนในแอป เข้ามาแล้วชอบเสิร์ชชื่อร้าน ชื่อเมนู โดยยอดนิยมที่ถูกเสิร์ช คือ ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ส้มตำ
- Chillaxer 18% กลุ่มนี้รู้ว่า “หิว” แต่ไม่รู้เมนูที่ต้องการสั่ง GET นำเสนอเมนูต่างๆ แก่ลูกค้า เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา เช่น ช่วงเช้าจะแนะนำ โจ๊ก ปาท่องโก๋ กาแฟ เป็นต้น
- Routine Lover 16% กลุ่มนี้รู้อยู่แล้วว่าชอบอะไรต้องการสั่งอะไร และมักจะสั่งเมนูเดิมๆ GET จึงออกฟีเจอร์ช่วยให้ง่ายสั่งได้ใน 3 คลิก คือ เลือกร้าน เลือกเมนูประจำ และกดสั่งได้เลย
การบุก “แมส” ในครั้งนี้ของ GET เลือกที่จะจัดแคมเปญใหญ่ “อยากกินอะไร สั่ง GET เลย” ที่มาพร้อมกับการดึง “นนท์ ธนนท์” มาเป็นพีเซ็นเตอร์คนแรกของ GET ซึ่งเลือกเพราะมีคาแร็กเตอร์ที่เข้าถึงได้ง่าย จะให้หล่อหรือตลกก็ได้เหมือนกับ GET มีสัญญา 1 ปี
โดยจะมีการใช้สื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อมๆ กับการออกสินค้าในคอลเลกชั่น “Only At GET เรื่องกินต้องเก็ท” ที่เปิดโอกาสให้สั่งอาหาร 7 เมนู ที่ทำโดย 4 เชฟชื่อดัง ได้แก่ เชฟต้น เจ้าของร้านอาหารบ้าน (Bann) เชฟกิ๊ก เจ้าของร้านอาหารเลิศทิพย์ เชฟเปเปอร์ แห่งร้าน ICI และเฮียเก๊า แห่งร้านเจ๊โอว โดยจำกัดระยะเวลาขาย 1 เดือน