รักษ์โลกขั้นใหม่! Pepsi เดินตาม Coca-Cola ลาออกจากกลุ่ม lobbying ต้านแบนพลาสติก

2 บริษัทเครื่องดื่มน้ำดำรายใหญ่ที่สุดในตลาดกำลังก้าวหน้าไปอีกขั้นเพื่อเป้าหมายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทั้ง Coca-Cola และ PepsiCo ประกาศชัดเจนว่าจะลาออกจากกลุ่ม Plastic Industry Association ซึ่งเป็นกลุ่มยักษ์ใหญ่ lobbying group ที่เน้นวิ่งเต้นเพื่อต่อต้านการแบนพลาสติกให้กับสมาคมและกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก ยืนยันการลาออกครั้งนี้เป็นเพราะความแตกต่างทางความคิดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ทั้ง Coca-Cola และ PepsiCo ต้องการจะเดินไปในอนาคต ท่ามกลางรูปการณ์ที่ชี้ว่าทั้งคู่ลาออกช้าเกินไป?

ที่ผ่านมา Coca-Cola และ PepsiCo แสดงตัวว่ากำลังดำเนินการเพื่อลดกำลังการผลิตขวดพลาสติกอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามหันไปใช้พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น แต่สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก หรือ Plastic Industry Association กลับมีเป้าหมายเพื่อ lobby หรือชักชวนให้รัฐบาลล้มเลิกการสั่งแบนพลาสติก ความสวนทางนี้ทำให้ Coca-Cola ชิงลาออกจากกลุ่มตั้งแต่ต้นปี บนความรู้สึกว่าจุดยืนของสมาคมไม่สอดคล้องกับภาระผูกพันและเป้าหมายของ Coca-Cola อย่างเต็มที่” ตามข้อความในแถลงการณ์ของบริษัทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ PepsiCo ที่กำลังพิจารณาว่าจะลาออกจากสมาคม Plastic Industry Association ในไม่กี่เดือนนับจากนี้ โดยให้เหตุผลกับสำนักข่าว CNN ว่า PepsiCo ไม่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายของสมาคมหรือบริษัทในเครือของสมาคมนี้ และจะมีการสรุปแนวทางการเป็นสมาชิกสมาคมพลาสติกในช่วงปลายปี

รักษ์โลกให้ชัดขึ้น

การประกาศลาออกจากสมาคม Plastic Industry Association ครั้งนี้ถูกมองว่าเกิดขึ้นเมื่อทั้ง 2 แบรนด์กำลังมองหาวิธีลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางความกดดันของปัญหาขยะล้นโลกที่รุนแรงมากขึ้นทุกที ปัญหาคือไม่ว่าทั้ง 2 แบรนด์จะประกาศพันธกิจหรูเลิศเพียงใด ก็จะมีเสียงวิจารณ์ว่ายังทำได้ไม่ดีพอสำหรับการรับผิดชอบต่อขยะที่ทั้งคู่สร้างขึ้น

ยกตัวอย่างในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Pepsi ได้ประกาศว่าจะเริ่มขายเครื่องดื่มแบรนด์ Aquafina ในกระป๋อง ไม่ใช่ขวดพลาสติก และกำลังทดสอบระบบทำน้ำเย็นคุณภาพสูงเทคโนโลยีใหม่ที่จะลดโลกร้อนได้ชัดเจนกว่าเดิม ด้าน Coca-Cola นั้นประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 50% ภายใน 11 ปีข้างหน้า และวางเป้าหมายรีไซเคิลขวด Coca-Cola ทุกขวดที่วางจำหน่ายไปทั่วโลกให้ได้ 

ถึงกระนั้น ทั้ง 2 แบรนด์ก็ถูกวิจารณ์ว่าวางเป้าหมายเรื่องรักษ์โลกไว้ไม่เพียงพอ เพราะรายงานล่าสุดของมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation พบว่า Coca-Cola ผลิตขวดและฝาพลาสติกหนักกว่า 3.3 ล้านตันในปี 2017 ส่งผลให้ช่วงเดือนมิถุนายน 2019 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace ออกมาวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่าความพยายามรีไซเคิลของ Coca-Cola นั้นน้อยเกินไป

ช้าเกินไปไหม?

การที่ Coca-Cola ประกาศลาออกจากกลุ่ม lobbying ครั้งนี้อาจเกิดขึ้นช้าเกินไป เพราะที่ผ่านมา Greenpeace พร้อมด้วยนักลงทุนและองค์กรอื่นได้เรียกร้องให้ทั้ง PepsiCo และ Coca-Cola ออกมายกเลิกกระบวนการ “secretive lobbying” หรือการ lobby แบบลับเพื่อยกเลิกกฏหมายสั่งแบนพลาสติกของสมาคม Plastic Industry Association ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมต้องผนึกกลุ่มแนวร่วมมากมายเพื่อทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่และผลักดันสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐเพื่อขวางกฎหมายสั่งแบนพลาสติกทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างถึงที่สุด โดยขณะนี้ มี 15 รัฐที่มีประชากรรวมกัน 88 ล้านคนที่ผ่านกฎหมายว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากพลาสติกแล้วเรียบร้อย

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมากจึงพร้อมใจออกมาประกาศว่าถึงเวลาแล้วสำหรับบริษัทที่อ้างว่าใส่ใจการลดมลพิษจากพลาสติกที่จะต้องยืนขึ้นและปฏิเสธการ lobby ของสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อลดจำนวนถุงพลาสติกในท้องถิ่นและจัดระเบียบกฎหมายภาชนะบรรจุต่อไปในระยะยาว

การประกาศครั้งนี้จึงไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของ Coca-Cola ดีขึ้นชัดเจน แต่กลับสะท้อนว่า Coca-Cola กำลังถูกตีแผ่แง่มุมมืดแบบลึกซึ้งกว่าเดิม ก่อนหน้านี้ Coca-Cola ยังตกเป็นข่าวอื้อฉาวเพราะมีรายงานข่าวระบุว่า Coca-Cola เกี่ยวข้องกับการทารุณสัตว์ผ่าน 1 ในซัปพลายเออร์ผลิตภัณฑ์นมหลายรายที่บริษัทดีลด้วย รายงานระบุว่า Coca-Cola ออกทุนให้มีการทำวิจัยด้านสุขภาพ ที่มีข้อกำหนดว่าบริษัทสามารถกำจัดผลการวิจัยที่ไม่ต้องการได้ ซึ่งข่าวนี้ Coca-Cola ยังไม่อาจแก้ต่างได้แบบหมดจด.

Source