Source : Ted S. Warren | AP Photo, cnbc
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายธุรกิจหลากอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จและทำกำไรมากขึ้นจากช่วงที่เกิดภาวะถดถอยมาก่อนหน้านี้ ความร้อนแรงของธุรกิจทำให้ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวเอง กลายเป็นเทรนด์การประท้วงเพื่อขอเพิ่มสวัสดิการที่เห็นชัดเจนและแพร่หลายทั้งในอุตสาหกรรมการบิน รถยนต์ โรงแรม รวมถึงแบรนด์ออนไลน์มากมาย
สถิติล่าสุดชี้ว่าสายการบินในสหรัฐอเมริกานั้นบูมสุดขั้วจนสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน สายการบินที่ใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกและผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในสหรัฐอเมริกา ทำกำไรรวมกันได้มากกว่า 25,000 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา
แต่ภาวะสวยหรูนี้กลับมีผลกระทบที่ชัดเจน รายงานระบุว่าแรงงานปัจจุบันทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ทั้งที่อยู่ในสายการประกอบรถยนต์ นักบิน ฝ่ายจัดเตรียมอาหารสำหรับบริการบนเครื่องบิน พนักงานทำความสะอาดห้องพัก รวมถึงพนักงานผู้จัดเรียงสินค้าในชั้นวาง ต่างพยายามหาทางเจรจาเพื่อปรับสัญญาการจ้างงานที่มีสวัสดิการดีกว่า แต่ทั้งหมดยังไม่ถึงขั้นนัดหยุดงานจนสร้างความเสียหายรุนแรง
รถยนต์เจอหนัก
สำนักข่าว CNBC ยกตัวอย่างสัญญาจ้างงานที่อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อยกระดับสวัสดิการตามเทรนด์ร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือสัญญาระหว่างสหภาพแรงงานบริษัทรถยนต์ United Auto Workers และ Big Three Detroit ผู้ผลิตรถหลายค่ายที่ตัวสัญญาจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน สัญญานี้จะกำหนดค่าจ้างและผลประโยชน์ให้กับพนักงาน 158,000 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน นักบินมากกว่า 37,000 คนใน 3 สายการบินรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Delta, United และ American ต่างกำลังเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง รวมถึงเพิ่มผลประโยชน์หลังเกษียณที่ดีกว่าอัตราเดิมที่ถูกปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต ประเด็นนี้สายการบิน Delta ย้ำว่าเป้าหมายของบริษัทคือการบรรลุข้อตกลงที่พอใจกับทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อแสดงว่าบริษัทให้ความสำคัญกับนักบินในฐานะบุคคลสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของบริษัท ขณะเดียวกันก็ยังต้องบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อให้ Delta สามารถแข่งขันได้ต่อไป
ธุรกิจออนไลน์ก็ด้วย
ข่าวนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในรอบ 35 ปีที่อัตราการมีส่วนร่วมของสหภาพแรงงานทั่วสหรัฐอเมริกาชะลอตัว แต่วันนี้ในองค์กรอย่าง JetBlue, Amazon, Uber และ Lyft ต่างก็พบแรงงานที่ต้องการให้องค์กรจ่ายเงินค่าแรงที่มากขึ้น รวมถึงพยายามจัดระเบียบสวัสดิการเพื่อให้พนักงานมีภาระภาษีต่ำลง ได้รับการคุ้มครองสิทธิรักษาพยาบาล ตอบโจทย์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้
ความต้องการนี้ยังขยายไปถึงแรงงานในธุรกิจร้านชำอย่าง Kroger และ Albertsons รวมถึงร้านค้าปลีก Albertsons, Vons, Pavilions และ Ralph’s ต่างกำลังเจรจาลึกซึ้งกับสหภาพแรงงานเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากการนัดหยุดงาน โดยที่ผ่านมา การนัดหยุดงานของพนักงานร้านขายของชำครั้งล่าสุดในสหรัฐเมื่อ 15 ปีที่แล้วสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์มองว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปอีกหลายปี เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันที่สะสมในมุมมองของแรงงานหลายสิบปี ไม่สามารถสะสางได้ใน 1 – 2 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาวะนี้อาจจะเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ของโลกด้วย.