ข้าวกล่อง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 10 Oct 2024 05:55:40 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยกับ “แวว-วาศิณี” เบื้องหลัง 18 ปี “White Story” กว่าจะมาเป็นธุรกิจ “ข้าวกล่อง” ขวัญใจคนเมือง https://positioningmag.com/1493748 Thu, 10 Oct 2024 05:00:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1493748 ร้านขายข้าวกล่องและเบเกอรี “White Story” รุกคืบไปทั่วทุกศูนย์การค้าและออฟฟิศใจกลางเมืองอย่างเงียบๆ จนปัจจุบันมีถึงกว่า 80 สาขา และกลายเป็นที่พึ่งฝากท้องของคนเมืองยามต้องการอาหารทำสดใหม่ ราคาไม่แรง และมั่นใจได้ในเรื่องรสชาติ คุณภาพ และความสะอาด

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ White Story มีการปรับตัวและผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญๆ มาตลอด 18 ปี จากฝีมือของ “แวว-วาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์” ซีอีโอ บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ผู้ปลุกปั้นจนบริษัทเดินหน้าสู่รายได้ 600 ล้านบาทในปีนี้

วาศิณีเล่าย้อนประวัติการสร้างธุรกิจให้ Positioning ฟังก่อนว่า แต่เดิมเธอเป็นพนักงานด้านการตลาดในบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่แห่งหนึ่ง แต่หลังทำงานไปสักระยะก็เข้าสู่จุดอิ่มตัว และอยากจะสร้างธุรกิจของตัวเองมากกว่า ทำให้เธอเลือกที่จะเปิดร้านอาหาร เพราะการทำอาหารเป็นงานอดิเรกที่ตนเองชอบอยู่แล้ว

เริ่มแรกเลือกที่จะเปิดร้านในย่านวงเวียนพระราม 5 ซึ่งสมัยนั้นเป็นโซนที่อยู่อาศัยใหม่และยังไม่มีร้านอาหารบริการมากนัก จึงเป็นช่องว่างตลาดให้ร้านอาหารหน้าใหม่ “White Story”

White Story
“แวว-วาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์” ซีอีโอ บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด

“เราเลือกเช่าบ้านเก่ามาหลังหนึ่ง รีโนเวตเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ขนาด 10 โต๊ะ ขายแค่เค้กกับกาแฟ แต่ทำไป 3 เดือนก็เริ่มสังเกตได้ว่าไม่ตอบโจทย์เพราะกาแฟกับขนมจะขายได้แค่ช่วงเช้า เราเลยเพิ่มเมนูข้าวเข้ามาด้วยเพื่อให้ลูกค้ามาทานช่วงกลางวันจนถึงเย็น” วาศิณีกล่าว “ตอนเปิดร้านใหม่ๆ อายุ 27 ปี ต้องเริ่มทำทุกอย่างเองจากศูนย์ แต่เป็นพื้นฐานที่ดีที่ทำให้เรารู้ทุกอย่างในงานร้านอาหาร”

 

ขึ้นห้างฯ ครั้งแรก

หลังจากนั้น White Story เติบโตจนเป็นร้านอาหารขึ้นชื่อของย่านพร้อมๆ กับความเจริญของพื้นที่ จ.นนทบุรี ทำให้ศูนย์การค้าใหม่ที่จะเข้ามาเปิดในบริเวณคือ The Walk ราชพฤกษ์” ชักชวนให้ร้านย้ายมา “ขึ้นห้างฯ” เป็นครั้งแรกในปี 2555 โดยให้พื้นที่เช่ามาถึง 160 ตารางเมตร

“พื้นที่มันใหญ่มาก ถ้าทำเป็นร้านนั่งทานทั้งหมดคงไม่ไหว เราเลยคิดแบ่งครึ่งหนึ่งของร้านเป็น Dine-in อีกครึ่งหนึ่งเป็นแผนก Grab & Go” วาศิณีกล่าว “ส่วนหนึ่งคือเราเห็นแล้วว่า Lazy Economy กำลังเกิดขึ้นในไทย คนเริ่มไม่มีเวลาทำอาหาร การขายแบบซื้อกลับบ้านน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าได้”

ตัวอย่างเมนูอาหาร White Story

นั่นคือจุดเริ่มต้นการสร้างธุรกิจ Grab & Go ครั้งแรกของ White Story โดยเริ่มจากการขายเฉพาะกลุ่มเบเกอรีก่อน แต่เมื่อลูกค้าแนะนำว่าต้องการจะซื้ออาหารกลับบ้านบ้าง ร้านจึงเริ่มผลิตอาหารกล่องออกจำหน่ายด้วย

“เราฟังลูกค้าเยอะว่าเขาอยากได้อะไร ก็จะได้ไอเดียใหม่ๆ ในการทำธุรกิจตลอด” วาศิณีกล่าว “วันนั้นเรารับฟังลูกค้าเยอะแบบไหน วันนี้เราก็ยังทำแบบนั้น ถ้าลูกค้าส่งข้อความมาในเพจว่าต้องการให้ปรับปรุงอะไร เราจะรับฟังและหาทางแก้ไขให้เสมอ”

 

สู่ใจกลางเมือง

จุดเปลี่ยนครั้งต่อมาของ White Story เกิดขึ้นในอีก 3 ปี และเป็นอีกครั้งที่การสร้างพื้นฐานให้ดีทำให้มีโอกาสขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น

“มีวันหนึ่งที่เราพบว่ามีลูกค้าซื้อของบิลเดียวทะลุ 1,000 บาทซึ่งแปลว่าเขาซื้อไปเยอะมากๆ เราตกใจก็เลยลองสอบถามดู สรุปลูกค้าบอกว่าจริงๆ เขาอาศัยอยู่ในเมือง แต่ชอบสินค้าร้านเรามากจนแวะมาทีก็จะซื้อไปตุนที แล้วเขาก็แนะนำว่าให้เราไปเปิดสาขาในเมืองดู บังเอิญที่ลูกค้าเขารู้จักกับผู้บริหารเอ็มควอเทียร์ ห้างฯ ใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว และช่วยติดต่อให้ได้คุยกัน กลายเป็นการเปิดประตูบานใหม่ให้เราได้โอกาสเข้าเมืองเป็นครั้งแรก” วาศิณีกล่าว

White Story
บรรยากาศร้านแบบ Grab & Go

เมื่อจะเข้าไปขายกลางเมือง วาศิณีจึงออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ว่าจะเป็นการขยายเฉพาะส่วน Grab & Go เข้าไป เพราะมองว่าชีวิตคนเมืองเป็นชีวิตที่เร่งรีบและค่าเช่าที่จะสูงกว่านอกเมือง ทำให้การขายเฉพาะกลุ่มซื้อกลับบ้านน่าจะได้ผลตอบแทนทางธุรกิจดีกว่า และยังขยายได้ง่ายกว่าหาก White Story จะมีโอกาสขยายตัวในเมืองเพิ่มอีกในระยะยาว

 

โอกาสเป็นของคนที่พร้อม

ความสำเร็จจากสาขาที่มีเฉพาะ Grab & Go แห่งแรกที่เอ็มควอเทียร์ ทำให้ประตูบานต่อๆ มาเปิดออก มีศูนย์การค้าแห่งอื่นเชิญ White Story เข้าไปเปิดสาขาเพิ่มอีกจนขยายไปได้ 6-7 สาขา ถึงจุดนี้วาศิณีบอกว่าเธอเริ่มมีความฝันถึงการขยายไปให้ทั่วกรุงเทพฯ แล้ว

“ปี 2561 ช่วงนั้นเราไปต่อคิวขอเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าทุกที่ที่ดังๆ ใจกลางเมืองเราไปต่อคิวหมดทุกแห่ง แต่ก็ไม่ค่อยมีที่เช่าหลุดมาเลยเพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจดี” วาศิณีกล่าว “แต่ถึงแม้จะยังไม่มีที่ไหนคอนเฟิร์ม แต่เราก็เริ่มสร้างครัวกลางรอแล้ว เพราะเราเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะต้องได้ที่แน่”

White Story

ครัวกลางของ White Story สร้างเสร็จก่อนโควิด-19 ระบาดพอดี และกลายเป็นความพร้อมส่วนนี้ที่ทำให้ร้านคว้าโอกาสมาได้เต็มมือ เพราะโรคระบาดและการปิดร้านอาหารแบบนั่งทานทำให้มีล็อกว่างบนศูนย์การค้า ร้าน Grab & Go แบบ White Story จึง ‘เนื้อหอม’ ได้รับคำเชิญให้เปิดสาขาจำนวนมาก

ตั้งแต่ปี 2562 ร้านจึงบุกเปิดสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 10-20 สาขา ทะยานสู่ 80 สาขาได้ในปี 2567 ใช้เวลาเพียงไม่นานมีสาขาร้านอยู่ทั่วกรุงเทพฯ

 

สินค้าคุณภาพดีและมี ‘กิมมิก’ การตลาด

นอกจากความพร้อมที่จะขยายสาขาแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ White Story ประสบความสำเร็จคือ “ตัวสินค้า” และ “แบรนดิ้ง” ที่ชัดเจนของร้าน

โดยวาศิณีเล่าว่า เธอมีการวางพื้นฐานของแบรนด์ไว้ตั้งแต่แรกว่า White Story ไม่ได้เป็นแค่การขายอาหารหรือขนมปัง แต่สิ่งที่ขายคือ “ความไว้ใจ” ไม่ว่าตัวสินค้าจะเป็นอะไร สิ่งที่ร้านยึดถือว่าจะขายให้ลูกค้าคือการคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด ดีต่อสุขภาพที่สุด สินค้าจึงใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีที่ใช้สารเคมีที่น้อยที่สุด

พนักงานร้านในยูนิฟอร์มผูกผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม ช่วยสร้างแบรนด์ให้กับ White Story

“เราเชื่อว่าการที่เราสร้างสินค้าที่ดีและภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดีมาตั้งแต่วันแรกหรือสาขาแรก มันคือการส่งต่อให้เกิดสาขาที่สองและสาขาต่อๆ มาได้” วาศิณีกล่าว

เห็นได้ว่าภายใต้โมเดลธุรกิจที่ดูเหมือนเรียบง่ายเพียงขายข้าวกล่องและเบเกอรีซื้อกลับบ้าน แต่มีกลยุทธ์การตลาดที่วาศิณีซ่อนไว้อยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อมีสินค้าที่ดี ทำเลร้านดีแล้ว สิ่งที่จะดึงลูกค้าเข้าร้านหรือมัดใจให้อยู่กันไปนานๆ ได้อีกอย่างหนึ่งคือต้องมี Engagement’ ร่วมกันกับลูกค้า

White Story
สติ๊กเกอร์เขียนคำอธิบายอาหารแบบน่ารักๆ เป็นกิมมิกที่ทำให้คนจดจำร้านได้

กลยุทธ์ที่ White Story คิดขึ้นคือ “สติ๊กเกอร์” แปะบนหน้ากล่องอาหารและเบเกอรี ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าคำอธิบายเมนูสินค้าจะมี “กิมมิก” ที่น่ารักและผ่านการคิดมาอย่างเฉียบคม เช่น สปาเก็ตตี้แซลมอนเทอริยากิ ว่ายทวนน้ำมาจากนอร์เวย์ ว่ายจนเซ ใจโลเลไปหาเธอ, ถั่วเขียวต้มหวานน้อยมาก กินอาหารถูกหลัก ถึงอกหักก็แข็งแรง, ขนมปังไดฟูกุ ชาเขียว ถั่วแดงญี่ปุ่น หวานน้อย คาร์บเชิง (ซ้ำ) ซ้อน

คำอธิบายเมนูที่แปลกไม่เหมือนใครแบบนี้ทำให้ White Story เป็นที่จดจำของลูกค้า และสร้างความรู้สึกดีๆ ต่อกันว่าเป็นร้านที่ “ใส่ใจลูกค้า” และ “มีอารมณ์ขัน” อีกด้วย

 

ปี 2568 ทะลุ 100 สาขาแน่นอน!

มาจนถึงวันนี้ White Story มีสินค้าขายถึง 300 SKUs รวมทั้งอาหารกล่อง เบเกอรี และของแห้ง-เครื่องปรุงในหมวด “White Story Selected” ที่บริษัทคัดเลือกสินค้าจากแหล่งที่ดีมาจำหน่าย เช่น น้ำผึ้ง, เต้าเจี้ยว, Vinegar และยังคงคิดเมนูใหม่ๆ หรือคัดเลือกสินค้าใหม่เข้าร้านเสมอ

เราต้องวาดฝันไว้ว่าถ้าโอกาสมาถึงเราจะต้องพร้อมอย่างไร จัดลำดับความสำคัญว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะเมื่อโอกาสมาแล้วเราต้องคว้าให้ได้ อย่านั่งรอเฉยๆ ให้โอกาสมาถึง

วาศิณีกล่าวว่า ความฝันต่อไปของบริษัทคือการขยายร้านอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2568 เชื่อว่าจะครบ 100 สาขาอย่างแน่นอน และระบบการบริหารภายในขณะนี้กำลังขยายเพื่อให้รองรับได้มากกว่า 150 สาขา!

อย่างไรก็ตาม ทำเลการขายน่าจะยังเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลก่อน (ปัจจุบันสาขาที่ไกลเมืองที่สุดคือ เซ็นทรัล นครปฐม) เพราะมองว่ายังมีทำเลที่ร้านเปิดได้อีกมากในกลุ่มอาคารสำนักงาน คอมมูนิตี้มอลล์ และโรงพยาบาล

“เราต้องวาดฝันไว้ว่าถ้าโอกาสมาถึงเราจะต้องพร้อมอย่างไร จัดลำดับความสำคัญว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะเมื่อโอกาสมาแล้วเราต้องคว้าให้ได้ อย่านั่งรอเฉยๆ ให้โอกาสมาถึง” วาศิณีกล่าวปิดท้าย

 

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

]]>
1493748
‘ซีพีเเรม’ ลงสนาม Plant-Based ส่ง ‘ข้าวกล่อง’ พร้อมทานเข้าสะดวกซื้อ ราคาเริ่ม 39 บาท https://positioningmag.com/1319986 Thu, 18 Feb 2021 11:10:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319986 ยุคนี้ใครๆ ก็ต้องจับเทรนด์อาหารเเห่งอนาคต ล่าสุดเจ้าใหญ่อย่างซีพีเเรมเปิดตัวเเบรนด์ใหม่ ‘VG for Love’ อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช ’Plant Based Diet’ เเบบพร้อมทาน ประเดิม 10 เมนูเเรก ตั้งเป้าปั๊มยอดขายเเตะ 1,000 ล้านภายในปี 2566 เชื่อตลาดไทยเปิดใจรับ หวัง 3-5 ปี มีสัดส่วนทำรายได้ให้บริษัทถึง 20% ย้ำเเผนอาหารผสม ‘กัญชง-กัญชา’ ตอนนี้ยังอยู่ในการศึกษาความเป็นไปได้

สินค้าแบรนด์เนื้อมังสวิรัติเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากกระเเส ‘รักษ์โลกเเละรักสุขภาพ’ ของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืช มากกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์จริงๆ เพราะเห็นว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ มีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นภัยต่อการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ยักษ์ใหญ่ลงเล่นตลาด ‘Plant-Based’ ไทย 

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สังคมไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มการบริโภคอาหารที่ตอบโจทย์สุขภาพ พร้อมกับร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็น ‘โอกาสตลาด’ ของบริษัทที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค ซึ่ง Plant Based ก็เป็นอาหารทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เเละบริษัทก็มีความพร้อมทั้งด้านโรงงาน วัตถุดิบ จึงสามารถขยายการลงทุนได้ง่าย

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด

สำหรับเเบรนด์ ‘VG for Love’ มีที่มาของชื่อจาก ทั้ง 4 ความรัก คือ รักสุขภาพ รักชีวิตสัตว์  รักสิ่งแวดล้อม และรักโลก วางจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยเเล้วในแม็คโคร , ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven (ตอนนี้ขายทางออนไลน์ก่อน ช่วงปลายเดือนหน้าถึงจะวางในสาขา) , ร้านค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะขยายจุดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็ว นี้ (รวมถึงโลตัสด้วย)

สินค้าของ ‘VG for Love’ เเบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ หมายเลข 1 อาหารเจ , หมายเลข 2 อาหารวีแกน , หมายเลข 3 อาหารมังสวิรัติกับนม, หมายเลข 4 อาหารมังสวิรัติกับไข่ และ หมายเลข 5 อาหารมังสวิรัติกับนม และ ไข่ 

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หลักๆ คือคนทุกเพศทุกวัยที่บริโภคพืชเป็นหลัก เเละกลุ่มที่บริโภคพืชเป็นบางมื้อ เช่นเลือกทาน Plant Based ราว 2-3 มื้อต่อสัปดาห์

เมนู ’Plant Based Diet’ ของซีพีเเรมที่วางขายในเเม็คโคร

สำหรับเมนูเปิดตัว จะปล่อย ’10 เมนู’ ออกมาทดลองตลาดเเละจะมีเมนูอื่นๆ เพิ่มเข้ามาตลอดปี โดยผู้บริหารซีพีเเรม บอกถึงเหตุผลการเปิดตัวด้วย 10 เมนูว่า “คิดเหมือนเราเปิดร้านข้าวเเกง ที่ต้องมีอาหารหลากหลาย ให้ลูกค้ามีทางเลือก จากนั้นเราจะดูว่าเมนูเเบบไหนขายดี ก็จะนำมาต่อยอดต่อไป”  

ส่วนเหตุผลในการเลือกเปิดตัวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจนั้น เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเเล้ว อีกทั้งยังเป็นการช่วยเเบ่งเบาภาระผู้บริโภค เเละการเลือกเปิดตัวในเดือน ‘กุมภาพันธ์’ ก็เพราะเป็นเดือนเเห่งความรักที่สอดคล้องกับชื่อเเบรนด์ ‘VG for Love’ ด้วย 

สำหรับ 10 เมนูเเรก จะเน้นเป็นอาหารที่คนไทยชื่นชอบเเละทานได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนเมนูอาหารตามสั่งทั่วไป  ได้เเก่

  • ข้าวกะเพราหมูพีบี
  • ข้าวกะเพราหมูพีบีไข่ดาว
  • ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี
  • ข้าวผัดกะเพราขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี
  • ข้าวผัดเเกงเขียวหวานไก่พีบี
  • ข้าวผัดเห็ดออรินจิพีบี
  • ข้าวลาบหมูพีบี
  • บะหมี่เเห้งปลาเส้นทอดพีบี
  • สปาเก็ตตี้ขี้เมาเห็นออรินจิพีบี
  • สปาเก็ตตี้พอร์คบอลพีบี

การที่ ‘ซีพีแรม’ วางขายข้าวกล่อง ’Plant Based Diet’ เเบบพร้อมทานในร้านสะดวกซื้อเจ้าเเรกในไทย ด้วยราคา 39-45 บาท ถือว่าเป็น ‘ข้อได้เปรียบทางราคา’ ที่จะช่วยให้ขยายฐานลูกค้าในตลาดเเมสได้ง่ายขึ้น เพราะปกติเเล้วอาหาร Plant Based มักจะมีราคาสูงเเละหาทานได้ยากกว่า

เมื่อถามว่า บริษัทมีเเผนจะออกผลิตภัณฑ์ที่ผสม ‘กัญชง-กัญชา’ ตามที่ผู้ผลิตอาหารเจ้าใหญ่ในไทยหลายรายประกาศลงเล่นตลาดนี้หรือไม่ ได้คำตอบว่า ตอนนี้ยังอยู่ในการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ อยู่ 

ผู้บริหารซีพีเเรมประกาศว่า เป้าหมายยอดขายในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 120 ล้านบาท จากนั้นปี 2565 จะเติบโตหลายเท่าเป็น 500 ล้านบาท เเละในปี 2566 เชื่อว่ายอดขายเมนู ’Plant Based Diet’ จะเเตะถึง 1,000 ล้านบาทได้ 

เเม้ดูเหมือนว่าตัวเลขเป้ายอดขายจะดูสูงมากเมื่อเทียบกับการเปิดตลาดใหม่ เเต่ ‘ซีพีเเรม’ ยืนยันว่า คนไทยจะเปิดใจรับอย่างเเน่นอน เเละหวังว่าภายใน 3-5 ปีนี้ ’Plant Based Diet’ จะมีสัดส่วนที่ทำรายได้ถึง 20% ของพอร์ตสินค้าทั้งหมด (ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีรายได้รวมราว 2 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็นสินค้า Plant Based ถึง 4,000 ล้านบาท เป็นต้น)

สำหรับตลาด Plant-Based Food ในประเทศไทย เริ่มมีเชนร้านอาหารนำเนื้อทำจากพืชมาปรุงเป็นเมนูหลัก เช่น Sizzler ในเครือไมเนอร์ หรือร้านฌานาในเครือฟู้ดแพชชั่น รวมถึงมีนำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งด้วย

จากข้อมูลของ NRF ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทย ระบุว่า ตลาดเนื้อที่ทำจากพืชปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น

การลงสนามในตลาด Plant-Base Food ของบริษัทยักษ์ใหญ่ใน “เครือซีพี” ครั้งนี้ จึงน่าจับตาไม่น้อย 

ในปี 2563 ซีพีเเรมทำรายได้ 19,373 ล้านบาท เเบ่งเป็นการจำหน่ายใน 7-Eleven ถึง 95% , ไม่ใช่ 7-Eleven ราว 3% เเละส่งออก 2% มีการพัฒนาสินค้าใหม่มากกว่า 338 รายการ

ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า จะทำรายได้ 21,310 ล้านบาท เเบ่งเป็นการจำหน่ายใน 7-Eleven ถึง 94% , ไม่ใช่ 7-Eleven ราว 4% เเละส่งออก 2% เเละมีเป้าหมายการขยายตลาดเพิ่มขึ้น 10%

“เรามองว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบของ COVID-19 จะยังคงมีต่อเนื่อง แต่จะคลี่คลายลงบ้างตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป” 

โดยโครงการเมนูอิ่มคุ้ม” จะยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของซีพีแรมเเละจะเพิ่มขึ้นอีก 50% นอกจากนี้ยังมีเเผนจะสร้าง ‘โรงงานเบเกอรี่แห่งใหม่’ ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท มีกำลังผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งโรงงานใหม่แห่งนี้ จะสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้กลางปี 2565 นับเป็นโรงงาน
เบเกอรี่แห่งที่
6 หรือโรงงานแห่งที่ 16 ของซีพีแรม โดยมองว่าตลาดเบเกอรี่ในไทยยังมีช่องว่างโอกาสให้เติบโตได้อีกมาก 

 

]]>
1319986