เริ่มแล้ว! “ฮ่องกง” แบนช้อนส้อม “พลาสติก” ในร้านอาหาร กระตุ้นให้ลูกค้าพกมาใช้เอง

แบน พลาสติก
(Photo: RODNAE Productions / Pexels)
ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2024 “ฮ่องกง” เริ่มแบนไม่ให้ร้านอาหารและโรงแรมใช้ช้อนส้อม กล่อง หลอด และอุปกรณ์การทานอาหารที่ทำจาก “พลาสติก” และบังคับให้ร้านเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ย่อยสลายได้ เช่น กล่องกระดาษ รวมถึงต้องคิดค่าอุปกรณ์เหล่านี้กับลูกค้าด้วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาพกอุปกรณ์ทานอาหารของตนเอง ลดปัญหาขยะ

ธุรกิจที่ยังฝ่าฝืนกฎหมายนี้มีบทลงโทษเป็นค่าปรับสูงสุด 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 472,000 บาท) แต่ขณะนี้รัฐบาลยังผ่อนผันให้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ธุรกิจได้มีโอกาสปรับตัวก่อน

กฎหมายนี้จะกระทบโดยตรงกับ “ร้านอาหาร” ที่มีตัวเลือกให้ลูกค้ารับกลับบ้านหรือส่งเดลิเวอรี เพราะธุรกิจลักษณะนี้ใช้หีบห่อและอุปกรณ์พลาสติกเป็นหลัก

Simon Wong Ka-Wo ประธานสมาพันธ์ร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องแห่งฮ่องกง กล่าวว่า ประมาณ 70% ของร้านอาหาร 18,000 ร้านภายใต้เครือข่ายของเขายังไม่เริ่มเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์การทานที่ไม่ใช่พลาสติกกันเลย เพราะธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องเคลียร์สต๊อกอุปกรณ์พลาสติกที่ร้านมีอยู่ในคลังให้หมดก่อน ถึงจะเริ่มสั่งอุปกรณ์แบบใหม่ได้

แบน พลาสติก
(Photo: Mikhail Nilov / Pexels)

อย่างไรก็ตาม South China Morning Post (SCMP) ลงพื้นที่เขตช้อปปิ้งในฮ่องกงพบว่า ร้านอาหารหลายร้านเริ่มเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษและช้อนส้อมทำจากไม้กันแล้ว และจะคิดเงินลูกค้าเพิ่มเซ็ตละ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 4.72 บาท) หากลูกค้าต้องการอุปกรณ์การทาน โดยเฉพาะร้านเชนขนาดใหญ่ เช่น KFC และ McDonald’s เปลี่ยนมาใช้ช้อนส้อมไม้ทั้งการทานในร้านและซื้อกลับบ้าน

Joyce Chiu ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน Café de Coral Holdings บริษัทเจ้าของเชนร้านอาหารรายใหญ่ที่มีร้านอาหารในเครือรวมทุกแบรนด์กว่า 500 สาขา ระบุว่า บริษัทเริ่มเปลี่ยนมางดใช้อุปกรณ์พลาสติกตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อกลับบ้านน้อยลงมากหากร้านตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย จากเดิมสัดส่วนลูกค้าซื้อกลับบ้าน 40% ลดลงมาเหลือ 20% เท่านั้น

รวมถึงกลุ่มที่ซื้อกลับบ้านนั้นมีเพียง 1 ใน 4 ที่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อรับอุปกรณ์การทานที่ทำจากไม้และกระดาษไป

(Photo: ROMAN ODINTSOV / Pexels)

ในขณะเดียวกัน SCMP สอบถามลูกค้าร้านอาหารกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พบว่าพฤติกรรมลูกค้าที่เกิดขึ้นมีหลายกลุ่มหลังกฎหมายบังคับใช้ โดยบางคนเลือกไม่จ่ายเงินเพิ่ม และหันมาใช้อุปกรณ์ส่วนตัวของตัวเองที่ล้างใช้ซ้ำได้

เหตุผลที่เลือกใช้อุปกรณ์ส่วนตัวไม่ใช่แค่เพราะต้องชำระเงินเพิ่ม แต่เพราะบางคนพบแรงกดดันจากเพื่อนร่วมงานรักษ์โลกหากใช้อุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้งให้เห็น และบางคนรู้สึกว่าอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ช้อนส้อมไม้ ไม่สะดวกในการใช้งานจริง

แน่นอนว่ามีลูกค้าบางกลุ่มที่ ‘ลักไก่’ ลูกค้าบางคนยอมรับว่าพวกเขาใช้วิธีไปซื้อช้อนส้อมพลาสติกเหมาโหลมาเก็บไว้ในที่ทำงานเพื่อใช้ทานอาหาร ไม่ต้องการใช้ช้อนส้อมแบบล้างใช้ซ้ำเพราะไม่สะดวกต่อวิถีชีวิต แถมคิดราคาต่อชิ้นแล้วช้อนส้อมพลาสติกยังถูกกว่าช้อนส้อมไม้ที่ร้านชาร์จราคาเพิ่มด้วย

 

ลูกค้าเตรียมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

Simon ประธานสมาพันธ์ฯ บอกด้วยว่า การเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์การทานอาหารจากไม้หรือกระดาษอาจจะกลายเป็นต้นทุนที่ถูกส่งผ่านไปยังลูกค้า เพราะราคาอุปกรณ์รักษ์โลกพวกนี้จะสูงกว่าพลาสติกถึง 30%

SCMP สัมภาษณ์ Yeung เจ้าของร้านอาหารเล็กๆ ในย่าน Wan Chai เขามองว่าการบังคับใช้กฎหมายในช่วงนี้ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ และในอนาคตร้านคงจะต้องชาร์จราคาเพิ่มกับลูกค้าที่สั่งกลับบ้านถึง 2 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อออร์เดอร์ เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่แพงขึ้น

ไม่ใช่แค่ร้านอาหารที่ต้องปรับตัว ธุรกิจโรงแรมก็ถูกแบนการใช้พลาสติกด้วยเช่นกัน เช่น น้ำดื่มฟรีในห้องต้องไม่ใช้ขวดพลาสติก หรือเครื่องใช้ในห้องน้ำที่ให้ฟรีต้องไม่ใส่ในถุงที่ทำจากพลาสติกหรือวัสดุย่อยสลายยาก

นี่เป็นแค่เฟสแรกของกฎหมายแบนพลาสติกของฮ่องกง เฟสที่สองจะตามมาภายในปี 2025 ซึ่งจะแบน    อุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มอีก เช่น ถุงมือพลาสติก ผ้าปูโต๊ะพลาสติก

Source