ข้าวตัง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 30 Mar 2022 13:23:14 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เจ้าสัว ข้าวตังมินิ” บุกตลาด “ขนมขบเคี้ยว” เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนบริษัทอายุ 6 ทศวรรษ https://positioningmag.com/1379698 Wed, 30 Mar 2022 07:43:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379698 ยุคใหม่ของ “เตียหงี่เฮียง” ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ “เจ้าสัว” ปักหมุดปีแรกลุยตลาด “ขนมขบเคี้ยว” เต็มตัว ส่งผลิตภัณฑ์ “เจ้าสัว ข้าวตังมินิ” ขึ้นเชลฟ์ ชูจุดขายได้โปรตีน มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า ขยายฐานตลาดสู่กลุ่มเด็กมหา’ลัย – First Jobbers โดยขนมขบเคี้ยวจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ คาดว่าจะทำรายได้สัดส่วนถึง 60-70% ของบริษัทในระยะยาว

บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด ก้าวเข้าสู่ปีที่ 64 พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ภายใต้การนำของทายาทรุ่น 3 “ณภัทร โมรินทร์” ซีอีโอคนปัจจุบัน

โดยตั้งแต่การเข้ามาร่วมงานในบริษัทครอบครัวของณภัทร เจ้าสัวมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกระจายช็อปขายสินค้าไปตามสถานีน้ำมันเพื่อให้เข้าถึงผู้ซื้อง่ายขึ้น หรือการผลักดันสินค้าเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรดและร้านค้าดั้งเดิม ทำให้สินค้าของเจ้าสัวสลัดภาพ ‘ของฝาก’ จากโคราช มาเป็นอาหาร-ขนมที่ซื้อทานได้ทุกวัน

ล่าสุดเมื่อปี 2564 เจ้าสัวประกาศยกเครื่องเข้าสู่ยุคใหม่ของบริษัท โดยถือเป็นปีแรกที่บริษัทเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรดและร้านค้าดั้งเดิมแบบเต็มตัว เรียกได้ว่าไปร้านไหนหรือห้างไหนก็มีขาย รวมถึงบุกตลาดออนไลน์ส่งขายทุกช่องทาง มีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์เป็นครั้งแรก โดยเลือกครอบครัว “แมทธิว ดีน และ ลิเดีย ศรัณย์รัชต์” มาเป็นหน้าตาของแบรนด์

จะเห็นได้ว่า เจ้าสัวมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าไปวางขายในโมเดิร์นเทรด และมีการโปรโมตด้วยอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์

มาถึงปี 2565 ณภัทรประกาศเป้าหมายการเดินเข้าสู่ตลาด “ขนมขบเคี้ยว” เต็มกำลัง เป็น Product Hero ตัวใหม่ในพอร์ตสินค้าของบริษัทที่แต่เดิมจะเป็นกลุ่มอาหารรองท้อง อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง เช่น ข้าวตัง หมูแท่ง หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง

โดยขนมขบเคี้ยวตัวแรกที่ออกในปีนี้ คือ “เจ้าสัว ข้าวตังมินิ” ซึ่งจะมาช่วยดันรายได้บริษัทปี 2565 ให้เติบโตมากกว่าปกติ 20%

 

เน้นจุดขาย “คุณค่าอาหาร” ที่มากกว่า

ในตลาดขนมขบเคี้ยวที่แข่งเดือดขณะนี้ “ศศิกานต์ มหาศิริ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด อธิบายถึงจุดแข็งของ เจ้าสัว ข้าวตังมินิ ไก่หยอง ว่า เป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ข้าวตังที่บริษัทเป็นผู้นำตลาด ใช้สูตรน้ำปรุงรสลับเฉพาะของเจ้าสัวแบบเดียวกัน แต่นำมาย่อไซส์แต่ละชิ้นให้เป็นชิ้นพอดีคำ ทานง่าย หยิบด้วยมือเดียวได้

เจ้าสัว ข้าวตังมินิ
สินค้าบุกตลาดใหม่ เจ้าสัว ข้าวตังมินิ แพ็กเกจจิ้งและชิ้นขนาดทานเล่น

ผลิตเป็นไซส์ถุงขนาด 30 กรัม (20 บาท) และ 55 กรัม (30 บาท) มี 3 รสชาติให้เลือก คือ รสพริกปีศาจ รสชีสแอนด์ซาวครีม และ รสเบคอนรมควัน

เห็นได้ว่าสินค้าใหม่นี้จะเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว (Snacks) ต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมของเจ้าสัวที่เมื่อขึ้นเชลฟ์ในโมเดิร์นเทรดจะถูกจัดอยู่ในหมวดขนมไทย (Local Snacks)

โดยจุดขายที่เจ้าสัวจะสื่อสารคือเป็นขนมที่ ‘Better for you’ ไม่ถึงกับเป็นขนมสุขภาพ แต่ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าขนมขบเคี้ยวอื่น เพราะมีโปรตีนจากไก่หยอง และคาร์โบไฮเดรตได้จากข้าวหอมมะลิแท้ รวมถึงใช้น้ำปรุงรสไม่ใช่ผงปรุง ซึ่งจะทำให้ได้ลูกค้าตลาดแมสแต่จับเทรนด์ผู้บริโภคที่อยากได้ตัวเลือกขนมที่มีคุณค่ากับร่างกายมากขึ้น

เจ้าสัว

ศศิกานต์กล่าวว่า เจ้าสัว ข้าวตังมินิยังทำให้ฐานตลาดของบริษัทขยายออกไป จากเดิมผู้ซื้อหลักจะเป็นวัยสร้างครอบครัว อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป แต่ข้าวตังมินิที่มีสถานะเป็นขนมจะทำให้ได้ลูกค้ากลุ่มเด็กลงเข้ามาเพิ่ม โดยคาดหวังในกลุ่มวัย 18 ปีขึ้นไป คือตั้งแต่กลุ่มนักศึกษาจนถึง First Jobbers

สินค้าใหม่นี้วางขายตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สามารถซื้อได้ทุกช่องทางร้านค้าดั้งเดิม โมเดิร์นเทรด และออนไลน์ โดยปีนี้บริษัทวางงบ 60 ล้านบาท ทุ่มโฆษณาทั้ง TVC, อินฟลูเอนเซอร์และรายการออนไลน์, สื่อ OOH, สื่อ ณ จุดขาย ฯลฯ

 

อีก 3-5 ปีขอมีมาร์เก็ตแชร์ 5% ในตลาด “ขนมขบเคี้ยว”

ณภัทรกล่าวต่อถึงเป้าระยะยาวของบริษัท มองว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีการออกสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาในตลาดขนมขบเคี้ยว และมีเป้าจะขอชิงส่วนแบ่ง 5% ในตลาดขนมขบเคี้ยวเมืองไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านบาท

“ตลาด Local Snacks มีมูลค่าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเราบอกได้ว่าเราขึ้นไปจนสุด จนเป็นเบอร์ 1 แล้ว เราต้องการเข้าตลาดที่ใหญ่กว่าอย่าง Snacks เพื่อหาตลาดใหม่ให้บริษัท” ณภัทรกล่าว

เจ้าสัว
(จากซ้าย) “ณภัทร โมรินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “ศศิกานต์ มหาศิริ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด

“แบรนด์เราเองมีตำนานที่อยู่มานาน 64 ปี คนรู้จักว่าเราทำสินค้าอะไร เชี่ยวชาญด้านไหน เราไม่ใช่แบรนด์สินค้าท้องถิ่นอีกแล้ว เมื่อมีการทำให้ทันสมัย (modernized) ผู้บริโภคไทยจะพร้อมยอมรับ อย่างที่เห็นในตลาดมีหลายแบรนด์เก่าแก่ของไทยที่ทำสำเร็จ”

“แบรนด์เราเองมีตำนานที่อยู่มานาน 64 ปี คนรู้จักว่าเราทำสินค้าอะไร เชี่ยวชาญด้านไหน เราไม่ใช่แบรนด์สินค้าท้องถิ่นอีกแล้ว เมื่อมีการทำให้ทันสมัย (modernized) ผู้บริโภคไทยจะพร้อมยอมรับ อย่างที่เห็นในตลาดมีหลายแบรนด์เก่าแก่ของไทยที่ทำสำเร็จ”

นับได้ว่าขนมขบเคี้ยวได้กลายเป็นเครื่องยนต์ใหม่ให้เตียหงี่เฮียงทันที เพราะปีนี้กลุ่มขนมขบเคี้ยวจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้บริษัท จากทั้งหมด 5 กลุ่ม ดังนี้

  • ขนมขบเคี้ยวทานเพลินๆ เช่น ข้าวตังมินิ หมูแท่ง
  • อาหารรองท้อง เช่น ข้าวตังออริจินอล (แผ่นใหญ่)
  • อาหารพร้อมปรุง เช่น กุนเชียง
  • อาหารพร้อมทาน เช่น หมูหยอง หมูแผ่น
  • ของฝาก เช่น กิฟท์เซ็ต

นอกจากนี้ ณภัทรคาดว่าในระยะยาว กลุ่มขนมขบเคี้ยวจะขึ้นมามีสัดส่วน 60-70% ของบริษัท จากการเพิ่ม SKUs อย่างต่อเนื่อง และจะไม่ได้จำหน่ายเฉพาะในไทย แต่เตรียมส่งเข้าตลาดที่เตียหงี่เฮียงมีการส่งออกอยู่แล้วด้วย ได้แก่ กลุ่ม CLMV, จีน, ฮ่องกง, ยุโรป, ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามองว่าเราประสบความสำเร็จแล้วในการเปลี่ยนทัศนคติคนว่าเราไม่ใช่แค่ของฝาก แต่เป็นอาหารที่ทานได้ทุกวัน ต่อจากนี้เราจะเพิ่มสินค้าที่ทำให้เห็นว่าเราเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวอีกด้วย” ณภัทรกล่าวปิดท้าย

]]>
1379698
ตำนาน ‘เจ้าสัว’ ข้าวตังพันล้านจากโคราช รีแบรนด์สลัดภาพ ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก https://positioningmag.com/1323010 Thu, 18 Mar 2021 11:14:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323010 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2501 บ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโคราช เริ่มทำหมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ส่งขายในท้องถิ่นจนเป็นที่เลื่องลือในรสชาติ ได้โอกาสขยายกิจการต่อ ด้วยการเปิดร้านขายของฝากในชื่อว่าเตียหงี่เฮียง

จากความอร่อยที่บอกเล่าปากต่อปาก ทำให้สินค้าของเตียหงี่เฮียง กลายเป็นของเด็ดที่เหล่านักท่องเที่ยวและผู้สัญจรไปมาต้องแวะซื้อ

หลายปีผ่านไป แม้กิจการร้านขายของฝากจะไปได้สวย แต่ก็เริ่มมีคู่เเข่งทำผลิตภัณฑ์เดียวกันออกมา ทำให้ทายาทรุ่นสองต้องคิดหา ‘เมนูชูโรง’ เพื่อสร้างความแตกต่าง จึงนำมาสู่การเปิดตัวข้าวตังหมูหยอง ขึ้นในปี 2531 และเริ่มขยายตลาดไปวางขายในหลายจังหวัด รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเตียหงี่เฮียงกลายเป็นชื่อจดจำได้ยากและดูไม่ทันสมัย ทางครอบครัวจึงตกลงกันเปลี่ยนชื่อใหม่ให้จำง่ายและคุ้นหูกันมากขึ้น โดยใช้ชื่อแบรนด์ใหม่นี้ว่าเจ้าสัวนับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

และวันนี้เจ้าสัวการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวครั้งสำคัญก็มาเยือนอีกครั้ง ภายใต้การนำของทายาทรุ่นสาม กับการรีแบรนด์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เปลี่ยนภาพลักษณ์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น พร้อมใช้พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรกในรอบ 63 ปี 

ก้าวออกจาก ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก

ณภัทร โมรินทร์’ หรือ กิ๊ฟ เริ่มเรียนรู้การทำงานในกิจการของครอบครัว มามากกว่า 10 ปี จากฝ่ายเซลส์ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเป็นซีอีโอ แบรนด์เจ้าสัวท่ามกลางความท้าทาย หลังธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด

เธอยอมรับว่า การที่ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงนั้นมีผลต่อการวางแผนธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ไม่น้อย แต่ก็ทำให้รู้ว่าทิศทางต่อไปของ แบรนด์เจ้าสัวจะไม่เป็นแค่ร้านขายของฝากที่รอให้คนมาซื้ออีกต่อไป แต่จะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

จากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เร่งรีบ แข่งกับเวลา และคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น แม้จะเป็นอาหารทานเล่นหรือของขบเคี้ยวก็ตาม อีกทั้งตลาดในไทยยังมีของว่างทานเล่น ประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป’ ที่อร่อยและมีประโยชน์ทางสารอาหาร สามารถทานรองท้องระหว่างมื้อได้ ‘ไม่มากนัก’ 

จึงเป็นช่องว่างตลาดที่เจ้าสัวจะปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากสินค้าของฝากสู่สินค้าอาหารที่ทานได้ทุกวัน ในรูปแบบสแน็ก และ Ready to eat และ Ready to cook meal ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาของว่างเพื่อรองท้อง รวมไปถึงอาหารที่สามารถปรุงง่าย ๆ หรือพร้อมทานได้ที่บ้าน ช่วยประหยัดเวลา และดีต่อสุขภาพ

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตีย หงี่ เฮียง จำกัด เจ้าของแบรนด์เจ้าสัว

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสของตลาดสแน็กในประเทศไทย ที่มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสแน็ก ที่เป็น Meat หรือเนื้อสัตว์นั้น กลับมีมูลค่ารวมตอนนี้เพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น และผู้ประกอบการคู่แข่งยังน้อยจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

ทั้งนี้ กลุ่มสแน็กที่เป็นเนื้อสัตว์ ตอนนี้มีแบรนด์อองเทร่ของเจ้าใหญ่อย่าง ส. ขอนแก่นครองตลาดอยู่

เบรกขยายสาขา หันมาบุกโมเดิร์นเทรด’

ในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวจะหายไปอย่างมาก แต่จากการที่แบรนด์ได้ ปรับกลยุทธ์รองรับ โดยเฉพาะการขยายช่องทางจำหน่าย จากเดิมที่เน้นเพิ่มสาขา เปลี่ยนมาเป็นบุกโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำต่างๆ ทำให้ยอดขายรวมของปีที่แล้วเติบโต 15% และมีรายได้รวมเกินหลักพันล้านบาทเป็นครั้งแรก

ปีนี้เราตั้งเป้าจะเติบโตถึง 30% จากการรุกตลาดขนมขบเคี้ยวเต็มตัว ทำตลาดทุกช่องทางเพื่อปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย พกพาง่าย ออกสินค้าเละปรับราคาใหม่ ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากที่สุด

ปัจจุบันร้านของฝากเจ้าสัว  มีจำนวนกว่า 100 สาขา แบ่งเป็นร้านค้าของตัวเอง (Stand Alone) ประมาณ 14 สาขา และแฟรนไชส์ 80 กว่าสาขา กระจายอยู่ในปั๊มนำ้มันปตท. ทั่วประเทศ พร้อมช่องทางออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลส โดยมีผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มไลน์โปรดักต์ ได้แก่ 

กลุ่มขนมทานเล่น สัดส่วนรายได้ 50% 

ของว่างรองท้อง ได้แก่ ข้าวตัง, ข้าวแต๋น ราคาตั้งแต่ 20-60 บาท

ของว่างทานเพลิน ได้แก่ หมูแผ่นกรอบ, หมูแท่งกรอบ และหมูทุบ ราคาตั้งแต่ 30-110 บาท

กลุ่มอาหาร สัดส่วนรายได้ 50%

อาหารพร้อมปรุง ได้แก่ กุนเชียง, หมูยอ, แหนม และไส้กรอกอีสาน ราคาตั้งแต่ 39-209 บาท

อาหารพร้อมรับประทาน ได้แก่ หมูหยอง, หมูแผ่นใหญ่

สำหรับสินค้าขายดีที่สุดของแบรนด์เจ้าสัวก็คือเบอร์หนึ่งอย่างข้าวตังตามมาด้วย หมูหยองและหมูแผ่น

ด้านการส่งออกไปต่างประเทศจะเน้นไปที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ ขณะที่ตลาดในยุโรปนั้น ยังติดข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าที่ทำจากเนื้อหมู จึงจะหันไปเน้นส่งสินค้ากลุ่มธัญพืชอบกรอบไปทำตลาดแทน

เมื่อถามถึงผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือ Plant-based ที่กำลังเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ที่มีผู้ผลิตอาหารหลายเจ้าลงมาเล่นในตลาดนี้ ผู้บริหารแบรนด์เจ้าสัว ตอบว่ามีแผนการจะพัฒนากลุ่มสินค้า Plant-based ในเร็วๆ นี้

ทุ่ม 100 ล้าน พลิกโฉมใหม่รอบ 63 ปี

สิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการ แบรนด์เจ้าสัว บอกว่า ตลอดทั้งปี 2564 บริษัทตั้งงบประมาณไว้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อลุยทำการตลาดและขยับขยายธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ที่สุด ไม่เคยทำขนาดนี้มาก่อน นับตั้งแต่เปิดกิจการมากว่า 63 ปี

โดยจะสื่อสารรอบด้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งโปรโมตผ่านหนังโฆษณาถึง 3 เรื่องในปีนี้

จากแผนการโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ และครอบครัวสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการเลือกครอบครัวของ ลีเดีย ศรัณย์รัชต์แมทธิว น้องดีแลนและน้องเดมี่ ดีน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่อบอุ่น เข้าถึงง่าย ทันสมัยและใส่ใจในสุขภาพ

“แบรนด์เจ้าสัวเป็นแบรนด์ที่มีลูกค้าคนไทยเป็นหลัก แต่ในอนาคต หลังการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาปกติ เราก็หวังจะเป็นแบรนด์ที่ชาวต่างชาติหิ้วกลับบ้าน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน

สำหรับกลยุทธ์หลัก ๆ ที่จะนำพาให้แบรนด์เจ้าสัวเติบโตได้แบบก้าวกระโดดในช่วง 3-5 ปีนี้ สิริณัฏฐ์ สรุปให้ฟังว่า

  1. ปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการใช้พรีเซ็นเตอร์ การไปอยู่ในสายตาของผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ ทั้ง
    โซเชียลมีเดียและสื่อนอกบ้าน
  2. ออกสินค้าให้หลากหลาย โดยตั้งเป้าจะจะมีสินค้าใหม่ 8-10 ตัวต่อปี เพิ่มปัจจุบันที่มีอยู่ราว 300 SKU พร้อมกับปรับไซส์และราคา ให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
  3. ขยายช่องทางการขายเพิ่มขึ้น เน้นเข้าไปกระจายในโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย โดยปีนี้จะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มในประเทศไทย แต่จะมีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาโอกาสขยายตลาดในอาเซียนมากขึ้น
  4. ลงทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ ในพื้นที่เดิมที่จังหวัดนครราชสีมา นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นอีก 40% รวมถึงทุ่มงบในระบบหลังบ้านเพื่อให้ทันยุคดิจิทัล

ต้องจับตาดูว่าการรีแบรนด์ของเจ้าสัว จากของฝากท้องถิ่น สู่ตลาดอาหารพร้อมทานอยู่ใกล้ๆ ในชีวิตประจำวัน จะสร้างอิมแพคในใจผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน

 

]]>
1323010