ด้อมเกาหลี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 18 Jan 2021 13:04:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 การอำลาของ GOT 7 อาจทำให้ JYP ค่ายเพลงใหญ่เกาหลี เสียส่วนเเบ่งตลาดในต่างประเทศ? https://positioningmag.com/1313771 Tue, 12 Jan 2021 13:39:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313771 บีบหัวใจเเฟนคลับ K-Pop กับข่าวช็อกในช่วงวันที่ผ่านมา เมื่อ JYP Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ยืนยันว่า ‘GOT7’ วงบอยเเบนด์ยอดนิยม จะไม่ต่อสัญญาที่กำลังจะหมดลงในเดือนนี้ หลังประสบความสำเร็จเเละโลดเเล่นในวงการเพลงมานาน 7 ปี

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม นี่ยังไม่ใช่จุดจบ เเต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น พวกเราทั้ง 7 คนจะยังคงเดินหน้านำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของพวกเราให้ทุกคนได้เห็นกันต่อไปอย่างแน่นอน #GOT7FOREVER” มาร์ค หนึ่งในสมาชิก GOT7 โพสต์ข้อความส่งถึงเเฟนๆ โดยทั้ง 7 คนกำลังจะแยกย้ายกันไปเริ่มต้นใหม่ตามเส้นทางของตัวเอง

  • คิมยูคยอม จะย้ายไปทำเพลงกับค่าย AOMG ซึ่งเป็นค่ายของศิลปินชื่อดังอย่าง Jay Park
  • ปาร์คจินยอง จะหันไปโฟกัสงานแสดง โดยมีข่าวว่าจะเซ็นสัญญากับ BH Entertainment ค่ายนักเเสดงใหญ่ของเกาหลีใต้
  • ชเวยองแจ ได้รับคำเชิญจาก Sublime Entertainment ค่ายที่มีศิลปินดังในสังกัดอย่าง ซงคังโฮ
    เรน ฮานิ EXID คิมฮีจอง ฯลฯ 
  • อิมแจบอม ได้รับการติดต่อจากหลายค่าย แต่ยังไม่คอนเฟิร์ม บางข่าวระบุว่าอาจได้รับการติดต่อจาก BH Entertainment
  • แจ็กสัน หวัง มีเเผนจะทำงานทั้งในเกาหลีใต้และจีน โดยมี Team Wang เป็นผู้ดูแล
  • มาร์ค ต้วน จะกลับบ้านเกิดที่สหรัฐฯ และอาจเปิดช่อง YouTube ของตัวเอง รวมไปถึงทำเพลงเองต่อไป
  • แบมแบม กันต์พิมุกต์ มีเเผนจะทำงานทั้งในไทยและเกาหลีใต้ โดยมีข่าวลือว่าอาจจะเซ็นสัญญากับค่าย Makeus Entertainment

การที่ค่ายเพลงต้องเสียศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปทั้ง 7 พร้อมๆ กันครั้งนี้ ทำให้หลายคนมองว่า JYP Entertainment ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าพ่อวงการบันเทิงเกาหลี’ อาจสูญเสียส่วนเเบ่งสำคัญในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงเม็ดเงินมหาศาลที่เคยได้จากฐานเเฟนคลับ ‘นานาชาติ’ 

JYP จะเสียส่วนเเบ่งการตลาดในต่างประเทศอย่างไร ?

ในสมัยก่อนวงการเพลงเกาหลี จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสามค่ายใหญ่อย่าง SM , JYP เเละ YG หรือที่เรียกกันติดหูว่า “Big 3” ก่อนถูกค่ายเล็กๆ ที่เติบโตเร็วอย่าง Big Hit เเซงหน้า ด้วยอานิสงส์ความสำเร็จของบอยเเบนด์ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการดนตรีโลกอย่าง BTS

JYP Entertainment ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1997 โดยปาร์คจินยองปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท มีศิลปินชื่อดังในสังกัดที่ผ่านมา อย่าง Rain, g.o.d , Wonder Girls, 2PM, TWICE เเละ GOT7 โดยในช่วงต้นปี 2020 เเม้จะประสบวิกฤตโรคระบาด เเต่ค่าย JYP ก็โกยรายได้นำมาเป็นอันดับหนึ่ง

สำหรับ GOT7 เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2014 ด้วยคาเเร็กเตอร์ที่ชัดเจนของสมาชิกที่มาจากหลายเชื้อชาติ พร้อมเเนวเพลงที่เป็นสากล การเเสดงที่มีศักยภาพเเละมีส่วนร่วมในการทำเพลง ทำให้ชื่อเสียงของวงนี้ติดตลาดได้ไม่ยากนัก

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา GOT7 มียอดขายอัลบั้มทั้งเวอร์ชั่นเกาหลีเเละญี่ปุ่น รวมกันถึง 4.3 ล้านอัลบั้ม เเละมีหลายอัลบั้มสามารถขายได้เกิน 1-2 เเสนอัลบั้มภายใน 7 วันเเรก โดยในปี 2016 GOT7 มีคอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก โดยที่มีชื่อว่า ‘GOT7 1st CONCERT FLY’ จัดเเสดงในหลายประเทศ ก่อนจะมีคอนเสิร์ตระดับโลกตามมาอีกหลายรายการ

อ่านเพิ่มเติม : GOT7 Sales Summary

GOT7 จึงถือเป็นวงข้ามชาติของ JYP Entertainment ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ตามบ้านเกิดของศิลปิน พร้อมการสื่อสารด้านภาษาที่หลากหลาย โดยมีฐานเเฟนคลับขนาดใหญ่ในจีน ไทย อาเซียนเเละอเมริกา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเหล่าเเฟนคลับต่างชาติ ก็มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นตามกระเเส K-Pop ที่ฮอตฮิตไปทั่วโลก ถือว่ามีความสำคัญไม่เเพ้ตลาดในเกาหลี

สำหรับในตลาดไทย GOT7 นับว่าเป็นวงที่ได้รับความนิยมสูงมาก มีฐานเเฟนคลับหลายช่วงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นวัยเรียน ไม่เพียงแต่ความนิยมใน ‘แบมแบมที่เป็นสมาชิกคนไทยเท่านั้น แต่สมาชิกคนอื่นก็มีโอกาสได้ร่วมงานที่ประเทศไทยบ่อย ๆ ทั้งงานถ่ายแบบโฆษณาและนิตยสาร

รวมไปถึง แฟนมีตติ้งและการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่หลายต่อหลายครั้งในไทย โดยล่าสุดเคยมีตารางขึ้นแสดงที่ราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งก็มียอดซื้อบัตรจองเต็มทุกที่นั่ง เเต่ก็ต้องประกาศเลื่อนออกไป เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19

ผลกระทบจากโรคระบาด สะเทือนทั้งอุตสาหกรรมดนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในวงการเพลงเกาหลีที่มีจุดขายคือ ‘เเฟนเซอร์วิส’ โดยการที่งานคอนเสิร์ตเเละเเฟนมีตติ้ง ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในรายได้ก้อนใหญ่จากเเฟนคลับต่างชาตินั้นได้หดหายไป ก็ส่งผลไม่น้อยกับศิลปินที่มุ่งตีตลาดในต่างประเทศ 

หลังข่าวยืนยันการไม่ต่อสัญญาของ GOT7 ทั้ง 7 คน แฟนๆ ก็ได้ร่วมกันโพสต์ข้อความ ความประทับใจที่มีต่อหนุ่มๆ จนแฮชแท็ก #GOT7FOREVER ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ในหลายประเทศ พร้อมแฮชแท็ก
#ลาแล้วเจวายพี ก็ขึ้นติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ประเทศไทยในทันที ซึ่งมีความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับประเด็น การดูเเลเเละไม่โปรโมตศิลปินอย่างเต็มที่ของค่าย JYP 
จากเเฟนคลับทั้งในเกาหลีเเละต่างประเทศ 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนเเบ่งการตลาดในจีนเเละไทยของ JYP Entertainment จะหายไปอย่างมากเมื่อขาด GOT7 โดยมีเเฟนคลับจำนวนหนึ่งยืนยืนว่า พวกเขาจะไม่ให้การสนับสนุนค่ายนี้อีกต่อไป บางคนถึงขั้นบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะสั่นสะเทือนตำเเหน่งใน “Big 3” ของ JYP ในวงการเพลงเกาหลีเลยทีเดียว 

 

ต้องดูกันว่าทิศทางของ JYP Entertainment จะเป็นอย่างไรหลังไม่มีวงบอยเเบนด์ดาวรุ่ง พร้อมติดตามผลงานบน ‘เส้นทางใหม่’ ของหนุ่มๆ ทั้ง 7 คนต่อไปด้วยเช่นกัน 

 

ที่มา : Billboard , Meaww , Soompi

 

]]>
1313771
ด้อมเกาหลี ขยายสู่เเฟน “อินเตอร์” มิติใหม่ “ป้าย HBD” เทนายทุน มุ่งกระจายรายได้ชุมชน https://positioningmag.com/1311070 Fri, 18 Dec 2020 13:18:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311070 ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวลาเราเดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็มักจะเห็นป้าย HBD ที่เหล่าเเฟนคลับทุ่มเทลงขันบริจาคเงินกันเพื่อซื้อสื่ออวยพรวันเกิดให้ศิลปิน สร้างสีสันเเละบรรยากาศคึกคักในสถานี

จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย นำมาสู่กระเเสการเเบนบริษัทนายทุนต่าง ๆ หนึ่งในนั้นได้เกิดแคมเปญรณรงค์ให้ชาวแฟนด้อมหันไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย

เรียกได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ #เเบนจริง อย่างเป็นรูปธรรม เเละทำให้เกิดเเรงกระเพื่อมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

เเม้สัดส่วนรายได้จากป้ายศิลปินจะยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับสื่อนอกบ้านอื่น ๆ เเต่บรรดาเเบรนด์ต่าง ๆ ก็ต้องกลับมาคิดให้หนักกันมากขึ้น

เพราะกลุ่มเเฟนคลับ หรือที่มักเรียกกันว่าเเฟนด้อม” (Fandom) เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง เห็นได้จากในเเต่ละครั้งที่มีการเปิดโดเนท เหล่าเเฟนด้อมจะสามารถ “ระดมทุนได้ยอดเงินบริจาค ตั้งเเต่ “หลักหมื่นยันหลักล้าน” ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงเปิดโดเนทไม่กี่ชั่วโมง ก็ทะลุหลักเเสนบาทไปเเล้วในด้อมใหญ่ ๆ ที่มีเเฟนคลับจำนวนมาก

ด้อมเกาหลี ขยายสู่อินเตอร์” ช่วย “ตุ๊กตุ๊ก

กระเเสนี้เริ่มต้นจากกลุ่มเเฟนคลับศิลปินเกาหลี รวมตัวกันเพื่อต่อต้านการซื้อสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า เเม้จะเป็นโปรเจกต์ที่เหล่าเเฟนคลับทำกันมาช้านานก็ตาม

มีการเสนอให้นำโปรเจกต์ศิลปินต่าง ๆ ย้ายไปซื้อสื่อโฆษณาในขนส่งมวลชนท้องถิ่นมากขึ้น เช่น รถตุ๊กตุ๊ก บิลบอร์ดรถสองเเถว รถเเดง ป้ายในเรือ หรือป้ายในย่านชุมชนต่าง ๆ เเทน

เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ประเดิมด้วยด้อมใหญ่อย่างกลุ่ม A.R.M.Y แฟนคลับของวง BTS บอยเเบนด์ชื่อดังเเห่งยุค ได้ทำโปรเจกต์ซื้อพื้นที่ป้ายโฆษณาหลังรถตุ๊กตุ๊กจำนวน 15 คัน เพื่ออวยพรวันเกิดให้ 2 สมาชิกในวงอย่าง คิม ซอกจิน (Jin) เเละคิม แทฮยอง (V) เน้นเคลื่อนที่ไปตามถนนเส้นสำคัญในกรุงเทพฯ อย่างสยามเเละสุขุมวิท

จากนั้นก็มีกลุ่มเเฟนด้อมต่าง ๆ หันไปซื้อสื่อโฆษณาในท้องถิ่นตามไปด้วย จนป้ายตามสถานีรถไฟฟ้าว่างในหลายพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดต่างจากที่ผ่านมาจะมีโฆษณาลงเต็มตลอด

Source : twitter @piiragan

ล่าสุดความเคลื่อนไหวนี้ ไม่ได้จำกัดเเค่ในด้อมเกาหลีเท่านั้น เพราะได้ขยายไปสู่กลุ่มเเฟนคลับศิลปินระดับอินเตอร์ที่มีคนรู้จักทั่วโลก อย่าง Sarah Paulson เเละ Taylor Swift

Photo : Facebook / Sarah Paulson Thailand

จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ทำโปรเจกต์เเละผู้ร่วมบริจาคซื้อโฆษณาบนรถตุ๊กตุ๊ก หลายคนมองว่า

  • เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนคนหาเช้ากินค่ำ
  • เป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านนายทุนได้ดี
  • ราคาถูกกว่าการซื้อโฆษณาเเบบอื่น เเต่มีคนเห็นบนท้องถนนจำนวนมาก
  • มีความพิเศษ ไม่เหมือนใคร เพราะรถตุ๊กตุ๊กมีเเค่ในไทย ใครเห็นก็จำได้เเละคนต่างชาติก็สนใจ
  • เเบรนด์สินค้าก็สามารถทำได้ เพื่อลดต้นทุนการตลาดในยามเศรษฐกิจไม่ดี
Photo : Twitter @moomoots13

ด้านเหล่าคนขับรถตุ๊กตุ๊กบอกกับสื่อมวลชนว่าเเม้หลายคนจะมองว่ารายได้ป้ายโฆษณา 700 บาทต่อคันต่อเดือนนั้นจะน้อยนิดเเต่ก็สามารถต่อชีวิตในช่วงวิกฤต COVID-19 ได้ใช้จ่ายในครอบครัวหรือจ่ายค่านมลูกได้

จ่ายไม่เเพง เเต่ไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อย

โดยราคาราคาป้ายโปรโมตศิลปินท้ายรถตุ๊กตุ๊กมีอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยราว 300 – 700 บาทต่อคันต่อเดือน ส่วนใหญ่ไม่มีขั้นต่ำจะติดกี่คันก็ได้ บางจุดไม่มีการหักค่าหัวคิว สามารถติดต่อคนขับได้โดยตรง เเต่บางจุดต้องติดต่อผ่านหัวหน้าวิน ซึ่งจะมีเเพ็กเกจพิเศษให้ถ้าตกลงติดตั้งเเต่ 30 – 100 คัน ส่วนตัวป้ายนั้น “ต้องทำมาเอง

ส่วนรถกระป้อในซอยต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เรตราคาจะอยู่ที่ 400 – 500 บาทต่อคันต่อเดือน ส่วนรถเเดงในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ จะมีค่าทำตัวป้าย 500 บาท และค่าเช่ารถสองแถว 1,000 บาทต่อเดือน โดยได้ติดต่อผ่านทางสหกรณ์ที่ดูเเลรถ

Photo : Twitter @NEST97TG_

ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าบริการป้ายโฆษณาของสถานีรถไฟ MRT นั้นจะเห็นว่าต่างกันมาก เเละลูกค้าต้องติดต่อกับบริษัทโดยตรง หรือบางกลุ่มก็ติดต่อผ่านเอเยนซี่โฆษณา โดยค่าใช้จ่ายของการติดตั้งป้ายนั้น รวมค่าพื้นที่มีเดีย สถานี ภาษีมูลค่าเพิ่มและระยะเวลาที่ต้องการติดตั้งไปด้วย ซึ่งมีไซส์ที่นิยมกันอยู่ 3 ขนาด คือ

  • ขนาดเล็ก (เเนวตั้งเเนวนอนเล็กเรตราคาตั้งเเต่หลักพันปลาย ๆ ถึง 3 หมื่นบาท
  • ขนาดกลาง (แนวนอนเรตราคาตั้งเเต่ 3 – 8 หมื่นบาท
  • ขนาดใหญ่ เรตราคาตั้งเเต่ 8 หมื่น – แสนบาท

โดยราคาของป้ายศิลปินมีอยู่หลากหลายมาก เริ่มตั้งเเต่หลักพันปลาย ๆ ไปจนถึงหลักเเสน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเเละโลเคชั่น เช่น ถ้าขึ้นเเค่ 15 วันจะถูกลงไปอีก อยู่จุดไหน สถานีไหน ขนาดเท่าไหร่ จุดที่คนมองเห็นมากน้อย ก็จะมีราคาที่ต่างกัน รวมถึงโปรโมชันที่ได้ด้วย

ตัวอย่างป้ายอวยพรศิลปิน ในสถานีรถไฟฟ้า MRT

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะจองขึ้นป้าย 15 วัน – 1 เดือน เป็นธีมอวยพรวันเกิด เเสดงความยินดีในโอกาสพิเศษ ออกเพลงละคร หรือออกอัลบั้มใหม่

เมื่อดูจากสัดส่วนรายได้ พบว่า รายได้รวมจากป้าย HBD ศิลปินจากกลุ่มเเฟนคลับถือเป็นส่วนเล็ก ๆ ของสื่อโฆษณาทั้งหมดของ BMN บริษัทผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน MRT โดยคิดเป็นเเค่ 2 – 3% เพราะส่วนใหญ่เป็นเเบรนด์สินค้าถึง 97%

เเต่ผู้บริหาร BMN ให้สัมภาษณ์กับ Positioning เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก่อนจะเกิดกระเเสการเเบนนี้ว่า

ถึงจะน้อยเเต่เราไม่ละทิ้ง เราจะดูเเลลูกค้ากลุ่มเเฟนคลับเป็นพิเศษ เพราะต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ด้วยการที่เขาทำด้วยความชื่นชอบ เราจึงไม่ได้มองว่าต้องเอากำไรมากหรือเป็นการค้าจ๋าขนาดนั้น รวมถึงเป็นการสร้างสีสันเเละความหลากหลายให้สถานีด้วย คนเเวะมาถ่ายรูป ก็เป็นการเพิ่มทราฟฟิกเเละการจับจ่ายใช้สอยไปในตัว 

ด้านฝั่งผู้พัฒนาสื่อโฆษณารายใหญ่ของเมืองไทยอย่าง Plan B เทคแอคชั่นในกระเเสนี้ด้วยเชิญชวนเเฟนคลับกลับมาลงโฆษณา ด้วยเเคปชั่นว่าเมนใคร ใครก็รัก ประกาศความน่ารักของเมนให้โลกรู้  ซึ่งหลายความเห็นในทวิตเตอร์มองว่า ยิ่งทำให้รู้ว่าความเคลื่อนไหวในการ #เเบน ครั้งนี้มีผลต่อวงการโฆษณาไม่น้อย

เมื่อถามว่าความเคลื่อนไหวนี้ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือต่อไปอีกยาวหรือไม่ หนึ่งในผู้ทำโปรเจกต์ศิลปินเกาหลี บอกกับ Positioning ว่า จะมีการทำต่อเนื่องอย่างเเน่นอน โดยเฉพาะการซื้อโฆษณากับคนในชุมชน นอกจากรถตุ๊กตุ๊กเเล้ว ก็จะมีการขยายไปยังขนส่งมวลชนท้องถิ่นอื่น ๆ รวมไปถึงป้ายตามร้านโชห่วย รถเร่ขายของเเละรถพุ่มพวง ตามโอกาสที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งมองว่าในปีหน้าแฟนคลับจะมีการทุ่มเงินโปรโมตให้มากกว่าปีนี้อย่างเเน่นอนเพื่อเป็นการช่วยเหลือกันในช่วงเศรษฐกิจย่ำเเย่

สำหรับภาพรวมสื่ออุตสาหกรรมโฆษณาในเมืองไทย คาดว่าทั้งปีนี้ เงินโฆษณาจะสะพัดอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้าน เเตะจุด “New Low” ต่ำสุดรอบ 20 ปี ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยสื่อทีวีและสื่อนอกบ้าน ที่เคยมีเม็ดเงินมากที่สุดยัง “ติดลบหนัก” ส่วนดาวรุ่งอย่างสื่อดิจิทัลที่เคยเติบโต 20-30% ต่อเนื่องมาทุกปี ต้องสะดุดเเละอาจเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น

 

]]>
1311070
จับกระเเส “ด้อมศิลปิน” เเฟนคลับเปย์หนัก เตรียมเท “ป้าย HBD” ตามสถานีรถไฟฟ้า https://positioningmag.com/1302178 Mon, 19 Oct 2020 10:44:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302178 อย่างที่ทราบกันดีว่า เเฟนคลับศิลปินเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเป็นผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเเค่ในวัยรุ่นวัยเรียนเท่านั้น เเต่ยังครอบคลุมไปยังผู้คนทุกเจเนอเรชั่น หลากอาชีพ หลายรสนิยม

กลุ่มเเฟนคลับในไทยนั้น ช่วงเเรกๆ คนมักจะคิดถึงเเฟนคลับผู้ชื่นชอบศิลปินหรือไอดอลเกาหลีเป็นหลัก เเต่ทุกวันนี้ได้ขยายไปยังกลุ่มเเฟนคลับศิลปินจีน ญี่ปุ่น อาเซียน ศิลปินฝั่งตะวันตก เเละศิลปินไทยเองก็เริ่มมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่เหนียวเเน่นเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

โดยแต่ศิลปินนั้นก็จะมีการตั้งชื่อกลุ่มแฟนคลับหรือที่เรียกกันว่า ด้อม ย่อมาจาก แฟนด้อม (Fandom) เป็นชื่อเฉพาะที่เเตกต่างกันไป เพื่อการสื่อสารเเละรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวกัน

ลงลึกไปกว่านั้นในด้อมต่างๆ ก็จะมีกลุ่มที่เรียกว่าบ้านเบสเป็นศัพท์ในทวิตเตอร์ หมายถึงกลุ่มเเฟนคลับที่รวมตัวกันขึ้นมาของศิลปินนั้นๆ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม เผยเเพร่ผลงาน รูปถ่าย-คลิปวิดีโอ ขายของที่ระลึก เเปลซับไตเติล ฯลฯ

โดยบ้านเบส จะเป็นเเกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เวลาศิลปินมีผลงานใหม่ ก็จะมีการเปิดโดเนท” (Donate) ให้เเฟนคลับร่วมบริจาคซื้ออัลบั้ม โดเนทขึ้นป้ายบิลบอร์ดตามสถานีรถไฟฟ้า หรือร่วมกันโหวตรางวัลต่างๆ ไปจนถึงรวมเงินกันไปทำบุญ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม 

หากติดตามวงการนี้สักพัก จะเห็นว่าเเต่ละครั้งที่มีการเปิดโดเนท เเต่ละด้อมจะสามารถระดมทุน” ได้ยอดเงินบริจาคที่สูงมาก ตั้งเเต่ “หลักหมื่นยันหลักล้าน” ในเวลาที่รวดเร็ว” เรียกได้ว่าเปิดโดเนทไม่กี่ชั่วโมง ก็ทะลุหลักเเสนบาทไปเเล้วในด้อมใหญ่ๆ ที่มีเเฟนคลับจำนวนมาก

ล่าสุดกับกระเเสใหม่ เมื่อกลุ่มเเฟนคลับศิลปินได้เเสดงถึงพลังเปย์หนักมากอีกครั้ง เเต่ครั้งนี้เป็นการเปย์เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นในไทย อยู่ ณ ขณะนี้

จากการสังเกตพบว่า การระดมทุนเมื่อช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคม ของเหล่าด้อมต่างๆ ในเวลาเพียง 2 วันสามารถดันยอดบริจาครวมกันได้ถึง 2.7 ล้านบาท

หนึ่งในเเฟนคลับที่ร่วมบริจาคบอกกับ Positioning ว่า…นี่เป็นเพียงการโดเนทเเบบชิลๆกันเท่านั้น พร้อมให้เหตุผลถึงยอดบริจาคที่มักจะระดุมทุนได้เยอะว่า ผู้คนที่เป็นสมาชิกในเเต่ละด้อมนั้น มีฐานะทางการเงินเเละอาชีพที่หลากหลายมาก อยู่ในทุกเเวดวงของธุรกิจไทย เรียกได้ว่าทุกอาชีพต้องเป็นเเฟนคลับ บางคนมีกำลังทรัพย์ก็บริจาคเยอะ คนมีน้อยก็บริจาคน้อยตามกำลัง เป็นการร่วมใจกันจากการสื่อสารผ่านโซเชียล

“ตามปกติด้อมที่อยู่ในวัยทำงาน จะเน้นทุ่มบริจาคมากกว่า เพราะไม่ค่อยมีเวลา ส่วนเเฟนคลับวัยเรียนจะเชี่ยวชาญด้านการใช้โซเชียลมีเดีย เช่นการปั่นยอดวิว การกระจายข่าว” 

จากสถานการณ์การชุมนุม ที่มีการปิดให้บริการชั่วคราวของสถานีรถไฟฟ้าในไทยทั้ง BTS เเละ MRT ซึ่งทางบริษัท ชี้เเจงว่าเป็นมาตรการป้องกันความปลอดภัยและกฏหมายที่บังคับใช้นั้น ทำให้เกิด “กระแสทางลบ” ตามมา เมื่อด้อมศิลปินต่างๆ รวมตัวกันเพื่อ ต่อต้านการซื้อสื่อโฆษณาในสถานี เเม้จะเป็นโปรเจกต์ที่เหล่าเเฟนคลับทำกันมาช้านานก็ตาม

สำหรับตลาดป้ายศิลปินนั้น เติบโตต่อเนื่องทุกปี เเม้ในยามเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อของเหล่าเเฟนคลับก็ไม่มีลดลงเลยในวิกฤต COVID-19

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร BMN บริษัทผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน MRT บอกกับ Positioning ว่า บริษัทมีการตั้งทีมงานเพื่อดูเเลลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพราะต้องการเข้าใจถึงสิ่งที่เเฟนคลับตั้งใจเเละอยากจะสื่อสารออกไป โดยความต้องการที่ลูกค้าขอมาในช่วงนี้ ส่วนใหญ่อยากให้เปิดพื้นที่จัด Meet and Greet เเละกิจกรรมเเบบเอ็กซ์คูลซีฟ เอาโปสเตอร์มาตกเเต่งได้ในช็อป ฯลฯ

ตัวอย่างป้ายอวยพรศิลปิน ในสถานีรถไฟฟ้า MRT

เเม้ช่วงวิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจจะค่อนข้างฝืดเคือง เเต่ป้าย MRT ของเเฟนคลับไม่ได้รับผลกระทบ เเละไม่ลดลงเลย

เมื่อมองจากสัดส่วนรายได้ พบว่า รายได้รวมจากป้าย HBD ศิลปินจากกลุ่มเเฟนคลับถือเป็นส่วนเล็กๆ ของสื่อโฆษณาทั้งหมดของ BMN คิดเป็นเเค่ 2 – 3% เพราะส่วนใหญ่เป็นเเบรนด์สินค้าถึง 97%

ถึงจะน้อยเเต่เราไม่ละทิ้ง เราจะดูเเลกับลูกค้ากลุ่มเเฟนคลับเป็นพิเศษ เพราะต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ด้วยการที่เขาทำด้วยความชื่นชอบ เราจึงไม่ได้มองว่าต้องเอากำไรมากหรือเป็นการค้าจ๋าขนาดนั้น รวมถึงเป็นการสร้างสีสันเเละความหลากหลายให้สถานีด้วย คนเเวะมาถ่ายรูป ก็เป็นการเพิ่มทราฟฟิกเเละการจับจ่ายใช้สอยไปในตัว ผู้บริหาร BMN ให้สัมภาษณ์ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

อ่านต่อ : เศรษฐกิจฝืด เเต่เเฟนคลับยัง “จ่ายหนัก” ป้ายศิลปินใน MRT เติบโต ขยายเรทราคา-ปรับไซส์ตามงบ

ด้านความคิดเห็นของกลุ่มเเฟนคลับต่อกรณีนี้ พบว่า มีการเสนอให้นำโปรเจกต์ศิลปินต่างๆ ย้ายไปซื้อสื่อโฆษณาในขนส่งมวลชนท้องถิ่นมากขึ้น เช่น บิลบอร์ดรถสองเเถว รถเเดง ป้ายในเรือ หรือป้ายในย่านชุมชนต่างๆ เเทน

ในการทำป้าย HBD ศิลปินต้องใช้เงินตั้งเเต่ “หลักพันปลายๆ ไปจนถึงหลักเเสน” โดยค่าใช้จ่ายของการติดตั้งป้ายนั้น รวมค่าพื้นที่มีเดีย สถานี ภาษีมูลค่าเพิ่มและระยะเวลาที่ต้องการติดตั้งไปด้วย ส่วนใหญ่จะจองขึ้นป้าย 15 วัน – 1 เดือน เป็นธีมอวยพรวันเกิด เเสดงความยินดีในโอกาสพิเศษ ออกเพลง-ละคร หรือออกอัลบั้มใหม่

สำหรับภาพรวมสื่ออุตสาหกรรมโฆษณาในเมืองไทย ในช่วง 7 เดือนเเรกของปี 2563 ตัวเลขเม็ดเงินสื่อโฆษณาที่เป็นตัวสะท้อนตลาดได้ดี ติดลบไปกว่า 20% เเละคาดว่าทั้งปีนี้ เงินโฆษณาจะสะพัดอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้าน เเตะจุด “New Low” ต่ำสุดรอบ 20 ปี ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

โดยสื่อทีวีและสื่อนอกบ้าน ที่เคยมีเม็ดเงินมากที่สุดยัง “ติดลบหนัก” ส่วนดาวรุ่งอย่างสื่อดิจิทัลที่เคยเติบโต 20-30% ต่อเนื่องมาทุกปี ต้องสะดุดเเละอาจเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น

เห็นได้ชัดว่า เเม้ “ป้าย HBD ศิลปิน” จะไม่ใช่รายได้หลักๆ ของโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า เเต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหาร ต้องจับตาดูว่ากระเเส #เเบน นี้ จะต่อเนื่องไปยาวหรือไม่ เเละมีเอฟเฟกต์ต่อไปอย่างไรบ้าง

 

 

 

 

 

]]>
1302178